สิงคโปร์ - ศาสนาและความเชื่อ



ด้วยพื้นฐานทางสังคมของประเทศสิงคโปร์มีความเป็นพหุสังคม (Plural Society) ที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ อันประกอบไปด้วย 4 กลุ่มหลักๆ ที่ได้จำแนกไว้แล้วในข้างต้นคือ  จีน  มลายู  อินเดีย  และกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ  ทำให้เกิดการแบ่งแยกชุมชนออกไป  แม้กระทั้งในเรื่องของความเชื่อและศาสนาก็มีความแตกต่างกันออกไปเช่นกัน

จากข้อมูลของสำนักอาเซียน กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ (มีนาคม 2558) ระบุว่าประเทศสิงคโปร์มีจำนวนประชากร 5.4 ล้านคน มีประชากรที่นับถือศาสนาพุทธร้อยละ 33.9  มุสลิมร้อยละ 14.3  ลัทธิเต๋าร้อยละ 11.3  คริสต์นิกายคาทอลิกร้อยละ7.1  ฮินดูร้อยละ 5.2  คริสต์อื่นๆร้อยละ11.0  ศาสนาอื่นๆ ร้อยละ0.7  และมีผู้ที่ไม่ถือศาสนาร้อยละ 16.5 (สำนักอาเซียน กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ, 2016)

 

1. กลุ่มชาติพันธุ์จีน  ในการนับถือศาสนาแบ่งออกเป็นสองกลุ่มได้  ดังนี้

            1.1 ศาสนาพุทธ

ปัจจุบันชาวสิงคโปร์ส่วนใหญ่เป็นชาวจีนโพ้นทะเล  ซึ่งเป็นชนกลุ่มแรกที่นำศาสนาพุทธนิกายมหายานเข้ามาเผยแผ่ในสิงคโปร์  ศาสนาพุทธนิกายมหายานจึงเจริญรุ่งเรืองมาจนถึงทุกวันนี้  และมีการจัดกิจกรรมทางศาสนาอย่างสม่ำเสมอ  เช่น  กิจกรรมการเรียนการสอนพระพุทธศาสนา  โดยตั้งโรงเรียนสอนพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์สอนทุกระดับชั้น  และจัดบรรยายให้ความรู้แก่ประชาชนตามวัดและสถาบันการศึกษาต่างๆ จัดตั้งองค์กรเผยแพร่พระพุทธศาสนาในรูปของสหพันธ์  พุทธศาสนิกชนชาวสิงคโปร์  สถาบันสตรีชาวพุทธสิงคโปร์  และองค์กรพุทธยานแห่งสิงคโปร์  จัดสร้างวัดบำเพ็ญกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา  เป็นต้น

ในสิงคโปร์มีวัดมหายานและสมาคมทางศาสนาหลายแห่ง  ซึ่งทำหน้าที่เผยแผ่ศาสนา  ตั้งโรงเรียนสอนหนังสือและดำเนินงานสถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้า  นอกจากวัดพระพุทธศาสนาแบบมหายานแล้ว  ในสิงคโปร์ยังมีวัดพระพุทธศาสนาแบบเถรวาทซึ่งเป็นวัดไทยและวัดลังการวมอยู่ด้วย  วัดไทยที่สำคัญมี 2 วัดคือ  วัดอานันทเมตยาราม  ซึ่งเป็นวัดไทยแห่งแรกในสิงคโปร์  สร้างเมื่อปี พ.ศ.2479 และวัดป่าเลไลยก์สิงคโปร์สร้างเมื่อปี พ.ศ.2506  โดยวัดไทยที่สังกัดอยู่ในเครือสมัชชาสงฆ์ไทยในสิงคโปร์ มีจำนวน 25 วัด (วีณ์ วุฒิชัยและคณะ, 2556, หน้า 35-36)

1.2 ลัทธิเต๋า

ศาสดาของศาสนาเต๋าชื่อเล่าจื๊อ  เล่าจื๊อเป็นผู้ฉลาดตั้งแต่เด็ก ชอบสังเกตธรรมชาติ นิยมการดำเนินชีวิตตามธรรมชาติ รักสันโดษ ได้รับตำแหน่งเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในกรมอาลักษณ์ เป็นนักปราชญ์และนักประวัติศาสตร์ประจำราชสำนัก

ในช่วงที่ชาติพันธุ์จีนอพยพเข้ามาครั้งแรกในศตวรรษที่ 19  พุทธศาสนาถูกผสมผสานเข้ากับความเชื่อแบบเต๋า  ทั้งสองศาสนาจึงถูกรวมกันด้วยผู้คนที่มีความศรัทธาเข้าด้วยกัน

ปัจจุบันนี้คำสอนของเล่าจื๊อยังคงมีอิทธิพลมหาศาล ไม่ว่าจะรู้จักกันในชื่อศาสนาเต๋า หรือปรัชญาเต๋า หรือลัทธิเต๋า ความรู้ที่นักปราชญ์ฝ่ายเต๋าได้ช่วยกันสะสมและถ่ายทอดสืบต่อกันมาหลายชั่วคน ก็ได้กลายมาเป็นขุมทรัพย์ทางปัญญาอันลุ่มลึกและหลากหลาย ที่โลกปัจจุบันกำลังพยายามศึกษาด้วยความทึ่งและนำมาใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวาง   

 

2. กลุ่มชาติพันธุ์มลายู

เมื่อศาสนาอิสลามจากตะวันออกกลางได้เผยแผ่เข้าสู่อินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  โดยเฉพาะอย่างยิ่งดินแดนในหมู่เกาะ  การเข้ามาของศาสนาอิสลามส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้คนแถบนี้  เพราะศาสนาอิสลามเป็นแบบเทวนิยม  นับถืออัลเลาะห์เพียงหนึ่งเดียว  ทำให้ผสมผสานกับศาสนาที่มีอยู่เดิมได้ยาก

สังคมชาวมลายูมีความผูกพันและเชื่อมโยงกันด้วยศาสนาอิสลาม  ซึ่งนอกจากเป็นหลักคำสอนทางศาสนาแล้ว  ยังถือเป็นแบบแผนในการดำเนินชีวิตและศูนย์รวมจิตใจในหมู่ชาวมุสลิมด้วยกัน  การอพยพเข้ามาของชาวมลายูส่วนใหญ่เพื่อแสวงหาโอกาสในการทำงานที่ดีขึ้น  นอกจากนั้นบางส่วนยังเดินทางเข้ามาในสิงคโปร์เพื่อลงเรือไปแสวงบุญที่นครเมกกะ  ในจำนวนนี้บางคนต้องอาศัยอยู่ในสิงคโปร์จนตลอดชีวิตเพื่อรวบรวมเงินทุนเป็นค่าเดินทางหรือทำงานใช้หนี้เมื่อเดินทางกลับมาจากแสวงบุญแล้วอีกด้วย

 

3. กลุ่มชาติพันธุ์อินเดีย

             3.1 ศาสนาอิสลาม

กลุ่มชาวอินเดียที่นับกลุ่มศาสนาอิสลาม  อพยพมาจากทางตอนใต้ของอินเดียในบริเวณชายฝั่งโคโรมันเดล (Coromandel)  คือ  ชาวตูลิกัน (Tulikans)  หรือชาวนานัก (Nanaks)  และชาวมามัก (Mamaks) และในบริเวณชายฝั่งมาลาบาร์ (Malabar) คือ  ชาวมลายฬี (Malayalees) หรือชาวคาคัก (Kakaks) ซึ่งรู้จักกันว่าโมปลาห์ (Moplah)

              3.2 ศาสนาฮินดู

ศาสนานี้ถูกเผยแพร่เข้ามาในช่วงศตวรรษที่ 19  เกิดการอพยพของคนอินเดียเข้ามาในดินแดนมลายู  ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาวอินเดียที่นับถือศาสนาฮินดูซึ่งอพยพมาจากบริเวณฮินดูสถานและเบงกอล

             3.3 ศาสนานิกายโซโรแอสเตอร์

ศาสนาโซโรอัสเตอร์  เป็นศาสนาในกลุ่มเซมิติก  เกิดขึ้นที่ประเทศอินเดีย หรือ เปอร์เซียยุคโบราณ  ก่อนที่อหร่านจะหันไปนับถือศาสนาอิสลาม  เคยเป็นศาสนาสำคัญของชาวเปอร์เซีย  ตั้งขึ้นเมื่อประมาณศตวรรษที่  ๗  ก่อนคริสตกาล

ศาสนาโซโรอัสเตอร์เกิดก่อนพุทธศักราชประมาณ ๔๐๐ – ๑,๐๐๐ ปี  มีโซโรอัสเตอร์เป็นศาสนา  มีคัมภีร์ อเวสตะ (Avesta) เป็นคัมภีร์ศาสนาเชื่อกันว่าศาสนาโซโรอัสเตอร์มีอิทธิพลต่อการพัฒนาการของศาสนายูดาย และการเกิดของศาสนาคริสต์

ศาสดาโซโรอัสเตอร์  เป็นชาวเปอร์เซีย  เผ่าอารยันนับถือประเพณีการบูชาพระอาทิตย์ด้วยการจุดไฟตลอดทั้งวันและคืน  โซโรอัสเตอร์ได้นำประเพณีการจุดไฟมาปฏิบัติเป็นพิธีกรรมในศาสนาที่ตนสั่งสอน  และไฟได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของศาสนาโซโรอัสเตอร์ไปด้วย 

 

4.กลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ

             4.1 ศาสนาคริสต์

เมื่อชาวตะวันตกนำศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกเข้ามาในช่วงที่ทำการค้า  ต่อมาหลังจากนั้นก็มีเปอร์เซ็นของผู้ที่นับถือศาสนานี้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ประเทศสิงคโปร์เป็นประเทศร่ำรวยมากประเทศหนึ่ง ในสังคมมีการจัดระเบียบ รัฐบาลสิงคโปร์เองก็มีชื่อเสียงในด้านการปกครองประเทศด้วยระบบเด็ดขาด คนสิงคโปร์จึงกลายเป็นคนที่ให้ความสนใจกับความสำเร็จของตัวเองมากที่สุด มุ่งมั่นกับการทำงาน

ในช่วงที่ผ่านมาได้มีศาสนาใหม่เกี่ยวกับพระเยซูเกิดขึ้นมาใหม่หลายกลุ่มเช่น City Harvest Church, Faith Community Baptist, Protestant Christianity ซึ่งสามารถดึงดูดสมาชิกใหม่ๆ ในภาษาอังกฤษศาสนาเหล่านี้ถูกเรียกว่าเป็น เมกะเชิร์ช (Mega church)

หากว่ามีการนัดพบหรือมีการเทศน์เกิดขึ้น  ก็จะเป็นปรากฏการณ์ใหม่น่าสนใจของสังคมสิงคโปร์  คนสิงคโปร์จึงเริ่มหาความมั่นคงทางด้านจิตใจ เพราะเวลาไปฟังเทศน์ คนเทศน์หรือบาทหลวงทั้งหลายนั้นมักจะเน้นถึงศักยภาพของแต่ละคนที่จะประสบความสำเร็จในชีวิตและการงานประเด็นที่ทำให้กลุ่มศาสนาชักจูงสิงคโปร์คือศาสนาใหม่เหล่านี้มีจุดประสงค์ในการสร้างความรู้สึกดีๆ ให้คนที่เข้ามาโดยเน้นเรื่องราวต่างๆ ที่สร้างความสุขให้คน ไม่เหมือนกับการเทศน์ในโบสถ์อนุรักษนิยมที่มักจะพูดถึงข้อห้ามต่างๆ ประเด็นที่ไม่ควรมองข้ามคือคนต่างชาติเข้ามาอาศัยอยู่ในสิงคโปร์หลายแสนคน ต่างต้องการที่พึ่งทางด้านจิตใจ  ต้องการความมั่นคงทางด้านจิตใจและจิตวิญญาณ (komchadluek, 2553)

บรรณานุกรม

    komchadluek. (27 กรกฎาคม 2553). สิงคโปร์กับศาสนาคริสต์ใหม่เฟื่องฟู. เข้าถึงได้จาก komchadluek website: https://goo.gl/ugRdsp

    วีณ์ วุฒิชัยและคณะ. (2556). หนังสือชุดเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(สิงคโปร์). กรุงเทพฯ: เพื่อนเรียน เด็กไทย.

    สำนักอาเซียน กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ. (7 March 2016). สาธารณรัฐสิงคโปร์ (Republic of Singapore). เข้าถึงได้จาก Department of Trade Negotiations: http://www.dtn.go.th/files/86/country/asia/singapore_cp_0315.pdf