สิงคโปร์ - ประวัติศาสตร์



            แต่เดิมประเทศสิงคโปร์เริ่มจากการเป็นเพียงเกาะเล็กๆ ทางคาบสมุทรมลายูและมีจำนวนประชากรเพียงน้อยนิด  จนกระทั่งพัฒนากลายมาเป็นเมืองท่าที่ประกอบไปด้วยผู้คนที่อพยพมาจากทั่วทุกสารทิศและหลากหลายชาติพันธุ์  โดยใช้มิติทางประวัติศาสตร์ในการอธิบายถึงการเข้ามาและการเปลี่ยนแปลงของผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์  ดังนี้

 

การเข้ามามีอิทธิพลของอังกฤษ                     

           อังกฤษเริ่มเข้ามาแผ่อิทธิพลครอบครองดินแดนในแถบแหลมมลายูเรื่อยๆ  จากความพยายามแผ่ขยายอิทธิพลของอังกฤษจากแหลมมลายูตอนบนที่อังกฤษเข้ามาสร้างอิทธิพลขึ้นตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 18 แล้วลงมาจรดแหลมมลายูตอนล่างนี้  แต่ติดที่ชาวดัสช์ยังคงมีอำนาจยึดครองมะละกาอยู่จนเมื่ออังกฤษสามารถทำข้อตกลงกับชาวดัตช์คือแบ่งเขตอิทธิพลของแต่ละฝ่ายได้ลงตัวแล้ว  ก็เปิดโอกาสให้อังกฤษสามารถแผ่อิทธิพลลงมาได้โดยอิสระในปี ค.ศ.1818 รัฐบาลอังกฤษส่ง สแตมฟอร์ด แรฟเฟิลส์ (Stamford Raffles)  เข้ามาเป็นข้าหลวงอยู่ที่เมือง เบนคูเลน (Bencoolen)  ซึ่งในปัจจุบันคือเมืองเบงกูลู (Baengkulu) เมืองท่าชายฝั่งทะเลด้านทิศตะวันตกของเกาะสุมาตราที่เป็นอาณานิคมของอังกฤษในเวลานั้น  โดยมอบภารกิจให้ Raffles เข้ามาหาที่ตั้งสถานีการค้าแห่งใหม่นอกจากที่เกาะปีนัง (Penang) ซึ่งอังกฤษก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ.1790 เพื่อจะเป็นผู้ครองครองอาณาจักรผลประโยชน์ในภูมิภาคนี้เหนือชาวดัตช์ให้ได้  โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเชื่อมต่อเส้นทางการค้าระหว่างจีนกับอินเดียที่อังกฤษมีผลประโยชน์อย่างสูงยิ่งในช่วงเวลานั้น  แต่ชาวดัตช์กลับเป็นผู้ที่ควบคุมพื้นที่บริเวณนั้นจากการเข้ายึดครองเกาะชวาและที่แห่งอื่นทั่วอาณาบริเวณนั้น  Rafflesสำรวจพบที่แห่งหนึ่งที่มีทำเลเหมาะแก่การใช้เป็นเมืองท่าแห่งใหม่ของอังกฤษตามความเป็นของเขา  ก็คือเกาะเทมาเสกหรือสิงหปุระที่ชาวตะวันตกเรียกเพี้ยนเสียงไปว่า “สิงคโปร์” จนเป็นชื่อสากลที่ใช้เรียกชื่อเกาะนี้มาตั้งแต่นั้น (ดวงธิดา ราเมศวร์, 2555, หน้า 188-190)

            คณะสำรวจของ Raffles เข้ามาในช่วงที่สิงคโปร์มีปัญหาภายในราชสำนัก  โดย Rafflesใช้เล่ห์เหลี่ยมสนับสนุนสุลต่านฮุสเซ็น  และช่วยกีดกันอำนาจของ อับดูร์ เราะมาน แลกกับการตั้งสถานีการค้าในสิงคโปร์  และใช้เวลาเพียง 8 เดือนในช่วงปี ค.ศ. 1822-1823 คอยกีดกันหัวหน้าชาวมลายูออกไปจากงานของชุมชนอย่างนุ่มนวลรวมทั้งหาทางเปลี่ยนเอาอำนาจตุลาการ  การอ้างสิทธิ์เรื่องรายได้  และสิทธิเหนือที่ดินมาเป็นของอังกฤษ  ต่อมาจอห์น  ครอว์เฟิร์ด (John Crawfurd) ชาวอังกฤษ  ผู้ดูแลผลประโยชน์ของสิงคโปร์ตั้งแต่ปี ค.ศ.1823-1826 บังคับให้ชนชั้นหัวหน้าในสิงคโปร์ลงนามในสนธิสัญญามิตรภาพและความเป็นมิตรในปี ค.ศ.1824 ซึ่งเป็นสนธิสัญญาที่ตกลงว่าจะเพิ่มเงินสดและบำนาญให้แก่ชนชั้นหัวหน้าในสิงคโปร์  แลกกับการที่พวกเขายอมยกเกาะสิงคโปร์รวมทั้งเกาะนอกฝั่งให้แก่บริษัทอินเดียตะวันออกและผู้สืบทอด (วิทย์ บัณฑิตกุล, 2555, หน้า 18-19) 

            ภายใต้การปกครองของ Raffles  เขาได้วางรากฐานความเจริญให้แก่สิงคโปร์  โดยเลือกพ่อค้าชาวอังกฤษคนสำคัญ 12 คนมาเป็นคนตัดสินคดีความ  ร่างประมวลกฎหมายชั่วคราวตามแบบกฎหมายอังกฤษ  แต่มีกฎพิเศษที่เกี่ยวข้องกับประเพณีของชาวพื้นเมือง  เช่น  ศาสนา  การแต่งงานและการสืบมรดก  ร่างกฎหมายการเป็นเจ้าของที่ดิน  การท่าเรือ  กฎหมายห้ามการค้าทาส  จัดตั้งกำลังตำรวจ  กำจัดแหล่งพนันและบ่อนไก่ชน  ตั้งสถานบันสอนภาษาจีน  และภาษาพื้นเมือง  นอกจากนี้ Raffles ยังสนใจการพัฒนาและการวางผังเมืองใหม่อีกด้วย (วิทย์ บัณฑิตกุล, 2555, หน้า 19)

 

นโยบายการปกครองของอังกฤษ

             จากลักษณะของสังคมที่มีความแตกต่างกันทางเชื้อชาติ  ซึ่งแบ่งได้เป็นสามกลุ่มใหญ่ๆ คือ  ชาวมลายู  ชาวจีนและชาวอินเดีย  ซึ่งสองกลุ่มหลังรวมเรียกว่า “ผู้ที่ไม่ใช่ชาวมลายู” (Non-Malays)  โดยต่างกลุ่มต่างมีวิถีชีวิตความเป็นอยู่  ภาษา ศาสนา  และวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน  จากความแตกต่างทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างเชื้อชาติ  ซึ่งเป็นผลมาจากการใช้นโยบายในการปกครองของอังกฤษ

             นโยบายของอังกฤษที่ใช้ในการปกครองของสิงคโปร์มีอยู่ด้วยกันสองประการ  คือ  นโยบายการแบ่งอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจตามเชื้อชาติและนโยบายแบ่งแยกการศึกษาตามเชื้อชาติ

1. นโยบายการแบ่งอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจตามเชื้อชาติ

             ตั้งแต่อังกฤษเข้ามามีอำนาจในคาบสมุทรมลายูทั้งทางด้านเศรษฐกิจและการเมือง  ชาวต่างชาติเป็นกลุ่มที่มีบทบาทางเศรษฐกิจเป็นกรรมกรและเป็นผู้ลงทุน  ส่วนชาวมลายูนั้นเป็นเจ้าของที่ดินและเป็นเกษตรกร  ขณะเดียวกันอังกฤษได้ให้สิทธิชาวมลายูเข้ารับราชการและยอมให้สุลต่านปกครองประชาชนในรัฐของตน  ด้วยเหตุนี้ทำให้เกิดการแบ่งแยกอำนาจหน้าที่ทางเศรษฐกิจและสังคมตามเชื้อชาติ  คือ  ชาวจีนและชาวอินเดียจะมีอำนาจทางเศรษฐกิจ  ส่วนมลายูจะมีอำนาจทางการเมืองและอยู่ในฐานะเจ้าของแผ่นดิน “ภูมิบุตร” (พัชรินทร์ สวนฐิตะปัญญา, 2541, หน้า 17-19)

              ความแตกต่างกันทางเศรษฐกิจเป็นปัญหาที่ทำให้เกิดการไม่ยอมรับซึ่งกันและกันระหว่างชาวมลายูและผู้ที่ไม่ใช่ชาวมลายู  ทั้งนี้ชาวจีนและชาวอินเดียมีวิถีชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในระบบเศรษฐกิจเพื่อการส่งออก  โดยเฉพาะชาวจีนเป็นกลุ่มที่มีความสามารถในการรวมพลังทางเศรษฐกิจด้วยการก่อตั้งสมาคมหรือหอการค้าขึ้นตามอาชีพ  และมีการติดต่อของสมาคมระหว่างรัฐต่างๆ ชาวจีนเป็นกลุ่มมั่งคั่งและแสวงหาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจแบบใหม่ได้ดี  ส่วนชาวมลายูจะมีบทบาททางการเมืองในฐานะเจ้าของแผ่นดิน  และต่างฝ่ายต่างรักษาอำนาจและสิทธิของตนอย่างเหนียวแน่น

              ด้วยแนวคิดของ Raffles ที่ต้องการให้สิงคโปร์เป็นเมืองท่าปลอดภาษีได้ดึงดูดพ่อค้าต่างชาติ  และผู้คนจำนวนมากหลั่งไหลเข้ามาเมืองท่าแห่งนี้กันอย่างมากมายหลากหลายเผ่าพันธุ์  จึงมีการเกรงว่าสิงคโปร์จะเติบโตอย่างไร้ทิศทางและอาจก่อให้เกิดปัญหาการกระทบกระทั่งกันจนลุกลามเป็นจลาจลได้  ในปี ค.ศ. 1822 Raffles จึงวางแผนจัดการผังเมืองของเกาะนี้โดยมีการตั้งคณะกรรมการเมือง (Town Commitee)  และมีบุคคลสำคัญที่ร่างพิมพ์เขียวผังเมืองสิงคโปร์ คือ  นาวาโทฟิลิป แจ็คสัน (Lieutenant Philip Jackson) ผู้ร่างผังเมืองที่เรียกว่า ผังเมืองแจ็คสัน (The Jackson Plan) มีลักษณะโดยสรุปคือ  การแบ่งพื้นที่ใช้สอยและตามกลุ่มชาติพันธุ์ (ethnic kampongs)  โดยมีแม่น้ำสิงคโปร์เป็นหลักในการแบ่ง (อภิวันท์ อดุลยพิเชฏฐ์, 2556, หน้า 43) คือ

  • ทางใต้ของแม่น้ำสิงคโปร์เป็นเขตไชน่าทาวน์ (China Town)
  • ทางฝั่งเหนือของแม่น้ำสิงคโปร์เป็นเขตที่ทำการรัฐจัตุรัสการค้า (Commercial Square) และย่านชุมชนชาวยุโรป
  • ถัดขึ้นไปทางตะวันตกเฉียงใต้ของคลองโรชอร์เป็นย่านชาวมลายู
  • และอาหรับโดยมีวังสุลต่าน (Istana Kampong Glam) และมัสยิดเป็นสถานที่สำคัญของชุมชน
  • เหนือขึ้นไปข้ามคลองโรชอร์จะเป็นเขตชุมชนชาวอินเดียที่เรียกว่า ลิตเติ้ลอินเดีย (Little India) (อภิวันท์ อดุลยพิเชฏฐ์, 2556, หน้า 120)

           การกำหนดเขตย่านที่อยู่อาศัยแยกตามเชื้อชาติต่างๆ ทำให้สภาพสังคมสิงคโปร์ในสมัยอาณานิคมมีลักษณะแบ่งแยกเชื้อชาติ  ซึ่งแต่ละเชื้อชาติต่างมีวิถีชีวิตและชุมชนของตนเอง

             ย่านชาวจีน  การกำหนดเขตที่อยู่อาศัยของกลุ่มชนเชื้อชาติจีนได้คำนึงถึงคุณลักษณะเฉพาะทางเชื้อชาติจีนเป็นสำคัญ  คือ  ความอุตสาหะหมั่นเพียรและความหลากหลายทางถิ่นกำเนิด  ดังในบันทึกของ Raffles ถึงคณะกรรมการเมืองได้กล่าวไว้ว่า

            “เนื่องจากจำนวนชาวจีนที่มีมากขึ้น  และสิงคโปร์ยังเป็นสถานที่ดึงดูดกลุ่มชนเชื้อชาติที่มีความอุตสาหะหมั่นเพียรนี้ให้เข้ามาตั้งถิ่นฐานมากยิ่งขึ้น  ซึ่งอาจทำให้กลุ่มชาวจีนเป็นกลุ่มที่มีจำนวนมากที่สุด  ดังนั้นพื้นที่ทั้งหมดในบริเวณตะวันตกเฉียงใต้ของแม่น้ำสิงคโปร์จึงเหมาะสำหรับที่อยู่อาศัยของชาวจีน”

            “ในการกำหนดย่านที่อยู่อาศัยของชาวจีนอย่างเหมาะสม  เราควรให้ความสนใจในคุณลักษณะเฉพาะของกลุ่มชาวจีน  นั่นคือ  ชาวจีนที่มาจากจังหวัดต่างกันมักจะมีปัญหาทะเลาะเบาะแว้งกัน”

             คณะกรรมการเมืองจึงได้กำหนดย่านที่อยู่อาศัยของชาวจีนไว้บริเวณทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของแม่น้ำสิงคโปร์  ซึ่งอยู่ใกล้เคียงบริเวณจัตุรัสการค้า (Commercial Square) และให้ตัดถนนสายต่างๆ ไว้เพื่อเป็นแนวที่ตั้งให้แก่ร้านค้าและบ้านเรือนของกลุ่มชาวจีนภาษาถิ่นต่างๆ  ต่อมาพื้นที่บริเวณนี้ได้เรียกว่าย่านชาวจีน หรือ “ไชน่าทาวน์” ซึ่งเต็มไปด้วยร้านค้าต่างๆ (Shophouses) ที่มีลักษณะเป็นตึกแถว

            นอกจากนั้นชาวจีนบางส่วนยังได้เข้าไปตั้งหมู่บ้านทางตอนในของเกาะสิงคโปร์เพื่อทำไร่พริกไทยและสีเสียด  ซึ่งปลูกกันมากในช่วงทศวรรษที่ 1830-1870 ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้เกิดหมู่บ้านชาวจีนขึ้นหลายหมู่บ้าน

            ย่านชาวมาเลย์  แต่เดิมชาวมาเลย์ตั้งบ้านเรือนอยู่รอบบริเวณบ้านพักของเตเม็งกง  กระจายออกไปตามริมฝั่งแม่น้ำสิงคโปร์  ต่อมาเมื่อ Raffles จัดทำร่างผังเมืองขึ้นจึงได้ย้ายหมู่บ้านชาวมาเลย์หรือเรียกว่า “กัมปงมาเลย์” (Kampong Malay) ออกไปจากบริจาคริมฝั่งแม่น้ำสิงคโปร์และให้ไปตั้งหมู่บ้านทางตอนบนของแม่น้ำสิงคโปร์  ส่วนชาวมาเลย์ที่ประกอบอาชีพประมงให้ย้ายออกไปตั้งหมู่บ้านชาวประมงในบริเวณอ่าวเล็กๆ และตามแนวช่องแคบต่างๆ รอบเกาะสิงคโปร์  จึงทำให้กัมปงมาเลย์ได้กระจายตัวออกไปรอบเกาะสิงคโปร์จรดช่องแคบยะโฮร์

            ชาวมาเลย์ยังได้ตั้งหมู่บ้านในบริเวณที่เรียกว่า “กัมปงลาม” (Kampong Glam) อันเป็นเขตวังสุลต่าน  มัสยิด  และย่านที่อยู่อาศัยของชาวอาหรับ  ซึ่งตั้งอยู่ทิศเหนือของย่านชาวยุโรป

            โดยทั่วไปลักษณะบ้านเรือนในกัมปงมาเลย์เป็นแบบมาเลย์ดั้งเดิม  คือ  บ้านยกสูงฝาเรือนทำด้วยไม้และหลังคามุงจากหญ้าคา  ซึ่งเรียกว่า  “บ้านไม้มุงด้วยหญ้า” (Plank and Atap House)

            นอกจากนั้นในช่วงการจัดทำผังเมืองนี้ยังมีชาวมาเลย์อีกกลุ่มหนึ่ง คือ ชาวบูกิสที่มาจากเกาะเซลีเบส  ทำให้ต้องกำหนดเขตย่านชาวบูกิส  หรือเรียกว่า “กัมปงบูกิส” (Kampong Bugis) โดยให้ตั้งอยู่ทางตอนบนถัดจากกัมปงกลามขึ้นไป

             ย่านชาวอินเดีย  ในร่างผังเมืองได้กำหนดเขตที่อยู่อาศัยของชาวชูเลยไว้เท่านั้น  มีสาเหตุมาจากระบบวรรณะเป็นสำคัญ  โดยชาวชูเลียส่วนหนึ่งได้อ้อนวอนให้คณะกรรมการเมืองออกคำสั่งห้ามชาวชูเลียที่มีวรรณะต่ำอาศัยอยู่บนระเบียงและตั้งบ้านเรือนทางตอนเหนือของเมือง  ด้วยเหตุนี้คณะกรรมการเมืองจึงได้กำหนดเขตที่อยู่อาศัยของชาวชูเลียวรรณะต่ำให้แยกออกไปจากกลุ่มชาวอินเดียอื่นๆ  โดยให้ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของแม่น้ำสิงคโปร์

            สำหรับชาวอินเดียอื่นๆ ตั้งถิ่นฐานสอดคล้องตามแบบแผนการประกอบอาชีพ ดังนี้

            แหล่งที่ 1 คือ  ย่านการค้าและธุรกิจ  ตั้งอยู่ใกล้กับจัตุรัสการค้าและไชน่าทาวน์  ซึ่งเป็นเขตที่อยู่อาศัยของพ่อค้าต่างๆ นายทุนกู้เงินหรือ “เชตยาร์”  นายธนาคาร  และทนายความ

            แหล่งที่ 2 คือ  บริเวณอู่ต่อเรือและสถานีรถไฟต่างๆ อันเป็นแหล่งที่พักอาศัยของบรรดาแรงงานชาวอินเดียทั้งหลายที่ทำงานในท่าเรือ  อู่ต่อเรือ  และการก่อสร้างทางรถไฟ

            แหล่งที่ 3 คือ  บริเวณถนนเซอรังกูน (Serangoon) ใกล้กับสนามแข่งม้า  ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนในของเกาะสิงคโปร์  โดยชาวอินเดียที่ตั้งถิ่นฐานในเขตนี้ส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพทางด้านปศุสัตว์  เช่น  การเลี้ยงวัว  ควาย  และม้า  การขายเนื้อวัว  และขายนมสด  เป็นต้น  จนถึงปี ค.ศ.1936  รัฐบาลได้ออกเทศบัญญัติเกี่ยวกับงานปศุสัตว์  ซึ่งห้ามเลี้ยงสัตว์ต่างๆ ในบริเวณนี้อีกต่อไป  จึงทำให้เขตนี้เป็นแหล่งที่ตั้งบ้านเรือนและอาคารธุรกิจต่างๆ  เช่น  หมากและพลู  เครื่องเทศ  เครื่องประดับ  ผ้าแพร  พวงมาลัย  และอาหารพื้นเมืองของอินเดียเป็นต้น

            นอกจากนั้น  ชาวอินเดียบางส่วนยังได้ตั้งถิ่นฐานกระจายออกไปตามแหล่งที่ตั้งของโรงงานอุตสาหกรรมและกองทัพอังกฤษ  ตลอดจนชาวมุสลิมเชื้อสายอินเดียยังได้ตั้งบ้านเรือนอยู่ในกัมปงกลามถิ่นที่อยู่ของชาวมลายูอีกด้วย

            ย่านชาวยุโรป  Rafflesได้กำหนดย่านที่อยู่อาศัยของชาวยุโรปขึ้นเป็นเขตแรก  ซึ่งถือเป็นทำเลที่ดีที่สุดในสิงคโปร์และสะดวกสบายสำหรับการพักอาศัย  เนื่องจากตั้งอยู่ใกล้ศูนย์กลางของเมือง  โดยขยายออกไปตามถนนเลียบชายหาดด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของแม่น้ำสิงคโปร์เข้าไปถึงเนินเขาโดยรอบ  ภายในบริเวณนี้ประกอบไปด้วยอาคารที่ทำการของทางการ  ร้านค้าและโกดังเก็บสินค้าของบรรดาพ่อค้าและนักธุรกิจชาวยุโรป  รวมทั้งบ้านพักอาศัยของชาวยุโรป

             นอกจากนั้นชาวยุโรปยังนิยมเข้าไปตั้งถิ่นฐานในบริเวณเนินเขาทางตอนในของเกาะสิงคโปร์  เพื่อเป็นแหล่งที่พักอาศัยแถบชานเมืองอันเป็นที่ชื่นชอบในหมู่ชาวยุโรป  เช่น  “หมู่บ้านฮอลแลนด์” (Holland Village)  ในบริเวณถนนฮอลแลนด์  โดยชาวยุโรปได้เริ่มเข้ามาตั้งบ้านเรือนหนาแน่นมากในช่วงทศวรรษที่ 1850 และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อปี ค.ศ.1923 บริเวณนี้ได้เป็นหนึ่งในที่ตั้งของกองทัพอังกฤษ  ทำให้ชาวยุโรปได้เข้ามาอาศัยอยู่บริเวณนี้มากยิ่งขึ้น  จนกระทั่งได้กลายเป็นภาพลักษณ์ของศูนย์ชาวยุโรป (European Centre) หรือหมู่บ้านชาวตะวันตก (Western Village) ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

              ย่านชาวยูเรเชียนและบาบ๋า  ผู้ปกครองชาวอังกฤษไม่ได้กำหนดเขตที่อยู่อาศัยให้แก่ชาวยูเรเชียนและบาบ๋า  ในระยะแรกพวกนี้ยังไม่มีย่านที่อยู่อาศัยเฉพาะของตนเอง  หากแต่ได้ตั้งโรงงานอุตสาหกรรมและไร่เกษตรกรรมต่างๆ ขึ้นรอบเมือง  จนกระทั่งในศตวรรษที่ 1930 เมื่อชาวยูเรเชียนได้ก่อตั้งโบสถ์ (Holy Family Church) และโรงเรียนเซนต์แพรทริก (St.Patrick’s School) ในบริเวณกาตง (Katong) ซึ่งตั้งอยู่ทางชายฝั่งทะเลด้านทิศตะวันออก  ทำให้ชาวยูเรเชียนได้เริ่มเข้ามาตั้งถิ่นฐานในบริเวณนี้เพิ่มมากขึ้นและกลายเป็นย่านที่อยู่อาศัยของชาวยูเรเชียน  รวมถึงชาวจีนที่มีฐานะร่ำรวยและชาวบาบ๋าก็ได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานในบริเวณนี้จำนวนมากเช่นกัน  จนทำให้ย่านกาตงได้กลายเป็นเขตที่อยู่อาศัยของกลุ่มชนชั้นสูง  ซึ่งประกอบไปด้วยบ้านเรือนขนาดใหญ่  และตึกแถวร้านค้าที่มีลักษณะทางวัฒนธรรมผสมผสานกันระหว่างโปรตุเกสกับจีน  อันเป็นรูปแบบเฉพาะของศิลปะแบบบาบ๋า

             ย่านกาตง  จึงถือเป็นเขตวัฒนธรรมเฉพาะของชาวยูเรเชียนและบาบ๋า  ซึ่งได้ทิ้งร่องรอยทางวัฒนธรรมจากสองกลุ่มเชื้อชาตินี้ไว้ในรูปแบบของวิธีชีวิตที่ผสมผสานระหว่างความเป็นตะวันตกและตะวันออก  ได้แก่  ลักษณะอาคารบ้านเรือน  โรงเรียนฝรั่งและร้านอาหารบาบ๋า

            ภายในย่านที่อยู่อาศัยของกลุ่มชนเชื้อชาติต่างๆ  ล้วนมีศาสนสถาน  โรงเรียน  และสุสานของตนเอง  อีกทั้งยังเป็นแหล่งรวมสินค้าพื้นเมือง  อาหารประจำชาติ  และการจัดงานรื่นเริงตามประเพณีเฉพาะท้องถิ่นอีกด้วย (กนิษฐา จานเขื่อง, 2546)

           ใน ค.ศ.1826 รัฐบาลอังกฤษได้จัดระบบการปกครองดินแดนที่อยู่ใต้การปกครองในเขตคาบสมุทรมลายูนี้ด้วยการวมปีนัง  มะละกาและสิงคโปร์  เป็นเขตการปกครองที่เรียกว่า สเตรทส์เซ็ทเทิลเมสท์ (Straits Settlement)  ระยะแรกศูนย์กลางการปกครองของ Straits Settlement อยู่ใต้การควบคุมของเจ้าหน้าที่อังกฤษในอินเดีย  จนกระทั่งค.ศ.1857 ได้โอนไปอยู่กับสำนักงานอาณานิคม (The Colonial Office) เมืองหลวงของ Straits Settlement ในระยะแรกคือ ปีนัง  ต่อมา ค.ศ.1832 สิงคโปร์ได้เป็นเมืองหลวงของ Straits Settlement

           ในปี ค.ศ.1867 อังกฤษก็จัดให้สิงคโปร์เข้ามาอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ สำนักงานอาณานิคม (The Colonial Office)  ทำให้สิงคโปร์อยู่ในฐานะอาณานิคม (Crown Colony)  ซึ่งรัฐบาลอังกฤษเป็นผู้เข้ามารับผิดชอบโดยตรงเช่นเดียวกับรัฐต่างๆ บนแหลมมลายูที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของอังกฤษ  จึงเท่ากับสิงคโปร์เป็นอาณานิคมของอังกฤษโดยสมบูรณ์

            การย้ายเมืองหลวงของ Straits Settlement ให้มาเป็นสิงคโปร์  แสดงถึงความสำคัญของเกาะนี้  โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเป็นศูนย์กลางการค้าปลอดภาษีในภูมิภาคที่กำลังเติบโตอย่างไม่หยุดยั้ง  มีผู้คนเดินทางเข้ามาจำนวนมากในแต่ละปีทั้งมาค้าขาย  ขายแรงงาน  เกิดบริษัทจำนวนมากที่รองรับระบบเศรษฐกิจการค้าของเกาะนี้  สินค้าหลากหลายชนิดผ่านการค้าของเกาะนี้  เหล่านี้แสดงถึงการเป็นศูนย์กลางการค้าของสิงคโปร์อย่างแท้จริง  สมกับที่ได้รับการตั้งให้เป็นเมืองหลวงของ Straits Settlement  (อภิวันท์ อดุลยพิเชฏฐ์, 2556, หน้า 46-47)

 

           2. นโยบายแบ่งแยกการศึกษา

          การจัดการสร้างสิงคโปร์ของอังกฤษไม่เพียงจะเห็นได้จากลักษณะทางกายภาพของเมืองเท่านั้น  แต่ยังมีการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้คนในดินแดนอาณานิคมด้วยการจัดระบบการศึกษา 

          การศึกษาที่ดำเนินตามแนวทางของยุโรปมีลักษณะสำคัญอย่างหนึ่งคือ  การเรียนด้วยภาษาอังกฤษ  ตามความความหวังของ Raffles ก่อนที่เขาจะเสียชีวิต  เขาต้องการให้นักเรียนของเขาคือชนชั้นนำที่มีความสามารถใช้ได้สองภาษา  คือ  ภาอังกฤษกับภาษาที่ประจำเชื้อชาติเดิมของนักเรียนแต่ละคน  จึงมีการตั้งสถาบันสิงคโปร์ ในปีค.ศ. 1823 ตั้ง “Raffle Institution” ขึ้น 

          ในระยะแรกการศึกษาของอังกฤษที่ได้รับการยอมรับ  คือ  การปฏิบัติงานของโรงเรียนของพวกมิชชันนารี  ผู้คนได้ให้ความศรัทธาและความเชื่อถือ  โรงเรียนของมิชชันนารีมีหลากหลายรูปแบบ  คือ  บางแห่งเป็นโรงเรียนพื้นเมืองที่สอนภาษาทมิฬหรือภาษาถิ่นของจีนอันใดอันหนึ่ง  บ้างก็เป็นโรงเรียนที่สอนสองภาษาแล้วก็มีการรวมภาษาอังกฤษเข้าไปอีกภาษาหนึ่ง  ส่วนโรงเรียนที่มีขนาดใหญ่กว่าก็จะใช้หลายภาษาเป็นสื่อการเรียนการสอน  โดยทั่วไปแล้วก็จะมีภาษาอังกฤษและภาษามลายู  แล้วก็จะมีอีกสองถึงสามแหล่งที่สอนแต่เฉพาะภาษาอังกฤษเท่านั้น  โรงเรียนอีกประเภทที่มีลักษณะที่พิเศษคือโรงเรียนเปิด  หมายถึง  เปิดโอกาสให้การศึกษาสำหรับทุกชาติพันธุ์และทุกศาสนา  มีการก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ.1834 ผู้ก่อตั้งก็คือนักบวชคริสเตียน (สาวิตรี ตลับแป้น, 2545, หน้า 78-79)

         โดยนักเรียนรุ่นแรกๆ ของโรงเรียนภาษาอังกฤษมิชชันนารีและโรงเรียนของสถาบัน Raffles จึงเป็นกลุ่มที่เป็นกลุ่มใหม่ทางสังคม  นั่นคือกลุ่มชนชั้นนำที่เรียนภาษาอังกฤษ  แต่กลุ่มชนชั้นนำเหล่านี้ก็ได้รับการดูถูกดูแคลนจากพลเมืองฝ่ายอาณานิคมเช่นกัน  ทำนองว่าคนกลุ่มนี้แม้จะได้เรียนภาษาอังกฤษและมีโอกาสในการทำงาน  แต่สิ่งที่คนกลุ่มนี้ทำได้ก็ไม่ได้น่าภาคภูมิใจแต่อย่างใด

          ในขณะที่เกาะสิงคโปร์ได้เริ่มมีการจัดระบบสังคมที่มีความชัดเจน  ด้วยการวางพื้นฐานที่เน้นไปทางการศึกษาของRaffles  ภาษาอังกฤษได้มาพร้อมกับการแบ่งชนชั้น  ชนชั้นปกครองคือชาวตะวันตกที่ใช้ภาษาอังกฤษ  นอกจากนั้นไม่ว่าจะเป็นชาวจีน  มลายูหรือชาวอินเดียก็คือชาวพื้นเมือง  ความหลากหลายทางชาติพันธุ์ของสิงคโปร์  ชาวจีนเป็นผู้อพยพกลุ่มใหญ่และต่อมาได้มีบทบาทวนการจัดการศึกษาแบบจีน  ในช่วงหลังการปฏิวัติในจีน ค.ศ.1911  เรื่องการศึกษาได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจีน  เมื่อเป็นเช่นนี้ทำให้อังกฤษที่มีอิทธิพลอยู่ก่อนรู้สึกไม่วางใจ

          กลุ่มคนที่หลั่งไหลเข้ามายังคาบสมุทรมลายู  ชาวจีนที่อพยพเข้ามาต่างมีความหลากหลาย  เช่น  ฮกเกี้ยน  กวางตุ้ง  แต่จิ๋ว  กวางสี  ชาวจีนเหล่านี้พูดภาษาท้องถิ่น (dialect) และอยู่รวมกันภายในกลุ่มภาษาท้องถิ่นเดียวกันเป็นส่วนใหญ่  ในระยะแรกชาวจีนที่รู้จักกันนาม “บาบ๋า” (baba)  เป็นลุ่มชาวจีนที่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสังคมพื้นเมืองได้  โดยพูดภาษามลายูและแต่งกายแบบชาวพื้นเมือง  การที่พวกบาบ๋าพยายามปรับตัวให้เข้ากับสังคมชาวพื้นเมืองเป็นผลมาจากความต้องการทางเศรษฐกิจ  ประกอบกับการอพยพของชาวจีนระยะแรกๆ ส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย  จังมีการแต่งงานกับผู้หญิงชาวพื้นเมือง  ทำให้เกิดการผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรมตามผู้ที่อาศัยอยู่ก่อน

          การเติบโตทางการศึกษาของชาวจีนในเวลาต่อมาเป็นสิ่งที่น่าจับตามอง  เพราะไปเกี่ยวข้องกับความยุ่งเหยิงทางการเมืองของประเทศจีน  หลังการปฏิวัติในจีน ค.ศ. 1911  คุณภาพการศึกษาของจีนในสิงคโปร์เชื่อมโยงกับรัฐบาลจีนและได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจีน  ทำให้มีคุณภาพในการศึกษาสูงขึ้น  มีการสอบที่มีมาตรฐานและมีการเข้ามาตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอจากรัฐบาลจีน  สิ่งที่สำคัญมากคือการขยายการเรียนที่เรียกว่า “เกายู”  (คือ แมนดารินหรือจีนกลาง)ในฐานะที่เป็นภาษาประจำชาติ  ตรงนี้เองที่รัฐบาลอังกฤษเริ่มที่จะเห็นว่าต้องมีการลงมาควบคุม (สาวิตรี ตลับแป้น, 2545, หน้า 81-82)

           ความแตกต่างกันของโรงเรียนที่มีอยู่ในคาบสมุทรมลายูทำให้ไม่มีการรับรู้วัฒนธรรมของคนเชื้อชาติต่างกัน  และไม่เอื้อต่อการประสานกลมกลืนทางวัฒนธรรม  เพราะแต่ละเชื้อชาติต่างก็เรียนรู้เรื่องราวของตนและพยายามที่จะรักษาวัฒนธรรมของสังคมตนไว้  แม้ว่าจะมีโดรงเรียนอังกฤษที่ทุกเชื้อชาติสามารถเข้าเรียนได้  แต่ในโรงเรียนอังกฤษก็ไม่ได้สนใจจะให้มีการผสมผสานระหว่างเชื้อชาติ  การเรียนการสอนในโรงเรียนอังกฤษนั้นให้ความรู้เกี่ยวกับความเป็นไปทางประวัติศาสตร์ประเทศอังกฤษ  และเรื่องราวความเจริญของชาวยุโรปไม่ได้เน้นการสอนเรื่องราวภายในคาบสมุทรมลายู

           ลักษณะของสังคมที่แต่ละเชื้อชาติแยกกันอยู่ภายในสังคมสังคมของตน  โดยมีความแตกต่างกันทางภาษา  ศาสนา  ขนบธรรมเนียมประเพณี  และการตั้งหลักแหล่งที่อยู่อาศัย  ทำให้แต่ละเชื้อชาติแทบจะไม่มีความสัมพันธ์กันโดยตรง  แต่มีอังกฤษเป็นผู้คอยประสานผลประโยชน์ของคนเชื้อชาติต่างๆ ซึ่งมีผลทำให้ลักษณะพหุสังคมในคาบสมุทรมลายูภายใต้การปกครองของอังกฤษเกิดขึ้นอย่างเด่นชัด  และเป็นปัญหาที่รัฐบาลจะต้องแก้ไขภายหลังการได้เอกราชเพื่อให้สังคมในคาบสมุทรมลายูมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

 

ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง

            ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1942 ญี่ปุ่นรุกรานเกาะสิงคโปร์  หลังการสู้รบกันอย่างหนักหนึ่งสัปดาห์  อังกฤษยอมรับความพ่ายแพ้อย่างไม่มีเงื่อนไขเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1942  ญี่ปุ่นได้กักตัวข้าราชการชาวอังกฤษทุกคน  แล้วยุบสภานิติบัญญัติและคณะเทศมนตรีในอาณานิคมสเตรทส์ เซ็ตเติลเม้นต์และรัฐมลายูทั้งหลาย  สิงคโปร์ถูกตั้งชื่อใหม่ว่า โชนัน หรือ ประทีปแห่งทักษิณ  และถูกปกครองในฐานะอาณานิคมของญี่ปุ่นโดยตรง  ญี่ปุ่นประกาศเจตนาจะทำให้มลายูและโชนันเป็นส่วนหนึ่งของวงไพบูลย์มหาเอเชียบูรพา

            ในสายตาของญี่ปุ่น  การปฏิบัติต่อแต่ละเชื้อชาติจะไม่เหมือนกัน  ญี่ปุ่นกระทำทารุณรุนแรงต่อชาวยูเรเซียและชาวจีนบางกลุ่มโดยเฉพาะพวกคอมมิวนิสต์  ส่วนชาวจีนบางกลุ่มจะได้รับการยอมรับเหมือนกับที่อังกฤษเคยยอมรับ  เพราะญี่ปุ่นต้องพึ่งชาวจีนกลุ่มนี้ในเรื่องเศรษฐกิจ  ส่วนชาวอินเดียจะได้รับการเอาใจจากญี่ปุ่นในฐานะเพื่อนที่สู้รบกับระบบอาณานิคมของอังกฤษ  สำหรับชาวมลายูที่เป็นคนพื้นเมืองเดิมถือเป็นพันธมิตรที่สามารถสร้างรัฐบาลร่วมกับญี่ปุ่นได้

            ในการนี้ชาวมีชาวอินเดียและชาวมลายูเป็นจำนวนมากไม่เห็นด้วยกับระบบการปกครองของญี่ปุ่น  และผู้ที่ไม่เห็นด้วยได้จัดขบวนการใต้ดินขึ้น  เป็นที่น่าสังเกตว่าการต่อต้านส่วนใหญ่มาจากชาวจีน  มีการจัดกองทัพมลายูเพื่อต่อต่านญี่ปุ่น  ถึงแม้จะใช้สามดาวเป็นสัญลักษณ์แทนชุมชนจีน  ชุมชนอินเดีย  และชุมชนมลายู  แต่กองโจรนี้ก็มีแต่กองกำลังของจีนเป็นหลักสำคัญและอยู่ภายใต้อิทธิพลของคอมมิวนิสต์มลายู  ญี่ปุ่นพยายามกวาดล้างพวกคอมมิวนิสต์อย่างอำมหิตในปีแรกของการยึดครอง  ญี่ปุ่นได้จับกุมคณะกรรมการของเมืองสิงคโปร์ทั้งหมด  และได้สังหารกองโจรคอมมิวนิสต์ทั่วมลายูเกือบ 40 คน

            ญี่ปุ่นวางแผนจะยึดสิงคโปร์เป็นอาณานิคมและฐานทางยุทธศาสตร์อย่างถาวร  และก็เปลี่ยนมลายูส่วนที่เป็นคาบสมุทรให้เป็นรัฐอารักขา  ญี่ปุ่นพบว่าดินแดนมลายูไม่เหมือนกับส่วนอื่นๆ ในเอเชียอาคเนย์ในด้านขบวนการชาตินิยม  มลายูมีชาตินิยมที่ไม่เข้มแข็ง

            ในการเข้ามามีบทบาทของญี่ปุ่นในสิงคโปร์  แม้ว่าจะเป็นเพียงชั่วคราวช่วงเวลาสั้นๆ เพียงสามปี  แต่ก็ได้เห็นความพยายามและเป้าหมายทางการเมืองต่อการจัดการศึกษา  หลังญี่ปุ่นเข้ายึดสิงคโปร์ได้สามเดือน  โรงเรียนต่างๆ ก็ได้เปิดทำการอีกครั้งและกำหนดให้เรียนแบบญี่ปุ่น  ในบรรดาสื่อการเรียนการสอนที่มีอยู่ 4 ภาษา (จีนกลาง, มลายู, อังกฤษและทมิฬ)  ภาษที่ห้ามใช้คือภาษาอังกฤษเพราะเป็น “ภาษาศัตรู”

            ระหว่างการครอบครองของญี่ปุ่นจากช่วงปี ค.ศ. 1942-1945 ความก้าวหน้าทางการศึกษาอยู่ภาวะชะงักงัน  จนกระทั่งวันที่ 6 สิงหาคม ค.ศ. 1945  ระเบิดปรมาณูได้ตกลงที่ฐานทัพเมืองนางาซากิ  สองวันต่อมาญี่ปุ่นยอมจำนน  ทำให้สงครามยุติลง  จากนั้นต่อมาในเดือนกันยายนกองทัพฝ่ายอังกฤษได้ยกพลขึ้นบกที่คาบสมุทรมลายู  และเข้ายึดการปกครองจากญี่ปุ่น (สาวิตรี ตลับแป้น, 2545, หน้า 86-88)

 

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง – สหพันธ์มลายา

            ช่วงระยะเริ่มแรกของการกลับมาของอังกฤษในช่วงปี ค.ศ.1945 หลังสงครามโลกครั้งที่สอง  อังกฤษได้รับการต้อนรับอย่างดีจากชาวมลายู  การปกครองที่อังกฤษใช้ในเวลารีบด่วนแบบนี้คือ  การปกครองแบบทหารอังกฤษและแนวคิดการปกครองแบบใหม่ที่เรียกว่า สหภาพมลายู (The Malayan Union)

            ความคิดในเรื่องการจัดตั้งสหภาพมลายูนี้  ข้าราชการในกรุงลอนดอนเป็นผู้ร่างแผนด้วยเห็นว่านับจากนี้ไปอังกฤษจะต้องต่อสู้กับปฏิกิริยารุนแรงของชุมชนผู้อพยพเข้าเมืองที่มีหลากหลายเชื้อชาติ  และจะต้องมีการปรับปรุงการบริหารและทำให้ชุมชนมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

            ความสืบเนื่องของเหตุการณ์จนทำให้เกิดการเสนอความคิดการจัดตั้งสหภาพมลายูมีอยู่ว่า  สิ่งที่ญี่ปุ่นกระทำในมลายูในช่วงสามปีของการยึดครองคือ  ความพยายามส่งเสริมนโยบายแบ่งแยกและปกครอง  เพราะตลอดเวลาญี่ปุ่นต้องการเอาชนะจีน  สิ่งที่ญี่ปุ่นกระทำในมลายูคือ  การเอาใจชาวมลายูและประหัตประหารชาวจีน  ญี่ปุ่นหวังว่าด้วยวิธีเช่นนี้ตนจะป้องกันการก่อตั้งแนวร่วมญี่ปุ่นได้  จะอย่างไรก็ดีความรู้สึกเป็นปรปักษ์กันของชุมชนชาวจีนกับมลายูก็เกิดขึ้นแล้ว  มีการต่อสู้กันของชาวจีนและชาวมลายูในช่วงที่ญี่ปุ่นยอมจำนนและอังกฤษกลับคืนมา  เหตุการณ์เหล่านี้สร้างปัญหาการปกครองให้ยุ่งเหยิงมากขึ้นจนนำมาสู่การเสนอการปกครองแบบสหภาพมลายูขึ้น

            แผนการของการรวมเป็นสหภาพมลายู (The Malayan Union)  เป็นทั้งการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่  พร้อมกันกับสร้างความขัดแย้งเป็นอย่างมาก  เพราะเป็นเหมือนกับการทำให้เกิดระบบการปกครองแบบจักรวรรดินิยมใหม่ยัดเยียดให้กับรัฐมลายูทั้งหลาย (สาวิตรี ตลับแป้น, 2545, หน้า 89-90)

            แผนการตั้ง “สหภาพมลายู” ของรัฐบาลอังกฤษนี้ไม่สามารถดำเนินการให้เป็นผลสำเร็จได้  เพราะชาวมลายูได้รวมตัวกันต่อสู้  ดาโต๊ะ  ออน บิน จาฟาร์ (Dato Onn Bin Ja’afar)  แห่งรัฐยะโฮร์  เป็นผู้นำจัดตั้งเป็นพรรคการเมือง คือ พรรคอัมโน (The United Malays National Organization - UMNO)  มีวัตถุประสงค์เพื่อต่อต้านและคัดค้านแผนการจัดตั้งสหภาพมลายู  ปฏิกิริยาต่อต้านที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ  สุลต่าน  ขุนนาง  และข้าราชการชาวมลายู  ต่างก็พร้อมใจไม่เข้าร่วมในพิธีสถาปนาสหภาพมลายู  ซึ่งอังกฤษจัดให้มีขึ้นเมื่อวันที่ 1 เมษายน ค.ศ.1946 (พัชรินทร์ สวนฐิตะปัญญา, 2541, หน้า 26) 

            หลังการก่อตั้งสหภาพ  ชาวมลายูที่นำโดยอัมโนได้ชุมชนประท้วงกันทั่วประเทศ  เพราะในข้อตกลงของสหภาพมลายูได้บังคับให้สุลต่านลงนามยกเลิกอำนาจของพระองค์  ส่วนบทบัญญัติที่ว่าด้วยความเป็นพลเมืองที่ว่าไม่ยุติธรรมต่อชนพื้นเมืองดั้งเดิม  อังกฤษจึงยอมปรับท่าทีอย่างไม่เต็มใจ  โดยยอมที่จะปรับเรื่องข้อกำหนดการที่จะเป็นพลเมืองของชนชาติอื่น  โดยชาวมลายูเห็นว่าจะเป็นการป้องกันภัยแกชาวมลายูและผู้ปกครองชาวมลายู  และสิ่งที่เรียกร้องอีกประการของฝ่ายอัมโนคือเห็นว่าควรแยกสิงคโปร์ออกไป  ทั้งนี้เพราะว่าไม่ต้องการให้ชาวจีนเป็นชนส่วนใหญ่

            ปัจจัยสำคัญที่ทำให้สิงคโปร์ไม่ได้รับการยอมรับในการรวมเป็นสหภาพมลายู  คือ  ปัจจัยทางเชื้อชาติ  ซึ่งถือเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการตัดสินใจว่าจะรวมสิงคโปร์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพมลายูหรือไม่  ในปี ค.ศ.1941 ปรากฏว่าสิงคโปร์มีพลเมืองชาวมลายู 1.9 ล้านคน  กับที่ไม่ใช่ชาวมลายู 2 ล้านคน  การที่จะรวมเอา Straits Settlement ที่มีปีนัง  มะละกาและสิงคโปร์เข้มาจะทำให้จำนวนชาวมลายูเป็น 2.2 ล้านคน  กับที่ไม่ใช่ชาวมลายู 3.1 ล้านคน

            ถ้าจะรวมแค่ปีนังกับมะละกา (สิงคโปร์แยกออกไป) ชาวมลายูจะเป็น 2.1 ล้านคน ต่อที่ไม่ใช่ชาวมลายู 2.4 ล้านคน (แต่ว่าจำนวนคนจีนเป็น 1.7 ล้านคน ซึ่งน้อยกว่าชาวมลายูที่มี 2.1 ล้านคน)  แต่ถ้ารวมสิงคโปร์เข้าไป  ชาวจีนจะกลายเป็นเชื้อชาติหลัก  ขณะที่ชาวมลายูจะเป็นอันดับสอง

            ในช่วงเวลานี้เองที่เริ่มเกิดความคิดเรื่องลัทธิชาตินิยม  ด้านความคิดของชาวจีนและอินเดียมองว่าตนเองเป็นผู้มีส่วนสร้างความมั่งคั่งให้แก่มลายู  และมีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศนี้มาเป็นเวลายามนานหลายชั่วอายุคน  แต่ชาวมลายูเห็นว่าความคิดเรื่องการให้ความเสมอภาคแก่ผู้อพยพเข้าเมืองเป็นการแทรกแซงของชาวต่างประเทศซึ่งคุกคามจะทำลายประเทศของเขา  โดยก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง  ชาวมลายูยินดีให้เศรษฐกิจอยู่ในมือของชาวต่างด้าวถ้าหากว่าพวกตนมีความเหนือกว่าทางการเมือง  แต่ต่อมาชาวมลายูได้เห็นความจริงว่า  นอกจากจะมีจำนวนน้อยกว่าชนเชื้อชาติอื่นในประเทศของตนเองแล้วยังเสียผลประโยชน์ส่วนใหญ่แก่คนภายนอกแล้ว  รัฐบาลอาณานิคมยังหนุนหลังคนภายนอกเหล่านี้ให้ร้องขอสถานภาพทางการเมืองที่เท่าเทียมกันด้วย 

            การที่ชาวมลายูแสดงความต่อต้านรัฐบาลอังกฤษ  ในการตั้งสหภาพมลายูเป็นอย่างมากและจริงจัง  ทำให้รัฐบาลอังกฤษต้องเชิญตัวแทนจากพรรคอัมโนมาเจรจาหารือในการจัดการรูปแบบการปกครองในคาบสมุทรมลายูใหม่  ผลการเจรจาได้ออกมาเป็น “ข้อตกลงสหพันธรัฐมลายา” (The Federation of Malayu Agreement) เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.1948

            การที่พรรคอัมโนได้มีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญสำหรับสหพันธรัฐมลายา  ทำให้รัฐธรรมนูญฉบับร่างนี้มีลักษณะที่เข้าข้างชาวมลายูและพยายามปกป้องผลประโยชน์ของชาวมลายู

           การเจรจาตกลงจัดตั้งสหพันธรัฐมลายา ระหว่างพรรคอัมโนกับรัฐบาลอาณานิคมอังกฤษ  ทำให้กลุ่มการเมืองอื่นไม่พอใจ  เพราะกลุ่มการเมืองอื่นๆ ก็ต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในการวางนโยบายของรัฐ  จึงร่วมกันต่อต้านในรูปแบบของความร่วมมือระหว่างเชื้อชาติเป็นแนวร่วมเรียกว่า “AMCJA-PUTERA” (The Malayan People’s Anti-Japanese Army - PUTERA)  เรียกร้องความสนใจจากรัฐบาลอังกฤษ  เพื่อแสดงให้เห็นว่าการทำงานร่วมกันระหว่างชนชาติชาติต่างๆ เป็นสิ่งที่สามารถทำได้  แต่ไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงนโยบายการปกครองที่รัฐบาลอังกฤษและพรรคอัมโนได้ช่วยกันร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมา

           ถึงแม้ว่าสิงคโปร์จะถูกกีดกันจากการจัดตั้งทั้งสหภาพมลายูและสหพันธรัฐมลายา  แต่ในภายหลังก็ได้เข้ารวมเป็นสหพันธรัฐมลายา (The Federation of Malaya) ได้สำเร็จเมื่อ 1 กุมพาพันธ์ 1948  สามารถตกลงกับเจ้าผู้ปกครองมลายูและอัมโนหรือองค์การรวมมลายู  โดยรวมรัฐบนคาบสมุทรมลายู 11 รัฐ

            นอกจากนี้ในสมัยตนกู อับดุล ราห์มาน (Tunku Abdul Rahman)  นายกรัฐมนตรีของสหพันธรัฐมลายาในสมัยนั้น  ให้เหตุผลของการเข้ารวมของสิงคโปร์ว่าเกิดมาจากสองประเด็น  คือ  ประเด็นแรกความคิดชาตินิยมเพื่อเรียกร้องเอกราช  โดยเฉพาะในคาบสมุทรมลายูแนวคิดเมอร์เดกา (Merdeka ภาษามลายูที่แปลว่าเอกราช) แพร่หลายมาก  ประเด็นที่สองการแทรกแซงและแผ่อิทธิพลของลัทธิคอมมิวนิสต์  นับตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง  เกิดพรรคคอมมิวนิสต์ในแทบทุกประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  ในสิงคโปร์แกนนำของพรรคคอมมิวนิสต์ซึ่งเป็นชาวจีนมีบทบาทสำคัญในการตั้งกองกำลังต่อต้านญี่ปุ่น  ทำให้พวกเขาได้รับความนิยมจากประชาชนในช่วงนั้น 

           สหพันธรัฐมลายา (The Federation of Malaya) ได้รับเอกราชจากอังกฤษเมื่อ 31 สิงหาคม 1957  ประกอบด้วยมลายู  สิงคโปร์  ซาบาห์และซาราวัก  ในการรวมเอาซาบาห์และซาราวักเข้ามาด้วยเกิดจากความจำเป็นของพรรคอัมโนที่ต้องสร้างสมดุลด้านชาติพันธุ์  ทั้งนี้ผู้นำมาเลเซียเห็นว่า  ชนพื้นเมืองในซาบาห์และซาราวักเป็นชาติพันธุ์เดียวกันกับชาวมลายู

           การรวมเอาสิงคโปร์เข้าเป็นประเทศมาเลเซีย  มีผลให้พรรคตัวแทนของสิงคโปร์คือ  พรรคพีเอพี (PAP-People’s Action Party) ซึ่งมีนายลี กวน ยู เป็นหัวหน้าพรรคได้เข้ามามีบทบาทในสหพันธรัฐมลายาด้วย  ระหว่างที่สิงคโปร์รวมกับประเทศมาเลเซียนี้  นายลี กวน ยู หัวหน้าพรรคพีเอพี  มีนโยบายที่จะให้ความเสมอภาคแก่ประชนชนด้วยคำว่า “Malaysian Malaysia” คือ ประเทศมาเลเซียจะเป็นของชาวมาเลเซียทุกคน

          นอกจากนี้รัฐบาลยังมีนโยบายกำหนดให้ใช้ภาษามลายูเป็นภาษาประจำชาติ  เนื่องจากรัฐธรรมนูญของสหพันธรัฐแห่งมลายากำหนดไว้ว่าภาษามลายูเป็นภาษาประจำชาติและภาษาราชการ  มีการรณรงค์ให้ประชาชนเรียนภาษามลายู  หรือเพลงชาติของสิงคโปร์ก็ประพันธ์เป็นภาษามลายู  เหล่านี้แสดงถึงความกระตือรือร้นของผู้นำสิงคโปร์ในการสร้างความรับรู้เรื่องสิงคโปร์จะเป็นส่วนหนึ่งของประเทศมาเลเซียในอนาคตแก่ประชาชน

           ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1962 มีการลงประชามติในสิงคโปร์รับรองการรวมดินแดนทั้งสองไว้ด้วยกัน  ด้วยคะแนนเสียง 71.1 ในที่สุดมีการลงนามข้อตกลงร่วมกันในปี ค.ศ. 1963 เกิดสหพันธ์มาเลเซีย (The Federation of Malasia)  ประกอบด้วยสหพันธรัฐมลายาเดิม  สิงคโปร์  ซาราวัก  และซาบาร์  โดยสิงคโปร์มีสถานภาพพิเศษตรงที่มีความเป็นอิสระในการปกครองตนเองมากกว่ารัฐอื่น  มีรัฐบาลบริหารของตนเองและควบคุมรายได้ส่วนใหญ่ของตน  แต่มีตัวแทนในรัฐบาลกลางน้อยเมื่อคิดตามอัตราส่วน

           เมื่ออยู่ภายใต้การปกครองเดียวกัน  เห็นได้ชัดว่าสิงคโปร์กับรัฐมลายูมีความแตกต่างกันทั้งด้านการเมือง  เชื้อชาติและเศรษฐกิจ  ความขัดแย้งที่ปรากฏเด่นชัดเนื่องจากพรรคอัมโนมีความเห็นว่าพรรคพีเอพีแสดงความเห็นขัดแย้งกับพรรคอัมโน  ด้วยการไม่ยอมรับเรื่องสิทธิพิเศษของชาวมลายู  เพราะนายลี กวน ยู  ให้ข้อคิดเห็นว่า  สิทธิพิเศษของชาวมลายูที่กำหนดในรัฐธรรมนูญนั้นเป็นการช่วยคนกลุ่มเล็กๆ ในสังคมเท่านั้น  ได้แก่  กลุ่มผู้นำมลายูและกลุ่มข้าราชการ  ซึ่งไม่ได้ส่งผลไปถึงประชาชนในชนบทซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ของประเทศ  อีกทั้งเสนอว่าชาวมลายูประมาณ 39% ของประชาชนเชื้อชาติมลายูเป็นผู้อพยพเข้ามาอยู่ใหม่  โดยอพยพมาจากหมู่เกาะอินโดนีเซีย  ฉะนั้นนายลี กวน ยู จึงเห็นว่าควรยกเลิกฐานะเจ้าของแผ่นดินของชาวมลายู  เพราะชาวจีนบางกลุ่มได้เข้ามาตั้งหลักแหล่งอยู่นานกว่าชาวมลายูที่อพยพเข้ามาอยู่ใหม่

           ความแตกต่างและความขัดแย้งระหว่างชาติพันธุ์ได้กลายเป็นปัญหารุนแรงที่นำสิงคโปร์ไปสู่การแยกตัว  โดยเกิดเหตุการณ์การจลาจลนองเลือดในวันฉลองวันคล้ายวันประสูติของพระศาสดามูฮัมหมัด ในวันที่ 21 กรกฎาคม ค.ศ.1964 ในเขตบาดัง  โดยชาวมุสลิมที่ร่วมงานจะเดินขบวนจากบาดังไปสำนักงานใหญ่ของสมาคมมุสลิมในเกลังเซราย  เมื่อขบวนเริ่มออกเดินจากถนนบีชสู่ถนนอาหรับได้เกิดการะปะทะกันของฝูงชน เหตุการณ์บานปลายจนกลายเป็นการจลาจลใหญ่  ชาวมลายูทำร้ายชาวจีนที่ผ่านไปมาจนต้องมีการประกาศภาวะฉุกเฉินเพื่อควบคุมความรุนแรง  แต่สถานการณ์ก็ยังดำเนินต่อไปอีก 4 วัน มีผู้เสียชีวิต 23 คน บาดเจ็บ 454 คน ร้านค้าและทรัพย์สินเสียหายอีกเป็นจำนวนมาก  แต่หลังจากนั้นไม่นาน คือวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1965 ก็เกิดการปะทะกันระหว่างชาวจีนและมลายูอีก  ว่ากันว่าเหตุการณ์เริ่มจากเมื่อคนถีบสามล้อชาวมลายูถูกกลุ่มชาวจีนแทงเสียชีวิตในย่านเกลังเซราย  ทำให้เกิดการปะทะกันระหว่างชาวจีนและมลายูต่อเนื่องถึง 5 วัน  มีการประกาศภาวะฉุกเฉินอีกครั้ง  ในครั้งนี้มีผู้เสียชีวิต 13 คน บาดเจ็บ 106 คน

          ความขัดแย้งที่รุนแรงระหว่างเชื้อชาติในสิงคโปร์นี้ทำให้มีชาวมลายูอพยพออกจากเขตชุมชนชาวจีน  ชาวจีนก็ย้ายออกจาดเขตชุมชนชาวมลายูเช่นกัน  หนังสือพิมพ์ Utusan Melayu ของ Syed Jafaar Albar  เลขาธิการทั่วไปพรรคอัมโน ที่พิมพ์เผยแพร่ในมลายูกล่าวประณามสิงคโปร์และรัฐบาลลี กวน ยู ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งสองครั้ง (อภิวันท์ อดุลยพิเชฏฐ์, 2556, pp. 64-65)

          ด้วยเหตุนี้ผู้นำรัฐบาลทั้งสองฝ่ายจึงตกลงกันว่าการแยกตัวของสิงคโปร์น่าจะเป็นหนทางที่ดีที่สุด

 

การแยกตัวเป็นอิสระ

           เนื่องจากสิงคโปร์เป็นพหุสังคม  ดังนั้น  การสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างกลุ่มเชื้อชาติต่างๆ จึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับความอยู่รอดของประเทศ  แต่เดิมรัฐบาลมีนโยบายรักษาความเป็นกลางทางด้านเชื้อชาติ  หลีกเลี่ยงการเอ่ยถึงประเด็นความแตกต่างทางด้านศาสนา  ภาษา  เชื้อชาติ  แต่ในทศวรรษที่ 1990 เป็นต้นมา  รัฐบาลมีนโยบายสร้างความสมดุลระหว่างกลุ่มเชื้อชาติต่างๆ โดยสนับสนุนให้แต่ละกลุ่มมีสมาคมหรือกลุ่มผลประโยชน์ของตนเอง  โดยรัฐบาลใช้กลุ่มเหล่านี้เป็นเวทีให้รัฐบาลดำเนินนโยบายของรัฐให้ประสบความสำเร็จ  เช่น  การก่อตั้งสมาคมนักวิชาชีพชาวมาเลย์ AMP (โคริน เฟื่องเกษม, 2554, หน้า 51-52)

           เมื่อแยกตัวออกมาเป็น “สาธารณรัฐสิงคโปร์” (The Republic of Singapore)  รัฐมีนโยบายให้แต่ละชาติพันธุ์รักษาไว้ซึ่งวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีของตนเอง  แต่ว่าจะต้องมีส่วนร่วมกันในการมีเอกลักษณ์ของความเป็นชาติ

           คือ  หลังการแยกตัวเป็นอิสระ มรดกอย่างหนึ่งที่ติดตัวมาจนถึงปัจจุบันคือ การใช้ภาษามลายูเป็นภาษาประจำชาติ  แต่ชาวมลายูได้กลายเป็นชนกลุ่มน้อยของสิงคโปร์ไป  โดยชนกลุ่มใหญ่คือคนเชื้อสายจีน  และการที่แต่ละกลุ่มเชื้อชาติมีความหลากหลายทางภาษาพูดก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ภาษาอังกฤษเข้ามามีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ  นอกจากภาษาอังกฤษแล้วรัฐบาลยังมีนโยบายให้ครอบครัวจีนหันมาใช้ภาษาจีนกลางมากขึ้นแทนที่จะใช้ภาษาถิ่นจีนที่มีมากมาย  แต่ด้วยนโยบายเช่นนี้ในระยะต่อมาได้ส่งผลทำให้มีลักษณะของการไปทำลายวัฒนธรรมเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์โดยเฉพาะในด้านภาษา  ดังนั้นรัฐบาลจึงได้กำหนดนโยบายให้ภาษาประจำชาติพันธุ์เป็นภาษาที่สอง  เหตุผลคือการเรียนภาษาอังกฤษมากเกินไปทำให้คนสิงคโปร์ไม่รู้สึกถึงความเป็นชาติพันธุ์ของตนเอง

           แม้รัฐจะสนับสนุนและยอมรับความหลากหลายทางเชื้อชาติ  แต่ในขณะเดียวกันรัฐบาลก็พยายามลดความแตกแยกทางเชื้อชาติ  โดยการนำนโยบายการเคหะแห่งชาติ มาเป็นเครื่องมือในการบูรณาการสังคมประสานกลมกลืนกันทางเชื้อชาติคือ  นโยบายการเคหะถูกนำมาใช้ในการรวมกันของประชาชนที่มีความแตกต่างทางชาติพันธุ์  ภาษา  ศาสนา  และวัฒนธรรมให้เข้ามาอาศัยอยู่ร่วมกันภายในย่านเดียวกัน  ซึ่งเป็นชุมชนที่รัฐบาลสร้างขึ้นเพื่อแทนที่ชุมชนดั้งเดิมตามเชื้อชาติ  เพื่อสร้างโอกาสให้ประชาชนทุกชาติพันธุ์ได้พบปะพูดคุยกันมากขึ้น  นำมาซึ่งความเข้าใจอันดีต่อกันและรู้สึกร่วมเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นชาติสิงคโปร์

            ตลอดระยะเวลา 50 ปีที่ผ่านมาจนกระทั่งปัจจุบัน  สิงคโปร์ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่เต็มไปด้วยการผสมผสานทางชาติพันธุ์  เช่น  จีน  มลายู  อินเดีย  ฯลฯ  ที่อาศัยอยู่ร่วมกันในสิงคโปร์โดยที่ไม่เคยประสบปัญหาความขัดแย้งทางชาติพันธุ์เลย  อีกทั้งยังคงสามารถรักษาอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม  ประเพณี  และความเป็นชาติพันธุ์ของตนเองไว้ได้ตลอดมา  รวมทั้งรัฐสนับสนุนนโยบายการรวมเป็นชาติ “สิงคโปร์” ผ่านหลายๆ รูปแบบ เช่น  การศึกษา  จึงทำให้ในระยะเวลาไม่มีการแบ่งแยกทางชาติพันธุ์ว่า  เป็นคนจีน  อินเดีย  มลายู  แต่จะเรียกตนเองว่า “คนสิงคโปร์” อย่างภาคภูมิใจ     

บรรณานุกรม

    กนิษฐา จานเขื่อง. (2546). นโยบายการเคหะแห่งชาติกับการพัฒนาประเทศสิงคโปร์ (ค.ศ. 1960-2000). กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

    โคริน เฟื่องเกษม. (2554). สิงคโปร์ภายใต้สามผู้นำ. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์เดือนตุลา จำกัด.

    ดวงธิดา ราเมศวร์. (2555). ประวัติศาสตร์ประเทศในกลุ่มอาเซียน (2) เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ บรูไน. กรุงเทพฯ : แพรธรรม

    พัชรินทร์ สวนฐิตะปัญญา. (2541). มาเลเซีย : เอกภาพกับการศึกษา. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.

    วิทย์ บัณฑิตกุล. (2555). สาธารณรัฐสิงคโปร์. กรุงเทพฯ: สถาพรบุ๊คส์ จำกัด.

    สาวิตรี ตลับแป้น. (2545). การศึกษาในฐานะเป็นเครื่องมือในการรักษาเสถียรภาพทางการเมืองของประเทศพหุสังคม : ศึกษาเปรียบเทียบประเทศไทยกับสิงคโปร์. เชียงใหม่: มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

    อภิวันท์ อดุลยพิเชฏฐ์. (2556). ประวัติศาสตร์สิงคโปร์. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ.