สิงคโปร์ - ประเพณีพิธีกรรม



          สิงคโปร์เป็นหนึ่งในประเทศที่มีประเพณีที่หลากหลาย  สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อและความศรัทธาของกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในประเทศ  จนเรียกได้ว่าเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม

          พหุวัฒนธรรม เป็นคำหรือความคิดที่เราเพิ่งสร้างขึ้นมาใหม่  จากการยืมคำมาจากคำในภาษาอังกฤษ  ซึ่งมีความหมายใกล้เคียงกันซ้อนทับกันอยู่ 2 คำ คือ Cultural Pluralism และ Multiculturalism  ทั้งสองคำมีความหมายกว้างๆ หมายถึงการยอมรับความหลากหลายทางวัฒนธรรม (Cultural Diversity)  ว่าดำรงอยู่ร่วมกันได้ในลักษณะใดลักษณะหนึ่งนั่นเอง (ศาสตราจารย์ ดร. อานันท์ กาญจพันธุ์, 2555, หน้า 1)

 

1.  กลุ่มชาติพันธุ์จีน

            1.1  ตรุษจีน (Chinese New Year)

            เทศกาลตรุษจีนเป็นเทศกาลที่ยิ่งใหญ่ที่สุด  ช่วงเวลายาวนานที่สุดและคึกคักที่สุด  เทศกาลนี้เริ่มตั้งแต่วัน 8 ค่ำ เดือน 12 ของปฏิทินจีนจนถึงคืน 15 ค่ำ เดือนอ้ายของปีถัดไป (โจวเซี่ยวเทียน เขียน ถาวรสิกขโกศล แปล, 2555)  ชาวจีนในสิงคโปร์ก็ให้ความสำคัญกับวันตรุษจีน  ซึ่งเป็นวันขึ้นปีใหม่ของชาวจีนเช่นเดียวกับชาวจีนทั่วโลกโดยถือตามปฏิทินจันทรคติ  ประเพณีนี้มักจะจัดขึ้นในเดือนมกราคมหรือเดือนกุมภาพันธ์เทศกาลตรุษจีนในสิงคโปร์มีถึง 15 วัน  มีการทำความสะอาดอาคารบ้านเรือน  แต่งกายด้วยเสื้อผ้าใหม่สวยงาม  จัดพิธีไหว้บรรพบุรุษ  แจกอั่งเปา (Hong Bao)  กินเลี้ยงกันในครอบครัว  มีการเผาเงินและข้าวของเครื่องใช้อื่นๆ ที่ทำจากกระดาษไปให้แก่ผู้ตาย  เพ่อลูกหลานจะได้มั่นใจว่าญาติพี่น้องของตนไม่ได้ขาดเหลือสิ่งใด

ตามถนนสายต่างๆ จะมีการจัดงานกันอย่างคึกคัก  โดยเฉพาะย่าน Chinatown ของสิงคโปร์  มีขบวนเชิดสิงโต  จุดประทัดเสียงดังสนั่นทั่วเมือง  โดยเฉพาะในวันอาทิตย์แรกหลังปีใหม่ของจีนจะมีการจัดขบวนแห่อย่างยิ่งใหญ่  มีทั้งขบวนกลอง  ขบวนงิ้ว  เป็นต้น (วิทย์ บัณฑิตกุล, 2555, หน้า 166)

            1.2 งานอุทิศส่วนกุศลแก่ดวงวิญญาณ (Festival of Hungry Ghosts)

            ประเพณีนี้จัดขึ้นในราวเดือน 7 (หรือราวเดือนสิงหาคม-กันยายน)  เพื่อต้อนรับดวงวิญญาณที่จะมาเยือนโลกมนุษย์ในช่วงเวลานี้  จึงมีการจัดเครื่องเซ่นไหว้ด้วยข้าวปลาอาหาร  การจุดธูปอัญเชิญ  เผาเงินกงเต๊ก  อุทิศส่วนกุศลแด่ดวงวิญญาณ

             นอกจากนี้ยังมีงานมหรสพการเล่นวาหยังหรืองิ้ว  เมื่อจบพิธีเซ่นไหว้แล้ว  ชาวจีนในสิงคโปร์ก็จะนำข้าวปลาอาหารนั้นมากินกันเพื่อความเป็นสิริมงคล (วิทย์ บัณฑิตกุล, 2555, หน้า 171)

           1.3  เทศกาลไหว้พระจันทร์ (The Mooncake Festival)

           งานนี้จัดขึ้นเพื่อรำลึกถึงวันปฏิวัติล้มราชวงศ์มองโกลในคริสต์ศตวรรษที่ 14 ซึ่งตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ทางจันทรคติ (หรือประมาณเดือนตุลาคม)

            งานนี้จัดขึ้นในตอนกลางคืน ณ สวนจีนในเขตจูร่ง  มีการไหว้พระจันทร์ด้วยขนมไหว้พระจันทร์  ซึ่งเป็นขนมที่กองกำลังปฏิวัติใช้ในเหตุการณ์ครั้งนั้น  ประดับประดาด้วยโคมไฟสว่างไสวสวยงาม  อุปมาว่าเป็นแสงสว่างให้ประชาชนลุกฮือร่วมกันปฏิวัตินั่นเอง

            1.4  วิสาขบูชา (Vesak Day)

             มักจะตรงกับกลางเดือนพฤษภาคม  วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 เป็นวันที่สำคัญที่สุดของชาวพุทธวันหนึ่ง  เนื่องจากเป็นวันที่พระพุทธเจ้าประสูติ  ตรัสรู้และปรินิพพาน  ตอนเช้าจะมีการสวดมนต์  ฟังเทศน์  ปล่อยนกปล่อยปลาและมีการเวียนเทียนรอบพระอุโบสถ  เชื่อกันว่าพิธีกรรมนี้เป็นการชำระล้างบาปที่เคยกระทำมาในอดีตและยังเป็นการสักการะบูชาองค์สัมมาสัมพุทธเจ้าอีกด้วย (วิภาวรรณ พงศ์ทรางกู แปล, 2539, หน้า 101)   

             1.5  เทศกาลเรือมังกร (Dragon Boat Festival)

            การแข่งเรือมังกรจัดขึ้นในช่วงเดือนมิถุนายน  เป็นงานแข่งเรือที่ยิ่งใหญ่ของสิงคโปร์จัดขึ้นที่ริมอ่าววิกตอเรียตวันออก  มีฝีพายจากประเทศต่างๆ  มาเข้าร่วมในการแข่งขันด้วย  อีกทั้งยังมีการโยนขนมบ๊ะจ่างที่ชาวบ้านทำมาลงในทะเล  เพื่อเป็นการรำลึกถึงความซื่อสัตย์ของขุนนางชาวจีนนาม ชวีหยวน (Qu Yuan)

            ตำนานของชาวจีนกล่าวว่า  ชวีหยวนกระโดดน้ำตายเพื่อประท้วงการทุจริตในราชสำนัก  ศพของชวีหยวนหายไปอย่างไร้ร่องรอย  ชาวประมงพยายามค้นหาอย่างสุดความสามารถ  ชาวบ้านจึงช่วยกันโยนบ๊ะจ่างลงไปในน้ำ  เพื่อหลอกล่อสัตว์น้ำที่จะกัดกินศพให้มากินบ๊ะจ่างแทน  แต่ก็ไม่พบศพชวีหยวน (วิทย์ บัณฑิตกุล, 2555, หน้า 169)

 

2.  กลุ่มชาติพันธุ์มลายู

            2.1 ฮาริ รายา ปูวาษา

            วันฮาริ รายา ปูวาษา  เป็นวันสิ้นสุดการถือศีลอดในเดือนรอมฎอนของชาวมุสลิม  ซึ่งตรงกับเดือนสิบตามปฏิทินของอิสลาม  วันฮาริ รายา ปูวาษา  จะเริ่มเมื่อเมองเห็นพระจันทร์ของวันใหม่ได้อย่างชัดเจนตามหลักการของอิสลาม

             ในวันฮาริ รายา ปูวาษา  นอกจากชาวมุสลิมจะพากันไปละหมาดในมัสยิดแล้ว  ก็จะออกเดินทางไปเยี่ยมญาติมิตร  ถือเป็นวันแห่งการกล่าวคำขอโทษในหมู่ญาติมิตร  ถ้าหากได้มีกระทำผิดต่อกันในช่วงที่ผ่านมา  และเลี้ยงฉลองด้วยอาหารตามประเพณี  เช่น  เรินดัง (แกงเนื้อใส่เครื่องเทศ)

            ในวันถัดมาชาวมุสลิมก็จะไปเยี่ยมกุโบร์  หรือหลุมฝังศพของญาติพี่น้องคนในครอบครัว  มีการทำบุญทำทานด้วยการบริจาคซะกาตช่วยเหลือคนยากคนจน

            ซะกาต  คือ  ทานประจำปีของชาวมุสลิม  หมายถึงทรัพย์สินส่วนเกินจำนวนหนึ่ง  ซึ่งมุสลิมต้องจ่ายให้แก่ผู้มีสิทธิ์ได้รับเมื่อครบรอบปี  ซึ่งผู้มีสิทธิ์ได้รับมี 8 จำพวกตามที่คัมภีร์อัลกุรอานระบุ  คือ  คนยากจน  คนที่อัตคัดขัดสน  คนที่มีหัวใจโน้มมาสู่อิสลาม  ผู้บริหารการจัดเก็บและการจ่ายซะกาต  ไถ่ทาส  ผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว  คนพลัดถิ่นหลงทาง  และใช้ในหนทางอัลลอฮ  เช่น  การไปประกอบพิธีฮัจญ์ที่เมกกะ  ถ้ามุสลิมคนใดมีทรัพย์สิน  เงินทอง  สินค้าที่เหลือในรอบปีแล้ว  ไม่ทำการบริจาค  ผู้นั้นก็ทำผิดบัญญัติของอิสลาม (วิทย์ บัณฑิตกุล, 2555, หน้า 175)

 

3. กลุ่มชาติพันธุ์อินเดีย

            3.1 ไทปูซัม (ฮินดู)(Thaipusam)

            เป็นประเพณีของชาวฮินดูที่นับถือบูชาเทพเจ้ามุรุคะ (Muraga)  ซึ่งเป็นเจ้าแห่งความกล้า  พลังอำนาจ  และคุณความดี  ประเพณีไทปูซัมนี้จัดขึ้นตั้งแต่เช้าตรู่ที่วัดศรี ศรีนิวาสเปรุมาล  ซึ่งตั้งอยู่บนถนนเซรังกูน  ชาวอินเดียทั้งชายหญิงจะแต่งกายด้วยชุดสีเหลืองแล้วตั้งขบวนแห่ไปรอบเมือง  บรรยากาศจะคล้ายกับงานกินเจที่เกาะภูเก็ต  ร่างทรงที่แห่มาในขบวนจะแสดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์  ทำร้ายตัวเองด้วยของมีคม  ท่ามกลางเสียงสวดมนต์ (วิทย์ บัณฑิตกุล, 2555, หน้า 167)

            3.2 นวราตรี(ฮินดู)(Navarathi)

             งานนวราตรีจัดขึ้นปีละสองครั้ง  คือในช่วงปีใหม่ (ขึ้น 1-9 ค่ำ เดือน 5) และในช่วงกลางปี (ขึ้น 1-9 ค่ำ เดือน 9 เรียกว่า สรัทฑิยะนวราตรี) ความเชื่อเก่าแก่ของชาวอินเดียนั้นถือว่าในหนึ่งปีประกอบไปด้วยฤดูร้อนและฤดูหนาว  ฤดูกาลที่ผลัดเปลี่ยนส่งผลต่อร่างกายและจิตใจมนุษย์ จึงเกิดการบวงสรวงเทพเจ้าขึ้น (วิชญดา ทองแดง, 2551, หน้า 60)

             เป็นงานของชาวฮินดูที่จัดขึ้นเพื่อบูชามเหสีของเทพเจ้าสามองค์ที่ชาวฮินดูศรัทธา  คือ  พระสุรัสวดี  พรชายาของพระพรหม  พระมหาอุมาเทวี  พระชายาของพระศิวะ  และพระลักษมีเทวี  พระชายาของพระนารายณ์  จะมีงานรื่นเริงของชาวฮินดูตามวัดต่างๆ ของชาวฮินดูในสิงคโปร์เป็นเวลา 9 คืน ตามชื่อของประเพณี นวราตรี (วิทย์ บัณฑิตกุล, 2555, หน้า 172)

             3.3 งานทิมิฏฐี ทมิฬ

             ในราวเดือนตุลาคมชาวทมิฬในสิงคโปร์จะร่วมกันจัดงานทิมิฏฐีที่วัดศรีมารีอัมมัน  ถนนเซาท์บริดจ์  เพื่อบูชานางเทราปตี  วีรสตรีในตำนานชาวของอินเดียใต้

             พระนางเทราปที  เป็นธิดาของท้าวทรุปัทและเป็นน้องสาวของธฤษฏะทะยุมัน  กำเนิดมาจากกองไฟที่ฤาษีได้ทำพิธีขึ้นมา  พระนางคือมเหสีแห่งพี่น้องปาณฑพทั้งห้าพระองค์และยังเป็นชนวนเหตุของสงครามที่ทุ่งกุรุเกษตรอีกด้วย  เพราะพระนางเทราปตีถูกทุหศาสันลากมากระทำอนาจารที่กลางสภา  ทำให้ฝ่ายปาณฑพแค้นมากจึงประกาศสงครามขึ้น  จนเป็นเรื่องราวมหากาพย์ภารตะ

              ในงานนี้จะมีพิธีลุยไฟ  และผู้ลุยไฟก็เชื่อว่าด้วยพลังในองค์เจ้าแม่  พวกเขาจึงไม่รู้สึกร้อนแต่อย่างใด  ยามเดินไปบนถ่านที่ร้อนระอุ (วิทย์ บัณฑิตกุล, 2555, หน้า 172-173)

              3.4 ทีปาวลี Deepavail

             ในวันแรม 15 ค่ำ เดือนการติ (เดือนตุลาคม-พฤศจิกายน)  ย่านลิตเติลอินเดียจะสว่างไสวด้วยแสงไฟแห่งการเฉลิมฉลองเทศกาลสำคัญของชาวฮินดู  ที่เป็นทั้งวันปีใหม่ของอินเดียและเป็นวันบูชาพระแม่ลักษมีเทวี

             คำว่าทีปาวลี เกิดจากการสนธิกันของคำสองคำ คือ  ทีป กับ อาวลี  ทีป แปลว่าดวงไฟ  อาวลีแปลว่าแถวหรือแนว  เพราะฉะนั้นทีปาวลีจึงแปลว่า แถวแห่งโคมไฟ

             ในวันนี้ชาวฮินดูจะทำการบูชาพระลักษมีด้วยแสงไฟจากตะเกียง  โดยจุดให้สว่างตลอดวันตลอดคืน  มีการสวดมนต์บูชาด้วยโศลกสรรเสริญต่างๆ รวมถึงการเอ่ยพระนาม 108 แห่งพระแม่ลักษมี  เพื่อยกย่องสรรเสริญและขอพรให้พระแม่ลักษมีประทานความสมบูรณ์แก่ชีวิต

             เทศกาลนี้จัดขึ้น 5 วัน  และวันสำคัญที่เป็นหัวใจของงานคือวันสุดท้ายหรือวันทีปวลี  ในวันนี้พ่อค้าหรือผู้ทำธุรกิจจะถือว่าเป็นการเริ่มธุรกิจการงานหรือเปิดบัญชีหน้าใหม่  ในวันอันเป็นมงคลนี้ทกคนจะลืมความโกรธแค้นกัน  หันมาเป็นมิตรที่ดีต่อกัน  งานแห่งแสงสว่างชาวอินเดียนี้ถนนอันสว่างไสวที่ประดับประดาอย่างงดงามจะกลายเป็นแดนสวรรค์  และเต็มไปด้วยผู้คนจำนวนมากที่มาเที่ยวชมงาน (วิทย์ บัณฑิตกุล, 2555, หน้า 173-174)

บรรณานุกรม

    โจวเซี่ยวเทียน เขียน ถาวรสิกขโกศล แปล. (2555). เปิดตำนานเทศกาลจีน. กรุงเทพฯ: มติชน.

    วิชญดา ทองแดง. (2551, ตุลาคม). นวราตรี-ทุรคาบูชา ณ วัดวิษณุ. วารสารเมืองโบราณ, 34(4), 60-75.

    วิทย์ บัณฑิตกุล. (2555). สาธารณรัฐสิงคโปร์. กรุงเทพฯ: สถาพรบุ๊ค จำกัด.

    วิภาวรรณ พงศ์ทรางกู แปล. (2539). สิงคโปร์. กรุงเทพฯ: หน้าต่างสู่โลกกว้าง.

    ศาสตราจารย์ ดร. อานันท์ กาญจพันธุ์. (2555). รัฐชาติ และ ชาติพันธุ์. เชียงใหม่: สำนักกิจการชาติพันธุ์ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์.