ไทย - ข้อมูลพื้นฐาน



ที่ตั้งและพื้นที่

ประเทศไทยตั้งอยู่บนภาคพื้นทวีปของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ระหว่างละติจูดที่ 5 องศา 37 ลิปดาเหนือ กับ 20 องศา 27 ลิปดาเหนือ และระหว่างลองติจูดที่ 97 องศา 22 ลิปดาตะวันออกถึง 105 องศา 37 ลิปดาตะวันออก มีพื้นที่ประมาณ 513,120 ตารางกิโลเมตร   

 

อาณาเขต

ประเทศไทยมีอาณาเขตติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านทั้งสิ้น 5 ประเทศ ดังนี้

ทิศเหนือ           มีอาณาเขตติดต่อกับสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว    

ทิศใต้                มีอาณาเขตติดต่อกับสหพันธรัฐมาเลเซีย

ทิศตะวันออก     มีอาณาเขตติดต่อกับราชอาณาจักรกัมพูชา

ทิศตะวันตก        มีอาณาเขตติดต่อกับสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา

 

ภูมิประเทศ

ลักษณะภูมิประเทศโดยรวมของไทยประกอบด้วย เทือกเขา ป่าไม้ เนินเขา ที่ราบสูง ที่ราบหุบเขา ที่ราบลุ่มบริเวณแม่น้ำใหญ่ ทะเล ชายหาด และเกาะแก่งต่างๆ แบ่งได้เป็น 4 ภูมิภาค รวมทั้งสิ้น 77 จังหวัด ดังนี้

          1. ภาคกลาง มีภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นที่ราบและบางจังหวัดติดทะเลอ่าวไทย รวม 25 จังหวัด

          2. ภาคเหนือ มีภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขาและหุบเขา รวม 17 จังหวัด

          3. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นที่ราบสูง รวม 21 จังหวัด

          4. ภาคใต้ มีลักษณะภูมิประเทศขนาบด้วยทะเล โดยฝั่งซ้ายติดทะเลอันดามัน ฝั่งขวาติดทะเลอ่าวไทย

รวม 14 จังหวัด (Editor Thekob Tourismthailand.org/AEC, 2556)

 

ภูมิอากาศ

ลักษณะภูมิอากาศของประเทศไทยเป็นแบบร้อนชื้น แบ่งเป็น 3 ฤดูกาล ได้แก่ ฤดูร้อน (ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคม อุณหภูมิโดยเฉลี่ยประมาณ 34 องศาเซลเซียส) ฤดูฝน (ระหว่างเดือนมิถุนายนถึงตุลาคมอุณภูมิโดยเฉลี่ยประมาณ 29 องศาเซลาเซียส) ฤดูหนาว (ระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงมกราคม อุณหภูมิโดยเฉลี่ยประมาณ 20 องศาเซลเซียส) (Editor Thekob Tourismthailand.org/AEC, 2556)

 

ระบบการปกครอง

ประเทศไทยมีระบอบการปกครองประชาธิปไตยแบบรัฐสภา มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข นายกรัฐมนตรีเป็นผู้นำรัฐบาล  

 

เมืองหลวง

เมืองหลวงของประเทศไทยคือ กรุงเทพมหานคร

 

ประชากร

ประชากรในประเทศไทยมีอยู่ราว 65.98 ล้านคน ความหนาแน่นโดยเฉลี่ย 128.6 คน/ตร.กม. หากจำแนกจำนวนประชากรตามอายุ พบว่า  มีประชากรวัยเด็ก (0-14 ปี) ร้อยละ 19.2 วัยทำงาน(15-59ปี) ร้อยละ 44.8 ล้านคน วัยสูงอายุ (60ปีขึ้นไป) ร้อยละ 12.9 กระจายตัวอยู่ในกรุงเทพมหานครและภูมิภาคต่างๆเป็นสัดส่วนต่อไปนี้ กรุงเทพมหานครร้อยละ 12.6 ภาคกลางร้อยละ 27.6 ภาคเหนือร้อยละ 17.7 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือร้อยละ 28.7 ภาคใต้ร้อยละ 13.4 (สำนักงานสถิติแห่งชาติ, 2010)   

ทั้งนี้ในแต่ละภูมิภาคยังประกอบด้วยกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆกว่า 60 กลุ่ม หากจำแนกตามรูปแบบภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์โดยสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่ามีกลุ่มชาติพันธุ์อยู่ทั้งสิ้น 60 กลุ่ม 5 ตระกูลภาษา หากจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์โดยการใช้ “ชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง” ตามรูปแบบของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร(องค์การมหาชน) พบว่ามีอยู่ทั้งสิ้น 65 กลุ่ม

 

ศาสนา

ประเทศไทยมีศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ นอกจากนี้ยังมี ศาสนาอิสลาม ศาสนาคริสต์ และศาสนาอื่นๆ มีสัดส่วนของประชากรที่นับถือศาสนาต่างๆดังนี้ ศาสนาพุทธร้อยละ 94.6  ศาสนาอิสลามร้อยละ 4.6  ศาสนาคริสต์ร้อยละ 0.7 และศาสนาอื่นๆ(ศาสนาซิกส์และพราหมณ์ฮินดู)ร้อยละ 0.1 (สำนักงานสถิติแห่งชาติ, 2010)

 

ภาษา

ภาษาไทย

 

การศึกษา

อัตราการรู้หนังสือของประชากรไทยคิดเป็นร้อยละ 97 ของประชากรทั้งประเทศ รัฐบาลให้การสนับสนุนงบประมาณด้านการศึกษาร้อยละ 20.2 ของงบประมาณทั้งหมดในการบริหารประเทศ มีการกำหนดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 9 ปี คือตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 – มัธยมศึกษาปีที่ 3

เมื่อสำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐาน 9 ปี แล้ว ผู้ศึกษาสามารถเลือกศึกษาต่อในสายสามัญ คือ มัธยมศึกษาตอนปลาย หรือ สายอาชีวศึกษา จากนั้นจึงเข้าสู่ระดับอุดมศึกษาเป็นลำดับต่อไป ปัจจุบัน ประเทศไทยมีสถานศึกษาระบบโรงเรียนในกรุงเทพมหานครและส่วนภูมิภาคราว 38,331 แห่ง ส่วนระดับอุดมศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษามีอยู่ราว 155 แห่ง (สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา, 2016)  

 

สกุลเงิน

บาท

 

วันชาติ

วันชาติของไทยตรงกับวันที่ 5 ธันวาคม ทั้งยังเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอีกด้วย

บรรณานุกรม

    Editor Thekob Tourismthailand.org/AEC. (9 มกราคม 2556). ข้อมูลพื้นฐานของประเทศไทย. เรียกใช้เมื่อ 24 มิถุนายน 2559 จาก เว็บไซต์ AEC Tourism Connectivity การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน: http://th.aectourismthai.com/tourismhub/932

    สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา. (2016). สถาบันอุดมศึกษาในสังกัด สกอ (155 แห่ง). Retrieved June 24, 2016, from เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา: http://www.mua.go.th/university.html

    สำนักงานสถิติแห่งชาติ. (2010). บทสรุปผู้บริหาร. เรียกใช้เมื่อ 24 June 2016 จาก เว็บไซต์สำนักงานสถิติแห่งชาติ: http://popcensus.nso.go.th/file/popcensus-10-01-56-T.pdf

    สำนักงานสถิติแห่งชาติ. (2010). สำมะโนประชากรและการเคหะ. Retrieved June 24, 2016, from เว็บไซต์สำนักงานสถิตถแห่งชาติ: http://popcensus.nso.go.th/file/popcensus-10-01-56-T.pdf