ไทย - ชาติพันธุ์



          กลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทยมีความหลากหลายสามารถจำแนกได้หลายกลุ่ม  การจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์โดยหน่วยงานภายในประเทศที่ทำการศึกษาข้อมูลด้านชาติพันธุ์มีวิธีการแตกต่างกันไป อาทิเช่น สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล ใช้วิธีการจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทยตามกลุ่มภาษาได้ 60 กลุ่ม จัดอยู่ใน 5 ตระกูลภาษา อันประกอบไปด้วย

          ภาษาตระกูลไท เป็นภาษาพูดของคนส่วนใหญ่และกระจายตัวทั่วไปในส่วนต่างๆ ของประเทศ มี 24 กลุ่ม ประกอบไปด้วย แสก ไทยใหญ่ ลื้อ โซ่ง ขึน ยวน(ไทยเหนือ/คำเมือง) ยอง ไทหย่า  ไทยกลาง ไทยใต้ ไทยตากใบ ไทยโคราช ไทยเลย ลาวหล่ม ลาวแง้ว ลาวตี้ ลาวครั่ง ลาวเวียง ลาวใต้ ผู้ไทย โย้ย ญ้อ กะเลิง ลาวอีสาน (สุวิไล เปรมศรีรัตน์ และคณะ, 2547:19)

          ภาษาตระกูลออสโตรเอเชียติค ที่พบในประเทศไทยปัจจุบันทั้งหมดเป็นภาษากลุ่มมอญ-เขมร  มี 22 กลุ่ม ประกอบไปด้วย ละเม็ด ว้า ละเวือ ปะหล่อง ปลัง ขมุ มัล มลาบรี เวียดนาม โซ่ ชอง กะซอง ซัมเร ซะโอจ เขมรถิ่นไทย กูย  เญอ โซ่ บรู มอญ ญัฮกุร และ เกนซิวหรือมานิ (สุวิไล เปรมศรีรัตน์ และคณะ, 2547:19)

          ภาษาตระกูลจีน-ทิเบต พบเป็นส่วนมากทางภาคเหนือและภาคตะวันตกของประเทศไทย มี 11 กลุ่ม ประกอบไปด้วย จีน จีนฮ่อ พม่า ลีซู ละหู่ อะข่า ก๋อง อึมปี บิซู กะเหรี่ยง(กลุ่มต่างๆ) จิงพ่อ (คะฉิ่น) (สุวิไล เปรมศรีรัตน์ และคณะ, 2547:20)

          ภาษาตระกูลม้งเมียน หรือ แม้ว-เย้า มี 2กลุ่ม คือ 1. ม้ง(แม้ว) ประกอบไปด้วย ม้งดำ ม้งขาว 2.เมี่ยน(เย้า) (สุวิไล เปรมศรีรัตน์ และคณะ, 2547:20)

           ภาษาตระกูลมาลาโย-โพลีนีเชียน หรือ ออสโตรเนเชี่ยน มี 3 กลุ่ม ได้แก่ มอแกน มอแกลน และ อูรักลาโว้ย (สุวิไล เปรมศรีรัตน์ และคณะ, 2547:20)

           ขณะที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) จำแนกกลุ่มชาติพันธุ์โดยการใช้ “ชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง” สามารถแบ่งได้เป็น 65 กลุ่ม ดังนี้

           1.ก๋อง กว๋อง อุก๋อง 2.กะซอง 3.กะเลิง 4.ขมุ 5.กูย กวย  6.ขึน ไทขึน 7.คนใต้ 8.คนอีสาน ลาวอีสาน9.คะแมร์ลือ 10.คะยัน กะจ๊าง 11.คะยาห์ กะเรนนี บเว 12.จีนยูนนาน จีนมุสลิม 13.ชอง 14.ซะโอจ 15.ซำเร16.โซ่ ทะวืง 17.โส้ โซร ซี 18.ญ้อ ย้อ ญ่อ โย้ 19.ญัฮกุร เนียะกวล ละว้า ชาวบน 20.เญอ (ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร(องค์การมหาชน), 2549)

            21.ดาระอั้ง ดาระอาง ดาละอั้ง 22.ตึ่งนั้ง คนจีน (หมายถึง ไทย – จีนเชื้อสายแต้จิ๋ว) 23.ไต คนไต ไตโหลง ไตหลวง ไตใหญ่24.ไทเบิ้ง ไทยเติ้ง 25.ไทยโคราช 26.ไทยภาคกลาง 27.ไทยมุสลิม 28.ไทหย่า 29.นัมมารี ไทยซิกส์ 30.บรู  31.ปกาเกอะญอ จกอ คานยอ กะเหรี่ยง 32.ปลัง 33.ปะโอ  34.ผู้ไท ภูไท 35.ผู้ย้อย ย้อย ลาวย้อย ไทย้อย โย่ย36.พวน ไทพวน 37.โพล่ง โผล่ง โพล่ว ซู กะเหรี่ยง  38.ม้ง 39.มลาบรี มราบรี 40.มอแกน (ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร(องค์การมหาชน), 2549)

           41.มอแกลน 42.มอญ 43.มันนิ มานิ กอย คะนัง 44.เมี่ยน อิวเมี่ยน 45.ยวน คนเมือง 46.ยอง 47.ลวะ 48.ลเวือ ละว้า 49.ลัวะ 50.ลาวครั่ง 51.ลาวแง้ว 52.ลาวโซ่ง ไทยโซ่ง ผู้ลาว โซ่ง ไตดำ 53.ลาวตี้ 54.ลาวเวียง ลาวกลาง 55.ลาหู่ ลาฮู 56.ลีซู 57.ลื้อ 58.เวียต 59.แสก 60.ออแรนายู มลายูมุสลิม 61.อาข่า 62.อูรักลาโว้ย 63.บีซู 64.อึม 65.ออเญอก๊อคือ อาเคอะ (ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร(องค์การมหาชน), 2549)

            มีหน่วยงานและองค์กรต่างๆ ที่ปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับกลุ่มชาติพันธุ์ทั้งสิ้น 107 แห่ง เช่น ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ศูนย์โลกสัมพันธ์ไทย สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กลุ่มกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อชาวเขา  เป็นต้น (ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร(องค์การมหาชน), 2549)

           แม้มีองค์กรจำนวนมากปฏิบัติงานเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ แต่ปัญหาหลักในการดำรงชีพ ของแต่ละกลุ่มยังหลีกไม่พ้นปัญหาสิทธิขั้นพื้นฐานในด้านที่อยู่อาศัย การศึกษา สาธารณูปโภค และ สาธารณสุข แม้ว่ารัฐพยายามแก้ปัญหาด้านสิทธิโดยการกำหนดให้มีบัตรประจำตัวประชาชนในทุกกลุ่มชาติพันธุ์ที่ปรากฏชื่อในทะเบียนราษฎร แต่อย่างไรก็ตามปัญหาต่างๆดังที่กล่าวมายังคงปรากฏอยู่กระทั่งปัจจุบัน

            ทั้งนี้ในปีพ.ศ.2553 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบหลักการแนวนโยบายเพื่อฟื้นฟูวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มชาวเล และ กลุ่มกะเหรี่ยง

            กลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล ประกอบไปด้วย มอแกน มอแกลน และ อูรักลาโว้ย ชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ดังกล่าวเป็นชื่อที่คนในกลุ่มชาติพันธุ์ใช้เรียกตนเอง ขณะเดียวกันยังมีชื่อเรียกจากคนนอกกลุ่ม คือ  ชาวเล โอรังลาโวท ชาวน้ำ ไทยใหม่ โอรังบาไร มีถิ่นอาศัยใน 5 จังหวัดฝั่งอันดามัน ประกอบไปด้วย ระนอง พังงา สะตูล กระบี่ และภูเก็ต

            การเกิดขึ้นของแนวนโยบายฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล พิจารณาจากปัญหาที่กลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลประสบจำแนกได้เป็น 5 ประเด็น หลัก คือ  1.ปัญหาเรื่องที่ทำกินและที่อยู่อาศัย 2. ปัญหาเรื่องให้การศึกษากับชาวเลรวมทั้งปัญหาการจัดหลักสูตรการศึกษาท้องถิ่น 3.ปัญหาเรื่องฟื้นฟูวิถีชีวิตวัฒนธรรมดั้งเดิมรวมทั้งการพัฒนาท้องถิ่นให้ดำรงอยู่ได้ด้วยตนเอง 4. ปัญหาเรื่องการส่งเสริมสุขภาพและบริการสาธารณสุข 5. ปัญหาเรื่องจัดตั้งศูนย์วัฒนธรรมท้องถิ่นในชุมชน (สรินยา คำเมือง,:4)

            อย่างไรก็ตามประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันยังคงหลีกไม่พ้นปัญหาเรื่องที่ทำกินและที่อยู่อาศัย ของชาวเล กลุ่มอูรักลาโว้ย หมู่บ้านราไวย์ จังหวัดภูเก็ต เนื่องจากการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติทางทะเลส่งผลให้พื้นที่ทำกินลดลง ทั้งยังมีการอ้างเอกสารสิทธิ์ของกลุ่มนายทุน กระทั่งเกิดเหตุการณ์ไล่รื้อที่อยู่อาศัย และทำร้ายชาวบ้าน ก่อให้เกิดความไม่มั่นคงทางชีวิตและทรัพย์สิน ทั้งที่ “แนวนโยบายฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล ตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 2 มิถุนายน 2553” ได้ให้ความสำคัญกับการสร้างความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัยมาเป็นลำดับแรก

           ในส่วนของกะเหรี่ยง มีถิ่นพำนักอยู่ในพื้นที่ 15 จังหวัดของไทย ประกอบไปด้วย เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน แพร่ ตาก ลำพูน ลำปาง สุโขทัย กำแพงเพชร สุพรรณบุรี อุทัยธานี ราชบุรี กาญจนบุรี เพชรบุรี และ ประจวบคีรีขันธ์  เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีชื่อเรียกหลากหลาย เช่น กะเหรี่ยงโพล่ง โผล่ง โพล่ว ปกากะญอ (สมทรง บุรุษพัฒน์ และคณะ, 2554,:59) และ ซู เป็นชื่อที่คนในกลุ่มชาติพันธุ์ใช้เรียกตนเอง ในขณะที่ ยางแดง กะเหรี่ยง ฮซู่ โปว์กะเรน กะหยิ่น ยางเปียง ตะเลงกะริน และ โปว์ เป็นชื่อเรียกจากคนนอกกลุ่ม (ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร(องค์การมหาชน), 2549)

           พื้นที่อยู่อาศัยของชาวกะเหรี่ยงมักอยู่ในพื้นที่สูง  แนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง รัฐได้กำหนดมาตรการทั้งระยะสั้นและระยะยาว เน้นฟื้นฟู ด้านอัตลักษณ์ ชาติพันธุ์ และวัฒนธรรม การจัดการทรัพยากร สิทธิในสัญชาติ และการศึกษา รัฐยังมีการกำหนดเขตพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษสำหรับกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงเพื่อเอื้อต่อกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีลักษณะสังคมวัฒนธรรมจำเพาะ โดยมีพื้นที่นำร่อง เช่น บ้านห้วยหินลาดใน ตำบลบ้านโป่ง อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย เป็นต้น (ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 2549)  

           แม้ว่ากลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลและกะเหรี่ยงจะได้รับความสนใจจากรัฐ ภายใต้แนวนโยบายฟื้นฟูวิถีชีวิตดังกล่าว แต่ปัญหาต่างๆยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ยังมีกลุ่มชาติพันธุ์อื่นในประเทศไทยอีกเป็นจำนวนมากที่ยังต้องการความช่วยเหลือจากทุกภาคส่วนที่มีความเกี่ยวข้อง และสิ่งที่ทุกกลุ่มชาติพันธุ์พึงมีคือสิทธิขั้นพื้นฐานในความเป็นมนุษย์ที่ได้รับจากรัฐ

บรรณานุกรม

    ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). (2549). แนวนโยบายด้านชาติพันธุ์. เรียกใช้เมื่อ 04 กุมภาพันธุ์ 2559 จาก เว็บไซต์ฐานข้อมูลงานวิจัยด้านชาติพันธุ์: http://www.sac.or.th/databases/ethnicredb/policy.php

    ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร(องค์การมหาชน). (2549). ชื่อเรียกกลุ่มชาติพันธุ์. เรียกใช้เมื่อ 05 กุมภาพันธุ์ 2559 จาก เว็บไซต์ฐานข้อมูลงานวิจัยทางชาติพันธุ์ในประเทศไทย: http://www.sac.or.th/databases/ethnicredb/

    สมทรง บุรุษพัฒน์ และคณะ. (2554). การใช้ภาษาและทัศนคติต่อภาษาและการท่องเที่ยว เชิงชาติพันธุ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ในภูมิภาคตะวันตกของประเทศไทย. นครปฐม: สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยลัยมหิดล.

    สรินยา คำเมือง. (2553). คู่มือการดำเนินงานฟื้นฟูวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล-กะเหรี่ยง ตามมติคณะรัฐมนตรี. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร(องค์การมหาชน).

    สุวิไล เปรมศรีรัตน์ และคณะ. (2547). แผนที่ภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆในประเทศไทย. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว.