สิงคโปร์ - พิพิธภัณฑ์



             สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีพิพิธภัณฑ์มากมาย  ด้วยระบบการบริหารจัดการที่ดีทำให้พิพิธภัณฑ์ของสิงคโปร์แตกต่างไปจากพิพิธภัณฑ์ในประเทศอื่นๆ  กล่าวคือ  พิพิธภัณฑ์ไม่ได้เป็นเพียงสถานที่ที่ใช้เก็บของเก่าๆ ตามที่ทุกคนเข้าใจกัน  แต่เป็นพิพิธภัณฑ์ที่ “มีชีวิต” ด้วยการอาศัยเทคโนโลยีที่ทันสมัยประกอบกับแนวคิดอันสร้างสรรค์  เพื่อนำเสนอเรื่องราวความเป็นไปที่น่าสนใจชวนให้น่าติดตาม

              พิพิธภัณฑสถานในประเทศสิงคโปร์มีอยู่ประมาณ 16 แห่ง เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเพียง 3 แห่ง  คือ  พิพิธภัณฑสถานประวัติศาสตร์สิงคโปร์ (National Museum of Singapore), พิพิธภัณฑสถานศิลปะสิงคโปร์ (Singapore Art Museum : SAM)  และพิพิธภัณฑสถานอารยธรรมเอเชีย (Asian Civilization Museum)  อยู่ภายใต้การควบคุมของคณะกรรมการมรดกแห่งชาติสิงคโปร์ (National Heritage Board)  รวมถึงหน่วยงานทางด้านศิลปวัฒนธรรมอื่นๆ เช่น  หอจดหมายเหตุแห่งชาติ  เป็นต้น

               พิพิธภัณฑสถานประวัติศาสตร์สิงคโปร์  เป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีความเก่าแก่มากที่สุดก็ว่าได้  พิพิธภัณฑ์นี้จัดแสดงประวัติความเป็นมาของสิงคโปร์ตั้งแต่ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 14 จนถึงปัจจุบัน  ข้อเด่นของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้คือการดูภาพยนตร์และ Slide show ด้วยระบบสามมิติ 3D effects ด้วยแว่นตา (จารุณี อินเฉิดฉาย, 2544, หน้า 49-51)

               พิพิธภัณฑสถานศิลปะสิงคโปร์  เป็นพิพิธภัณฑ์ที่นำเสนอความเคลื่อนไหวในวงการศิลปะร่วมสมัยจากทั่วโลก  นิทรรศการมีการหมุนเวียนและเคลื่อนที่ไปต่างประเทศอย่างน้อยปีละครั้ง  นอกเหนือจากนิทรรศการแล้วยังจัดให้มีการบรรยายหรือเสวนาโดยศิลปินและผู้เชี่ยวชาญทางด้านศิลปะรับเชิญจากต่างประเทศ (จารุณี อินเฉิดฉาย, 2544, หน้า 51)

               พิพิธภัณฑสถานอารยธรรมเอเชีย  ในระยะแรกได้รับความร่วมมือและสนับสนุนจากฝ่ายต่างๆ ซึ่งองค์กรที่สำคัญในการจัดตั้งและปัจจุบันเป็นผู้อุปถัมภ์หลักในเรื่องงบประมาณและจัดหาวัตถุแสดง คือ มูลนิธิชอว์ (Show Foundation)  พิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีความพิเศษอยู่ที่  การสรรหานิทรรศการพิเศษๆ จากทั่วทุกมุมโลกซึ่งไม่เคยจัดแสดงที่ใดมาก่อน  นำมาให้ชาวสิงคโปร์ได้ชื่นชม  นอกจากนี้ยังจัดแสดงเรื่องราวอารยธรรมเอเชีย (จารุณี อินเฉิดฉาย, 2544, หน้า 53)

               ในการบริการจัดการพิพิธภัณฑ์ในประเทศสิงคโปร์มีความพิเศษต่างจากที่อื่น  คือ  เป็นการร่วมมือของทั้งชุมชน  เอกชนและภาครัฐ  ที่ต่างมีส่วนร่วมในการเป็นส่วนหนึ่งเพื่อสร้างองค์ความรู้ให้กับสังคมหรือประเทศชาติ  ยกตัวอย่าง  ศูนย์มรดกวัฒนธรรมไชน่าทาวน์ (Chinatown Heritage Centre)  ได้มีคณะกรรมการการท่องเที่ยวสิงคโปร์ (The Singapore Tourism Board) ร่วมกับคณะกรรมการมรดกแห่งชาติ (National Heritage Board-NHB)  มีแนวคิดที่จะจัดตั้งศูนย์มรดกวัฒนธรรมไชน่าทาวน์ขึ้น  โดยการซื้อตึกแถวสามคูหาบนถนนพาโกดา  เพื่อเป็นสถานที่เก็บรักษาความทรงจำและเรื่องราวต่างๆ ของชาวจีนที่เข้ามาตั้งรกรากในสิงคโปร์  แม้ทรัพย์สินคือตึกจะเป็นทรัพย์สินของหน่อยงานรัฐ  แต่ได้มีการตัดสินใจให้บริษัทเอกชนที่มีความเชี่ยวชาญด้านการท่องเที่ยวเข้ามารับสัมปทานบริหารจัดการ  เพื่อความคล่องตัวและเพื่อสร้างผลประโยชน์สูงสุด  โดยแนวปฏิบัติที่มุ่งหมายให้พิพิธภัณฑ์ชุมชนสามารถเลี้ยงตัวเองได้  ด้วยการให้สัมปทานแก่บริษัทเอกชนซึ่งมีความเชี่ยวชาญมาบริหารเพื่อสร้างรายได้ให้พิพิธภัณฑ์นั้น  ซึ่งเป็นสิ่งที่แตกต่างและใหม่สำหรับพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย  แต่สำหรับสิงคโปร์แล้วถือเป็นเรื่องปกติ (ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ, 2553, หน้า 24-27)  อีกตัวอย่างหนึ่งเห็นได้จากพิพิธภัณฑสถานแสตมป์ (Singapore Philatelic Museum)  เดิมนั้นเป็นพิพิธภัณฑสถานเอกชน  แต่ปัจจุบันเป็นของหน่วยงานรัฐดูแลโดยคณะกรรมการมรดกแห่งชาติ

                นอกจากนี้แล้วเราสามารถพบเห็นพิพิธภัณฑ์ที่เกี่ยวกับชาติพันธุ์ที่มีความหลากหลายในสิงคโปร์ได้มากมาย  เช่น  Peranakan Museum,  Malay Heritage Centre,  Teochew Cultural Centre  เป็นต้น

บรรณานุกรม

    จารุณี อินเฉิดฉาย. (2544, ม.ค. - ก.พ.). พิพิธภัณฑสถานในสิงคโปร์. ศิลปากร, 44(1), 42-59.

    ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ. (2553). พิพิธภัณฑ์สิงคโปร์. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).