ไทย - ประเพณีพิธีกรรม



           สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติมีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ เนื่องเพราะก่อนการมีศาสนามนุษย์มีความเชื่อเกี่ยวกับสิ่งลี้ลับในธรรมชาติ การดำรงชีวิตผูกพันกับ ฝน ฟ้า อากาศ การทำการเกษตร เก็บของป่า ล่าสัตว์ จึงก่อให้เกิดประเพณีพิธีกรรมขึ้นเพื่อบูชาอำนาจลี้ลับเหนือธรรมชาติ ด้วยความเชื่อว่ามีพลังบันดาลความอุดมสมบูรณ์แก่ชีวิต

            สังคมไทยเป็นสังคมเกษตรกรรม ความอุดมสมบูรณ์จึงเป็นหัวใจหลักของความมั่นคงในการดำรงชีวิต ประเพณีพิธีกรรมต่างๆ ของไทยกระทำขึ้นในลักษณะยอมจำนน อ้อนวอน ร้องขอ ต่ออำนาจลี้ลับเหนือธรรมชาติ รวมทั้งความเชื่อทางศาสนา คือ พุทธและพราหมณ์

            ศรีศักร  วัลลิโภดม นักวิชาการด้านโบราณคดีและมานุษยวิทยา ชี้ให้เห็นว่า “ประเพณี หมายถึง การทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดอย่างสืบเนื่อง มีการถ่ายทอดจากคนรุ่นหนึ่งมายังรุ่นต่อๆ มาได้ ถ้าหากผู้หนึ่งผู้ใดไม่เห็นด้วยหรือไม่ทำตามก็อาจถือได้ว่ากระทำผิดประเพณี อาจได้รับการติฉินนินทาหรือแม้กระทั่งการถูกลงโทษ” (ศรีศักร วัลลิโภดม, 2559)

            “พิธีกรรม หมายถึง พฤติกรรมที่เป็นรูปธรรมของศาสนาและระบบความเชื่อ ซึ่งปรากฏอยู่ในทุกสังคม สะท้อนถึงความหวัง ความปรารถนา ความหวาดกลัว และความรู้สึกต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับความคิดและอารมณ์ของมนุษย์ ดังนั้น มนุษย์ทุกกลุ่มชาติพันธุ์ ทุกภาษา ต่างมีพิธีกรรมของกลุ่มเพื่อแสดงออกถึงความเชื่อของตนเองทั้งสิ้น เมื่อพิธีกรรมเป็นการแสดงออกถึงความเชื่อ อันเป็นลักษณะอย่างหนึ่งทางสังคมวัฒนธรรมของมนุษย์ พิธีกรรมจึงเป็นการกระทำของกลุ่มคนที่มาพบปะสังสรรค์และสร้างแบบแผนพิธีขึ้นมาเพื่อตอบสนองความต้องการในการดำรงชีวิตอยู่ร่วมกัน” (ศรีศักร วัลลิโภดม, 2559)

            “ประเพณีพิธีกรรม คือ สิ่งที่แสดงออกในเรื่องความเชื่อทั้งศาสนาและไสยศาสตร์ของมนุษย์ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับความเป็นมนุษย์ ทุกชาติทุกภาษาต่างก็มีเหมือนกัน จะมากหรือน้อยแค่ไหนนั้นขึ้นอยู่กับความเข้มข้น เท่านั้นเอง สังคมใดที่เจริญในทางศาสนาและอภิปรัชญา ความเชื่อในทางไสยศาสตร์ก็น้อยลง รวมทั้งบรรดาประเพณีพิธีกรรมก็คลายความศักดิ์สิทธิ์ลง กลายเป็นกิจกรรมร่วมทางสังคมเท่านั้น” (ศรีศักร วัลลิโภดม, 2547)

             เช่นเดียวกันกับประเพณีและพิธีกรรมในประเทศไทย เกิดจากความเชื่อในอำนาจลี้ลับเหนือธรรมชาติและศาสนาอันประกอบด้วยพุทธและพราหมณ์ มีการปฏิบัติเพื่อบูชาตามความเชื่อดังกล่าวผ่านประเพณีและพิธีกรรมในรอบปีหรือประเพณี 12 เดือน ทั้งนี้จำแนกได้เป็น ประเพณีหลวงและประเพณีราษฎร์หรือประเพณีท้องถิ่น ประเพณีหลวงคือประเพณีและพิธีกรรมอันเกี่ยวแก่พระมหากษัตริย์ ขณะที่ประเพณีราษฎร์หรือประเพณีท้องถิ่น คือ ประเพณีและพิธีกรรมอันเกี่ยวแก่ราษฎร มีความแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่เนื่องเพราะมีประวัติศาสตร์ความเป็นมา และสภาพแวดล้อมต่างกัน

             สำหรับประเพณีหลวงและประเพณีราษฎร์หรือประเพณีท้องถิ่น ศรีศักร ได้ชี้ให้เห็นว่า “ประเพณีหลวงและประเพณีราษฎร์ต่างมีการเลียนแบบหยิบยืมวัฒนธรรมซึ่งกันและกัน ประเพณีหลวงได้แบบอย่างของประเพณีราษฎร์มาประสมประสานกับวัฒนธรรมต่างประเทศ จนกลายเป็นประเพณีหลวงโดยสมบูรณ์ หลังจากนั้นก็มีอิทธิพลส่งกลับไปสู่ประเพณีราษฎร์อีก ทำให้ประเพณีราษฎร์ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไปตามประเพณีหลวง เพราะฉะนั้น นอกจากการปฏิบัติประเพณีในรอบปีของราชสำนักแล้ว ประชาชนแต่ละท้องถิ่นก็มีงานประเพณีในรอบปีเช่นเดียวกัน ซึ่งจะมีความคล้ายคลึงและแตกต่างกันไป” (ศรีศักร วัลลิโภดม, 2559)

 

ประเพณีหลวง

            ประเพณีหลวงเป็นประเพณีที่เกี่ยวแก่พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ ปฏิบัติเฉพาะในราชสำนัก ปัจจุบันกระทำขึ้นเพื่อเทิดทูนศาสนาและความเป็นสิริมงคลแก่สิริราชสมบัติ ตลอดจนเพื่อรำลึกถึงวีรกรรมของบูรพกษัตริย์ และเพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่ราษฎรในการทำการเกษตร  ทั้งนี้พระราชพิธี 12 เดือน ที่ปรากฏในปัจจุบัน มีดังนี้

 

เดือน 5

            พระราชพีธีบวงสรวงพระสยามเทวาธิราช

            พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯเสด็จพระราชดำเนินยังพระที่นั่งไพศาลทักษิณในพระบรมมหาราชวัง เพื่อถวายสักการะพระสยามเทวาธิราช เทวรูปต่างๆ และเทวดากลางหาว ด้วยเครื่องสังเวย ประกอบด้วย หัวหมู เป็ด ไก่ เมี่ยงส้ม ทองหยิบ ฝอยทอง ส้มเขียวหวาน กล้วยหอมจันทน์ ขนมต้มแดง ขนมต้มขาว ผลทับทิม ดอกไม้ ธูป เทียนทอง เทียนเงิน (ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, 2544:30)

            ปัจจุบันเนื่องจากทรงพระประชวรจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พระบรมโอรสาธิราชฯสยามมกุฎราชกุมาร ออกแทนพระองค์

            พระราชพิธีสงกรานต์

            เริ่มตั้งแต่วันที่ 13–16 เมษายนของทุกปี ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลและพระราชพิธีต่างๆ มีการจัดเครื่องราชสักการะ ประกอบด้วยต้นไม้ทอง 4 ต้น ต้นไม้เงิน 4 ต้น แพรแดงติดขลิบ 4 ผืน ผ้าแพรดอก 2 ผืน เทียนหนักเล่มละ 180 กรัม 48 เล่ม ไม้ระกำ 48 ดอก น้ำหอมสรงพระ 2 หม้อ เทียนหนักเล่มละ 15 กรัม 600 เล่ม ธูป 20 กล่อง เพื่อพระราชทานกระทรวงมหาดไทยนำไปบูชาพระปฐมเจดีย์ พระธาตุพนม พระธาตุหริภุญชัย พระธาตุนครศรีธรรมราช พระพุทธบาท พระพุทธฉาย พระศรีสรรเพชญ พระพุทธรูปถ้ำปะทุน พระพุทธรูปถ้ำวิมานจักรี พระพุทธรูปวัดพนัญเชิง พระพุทธรูปวัดสุวรรณดาราราม (กรมศิลปากร, 2542:28)

            วันที่ระลึกมหาจักรี

ตรงกับวันที่ 6 เมษายนของทุกปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์ เสด็จไปทรงถวายเครื่องราชสักการะถวายบังคมพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทั้งนี้มีการเปิดปราสาทพระเทพบิดรเพื่อให้ประชาชนได้ถวายบังคมพระบรมรูปบูรพกษัตริย์ในราชวงศ์จักรี (ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, 2544:31)

 

เดือน 6

              พระราชกุศลทักษิณานุประทานและพระราชพิธีฉัตรมงคล

             ตรงกับวันที่ 5 พฤษภาคมของทุกปี มีการจัดพระราชพิธีเพื่อเฉลิมฉลองวันขึ้นครองราชย์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทานถวายสมเด็จพระบูรพมหากษัตริย์และสมเด็จพระอัครมเหสีทุกพระองค์ (กรมศิลปากร, 2542:30)

            ส่วนการพระราชพิธีฉัตรมงคล โปรดเกล้าฯให้ตั้งการพระราชพิธี ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทเพื่อเฉลิมฉลองพระมหาเศวตฉัตรสิริราชกกุธภัณฑ์พระแสงสำคัญประจำรัชกาล มีการสวดมนต์เลี้ยงพระ เวียนเทียนสมโภชพระมหาเศวตรฉัตร อ่านคำประกาศพระราชพิธีฉัตรมงคล ยิงปืนใหญ่เฉลิมพระเกียรติทั้งทหารบกและทหารเรือ ฝ่ายละ 21 นัด (กรมศิลปากร, 2542:30)

            พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ

            พระราชพิธีดังกล่าวมีการจัดขึ้น 2 วัน โดยวันแรกคือพระราชพิธีพืชมงคล ประกอบพิธีสงฆ์เพื่อเป็นสิริมงคลแก่พืชพันธุ์ธัญญาหารเพื่อนำไปใช้หว่านในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ดังนั้นวันที่ 2 จึงเป็นการประกอบพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นพิธีพราหมณ์ มีการจัดริ้วขบวน การบูชาเทวรูปตลอดจนการเสี่ยงทายในเรื่องการเลือกผ้านุ่งของพระยาแรกนา และการเสี่ยงทายพระโคกินเลี้ยง (กรมศิลปากร, 2542:31)

             พระราชกุศลวิสาขบูชา

            วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เนื่องจากเป็นวันประสูติ ตรัสรู้ และ ปรินิพพาน ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ทางราชสำนักมีการจัดงานต่อเนื่องกัน 2 วัน คือขึ้น 14 ค่ำ เดือน 6 เป็นพิธีทรงตั้งภิกษุและสามเณรเปรียญ และวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 6 ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลวิสาขบูชา ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีการเวียนเทียนรอบพระอุโบสถ 3 รอบ สดับพระธรรมเทศนารับศีลจากพระราชาคณะ บางโอกาสทรงเสด็จพระราชดำเนินบำเพ็ญพระราชกุศล ณ สถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนา เช่น พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม (กรมศิลปากร, 2542:34) 

              พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลวันถวายพระเพลิงพระพุทธเจ้า

            หรือวันอัฏฐมีบูชาในวันแรม 8 ค่ำ เดือน 6 ถือเป็นวันถวายพระเพลิงพระพุทธเจ้าหลังเสด็จปรินิพพานแล้ว 7 วัน เดิมเป็นส่วนหนึ่งของพระราชพิธีวิสาขบูชา ทรงพระราชอุทิศและทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พระบรมวงศานุวงศ์เสด็จจุดเทียนรุ่งบูชาตามพระอารามหลวง 7 แห่ง คือ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม วัดบวรนิเวศวิหาร วัดนิเวศธรรมประวัติ วัดบรมนิวาส และ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, 2544:32)

 

เดือน 7

              พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลในวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลพระอัฐมรามาธิฐดินทร์และพระราชกุศลทักษิณานุประทานพระบรมอัฐิสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร์อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

              จัดเป็นพระราชพิธีในคราวเดียวกันครั้งแรกในวันที่ 9 มิถุนายน 2540 เป็นต้นมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินประกอบพระราชพิธี ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยเป็นประจำทุกปี (ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, 2544:32) หากแต่ในช่วงทรงพระประชวรจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พระบรมวงศานุวงศ์เป็นผู้แทนพระองค์เพื่อประกอบพระราชพิธี

 

เดือน 8

             พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลเนื่องในวันอาสาฬหบูชาและเทศกาลเข้าพรรษา

             เป็นพระราชพิธีทำบุญทางพระพุทธศาสนาในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 และวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ทรง การพระราชกุศลหล่อเทียนพรรษา ก่อน 45 วัน ก่อนพระราชพิธี 7 วัน ทรงพระสุหร่าย ทรงเจิมเทียนพรรษาและอุปกรณ์พระราชทานแก่พระอารามหลวงรวมถึงปูชนียวัตถุในพระบรมมหาราชวัง 33 แห่ง วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลเนื่องในวันอาสาฬหบูชา ทรงจุดเทียนพรรษาและถวายพุ่มเทียนบูชาพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร วันรุ่งขึ้นทรงเปลี่ยนเครื่องพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ถวายเครื่องฤดูฝน ถวายเทียนพรรษาพุ่มเทียนแด่พระพุทธชินสีห์และพระรูปสมเด็จพระสังฆราชองค์ต่างๆในวัดบวรนิเวศวิหาร (ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, 2544:32)

             พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลอุปสมบทนาคหลวง

            เป็นพระราชพิธีที่มีมาตั้งแต่รัชกาลที่ 1 เป็นการอุปสมบทพระราชวงศ์ ราชนิกูล ราชสกุล ข้าราชการชั้นสัญญาบัตรซึ่งได้รับพระราชทานเป็นนาคหลวง และเปรียญธรรม 9 ประโยค จะเสด็จพระราชดำเนินประกอบพระราชพิธีอุปสมบทและพระราชทานเครื่องบริขาร ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, 2544:32)

 

เดือน 9

             พระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

            ตรงกับวันที่ 12 สิงหาคม ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพ ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลส่วนพระองค์ 2 วัน เฉพาะพระราชวงศ์และข้าราชบริพาร ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมานและพระที่นั่งไพศาลทักษิณ (ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, 2544:32)

 

เดือน 11

             พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐินหลวง

             พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปถวายผ้าพระกฐินตามพระอารามหลวงทั้งทางบกและทางน้ำ ตั้งแต่วันออกพรรษา แรม 1 ค่ำ เดือน 11 จนถึงวันสิ้นสุดกาลกฐิน คือ วันแรม 1 ค่ำ เดือน 12 ณ พระอารามหลวง 16 แห่ง คือ วัดบวรนิเวศวิหาร วัดสุทัศนเทพวราราม วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม วัดเบญจมบพิตรสถิตมหาสีมาราม วัดราชบพิตรสถิตมหาสีมาราม วัดมกุฏกษัตริยาราม วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏิ์ วัดราชาธิวาส วัดราชโอรสาราม วัดอรุณราชวราราม วัดเทพสิรินทราวาส วัดสุวรรณดาราราม วัดนิเวศธรรมประวัติ วัดพระปฐมเจดีย์ และ วัดพระศรีมหาธาตุจังหวัดพิษณุโลก (ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, 2544:32-33)

             ในปัจจุบันพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พระบรมวงศานุวงศ์เป็นผู้แทนพระองค์เสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ พระอารามหลวงดังรายนามที่กล่าวมา

              พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลวันปิยมหาราช

              พระราชพิธีดังกล่าวตรงกับวันที่ 23 ตุลาคม ของทุกปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินถวายพวงมาลา ณ ลานพระราชวังดุสิตหรือลานพระบรมรูปทรงม้า จากนั้นทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุประทาน ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย ในพระบรมหาราชวัง (ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, 2544:33) ปัจจุบันทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พระบรมวงศานุวงศ์เป็นผู้แทนพระองค์ประกอบพระราชพิธีดังกล่าว

 

เดือน 1

             พระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา

             วันเฉลิมพระชนมพรรษาตรงกับวันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี มีงานพระราชพิธี 3 วัน ทั้งที่พระบรมมหาราชวังและที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน นอกจากนี้ในวันที่ 4 ธันวาคมของทุกปียังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้คณะรัฐมนตรี ข้าราชการ พ่อค้าประชาชนเข้าเฝ้าฯถวายพระพรชัยมงคลและรับฟังพระบรมราโชวาท ณ ศาลาดุสิดาลัย ภายในสวนจิตรลดา (ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, 2544:33) แต่ในปัจจุบันทรงพระประชวร เสด็จประทับ ณ โรงพยาบาลศิริราช และ พระราชวังไกลกังวล จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สำนักพระราชวังจึงจัดให้มีการลงนามเพื่อถวายพระพรชัยมงคลตามสถานที่ต่างๆ เช่น ศาลาสหทัยสมาคม ในพระบรมมหาราชวัง

 

เดือน 2

            พระราชพิธีขึ้นปีใหม่

            มีการบำเพ็ญพระราชกุศลทรงบาตรขึ้นปีใหม่ในวันที่ 31 ธันวาคม ของทุกปี ณ บริเวณ สนามหน้าพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ปัจจุบันได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้จัดพระราชพิธีดังกล่าวเป็นการส่วนพระองค์  ณ พระราชฐานที่ประทับ เป็นประจำทุกปี (ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, 2544:33)

            พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลบวงสรวงสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

            พระราชพิธีดังกล่าวตรงกับวันที่ 25 มกราคมของทุกปี เนื่องจากในวันที่ 27 กันยายน พ.ศ.2498 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินประกอบพระราชพิธีบวงสรวงสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ณ อนุสรณ์ดอนเจดีย์ จังหวัด สุพรรณบุรี ต่อมาในปีพ.ศ.2499รัฐบาลนำโดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ในขณะนั้น ได้ประกาศให้วันที่ 25 มกราคมของทุกปี เป็นวันสำคัญของชาติไทยและกองทัพไทย ทั้งกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานเป็นงานรัฐพิธี ในวันที่ 25 มกราคม พ.ศ.2502 จากนั้น ถือเป็นรัฐพิธีประจำปี ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินประกอบพระราชพิธีดังกล่าว หรือ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ผู้แทนพระองค์วางพวงมาลาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ และถวายราชสักการะ โดยไม่มีการพระราชกุศลและอ่านประกาศบวงสรวงเช่นเสด็จพระราชดำเนินเอง  อย่างไรก็ตามไม่ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะเสด็จพระราชดำเนินไปประทับแรมที่ใดหากมีช่วงเวลาตรงกับวันที่ 25 มกราคม จะทรงประกอบพระราชพิธีดังกล่าว ณ สถานที่ต่างๆ ที่มีพระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราชประดิษฐานอยู่ (กรมศิลปากร, 2542:252)     

            พระราชพิธีสังเวยพระป้าย

            พระราชพิธีดังกล่าวเริ่มขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 กำหนดการเดิมประกอบพระราชพิธี ณ พระที่นั่งเวหาศน์จำรูญ พระราชวังบางปะอิน ในวันไหว้ และสังเวย ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน ในวันตรุษจีน พระป้ายหรือป้ายวิญญาณบรรพบุรุษของชาวจีนมีไว้บูชาประจำบ้าน การสังเวยบูชาแสดงถึงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษผู้ล่วงลับ ขณะที่ปัจจุบันพระราชพิธีดังกล่าวยังมีอยู่หากแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯสยามมกุฎราชกุมาร เสด็จออกแทนพระองค์เพื่อประกอบพระราชพิธีดังกล่าว ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต (กรมศิลปากร, 2542:22-23)

 

เดือน 3

            การพระราชกุศลมาฆบูชา

            ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้พระบรมวงศานุวงศ์และผู้แทนพระองค์ ออกแทนเพื่อบำเพ็ญพระราชกุศล ณ วัด พระศรีรัตนศาสดาราม (ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, 2544:34)

 

เดือน 4

            การเสด็จพระราชดำเนินเปลี่ยนเครื่องพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร

            ปัจจุบันพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้สมเด็จพะรบรมโอรสาธิราชฯสยามมกุฎราชกุมาร ออกแทนพระองค์เพื่อดำเนินการเปลี่ยนเครื่องทรง โดน เครื่องทรงฤดูร้อนทรงเปลี่ยนในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 4 ขณะที่เครื่องทรงฤดูฝนเปลี่ยนในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 และเครื่องทรงฤดูหนาวทรงเปลี่ยนในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 12 (ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, 2544:34)

 

ประเพณีราษฎร์หรือประเพณีท้องถิ่น

            ประเพณีราษฎร์หรือประเพณีท้องถิ่น เป็นประเพณีและพิธีกรรมที่เกี่ยวแก่ราษฎร ประกอบไปด้วย ประเพณีเกี่ยวกับความอุดมสมบูรณ์ ประเพณีเพื่อความเป็นสิริมงคลของชุมชนและงานรื่นเริง ประเพณีที่เกี่ยวเนื่องกับความเชื่อในโลกหน้าและความสำคัญของเครือญาติกลุ่มสายตระกูลและความสามัคคีและบูรณาการของชุมชนและท้องถิ่น และ ประเพณีการทำบุญเนื่องในพระพุทธศาสนา  มีการกระทำขึ้นในรอบปีหรือเรียกว่า ประเพณี 12 เดือน

 

ภาคเหนือ

 เดือน 7 (เหนือ)

            ประเพณีสงกรานต์

            ประเพณีสงกรานต์หรือวันขึ้นปีใหม่ของชาวล้านนา มีขึ้นช่วงวันที่ 13-16 เมษายน ของทุกปี โดยวันที่ 13 เป็นวันแห่งการรณรงค์ทำความสะอาด บ้านเรือน เสื้อผ้า ที่อยู่อาศัย ร่างกาย หรือเรียกว่า การดำหัว เป็นการสระผมเพื่อชำระล้างความไม่ดีทั้งปวง  ถือ เป็นวันสังขานต์ล่อง ตัวสังขานต์ คือ ปู่ – ย่าสังขานต์ ลักษณะเป็นคนแก่ผมรุงรัง มีหน้าที่รับสิ่งไม่ดี และขยะมูลฝอยต่างๆ ที่คนปัดกวาดทิ้ง (ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, 2544:111)

            วันที่ 14 เรียกว่าวันเนาหรือวันเน่า ห้ามพูดคำหยาบ เป็นวันจับจ่ายอาหารเพื่อเตรียมถวายพระและเลี้ยงญาติพี่น้อง ช่วงบ่ายมีการก่อพระเจดีย์ทรายที่วัด (ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, 2544:111)

            วันที่ 15 เรียกว่า วันพระยาวัน ถือเป็นวันขึ้นปีใหม่และมีความสำคัญ เป็นวันสำหรับงานมงคล มีการประกอบเครื่องคาวหวานเพื่อถวายพระที่วัด และนำไปบ้านบิดา มารดา ตลอดจนผู้ที่ตนเคารพนับถือ จากนั้น มีการดำหัว ผู้มีพระคุณ ด้วยน้ำส้มป่อย มีพานดอกไม้เป็นเครื่องสักการะเพื่อมอบให้ผู้มีพระคุณ จากนั้นท่านจะให้พร ผู้ถูกดำหัวจะใช้ปลายนิ้วจุ่มไปที่ขันน้ำส้มป่อย แล้วลูบศีรษะ หากมีการรดน้ำจะกระทำด้วยความสุภาพ และต้องได้รับอนุญาตเท่านั้น(ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, 2544:111)

            วันที่ 16 ถือเป็น วันปากปี เป็นวันแรกที่เข้าสู่ปี ชาวบ้านจะไปวัดพร้อม สะตวง ใส่เครื่องบูชาพระเคราะห์ทั้งหลาย เพื่อให้พระสงฆ์กล่าวคำบูชารวมกันทั้งหมู่บ้าน (ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, 2544:111)

            ปัจจุบันประเพณีสงกรานต์ทางภาคเหนือเป็นที่นิยมสำหรับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ โดยเฉพาะ ประเพณีสงกรานต์ที่จังหวัดเชียงใหม่ การเล่นสาดน้ำบริเวณคูเมือง ประตูท่าแพ และกาดสวนแก้ว เป็นจุดที่มีผู้คนหนาแน่น

            งานปอยส่างลอง

จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นประเพณีการบวชเณรหรือบวชลูกแก้วของชาวไทใหญ่ มีการจัดงานถึงสามวันสามคืน เคยจัดกันในเดือนมีนาคม แต่ปัจจุบันจัดขึ้นในเดือนเมษายนเนื่องเพราะตรงกับช่วงปิดภาคเรียน ลูกแก้วแต่งกายคล้ายเจ้าชายไทใหญ่ ขี่คอญาติพี่น้องมีการตั้งขบวนร่ายรำแห่ไปตามถนนรอบเมืองก่อนนำไปบรรพชาเป็นสามเณร มีความเชื่อว่าหากใครได้จัดงานบวชเช่นนี้ถือว่าได้บุญอย่างยิ่ง (ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, 2544:112)

 

 เดือน 12 (เหนือ)

            เทศกาลสารท

            ประกอบด้วยการทำบุญสลากภัตรหรือ ประเพณีตานก๋วยสลาก หรือ การทำบุญสลากภัต นิยมจัดกันตั้งแต่เดือน 12 เหนือ(เดือนกันยายน) จนถึงเดือนยี่เหนือ(เดือนพฤศจิกายน) ในท้องถิ่นภาคเหนือหลายแห่งมีการยกเลิกการทำบุญเช่นนี้ไปแล้ว หรือ บางแห่งนานครั้งจะจัดขึ้นเนื่องเพราะภาวะเศรษฐกิจซบเซา (ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, 2544:112)

 

เดือน 1 (เหนือ หรือเดือนเกี๋ยง)

            เทศกาลออกพรรษา

            เชื่อว่าเป็นวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ภายหลังการโปรดพุทธมารดา ดังนั้นประชาชนจึงนิยมทำบุญตักบาตรเพื่อเป็นพุทธบูชา โดยการตักบาตรเทโวนี้ เป็นประเพณีใหม่ที่เข้ามาในภาคเหนือ เริ่มตั้งแต่ พ.ศ.2500 เป็นต้นมา พระสงฆ์และประชาชนนำประเพณีนี้มาจากภาคกลาง นอกจากนี้ยังมีงาน จองพารา เป็นประเพณีของกลุ่มชาติพันธุ์ไทใหญ่ จัดขึ้นที่พระธาตุดอยกองมู จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีการสร้างปราสาทอย่างสวยงามเพื่อจำลองเป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้า เรียกว่า จองพารา (ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, 2544:112)  

 

เดือน 2 (เหนือ หรือ เดือนยี่)  

            เทศกาลยี่เป็ง

            ปัจจุบันมีการจัดงานเทศกาลยี่เป็งอย่างยิ่งใหญ่ มีการลอยโคม ตามประทีป และลอยกระทง โดยมีความแตกต่างกันไปในแต่ละจังหวัด เช่น งานยี่เป็งจังหวัดเชียงใหม่ สันนิษฐานว่าได้รับอิทธิพลจากศาสนาพราหมณ์ คือการบูชาเทพเจ้าทั้ง 3 คือ พระศิวะ พระนารายณ์ และ พระพรหม มีการจุดโคมและบูชาโคมเป็นเวลา 3 วัน จากนั้นนำไปลอยน้ำ ต่อด้วยพิธีตามประทีป เชื่อว่าเป็นการบูชาพระแม่คงคาและเป็นการแสดงความกตัญญูต่อสายน้ำ ลอยเคราะห์ลอยโศก ทั้งยังเพื่อบูชารอยพระพุทธบาทและระลึกถึงบรรพบุรุษผู้ล่วงลับ (ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, 2544:112-113) 

 

เดือน 5 (เหนือ) กระทั่งเดือน 8 (เหนือ)

            เดือน 5 เหนือ เป็นวันมาฆบูชา จนถึงเดือน 8 เหนือ มีการทำบุญตักบาตรตามวัดต่างๆ มีประเพณีการสรงน้ำพระธาตุสำคัญของท้องถิ่นหลายแห่ง เช่น ประเพณีสรงน้ำพระธาตุจอมทอง ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 เหนือ ประเพณีหกเป็ง ไหว้พระบรมธาตุแช่งแห้ง จังหวัดน่าน ในวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 6 เหนือ งานสรงน้ำพระพุทธบาทตากผ้า จังหวัดลำพูน ในวันขึ้น 8 ค่ำเดือน 8 เหนือ ประเพณีสรงน้ำพระธาตุหริภุญชัย วันขึ้น 15 ค่ำเดือน 8 เหนือ(ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, 2544:112-113) 

 

ภาคกลาง

เดือน 5

            เทศกาลสงกรานต์

            เทศกาลสงกรานต์ในภาคกลาง เป็นช่วงเวลาแห่งความสนุกสนาน เนื่องเพราะหลายจังหวัดในพื้นที่ภาคกลางมีการจัดกิจกรรมรื่นเริงต่างๆ การประกวดนางสงกรานต์ งานรื่นเริงรำวง งานสรงน้ำพระตามวัดต่างๆ เช่น ในกรุงเทพมหานคร การจัดงานประเพณีสงกรานต์ที่มีชื่อเสียงที่สุด คือ งานสงกรานต์วิสุทธิกษัตริย์ จัดขึ้นทุกวันที่ 12 และ 13 เมษายนของทุกปี ความโดดเด่นเป็นที่น่าสนในที่สุดคือ การประกวดเทพีวิสุทธิกษัตริย์ ทั้งยังมีการทำบุญสรงน้ำพระเล่นสาดน้ำกันตามประเพณี ทั้งนี้ประเพณีสงกรานต์ในท้องถิ่นภาคกลางยังมีประเพณีของกลุ่มชาติพันธุ์ที่จัดขึ้นทุกปี ได้แก่ (ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, 2544:77) 

            ประเพณีสงกรานต์ไทยวน

            จังหวัดสระบุรี เป็นประเพณีสงกรานต์ของชาวไทยวนที่อพยพมาจากท้องถิ่นทางภาคเหนือ มีการบวงสรวงบรรพบุรุษ ทำบุญถวายภัตตาหารเพลแด่พระสงฆ์ สรงน้ำพระ รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ มีการประกวดขบวนแห่ตุง การแข่งขันกีฬาพื้นบ้าน และการละเล่นต่างๆ ทั้งยังมีการสร้างเครือข่ายจากกลุ่มคนไทยวนในภาคกลาง และสมาคมชาวเหนือบางแห่งในภาคกลาง เป็นประเพณีที่ทางจังหวัดและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้ร่วมกันจัดขึ้นเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว (ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, 2544:77) 

             ประเพณีสงกรานต์ไทยมอญนครปากเกร็ด

             จัดขึ้นทุกปี โดยกลุ่มชาติพันธุ์มอญที่มีถิ่นฐานอาศัยอยู่ในบริเวณจังหวัดนนทบุรีจนถึงบริเวณอำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี มีการจัดงานอย่างสนุกสนาน ในช่วงวันที่ 13-15 เมษายนของทุกปี ชาวมอญเรียกวันสงกรานต์วันต้นว่า ทำบุญเปิงซงกรานต์ แปลว่า ข้าวสงกรานต์ หมายถึง ข้าวแช่ที่จะนำไปทำบุญที่วัด โดยข้าวที่นำมาทำข้าวแช่ ต้องถึงพร้อมด้วยลักษณะทั้ง 7 คือ ข้าวที่นำมาหุงต้องใช้ข้าวเปลือก 7 กำ จากนั้น ซ้อมข้าวนั้นให้ได้ 7 ครั้ง ซาวน้ำบริสุทธิ์ 7 ครั้ง แล้วจึงนำมาหุง การนำข้าวแช่ไปถวายวัดนี้จะนำไปก่อนเพลและจัดขบวนแห่อย่างยิ่งใหญ่ เรียกว่า ส่งข้าวแช่ นอกจากข้าวแช่ถวายพระแล้ว ยังต้องจัดสังเวยข้าวแช่เป็นเวลา 3 วัน ส่วนข้าวแช่ที่เหลือนำไปให้ผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ เพื่อความเป็นสิริมงคล (ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, 2544:77)   

            มีประเพณีแห่หางหงส์ของชาวมอญ ตามความเชื่อที่ว่าผู้ใดที่มีวันเกิดตรงกับวันเนา อาจประสบเคราะห์หรือมีเหตุเป็นไปโดยไม่คาดฝัน ต้องสะเดาะเคราะห์ด้วยวิธีปล่อยนกปล่อยปลาหรือด้วยวิธีค้ำต้นโพธิ์ การทำธงเพื่อแห่ถือเป็นวิธีสะเดาะเคราะห์ประการหนึ่งและยังถือเป็นการบูชาพระอีกประการหนึ่ง ทั้งนี้การปล่อยนกปล่อยปลาถือเป็นประเพณีของชาวมอญที่เชื่อว่าเป็นการต่อชีวิตที่ได้บุญแรง (ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, 2544:77)    

 

เดือน 6

            บุญวิสาขบูชา

            บุญวิสาขบูชา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา คือ วันประสูติ ตรัสรู้ และ ปรินิพพาน ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถือเป็นวันพระใหญ่ของชาวพุทธ ทั้งนี้ในภาคกลางยังมีการจัดงานต่างๆ ที่อยู่ในช่วงเวลาบุญวิสาขบูชาด้วย ดังนี้ (ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, 2544:80) 

            เทศกาลไหว้รูปพระศรีอาริย์ วัดไลย์ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำบางขามใกล้เขาสมอคอน อำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยอยุธยา ปัจจุบันเทศกาลดังกล่าวจัดขึ้นปีละ 3 ครั้ง คือวัน ขึ้น 15 ค่ำเดือน 3 ตรงกับวันมาฆบูชา วันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 6 ตรงกับวันวิสาขบูชา และ ขึ้น 15 ค่ำเดือน 11 โดยนำรูปพระศรีอาริย์ประดิษฐานบน ตะเฆ่ เพื่อให้ประชาชนจับเชือกขนาดใหญ่ที่ผูกไว้ตรงปลายตะเข้ทั้งสองข้าง ช่วยกันฉุดลากตะเฆ่ให้เคลื่อนที่อย่างช้าๆ ไปจนถึงวัดท้องคุ้งระยะทางราว 9 กิโลเมตร ให้ประชาชนปิดทองและขอน้ำมนต์จากพระศรีอาริย์  จากนั้นจึงลากตะเฆ่กับวัดไลย์ตามเดิม เชื่อว่าเมื่อพระศรีอาริย์ผ่านเส้นทางใดก็ตามจะเป็นมงคลแก่ครอบครัวและที่นาของตน (ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, 2544:80) 

            ประเพณีเซิ้งบั้งไฟหรือบุญบั้งไฟ แม้เราจะคุ้นเคยกับการจัดงานบุญบั้งไฟในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย แต่ในขณะเดียวกันในพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรี ในเขตอำเภออำเภอโคกปีบ อำเภอศรีมหาโพธิ และบริเวณใกล้เคียง มีกลุ่มชาติพันธุ์ลาวพวนเข้ามาตั้งถิ่นฐาน สันนิษฐานว่าอพยพเข้ามาอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์ จึงถือเป็นประเพณีที่ปฏิบัติมาเป็นเวลานานในช่วงวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 6  ทั้งยังเป็นช่วงเวลาของการเตรียมตัวเพื่อการทำเกษตรกรรม ดังนั้นจึงจัดพิธีดังกล่าวขึ้นเพื่อบูชาไฟและขอฝนเพื่อผลผลิตในปีต่อไป(ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, 2544:81)   

 

เดือน 8

             เทศกาลเข้าพรรษา  

            วันเข้าพรรษาตรงกับวันแรม 1 ค่ำเดือน 8 ของทุกปี มีการถวายผ้าอาบน้ำฝนแด่พระภิกษุที่จำพรรษาตามพระอารามต่างๆ นอกจากนี้ประเพณีสำคัญของภาคกลางที่มีชื่อเสียงไปทั่วประเทศ คือ ประเพณีตักบาตรดอกไม้ ที่อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี เป็นประเพณีการตักบาตรโดยใช้ดอกไม้ ที่มีชื่อเรียกว่า ดอกเข้าพรรษา จะผลิดอกอย่างสวยงามในช่วงเทศกาลเข้าพรรษาเท่านั้น ทั้งนี้ การตักบาตรดอกไม้และตักบาตรน้ำผึ้งยังมีอีกแห่งหนึ่งคือที่วัดบวรนิเวศวิหารในกรุงเทพมหานครอีกด้วย (ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, 2544:82)      

 

เดือน  9

            ประเพณีทิ้งกระจาดวัดพนัญเชิง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นพิธีกรรมในคติเดียวกับประเพณีชิงเปรตในเดือนสิบ โดยชาวจีนเชื่อว่าเป็นช่วงที่ประตูยมโลกปิด เป็นการทำบุญให้กับผีที่ไม่มีญาติทั้งหลาย มีการทำหอทิ้งกระจาดเพื่อบริจาคสิ่งของแก่คนยากจน มีหุ่นยมบาลหรือที่ชาวจีนเรียกว่า ไต้ซื่อเอี้ย ทั้งนี้ประเพณีดังกล่าวที่จัดขึ้นที่วัดพนัญเชิง มีความยิ่งใหญ่กว่าที่อื่น เนื่องจากวัดพนัญเชิงเป็นที่ประดิษฐาน ซำปอกง หรือ หลวงพ่อโต พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวจีนให้ความนับถือเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะช่วงเทศกาลตรุษจีน ชาวจีนให้ความนิยมเดินทางมาสักการะขอพรเป็นจำนวนมาก (ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, 2544:82)  

            ประเพณีกำเกียง จังหวัดสุโขทัย เป็นประเพณีการเลี้ยงผีบรรพบุรุษ จัดขึ้นทั้งสิ้น 3 วัน ตรงกับวันแรม 1 ค่ำเดือน 9 มีการเย็บกระทงกาบกล้วยหรือจัดหาตะกร้าเก่าๆ นำดินเหนี่ยวมาปั้นรูปคนเท่ากับจำนวนคนในบ้าน รวมถึงสัตว์เลี้ยงต่างๆ ใส่ในกระทง เมื่อถึงเวลาอาหารเย็นทุกคนในบ้านต้องเหลือข้าวไว้หนึ่งคำ เพื่อนำมาใส่ในกระทง จนถึงวันแรม 12 ค่ำ จึงนำกระทงไปทิ้งลงแม่น้ำ พร้อมกับใช้มีดตัดส่ายน้ำในบริเวณที่ทิ้งตะกร้าลงไป ถือเป็นการส่งผีย่าผีเกียง (ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, 2544:82)   

 

เดือน 10

            เทศกาลสารท ประกอบไปด้วย

            ประเพณีตักบาตรน้ำผึ้งที่วัดคลองครุ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร

ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 10 สันนิษฐานว่าเป็นประเพณีที่สืบเนื่องมาจากประเพณีพิธีกรรมของชาวมอญ นิยมทำกันหลายแห่งในจังหวัดสมุทรสาครและจังหวัดสมุทรสงคราม มีการทำบุญตักบาตรเช่นเดียวกับวัดทั่วไป แต่จะมีความโดเด่นในเรื่องของการตักบาตรด้วยน้ำผึ้ง เชื่อว่ามีอานิสงส์มากเนื่องเพราะพระภิกษุสามารถนำน้ำผึ้งไปใช้เป็นยาในเวลาจำเป็น (ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, 2544:82) 

            สารทกล้วยไข่กวนข้าวกระยาทิพย์ จังหวัดกำแพงเพชร

            สันนิษฐานว่าได้รับอิทธิพลจากศาสนาพราหมณ์ มีการกวนข้าวกระยาทิพย์ กวนกระยาสารท เพื่อความเป็นสิริมงคล เชื่อว่าเป็นการระงับโรคภัย โดยการเริ่มพิธีจะมีการตั้งบายศรี ทำพิธีด้วยพราหมณ์ ทั้งนี้ชาวจังหวัดกำแพงเพชรปลูกกล้วยไข่เป็นจำนวนมาก จึงนำมารับประทานคู่กับกระยาสารท ทั้งยังมีการจัดทอดผ้าป่าแถว ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 เวลากลางคืน บริเวณโบราณสถานวัดพระแก้วในเมืองเก่ากำแพงเพชร (ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, 2544:83) 

             ประเพณีอุ้มพระดำน้ำ จังหวัดเพชรบูรณ์

            สันนิษฐานว่าประเพณีดังกล่าวเกิดจากความเชื่อท้องถิ่น เมื่อพบพระพุทธรูปศิลปะลพบุรีในแม่น้ำป่าสักบริเวณวังมะขามโดยชาวประมง เล่าว่ากระแสน้ำวนทำให้พระพุทธรูปศิลาลอยขึ้นมาได้ จึงนำไปประดิษฐาน ณ วัดไตรภูมิ และถวายนามว่า พระพุทธมหาราชา การประกอบพิธีในปัจจุบัน ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้อันเชิญไปทำการอุ้มพระดำน้ำ ในวันแรม 15 ค่ำเดือน 10 เพื่อความเชื่อในเรื่องความอุดมสมบูรณ์และร่วมเย็นเป็นสุข (ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, 2544:83)   

 

เดือน 11

            ออกพรรษา

            วันออกพรรษา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เชื่อว่าเป็นวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เพื่อโปรดพุทธมารดา และเชื่อว่าในวันแรม 1 ค่ำเดือน 11 หรือวันเทโวโรหณะ เป็นวันที่พระพุทธเจ้าเปิดโลกคือ สวรรค์ มนุษย์ และ นรก สามารถเห็นกันได้ทั้ง 3 โลก วันดังกล่าวเกิดขึ้นหลังวันออกพรรษา 1 วัน ประชาชนในพื้นที่ภาคกลางมีการประกอบประเพณีตักบาตรเทโว เพื่อเป็นพุทธบูชา ทั้งนี้แต่ละพื้นที่มีลักษณะเด่นที่แตกต่างกันไป เช่น ประเพณีตักบาตรเทโวที่จังหวัดกาญจนบุรี สุพรรณบุรีและอุทัยธานี นิยมสร้างวัดริมเชิงเขามีสิ่งก่อสร้าง เช่น ศาลาการเปรียญ เจดีย์ บนภูเขามีการสร้างบันไดทอดลงจากภูเขา ทำให้ประเพณีตักบาตรเทโวของจังหวัดเหล่านี้ดูสวยงามสมจริงประหนึ่งว่าเป็นภาพขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ นอกจากนี้ยังมีประเพณีของกลุ่มชาติพันธุ์ เช่น ประเพณีโยนบัว-รับบัว ของชาวมอญ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ (ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, 2544:83) 

            ประเพณีวิ่งควาย จังหวัดชลบุรี

            ประเพณีดังกล่าวเป็นประเพณีเก่าแก่สืบทอดต่อกันมากว่า 100 ปี จัดในวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 11 และวันแรม 1 ค่ำเดือน 11 เกิดขึ้นจากก่อนถึงวันออกพรรษาชาวบ้านจะต้องจับจ่ายใช้สอยของในตลาดเพื่อนำไปทำบุญในวันออกพรรษาและตักบาตรเทโว ดังนั้นพาหนะที่ชาวบ้านใช้เดินทางและบรรทุกของในขณะนั้น คือ ควาย เมื่อค้าขายและจับจ่ายสินค้าเสร็จจึงมีโอกาสพูดคุยกันจูงควายไปรอบๆตลาดกระทั่งกลายเป็นการวิ่งควายเล่นไปรอบๆ ตลาด ปีต่อๆมามีการแต่งควายให้สวยงามถือเป็นการทำขวัญควายไปในตัว กลายเป็นประเพณีวิ่งควายในเวลาต่อมา ทั้งยังมีความเชื่อว่า เมื่อไม่จัดประเพณีดังกล่าวความจะเป็นโรคระบาดล้มตายมากกว่าปกติ ทั้งนี้ประเพณีดังกล่าวยังคงมีการปฏิบัติสืบทอดมาจนกระทั่งปัจจุบัน (ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, 2544:86) 

 

 เดือน 12

            ประเพณีลอยกระทง

           ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 12 กระทำขึ้นตามความเชื่อเพื่อขอขมาต่อพระแม่คงคา และเป็นการแสดงความกตัญญุตาต่อสายน้ำ ในพื้นที่ภาคกลางมีการจัดงานรื่นเริง การประกวดนางนพมาศ การประกวดประดิษฐ์กระทง มีความเชื่อว่าเป็นการเสี่ยงทายความยั่งยืนในการครองรักของหนุ่มสาว เป็นการลอยเคราะห์ลอยโศกมีการตัดผมตัดเล็บใส่กระทง ดังนั้นกานจัดงานลอยกระทงในภาคกลางจึงมีความคล้ายคลึงกันดังที่กล่าวมา ปัจจุบันมีการสนับสนุนประเพณีดังกล่าวโดยการลอยกระทงทางระบบออนไลน์ เพื่อความสะดวกไม่ต้องเดินทางออกจากบ้าน โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานครมีสภาพการจราจรแออัด ดังนั้นการลอยกระทงผ่านระบบออนไลน์จึงเป็นหนทางหนึ่งที่ทำให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในประเพณี หากแต่เราต้องไม่ละเลยที่จะทำความเข้าใจวัตถุประสงค์หลักของประเพณีพิธีกรรมดังกล่าว(ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, 2544:87) 

             เผาเทียนเล่นไฟ จังหวัดสุโขทัย

             ตรงกับวันขึ้น 15 ต่ำเดือน 12 คิดค้นขึ้นโดยนายนิคม มุสิกะคามะ เจ้าหน้าที่กรมศิลปากร มีการลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ มีการจุดประทีปโคมไฟ สว่างไสวทั่วเมืองเก่าสุโขทัย มีการประกวดนางนพมาศ การแสดงโขน ในบางปีจะจัดเป็นชุดชมการแสดง ประกอบด้วย การรับประทานอาหารมื้อพิเศษที่เป็นอาหารพื้นเมืองของชาวสุโขทัย ชมการแสดงการแต่งกายโบราณ การละเล่นพื้นบ้าน และแสงเสียง ตำนานความเป็นมาของกรุงสุโขทัย จัดโดยกรมศิลปากรและสนับสนุนโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อตอบสนองนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะชาวต่างชาติ (ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, 2544:87)    

 

เดือนยี่หรือเดือน 2

             โดยทั่วไปเดือนนี้ไม่มีประเพณีพิธีกรรมสำคัญ หากแต่บางพื้นที่  เช่น จังหวัดนครสวรรค์ ทีมีชาวจีนเข้ามาตั้งถิ่นฐานเป็นเวลาหลายช่วงอายุคนจึงมีการจัดงานตามประเพณีจีนขึ้นทุกปี ได้แก่

              ประเพณีแห่เจ้าพ่อ – เจ้าแม่ปากน้ำโพ

              ในเทศกาลตรุษจีนไม่เพียงแต่มีการเซ่นไหว้เท่านั้น แต่ยังถือเป็นประเพณีที่ต้องเชิญเจ้ามีการจัดขบวนแห่รอบตลาดเพื่อความเป็นสิริมงคล เนื่องเพราะ 70 กว่าที่ผ่านมาเกิดอหิวาตกโรคที่ปากน้ำโพ มีคนเจ็บป่วยและตายเป็นจำนวนมาก มีโรคระบาดเกือบทุกปี ขณะนั้นชาวบ้านจึงพากันบนบานต่อเจ้าพ่อ-เจ้าแม่ปากน้ำโพ ขอให้ช่วยปกปักรักษา และเชิญเจ้าพ่อ-เจ้าแม่ แห่รอบตลาดเพื่อขับไล่โรคร้ายและนำมาซึ่งความเป็นสิริมงคล ผลปรากฏว่าโรคระบาดดังกล่าวหายไป ดังนั้นจึงถือเป็นประเพณีที่ต้องเชิญเจ้าออกแห่รอบตลาดในเทศกาลตรุษจีน เพื่อแสดงกตเวทิตาคุณและความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตและครอบครัว  ปัจจุบันมีการจัดแสดงขบวนแห่เป็นพิเศษเพิ่มขึ้น ณ สนามกีฬาเทศบาลเมืองนครสวรรค์ เพื่อให้บริการแก่นักท่องเที่ยวในการชมขบวนแห่และมีการเก็บค่าเข้าชม นับเป็นส่วนหนึ่งของประเพณีแห่เจ้าพ่อ-เจ้าแม่ปากน้ำโพ ทั้งยังมีการแสดงแสง สี เสียง เพื่อเป็นจุดขายแก่นักท่องเที่ยว (ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, 2544:89) 

 

เดือน 3

              ในเดือนดังกล่าวมีวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา คือ วันมาฆบูชา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 3 ทั้งนี้ยังเป็นวันสำคัญที่จัดให้มีพระราชพิธีที่ปฏิบัติในราชสำนัก ทั้งในส่วนของท้องถิ่นประชาชนที่เป็นพุทธศาสนิกชน มีการทำบุญ ปฏิบัติธรรม เพื่อเป็นพุทธบูชา แม้ว่าในเดือนนี้ประเพณีและพิธีกรรมที่มีความสำคัญระดับชาติและรู้จักกันอย่างแพร่หลายจะมีเพียงวันมาฆบูชาเพียงประเพณีเดียวเท่านั้น แต่ในขณะเดียวกันในแต่ละท้องถิ่นล้วนแล้วแต่มีประเพณีที่กระทำขึ้นเฉพาะในท้องถิ่นของตน ดังต่อไปนี้

             งานนบพระเล่นเพลง เมืองกำแพงเพชร

             เป็นงานเทศกาลที่จัดขึ้นใหม่ด้วยการใช้คำอธิบายจากข้อความในศิลาจารึกสุโขทัย แล้วนำมาจัดเป็นงานเพื่อรำลึกถึงพระยาลิไทที่ทรงอันเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาประดิษฐานที่นครชุม เมื่อถึงวันเพ็ญ เจ้าฟ้าผู้ครองนครต่างๆ ต้องเดินทางมายังเมืองนครชุม เนื่องจากขณะนั้นการคมนาคมยังไม่สะดวกจึงต้องค้างคืน ชาวเมืองจึงจัดการละเล่นต่างๆไว้ต้อนรับเรียกว่า เล่นเพลง ซึ่งพยายามอธิบายว่าจัดขึ้นในเดือน 3 วันมาฆบูชา (ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, 2544:91) 

              ดังนั้นการนบพระ คือ การไหว้พระ และ การเล่นเพลงก็คือการเล่นสนุกสนานพื้นบ้าน โดยมีการร้องเพลงพื้นบ้าน งานนบพระเล่นเพลงนี้ถูกผลิตขึ้นโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ร่วมกับจังหวัดกำแพงเพชร โดยนำเอาประวัติศาสตร์ทางพระพุทธศาสนาของเมืองกำแพงเพชรมานำเสนอละครประวัติศาสตร์ โดยใช้สถานที่อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร เพื่อให้เกิดความน่าสนใจแก่นักท่องเที่ยว (ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, 2544:92) 

              ประเพณีกำฟ้า จังหวัดพิจิตร  

              กระทำในวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 3 ตรงกับวันมาฆบูชา เป็นการทำบุญเพื่อระลึกถึงบรรพบุรุษ โดยการอุทิศส่วนกุศลและขอพรบรรพบุรุษปกป้องคุ้มครองให้มีความสุข ขณะที่ในวันขึ้น 14 ค่ำ ชาวบ้านจะเผาข้าวหลามเพื่อนำไปทำบุญในวันรุ่งขึ้น (ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, 2544:92) 

 

เดือน 4

               ประเพณีบวชช้างบ้านหาดเสี้ยว อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย

               ประเพณีเก่าแก่ของชาวพวน ปัจจุบันกระทำในวันที 7-8 เมษายน ของทุกปี งานประเพณีบวชช้าง คือ งานบวชพระที่นำนาคขึ้นไปนั่งหลังช้าง แล้วแห่รอบเมืองก่อนทำพิธีอุปสมบทที่วัด จัดขึ้นพร้อมกันทั้งตำบล จึงทำให้นาคมีมาร่วมขบวนแห่ด้วยช้างเป็นจำนวนมาก มีการเตรียมการล่วงหน้าถึง 1 ปีเพื่อบอกกล่าวญาติพี่น้อง โดยพ่อและแม่ของผู้บวช (ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, 2544:92)   

               เครื่องแต่งกายของนาคจะประกอบไปด้วยผ้านุ่งซึ่งเป็นผ้าม่วงหรือผ้าไหม สวมเสื้อกำมะหยี่พร้อมเครื่องประดับ สร้อยทองคำ เข็มขัดนาค แหวนเพชร แหวนพลอย ทาหน้าด้วยแป้ง แสดงถึงความหรูหราฟุ่มเฟือยก่อนที่จะสละทรัพย์ภายนอกไปแสวงหาความสุขทางพระพุทธศาสนา อุปกรณ์การแต่งกายที่ขาดไม่ได้คือ แว่นตาดำ สื่อความหมายถึงการรอยู่ในโลกมืด ตกอยู่ในกิเลส เนื่องจากยังไม่ได้ศึกษาพระธรรมวินัย ช้างในขบวนแห่ถูกประดับตกแต่งอย่างสวยงาม มีการเขียนข้อความเกี่ยวกับการบวชตามลำตัว ภายหลังจากแห่นาคไปรอบหมู่บ้านจะแยกย้ายกลับบ้านเพื่อทำขวัญนาคและบวช สิ่งของเครื่องใช้ในการบวชช้าง เช่น กรวยอัฐ ทำจากไม้ไผ่สานเป็นตาห่างๆ รูป 6 เหลี่ยม ข้างในบรรจุกล้วยน้ำว้าสุก ข้าวเกรียบ ข้าวสาร เกลือ และอาหารอื่นๆ ถาดเครื่องขวัญ 2 ถาด ใส่สิ่งของเหมือนกัน เป็นเครื่องเตือนใจและสอนนาคให้รู้บุญคุณของบิดามารดา และปฏิบัติตามหลักธรรมของพระพุทธศาสนา ปัจจุบันประเพณีดังกล่าวยังคงปฏิบัติสืบเนื่องต่อกันทุกปี (ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, 2544:93) 

 

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

เดือน 6

            เป็นช่วงเริ่มต้นฤดูฝน เป็นการทำบุญขอฝนจากผีปู่ตา งานบุญบั้งไฟในอดีตเน้นการทำบุญ มากกว่าเซิ้งบั้งไฟ ปัจจุบันสถานที่จัดงานที่มีชื่อเสียงประกอบไปด้วย ประเพณีบุญบั้งไฟหรืองานบุญเดือน 6 จังหวัดยโสธร และ งานผีตาโขน อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย

 

เดือน 7

            งานบุญบั้งไฟ

            งานดังกล่าวมีการจัดขึ้นที่จังหวัดหนองคาย ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ และแรม 1 ค่ำเดือน 7 ของทุกปี นอกจากเป็นการจุดบูชาพญาแถนแล้วยังเป็นการบูชาหลวงพ่อพระใส วัดโพธิ์ชัย พระคู่บ้านคู่เมืองสำคัญของจังหวัดหนองคาย มีการจัดขบวนเซิ้งบั้งไฟ และการฟ้อนรำประกอบขบวนอย่างสวยงาม งานดังกล่าวจัดขึ้นโดยเทศบาลหนองคาย (ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, 2544:120-121) 

 

เดือน 8

            แห่เทียนพรรษาเมืองอุบลราชธานี มีการนำเทียนพรรษามาแกะสลักประดิษฐ์เป็นลวดลายต่างๆ บนต้นเทียน เพื่อความสวยงาม ไปถวายพระสงฆ์ เชื่อว่าจะได้บุญ เริ่มแรกชาวบ้านนำเทียนทำจากขี้ผึ้งไปถวายตามวัด ต่อมามีการประดับตกแต่งเทียนเพื่อการประกวดและจัดเป็นขวนแห่ไปยังวัด บางปีมีการจัดทำเทียนพรรษาใหย๋ที่สุดในโลกใช้งบประมาณถึงสองแสนบาท (ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, 2544: 121) 

 

เดือน 9

              พิธีสารทในเทศกาลบุญข้างประดับดินและบุญข้าวสาก

              บุญข้าวประดับดิน จัดขึ้นในวันสิ้นเดือน 9 หรือแรม 14 ค่ำ เดือน 9 มีการเตรียมห่อข้าวประดับดิน ประกอบด้วย ข้าว อาหารคาวหวาน หมากพลู บุหรี่ห่อด้วยใบตอง นำไปวางตามพื้นดินใกล้โคนไม้ หรือแขวนบนกิ่งไม้ตามทางแยก เพื่ออุทิศให้แก่เปรตหรือญาติมิตรที่ตายไปแล้ว (ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, 2544: 121)   

 

เดือนเจียงหรือเดือน 1

              พิธีบุญเข้ากรรม

              ปัจจุบันจัดเฉพาะหมู่บ้านหรือวัดที่เคร่งครัดในขนบประเพณีเดิมเท่านั้น และมีวัตถุประสงค์ต่างไปจากเดิม คือแทนที่จะเป็นพิธีชำระพระที่ต้องอาบัติให้เป็นผู้บริสุทธิ์ตามพระธรรมวินัย แต่กลับกลายเป็นการโฆษ(ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, 2544:122) 

 

เดือน 3

            งานบุญเบิกฟ้า

            จัดขึ้นในวันขึ้น 3 ค่ำเดือน 3 ของทุกปี ถือเป็นวันเริ่มต้นใหม่ของชาวบ้าน เริ่มถางไร่ ทำสวน เตรียมที่นา เพื่อเข้าสู่ฤดูการผลิตใหม่ ถือเป็นวันแห่งความอุดมสมบูรณ์ของมนุษย์โลก จึงได้มีการทำพิธีบวงสรวงบูชาเทวดาผู้รักษาฝน(ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, 2544:122) 

 

เดือน 4

            งานบุญผะเหวด

            จัดเป็นงานบุญเทศน์มหาชาติที่สำคัญของจังหวัดร้อยเอ็ดโดยการผลักดันของทางราชการ เพื่อเป็นการสนับสนุนเรื่องการท่องเที่ยวโดยเฉพาะ เริ่มขึ้นตั้งแต่ พ.ศ.2533 โดยการเชิญพระอุปคุตเป็นขบวนแห่พร้อมด้วยการแห่พระเวสสันดร มีการแห่ข้าวพันก้อนและการทำบุญตักบาตร อันเป็นหัวใจของงาน(ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, 2544:122) 

 

ภาคใต้

เดือน 6

             งานตายายย่าน

              เป็นประเพณีเฉพาะท้องถิ่นของของชาวบ้านท่าคุระ ตำบลชุมพล อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา ในวันพุธแรกของของข้างแรมเดือน 6 ในงานจะมีพิธีไหว้ครูหรือการรำโนราลงครู เพื่อแสดงความกตัญญูต่อ แม่เจ้าอยู่หัว และเพื่อให้ลุกหลานได้กลับมาชุมนุมพร้อมกันร่วมอุทิศกุศลให้แก่บรรพบุรุษของตน(ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, 2544:98) 

            ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ

            จังหวัดนครศรีธรรมราช ในวันวิสาขบูชา เป็นงานบุญเฉพาะท้องถิ่น เช่นเดียวกับประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุในวันมาฆบูชา ถือเป็นประเพณีเฉพาะท้องถิ่นของชาวจังหวัดนครศรีธรรมราช

 

เดือน 8

            ประเพณีทำบุญชายเล

            ประเพณีดังกล่าวเป็นประเพณีเฉพาะท้องถิ่นของชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณชายทะเล จัดขึ้นในอำเภอสทิงพระ และอำเภอเมือง จังหวัดสงขลา ก่อนการทำบุญชายเลมีการทำบุญที่ศาลประจำหมู่บ้านเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ทุกคนในหมู่บ้าน จากนั้น 1-2 อาทิตย์ จะมีการทำบุญชายเล มีการนิมนต์พระเพื่อฉันภัตตาหารเพล ณ ศาลาใกล้ทะเล ในพิธีชาวบ้านมีการประกอบอาหารคาวหวานต้มและผูกเป็นพวง 1 พวง ต้มดิบ 1 พวง พร้อมด้วยหอม กระเทียม ขมิ้น กะปิ เกลือ พริกขี้หนู ห่อกับใบกะพ้อเหมือกับห่อต้ม เมื่อพระเริ่มสวดและให้ศีลให้พร ชาวบ้านจะนำอาหารคาวหวานและเครื่องครัวที่เตรียมไว้เวียนบนศีรษะคนในครอบครัว เชื่อว่าเป็นการนำเคราะห์ร้ายออกจากตัว จากนั้นนำไปแขวนบนราวไม้ เมื่อพระฉันอาหารเสร็จแล้ว ชาวบ้านรับประทานอาหารร่วมกัน จากนั้นพระสงฆ์แสดงพระธรรมเทศนา 1 กัณฑ์ ชาวบ้านช่วยกันยกราวไม้ที่แขวนอาหารไปยังชายทะเล มีการสวดบังสุกุล ชาวบ้านช่วยกันกรวดน้ำแผ่ส่วนกุศลให้เจ้ากรรมนายเวรและผู้มีพระคุณที่ล่วงลับ เมื่อพระสวดเสร็จชาวบ้านช่วยกันยกราวไม้ทิ้งทะเล (ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, 2544:98-99)    

 

เดือน 10

            ประเพณีสารทหรืองานบุญเดือนสิบ

 เป็นงานพิธีสำคัญอย่างหนึ่งในภาคใต้ เรียกว่าประเพณีชิงเปรตเพื่อทำบุญอุทิศให้บรรพบุรุษผู้ล่วงลับที่จะได้รับการปล่อยตัวมาพบลูกหลาน งานเดือนสิบที่ยิ่งใหญ่ของภาคใต้ คือ สารทเดือน 10 หรือเทศกาลเดือน 10 จังหวัดนครศรีธรรมราช มีการจัดขึ้น 2 วัน คือ วันแรม 14 ค่ำเดือน 10 เป็นวันรับตายาย เชื่อว่าเป็นบรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้ว และในวันแรม 15 ค่ำเดือน 10 เป็นเทศกาลสารทและวันส่งตายายรวมถึงวันชิงเปรต ตามความเชื่อที่ถือกันว่า ในวันแรม14 ค่ำ พญายมจะปล่อยเปรตมารับส่วนบุญ และเรียกกลับในวันแรม 15 ค่ำ (ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, 2544:99)   

 

เดือน 11

            เทศกาลออกพรรษา

            มีประเพณีตักบาตรเทโวและประเพณีชักพระ ในเทศกาลออกพรรษา นอกจากทำบุญตักบาตรที่วัดแล้ว ยังมีประเพณีลากพระหรือชักพระ  โดยอาราธนาพระพุทธรูปขึ้นประดิษฐานบนบุษบกวางเหนือ รถ หรือล้อเลื่อน ที่เรียกว่า พนมพระ หรือ นมพระ แล้วชักลากไปตามลำน้ำหรือตามถนน เช่น ประเพณีชักพระทางน้ำ จังหวัดสุราษฎร์ และ ประเพณีลากพระ จังหวัดสงขลา เป็นต้น(ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, 2544:99-100)   

 

เดือน 3

            วันมาฆบูชา

            ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ กระทำในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ประชาชนร่วมใจกันบริจาคเงินเพื่อนำไปซื้อผ้า นำมาเย็บเป็นแถบยาวและแห่ผ้าไปยังวัดพระธาตุ เพื่อโอบรอบฐานองค์พระธาตุ เมื่อขบวนแห่ผ้ามาถึงวัดพระธาตุ ทำการแห่วนทักษิณาวรรต คือ การวนขวา รอบองค์พระธาตุ แล้วจึงนำเข้าสู่วิหารม้านำผ้าขึ้นโอบรอบพระบรมธาตุ มีพิธีกวนข้าวมธุปายาส เชื่อว่าสามารถบันดาลให้เกิดสติปัญญาและความสำเร็จ เมื่อกวนเสร็จจัดใส่ถาดเพื่อถวายพระและแจกจ่ายแก่ผู้ร่วมงาน(ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, 2544:100) 

 

 พลวัตรของประเพณีและพิธีกรรมในประเทศไทย

            ดังกล่าวมาแล้วข้างต้นประเพณีและพิธีกรรมในประเทศไทย จำแนกได้เป็น ประเพณีหลวงและประเพณีราษฎร์หรือประเพณีท้องถิ่น ขณะที่ประเพณีหลวง เป็นประเพณีเกี่ยวแก่พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ ปฏิบัติในระดับราชสำนักเท่านั้น ประเพณีราษฎร์หรือประเพณีท้องถิ่น จึงเป็นประเพณีของประชาชนทุกกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย

            พลวัตรของประเพณีและพิธีกรรมในระดับราชสำนัก หรือ ประเพณีหลวง นั้น แม้ว่ามีการลดทอนกระบวนการในการประกอบพิธีลง หากแต่ยังคงเป็นประเพณีที่มีความเกี่ยวข้องเพียงพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์เท่านั้น การประกอบพระราชพิธีส่วนใหญ่กระทำขึ้นเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่สถาบันพระมหากษัตริย์

            ขณะที่ประเพณีราษฎร์หรือประเพณีท้องถิ่นเป็นประเพณีที่สะท้อนให้เห็นถึงอัตลักษณ์ของท้องถิ่นและกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีความหลากหลายและมีความแตกต่างไปในแต่ละพื้นที่เนื่องจากมีลักษณะทางภูมิศาสตร์ สภาพอากาศตลอดจนประวัติศาสตร์ที่แตกต่างกัน

             ทั้งนี้ จากบทความ บทสังเคราะห์พลวัตรประเพณีพิธีกรรมในสังคมไทยร่วมสมัย ของ ศิราพร ณ ถลาง ได้ชี้ให้เห็นว่า “จากข้อมูลคติชนประเภทประเพณีพิธีกรรมในสังคมไทยทุกวันนี้สามารถจัดได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มที่ 1 ประเพณีสืบสาน ส่วนใหญ่เป็นพิธีกรรมในประเพณี 12 เดือน ที่สืบทอดมาในวิถีชีวิตไทยในภาคต่างๆและยังปฏิบัติอยู่ในชุมชนชนบทในปัจจุบัน โดยเฉพาะที่เป็นประเพณีทางพุทธศาสนา เช่น ประเพณีสงกรานต์ และ แห่เทียนพรรษา

             กลุ่มที่ 2 ประเพณีสร้างสรรค์ เป็นประเพณีพีกรรมที่มีการประยุกต์ ต่อยอด “ประดิษฐ์ใหม่” หรือ “สร้างสรรค์ใหม่” ในบริบทสังคมปัจจุบัน เช่น ประเพณีแข่งเรือยาวไทย-ลาว ซึ่งได้รับ “การสร้างสรรค์” ด้วยบริบททางสังคมในปัจจุบัน ทั้งในบริบทโลกาภิวัฒน์ บริบทการท่องเที่ยว บริบทอาเซียน หรือ บริบท “ข้ามพรมแดน” ” (ศิราพร ณ ถลาง, 2558:360)

            จากบทความดังกล่าวเมื่อนำมาพิจารณาถึงประเพณีสงกรานต์ ประเพณีลอยกระทง และ ประเพณีบุญบั้งไฟ ทั้ง 3 ประเพณีล้วนแล้วแต่เป็น “ประเพณีสืบสาน” เนื่องเพราะปรากฏอยู่ในประเพณี 12 เดือน ที่มีการสืบทอดและสืบสานกันมาเป็นระยะเวลายาวนานในพื้นที่ต่างๆของประเทศ ขณะที่ปัจจุบันประเพณีดังกล่าวล้วนประสบปัญหาในประเด็นของการธำรงไว้ซึ่งคุณค่าในประเพณีของตน เนื่องเพราะเราไม่อาจปฏิเสธระบบโลกาภิวัฒน์ มีส่วนอย่างสำคัญที่ทำให้โลกไร้พรมแดน การเดินทางของข้อมูลข่าวสารเป็นไปอย่างรวดเร็ว การเดินทางโดยเส้นทางการคมนาคมก็เช่นกัน ธุรกิจการท่องเที่ยวจึงมีส่วนสำคัญในการนำรายได้เข้าประเทศและก่อให้เกิดอาชีพแก่ประชาชนในพื้นที่ แต่ในขณะเดียวกันการพยายามทำให้ประเพณีที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาเพื่อความอุดมสมบูรณ์แก่ชีวิตกลายมาเป็นประเพณีที่สร้างรายได้แก่ชีวิตนั้น ปรากฏอยู่ในประเพณีและพิธีกรรม เช่น ประเพณีสงกรานต์ ประเพณีลอยกระทง และ ประเพณีบุญบั้งไฟ อย่างเห็นได้ชัด

             จากบทความ สงกรานต์ที่ผ่านไป ของ ธเนศวร์ เจริญเมือง ได้ชี้ให้เห็นถึงประเพณีสงกรานต์ในสมัยรัชกาลที่ 6 ว่าเป็นประเพณีที่มีความเรียบง่าย หนุ่มสาวประพรมน้ำกันด้วยความสุภาพ มีการรดน้ำขอพรจากผู้ใหญ่ ขณะที่ประเพณีสงกรานต์ของชาวล้านนาโดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่มีความคึกคักหลากหลาย และยังคงเป็นเช่นกระทั่งทุกวันนี้ ธเนศวร์ พยายามเปรียบเทียบให้เห็นว่าประเพณีสงกรานต์เมืองเชียงใหม่ในทศวรรษที่ 2500-2510 มีความโดดเด่นในประเด็นของการมีขบวนแห่พระพุทธรูปสำคัญเพื่อให้ประชาชนสรงน้ำ ไม่มีใครสาดน้ำหรือใช้ปืนฉีดน้ำใส่พระพุทธรูป มีการขนทรายเข้าวัด รดน้ำขอพรผู้ใหญ่ การเล่นสาดน้ำเป็นการเล่นในหมู่เด็กๆและกลุ่มคนที่สนิทกันเท่านั้น และกระทำระหว่างอยู่ในขบวนเพื่อไปรดน้ำขอพรผู้ใหญ่ ต่างกับปัจจุบันที่หนุ่มสาวเล่นสาดน้ำกันอย่างรุนแรง มีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในขณะเล่นน้ำสงกรานต์ มีการจำหน่ายสุราในพื้นที่ที่มีการเล่นน้ำ ขณะที่โรงแรมในตัวเมืองเชียงใหม่ในช่วงเทศกาลสงกรานต์นั้นล้วนแน่นขนัดไปด้วยนักท่องเที่ยว ห้องพักของโรงแรมเต็มทุกห้อง (ธเนศวร์ เจริญเมือง, 2549:62-63)  

            จากบทความดังกล่าวพยายามชี้ให้เห็นถึงพลวัตรของประเพณีสงกรานต์ในจังหวัดเชียงใหม่ ที่เปลี่ยนไปจากอดีต สะท้อนให้เห็นถึงความเสื่อมโทรมลงในคุณค่าของประเพณี ที่ผู้คนคำนึงถึงเพียงการเล่นสาดน้ำ และใช้ประเพณีดังกล่าวเป็นเพียงเครื่องมือในการฉวยโอกาสกระทำในสิ่งที่ไม่เหมาะสม

            ขณะที่บทความ ลอยกระทงจากประเพณีหลวงสู่ประเพณีราษฎร์ แล้ว พินาศด้วยการท่องเที่ยวของ  ศรีศักร วัลลิโภดม ได้ชี้ให้เห็นถึง ความความหมายและความรุ่งเรื่องของประเพณีลอยกระทงกระทั่งความลดถอยในคุณค่าทางประเพณีพิธีกรรมโดยชี้ให้เห็นว่า “ความรุ่งเรืองของประเพณีลอยกระทงอันกลายมาเป็นประเพณีราษฎร์นั้น เริ่มมีอันเปลี่ยนไปจนกลายเป็นประเพณีในการจัดการของรัฐสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นต้นมา ครั้งนั้นมีการจัดตั้งสำนักงานการท่องเที่ยวขึ้นวางแผนเศรษฐกิจของชาติ เพื่อให้มีรายได้จากการท่องเที่ยว ลอยกระทงจึงกลายเป็นงานแสดงแบบนำเอาวัฒนธรรมของผู้คนในสังคมมาขายให้กับนักท่องเที่ยวที่มาจากภายนอก และในขณะเดียวกันก็เป็นงานรื่นเริงแก่ผู้คนภายในที่ไม่มีหัวนอนปลายตีน มาปลดปล่อยและระบายสิ่งสารพัดของความหยาบคายอันเป็นอาจมของมนุษย์ชาติ” (ศรีศักร วัลลิโภดม, 2547)

            ขณะที่บทความ ท่องเที่ยวบุญบั้งไฟ ของ นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้พยายามชี้ให้เห็นว่า ประเพณีบุญบั้งไปของจังหวัดยโสธร จัดขึ้นเพื่อความต้องการยกระดับให้จังหวัดเป็นที่รู้จักในหมู่นักท่องเที่ยวในขณะที่การท่องเที่ยวไม่ได้ส่งผลต่อความต้องการดังกล่าวมากนัก นิธิ พยายามเสนอว่า “แท้ที่จริงแล้ว คุณค่าของงานบุญบั้งไฟ ที่ยโสธรไม่ได้อยู่ที่การท่องเที่ยว แต่การปรับประเพณีท้องถิ่นในชนบทให้กลายเป็นประเพณีของชุมชนระดับเมืองเป็นสิ่งที่น่าสนใจกว่า” นอกจากนี้ นิธิ ยังชี้ให้เห็นว่า การที่การท่องเที่ยวไม่ส่งผลมากนักในการเปลี่ยนแปลงประเพณีบุญบั้งไฟนั้น ส่งผลดีต่อชาวยโสธร “ที่จะมีโอกาสดึงบุญบั้งไฟกลับมาเป็นสมบัติของตัวต่อไปตามเดิม จะเปลี่ยนแปลงงานนั้นอย่างไรก็ได้ เมื่อทุกกลุ่มที่มีส่วนได้ส่วนเสียในสังคมของชุมชนเมืองยโสธรยอมรับ” (นิธิ เอียวศรีวงศ์, 2536:115)

            ขณะที่บทความ การช่วงชิงความหมายเนื่องด้วยประเพณีบุญบั้งไฟในกลุ่มชาติพันธุ์อีสาน ของ ปฐม หงษ์สุวรรณ ได้ให้ความสำคัญกับประเพณีบุญบั้งไฟในลักษณะที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมร่วมกันของกลุ่มชาติพันธุ์อีสาน แม้ว่าประเพณีบุญบั้งไฟจังหวัดยโสธร จะมีชื่อเสียงมากที่สุด แต่ในขณะเดียวกันจังหวัดอื่นเช่น จังหวัดเลย จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดสุรินทร์ และจังหวัดกาฬสินธุ์ ก็มีประเพณีบุญบั้งไฟเช่นกัน หากแต่ความเปลี่ยนแปลงของประเพณีบุญบั้งไฟที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่ คือ การช่วงชิงความยิ่งใหญ่ของบุญบั้งไฟเพื่อที่จะมีพื้นที่ยืนและเป็นที่รู้จักเฉกเช่นเดียวกับประเพณีบุญบั้งไฟในจังหวัดยโสธร (ปฐม หงษ์สุวรรณ, 2556:36)

            ดังนั้นจึงเกิดความพยายามในการสร้างความแตกต่างด้วยมูลค่า อาทิเช่น “มหกรรมบุญบั้งไฟสิบล้าน อำเภอพนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ด” (ปฐม หงษ์สุวรรณ, 2556:36) เพื่อช่วงชิงความยิ่งใหญ่และความสนใจจากนักท่องเที่ยว และการพยายามสร้างความแตกต่างด้วย คำว่า “โบราณ” (ปฐม หงษ์สุวรรณ, 2556:39) เพื่อช่วงชิงความเป็นดั้งเดิม เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นเจ้าของประเพณี จึงเกิดขึ้น

           การกระทำดังกล่าวอาจเป็นผลประโยชน์ในเพียงระยะเวลาสั้นๆหากแต่ในระยะยาวกลุ่มชาติพันธุ์อีสานอาจเกิดความขัดแย้งในการช่วงชิงการเป็นเจ้าของความหมายของประเพณีบุญบั้งไฟ ซึ่งถือว่าเป็นประเพณีพิธีกรรมและมรดกทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าของกลุ่มชาติพันธุ์ กระทำขึ้นเพื่อความอุดมสมบูรณ์แก่ชีวิต ดังนั้นสิ่งที่ควรตระหนักถึงคือสำนึกร่วมกันในการตระหนักถึงหมุดหมายสำคัญของประเพณีพิธีกรรมดังกล่าว เพื่อคงไว้ซึ่งคุณค่าและการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นด้วยความเคารพและศรัทธาในประเพณีและพิธีกรรม

            จากบทความที่นำมากล่าวถึงทั้งหมดนี้ ล้วนแล้วแต่ชี้ให้เห็นถึงความเสื่อมโทรมของประเพณีและพิธีกรรม ในความตระหนักรู้ทางคุณค่าที่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา การท่องเที่ยวอาจเข้ามามีส่วนในการเปลี่ยนแปลงและคลอนคลายความศักดิ์สิทธิ์ในประเพณีและพิธีกรรมต่างๆ แต่ในขณะเดียวกันการสร้างสำนึกรู้ยังคงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องกระทำในสังคมไทย เพื่อรักษาไว้ซึ่งอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม ประเด็นคำถามสำคัญที่เกิดขึ้นจากสภาพปัญหาดังกล่าว จึงหลีกไม่พ้นว่าจะทำอย่างไรให้การเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เกิดขึ้นยังคงไว้ซึ่งหัวใจสำคัญของประเพณีและพิธีกรรมที่กระทำขึ้นเพื่อความอุดมสมบูรณ์และความเจริญงอกงามแก่ชีวิตมิใช่ตระหนักเพียงรายได้แก่ชีวิต         

บรรณานุกรม

    กรมศิลปากร. (2542). พระราชพิธีในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯสยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร. กรุงเทพมหานคร: กรมศิลปากร.

    ธเนศวร์ เจริญเมือง. (7-13 กรกฎาคม 2549). สงกรานต์ที่ผ่านไป. มติชนสุดสัปดาห์, 14(1351), 62-63.

    นิธิ เอียวศรีวงศ์. (เม.ย. 2536). ท่องเที่ยวบุญบั้งไฟ. ศิลปวัฒนธรรม, 14(6), 110-115.

    ปฐม หงษ์สุวรรณ. (ม.ค.-มิ.ย. 2556). การช่วงชิงความหมายเนื่องด้วยประพเณีบุญบั้งไฟในกลุ่มชาติพันธุ์อีสาน. วารสารวิถีสังคมมนุษย์, 1(ฉบับพิเศษ), 32-58.

    ศรีศักร วัลลิโภดม. (2547). ลอยกระทง:จากประเพณีหลวงสู่ประเพณีราษฎร์ แล้วพินาศด้วยการท่องเที่ยว. เรียกใช้เมื่อ 16 กุมภาพันธุ์ 2559 จาก เว็บไซต์วารสารเมืองโบราณ: http://www.muangboranjournal.com/modules.php?name=Sections&op=viewarticle&artid=31

    ศรีศักร วัลลิโภดม. (2559). ประเพณี 12 เดือน : ความหมายและการเปลี่ยนแปลง . เรียกใช้เมื่อ 16 กุมภาพันธุ์ 2559 จาก เว็บไซต์มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์: http://lek-prapai.org/home/view.php?id=871

    ศรีศักร วัลลิโภดม. (2559). ประเพณีพิธีกรรมที่เปลี่ยนไป. เรียกใช้เมื่อ 15 กุมภาพันธุ์ 2559 จาก เว็บไซต์มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ : http://lek-prapai.org/home/view.php?id=935

    ศิราพร ณ ถลาง. (2558). "ประเพณีสร้างสรรค์ในสังคมไทยร่วมสมัย". กรุงเทพมหานคร: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร.
    ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. (2544). โครงการวิจัย เรื่อง ประเพณีสิบสองเดือน:พิธีกรรมที่เปลี่ยนไป.