สิงคโปร์ - ชาติพันธุ์



          สังคมหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  เป็นสังคมที่มีรากเหง้ามาจากความเป็นพหุสังคมกล่าวคือ  เป็นสังคมที่มีความหลากหลายทั้งทางเชื้อชาติ  เผ่าพันธุ์  ความเชื่อ  ศาสนาและประเพณี  รวมไปถึงวิถีชีวิตที่แตกต่างกัน  และด้วยความสัมพันธ์ที่ดำเนินมานับจากอดีตได้ถูกหลอมรวมพัฒนาจนเกิดเป็น “ชาติ” (Nation) ในที่สุด

           คำว่า “ชาติพันธุ์” (ethnic)  เป็นคำคุณศัพท์ที่มีการอ้างถึงเชื้อชาติและประชาชาติ  และลักษณะสำคัญทางเชื้อชาติ  วัฒนธรรม  ศาสนา  หรือการมีภาษาร่วมกัน  คำนี้ได้เข้ามาในภาษาอังกฤษและมีความหมายเกี่ยวกับ  “คนต่างชาติ”  โดยเฉพาะคนต่างชาติที่เป็นชาวยิว (Gentile) ซึ่งหมายถึงคนนอกศาสนา     พจนานุกรมอ๊อกซฟอร์ด (Compact Oxford Dictionary)  ได้ให้คำอธิบาย “Ethnic” ว่ามาจากคำ “Ethnikos” ที่เป็นคำภาษากรีก  ซึ่งมีความหมายเกี่ยวกับคนนอกศาสนาทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง  คำๆ นี้เป็นคุณศัพท์ในภาษากรีกมีความหมายชัดเกี่ยวกับความเป็นชาติหรือประชาติ (National)  เมื่อคำว่า “Ethnic”  หรือคำที่มีความหมายใกล้เคียงกันเข้ามาอยู่ในคำภาษาอังกฤษก็หมายถึงคนต่างชาติและคนนอกศาสนามาตลอด  พจนานุกรมอ๊อกฟอร์ดได้กล่าวถึงความหมายที่สองซึ่งเป็นความหมายทั่วไปว่า  ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา  ความหมายเกี่ยวกับคนนอกศาสนาค่อยๆ หายไปและคำว่า “Ethnic” ก็ได้รับการนิยามในความหมายที่เกี่ยวกับเชื้อชาติมาโดยตลอด (สุเทพ สุนทรเภสัช, 2548, หน้า 15-16) 

            สำหรับในสังคมไทยนักเขียนและนักวิชาการไทยเริ่มได้รับอิทธิพลในการศึกษาด้านชาติพันธุ์มาจากนักวิชาการตะวันตก  โดยในยุคก่อน พ.ศ.2500 มีการใช้คำว่า “เชื้อชาติ” และ “ชาติ”  ดังที่ปรากฏชื่อหนังสือ “เรื่องของชาติไทย” และ “เชื้อชาติ ภาษาและวัฒนธรรม” ของพระยาอนุมานราชธน  กับหนังสือของบุญช่วย  ศรีสวัสดิ์  ที่เขียนถึง “30 ชาติในเชียงราย”  ขณะที่ปัจจุบันนักวิชาการทางด้านมานุษยวิทยาไทยเริ่มเปลี่ยนมาใช้คำว่า “ชาติพันธุ์” กับ “ชาติพันธุ์ธำรง” และคำว่า “ชาติพันธุ์สัมพันธ์” แทนคำว่า “ethnicity” ในภาษาอังกฤษ  เพื่อสื่อให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้น  ไม่ว่าจะเป็นภายในกับระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์  ความสมพันธ์กับรัฐชาติและกระแสโลกาภิวัฒน์ก็ตาม (ประสิทธิ์ สีปรีชา, 2557, p. 221)

            เช่นเดียวกับกับประเทศสิงคโปร์ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นประเทศหนึ่งที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์  นับเป็นตัวอย่างของสังคมผู้อพยพที่น่าสนใจที่สุดของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  สำหรับสิงคโปร์การเป็นเมืองท่าการค้าทำให้ที่นี่เป็นสังคมเปิดรับผู้คนหลากหลายกลุ่มและหลายสถานะทางสังคมที่ต่างมุ่งหมายเข้ามาทำกิจกรรมการงานอันเนื่องกับการค้า  ไม่ว่าจะเป็นชาวเปอรานากัน  จีน  ที่มีบทบาทในการเป็นพ่อค้าหรือผู้ประกอบการที่เป็นตัวกลางระหว่างพ่อค้าพื้นถิ่นกับพ่อค้าชาวตะวันตก  หรือชาวจีนและอินเดียที่อพยพเข้ามาจำนวนมหาศาลในกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 เพื่อหางานทำทั้งที่สิงคโปร์และที่คาบสมุทรมลายูโดยผ่านสิงคโปร์เข้าไป  เป็นต้น (อภิวันท์ อดุลยพิเชฏฐ์, 2556, หน้า 120)

การศึกษาความเป็นพหุสังคมในสิงคโปร์ได้เน้นที่กลุ่มชนเชื้อชาติต่างๆ 4 กลุ่ม คือ

 

1. กลุ่มชาติพันธุ์จีน

           ศาสตราจารย์หวังกังวู  (Wang Gung Wu) ผู้เชี่ยวชาญทางประวัติศาสตร์จีนโพ้นทะเล  มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ได้ศึกษาว่า  การอพยพเข้ามาของชาวจีนสิงคโปร์มี 3 กลุ่ม ดังนี้

            กลุ่มที่หนึ่ง  คือ  กลุ่มชาวจีนที่เคยพำนักอาศัยอยู่ในดินแดนภายใต้การปกครองของอังกฤษและฮอลันดามาก่อนการก่อตั้งสถานีการค้าของอังกฤษที่สิงคโปร์ในปี 1819 เช่น  ปีนัง  มะละกา  บอร์เนียว  และสุมาตรา  จึงทำให้ชาวจีนเหล่านี้มีความรู้จักคุ้นเคยกับระบบการปกครอง  กฎหมาย  และนโยบายการค้าของชาวยุโรปมาแล้วเป็นอย่างดี

            กลุ่มที่สอง  คือ  กลุ่มชาวจีนที่เคยเดินทางเข้ามาติดต่อค้าขายภายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตั้งแต่ก่อนปี 1819  ทำให้เข้าใจในขนบธรรมเนียมท้องถิ่นและธรรมเนียมของชาติตะวันตกมาบ้างแล้วจึงสามารถปรับตัวให้เข้ากับการปกครองของอังกฤษในสิงคโปร์ได้อย่างรวดเร็ว

            กลุ่มชาวจีนทั้งสองนี้รู้จักกันทั่วไปว่า “จีนช่องแคบ” (Straits Chinese or Straits-Bom Chinese)  เป็นชาวจีนที่ทั้งอาศัยอยู่และบางคนก็เกิดใน Straits Settlement  ชาวจีนช่องแคบส่วนใหญ่ได้แต่งงานกับผู้หญิงมาเลย์  (ทั้งในบริเวณคาบสมุทรมลายูและหมู่เกาะอินเดียตะวันออกของดัตช์)  โดยลูกที่เกิดมาเรียกว่า “บาบ๋า” (Baba Chinese or Baba) ดังนั้น  ในเวลาต่อมาคำว่า “จีนช่องแคบ” และ “บาบ๋า” จึงสามารถใช้เรียกแทนกันได้และความหมายเหมือนกันคือ  กลุ่มชาวจีนที่เกิดใน Straits Settlement  โดยมีบรรพบุรุษที่สืบเชื้อมาจากลูกผสมระหว่างบิดาชาวจีนและมารดาชาวมาเลย์

            กลุ่มที่สาม  คือ  กลุ่มชาวจีนที่เพิ่งอพยพเข้ามาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นครั้งแรกภายหลังการก่อตั้งสถานีการค้าของอังกฤษที่สิงคโปร์ในปี 1819

            กลุ่มผู้อพยพเหล่านี้มักเรียกว่า “ซินแขะ” เป็นคำภาษาจีนฮกเกี้ยน  แปลว่า “ผู้มาใหม่” (Sinkhek or Newcomers)  หมายถึง  คนที่ไม่ได้เกิดใน Straits Settlement  ชาวจีนกลุ่มนี้อพยพมาจากพื้นที่ทางตอนใต้ของจีน  เนื่องจากประเทศจีนอนุญาตให้เฉพาะเมืองท่าทางตอนใต้เท่านั้นที่สามารถติดต่อค้าขายกับชาวต่างประเทศ  ก่อนปี ค.ศ. 1860 มีเมืองกวางโจวในมณฑลกวางตุ้งเป็นเมืองท่าให้แก่ต่างชาติเพียงแห่งเดียวเท่านั้น  ต่อมาในวันที่ 24 ตุลาคม ค.ศ.1860 จีนจึงเปิดเมืองท่าเพิ่มอีก 5 เมือง  คือ  เมืองกวางตุ้ง  เซียงไฮ้  ฟุเจี้ยน  หนิงโป  และอามอย  ตามอนุสัญญากรุงปักกิ่ง  นอกจากนั้น  รัฐบาลจีนยังอนุญาตให้ชาวจีนออกไปทำงานนอกประเทศได้

            หลังจากนั้น  จึงได้มีบริษัทตัวแทนจัดส่งกุลีจีนเกิดขึ้นในสิงคโปร์  เช่น  บริษัทบูสเตด (Boustead)  บริษัทกัตรี (Guthrie) และบริษัทเยราดีน แมทเทสัน (Jaradine Matheson) เป็นต้น  ซึ่งบริษัทเหล่านี้มีคนจีนท้องถิ่นทำหน้าที่นายหน้าจัดหาคนให้  โดยคิดค่าจ้างเป็นรายหัวตามจำนวนคน  ทำให้มีกลุ่มชาวจีนที่อพยพเข้ามาโดยใช้ระบบตั๋วสินเชื่อ (Credit-ticket Passenger)  โดยผู้อพยพจะขึ้นเรือเดินทางไปแบบติดค้างค่าโดยสารไว้ก่อนแล้วเถ้าแก่หรือกัปตันเรือจะไปเก็บค่าโดยสารเมื่อถึงปลายทางเอากับญาติหรือนายจ้างซึ่งผู้อพยพจะต้องทำงานใช้หนี้ค่าโดยสารจนกว่าครบจำนวนค่าโดยสาร  รวมถึงมีการอพยพเข้ามาของผู้หญิงจีนเพื่อประกอบอาชีพต่างๆ เช่น  โสเภณี  ผู้หญิงรับใช้  และเด็กหญิงรับใช้ที่ถูกขายให้กับนายจ้าง  เป็นต้น

            กลุ่มชาวจีนจำนวนมากจากท้องถิ่นต่างๆ จึงได้เดินทางอพยพเข้ามาในสิงคโปร์  จากเดิมปี ค.ศ.1824  ชาวจีนในสิงคโปร์มีเพียง 3,317 คน  เพิ่มเป็น 10,767 คน ในปี ค.ศ.1834 จนกระทั่งได้เป็นกลุ่มคนส่วนใหญ่ในปี ค.ศ.1836 เป็นต้นมา  กลุ่มชาวจีนในสิงคโปร์ประกอบด้วย  จีนฮกเกี้ยน (Hokkien)  จีนแต้จิ๋ว (Teochew)  จีนกวางตุ้ง (Cantonese)  จีนไหหลำ (Hainanes)  จีนแคะ (Hakka)  และจีนฮอกเจี่ย (Hochia)

            จีนฮกเกี้ยนเป็นกลุ่มชาวจีนส่วนใหญ่ในสิงคโปร์ปี ค.ศ.1881 จีนฮกเกี้ยนมีร้อยละ 29.0 รองลงมาคือ  จีนแต้จิ๋วร้อยละ 26.0  จีนกวางตุ้งร้อยละ 17.1  จีนช่องแคบและบาบ๋าร้อยละ 11.0  จีนไหหลำร้อยละ 9.5  จีนแคะร้อยละ 7.1  และอื่นๆ ร้อยละ 0.3 ตามลำดับ  ส่วนจีนฮอกเจี่ยนั้นไม่ได้อพยพเข้ามาสิงคโปร์จนกระทั่งปี ค.ศ. 1911

            ชาวจีนที่มีหลากหลายกลุ่มภาษาถิ่นนี้ต่างมีพื้นเพ  ภาษา  อาชีพ  และสถาบันทางสังคมภายในกลุ่มเฉพาะของตนเอง  ดังนี้

            1.1  จีนฮกเกี้ยน  คือ  ชาวจีนพื้นเมืองในเมืองท่าอามอย (Amoy)  ที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของมณฑลฟูเจี้ยน (Fukien) หรือเรียกว่าชาวอามอย  ซึ่งถือเป็นกลุ่มชาวจีนที่มีมากที่สุดในสิงคโปร์  โดยทั่วไปพบว่าจีนฮกเกี้ยนมีฐานะร่ำรวย  เป็นพ่อค้าคนกลางระหว่างชาวยุโรปและคนพื้นเมือง  นายทุนอุตสาหกรรมผลิตยางพาราและนายธนาคาร  เป็นต้น  กลุ่มชาวจีนฮกเกี้ยนได้ก่อตั้งวัดจีนขึ้นในปี ค.ศ.1839  เพื่อใช้เป็นสถานที่ประกอบกิจกรรมทางสังคมร่วมกัน  ต่อมาในปี ค.ศ. 1860 จึงจัดตั้งสมาคมฮกเกี้ยน (Hokkien Huay Kuan)  เป็นสมาคมถิ่นเกิดหรือสมาคมสำเนียงภาษาฮกเกี้ยนเพื่อช่วยเหลือสมาชิกภายในกลุ่มชาวจีนฮกเกี้ยนด้วยกันในด้านต่างๆ เช่น ที่อยู่อาศัย  การทำงาน  การรักษาพยาบาล  และงานศพ

           1.2  จีนแต้จิ๋ว  คือ  ชาวจีนพื้นเมืองในเมืองท่าซัวเถา (Swatow) มณฑลกวางตุ้ง (Kwangtung)  หรืออาจเรียกว่าชาวซัวเถา  ซึ่งถือเป็นกลุ่มผู้บุกเบิกการทำไร่สีเสียดและพริกไทยในสิงคโปร์  แม้ว่าในด้านการค้าจะไม่มีขนาดใหญ่เท่าการค้าของกลุ่มชาวจีนฮกเกี้ยนแต่ถือเป็นผู้ผูกขาดการค้าประเภทข้าว  เครื่องกระเบื้อง  เครื่องแก้วและสิ่งทอ  อีกทั้งยังเป็นผู้นำในด้านตลาดทางเกษตร  เช่น  เป็ดไก่  ปลา  พืชผัก  และผลไม้  ตลอดจนการทำธุรกิจส่งออกยางพาราและสับปะรดกระป๋อง  ในกลุ่มชาวจีนแต้จิ๋วได้อาศัยพึ่งพิงสมาคมกงสีหงีอัน (Teochew Ngee Ann Kongsi)  เป็นสมาคมเฉพาะคนจีนแต้จิ๋ว  ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและสังคมในหมู่ชาวจีนแต้จิ๋ว  ได้แก่  การเรียน  การรักษาพยาบาล  การประกันสังคม  งานเทศกาลทางศาสนาและงานศพ

            1.3  จีนกวางตุ้ง  คือ  ชาวจีนพื้นเมืองกวางโจว  (Canton)  มณฑลกวางตุ้ง  ส่วนใหญ่มีอาชีพเป็นช่างฝีมือและแรงงาน  เช่น  ช่างซักรีด  ช่างตัดเสื้อ  ช่างซ่อมนาฬิกา  ช่างซ่อมเครื่องยนต์  ช่างทอง  และช่างทำเพชรพลอย  กลุ่มชาวจีนกวางตุ้งได้ก่อตั้งสมาคมถิ่นเกิดหรือสมาคมสำเนียงภาษาขึ้นเป็นสมาคมแรกในสิงคโปร์เมื่อปี ค.ศ.1822 ชื่อว่าสมาคมหนิงยาง  (Ning Yang association)

           1.4  จีนไหหลำ  คือ  ชาวจีนพื้นเมืองในเกาะไหหลำ (Hainan)  ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของจีน  ส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพด้านบริการ  เช่น  ร้านกาแฟและร้านอาหาร  รวมถึงแรงงานไร้ฝีมือและคนรับใช้  ในสมัยอาณานิคมกลุ่มชาวจีนไหหลำยังไม่คิดที่จะเข้ามาตั้งถิ่นฐานในสิงคโปร์อย่างถาวร  เนื่องจากชาวจีนไหหลำส่วนใหญ่ที่อพยพเข้ามาล้วนเป็นเพศชายและแทบไม่มีการแต่งงานกับคนพื้นถิ่น  ทำให้ไม่มีที่ก่อตั้งสมาคมถิ่นเกิดหรือสมาคมสำเนียงภาษาขึ้นแต่อย่างใด

            1.5  จีนแคะ  คือ  ชาวจีนที่ถือเป็นกลุ่มชาวอพยพจากทางตอนเหนือของประเทศเข้ามาอยู่ในมณฑลฟูเจี้ยนและกวางตุ้ง  ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพช่างฝีมือและแรงงาน  เช่น  พ่อค้าขายเครื่องเหล็กและช่างเหล็ก ในปี ค.ศ.1823  ชาวจีนแคระได้ก่อตั้งสมาคมหยิงโฮ (Ying Ho Association)  เพื่อใช้เป็นแหล่งพบปะสังสรรค์ในช่วงเทศกาลและช่วยเหลือเกื้อกูลกันภายในสังคมของตนเอง

            1.6  จีนฮอกเจี่ย  คือ  ชาวจีนพื้นเมืองทางตอนเหนือของมณฑลฟูเจี้ยน  ส่วนใหญ่ชาวจีนฮอกเจี่ยทำอาชีพรถลาก  ต่อมาเมื่อระบบคมนาคมขนส่งได้รับการพัฒนามากขึ้น  ทำให้ชาวจีนฮอกเจี่ยบางส่วนได้หันมาประกอบอาชีพเป็นคนขับรถและคนขับแท็กซี่  รวมถึงการประกอบธุรกิจการค้าขายรถจักรยานและค้าขายชิ้นส่วนรถยนต์ต่างๆ เนื่องจากชาวจีนฮอกเจี่ยส่วนใหญ่มีรายได้น้อย  จึงยังไม่มีการก่อตั้งสมาคมถิ่นเกิดหรือสมาคมสำเนียงภาษาขึ้นในช่วงอาณานิคมของอังกฤษ

            1.7  จีนช่องแคบ/เปอรานากัน/บาบ๋า  คือ  ชาวจีนที่เกิด Straits Settlement  และมีบรรพบุรุษที่สืบเชื้อสายมาจากลูกผสมระหว่างบิดาชาวจีนและมารดาชาวมาเลย์  โดยทั่วไปพบว่าจีนช่องแคบแลบาบ๋ามีอาชีพค้าขายและฐานะร่ำรวย  อีกทั้งมีชีวิตแตกต่างไปจากกลุ่มชาวจีนที่อพยพเข้ามาใหม่  กล่าวคือ  การผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมจีน  มาเลย์และตะวันตก  เช่น  ภาษา  การแต่งกาย  และอาหารที่ล้วนผสมผสานระหว่างจีน  มาเลย์  และตะวันตก  ตลอดจนยังนิยมเข้ารับการศึกษาตามแบบตะวันตก  ชื่นชอบกีฬาของชาวยุโรปและนับถือศาสนาคริสต์  จึงรู้จักกันว่า “ชุมชนที่กลายเป็นตะวันตก” (Weasernized Community)  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  ชาวจีนช่องแคบและบาบ๋าได้จัดตั้งสโมสรทางสังคมของตนเองซึ่งห้ามคนจีนที่ไม่ใช่ชาวนิคมช่องแคบเข้า 

            กลุ่มชนเชื้อชาติจีนในสิงคโปร์ถือว่ามีความหลากหลายสูง  ซึ่งเห็นได้จากความแตกต่างทางภาษาอย่างชัดเจน  รวมถึงการประกอบอาชีพและวีชีวิตที่แตกต่างกัน  ตลอดจนในแต่ละกลุ่มภาษาถิ่นยังได้จัดตั้งสมาคมถิ่นเกิดหรือสมาคมสำเนียงภาษาขึ้นอีกด้วย

 

2. กลุ่มชาติพันธุ์มลายู 

            ชาวมาเลย์ในสิงคโปร์ส่วนใหญ่อพยพมาจากท้องถิ่นต่างๆ ภายในบริเวณคาบสมุทรมลายูและอาณาบริเวณใกล้เคียง  ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม ดังนี้

            กลุ่มที่หนึ่ง  คือ  ชาวมลายู  เป็นชาวมลายูที่อาศัยอยู่ในสิงคโปร์และในบริเวณคาบสมุทรมลายูมาแต่เดิม  เป็นกลุ่มเชื้อสายมลายูที่ใหญ่ที่สุดในสิงคโปร์

            กลุ่มที่สอง  คือ  ชาวอินโดนีเซีย  เป็นชาวมาเลย์ซึ่งอพยพมาจากหมู่เกาะอินเดียตะวันออกของดัตช์  ได้แก่  ชาวชวาในเกาะชวา  ชาวดยัก  ชาวบันจา  และชาวโบยันในเกาะบอร์เนียว  ชาวบาหลีในเกาะบาหลี  ชาวบูกิสในเกาะเซลีเบส  ชาวบาตักและชาวอัจเจห์ในเกาะสุมาตรา

            การอพยพเข้ามาของชาวมลายูส่วนใหญ่เพื่อแสวงหาโอกาสในการทำงานที่ดีขึ้น  นอกจากนั้น  บางส่วนยังเดินทางมาในสิงคโปร์เพื่อลงเรือไปแสวงบุญที่นครเมกกะ  ในจำนวนนี้บางคนต้องอาศัยอยู่ในสิงคโปร์จนตลอดชีวิตเพื่อรวบรวมเงินทุนเป็นค่าเดินทางหรือทำงานใช้หนี้เมื่อเดินทางกลับมาจากแสวงบุญแล้วอีกด้วย

            แม้สังคมมลายูในสิงคโปร์มีความผูกพันและเชื่อมประสานกันด้วยศาสนาอิสลาม  ซึ่งนอกจากเป็นหลักคำสอนทางศาสนาแล้ว  ยังถือเป็นแบบแผนในการดำเนินชีวิตและศูนย์รวมจิตใจในหมู่ชาวมุสลิมด้วยกันนั้น  หากแต่ภายในสังคมมลายูยังแยกส่วนออกเป็นชาวมลายูที่อาศัยอยู่ในสิงคโปร์และคาบสมุทรมลายูกับชาวมลายูที่อพยพมาจากบรรดาหมู่เกาะอินเดียตะวันออกของดัตช์หรือในปัจจุบันเรียกว่าชาวอินโดนีเซีย

            ทั้งสองกลุ่มนี้มีความแตกต่างทางด้านอาชีพและสถานภาพทางสังคม  กล่าวคือ  นอกจากชาวมลายูดั้งเดิมในสิงคโปร์ที่เป็นชาวประมงแล้ว  ชาวมาเลย์ในสิงคโปร์และชาวมาเลย์ในคาบสมุทรมลายูส่วนใหญ่มีหน้าที่การงานที่ดีกว่าชาวมลายูที่อพยพมาจากหมู่เกาอินเดียตะวันออกของดัตช์  โดยประกอบอาชีพรับราชการ  เช่น  เสมียน  ตำรวจและทหารชั้นผู้น้อย  ในขณะที่ชาวมลายูที่อพยพมาจากหมู่เกาะอินเดียตะวันออกของดัตช์ส่วนใหญ่เป็นแรงงานไร้ฝีมือและเกษตรกรในไร่ยางพารา  ยกเว้นชาวชวาและบูกิสที่มีอาชีพพ่อค้า

            ในกลุ่มเชื้อชาติมลายูยังมีชาวยาวีเปอกัน  ซึ่งเป็นลูกผสมระหว่างบิดาชาวมุสลิมเชื้อสายอินเดียและมารดาชาวมลายูพื้นเมือง  รวมถึงชาวมลายูที่มาจากฟิลิปปินส์  แต่มีอยู่จำนวนน้อยกว่ากลุ่มอื่นๆ และอพยพเข้ามาอยู่หลังกลุ่มอื่นๆ ด้วย

 

3. กลุ่มชาติพันธุ์อินเดีย

          ผู้อพยพเชื้อชาติอินเดียในสิงคโปร์มีหลากหลายเผ่าพันธุ์  ภาษา  ศาสนา 

            3.1  ชาวมุสลิม  เป็นกลุ่มชาวอินเดียที่นับถือศาสนาอิสลามซึ่งอพยพมาจากทางตอนใต้ของอินเดียในบริเวณชายฝั่งโคโรมันเดล (Coromandel)  คือ  ชาวตูลิกัน (Tulikans)  หรือชาวนานัก (Nanaks)  และชาวมามัก (Mamaks) และในบริเวณชายฝั่งมาลาบาร์ (Malabar) คือ  ชาวมลายฬี (Malayalees) หรือชาวคาคัก (Kakaks) ซึ่งรู้จักกันว่าโมปลาห์ (Moplah) โดยกลุ่มชาวอินเดียเหล่านี้ได้อพยพเข้ามาเป็นจำนวนมากที่สุดในช่วงปี ค.ศ.1824 - 1860

            3.2 ชาวฮินดู เป็นกลุ่มชาวอินเดียที่นับถือศาสนาฮินดูซึ่งอพยพมาจากบริเวณฮินดูสถานและเบงกอล

            3.3  ชาวปาร์ซี  คือ  ชาวอินเดียที่นับถือศาสนานิกายโซโรแอสเตอร์ (Zoroastrianism) ซึ่งเป็นกลุ่มพ่อค้าที่ร่ำรวย  โดยได้เริ่มอพยพเข้ามาในสิงคโปร์เมื่อปี ค.ศ.1871 คิดเป็นร้อยละ 86.80  หลังจากนั้นกลายเป็นกลุ่มผู้อพยพเชื้อชาติอินเดียที่มีจำนวนมากที่สุดในสิงคโปร์จนถึงปัจจุบัน

            3.4  ชาวอินเดียในพม่า  คือ  ผู้อพยพชาวอินเดียที่เดินทางมาจากพม่าในช่วงหลังจากที่อังกฤษได้ขยายอิทธิพลเข้าไปในพม่าแล้ว  โดยเริ่มเมื่อปี ค.ศ.1871 ซึ่งมีจำนวนน้อยที่สุดเพียงร้อยละ 0.24

            ในระยะแรกกลุ่มชาติพันธุ์อินเดียส่วนใหญ่ที่เข้ามาในสิงคโปร์คือ  กลุ่มนักโทษ  หลังการลงนามในสนธิสัญญาระหว่างอังกฤษและฮอลันดาในปี ค.ศ.1824 นักโทษอินเดียที่อยู่ในเบนคูเลนได้เดินทางเข้ามาในสิงคโปร์เพื่อทำงานชดใช้โทษตั้งแต่ปี ค.ศ.1825 – 1873  ด้วยการสร้างระบบสาธารณูปโภค  ได้แก่  การแพ้วถางป่าและการสร้างถนน  สะพาน  โบสถ์และอาคารที่ทำการของทางการ  เมื่อนักโทษเหล่านี้ได้ชดใช้โทษหมดแล้วบางคนก็อพยพกลับอินเดีย  หากแต่ส่วนใหญ่ได้ตั้งถิ่นฐานอยู่ในสิงคโปร์ต่อไป

            ในปี ค.ศ.1860 จำนวนชาวอินเดียในสิงคโปร์เพิ่งสูงขึ้นจากทศวรรษที่ผ่านมาถึงสองเท่า  คือ  มีจำนวน 12,973 คน  เนื่องมาจากนโยบายการปกครองของอังกฤษในอินเดียที่มีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญภายหลังการเกิดกบฏอินเดียหรือ “กบฏซีปอย” (Sepoy Mutiny) ที่อินเดียในปี ค.ศ.1857 ทำให้รัฐบาลอังกฤษได้เข้าควบคุมกองกำลังทหารอินเดียออกนอกประเทศ  โดยอ้างว่าเพื่อไปปฏิบัติหน้าที่รักษาความมั่นคงและความสงบภายในดินแดนอังกฤษ  จึงทำให้มีกองทหารอินเดียเข้ามาในสิงคโปร์มากขึ้น

            อีกประการหนึ่งเป็นเพราะมีกลุ่มผู้อพยพเชื้อชาติอินเดียได้เดินทางเข้ามาในสิงคโปร์  เพื่อแสวงหาโชคและโอกาสในการทำงาน  กลุ่มผู้อพยพเชื้อชาติอินเดียเหล่านี้ส่วนใหญ่มีฐานะยากจน  และมักเป็นแรงงานที่มีสัญญาว่าจ้าง (Indentured labourers)  โดยมีบริษัทนายหน้าจัดหาแรงงานอินเดีย (Indian Immigration Agent) เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการเดินทางก่อนแล้ว  แรงงานเหล่านั้นก็จะทำงานชดใช้ค่าเดินทาง  ชาวอินเดียเข้ามาประกอบอาชีพต่างๆ เช่น  ยาม  ช่างซักรีด  ช่างตัดเสื้อ  พ่อครัว  แรงงานในไร่เกษตรกรรม  ลูกจ้างประจำสถานีรถไฟและอู่ต่อเรือ  ทหารรับจ้างในกองทัพอังกฤษ  ตำรวจชั้นผู้น้อย  และเสมียนในหน่อยงานของรัฐบาล  รวมถึงกลุ่มชาวชูเลีย (Chuliah) ซึ่งเป็นพ่อค้าชาวมุสลิมเชื้อสายอินเดียที่อพยพมาจากทางตอนใต้ของอินเดียและกลุ่มนายทุนเงินกู้ ซึ่งเรียกว่า “เชตยาร์” (Chettiar) อีกทั้งยังมีผู้หญิงอินเดียถูกลักพาตัวเข้ามาในสิงคโปร์เพื่อเป็นโสณี

            ภายในกลุ่มชนเชื้อชาติอินเดียมีการแบ่งชนชั้นด้วยระบบวรรณะ  จากการศึกษาของนายเอ. มานี (A. Mani) ได้สรุปว่า พัฒนาการของระบบวรรณะในสิงคโปร์มาสารถแบ่งเป็น 3 ช่วงดังนี้

            ช่วงที่หนึ่ง คือ ในช่วงปี ค.ศ.1819 - 1929  ระบบวรรณะของชาวอินเดียในสิงคโปร์ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก  ชาวฮินดูยังคงยึดถือปฏิบัติในระบบวรรณะอย่างเคร่งครัด  เช่น  การจัดแบ่งแยกเขตที่อยู่อาศัยตามระบบวรรณะอย่างชัดเจนและไม่ปะปนกัน

            ช่วงที่สอง คือ ตั้งแต่ปี ค.ศ.1929 ถึงสงครามโลกครั้งที่สอง  ถือเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของระบบวรรณะในสิงคโปร์  เนื่องจากประชากรในสิงคโปร์มีจำนวนมากขึ้น  จึงทำให้ประสบกับความยากลำบากในการถือปฏิบัติตามระบบวรรณะอย่างเข้มงวดได้

            ช่วงที่สุดท้าย  คือ  นับจากสงครามโลกครั้งที่สองจนถึงปัจจุบัน  เป็นช่วงเวลาแห่งความเสื่อคลายลงของระบบวรรณะในสิงคโปร์  ในปัจจุบันพบว่า  ชาวฮินดูยังคงเคร่งครัดตามข้อปฏิบัติเบื้องต้นของระบบวรรณะคือ  วรรณะเดียวกันจึงแต่งงานกันได้  แต่ในข้ออื่นๆ อาจไม่เข้มงวดมากนัก  ดังเช่น  การอนุญาตให้พวกนอกวรรณะหรือจัณฑาลซึ่งเป็นวรรณะต่ำสุดเข้าไปในวัดฮินดูได้  และการอาศัยอยู่ในย่านชุมชนเดียวกัน  เป็นต้น

 

4. กลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ

            พบว่าชาวยุโรปมีจำนวนมากที่สุด  รองลงมาคือ ชาวยูเรเชียน  และนอกจากนั้นยังมีชาวโคชิน-ไชน่า  ชาวญี่ปุ่น  ชาวยิว  ชาวสยาม  ชาวอาเมเนียน  ชาวอาหรับและชาวเปอร์เซียในตะวันออกกลาง  ชาวแอฟริกันและอื่นๆ

            4.1  กลุ่มชาวยุโรปในสิงคโปร์มิได้มีแต่ชาวอังกฤษที่เป็นเจ้าอาณานิคมเท่านั้น  แต่ยังรวมถึงชาวโปรตุเกส  ฮอลันดา  นับตั้งแต่ปี ค.ศ.1819  ชาวยุโรปได้เริ่มอพยพเข้ามาในสิงคโปร์อย่างต่อเนื่อง  ประกอบด้วย  คณะมิชชันนารี  พ่อค้าและนักธุรกิจ  ซึ่งบรรดาพ่อค้าและนักธุรกิจได้เดินทางเข้ามาในสิงคโปร์เพื่อจัดตั้งบริษัทตัวแทนสินค้า  โดยใช้เป็นแหล่งพักเก็บและระบายสินค้าระหว่างยุโรป  อินเดีย  และจีน  และระหว่างยุโรป  สยามและรัฐมาเลย์อื่นๆ   

            4.2  กลุ่มชาวยูเรเชียน  คือ  กลุ่มลูกผสมระหว่างบิดาชาวยุโรป  เช่น  โปรตุเกส  อังกฤษ  และฮอลันดา  กับมารดาชาวพื้นเมืองเอเชีย  โดยเริ่มอพยพเข้ามาตั้งแต่ก่อตั้งสถานีการค้าที่สิงคโปร์ในปี ค.ศ.1819  และชาวยูเรเชียนบางส่วนก็เกิดในสิงคโปร์  แต่ส่วนใหญ่ชาวยูเรเชียนอพยพมาจากปีนัง  ศรีลังกา  และอินเดีย  จึงทำให้ชาวยูเรเชียนในสิงคโปร์มักจะเป็นลูกผสมระหว่างชาวอังกฤษกับชาวอินเดีย (Anglo-Indian Eurasian)  โดยทั่วไปพบว่าชาวยูเรเชียนมีอาชีพต่างๆ อาทิ นักธุรกิจ  ข้าราชการ  และทนายความ  และมีวิถีชีวิตแบบตะวันตก  เช่น  การตั้งชื่อแบบตะวันตก  การใช้ภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวันและนับถือศาสนาคริสต์

             4.3  กลุ่มชาวยิว  พวกนี้มาจากหลากหลายกลุ่มอาชีพ  ทั้งจากตะวันออกกลาง  ยุโรป  บางส่วนมาจากอินเดียและตะวันออกกลาง  มีเรื่องเล่าว่าชาวยิวกลุ่มแรกที่เข้ามาสู่สิงคโปร์เป็นยิว 9 คนจากแบกแดด  เข้ามาเมื่อ ค.ศ. 1830  พวกนี้พูดภาษาอารบิก  ฮีบรู  ฮินดี  และมักใส่ชุดอาหรับ

             4.4  กลุ่มชาวอาร์เมเนีย  ส่วนใหญ่มาจากอินโดนีเซีย  แต่ก็มีบางกลุ่มที่มาจากกัลกัตตา  ประเทศอินเดีย

             4.5  กลุ่มชาวอาหรับ  ชาวอาหรับเป็นพ่อค้าอีกกลุ่มหนึ่งที่ทำการติดต่อค้าขายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาแต่อดีตกาล  โดยกลุ่มนี้จะตั้งถิ่นฐานอยู่ในแถบกัมปงกลาม  เช่นเดียวกับชาวมลายู  ใน Old Singapore  เล่าถึงตระกูลพ่อค้าอาหรับคนสัญในสิงคโปร์  เช่น  Alsagoffs, Aljuneids, Alkaffs Talibs เป็นต้น  โดยกล่าวถึงที่มาของตระกูลเหล่านี้ว่า  บรรพบุรุษของพวก Alsagoffs ได้เดินทางมาค้าขายเครื่องเทศและเปิดสาขากิจการที่สิงคโปร์ เมื่อ ค.ศ.1824 โดยไดแต่งงานกับลูกสาวของ Hajjah Fatimah ที่สืบสายมาจากสุลต่านแห่งเซลีเบส  ตระกูลนี้มีอสังหาริมทรัพย์หลายแห่งในสิงคโปร์และเป็นเจ้าของเรือกลไฟหลายลำในอ่าวสิงคโปร์  พวก Alkaffs มาตั้งรกรากที่สิงคโปร์เมื่อ ค.ศ. 1852 เริ่มจากการเป็นพ่อค้าขายเครื่องเทศ  เสื้อผ้า  เป็นต้น

             พ่อค้าอาหรับคนสำคัญอีกคนหนึ่งจากตระกูล Aljuneids คือ Omar Aljuneid เขาเป็นผู้ก่อตั้งมัสยิดและสุสานของชาวมุสลิมแห่งแรกในสิงคโปร์  บรรพบุรุษของเขามาจากเยเมนในตะวันออกกลาง  ซึ่งอาหรับกลุ่มนี้ค้าขายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  ตั้งแต่กลางคริสต์ศตวรรษที่ 18  มีแหล่งการค้าอยู่ที่ชวา  สุมาตรา  สิงคโปร์  และมีเครือข่ายความสัมพันธ์ทางการค้าอยู่ที่ชวา

             สภาพสังคมสิงคโปร์จึงมีความเป็นพหุสังคม (Plural Society)  ที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ  ภาษา  ศาสนา  และวัฒนธรรม  อันประกอบด้วยกลุ่มชนเชื้อชาติหลัก 4 กลุ่ม คือ  จีน  มาเลย์  อินเดีย  และอื่นๆ ทำให้เกิดการแบ่งแยกชุมชนออกไปตามลักษณะเชื้อชาติ  ภาษา  และศาสนาขึ้นภายในสังคมโดยรวม  ดังเช่น  นักเขียนสมัยอาณานิคมได้บันทึกไว้ว่า (กนิษฐา จานเขื่อง, 2546, pp. 28-42)

 

ความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มชนเชื้อชาติต่างๆ จะยุติลงในเวลาห้าโมงเย็นของทุกวัน 

ซึ่งเป็นเวลาเลิกงานของชาวจีน  ชาวมาเลย์  ชาวอินเดีย  และชาวยุโรป 

หลังจากนั้นพวกเขาก็เริ่มกลับไปสู่ย่านชุมชนของตน 

เพื่อพบปะสังสรรค์และผสมผสานกันภายในหมู่สมาชิกเฉพาะกลุ่มของตนเอง

บรรณานุกรม

    โคริน เฟื่องเกษม. (2554). สิงคโปร์ภายใต้สามผู้นำ. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์เดือนตุลา จำกัด.

    กนิษฐา จานเขื่อง. (2546). นโยบายการเคหะแห่งชาติกับการพัฒนาประเทศสิงคโปร์ (ค.ศ. 1960-2000). กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

    ดวงธิดา ราเมศวร์. (2555). ประวัติศาสตร์ประเทศในกลุ่มอาเซียน (2) เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ บรูไน. กรุงเทพฯ: แพรธรรม.

    ประสิทธิ์ สีปรีชา. (2557). บทความปริทรรศน์ : กระบวนทัศน์การศึกษาชาติพันธุ์สัมพันธ์. สังคมลุ่มน้ำโขง, 221.

    พัชรินทร์ สวนฐิตะปัญญา. (2541). มาเลเซีย : เอกภาพกับการศึกษา. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.

    วิทย์ บัณฑิตกุล. (2555). สาธารณรัฐสิงคโปร์. กรุงเทพฯ: สถาพรบุ๊คส์ จำกัด.

    สุเทพ สุนทรเภสัช. (2548). ชาติพันธุ์สัมพันธ์. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ.

    อภิวันท์ อดุลยพิเชฏฐ์. (2556). ประวัติศาสตร์สิงคโปร์. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ.