เมียนมา - ชาติพันธุ์



          พม่า หรือ เมียนมา มีชื่อทางการว่า สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ตั้งอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในส่วนของดินแดนภาคพื้นทวีป มีอาณาเขตติดกับไทย ลาว จีน อินเดีย และบังคลาเทศ มีจำนวนประชากร 53.26 ล้านคน  (The World Bank, 2015) ประกอบไปด้วยกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ถึง 135 กลุ่ม ที่รู้จักกันทั่วไป ได้แก่ พม่า มอญ ฉาน กะเหรี่ยง คะฉิ่น ฉิ่น คะยา ยะไข่ กลุ่มชาติพันธุ์ทั้ง 8 กลุ่มเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ได้รับความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ชาติ โดยมีการกำหนดชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ให้เป็นชื่อรัฐ 7 รัฐ ยกเว้นกลุ่มชาติพันธุ์พม่าที่ระบุให้เป็นกลุ่มชาติพันธุ์หลักของ 7 เขต คือ สะกาย มัณฑะเลย์ พะโค ย่างกุ้ง เอยาวดี มะเกว และตะนาวศรี

           นอกจากกลุ่มชาติพันธุ์หลักดังกล่าว พม่ายังมีกลุ่มชาติพันธุ์ย่อยๆ อีกมากมาย เช่น ธนุ ต่องโย แต้ะ มรมาจี ดายนา อีงตา ระวาง ลีซู ลาหู่ กอ ขขุ ลาซี ขมี นาคะ แม้ว ว้า ปะหล่อง ปะเล ยีง ปะโอ ซะโหล่ง ซะเหย่ง ยีงบ่อ บะแระ ปะด่อง ยีงตะแล คำตี่ โย หล่ำ ขมุ ลุ และ ขึน กลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้ส่วนมากอาศัยกระจายอยู่บนพื้นที่สูงและเขตภูเขาทางภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคตะวันออก มีบ้างเล็กน้อยที่อาศัยอยู่ทางภาคใต้ ส่วนใหญ่ไม่เป็นที่คุ้นเคยแม้ในหมู่ชาวพม่าทั่วไป กลุ่มชาติพันธุ์ส่วนใหญ่มีความเป็นอยู่ที่ใกล้ชิดกับธรรมชาติ กลุ่มที่ได้รับความสนใจจากรัฐบาลเนื่องเพราะปัญหาค้ายาเสพติด คือ กลุ่มโกกั้งและกลุ่มว้า อาศัยอยู่ในรัฐฉานใกล้ชายแดนจีน  ภายหลังกลุ่มว้าได้ขยายพื้นที่มาใกล้ไทย ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งที่รัฐให้ความสนใจมากขึ้นคือ นาคะ ซึ่งอยู่ใกล้ชายแดนจรดกับอินเดียเพราะมีรูปแบบในการดำรงชีวิตที่ใกล้ชิดกับธรรมชาติและมีการล่าหัวมนุษย์ ส่วนอีกกลุ่มที่ได้รับความสนใจจากรัฐเพราะวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของพวกเขาสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ คือ ปะด่อง หรือกะเหรี่ยงคอยาว และชาวอีงตา ซึ่งอาศัยในทะเลสาบอีงเลในรัฐฉาน ต้น  (วิรัช นิยมธรรม และ อรนุช นิยมธรรม, 2551:2)

            พม่ามีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 675,552 ตารากิโลเมตร มีความกว้างจากทิศตะวันออกจรดทิศตะวันตกประมาณ 920 กิโลเมตร และมีความยาวจากเหนือจรดใต้ประมาณ 1,450 กิโลเมตร ชายแดนพม่ามีความยาวโดยรอบประมาณ 5,102 กิโลเมตร ส่วนใหญ่เป็นเทือกเขาสูงและที่ราบสูงล้อมรอบบริเวณที่ราบใจกลางประเทศ ลักษณะภูมิประเทศคล้ายรูปทรงเกือกม้า ด้วยสภาพทางภูมิศาสตร์ดังกล่าว ได้แบ่งแยกพม่าออกจากกันเป็นสองส่วน คือ ส่วนที่อยู่ใจกลางของประเทศ ได้แก่พื้นที่บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำ เช่นที่ราบลุ่มแม่น้ำอิระวดีตอนล่าง แม่น้ำสะโตง และแม่น้ำชินวิน และส่วนเทือกเขาสูงกินอาณาเขตจรดชายแดนของพม่าทั้งด้านตะวันตก ตะวันออก และภาคเหนือ พื้นที่บริเวณเทือกเขาสูงนี้จะกินอาณาเขตประมาณ 2 ใน 3 ของเนื้อที่ทั้งประเทศ (พรพิมล ตรีโชติ, 2542:5-6)  

            กลุ่มชาติพันธุ์พม่าซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ จะอาศัยอยู่บริเวณที่ราบริมแม่น้ำ เช่น แม่น้ำอิระวดี แม่น้ำสะโตง และแม่น้ำชินวิน เป็นต้น นอกจากชาวพม่าแล้วยังมีชาวมอญและกะเหรี่ยงซึ่งอพยพลงมาจากภูเขาสูง ในขณะที่กลุ่มชาติพันธุ์อื่นจะอาศัยอยู่ในบริเวณที่ราบสูงหรือเทือกเขาสูงบริเวณชายแดน ดังนั้นด้วยปัญหาสภาพทางภูมิประเทศที่เป็นอุปสรรค ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ที่เป็นชนกลุ่มน้อยในบริเวณชายแดนและชาวพม่าในบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำ ไม่ได้ติดต่อสัมพันธ์กันมากเท่าใดนัก การสัญจรไปมาในบริเวณเทือกเขาสูงและป่าทึบทำได้ไม่สะดวก ส่วนใหญ่เป็นทางเดินเล็กๆ เหมาะกับการสัญจรด้วยเท้าหรือกองคาราวานที่อาศัยสัตว์เป็นพาหนะ เช่น ช้าง ม้า วัว ควาย และลา เป็นต้น เทือกเขาและที่ราบสูง จึงเป็นเสมือนเส้นแบ่งแดนที่แยกชนกลุ่มน้อยออกจากชาวพม่า รวมทั้งศูนย์อำนาจรัฐพม่าจากส่วนกลาง (พรพิมล ตรีโชติ, 2542:5-6)    

             ในแง่ประวัติศาสตร์ ช่วงเวลาก่อนปี ค.ศ.1824 ซึ่งเป็นช่วงก่อนที่พม่าตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ เนื่องจากแต่ละกลุ่มชาติพันธุมีโครงสร้างทางสังคมและการปกครองเป็นของตนเอง รัฐพม่าจากส่วนกลางจึงมิได้มีความพยายามจะรวมดินแดนเหล่านี้เข้ามาอยู่ภายใต้โครงสร้างของรัฐพม่า แต่ยังคงให้สิทธิเสรีภาพแก่ผู้ปกครองกลุ่มต่างๆ ในการปกครองดูแลตนเอง ในบางท้องที่อาจจะส่งข้าราชการผู้ใหญ่ไปคอยดูแลเพื่อทำหน้าที่ปรึกษาและรวบรวมภาษี  แต่ก็มิได้แทรกแซงกิจการปกครองภายใน นโยบายปกครองกลุ่มชาติพันธุ์ที่เป็นชนกลุ่มน้อยของรัฐพม่า จึงเป็นการปกครองแบบกระจายอำนาจให้แก่ผู้ครองนครรัฐเดิม ความสัมพันธ์ของชนกลุ่มน้อยต่ออำนาจรัฐพม่าจากส่วนกลางจึงมีน้อยมากหรือแทบจะไม่มีเลย ในขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับผู้นำท้องถิ่นประจำแคว้นหรือผู้นำของตนเองจะมีสูงกว่า ดังนั้นสำนึกในความเป็นสมาชิกของกลุ่มชาติพันธ์และความผูกพันกับผู้นำท้องถิ่น จึงมีสูงกว่าสำนึกในการเป็นสมาชิกของรัฐพม่าและนี่เป็นสาเหตุของปัญหาการสร้างชาติของพม่าในสมัยหลังอาณานิคม (พรพิมล ตรีโชติ, 2542:9-10)

            ในช่วงปี ค.ศ.1824 เมื่อพม่าตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ปมปัญหาของความขัดแย้งด้านชาติพันธุ์แบ่งออกได้เป็นหลายประเด็น ได้แก่ สภาพภูมิประเทศที่แยกชุมชนของกลุ่มชาติพันธุ์ออกจากกันด้วยเทือกเขาสูง ป่าทึบและแม่น้ำ ไม่เอื้ออำนวยต่อการติดต่อคมนาคมระหว่างกันและกัน อีกทั้งยังส่งเสริมให้เกิดความแตกต่างระหว่างวัฒนธรรมและภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์โดยการคงเอกลักษณ์เด่นของตนไว้ การผสมผสานเพื่อก่อให้เกิดการเรียนรู้และยอมรับซึ่งกันและกันจึงมีน้อย  และเมื่ออังกฤษเข้าปกครองพม่าอย่างเต็มที่ในปี ค.ศ.1886 อังกฤษได้ใช้นโยบาย “แบ่งแยกและปกครอง” คือการแยกส่วนพม่าส่วนกลางและชายแดนออกจากกัน และปรับใช้ระบบการปกครองที่มีอยู่ในขณะนั้น คือ ปล่อยให้แคว้นต่างๆ บริเวณชายแดนยังคงการปกครองระบบดั้งเดิมของตนไว้ ภายใต้การควบคุมดูแลของข้าหลวงใหญ่ชาวอังกฤษ ในขณะที่อังกฤษปกครองดูแลและบริหารงานในส่วนที่เป็นพม่าแท้โดยตรงโดยใช้ระบบสองสภา กล่าวโดยย่อ ในนโยบายการปกครองของอังกฤษสมัยอาณานิคมนี้เอง ที่ได้ทำให้โอกาสการรวมตัวของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ของรัฐพม่าเกิดขึ้นได้ยาก และ ยังก่อให้เกิดเป็นปัญหาขัดแย้งขึ้นตามมาอีกหลาย (พรพิมล ตรีโชติ, 2542:9-10)

            เมื่ออังกฤษให้อิสรภาพแก่พม่าในปี ค.ศ.1948 แต่ในขณะเดียวกันก่อนที่อังกฤษจะออกจากพม่านั้น ก็ได้ทิ้งปัญหาความขัดแย้งระหว่างชนเผ่าต่างๆ ของพม่าไว้ให้เป็นภาระของรัฐบาลในสมัยต่อมา ซึ่งรัฐบาลพม่าตั้งแต่ปี ค.ศ.1948 จวบจนรัฐบาลสมัยปัจจุบันล้วนมีนโยบายต่อปัญหากลุ่มชาติพันธุ์ที่เป็นชนกลุ่มน้อยตรงกัน คือความพยายามที่จะรวมรัฐชนกลุ่มน้อยเข้าไว้อยู่ในสหพันธรัฐพม่า แม้ว่าจะมีความต่างในเรื่องของรายละเอียดอยู่บ้าง ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับทัศนคติของผู้นำรัฐบาลต่อปัญหาชนกลุ่มน้อยในแต่ละช่วง แต่นโยบายหลักยังคงเหมือนเดิม คือ คงความเป็นเอกภาพของพม่าเอาไว้ (พรพิมล ตรีโชติ, 2542:10)

            ในปี ค.ศ.1947 ภายใต้การนำของ อู ออง ซาน เกิด “สนธิสัญญาปางโหลง”  ซึ่งมีประเด็นสำคัญในการยืนยันให้คงไว้ซึ่งสิทธิของรัฐชนกลุ่มน้อยในการปกครองตนเอง แต่ในช่วงเวลาต่อมา ภายหลัง อู ออง ซาน ถูกฆาตกรรม สนธิสัญญาปางโหลงกลายเป็นข้อตกลงที่ไม่สามารถประสบความสำเร็จได้จนกระทั่งปัจจุบัน

            ปัจจุบันพม่าใช้คำว่า “รัฐ” กับบริเวณพื้นที่ที่มีประชากรของชนกลุ่มน้อยอาศัยอยู่ ได้แก่ รัฐคะฉิ่น รัฐฉาน รัฐคะยาห์ รัฐกะเหรี่ยง รัฐมอญ รัฐอะรากัน และรัฐฉิ่น ในขณะเดียวกันจะใช้คำว่า “เขต” กับบริเวณพื้นที่ที่มีประชากรพม่าอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น ได้แก่ เขตสะแกง เขตแมกเว้ เขตพะโค เขตมัณฑะเลย์ เขตอิระวดี เขตตะนาวศรี และเขตย่างกุ้ง (พรพิมล ตรีโชติ, 2542:11)

บรรณานุกรม

    พรพิมล ตรีโชติ. (2542). ชนกลุ่มน้อยกับรัฐบาลพม่า. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

    วิรัช นิยมธรรม และ อรนุช นิยมธรรม. (2551). เรียนรู้สังคมวัฒนธรรมพม่า. พิษณุโลก: โรงพิมพ์ตระกูลไทย.

    The World Bank. (2015). Data. Retrieved 10 19, 2015, from The World Bank: http://data.worldbank.org/indicator/SP.POP.TOTL