ไทย - ศิลปะการแสดง



จากการวิจัยเรื่อง สถานภาพการวิจัย สาขาศิลปะการแสดงในประเทศไทย โดย สุกรี เจริญสุข ชี้ให้เห็นว่า ศิลปะการแสดงดนตรีและนาฏศิลป์ ทั้งที่เป็นศิลปะของราชสำนักและดนตรีนาฏศิลป์พื้นบ้าน เป็นสาขาวิชาที่ได้รับความสนใจศึกษาน้อยมาก เมื่อเทียบกับสาขาวิชาชีพอื่น เนื่องจากสาเหตุต่างๆ ประกอบกันหลายประการ ประการแรก ปรัชญาและความเชื่อที่ฝังลึก อันเป็นรากเหง้า อยู่ในความรู้สึกของคนไทย ที่ว่าดนตรีเป็นวิชาที่ต่ำต้อยด้อยค่าไร้ราคาไร้แก่นสาร เป็นวิชาข้างถนนเต้นกินรำกิน ไม่ควรยึดถือเป็นอาชีพ เพราะคนไทยชอบทำเล่นๆ แล้วก็ทิ้งไป เมื่อความรู้ในสาขาวิชาศิลปะการแสดงของคนในสังคมเข้าใจอย่างนี้ สภาพของวิชาการก็ต่ำลงไปโดยปริยาย ทั้งยังมีความซับซ้อนในเรื่องของ วัฒนธรรมหลวงและวัฒนธรรมราษฎร์ ดนตรีพื้นบ้านเป็นวัฒนธรรมของชาวบ้าน สืบทอดพัฒนาโดยวิธีการของชาวบ้าน จึงมีความต่ำต้อยด้อยลงไปอีกระดับหนึ่ง การศึกษาและมหาวิทยาลัยทำให้ชาวบ้านขาดความมั่นใจในวิถีชีวิตของตน ประการต่อมา วิชาศิลปะการแสดงยังขาดสถาบันการศึกษาที่รับผิดชอบงานวิชาการศิลปะการแสดง และประการสุดท้าย วิชาศิลปะการแสดง ดนตรีพื้นบ้านขาดแคลนนักวิชาการ และไม่ได้รับความสำคัญจากองค์กรของรัฐ (สุกรี เจริญสุข, 2536:1)

รายงานการวิจัยฉบับดังกล่าวจัดทำขั้นเพื่อรวบรวมงานวิจัยที่มีความเกี่ยวข้องกับวิชาดนตรี นาฏศิลป์และศิลปะการแสดงที่มีในประเทศไทยตั้งแต่ปีพ.ศ.2475-พ.ศ.2535 โดยรวบรวมได้ทั้งสิ้น 108 เรื่อง ทั้งยัเสนอให้เห็นสภาพปัญหาของ ศิลปะการแสดงในประเทศไทย ในช่วงปีพ.ศ.2536 เราจะเห็นว่าสภาพปัญหาดังกล่าวเป็นสิ่งที่ใช้อธิบาย ศิลปะการแสดงในประเทศไทยยุคปัจจุบันไม่ได้อย่างสิ้นเชิง เนื่องเพราะปัจจุบันศิลปะการแสดงหลายชนิดทั้งในระดับราชสำนักและพื้นบ้าน เช่น โขน และ เพลงพื้นบ้าน  ล้วนมีผู้สืบทอดและเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในสังคมไทย หากแต่มีการการแสดงบางชนิดที่ไม่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน แต่ยังคงเก็บรักษารูปแบบการแสดงไว้โดยกรมศิลปากร อาทิเช่น ละครนอก ละครใน ละครดึกดำบรรพ์ และละครพันทาง เป็นต้น

ทั้งนี้ศิลปะการแสดงของไทย สันนิษฐานว่าเกิดขึ้นจากสาเหตุ 2 ประการ คือ 1. เกิดจากพื้นฐานอารมณ์สะเทือนใจของมนุษย์ เช่น ดีใจก็โลดเต้น ส่งเสียงร้อง เสียใจก็ร้องไห้คร่ำครวญ ต่อมาจึงได้พัฒนาอารมณ์ต่างๆ เหล่านี้ใหเป็นพื้นฐานการแสดงในที่สุด 2. เกิดจากความเชื่อทางศาสนา เช่น เชื่อว่าสรรพสิ่งรอบตัวในธรรมชาติมีอำนาจที่เร้นลับแฝงอยู่ สามารถบันดาลให้เกิดเหตุการณ์ต่างๆ และต่อมาได้พัฒนาเป็นระบบเทพเจ้า การอ้อนวอน การขับร้องดนตรี และการฟ้อนรำ (สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ, 2542:1)

ศิลปะการแสดงในประเทศไทย ประกอบไปด้วย การร้องเพลง การเล่นดนตรี และ การรำ ทั้งนี้สามารถจำแนกได้เป็นศิลปะการแสดงในระดับราชสำนักและศิลปะการแสดงพื้นบ้าน ในสวนของศิลปะการแสดงในระดับราชสำนักนั้น ปัจจุบันได้รับการสืบทอดโดยกรมศิลปากร มีหน่วยงานภายใต้สังกัดเป็นผู้ให้การฝึกสอน คือ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ และ วิทยาลัยนาฏศิลป์ 12 แห่ง ทั่วประเทศ มีการจัดการศึกษาแบ่งออกเป็น 2 สายใหญ่ คือ สายสามัญ และ สายศิลปะ ทั้งนี้ การศึกษาในสายศิลปะนั้น กรมศิลปากรเป็นผู้กำหนดหลักสูตรเพื่อการศึกษา มีทั้งสิ้น 3 สาขา คือ 1.สาขานาฏศิลป์ไทย ประกอบด้วยโขน ละคร  2. สาขาดุริยางค์ไทย ประกอบด้วย ปี่พาทย์ เครื่องสาย คีตศิลป์ไทย และ 3. สาขาศิลปะสากล ประกอบด้วย ดุริยางค์สากล คีตศิลป์สากล นาฏศิลป์สากล  

ในขณะที่ศิลปะการแสดงพื้นบ้าน คือ การแสดงออกซึ่งจิตใจ อารมณ์ความรู้สึก และความเชื่อถือตามขนบธรรมเนียมประเพณีของแต่ละท้องถิ่น (เรณู โกศินานนท์, 2537:1) สะท้อนให้เห็นวิถีการดำรงชีวิต ปัจจุบันศิลปะการแสดงพื้นบ้านที่เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในระดับประเทศประกอบไปด้วยทั้งการร้องการรำ เช่น ลิเก โนรา หมอลำ เพลงอีแซว เพลงฉ่อย เพลงลำตัด เพลงโคราช เป็นต้น

ปัจจุบันศิลปินดารานักร้องที่มีชื่อเสียงก็เติบโตมาจากการแสดงลิเกกับครอบครัวในต่างจังหวัด เช่น ไชยา มิตรชัย และ กุ้ง สุทธิราช เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่าบุคคลดังกล่าวประกอบอาชีพทั้งเป็นนักแสดง นักร้อง และพระเอกลิเกที่มีชื่อเสียง

ในส่วนของหมอลำ มีวงดนตรีในภาคตะวันออกเฉียงเหนือจำนวนไม่น้อยที่มีชื่อเสียงและประสบความสำเร็จในการเป็นหมอลำ เช่น คณะหมอลำเสียงอิสานของ นกน้อย อุไรพร คณะหมอลำของบัวผันทังโส เป็นต้น

ในขณะที่เพลงพื้นบ้าน เช่น เพลงลำตัด เพลงฉ่อย และเพลงอีแซว เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายผ่านทางรายการ คุณพระช่วย ตอน จำอวดหน้าม่าน โดยผู้แสดง 3 คน คือ น้าโย่ง น้าพวง และ น้านงค์ นอกจากนี้ศิลปินพื้นบ้านผู้ขับร้องเพลงอีแซว เช่น แม่ขวัญจิต ศรีประจันต์ แม่เพลงพื้นบ้านภาคกลาง ได้รับการยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง ในปีพ.ศ.2539

ดังนั้นในปัจจุบันศิลปะการแสดงพื้นบ้านจึงเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายและได้รับการยกย่องจากรัฐ ในรูปแบบของการยกย่องศิลปินพื้นบ้าน เป็น ศิลปินแห่งชาติ ทั้งนี้ศิลปะการแสดงในประเทศไทยในรูปแบบของเพลงนั้นนอกจากเพลงไทยเดิม ที่ได้รับการอนุรักษ์โดยกรมศิลปากรแล้ว ยังมี เพลงลูกทุ่ง เพลงลูกกรุง และเพลงไทยสากล ที่เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน

เพลงลูกทุ่งมีรากฐานมาจากเพลงพื้นบ้าน องค์ประกอบของบทเพลงแสดงให้เห็นถึงจารีตลักษณะของการเล่นเพลงอย่างเด่นชัด เช่น รูปแบบเพลงโต้ตอบ เพลงแก้ คำร้องที่กำหนดสถานการณ์เฉพาะ เนื้อเพลงมีความหมายสองแง่สองง่าม การขับร้องที่มีการเล่นลูกคอ เป็นต้น (ศิริพร กรอบทอง, 2547:27)

ขณะที่ กอบกุล ภู่ธนาภรณ์ ชี้ให้เห็นว่า เพลงลูกทุ่งเป็นเพลงที่สะท้อนความรู้สึกนึกคิดของคนชนบทไว้ได้มากกว่าเพลงประเภทอื่นๆ เพลงลูกทุ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของคนชนบท จนน่าที่จะมีความสนใจพิจารณาในรายละเอียดมากกว่า นอกเหนือจากการใช้ถ้อยคำและทำนองที่ไพเราะแล้ว เสน่ห์ของเพลงลูกทุ่งอยู่ที่ทันต่อเหตุการณ์ในทุกยุคสมัย (บำรุงศรี)

ส่วน จินตนา ดำรงศ์เลิศ ชี้ให้เห็นว่า เพลงลูกทุ่งเป็นวรรณกรรมที่มีคุณค่าด้านสาระเกี่ยวกับสังคม และวิถีชีวิตของชนบทไทยอย่างกว้างขวาง ชาวชนบทไทยเป็นยึดมั่นในพุทธศาสนา ขนบธรรมเนียมประเพณี และสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ค่านิยมหลายประการของชาวชนบท เช่น ค่านิยมในวัตถุ อบายมุข การบริโภค ไสยศาสตร์ และโหราศาสตร์ แสดงให้เห็นความจำเป็นที่รัฐจะต้องเข้าไปพัฒนาการศึกษาในชนบทให้มากขึ้น กระประกอบอาชีพของประชาชน ชนบทที่ขึ้นอยู่กับความไม่แน่นอนของสภาพดินฟ้าอากาศ ภาวะหนี้สิน และการถูกเอารัดเอาเปรียบของชาวชนบท ปรากฏในเพลงลูกทุ่งเป็นจำนวนมาก สะท้อนให้เห็นว่าสังคมไทยยังขาดกลไกที่ก่อให้เกิดความเสมอภาคและความยุติธรรม ด้วยเหตุนี้เพลงลูกทุ่งจึงมิใช่เพียงความบันเมิงบริสุทธิ์ เพลงลูกทุ่งอาจจัดเป็นวรรณกรรมเพื่อชีวิตด้วย (บำรุงศรี)

ดังที่กล่าวมานี้เพื่อชี้ให้เห็นว่าเพลงลูกทุ่งนอกจากเป็นเพลงที่มีทำนองสนุกสนาน และ ซาบซึ้งกินใจแล้ว ยังแฝงไปด้วยเรื่องราวต่างๆ ของการดำรงชีวิตในแต่ละพื้นที่สภาพภูมิประเทศ สภาพภูมิอากาศ ที่แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ เช่น เพลงมนต์เมืองเหนือ ของ ทูล ทองใจ ที่ได้บรรยายถึงความงามของภาคเหนือไว้อย่างน่าชื่นชม เป็นต้น

นอกจากเพลงลูกทุ่งแล้ว ยังมีเพลงลูกกรุงที่ถ่ายทอดโดยวงดนตรีสุนทราภรณ์ ที่ถือกำเนิดขึ้นในวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ.2482 ผู้นำทางการเมืองไทยขณะนั้นคือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม หรือ “ท่านผู้นำ” ประชาชนดำรงชีวิตอยู่ภายใต้รัฐนิยม ที่รัฐเชื่อว่าเป็นแบบแผนทางวัฒนธรรมอันดีงาม (สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, 2551:44) วงดนตรีสุนทราภรณ์ในขณะนั้นนำโดย เอื้อ สุนทรสนาน นักแต่งเพลงครูเพลง และนักร้อง ผู้มีชื่อเสียง มีส่วนอย่างยิ่งในการสนับสนุนนโยบายชาตินิยมของท่านผู้นำ ผ่านการนำเสนอบทเพลงต่างๆเพื่อให้ประชาชนเกิดความรู้สึกรักชาติ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายชาตินิยมของรัฐบาล

ดังที่กล่าวมานี้เป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นว่า บทเพลง นอกจากฟังเพื่อการผ่อนคลายแล้ว ในทางกลับกันอาจกลายเป็นสาส์นหนึ่งจากรัฐที่ส่งตรงสู่ประชาชน เพื่อทำความเข้าใจในนโยบายตลอดจนเจตนารมณ์ของรัฐบาล เช่น เพลงคืนความสุขให้ประเทศไทย ในรูปแบบเพลงไทยสากล ที่ประพันธ์คำร้องโดย พลเอกประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของไทย เพื่อให้ประชาชนเข้าใจในหมุดหมายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ดังนั้นเพลงจึงมีหน้าที่ในการรับใช้รัฐเพื่อทำความเข้าใจกับประชาชนผ่านคำร้องและทำน้องที่ออกแบบเพื่อสื่ออารมณ์ในลักษณะที่รัฐคาดว่าจะตรงใจประชาชน

เพลงไทยสากลในปัจจุบันได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย เนื่องจากระบบโลกาภิวัฒน์ที่ส่งผลให้การติดต่อเป็นไปอย่างรวดเร็ว ระบบการติดต่อสื่อสารมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่ทำให้เพลงไทยสากลตลอดจนนักร้องนำทั้งเดี่ยวและวง ได้รับความรู้จักและสร้างฐานผู้สนับสนุนในฐานะ “แฟนคลับ” ได้อย่างรวดเร็ว เยาวชนรุ่นใหม่ให้ความสนใจเข้าสู่วงการบันเทิงในฐานะนักร้องนักแสดงเป็นจำนวนมาก โดยพิจารณาได้จากรายการต่างๆที่เกิดขึ้นเพื่อจัดการประกวดคัดเลือกนักร้องนักแสดงเข้าสู่วงการบันเทิงไทย เช่น รายการเดอะสตาร์คนฟ้าคว้าดาว รายการมาสเตอร์คีย์เวทีแจ้งเกิด รายการเดอะว๊อยซ์ เป็นต้น

ดังนั้นปัจจุบันศิลปะการแสดงในประเทศไทยล้วนแล้วแต่ไม่ใช่เพียงวิชาเต้นกินรำกิน หรือ อาชีพที่ถูกดูถูกดูแคลนอีกต่อไป ทั้งยังเป็นที่ยอมรับในระดับประเทศเนื่องจากมีผู้ให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก โดยพิจารณาได้จากฐาน “แฟนคลับ” ของศิลปินนักแสดงแต่ละคน ในขณะที่บางโอกาสมีส่วนในการรับใช้รัฐซึ่งกลายเป็นว่าเข้าไปมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงทัศนะคติทางการเมืองของประชาชนภายในประเทศอีกด้วย

บรรณานุกรม

    เรณู โกศินานนท์. (2537). การแสดงพื้นบ้านในประเทศไทย. กรุงเทพมหานคร: ไทยวัฒนาพานิช.

    วีระ บำรุงศรี. (ม.ป.ป.). การบริหารจัดการวงดนตรีลูกทุ่งในประเทศไทย กรณีศึกษาวงดนตรีลูกทุ่ง บุญศรี รัตนัง ,นกน้อย อุไรพร ,อาภาพร นครสวรรค์ ,เอกชัย ศรีวิชัย. มหาสารคาม: สาขาวิชาดุริยางคศิลป์ คณะวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.

    ศิริพร กรอบทอง. (2547). วิวัฒนาการเพลงลูกทุ่งในสังคมไทย. กรุงเทพมหานคร: พันธกิจ.

    สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ. (2542). ศิลปะการแสดงของไทย. กรุงเทพมหานคร: สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ.

    สุกรี เจริญสุข. (2536). สถานภาพการวิจัย สาขาศิลปะการแสดงในประเทศไทย. กรุงเทพมหานคร: มหาวิทยาลัยมหิดล.

    สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. (2551). สายธารประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทย. กรุงเทพมหานคร: พี.เพรส.