ไทย - ประวัติศาสตร์



           หนังสือประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัยของ คริส เบเคอร์ และผาสุก พงษ์ไพจิตร ชี้ให้เห็นว่า “รัฐไทยที่เรารู้จักในปัจจุบัน ก่อตัวขึ้นเมื่อในช่วง 200 กว่าปีมานี้ ชื่อประเทศ เขตแดน เมืองหลวง ความเป็น “ไทย” ในฐานะเป็นชาติหนึ่ง และรูปแบบของรัฐบาล ล้วนเป็นสิ่งใหม่ ชื่อ “ประเทศไทย” ตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อ พ.ศ.2482 นี้เอง แม้ว่าจะได้ใช้ชื่อ “เมืองไทย” มานานกว่านี้แล้ว เขตแดนปักปันกันเมื่อ พ.ศ.2430-2452 “กรุงเทพฯ” เป็นเมืองหลวงเมื่อ พ.ศ.2325” (คริส เบเคอร์ และ ผาสุก พงษ์ไพจิตร, 2557:25)

            จากคำบอกเล่าโดยชาวโปรตุเกสเป็นการเน้นย้ำถึงความมีตัวตนของ “เมืองไทย” ทั้งนี้ในราว พ.ศ.2050 ตรงกับช่วงเวลาที่อยุธยาขึ้นมามีอำนาจเหนือเมืองที่อยู่บริเวณใกล้เคียง อันประกอบไปด้วย เพชรบุรี สุพรรณบุรี ลพบุรี เราสามารถจำแนกช่วงเวลาเพื่อกล่าวถึงประวัติศาสตร์ไทยได้เป็น 4 ช่วง คือ 1.สุโขทัย    2.อยุธยา 3.ธนบุรี และ 4. รัตนโกสินทร์  

 

สุโขทัย

            ลิขิต ธีรเวคิน ชี้ให้เห็นว่า “สุโขทัยถูกถือว่าเป็นอาณาจักรแห่งแรกของชาวไทย นักประวัติศาสตร์แบบเดิมบางคนเชื่อว่าอาณาจักรก่อนหน้านั้นของชาวไทยอยู่ในตอนใต้ของจีน บัดนี้ข้อถกเถียงทำนองนี้ถูกโต้แย้งกันจนหมดน้ำหนัก อย่างไรก็ตามแม้แต่คำกล่าวอ้างว่าสุโขทัยเป็นอาณาจักแห่งแรกของชาวไทยก็ยังล้มล้างได้อยู่ดี เพราะในขณะที่สุโขทัยเป็นอาณาจักรที่ “เจริญรุ่งเรือง” นั้นก็ยังมีอาณาจักรอื่นๆ อยู่ด้วย อย่างเช่น ล้านนา (เชียงใหม่) และพะเยา ถัดลงมาทางใต้ก็มีกรุงศรีอยุธยา ลพบุรี สุพรรณบุรี และใต้ลงไปอีกก็มีนครศรีธรรมราช”

            ขณะที่ คริส และผาสุก ชี้ให้เห็น“พวกเมืองไทยที่อยู่ตามเชิงเขาเหนือพื้นราบของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ก่อตั้งกลุ่มเมืองอีกแห่งหนึ่ง ณ จุดเริ่มแรก เมืองใหญ่ของกลุ่มคือ “สุโขทัย” ซึ่งมีตำนานเล่าขานว่า “พระร่วง” เป็นผู้ก่อตั้งให้เป็นเมืองพุทธที่มีชื่อกระฉ่อนไกล ต่อมาตระกูลนี้ย้ายไปพิษณุโลก อาจเป็นเพราะว่าที่พิษณุโลกเจ้าเมืองสามารถป้องกันเมืองจากศัตรูได้ง่ายกว่าที่สุโขทัย กลุ่มเมืองในบริเวณนี้ไม่มีชื่อเฉพาะที่โด่งดัง เมืองเพื่อนบ้านไปทางใต้เรียกขนานกันว่า “เมืองเหนือ” ” (คริส เบเคอร์ และ ผาสุก พงษ์ไพจิตร, 2557:34)

            มักกล่าวกันว่าโครงสร้างพื้นฐานทางการบริหารของสุโขทัยเป็นแบบความสัมพันธ์ฉันพ่อปกครองลูก หากมองในแง่ความเป็นจริงแล้ว ระบบการเมืองดังกล่าวจะเป็นไปได้ก็แต่ในหมู่บ้านเล็กๆ ที่มีประชากรจำนวนน้อยเท่านั้น อย่างดีที่สุดก็เป็นแค่อุดมคติหรือ “อุดมการณ์” ไม่อาจดำรงอยู่จริง หรืออาจดำรงอยู่จริงในช่วงต้น แต่เมื่ออาณาจักรขยายตัวออกไป ผลที่เกิดตามมาคือ ความสลับซับซ้อนของโครงสร้างทางการเมืองและพื้นฐานความชอบธรรมแห่งอำนาจ จึงเป็นที่เชื่อกันว่าความสัมพันธ์แบบพ่อปกครองลูกได้ค่อยๆเปลี่ยนไปสู่ความสัมพันธ์แบบเป็นลำดับชั้นลดหลั่นกันตามอำนาจที่แข็งตัวยิ่งขึ้น ยิ่งโครงสร้างทางการเมืองซับซ้อน ฐานของความชอบธรรมแห่งอำนาจยิ่งกว้างขึ้น ผู้ปกครองแบบพ่อปกครองลูกถูกแทนที่ด้วยผู้ปกครองแบบธรรมราชา (ลิขิต ธีรเวคิน, 2550:16)

            สุโขทัยมีโครงสร้างทางเศรษฐกิจแบบการเกษตร ข้าวเป็นพืชผลหลัก ทั้งยังอุดมไปด้วยผักผลไม้ หลักศิลาจารึกได้พรรณนาถึงความอุดมสมบูรณ์ดังกล่าวไว้ ในขณะที่สุโขทัยเลี้ยงตัวเองได้อย่างสบาย มีระบบชลประทานและควบคุมน้ำเพื่อการเกษตร แต่ผลิตผลทางการเกษตรส่วนเกินมีไม่มากพอ อาทิเช่น บางปีการเพาะปลูกข้าวไม่ได้ผล สุโขทัยต้องซื้อข้าวจากกำแพงเพชรเพื่อเลี้ยงดูเมืองต่างๆ (ลิขิต ธีรเวคิน, 2550:19)

            ส่วนโครงสร้างทางสังคมมีการแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ 1. ชนชั้นปกครองประกอบด้วย กษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการ พระภิกษุสงฆ์ 2. ชนชั้นที่ถูกปกครองประกอบด้วย สามัญชนหรือไพร่ และทาส โครงสร้างทางชนชั้นของสุโขทัยไม่ถึงระดับจัดตั้งและยังไม่ถูกทำให้กลายเป็นสถาบัน สะท้อนให้เห็นถึงระดับพัฒนาการที่ยังต่ำอยู่ของสังคมสุโขทัยเมื่อเปรียบเทียบกับอยุธยา ประชาชนในอาณาจักรมีเสรีภาพมากกว่าในหลายด้าน ที่เด่นชัดที่สุดได้แก่ การที่สุโขทัยไม่มีระบบการเกณฑ์แรงงานชาย ขณะที่ข้อความบางตอนในหลักศิลาจารึกกล่าวไว้ว่า “ใครใคร่ค้าช้างค้า ใครใคร่ค้าม้าค้า ใครใคร่ค้าเงินค้าทองค้า” ทั้งนี้ข้อความข้องต้นอาจตีความได้ว่า เป็นการชักชวนผู้คนภายนอกอาณาจักรให้เข้ามาทำการค้าขาย ชนชั้นทางสังคมโดยหมายถึงคนที่มีทรัพย์สินทางเศรษฐกิจ อำนาจทางการเมืองและสถานภาพทางสังคมแตกต่างกัน ดำรงอยู่จริงในสุโขทัย และมีการจัดตั้งบางระดับอยู่โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามสงคราม จะมีการระดมพลประชากรเพศชายทั้งหมด (ลิขิต ธีรเวคิน, 2550:20)

            สุโขทัยเริ่มอ่อนกำลังลงภายหลังการสวรรคตของพ่อขุนรามคำแหง ในพ.ศ.1841 จากนั้น พญาลือไทย พระราชโอรส เป็นผู้สืบราชสมบัติ อาณาจักรอันกว้างใหญ่สลายลงอย่างรวดเร็ว เขตปกครองของสุโขทัยทางเหนือของอุตรดิตถ์สลายไปเกือบจะในทันที และบ้านเมืองเล็กๆอีกเป็นจำนวนมาก ทั้งต่อสู้ดิ้นรนระหว่างกันเองและพยายามที่จะรักษาเอกราชของตนไว้จากล้านนา หลวงพระบาง เวียงจันทน์ และเขตแม่น้ำโขงตอนกลาง เริ่มเป็นอิสระอย่างรวดเร็วและอยู่ในสภาพไร้ระเบียบ รัญมอญที่มีศูนย์กลางอยู่ที่หงสาวดีมิได้ยอมรับอำนาจของสุโขทัยอีกต่อไป อย่างช้าที่สุดราว พ.ศ.1863 สุโขทัยกลับกลายเป็นรัฐขนาดเล็กที่โดยเปรียบเทียบแล้วมีความสำคัญในระดับท้องถิ่น แทนที่จะเป็นรัฐที่มีความสำคัญในระดับภูมิภาค (เดวิด เค.วัยอาจ, 2556:85-86)

 

อยุธยา

            กลุ่มเมืองอีกแห่งหนึ่งก่อตัวขึ้นในบรรดาเมืองท่าทางด้านล่างของแม่น้ำในที่ราบลุ่มเจ้าพระยา และรอบๆชายทะเลด้านบนของอ่าวไทย โดยเฉพาะ 4 เมือง ซึ่งสถาปนาขึ้นหรือสถาปนาใหม่ภายใต้อิทธิพลเขมรเมื่อพุทธศตวรรษที่ 16-17 คือ เพชรบุรี สุพรรณบุรี ลพบุรี และ อยุธยา หลังจากที่ตระกูลผู้นำของเมืองเหล่านี้แก่งแย่งกันเป็นใหญ่ ผู้นำที่อยุธยาผงาดขึ้นมาเหนือตระกูลอื่นๆ จีนเรียกย่านนี้ว่า “เสียน” ซึ่งโปรตุเกสเรียกเพี้ยนไปเป็นสยาม (คริส เบเคอร์ และ ผาสุก พงษ์ไพจิตร, 2557:34)

            โครงสร้างทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของอยุธยา มีบทบาทสำคัญยิ่งในการทำให้ตนเข้มแข็ง ผู้ปกครองกรุงศรีอยุธยาได้จัดวางระบบเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองอันก้าวหน้าและสลับซับซ้อน ทำให้สามารถควบคุมและระดมกำลงพลพื่อการสงคราม การบังคับใช้กฎหมายและการพัฒนาระบบราชการที่เข้ากันได้กับอำนาจของอาณาจักรที่เพิ่มพูนเป็นตัวการที่ทำให้อำนาจของอาณาจักรขยายตัวออกไป สิ่งเหล่านี้ได้รับการพัฒนาไปพร้อมกับอุดมการณ์ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานมโนทัศน์เทวราชของเขมร ซึ่งรับมาจากเชลยศึกชาวเขมรที่เป็นพราหมณ์ที่ถูกกุมตัวมาภายหลังการตีนครธม โดยเมืองหลวงของเขมรแตกในปี พ.ศ.1974 ลัทธิเทวราชถูกใช้ควบคู่กันไปกับมโนทัศน์ธรรมราชาของพุทธศาสนา ดังนั้นอยุธยาจึงมีองค์ประกอบที่เพียบพร้อมสำหรับระบบการเมืองที่พัฒนา (ลิขิต ธีรเวคิน, 2550:28)

            อยุธยาเป็นราชธานีของไทยถึง 417 ปี ถูกพม่ารุกรานได้รับความเสียหายถึงขั้นเสียกรุงถึง 2 ครั้ง โดยในครั้งท้ายสุดเป็นการเสียกรุงที่สิ้นสุดลงของอาณาจักรอยุธยา โดยคริสและผาสุกให้เหตุผลว่าเป็นเพราะราชวงศ์ใหม่ของพม่าต้องการขยายอิทธิพลและกำจัดอยุธยาอย่างถอนรากถอนโคน (คริส เบเคอร์ และ ผาสุก พงษ์ไพจิตร, 2557:52)      

 

ธนบุรี

            หลังเสียกรุงครั้งที่ 2 ได้ไม่นาน กลุ่มอำนาจหลายกลุ่มก่อตัวขึ้น พระเจ้าตากสินเป็นผู้นำที่เข้มแข็งที่สุด ไม่ได้มาจากตระกูลเจ้านายที่มีสิทธิเป็นผู้ปกครอง แต่เป็นผู้นำมีพรสวรรค์ดึงดูดใจคนจำนวนมากได้ ทรงรวบรวมสมัครพรรคพวกจากบรรดาพ่อค้าจีน นักเสี่ยงโชค และขุนนางระดับล่าง แล้วจึงตั้งเมืองหลวงใหม่ที่ “ธนบุรี” และเริ่มฟื้นฟูการค้าเพื่อหารายได้เข้าคลัง ทรงนำเอาประเพณีกษัตริย์ชายชาตินักรบและสังคมทหารกลับมา โปรดให้สักข้อมือชายที่ถูกเกณฑ์ และทรงเข้าร่วมทำสงครามในฐานะเป็นแม่ทัพ” (คริส เบเคอร์ และ ผาสุก พงษ์ไพจิตร, 2557:60)

            เมื่อสงครามเริ่มสงบลง ขุนนางเก่าที่มีชีวิตรอดจากครั้งเสียกรุงศรีอยุธยา ได้เข้ามารับราชการกับพระเจ้าตากสิน แต่ในขณะเดียวกันก็ถูกกีดกันออกไปโดยนักเสี่ยงโชค และนักรบ ที่บำเหน็จความชอบที่รบเคียงบ่าเคียงไหล่มากับพระองค์ เช่น นายบุญมา ต่อมาได้นำ นายทองด้วง ผู้เป็นพี่ชายเข้ามารับราชการด้วย อย่างไรก็ตามกลุ่มขุนนางบางกลุ่มเริ่มไม่พอใจและไม่ยอมรับในความเป็นสามัญชนของพระเจ้าตากสิน อีกทั้ง พระเจ้าตากสินมีความเชื่อว่าตนสำเร็จพระโสดาบัน อ้างว่าตนเหนือกว่าพระสงฆ์ ส่งผลให้ในท้ายที่สุด “ในเดือนเมษายน พ.ศ.2325 ขุนนางเก่าเหล่านี้ก่อการรัฐประหารและปลงพระชนม์พระเจ้าตากสิน ด้วยเหตุผลที่ว่าทรงเสียพระสติ ต่อจากนั้นได้กำจัดพระญาติและผู้สนับสนุน แล้วจึงสถาปนา นายทองด้วง เป็น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช แห่งราชวงศ์จักรี ซึ่งคำว่า “จักรี” มาจากราชทินนามของนายทองด้วงในสมัยก่อนหน้า” (คริส เบเคอร์ และ ผาสุก พงษ์ไพจิตร, 2557:60)

 

รัตนโกสินทร์

            ภายหลังการได้รับสถาปนาเป็นกษัตริย์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ทรงย้ายราชธานีจากฝั่งธนบุรีมาเป็นฝั่งบางกอกกระทั่งปัจจุบัน พระมหากษัตริย์ไทยในสมัยรัตนโกสินทร์ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 คือ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จนกระทั่งปัจจุบันมีทั้งสิ้น 9 รัชกาล 

            คริส และผาสุก ชี้ให้เห็นถึงบทบาทของพระมหากษัตริย์ในยุคต้นรัตนโกสินทร์ว่า “พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงมีบทบาทนำในการฟื้นฟูกรุงเทพฯ แต่พระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงเน้นไปที่บทบาททางพิธีกรรมและทรงปล่อยให้ขุนนางใหญ่ดูแลด้านการบริหารราชการแผ่นดิน พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีบทบาทสูงทั้งในฐานะกษัตริย์และในเรื่องการค้าขาย แต่พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวหวนกลับไปให้ขุนนางมีบทบาทและอำนาจสูง แม้ว่าจะทรงมีพระราชปรารภเป็นครั้งคราวถึงว่า มีขุนนางน้อยมากซึ่งเข้าร่วมประชุมในคณะมนตรีของพระองค์หรือเข้าร่วมพิธีกรรมสำคัญ การสืบราชสมบัติแต่ละครั้งมีความตึงเครียดมากบ้างน้อยบ้าง เพราะว่ามีความเป็นไปได้เสมอว่าจะเกิดการพลิกผันเสมือนเหตุการณ์เมื่อปี พ.ศ.2310 หรือ พ.ศ.2325 ดังที่พระจอมเกล้าฯ ทรงแสดงความวิตกกังวลเกี่ยวกับเรื่องนี้ในพระราชสาส์นถึงนางแอนนาเลียวโนเวนส์ ใจความว่า “ผู้คนทั่วไปรวมทั้งคนพื้นถิ่นและชาวต่างชาติที่นี่ ดูเหมือนจะพอใจพระองค์และพระราชวงศ์น้อยกว่า อีกทั้งมีความมุ่งหวังสูงกว่ากับอีกครอบครัวหนึ่ง” ” (คริส เบเคอร์ และ ผาสุก พงษ์ไพจิตร, 2557:66)

            อย่างไรก็ตามการที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวหันกลับไปให้ความสำคัญแก่ขุนนางและยังผลให้ขุนนางเหล่านั้นมีบทบาทและอำนาจสูงขึ้น เป็นสิ่งที่ส่งผลให้ตระกูลขุนนางอย่างตระกูล “บุนนาค” ขึ้นมามีบทบาทสูงมากในราชสำนัก ได้รับพระราชทานราชทินนามถึงขั้น “เจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง  บุนนาค)” ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าหัวเสด็จสวรรคต ผู้ที่ขึ้นสืบราชสันตติวงศ์ คือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะเดียวกันการที่อำนาจในราชสำนักไม่ได้รวมศูนย์อยู่ที่พระมหากษัตริย์เพียงผู้เดียว ยังผลให้ในช่วงต้นของการขึ้นครองราชย์อำนาจส่วนใหญ่ตกอยู่แก่ขุนนางชั้นผู้ใหญ่ ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทน ต่อมาเมื่อทรงบรรลุนิติภาวะมีพระชนมพรรษาครบ 20 ปีบริบูรณ์ ทรงพระกรุณาให้มีการปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน มีการจัดตั้งระบบราชการแบบใหม่ ดึงอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง ต่อมามีการยกเลิกไพร่และทาส ประชาชนมีโอกาสทางการศึกษา ในขณะเดียวกันการกระทำดังกล่าวในทางกลับกันเป็นการดึงอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางคือตัวพระมหากษัตริย์เอง ยังผลให้อำนาจในมือของขุนนางลดลง และเมื่อยกเลิกไพร่และทาสยิ่งยังผลให้ฐานกำลังของขุนนางยิ่งลดลงไปอีก เป็นการทำให้อำนาจของขุนนางเสื่อมลง ในขณะที่อำนาจของราชสำนักโดยเฉพาะอำนาจของพระมหากษัตริย์เพิ่มขึ้นเป็นล้นพ้น

           ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นผู้ริมเริ่มความคิดชาตินิยมทรงตั้งกองลูกเสือป่า ในส่วนนี้สะท้อนให้เห็นถึงการสร้างฐานกำลังของพระองค์ คล้ายกับการตั้งทหารรักษาพระองค์ในสมัยรัชกาลที่ 5 แต่อย่างไรก็ตามแม้ว่าล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 จะมีโอกาสได้รับการศึกษาจากตะวันตกแต่ในทางกลับกันไม่ทรงสนับสนุนให้เมืองไทยในขณะนั้นมีรัฐธรรมนูญ คือ มีระบอบประชาธิปไตยด้วยทรงเห็นว่า “การเรียกร้องให้มีการปฏิรูปการปกครองทุกครั้งเป็นความเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน ความไม่จงรักภักดี และจักนำความพินาศล่มจมมาสู่ประเทศสยามโดยมิต้องสงสัย” (เดวิด เค.วัยอาจ, 2556:412)

            อย่างไรก็ตามความคิดของปัญญาชนหัวก้าวหน้าในประเทศไทยที่ได้รับการศึกษาจากตะวันตกได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว พวกเขายึดมั่นในอุดมการณ์ประชาธิปไตยจึงส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปสู่ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข ในปี พ.ศ.2475 ตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทั้งนี้การเปลี่ยนแปลงการปกครองดังกล่าวกระทำโดย คณะราษฎร นำโดยนายปรีดี  พนมยงค์ ฝ่ายพลเรือน ในขณะที่ฝ่ายทหารนั้นนำโดยพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา การเปลี่ยนแปลงการปกครองดังกล่าวก่อให้เกิดระบอบประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญขึ้นในราชอาณาจักรไทย มีนายกรัฐมนตรีคนแรกคือพระยามโนปกรณ์นิติธาดา

             ภายหลังการสละราชสมบัติของรัชกาลที่ 7 มีกราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ขึ้นครองราชย์ หากแต่ทรงเสด็จสวรรคตด้วยพระแสงปืน ในปี พ.ศ.2489 กษัตริย์องค์ต่อมาที่ได้รับการกราบบังคมทูลเชิญคือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงขึ้นครองราชย์ตั้งแต่ปีพ.ศ.2489 จนกระทั่งปัจจุบัน นับเป็นระยะเวลายาวนานถึง 70 ปี

           ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบันเกิดเหตุการณ์ผันผวนทางการเมืองทั้งจากในและนอกประเทศ เนื่องจากภายหลังการสละราชสมบัติของล้นเกล้าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว อำนาจทางการเมืองตกอยู่ในมือของรัฐบาล มิใช่เป็นของพระมหากษัตริย์ สถาบันกษัตริย์จึงเสื่อมโทรมลงในขณะเดียวกันในช่วงทศวรรษที่ 2500 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ร่วมมือกับสหรัฐอเมริกาฟื้นฟูสถาบันกษัตริย์ไทยขึ้นเนื่องเพราะ “เชื่อว่าสถาบันเป็นศูนย์รวมความสามัคคี และมีความสำคัญต่อเสถียรภาพทางการเมือง” (คริส เบเคอร์ และ ผาสุก พงษ์ไพจิตร, 2557:265) โดยการฟื้นฟูดังกล่าวเกิดขึ้นผ่านทางโครงการพระราชดำริต่างๆตลอดจนการเข้าเยี่ยมราษฎรในพื้นที่ทุรกันดาร เพื่อให้มีฐานสนับสนุนสถาบันกษัตริย์โดยตรงจากราษฎร ทั้งการเมืองโลกในขณะนั้นเป็นการต่อสู้ระหว่างอุดมการณ์เสรีนิยมนำโดยสหรัฐอเมริกา และอุดมการณ์สังคมนิยมคอมมิวนิสต์นำโดยสหภาพโซเวียต

            อย่างไรก็ตามความหวั่นเกรงในภัยคอมมิวนิสต์ก่อรูปเป็นความรุนแรงในเหตุการณ์สังหารหมู่นักศึกษาใน “เหตุการณ์ 6 ตุลา 19” ธงชัย วินิจจะกูล ได้ชี้ให้เห็นว่า “ขบวนการเพื่อการเปลี่ยนแปลงอย่างถอนรากถอนโคนในช่วง พ.ศ.2516- 2519 มักถูกกล่าวหาว่าเป็นการสมคบคิดกับศัตรู ศัตรูในที่นี้คือลัทธิคอมมิวนิสต์บวกกับต่างชาติ ผู้นำนักศึกษาถูกป้ายสีว่ามีเชื้อสายเวียดนาม เพราะนับจากปี พ.ศ.2518 เวียดนามได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นอื่นที่ชั่วร้ายที่สุดในสายตาของรัฐไทย ในเหตุการณ์สังหารหมู่นักศึกษาเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 ขณะที่ผู้ร่วมชุมนุมนับพันกำลังถูกโจมตีจากเจ้าหน้าที่ตำรวจและกลุ่มฝ่ายขวาติดอาวุธ นักศึกษาบางคนถูกรุมประชาทัณฑ์เพราะพวกม็อบป่าเถื่อน ถูกปั่นหัวว่าผู้ตกเป็นเหยื่อเหล่านั้นเป็นญวน” (ธงชัย วินิจจะกูล, 2556:8-9)

            ความรุนแรงในการชุมนุมทางการเมืองยังคงปรากฏ ในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬปีพ.ศ.2535 การชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในปีพ.ศ.2551 และ การชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ในปี พ.ศ.2553

            อย่างไรก็ตามแม้ว่าในปัจจุบันการชุมนุมต่างๆล้วนสงบลง เนื่องจากคำสั่งห้ามการชุมนุมในที่สาธารณะ ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. นำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แต่ในขณะเดียวกันการเมืองไทยยังคงเป็นปัญหาร้อนแรงที่ยากจะแก้ไขเนื่องจากเป็นปัญหาในทางประวัติศาสตร์ในการต่อสู้กันระหว่างกลุ่มอำนาจเก่าและกลุ่มอำนาจใหม่ที่มีสืบเนื่องมาตั้งแต่ครั้งการเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ.2475

 

 

บรรณานุกรม

    คริส เบเคอร์ และ ผาสุก พงษ์ไพจิตร. (2557). ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์มติชน.

    เดวิด เค.วัยอาจ. (2556). ประวัติศาสตร์ไทยฉบับสังเขป. กรุงเทพมหานคร: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.

    ธงชัย วินิจจะกูล. (2556). กำเนิดสยามจากแผนที่ ประวัติศาสตร์ภูมิกายาของชาติ. กรุงเทพมหานคร: โครงการจัดพิมพ์คบไฟ ร่วมกับ สำนักพิมพ์อ่าน.

    ลิขิต ธีรเวคิน. (2550). วิวัฒนาการการเมืองการปกครองไทย. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

    สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. (2551). สายธารประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทย. กรุงเทพมหานคร: พี.เพรส.