ไทย - พิพิธภัณฑ์



         การเกิดขึ้นของพิพิธภัณฑ์ครั้งแรกในประเทศไทยกำเนิดมาจากคลังเก็บสมบัติและวัตถุล้ำค่าของเจ้านายหรือชนชั้นนำ โดยมีประวัติย้อนไปในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ที่ทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้สร้าง “พระที่นั่งราชฤดี” สำหรับเสด็จประทับเป็นที่รโหฐานและจัดตั้งสิ่งของต่างๆ ขึ้น ต่อมาในปี พ.ศ. 2395 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริให้สร้างราชมณเฑียรขึ้นใหม่หมู่หนึ่ง พระราชทานนามว่า “พระอภิเนานิเวศน์” ภายในราชมณเฑียรนี้ประกอบด้วยหมู่พระที่นั่งและสถานที่ต่างๆ ซึ่งมีนามต่างกันจำนวน 11 แห่ง หนึ่งในนั้นเป็นพระที่นั่งมีพระนามว่า “พระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์” ซึ่งเป็นที่สำหรับไว้สิ่งของต่างๆ สำหรับทอดพระเนตรส่วนพระองค์หรือพาแขกบ้านเขกเมืองมาเที่ยวชม  ทดแทนพระราชที่นั่งราชฤดีที่ชำรุดและเริ่มคับแคบ ต่อมารัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 มีการตั้งศาลาสหทัยสมาคมเป็นสถานที่จัดแสดงสิ่งของต่างๆ แก่ประชาชนทั่วไปได้เข้าชมในปี พ.ศ. 2417 เรียกว่าหอมิวเซียม ต่อมารัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้ย้าย “มิวเซียม” ไปตั้งที่พระราชวังบวรสถานมงคลหรือวังหน้า ซึ่งก็คือพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ในปัจจุบัน อยู่ในความดูแลของกรมศิลปากร (ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล และคณะ, 2547, pp. 14-22)

          ปัจจุบันพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จำนวน 43 แห่ง กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ จัดแสดงโบราณวัตถุของชาติที่พบในพื้นที่ รวมถึงเรื่องราวเฉพาะเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ท้องถิ่น กลุ่มชาติพันธุ์ มรดกวัฒนธรรมอื่นๆ นอกเหนือจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติแล้ว  พิพิธภัณฑ์ในสังกัดหน่วยงานรัฐยังประกอบด้วยพิพิธภัณฑ์ที่เป็นความรู้เฉพาะทาง เช่น พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ พิพิธภัณฑ์เด็ก รวมถึงพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงความเป็นมาและประวัติของหน่วยงานราชการ เช่น พิพิธภัณฑ์ทหาร  พิพิธภัณฑ์ศาลไทย พิพิธภัณฑ์กรมที่ดิน  เป็นต้น อย่างไรก็ดีพิพิธภัณฑ์ของรัฐโดยเฉพาะพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติมักถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นโกดังเก็บของเก่า มีการจัดแสดงที่หยุดนิ่ง ขาดชีวิตชีวา  ข้อวิพากษ์ดังกล่าวทำให้หน่วยงานที่รับผิดชอบพยายามปรับปรุงการจัดแสดงและสร้างกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้พิพิธภัณฑ์มีความเคลื่อนไหว เช่น การปรับปรุงนิทรรศการประวัติศาสตร์ชาติไทยใหม่ในพระที่นั่งศิวขโมกพิมาน เมื่อปลายปี พ.ศ. 2558  การจัดกิจกรรม Night at Museum เป็นต้น

          อย่างไรก็ดีจุดอ่อนของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ทั้งการบริหารจัดการที่เป็นระบบราชการ ขาดความคล่องตัว ทำให้รัฐบาลในสมัยทักษิณ ชินวัตร จัดตั้ง “สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ” เมื่อปี พ.ศ. 2547 เพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แนวใหม่และสร้างภาพลักษณ์ใหม่ของพิพิธภัณฑ์ จนในปี พ.ศ. 2551 จึงก่อตั้งมิวเซียมสยาม ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ที่นำเสนอเรื่องราวของสังคมไทย เน้นการกระตุ้นความคิดและจุดประกายความอยากรู้ภายใต้แนวคิด discovery museum (สถาบันพิพิธภณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ, 2549, หน้า 4-7)

          ส่วนพิพิธภัณฑ์เอกชน ส่วนใหญ่เป็นคอลเล็กชั่นส่วนตัวที่หลากหลาย เช่น ผ้าทอ เครื่องปั้นดินเผา เครื่องมือเครื่องใช้พื้นบ้าน พระพุทธรูป งานศิลปะ ของเล่น ฯลฯ และก่อตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์เปิดให้คนทั่วไปที่สนใจ เช่น พิพิธภัณฑ์ผ้าป้าดา พิพิธภัณฑ์ล้านของเล่น  พิพิธภัณฑ์เรือไทย   บางแห่งเป็นบ้านประวัติศาสตร์หรือเรือนเก่าของเจ้านาย คหบดี หรือบุคคลที่มีชื่อเสียงและทายาทเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ เช่น บ้านวงศ์บุรี  พิพิธภัณฑ์วังวรดิศ  หรือพิพิธภัณฑ์ที่เป็นเทรนด์ใหม่คือย่านตลาดเก่าตลาดริมน้ำที่เป็นขององค์กรชุมชน เช่น พิพิธภัณฑ์บ้านขุนจำนงจีนารักษ์ ตลาดสามชุก พิพิธภัณฑ์ชุมชนเจ็ดเสมียน เป็นต้น

          อย่างไรก็ดีพิพิธภัณฑ์ที่ไม่ใช่พิพิธภัณฑ์ขนาดใหญ่ที่ก่อตั้งโดยรัฐ แต่จัดทำโดยชาวบ้าน ชุมชน วัด  โรงเรียน หรือองค์กรในท้องถิ่น ซึ่งอาจเรียกรวมๆ ว่าเป็น “พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น” เกิดขึ้นและขยายตัวอย่างรวดเร็วตั้งแต่ปลายทศวรรษ 2530 เป็นต้นมา ด้วยเหตุปัจจัยหลายประการ อาทิ ความเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสังคมชนบทจากเกษตรกรรมมาเป็นอุตสาหกรรม  ภูมิปัญญาดั้งเดิมของบรรพชนค่อยๆ สูญหาย เกิดสำนึกเรื่องความสูญเสียของมีค่าที่เคยมีในท้องถิ่น หรือการที่มีนักวิชาการจากภายนอกเข้าไปกระตุ้นและได้รับการตอบสนองจากชุมชน นำไปสู่ปรากฏการณ์การก่อตั้งพิพิธภัณฑ์เพื่อจารึกวิถีชีวิตที่ล่วงไปแล้ว แสดงความเป็นตัวตนที่แตกต่าง (ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล และคณะ, 2547, pp. 53-73)

        พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นมีความหลากหลายในเรื่องการจัดแสดง หลายแห่งนำเสนอข้าวของในท้องถิ่นทั้งเครื่องมือเครื่องใช้ในครัวเรือน อุปกรณ์ทางการเกษตร วัตถุทางศาสนา ที่แสดงถึงวิถีชีวิตของชาวบ้าน บางแห่งแสดงอัตลักษณ์ชาติพันธุ์  ศิลปะการแสดง โบราณคดี ฯลฯ  จากฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร จำนวนพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นในความหมายอย่างกว้างที่สุด มีจำนวนมากถึง  1,031 แห่ง สัดส่วนมากที่สุดคือ พิพิธภัณฑ์ที่จัดการโดยวัด คือร้อยละ 34   รองลงมาคือพิพิธภัณฑ์ในโรงเรียนและสถานศึกษา ร้อยละ 29    พิพิธภัณฑ์ของเอกชนหรือบุคคลทั่วไป ร้อยละ 18   พิพิธภัณฑ์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) ร้อยละ 10     พิพิธภัณฑ์ที่จัดการโดยชุมชน ร้อยละ 6  และพิพิธภัณฑ์ที่จัดการโดยสมาคม,มูลนิธิ,ชมรม หรือองค์กรไม่แสวงหากำไร  ร้อยละ 3  หากจัดประเภทใหญ่ๆ แล้วพบว่าพิพิธภัณฑ์ส่วนใหญ่ราวร้อยละ  38  แสดงเรื่องราววิถีชีวิตในอดีต/ภูมิปัญญา   และอีกร้อยละ 16  แสดงเรื่องราวเกี่ยวกับวัตถุที่เนื่องในศาสนาและพิธีกรรม   ส่วนที่เหลือเป็นเนื้อหาเกี่ยวกลับกลุ่มชาติพันธุ์  ประวัติศาสตร์ โบราณคดี ประวัติบุคคลสำคัญ ศิลปะและการแสดง  และเรื่องเฉพาะทางต่างๆ (ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, 2559)

          พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นหลายแห่งพยายามพัฒนาให้เป็นสถานที่ถ่ายทอดความรู้เท่าที่ศักยภาพจะพึงมี  และมีลักษณะการดำเนินงานค่อนข้างเฉพาะตัวแตกต่างไปจากพิพิธภัณฑ์เชิงสถาบันหรือพิพิธภัณฑ์ของรัฐ  บางแห่งเป็นที่รู้จัก ได้รับการชื่นชมในแง่การจัดแสดง หรือประสบความสำเร็จในการบริหารจัดการ เช่น พิพิธภัณฑ์บ้านหนังตะลุงสุชาติ ทรัพย์สิน จ.นครศรีธรรมราช พิพิธภัณฑ์หนังใหญ่วัดขนอน จ.ราชบุรี หอวัฒนธรรมนิทัศน์วัดศรีโคมคำ จ.พะเยา  ขณะเดียวกันหลายแห่งก็มีทรัพยากรค่อนข้างจำกัดและประสบปัญหาการดำเนินงาน  หากพิจารณาภาวะรายได้และความอยู่รอดของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น พบว่ามีส่วนน้อยที่พอจะมีรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายแล้ว  ผลกระทบสำคัญตามมาจากการที่พิพิธภัณฑ์มีรายได้ไม่มากพอ อาจทำให้พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นอาจต้องปิดตัวลงไม่วันใดวันหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดาย (ปณิตา สระวาสี, 2559)

บรรณานุกรม

    ปณิตา สระวาสี. (2559). เศรษฐกิจพิพิธภัณฑ์. พิ(ศ)พิธภัณฑ์. กรุงเทพฯ: สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ.

    ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล และคณะ. (2547). รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ วิจัยและพัฒนาพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ระยะที่ 1 สร้างเครือข่ายและสำรวจสภาพพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร(องค์การมหาชน).

    ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. (2559, 01 20). สถิติ: ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย. Retrieved 01 20, 2559, from ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย: http://www.sac.or.th/databases/museumdatabase

    สถาบันพิพิธภณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ. (2549). พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้: พื้นที่ใหม่แห่งการเรียนรู้. กรุงเทพฯ: สถาบันพิพิธภณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ.