ไทย - ศาสนาและความเชื่อ
ความเชื่อและศาสนาเกิดขึ้นจากความหวาดกลัวของมนุษย์ต่อสิ่งลี้ลับในธรรมชาติ ไทยเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางศาสนาและมีความเชื่อในศาสนาดั้งเดิม ศาสนาชาวบ้าน หรือ ผี นั่นเอง จากรายงานการวิจัยฉบับสมบูรณ์ชุดโครงการประเมินสถานภาพไทศึกษา เรื่อง ความเชื่อทางศาสนาและพิธีกรรม ของ นฤมล หิญชีระนันท์ ได้ชี้ให้เห็นว่า ในการประเมินสถานภาพไทศึกษาเรื่องความเชื่อและพิธีกรรมนี้ ความเชื่อทางศาสนาแบบดั้งเดิม หรืออาจเรียกว่าศาสนาชาวบ้านของกลุ่มชาติพันธุ์ไทที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในและนอกประเทศไทย ความเชื่อดั้งเดิมนี้มักเกี่ยวกับอำนาจเหนือธรรมชาติในรูปแบบต่างๆ เช่น ความเชื่อเรื่องผี ขวัญ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่นๆรวมทั้งพิธีกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับความเชื่อเหล่านี้ เช่น พิธีเซ่นไหว้ผีบรรพบุรุษ ผีบ้านผีเมือง การทำขวัญ การรักษาโรคด้วยวิธีการทางไสยศาสตร์ รวมไปถึงระบบความคิดเกี่ยวกับกำเนิดจักรวาล ความเชื่อเกี่ยวกับการสัก การทำนายทายทัก เป็นต้น (นฤมล หิญชีระนันทน์, 2541:6)
จากการศึกษาวิจัยชนชาวไทหลายกลุ่ม พบว่า มีบางกลุ่มได้รับอิทธิพลจากพระพุทธศาสนาน้อยมาก เช่น เผ่า จุงเจี่ย หรือ ปู้ยีหรือจ้วง ไม่ได้รับอิทธิพลจากพระพุทธศาสนาแต่กลับได้รับอิทธิพลจากลัทธิเต๋า ขณะที่เผ่าไทดำได้รับอิทธิพลความเชื่อพุทธและพราหมณ์น้อยมากเช่นกัน และยังรักษาความเชื่อและพิธีกรรมเกี่ยวกับแถน ผี และขวัญไว้ได้เป็นอย่างดี การประกอบพิธีกรรมทางศาสนาของไทดำกระทำโดย “หมอ” ผู้มีความรู้เรื่องจารีตประเพณีเป็นอย่างดี ส่วน “มด” เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านไสยศาสตร์ (นฤมล หิญชีระนันทน์, 2541:6)
ขณะที่บทความเรื่อง การถือผีในเมืองไทย ของ ศรีศักร วัลลิโภดม ได้ชี้ให้เห็นว่า การถือผีในประเทศไทยเป็นวัฒนธรรมของคนไทยที่มีมาช้านานและมีผลกระทบต่อภาวะทางสังคมและจิตวิทยาเป็นอันมาก ประเพณีการถือผี ซึ่งเกี่ยวพันกับพระพุทธศาสนาและศาสนาฮินดูได้มีมาช้านานแล้ว และไม่จำกัดเฉพาะกับผีของคนที่ตายไปแล้ว แต่ยังครอบคลุมถึงสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ที่ถือว่าศักดิ์สิทธิ์และมีอำนาจวิเศษ เช่น แผ่นดิน ผืนฟ้า แม่น้ำ ภูเขา และต้นไม้ (ศรีศักร วัลลิโภดม, 2527:8)
ศรีศักร ชี้ให้เห็นถึง ผีที่ให้คุณ สามารถจำแนกได้เป็น 4 ประเภท คือ 1.เจ้าพ่อ 2.หลักเมือง 3.เสื้อบ้าน 4.ผีเรือน ผีทั้ง 4 ประเภทดังที่กล่าว เป็นที่สักการะนับถือของประชาชนตลอดมาจนกลายเป็นการถือผี (ศรีศักร วัลลิโภดม, 2527:16) แม้ว่าสังคมไทยส่วนใหญ่ประชาชนนับถือพระพุทธศาสนา ในขณะเดียวกันมีการสอดแทรกและผสมผสานการนับถือผีอยู่ในความเชื่อของศาสนาต่างๆ ด้วย เช่น การทำบุญในพระพุทธศาสนาแล้วกรวดน้ำอุทิศบุญกุศลให้แก่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับ การสวดคาถาชุมนุมเทวดาก่อนการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา โดยความเชื่อทางพระพุทธศาสนาที่ผสมผสานกับผี ศรีศักร ได้ชี้ให้เห็นว่า “ถึงคนไทยส่วนมากนับถือพุทธ แต่ก็ยังไม่วายจะถือผี จัดพิธีกรรมอะไร เป็นต้องเชิญผีสางเทวดามาร่วม ไม่ยังงั้นไม่สบายใจ เหมือนขาดญาติผู้ใหญ่มาเป็นสักขีพยาน” ดังคำกล่าวชุมนุมเทวดาที่ว่า “สัคเค กาเม จะ รูเป คิริสิขะตะเฏ จันตะลิกเข วิมาเน” มีความหมายว่า “ขอเชิญเทวดาทั้งหลายซึ่งสถิตอยู่ในสวรรค์ชั้นกามภพ ในชั้นรูปภพ สิงสถิตอยู่บนยอดเขา และที่หุบเขา”
นอกจากนี้ยังมีการศึกษาวิจัยเรื่อง ผีปะกำ : คติความเชื่อเรื่องผีบรรพบุรุษของชาวไทย – กวย (ส่วย)เลี้ยงช้าง จังหวัดสุรินทร์ จากผลการศึกษาพบว่า ผีปะกำเป็นผีที่ประจำอยู่ในหนังปะกำ (บ่วงบาศสำหรับคล้องช้างป่า) เชื่อว่าประกอบด้วยวิญญาณ 2 ประเภท คือ “พระครู” เป็นวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ที่มีสถานภาพเทียบเท่าเทพ และวิญญาณของบรรพบุรุษในสายตระกูลที่เคยเป็นหมอช้าง พวกเขาเชื่อว่าผีปะกำสามารถให้คุณแลโทษแก่มนุษย์ได้ ดังนั้นจึงต้องเซ่นสรวงบูชาอยู่เสมอ ความเชื่อนี้ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะกลุ่มชาวกวยเท่านั้น แต่ยังพบในกลุ่มชนพื้นเมืองที่มีอาชีพคล้องช้างตามภูมิภาคต่างๆ ด้วย ขณะเดียวกันหมอช้างพื้นเมืองบางกลุ่มก็ไม่มีความรู้เรื่องผีปะกำ อย่างไรก็ตามความเชื่อในเรื่องผีปะกำสะท้อนให้เห็นระบบอำนาจของผู้อาวุโสในสายตระกูล ที่จะได้รับความเคารพจากสมาชิกทั้งยังเป็นผู้มีอำนาจสั่งการในการประกอบพิธีกรรมอีกด้วย มีการเซ่นบนบานผีปะกำในเรื่องของการขอให้หายจากความเจ็บไข้ได้ป่วย เป็นต้น ดังนั้นผีปะกำจึงไม่ใช่เพียงวิญญาณที่สถิตอยู่ในเชือกคล้องช้างเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังมีอำนาจบันดาลความยิ่งใหญ่และความปลอดภัยแก่ชีวิตของผู้ที่เคารพนับถืออีกด้วย(สมหมาย ชินนาค,2539:บทคัดย่อ)
นอกจากเรื่องผีแล้วเราไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ไทยเป็นประเทศที่มีพุทธศาสนิกชนผู้นับถือพระพุทธศาสนาเป็นจำนวนถึงร้อยละ 95 จากหนังสือพระพุทธศาสนาในประเทศไทย : เอกภาพในความหลากหลาย ชี้ให้เห็นว่า แม้ชาวไทยส่วนใหญ่จะนับถือพระพุทธศาสนาเถรวาท แต่ก็มีแนวคิดแนวปฏิบัติแตกต่างกัน โดยจำแนกออกเป็นพระพุทธศาสนาแบบจารีตนิยม พระพุทธศาสนาแบบประชานิยม พระพุทธศาสนาแบบพัฒนาสังคม และพระพุทธศาสนาแบบปัญญานิยม ทั้งนี้ความแตกต่างของพระพุทธศาสนาแบบต่างๆ ในสังคมไทย อาจพิจารณาได้จากปรัชญาความเชื่อที่เป็นพื้นฐานของประเพณีพิธีกรรม ศิลปะและสิ่งสร้างสรรค์ที่ปรากฏ (ภัทรพร สิริกาญจน, 2557:99-100)
ทั้งนี้แม้พระพุทธศาสนาในประเทศไทยจะประกอบด้วยนิกายและแนวคิดแนวปฏิบัติที่ต่างกัน คือ เถรวาทและมหายาน แต่ในขณะเดียวกันพระพุทธศาสนายังคงดำรงอยู่ได้ท่ามกลางความหลากหลายอันเนื่องมาจาก การยอมรับจารีตพื้นฐานร่วมกัน การส่งเสริมประโยชน์สุขของมวลชน การเชิดชูพระพุทธเจ้าและการสืบทอดคำสอนของพระองค์ การสร้างสังคมที่มีจริยธรรม การมุ่งสู่ความพ้นทุกข์เป็นเป้าหมาย การที่พุทธศาสนิกชนไม่แบ่งแยกนิกายในการแสดงความเคารพต่อพระสงฆ์ การเติมเต็มซึ่งกันและกันทั้งฝ่ายบรรพชิตและฆราวาส (ภัทรพร สิริกาญจน, 2557:277) เพื่อการดำรงอยู่ของพระพุทธศาสนาและคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในท้ายที่สุดไม่ว่าจะอย่างไรพุทธศาสนิกชนไทยและพระสงฆ์จะต้องมีสมเด็จพระสังฆราช ผู้เป็นประมุขแห่งคณะสงฆ์ไทยองค์เดียวกัน
อย่างไรก็ตามปัจจุบันวิกฤติศรัทธาจากพุทธศาสนิกชนในวัตรปฏิบัติของภิกษุสามเณร มีขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการเผยแพร่ภาพข้อมูลข่าวสารทางโทรทัศน์ และสื่อสังคมออนไลน์ ในทางลบ อาทิเช่น ภาพการนำผ้าสบงจีวรมานุ่งห่มให้เกิดเรือนร่างแบบสตรี ภาพการตั้งวงดื่มสุราของพระสงฆ์ ตลอดจนการโฆษณาชวนเชื่อจากวัดบางแห่งในประเด็นของการสนับสนุนให้พุทธศาสนิกชนบริจาคทานเป็นจำนวนมาก ตลอดจนกระแสการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตโกสินทร์ ก่อให้เกิดการชุมนุมเรียกร้องของพระสงฆ์ด้วยหลักการใช้ความสงบและสวดมนต์เพื่อเรียกร้องต่อรัฐบาล จากสภาพปัญหาดังกล่าวที่เป็นข้อมูลในทางลบต่อวงการพระพุทธศาสนาในเมืองไทยมีออกมาอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นว่าไม่มีสาเหตุใดที่จะทำให้พระพุทธศาสนาในประเทศไทยเสื่อมความศรัทธาลงไปได้นอกจากตัวผู้สืบทอดพระพุทธศาสนาคือพระภิกษุและสามเณร ตลอดจนความศรัทธาในพระพุทธศาสนาของพุทธศาสนิกชนในประเทศไทย
นอกจากพระพุทธศาสนาแล้วไทยยังมีการรับนับถือศาสนาพราหมณ์ฮินดู โดยจากรายงานการวิจัยเรื่อง อิทธิพลของศาสนาพราหมณ์-ฮินดูในประเทศไทย ของ บำรุง คำเอก ชี้ให้เห็นว่า แม้ประเทศไทยจะมีพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติมาเนิ่นนานแล้วก็จริง แต่เมื่อพิจารณาจากพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับศาสนาและความเชื่อเรื่องอื่นๆ ของคนไทยในสังคม เห็นว่ามีอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์ฮินดูอยู่มาก คาดว่าศาสนาพราหมณ์ฮินดูได้แพร่มายังดินแดนแถบนี้ราวคริสต์ศตวรรษที่ 7 ในช่วงเวลาดังกล่าวได้ปรากฏหลักฐานที่เป็นศิลาจารึกภาษาสันสกฤต และทมิฬ ที่เกี่ยวกับศาสนาพราหมณ์ โดยเฉพาะจารึกภาษาสันสกฤตที่พบในประเทศไทยมีอายุตั้งแต่ราวคริสต์ศตวรรษที่ 7 เป็นต้นมา (บำรุง คำเอก, 2550:1)
ปัจจุบันมีพระมหาราชครูพิธีศรีวิสุทธิคุณ (ชวิน รังสิพราหมณกุล) ดำรงตำแหน่งประธานพระครูพราหมณ์ แม้ว่าอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์ฮินดูในระดับราชสำนักลดลง เนื่องจากตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ทรงยึดมั่นในหลักการทางพระพุทธศาสนา จนกระทั่งปัจจุบัน พระราชพิธีที่มีความเกี่ยวข้องกับศาสนาพราหมณ์ที่เห็นได้ชัด คือ พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ แต่ยังคงความเชื่อว่าพระมหากษัตริย์คืออวตารปางหนึ่งของพระนารายณ์ อย่างไรก็ตามความเชื่อตามศาสนาพราหมณ์ฮินดูยังคงปรากฏอย่างเป็นรูปธรรมเป็นที่เคาระในหมู่ประชาชนไทยอย่างแพร่หลายในรูปแบบของ ศาลหลักเมือง เทวสถานโบสถ์พราหมณ์ วัดแขกสีลม ตลอดจนรูปเคารพของเทพทางพราหมณ์ฮินดู ได้แก่ พระพรหมเอราวัณ พระพิฆเนศวร์ พระศิวะ พระนารายณ์ พระอุมา พระสุรัสวดี พระลักษมี ทั้งนี้ในช่วงเดือนตุลาคมของทุกปีจะมีการจัดงานนวราตรีขึ้นที่วัดแขกสีลม เพื่อกระทำการบูชา พระแม่ทุระคาและพระแม่ปารวตี ถือเป็นปางหนึ่งของพระแม่อุมาพระชายาของพระศิวะ นอกจากนี้ในสถานศึกษาและในหมู่นักเรียนช่างจะให้ความเคารพต่อพระวิษณุกรรม โดยถือเป็นเทพเจ้าและบรมครูทางช่างและการก่อสร้าง เช่น ชื่อของกรุงเทพมหานครก็มีการกล่าวถึงว่าพระวิษณุทรงมีส่วนในการสร้างมหานครแห่งนี้ดังนามว่า กรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยา มหาดิลกภพ นพรัตน์ราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์ มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิตสักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์ ในขณะที่ตามบ้านเรือนของประชาชนยังคงมีความเชื่อทับซ้อนระหว่างผีและพราหมณ์ฮินดูในกรณีการตั้งศาลพระภูมิเจ้าที่ภายในบ้าน ทั้งนี้พิธีกรรมในการตั้งศาลต้อมีการเชิญพราหมณ์มาเป็นผู้ประกอบพิธีเพื่อเชิญดวงวิญญาณของเจ้าที่เจ้าทางเข้ามาสถิตย์อยู่ในศาล จากพิธีกรรมตามความเชื่อดังกล่าวเป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นว่าศาสนาผี พระพุทธศาสนา และศาสนาพราหมณ์ มีความทับซ้อนกันอยู่ในในความเชื่อของสังคมไทยมาช้านาน สะท้อนให้เห็นถึงการเปิดรับความเชื่อเพื่อยึดเหนี่ยวจิตใจที่จะนำพาชีวิตของตนประสบแต่สิ่งที่ดีและมีความสุข
ขณะที่คริสต์ศาสนามีคำสอนโดดเด่นในเรื่องความรัก น้อมนำให้เรารักคนอื่นเหมือนรักตัวเอง ประเทศไทยมีคริสต์ศาสนิกชนเป็นจำนวนร้อยละ 0.7 ของประชากรทั้งหมด ประกอบไปด้วยนิกายโปรเตสแตนต์ นิกายโรมันคาทอลิก และอีสเทิร์นออร์ทอดอกซ์ สำหรับนิกายโรมันคาทอลิก ปัจจุบันมีพระคาร์ดินัล ไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู ดำรงตำแหน่งอัครมุขนายกกิตติคุณมิสซัง โรมันคาทอลิกกรุงเทพมหานคร บทบาทเด่นชัดของคริสต์ศาสนาในปัจจุบันคือโรงเรียนคริสต์ที่ปรากฏอยู่เป็นจำนวนมากในประเทศไทย อาทิเช่น โรงเรียนร่วมฤดี โรงเรียนเซนฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์ เป็นต้น ลักษณะเด่นของหลักสูตรการศึกษาอยู่ที่การปลูกฝังภาษาอังกฤษให้แก่นักเรียน ดังนั้นผู้เข้าเรียนในโรงเรียนดังกล่าวส่วนใหญ่จึงสามารถใช้ภาษาอังกฤษได้ดีเป็นส่วนมาก
ขณะที่ศาสนาอิสลามเข้าสู่ประเทศไทยในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 12 โดยพ่อค้าชาวอาหรับและชาวอินเดียที่เข้ามาทำการค้าขายในประเทศไทย อีกทางหนึ่งคือ การสัมพันธ์ติดต่อทำมาค้าขายระหว่างชาวไทยกับชาวมลายูทางภาคใต้ของไทย จึงมีคนไทยบางกลุ่มเข้ารับนับถือศาสนาอิสลาม (กระทรวงการต่างประเทศ, 2519:1) ปัจจุบันมี นายอาศิส พิทักษ์คุมพล ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรี ทั้งนี้ชาวมุสลิมในประเทศไทยมีการกระจายตัวอยู่ทั่วประเทศและมีความหนาแน่นในเขตพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
อย่างที่เราทราบกันว่าปัจจุบันปัญหาความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงมีขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ในบางระยะจำนวนการก่อความไม่สงบจะลดลงหากแต่ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลต่อความมั่นคงในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนผู้บริสุทธิ์ในพื้นที่รวมถึงเจ้าหน้าที่ผู้รักษาความสงบ ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ ทั้งในแง่มุมประวัติศาสตร์ ปัญหายาเสพติด ปัญหาจากเจ้าหน้าที่รัฐ แต่อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ส่งผลต่อทัศนคติต่อประชาชนต่างศาสนาในแต่ละภูมิภาคของประเทศในทางลบมากกว่าทางบวก เนื่องจากเชื่อว่าผู้ก่อความไม่สงบคือชาวมุสลิมในพื้นที่ที่ถูกฝึกมาเพื่อให้ใช้ความรุนแรง ปัญหาดังกล่าวก่อให้เกิดความแปลกแยกทางความรู้สึกต่อประชาชนในประเทศ ในขณะที่หน่วยงานรัฐได้แก้ปัญหาด้วยการเสนอภาพการการดำรงชีวิตในลักษณะเกื้อกูลกันของชาวไทยมุสลิมและไทยพุทธในพื้นที่ และพยายามทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ดังกล่าว หากแต่ปัญหาก่อความไม่สงบยังคงเกิดขึ้นและคุกคามชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนอย่างต่อเนื่อง
ดังที่กล่าวมานี้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความหลากหลายในการนับถือศาสนา โดยมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นองค์อัครศาสนูปถัมภก เปิดกว้างและยินดีต้อนรับผู้คนทุกศาสนา อย่างไรก็ตามปัญหาที่ปรากฏในปัจจุบันที่เกิดขึ้นกันพระพุทธศาสนาคือวิกฤตศรัทธาในตัวพระภิกษุและสามเณรผู้สืบทอดพระพุทธศาสนา ขณะที่ศาสนาอิสลามยังคงถูกมองว่าเป็นศาสนาที่นิยมใช้ความรุนแรงทั้งที่หากพิจารณาจากความเป็นจริงแล้วมุสลิมในพื้นที่อื่นของประเทศไทยดำรงชีวิตกันอย่างปกติ ดังนั้นปัญหาการก่อความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้คงไม่ใช่เพียงปัญหาความต่างด้านศาสนาเพียงอย่างเดียว แต่ในขณะเดียวกันยังคงเป็นปัญหาที่รัฐต้องรับผิดชอบต่อประชาชนในพื้นที่ต่อไป
บรรณานุกรม
กระทรวงการต่างประเทศ. (2519). ศาสนาอิสลามในประเทศไทย. กรุงเทพมหานคร: กระทรวงการต่างประเทศ.
นฤมล หิญชีระนันทน์. (2541). รายงานผลการวิจัยฉบับสมบูรณ์ ชุดโครงการประเมินสถานภาพไทศึกษา ความเชื่อและพิธีกรรม. กรุงเทพฯ: สำนักกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.).
บำรุง คำเอก. (2550). รายงานการวิจัยเรื่อง อิทธิพลของศาสนาพราหมณ์-ฮินดูในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น. กรุงเทพมหานคร: มหาวิทยาลัยศิลปากร.
ภัทรพร สิริกาญจน. (2557). พระพุทธศาสนาในประเทศไทย : เอกภาพในความหลากหลาย. กรุงเทพมหานคร: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
ศรีศักร วัลลิโภดม. (กุมภาพันธ์ 2527). การถือผีในเมืองไทย. ศิลปวัฒนธรรม, 5(4), 7-17.
สมหมาย ชินเอก. (2539). ผีปะกำ : คติความเชื่อเรื่องผีบรรพบุรุษของชาวไทย-กวย(ส่วย)เลี้ยงช้าง จังหวัดสุรินทร์. วิทยานิพนธ์ปริญญามานุษยวิทยามหาบัณฑิต บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.