สิงคโปร์ - ข้อมูลพื้นฐาน



เมืองหลวง: สิงคโปร์


ที่ตั้ง: ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริเวณปลายสุดของแหลมมลายู ตั้งอยู่ห่างจากเส้นศูนย์สูตรไปทางทิศเหนือ 137 กม. พื้นที่ทั้งหมด (2556) 715.8 ตร.กม. ทั้งนี้ สิงคโปร์ขยายประเทศด้วยการถมทะเลเพื่อให้เพียงพอต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ รัฐบาลมีแผนขยายพื้นที่เพิ่มอีก 100 ตร.กม. ภายในปี 2573 ระยะทางจากทิศ ตะวันออกถึงตะวันตกยาว 49 กม.และทิศเหนือจรดทิศใต้ยาว 25 กม. ชายฝั่งยาว 197 กม.

ทิศเหนือ            ติดกับช่องแคบยะโฮร์ (มาเลเซีย) 1 กม.

ทิศตะวันออก     จรดทะเลจีนใต้ ห่างจากเกาะปาลาวันของฟิลิปปินส์ 1,770 กม. และห่างจาก จ.กาลิมันตัน ตต.ของอินโดนีเซีย 586 กม.

ทิศใต้                ติดกับช่องแคบมะละกา ห่างจากเกาะเรียว (อินโดนีเซีย) 125 กม.

ทิศตะวันตก       ติดกับช่องแคบยะโฮร์ ห่างจากรัฐยะโฮร์ 3 กม.

 

เวลา: SST (UTC+8) เร็วกว่าประเทศไทย 1 ชั่วโมง

 

ภูมิประเทศ : ประกอบด้วยหมู่เกาะใหญ่ 1 เกาะ คือ เกาะสิงคโปร์ และ 62 เกาะ จุดสูงสุดของประเทศสิงคโปร์อยู่บนยอดเขา บูกิต ติมาห์ (Bukit Timah Hill) ที่ระดับความสูง 166 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล (545 ฟุต) มีการพยายามเพิ่มพื้นที่เกาะด้วยการถมทะเลจากเดิมในปีทศวรรษที่ 1960 ที่มีขนาด 581.5 ตารางกิโลเมตร จนกระทั่งปัจจุบันมีขนาด 710 ตารางกิโลเมตร ซึ่งทำให้ประเทศสิงคโปร์มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 189 ของโลก อย่างไรก็ตาม ประเทศสิงคโปร์อาจมีพื้นที่เพิ่มขึ้นอีก 100 ตารางกิโลเมตร ในปี ค.ศ. 2030 อันเกิดจากโครงการถมปรับปรุงพื้นที่รวมเกาะเล็กๆ เข้าด้วยกันเพื่อเพิ่มขนาดพื้นที่ของประเทศ โดยโครงการที่เป็นที่กล่าวถึง เช่น การถมเกาะเซมาเกาที่ใช้ด้วยซากขยะที่เหลือจากการเผาและขยะที่ไม่สามารถเผาได้มาถม จากนั้นปรับปรุงพื้นที่ให้เป็นแหล่งปลูกพฤกษาชาติและส่งเสริมให้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยว   พื้นที่ 5% ของสิงคโปร์ถือเป็นพื้นที่เขตสงวนธรรมชาติ ส่วนพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมดของประเทศนั้นมีเพียงแค่ 250 เอเคอร์ (ประมาณ 1.01 ตารางกิโลเมตร) แม้จะเป็นเกาะแต่ประเทศสิงคโปร์ก็มีลักษณะภูมิประเทศที่หลากหลาย โดยเกาะใหญ่หรือเกาะสิงคโปร์มีเทือกเขาสูง ส่วนทิศตะวันออกของเกาะเป็นที่ราบลุ่ม รองรับน้ำและดินทรายที่พัดมาจากแม่น้ำ ในอดีต ประเทศสิงคโปร์มีธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ เต็มไปด้วยเป็นป่าไม้เมืองร้อนและมีหนองน้ำที่เต็มไปด้วยต้นโกงกาง อย่างไรก็ตาม ภายใต้การพัฒนาประเทศ พื้นที่ดังกล่าวจึงลดลงและทดแทนด้วยสิ่งปลูกสร้างและอาคารบ้านเรือนของประชาชน (สำนักข่าวกรองแห่งชาติ,2557,ออนไลน์)

 

ภูมิอากาศ : มีลักษณะความชื้นเช่นเดียวกับพื้นที่เส้นศูนย์สูตรอื่น โดยมีความชื้นสูง ฝนตกตลอดปี และมีฝนตกหนักช่วง พ.ย. – ม.ค. อากาศร้อนที่สุดอยู่ในช่วงเดือน เม.ย.- พ.ค.) อุณหภูมิต่ำสุดและสูงสุดเฉลี่ย 24 และ 31 องศาเซลเซียส ส่วนเดือน พ.ย.- ม.ค.เป็นช่วงที่ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ จึงเป็นช่วงมรสุมและฝนตกชุก และช่วงเดือน มิ.ย.- ก.ย.เป็นช่วงลมมรสุมจากทิศตะวันตกเฉียงใต้ ที่ตั้งของประเทศสิงคโปร์ถือว่าปลอดภัยจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ เนื่องจากมิได้อยู่ในเขตแผ่นดินไหวหรือพายุไต้ฝุ่น นอกจากนี้ สิงคโปร์ยังเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ประสบปัญหาหมอกควันจากไฟป่าที่พัดมาจากประเทศอินโดนีเซียในช่วงเดือน ก.ค.-ต.ค.

 

อุณหภูมิเฉลี่ยของประเทศสิงคโปร์

            ช่วงเดือนธันวาคมถึงมกราคม       กลางวัน 32°C (86°F) และกลางคืน 25°C (76°F)

            ช่วงเดือนอื่นๆ ที่เหลือ                   กลางวัน 33°C (92°F) และกลางคืน 26°C (81°F)

 

ศาสนา: พุทธ    อิสลาม   เต๋า  คริสต์ และ ฮินดู

 

ภาษา:  ภาษาราชการมี 4 ภาษา คือ มาเลย์ อังกฤษ จีนกลาง และทมิฬ

 

การศึกษา: สิงคโปร์มีนโยบายให้การศึกษาแก่เด็กทุกคนและส่งเสริมให้เด็กได้เรียนรู้และพัฒนาความถนัดและศักยภาพของตนเอง อีกทั้งส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต นอกจากนี้ ยังส่งเสริมให้มีความสามารถทางภาษาอย่างน้อย  2 ภาษา (ภาษาอังกฤษและภาษาแม่) ระบบการศึกษาภาคบังคับ 10 ปี แบ่งเป็นระดับประถมศึกษา 6 ปี และมัธยมศึกษา 4 ปี อัตราการรู้หนังสือ 96.5 %  (สำนักข่าวกรองแห่งชาติ,2558,น.559)

 

การก่อตั้งประเทศ

ประวัติศาสตร์

           ประเทศสิงคโปร์ หรือชื่ออย่างเป็นทางการคือ สาธารณรัฐสิงคโปร์ (Republic of Singapore) มีชื่อเดิมว่า "ผูลัวจง" (Pu-Luo-Chung) ซึ่งเรียกโดยชาวจีนตั้งแต่ศตวรรษที่ 3 คำนี้มีความหมายว่า "เกาะที่อยู่ตอนท้ายของแหลมมลายู"

            ตามตำนานเล่าว่า แต่เดิมเกาะนี้ชื่อว่า เตมาเส็ก (Temasek) ซึ่งแปลว่า "เมืองทะเล" ถือเป็นด่านชั้นนอกของอาณาจักรศรีวิชัยแถบสุมาตรา ต่อมาในปี ค.ศ. 1299 เจ้าชายองค์หนึ่งจากเมืองปาเล็มบัง (Palembang) ของอาณาจักรศรีวิชัย นามว่า สัง นิลา อุตามา (Sang Nila Utama) ล่องเรือเพื่อหาทำเลที่ตั้งเมืองใหม่ เขาจอดเรือแวะพักที่เกาะริเอา (Riau Islands) และออกล่าสัตว์บนเกาะใกล้เคียง ระหว่างที่ปีนหน้าผาเพื่อตามกวาง เจ้าชายก็มองเห็นเกาะแห่งหนึ่งเต็มไปด้วยหาดทรายขาว เมื่อถามคนติดตามก็ได้รู้ว่า เกาะนั้นคือเกาะเตมาเส็ก เจ้าชายจึงตัดสินใจล่องเรือออกไปยังเกาะนั้น แต่ระหว่างทางเกิดลมพายุและคลื่นยักษ์ ทำให้เรือโคลงไปมาจึงต้องทิ้งข้าวของบนเรือเพื่อทำให้เรือมีน้ำหนักเบาลง แต่กระนั้น        น้ำทะเลก็ไหลเข้าเรือไม่หยุด ไต้ก๋งเรือจึงแนะนำให้เจ้าชายทิ้งมงกุฎลงทะเลเพื่อมอบเป็นของกำนัลแก่เจ้าแห่งท้องทะเล ซึ่งแท้จริงก็เป็นปู่ของเจ้าชายเอง หลังจากทิ้งมงกุฎลงมหาสมุทร คลื่นลมพายุก็สงบลง เจ้าชายจึงสามารถล่องเรือถึงจุดหมายได้อย่างปลอดภัย

            เจ้าชายสัง นิลา อุตามา จอดเรือยังที่หนึ่ง ซึ่งเป็นปากแม่น้ำสิงคโปร์ในปัจจุบัน จากนั้นก็ออกล่าสัตว์ ระหว่างทาง เจ้าชายพบกับสัตว์ประหลาด มีตัวสีส้ม หัวสีดำ มีแผงอกถึงคอเป็นสีขาว รูปร่างองอาจ วิ่งเร็วหายเข้าไปในป่า เจ้าชายสอบถามจากผู้ติดตามจึงได้รู้ว่าสัตว์นั้นอาจเป็นสิงโต เจ้าชายเชื่อว่าสิ่งนี้เป็นนิมิตหมายที่ดี จึงตั้งชื่อเกาะนี้ใหม่ว่า สิงกะปุระ (Singapura) แปลว่า "ดินแดนแห่งสิงโต" และสร้างเมืองขึ้นบนเกาะนี้ในปี ค.ศ. 1324 เจ้าชายสัง นิลา อุตามา ปกครองเมืองนี้นานถึง 48 ปี ระหว่างนั้นก็ผูกสัมพันธ์ไมตรีอย่างดีกับจักรพรรดิของจีน

            ระหว่างที่อาณาจักรศรีวิชัยกำลังล่มสลาย ในศตวรรษที่ 14 สิงคโปร์กลายเป็นเมืองที่แข็งแกร่งและเป็นศูนย์กลางแห่งการค้า กระทั่งศตวรรษที่ 15 สิงคโปร์ก็ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของอาณาจักรมัชปาหิตโดยสุลต่านแห่งมะละกา ในปี ค.ศ. 1511 หลังจากมะละกาตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของโปรตุเกส เกาะสิงคโปร์ก็ตกอยู่ภายใต้อำนาจของสุลต่านแห่งยะโฮร์ และในศตวรรษที่ 17 ก็ตกอยู่ภายใต้การปกครองของฮอลันดา (กมลรัตน์ ศีลประเสริฐ,2557,น.17)

 

การก่อตั้งประเทศสมัยใหม่

            สิงคโปร์อยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษตั้งแต่ ปี  1832  และถูกญี่ปุ่นยึดครองเป็นเวลาสั้น ๆ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี 1953 อังกฤษทบทวนรัฐธรรมนูญของสิงคโปร์และร่างใหม่พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้สิงคโปร์ปกครองตนเองมาขึ้น ทำให้มีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกในปี 1955 และได้รับสิทธิในการดูแลกิจการภายในของตนเองอย่างเต็มที่เมื่อปี 1958 หลังการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 1959 พรรคกิจประชาชนได้รับชัยชนะ นายลีกวนยู ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรค ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หลังจากนั้นจึงร่วมมือกับพรรคคอมมิวนิสต์เพื่อขับไล่อังกฤษจนประสบความสำเร็จ ต่อมาสองฝ่ายแตกแยกกัน สิงคโปร์รวมตัวกับมาเลเซีย ซาราวัก บอร์เนียวเหนือ และบรูไน เป็นสหพันธรัฐมลายา เมื่อ 1 ก.ย.1962 และแยกตัวออกจากมาเลเซียเมื่อ 9 ส.ค.1965 และกลายเป็นวันชาติสิงคโปร์ (9 ส.ค.)

 

การเมือง

           ประเทศสิงคโปร์ได้จัดตั้งเป็น สาธารณรัฐสิงคโปร์ (Republic of Singapore) ในเดือนธันวาคม ปี ค.ศ. 1965 โดยรัฐธรรมนูญฉบับ ค.ศ. 1965 ระบุให้สิงคโปร์ปกครองตามระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา (Parliamentary Democracy) มีทั้งประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรี ประกอบด้วยสถาบันทางการเมือง 3 ฝ่ายเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตย โดยมีรัฐสภา ซึ่งเป็นรัฐสภาแบบเดี่ยว ทำหน้าที่นิติบัญญัติ มีนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีเป็นฝ่ายบริหาร มีประธานาธิบดีเป็นประมุขของประเทศ และมีศาลทำหน้าที่ตุลาการ  (กมลรัตน์ ศีลประเสริฐ,2557,น.92)

            ตำแหน่งประธานาธิบดีของประเทศสิงคโปร์ ถือเป็นประมุขของรัฐ แต่เดิมได้ตำแหน่งมาจากการเลือกตั้งโดยรัฐสภา และไม่ค่อยมีอำนาจด้านการบริหาร ส่วนใหญ่มีหน้าที่ทางด้านพิธีการ แต่ในปี ค.ศ. 1991 ได้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญและกำหนดให้ประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน ให้อยู่ในตำแหน่งวาระละ 6 ปี โดยประธานาธิบดีมีอำนาจมากขึ้น สามารถใช้สิทธิ์ยับยั้งในเรื่องงบประมาณของรัฐ การจับกุมภายใต้กฎหมายความมั่นคง ประเด็นความขัดแย้งทางศาสนา ตลอดจนการคัดเลือก แต่งตั้งข้าราชการพลเรือนและทหาร และสามารถตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐบาลและสอบสวนในกรณีฉ้อราษฎร์บังหลวง

            สิงคโปร์รับเอาระบบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาอังกฤษ (Westminster System) เป็นแม่แบบ       แต่แตกต่างตรงที่สิงคโปร์เป็นระบบสภาเดี่ยว (Unicameral) ส่วนอังกฤษเป็นสภาคู่ (Bicameral)

 

ระบบการปกครองรัฐสภาเดี่ยว

            ประเทศสิงคโปร์ใช้ระบบรัฐสภาเดี่ยว (Unicameral Parliament) แต่มีสมาชิกรัฐสภาหลายประเภท ดังนี้

            1. สมาชิกรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้ง (Member of Parliament) จำนวน 81 คน แต่กำหนดให้ 21 คนมาจากการแข่งขันในเขตเลือกตั้งเดี่ยว (Single-Member Constituency) 21 เขต เขตละ 1 คน และสมาชิกอีก 60 คนมาจากการแข่งขันในเขตเลือกตั้งกลุ่ม (Group Representation Constituency) 15 เขต เขตละ 4 คน ซึ่งผู้สมัครในแต่ละเขตต้องสมัครเป็นทีม แต่ละทีมประกอบด้วยผู้สมัครพรรคเดียวกันหรือเป็นผู้สมัครอิสระทั้งทีมก็ได้ แต่ต้องมีอย่างน้อย 1 คนในทีมที่เป็นตัวแทนของชนกลุ่มน้อย (ชาวมาเลย์ อินเดีย และอื่น ๆ) เพื่อสอดรับกับลักษณะพหุสังคมของประเทศสิงคโปร์

            2. สมาชิกรัฐสภาที่มาจากการแต่งตั้ง (Nominated Member of Parliament) จำนวน 6 คน ที่มาจากผู้ทรงคุณวุฒิสาขาวิชาชีพต่างๆ ที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จัก ซึ่งคณะกรรมการเลือกตั้งของรัฐสภาจะเสนอชื่อให้ประธานาธิบดีแต่งตั้ง สมาชิกกลุ่มนี้จะมีอิสระในการแสดงความคิดเห็นเพราะไม่ได้ขึ้นอยู่กับอุดมการณ์หรือนโยบายของพรรคการเมืองใด สมาชิกประเภทนี้เริ่มขึ้นในปี ค.ศ. 1992 เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองและสร้างความเป็นกลางทางการเมืองเพิ่มขึ้น

            3. สมาชิกรัฐสภาที่มิได้เป็นตัวแทนจากเขตการเลือกตั้งใด (Non-Constituency Member of Parliament) จำนวน 3 คน ซึ่งแต่งตั้งมาจากสมาชิกพรรคการเมืองอื่นๆ ที่ไม่ใช่พรรครัฐบาลที่สมัครรับเลือกตั้งแต่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง เพื่อไม่ให้รัฐสภาถูกผูกขาดจากพรรคใดพรรคหนึ่งเพียงพรรคเดียว

           

พรรคการเมือง

            ระบบพรรคการเมืองของประเทศสิงคโปร์เป็นระบบหลายพรรค (Multi - Party System) เนื่องจากมีพรรคการเมืองจดทะเบียนไว้ถึง 23 พรรค เรียงตามปีที่จดทะเบียนจัดตั้งพรรค ดังนี้

            1.  พรรคชาวจีนสิงคโปร์ (Singapore Chinese Party) ก่อตั้งในปี ค.ศ. 1950

            2. พรรคเปอร์ซาตูอันมาลายูสิงคโปร์ (Persatuan Malayu Singapore) ก่อตั้งในปี ค.ศ. 1952

            3. พรรคปาไตรักยาด สาขาสิงคโปร์ (Partai Rakyat, Singapore State Division) ก่อตั้งในปี ค.ศ. 1956

            4. พรรคอังกาตันอิสลาม (Angakatan Islam) ก่อตั้งในปี ค.ศ. 1958

            5. พรรคกรรมกร (Workers' Party) ก่อตั้งในปี ค.ศ. 1961

            6. พรรคองค์การมาเลย์สิงคโปร์แห่งชาติ (Pertubohan Kebangsaan Melayu Singapore) ก่อตั้งในปี ค.ศ. 1961

            7. พรรคกิจประชา (People's Action Party) ก่อตั้งในปี ค.ศ. 1961

            8. พรรคสหประชาชน (United People's Party) ก่อตั้งในปี ค.ศ. 1961

            9. พรรคบารีซาน โชเซียลิส (Barisan Socialis) ก่อตั้งในปี ค.ศ. 1961

            10. พรรคสหประชาธิปัตย์ (United Democratic party) ก่อตั้งในปี ค.ศ. 1962

            11. พรรคคองเกรสอินเดียแห่งสิงคโปร์ (Singapore Indian Congress) ก่อตั้งในปี ค.ศ. 1962

            12. พรรคพันธมิตรแห่งสิงคโปร์ (Alliance Party Singapore) ก่อตั้งในปี ค.ศ. 1966

            13. พรรคสหแนวร่วมแห่งชาติ (United National Front) ก่อตั้งในปี ค.ศ. 1970

            14. พรรคแห่งชาติสิงคโปร์ (National Party of Singapore) ก่อตั้งในปี ค.ศ. 1971

            15. พรรคแนวร่วมประชาชน (The People's Front) ก่อตั้งในปี ค.ศ. 1971

            16. พรรคยุติธรรมแห่งสิงคโปร์ (Justice Party Singapore) ก่อตั้งในปี ค.ศ. 1972

            17. พรรคประชาธิปัตย์ก้าวหน้า (Democratic Progressive Party) ก่อตั้งในปี ค.ศ. 1973

            18. พรรคสาธารณรัฐประชาชน (People's Republican Party) ก่อตั้งในปี ค.ศ. 1973

            19. พรรคสหแนวร่วมประชาชน (United People's Front) ก่อตั้งในปี ค.ศ. 1975

            20. พรรคประชาธิปัตย์สิงคโปร์ (Singapore Democratic Party) ก่อตั้งในปี ค.ศ. 1980

            21. พรรคเอกภาพแห่งชาติ (National Solidarity Party) ก่อตั้งในปี ค.ศ. 1987

            22. พรรคแนวร่วมแห่งชาติสิงคโปร์ (Singapore National Front) ก่อตั้งในปี ค.ศ. 1991

            23. พรรคประชาชนแห่งชาติสิงคโปร์ (Singapore People's Party) ก่อตั้งในปี ค.ศ. 1994

             แม้สิงคโปร์จะมีพรรคการเมืองหลายพรรค แต่เมื่อพิจารณาผลการเลือกตั้งทั่วไปทั้งหมด 10 ครั้ง ตั้งแต่ประเทศสิงคโปร์ได้รับเอกราชและประกาศเป็นสาธารณรัฐสิงคโปร์ในปี ค.ศ. 1965 จะพบว่ามีเพียงพรรคการเมืองเดียวเท่านั้นที่ได้ที่นั่งในสภาเกือบทั้งหมด นั่นคือ "พรรคกิจประชา" ซึ่งทำให้พรรคการเมืองดังกล่าวได้จัดตั้งรัฐบาลตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

            อย่างไรก็ตาม แนวนโยบายด้านการเมืองของสิงคโปร์นั้นเห็นควรตามการบริหารจัดการที่มีคุณภาพสูง โดยรัฐบาลจะทบทวนระเบียบและประสิทธิภาพของและการยืดหยุ่นในการดำเนินโยบายอย่างต่อเนื่อง (สีดา สอนศรี ,2550 ,น.268)

 

เศรษฐกิจ

ภูมิหลังทางเศรษฐกิจ

            ประเทศสิงคโปร์มีระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมที่ส่งเสริมการค้าเสรี โดยรัฐบาลมีบทบาทสำคัญในการกำหนดและควบคุมกิจกรรมทางเศรษฐกิจด้านต่างๆ โดยรวมก็คือ รัฐบาลเป็นผู้ดูแล อำนวยความสะดวกให้เกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจ (ถนอมศักดิ์ จิรายุสวัสดิ์ ,2556 น.20)

            ในช่วงทศวรรษ 1870 มีการนำยางพาราจากบราซิลมาปลูกในสิงคโปร์ จนต่อมาทำให้ประเทศสิงคโปร์กลายเป็นแหล่งผลิตและส่งออกยางพารา และมีการส่งออกดีบุกในช่วง 40 ปี ระหว่าง ค.ศ. 1873-1913 การค้าของสิงคโปร์ขยายตัวถึง 700 เท่า จากนั้นการเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจของสิงคโปร์ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งเมื่อสิงคโปร์ตกอยู่ภายใต้การยึดครองของญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1942-1945 ภาวะเศรษฐกิจของสิงคโปร์ก็เริ่มชะลอตัว หลังจากนั้น สิงคโปร์ต้องพยายามอย่างหนักในการจัดการกับระบบเศรษฐกิจของตนเอง เนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงที่สิงคโปร์เข้ารวมในสหพันธรัฐมาเลเซีย และแยกตัวเองออกมาหลังจากที่รวมได้เพียง 2 ปี สิงคโปร์จึงต้องพยายามเอาชนะข้อจำกัดด้านพื้นที่และทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งทำให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศสิงคโปร์ต้องพึ่งพาประเทศเพื่อนบ้านที่ตนเองแยกตัวออกมา แต่อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ในช่วงทศวรรษ 1940 สิงคโปร์เจริญขึ้นมากในฐานะเมืองท่าเปิด และรัฐบาลเลือกนโยบายการค้าเสรีเป็นแกนหลักในการจัดการกับเศรษฐกิจของประเทศ

            ในช่วงทศวรรษ 1950 ระบบเศรษฐกิจของประเทศสิงคโปร์ขึ้นอยู่กับการดำเนินกิจการที่ใช้วัตถุดิบขั้นพื้นฐาน เช่น การตัดและแปรรูปไม้ การผลิตยางพารา การประมง การต่อเรือ การหลอมดีบุก การปลูกพืช ผัก ผลไม้ เลี้ยงเป็ดไก่ เพื่อบริโภคในประเทศ

            เมื่อสิงคโปร์แยกตัวเป็นสาธารณรัฐสิงคโปร์ นโยบายเศรษฐกิจก็มีความชัดเจนอย่างมาก  ในทศวรรษ 1960 รัฐบาลสิงคโปร์เริ่มปรับปรุงระบบเศรษฐกิจโดยเน้นด้านการค้าระหว่างประเทศ และการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมขนาดย่อมและขนาดกลางซึ่งใช้แรงงานคนในการประกอบการ มีการเปิดโอกาสให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนอย่างเต็มที่ ในปี ค.ศ. 1968 รัฐบาลอุดหนุนการก่อตั้งธนาคารเพื่อการพัฒนา และตั้งบริษัทเพื่อการค้าขาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้ดูแลเรื่องการตลาดและการลงทุน

            ในทศวรรษ 1970 เศรษฐกิจของสิงคโปร์เน้นการส่งออกมากขึ้น มีการจ้างงานอย่างเต็มที่จนขาดแคลนแรงงานและต้องว่าจ้างแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน กลยุทธ์ที่รัฐบาลใช้ในการดูแลระบบเศรษฐกิจในยุคนี้คือการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ใช้ทุนและเทคโนโลยีระดับสูง รวมทั้งให้ความสนใจกับธุรกิจภาคบริการ นโยบายเศรษฐกิจเช่นนี้มีส่วนช่วยให้สิงคโปร์รอดพ้นจากวิกฤตการณ์น้ำมันและภาวะถดถอยของเศรษฐกิจโลกในกลางศตวรรษที่ 1970 ซึ่งสร้างผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการผลิตและการค้า

            เมื่อเข้าช่วงทศวรรษ 1980 สิงคโปร์ยังเน้นการพัฒนาประเทศให้เป็นศูนย์กลางทางการค้า   แต่กระนั้น การค้าเพียงอย่างเดียวก็ไม่อาจช่วยให้สิงคโปร์มั่นคงในตลาดโลกได้ สิงคโปร์จึงมุ่งเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูงและอุตสาหกรรมด้านสารสนเทศ ด้านโทรคมนาคม และในช่วงทศวรรษที่ 1990 นโยบายเศรษฐกิจของสิงคโปร์ก็เน้นทั้งภาคการผลิตด้านอุตสาหกรรมและภาคให้บริการควบคู่กันไป รัฐบาลสิงคโปร์ส่งเสริมให้กิจการธุรกิจกระจายการผลิตให้หลากหลาย ยกระดับความเชี่ยวชาญในการผลิต ส่งเสริมการผลิตด้านไอโอเทคโนโลยี ด้านคอมพิวเตอร์และด้านอวกาศ และเน้นสร้างแผนการลงทุนร่วมกัน (Co-Investment) กับบรรษัทข้ามชาติในธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูง

            ภายใต้ข้อจำกัดด้านทรัพยากร สิงคโปร์จึงผันตัวเองเป็นประเทศด้านการผลิตที่ใช้แรงงานราคาสูงและใช้เทคโนโลยีสูงเพื่อแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านที่สามารถดึงดูดการลงทุนด้วยจุดขายเรื่องแรงงานราคาถูก

            โดยทั่วไป ภาคการผลิตทั้งหมดของสิงคโปร์มีการขยายตัวอย่างมาก มาตรฐานการครองชีพ (Standard of Living) สิงคโปร์เป็นอันดับสองของโลกรองจากญี่ปุ่น รัฐบาลสิงคโปร์จัดสรรที่อยู่อาศัยให้แก่ประชากรถึงร้อยละ 86 โดยที่ผู้พักอาศัยเหล่านั้นเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยถึงร้อยละ 90 ในปี ค.ศ. 1990 สิงคโปร์ได้รับการจัดให้เป็นประเทศในเอเชียที่มีความเสี่ยงทางธุรกิจต่ำเป็นอันดับสองรองจากญี่ปุ่น มีเมืองท่าที่คึกคักและทำกำไรสูงสุด เป็นแหล่งเงินทุนที่ดีที่สุดเป็นอันดับสามรองจากสวิสเซอร์แลนด์และญี่ปุ่น และกลายเป็นศูนย์กลางทางการเงินระหว่างประเทศในระดับโลกได้

            ในปัจจุบัน สิงคโปร์ยังเน้นการลงทุนในต่างประเทศ โดยการลงทุนเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินแผนการขยายตัวระดับภูมิภาค ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1990 การลงทุนของบรรษัทการลงทุนของรัฐบาล (Government of Singapore Investment Corporation) และบริษัทเทมาเส็ก โฮลดิ้ง ทำรายได้ถึง 1 ใน 10 ของระบบเศรษฐกิจสิงคโปร์ทั้งหมด และยังคงเดินหน้าขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่องทั้งในด้านโทรคมนาคม สื่อมวลชน การเงิน อสังหาริมทรัพย์ การขนส่งและโลจิสติกส์

            อย่างไรก็ตาม สิงคโปร์อยู่ระหว่างการดำเนินแผนปฏิรูปเศรษฐกิจระยะยาว 10 ปี (2010 - 2020) มีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน 3 ด้าน โดยจะส่งเสริมแรงงานทุกประเภทให้มีทักษะเพิ่มขึ้นและเพิ่มผลผลิตได้ 2 – 3 % ต่อปี  และสนับสนุนการลงทุนของบรรษัทข้ามชาติและธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ทางด้านการจัดการอุตสาหกรรมได้ปรับการผลิตที่ใช้เครื่องจักรผลิตสินค้าเป็นอุตสาหกรรมที่มุ่งการผลิตจากความรู้และความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์  ในส่วนนโยบายด้านเศรษฐกิจของสิงคโปร์นั้น           กระทรวงการคลังสิงคโปร์ประกาศเป้าหมายสำคัญ 6 ประการเพื่อส่งเสริมให้เศรษฐกิจเติบโตก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องในอนาคต  (สำนักข่าวกรองแห่งชาติ,2557,ออนไลน์) สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

1. Economic growth that sustainable:โดยบ่งชี้ส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมสำคัญที่ทำให้เกิดการเติบโต การสร้างโอกาสการจ้างงาน และพัฒนาบุคลากรให้สามารถแข่งขันได้กับนานาชาติ

2. Having a strong social security framework: ให้ความมั่นใจ สร้างเสถียรภาพด้านการเงิน ส่งเสริมและพัฒนาการรักษาสุขภาพ อนามัย และที่พักอาศัยซึ่งประชากรสามารถจ่ายได้โดยไม่มีความลำบาก

3. A world-class environment and infrastructure: ให้เป็นเมืองที่มีชีวิตชีวาของโลก การคมนาคมขนส่งสะดวกและสภาวะแวดล้อมรักธรรมชาติ

4. A Singapore that is secure and influential: การเตรียมพร้อมสำหรับช่วงวิกฤตต่างๆ และสร้างให้มีความเป็นอยู่ที่ดี

5. Having strong families, cohesive society: ให้มีการศึกษาที่ได้ระดับนานาชาติ ให้ความสำคัญต่อประชากร

6. Effective government: สร้างบุคลากรให้เป็นผู้นำ ควบคุมมวลชนให้ตั้งอยู่ในความสงบและปราศจากอาวุธ ปราบการคอร์รัปชั่น เจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติงานด้วยความตั้งใจและสุจริต และการใช้เครือข่ายข้อมูลให้เป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย

 

สกุลเงิน: ดอลลาร์สิงคโปร์ (SDG)

 

สังคมและวัฒนธรรม

สภาพสังคมในปัจจุบัน

            สภาพความเป็นอยู่ของคนสิงคโปร์เป็นพหุสังคม ประกอบด้วยคนหลายเชื้อชาติ ไม่ว่าจะเป็น จีน อินเดีย มาเลย์ และอื่นๆ อยู่ร่วมกันด้วยความสงบสุข ไม่ค่อยมีปัญหาความขัดแย้งทางเชื้อชาติดังเช่นประเทศอื่นๆ ส่วนใหญ่พักอาศัยที่แฟลตสูงตามย่านต่างๆ ได้แก่ 1.อาหรับสตรีท (Arab Street) และกัมปง กีลาม (Kampong Glam) เป็นย่านมาเลย์มุสลิม 2. ไชน่าทาวน์ (China Town) เป็นแหล่งธุรกิจของชาวจีนซึ่งมีวัดศรีมาริอัมมันต์ (Sri Mariamman Temple) ของอินเดีย ตั้งอยู่ใกล้ๆ วัดจีน กลางไชน่าทาวน์ 3. ลิตเติ้ลอินเดีย (Little India) เป็นย่านคนอินเดีย ที่มีศาลเจ้าและมัสยิดรวมอยู่ด้วย ชาวสิงคโปร์อยู่ในสภาวะเร่งรีบในการเดินทางและการทำงาน ชีวิตประจำวันส่วนใหญ่อยู่กับงาน เมื่อหลังเลิกงาน ใช้เวลานอกบ้านเพื่อรับประทานอาหารหรือพักผ่อนโดยการเดินซื้อของหรือดูหนัง ฟังเพลง ส่วนการพักผ่อนในช่วงสุดสัปดาห์นิยมไปสวนสาธารณะ ชายหาด หรือเกาะเซนโตซา

           

ประชากร

จำนวนประชากร             5.567 ล้านคน

เชื้อชาติ                         ชาติพันธุ์จีน 74.2%

ชาติพันธุ์มาเลย์              13.4% 

ชาติพันธุ์อินเดีย              9.2%

และกลุ่มอื่นๆ รวมทั้งลูกครึ่งเอเชียยุโรปอีก 3.3% (โครงการสื่อการเรียนรู “อาเซียน กูรู”,2557,น.15)

 

            สิงคโปร์มีประชากรราว 5.567 ล้านคน (ปี 2015) โดย 62% ของจำนวนทั้งหมดคือพลเมืองสัญชาติสิงคโปร์ในขณะที่อีก 38% ที่เหลือคือผู้อยู่อาศัยถาวร (Permanent Residents) ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นแรงงานหรือนักศึกษาต่างชาติ ประชากรสิงคโปร์ 23% เกิดนอกประเทศ ลักษณะของประชากรในด้านชาติพันธุ์มีความหลากหลาย โดยหลักประกอบด้วย ชาติพันธุ์จีน 74.2% ชาติพันธุ์มาเลย์ 13.4%  ชาติพันธุ์อินเดีย 9.2% และกลุ่มอื่นๆ รวมทั้งลูกครึ่งเอเชียยุโรปอีก 3.3% ซึ่งก่อนหน้าปี ค.ศ. 2010 รัฐบาลสิงคโปร์อนุญาตให้ประชาชนลงทะเบียนเชื้อชาติตามเชื้อชาติของบิดาเท่านั้น เพราะฉะนั้นในการทำสำมะโนประชากรจึงเป็นการจัดกลุ่มตามเชื้อชาติของบิดาเป็นหลัก แต่หลังจากปี 2010 เป็นต้นมา รัฐบาลอนุญาตให้ประชาชนลงทะเบียนโดยระบุเชื้อชาติได้ถึงสองเชื้อชาติคือมีเชื้อชาติหลัก และเชื้อชาติรอง

            อายุเฉลี่ยของประชากรสิงคโปร์คือ 37 ปี ส่วนขนาดครอบครัวเฉลี่ยคือ 3.5 คน ครอบครัวส่วนใหญ่จ้างคนทำงานบ้านมาอยู่ด้วย โดยส่วนใหญ่เป็นแรงงานจากประเทศฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย อัตราการเกิด ณ ปี 2012 อยู่ที่ 0.78 ซึ่งถือว่าต่ำที่สุดในโลก ด้วยเหตุนี้รัฐบาลจึงต้องเปิดรับคนอพยพมาตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน (ปี2009) ประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ของประชากรเป็นชาวต่างชาติซึ่งมีบทบาทอย่างมากต่อเศรษฐกิจของประเทศสิงคโปร์ ทั้งนี้เพราะเกือบ 80 เปอร์เซ็นต์ของคนเหล่านี้ทำงานในภาคการก่อสร้าง และอีกกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ทำงานในภาคอุตสาหกรรมการให้บริการ (กมลรัตน์ ศีลประเสริฐ ,2557 น.149)

 

วัฒนธรรม

            ประชากรสิงคโปร์มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ อีกทั้งส่วนใหญ่ยังยึดถือธรรมเนียมปฏิบัติดั้งเดิม ทำให้สิงคโปร์มีวัฒนธรรมหลากหลายทั้งทางด้านอาหาร การแต่งกาย ตลอดจนการเซ่นไหว้วิญญาณบรรพบุรุษ และความเชื่อในองค์เทพเจ้าที่แตกต่างกันไป ชาวจีนส่วนมากบูชาเจ้าแม่กวนอิม ธิดาแห่งความสุข กวนอูเทพ เทพเจ้าแห่งความยุติธรรม รวมถึงเทพเจ้าจีนองค์อื่น ๆ ขณะที่ชาวฮินดูบูชาเทพเจ้าแห่งดวงอาทิตย์ เป็นต้น

ดอกไม้ประจำชาติ คือ ดอกกล้วยไม้แวนด้าโจควิม (Vanda Miss Joaquim) โดยตั้งชื่อตามผู้ผสมพันธุ์ คือ Miss Agnes Joaquim จัดเป็นดอกกล้วยไม้ที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดในประเทศสิงคโปร์ มีสีม่วงสดสวยงามและเบ่งบานอยู่ตลอดทั้งปี และกลายเป็นดอกไม้ประจำชาติสิงคโปร์ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1981 (พ.ศ. 2524)

 

ศาสนา

           ศาสนาพุทธ 33% (ส่วนใหญ่เป็นนิกายมหายานแบบจีน) ศาสนาคริสต์ 18% ไม่นับถือศาสนา 17% อิสลาม 15% เต๋า 11% ฮินดู 5.1% และอื่นๆ 0.9% (ปี 2011) นิกายศาสนาพุทธที่ปรากฏในสังคมสิงคโปร์ทั้งหมด 3 นิกายหลัก ได้แก่ เถรวาท มหายาน และวัชรยาน โดยส่วนใหญ่แล้วจะเป็นนิกายจะมหายานซึ่งเป็นที่แพร่หลายในหมู่ชาวจีนซึ่งได้รับการเผยแพร่มาจากพระจากไต้หวันและจีนเมื่อหลายสิบปีมาแล้ว ส่วนพุทธแบบเถรวาทแบบไทยเริ่มเป็นที่แพร่หลายในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมาโดยการเผยแพร่ของพระจากประเทศไทย นอกจากนี้ยังมีองค์กรพุทธอื่นๆเช่นองค์กรโซกะ กักเกอิ (Soka Gakkai International) จากประเทศญี่ปุ่น และศาสนาพุทธแบบทิเบตเริ่มเป็นที่แพร่หลายในสังคม อย่างไรก็ตามแนวโน้มของผู้ที่นับถือศาสนาพุทธเริ่มลดลง

 

ภาษา           

           คนสิงคโปร์ใช้ภาษาจีนกลาง 49.9% อังกฤษ 32.3% มาเลย์ 12.2% และทมิฬ 3.3%  แต่ภาษาประจำชาติคือ ภาษามาเลย์ และภาษาราชการมี 4 ภาษา คือ ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน      กลาง ภาษาทมิฬ และภาษามาเลย์ สำหรับภาษาธุรกิจและการบริหารมักใช้ภาษาอังกฤษ

           ชาวสิงคโปร์ส่วนใหญ่พูดได้สองภาษา คือภาษาแม่ของตนและภาษาอังกฤษ นอกจากนี้ สิงคโปร์ยังมีภาษาอังกฤษแบบสิงคโปร์ หรือที่เรียกกันว่า Singlish ซึ่งเป็นภาษาอังกฤษที่ผสมภาษาอื่นๆ โดยเฉพาะภาษาจีน ที่ใช้กันเฉพาะในสิงคโปร์ แต่รัฐบาลสิงคโปร์ไม่สนับสนุนภาษา Singlish เท่าใดนัก

 

การศึกษา

            ระบบการศึกษาของสิงคโปร์แบ่งออกเป็นระดับประถม 6 ปี ระดับมัธยมศึกษา 4 ปี ซึ่งรวมแล้วเป็นการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างน้อย 10 ปี แต่ผู้ที่จะเข้าศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยจะต้องศึกษาขั้นเตรียมมหาวิทยาลัยอีก 2 ปี โดยการศึกษาภาคบังคับของสิงคโปร์จะต้องเรียนรู้ 2 ภาษาควบคู่กันไป ได้แก่ ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลัก และเลือกเรียนภาษาแม่ (Mother Tongue) อีก 1 ภาษา คือ จีน (แมนดาริน) มาเลย์ หรือทมิฬ (อินเดีย)

            รัฐบาลสิงคโปร์ให้ความสำคัญกับการศึกษามาก โดยถือว่าประชาชนเป็นทรัพยากรที่สำคัญ และมีค่าที่สุดของประเทศ ในการนี้ รัฐบาลได้ให้การอุดหนุนด้านการศึกษาจนเสมือนกับเป็นการศึกษาแบบให้เปล่า โรงเรียนในระดับประถม และมัธยมล้วนเป็นโรงเรียนของรัฐบาลหรือกึ่งรัฐบาล ส่วนสถานศึกษาเอกชนในสิงคโปร์ทุกแห่งต้องขึ้นทะเบียนกับกระทรวงศึกษา

            มหาวิทยาลัยหลักของประเทศสิงคโปร์ ได้แก่

        1. มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (National University of Singapore: NUS)

        2. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนานยาง (Nanyang Technological University)

        3. มหาวิทยาลัยการจัดการสิงคโปร์ (Singapore Management University: SMU)

            โดยมหาวิทยาลัย NUS จะให้การศึกษาครอบคลุมเกือบทุกสาขาวิชา ทั้งแพทยศาสตร์ ทันตแพทย์ กฎหมาย ศิลปะศาสตร์ วิทยาศาสตร์ วิศวกรรม สถาปัตยกรรม และการบริหารธุรกิจ ส่วนมหาวิทยาลัย Nanyang จะเน้นการศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์สาขาต่างๆ รวมทั้งวิทยาศาสตร์ประยุกต์ และสาขาธุรกิจ และการบัญชี สำหรับมหาวิทยาลัย SMU จะเน้นเรื่องธุรกิจการจัดการ

            วิทยาลัยเทคนิค (Polytechnic) ของสิงคโปร์มี 4 แห่งได้แก่ Singapore Polytechnic, Ngee Ann Polytechnic, Temasek Polytechnic และ Nanyang Polytechnic ส่วนวิทยาลัยผลิตครูของสิงคโปร์มีอยู่เพียงแห่งเดียว คือ National Institute of Education นอกจากนี้ ยังมี Institute of Technical Education : ITE เป็นสถาบันที่จัดการศึกษาสำหรับผู้ต้องการทักษะทางช่าง และช่างผีมือ

            ผู้ปกครองนักเรียนของสิงคโปร์จะส่งบุตรหลานเข้ารับการเตรียมความพร้อมในโรงเรียนเมื่อเด็กมีอายุ ได้ 2 ขวบครึ่ง เมื่อเด็กอายุได้ 6 ขวบก็จะเข้าเรียนในระดับประถมศึกษาปีที่ 1

            ระดับประถมศึกษาของสิงคโปร์แบ่งออกเป็น 2 ช่วง ได้แก่ ป.1-ป.4 เรียกว่า Foundation Stage และ ป.5-ป.6 เรียกว่า Orientation Stage ชั้นประถมต้นจะเรียน 3 วิชาหลัก คือ ภาษาอังกฤษ ภาษาแม่ และคณิตศาสตร์ นอกจากนั้น จะมีวิชาดนตรี ศิลปหัตถกรรม หน้าที่พลเมือง สุขศึกษา สังคม และพลศึกษา แต่ในช่วงประถมปลาย หรือ Orientation Stage นั้น นักเรียนจะถูกแยกออกเป็น 3 กลุ่มทางภาษา คือ EM 1. EM 2. และ EM 3.  การแยกนักเรียนเข้ากลุ่มทางภาษานั้น ขึ้นอยู่กับความสามารถทางภาษาของแต่ละคน เมื่อจบ ป.6 แล้วจะมีการสอบที่เรียกว่า Primary School Leaving Examination (PSLE) เพื่อที่จะเข้าศึกษาต่อในระดับมัธยมศึกษาต่อไป ผลการเข้าสอบมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการศึกษาต่อในระดับมัธยมศึกษา

          การศึกษาในระดับมัธยมศึกษานั้นมี 3 หลักสูตรให้เลือกตามความสามารถ และความสนใจ โดยใช้เวลา 4-5 ปี หลักสูตรในระดับมัธยมศึกษา ได้แก่

         หลักสูตรพิเศษ   (Special Course)

         หลักสูตรเร่งรัด  (Express Course)

         หลักสูตรปกติ    (Normal Course)

         เมื่อจบหลักสูตรจะมีการสอบ โดยหลักสูตรพิเศษ และหลักสูตรเร่งรัดจะต้องผ่านประกาศนียบัตร GCB (General Certificate of Education) ในระดับ “O” Level ส่วนหลักสูตรปกติจะต้องผ่าน GCB “N” Level แต่ถ้าต้องศึกษาต่อในระดับเตรียมอุดมศึกษา ก็ต้องสอบให้ผ่าน GCB “O” Level เช่นเดียวกัน เมื่อจบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาแล้ว ผู้ที่สนใจเรียนสายวิชาชีพเทคนิค หรืออาชีวศึกษา ก็สามารถแยกไปเรียนตามสถาบันต่างๆ ได้  ส่วนผู้ที่จะเรียนต่อในมหาวิทยาลัยก็จะเข้าศึกษาต่อใน Junior College อีก 2 ปี เมื่อจบแล้วจะต้องสอบ GCE “A” Level เพื่อนำผลคะแนนไปตัดสินการเข้าเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัย ผู้ที่เข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้ก็อาจศึกษาในสายอาชีพ หรือหางานทำต่อไป

            ส่วนปีการศึกษาของสิงคโปร์จะแบ่งออกเป็น 4 ภาคเรียน ภาคเรียนละ 10 สัปดาห์ เริ่มเปิดการศึกษาตั้งแต่วันที่ 2 มกราคมของทุกปี ช่วงระหว่างภาคเรียนที่ 1 กับที่ 2 และที่ 3 กับที่ 4 จะมีการหยุด 1 สัปดาห์ ระหว่างภาคเรียนที่ 2 กับที่ 3 หยุด 4 สัปดาห์ และมีช่วงหยุด 6 สัปดาห์ เมื่อสิ้นสุดปีการศึกษา

 

การแต่งกาย   

             สิงคโปร์ไม่มีชุดประจำชาติเป็นของตนเอง เนื่องจากประเทศสิงคโปร์แบ่งออกเป็น 4 เชื้อชาติหลัก ๆ ได้แก่ จีน มาเลย์ อินเดีย และชาวยุโรป ซึ่งแต่ละเชื้อชาติก็มีชุดประจำชาติเป็นของตนเอง เช่น ผู้หญิงมลายูในสิงคโปร์ จะใส่ชุดเกบาย่า (Kebaya) ซึ่งเป็นชุดที่ได้รับอิทธิพลมาจากอาหรับ ภาษาอารบิกคำว่า อาบาย่า (Abaya) หมายถึง เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ชื่อชุดเกบาย่าหรือเกอบาย่าซึ่งถือเป็นชุดที่มีเอกลักษณ์เฉพาะนี้ ตั้งชื่อโดยชาวโปรตุเกสที่เข้าไปในประเทศอินโดนีเซียในอดีต และถือเป็นชุดที่มีความเกี่ยวพันกับชุดอีกประเภทหนึ่งที่ผู้หญิงอินโดนีเซียสวมใส่ในศตวรรษที่ 15 หรือ 16 โดยตัวเสื้อจะมีสีสันสดใส ปักฉลุเป็นลายลูกไม้ หากเป็นชาวจีนก็จะสวมเสื้อแขนยาว คอจีน เสื้อผ้าหน้าซ่อนกระดุม สวมกางเกงขายาว โดยเสื้อจะใช้ผ้าสีเรียบหรือผ้าแพรจีน ส่วนชุดของชาวเปอรานากันเป็นจากสองวัฒนธรรมคือจีนกับมลายูจะเป็นการแต่งกายแบบมลายู เช่น ซารุง กบายา และชุดย่าหยา โดยผู้หญิงจะสวมเสื้อฉลุลายดอกไม้ รอบคอ เอว และปลายแขนอย่างงดงาม นิยมนุ่งผ้าซิ่นปาเต๊ะ ผู้ชายยังคงแต่งกายคล้ายเสื้อแบบจีนดั้งเดิม

                       

วัฒนธรรมการกิน

              สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีลักษณะเบ้าหลอมของอาหารการกิน (Melting Pot of Cuisines) จากทั่วโลก มีอาหารจากหลายประเทศให้เลือกสรรไม่ว่าจะเป็นอาหารจีน อาหารมาเลย์ อาหารญี่ปุ่น อาหารอิตาเลียน อาหารฝรั่งเศส หรืออาหารไทย อย่างไรก็ตาม สิงคโปร์ก็มีอาหารจานพิเศษที่ขึ้นชื่อซึ่งอาจได้รับอิทธิจากหลายวัฒนธรรม เช่น ปูทะเลผัดซอสพริก (Chilli Crabs) ลักซากาตอง (Laksa Katong) และสะเต๊ะ

อาหารเปอรานากัน (Peranakan Cuisine)

            สิงคโปร์เป็นอีกเมืองหนึ่งนอกเหนือจากมะละกาและปีนัง ที่เต็มไปด้วยวัฒนธรรมเปอรานากัน ซึ่งก็คือวัฒนธรรมผสมระหว่างจีนกับมาเลย์ในช่วงการปกครองด้วยระบบเสตรทส์เซทเทิลเมินทส์ (Straits Settlements) โดยอังกฤษ ด้วยเหตุนี้ อาหารเปอรานากันจึงมีให้เห็นอยู่ทั่วไป และที่ขึ้นชื่อเป็นอาหารเปอรานากันแบบฉบับสิงคโปร์ก็คือปูทะเลผัดซอสพริก (Chilli Crab) อาหารจานนี้เป็นการนำปูทะเลมาผัดคลุกเคล้ากับซอสซึ่งมีลักษณะเฉพาะ คือเป็นน้ำซอสที่มีส่วนผสมของพริกและมะเขือเทศ แต่กลับไม่มีรสชาติเผ็ดจัดจ้าน แต่เน้นหวาน โดยประวัติเล่าว่า ในปี ค.ศ. 1956 สองสามีภรรยาคือ นาง Cher Yam Tian และนาย Lim Choo Ngee ขายปูทะเลผัดซอสพริกผสมกับมะเขือเทศขายบนรถเข็นจนสามารถตั้งตัว ขยายเป็นร้านอาหารได้ในปาล์ม บีชและได้รับความนิยมอย่างมาก ปัจจุบันถือเป็นอาหารประจำชาติอย่างหนึ่งของสิงคโปร์ และได้รับการยกย่องให้เป็นอันดับที่ 35 จาก 50 เมนูที่อร่อยที่สุดของโลกโดย CNN Go ปี ค.ศ. 2011 (กมลรัตน์ ศีลประเสริฐ ,2557 น.160)

             ก๋วยเตี๋ยวแกงรสเผ็ด (Laksa Katong) ซึ่งผสมผสานระหว่างอาหารจีนกับมาเลย์ ที่ชื่อว่า “หลักซากาตง” เพราะเป็นอาหารที่พบมากในเมืองกาตง ลักษณะพิเศษคือ เป็นหลักซาเลอมัก หรือหลักซาญนญา (Laksa Nyonya) จะใส่กะทิมาก มีรสหวานอ่อนและเผ็ดมาก ได้รับอิทธิพลมาจากหลักซาไทย (Laksa Thai) แต่เส้นก๋วยเตี๋ยวจะถูกตัดให้สั้นเพื่อให้รับประทานได้ง่ายด้วยช้อน เป็นอาหารอีกประเภทหนึ่งที่ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นอาหารประจำชาติสิงคโปร์ สังขยา (Kaya) มักเสิร์ฟเป็นอาหารเช้าพร้อมด้วยขนมปัง ไข่ดาวไม่สุก และ Kopi หรือกาแฟที่มีรสชาติหวาน Kaya มีสองแบบ คือ แบบเปอรานากันจะเป็นสังขยาใบเตย มีสีเขียว ส่วนจีนไหหลำจะเป็นสังขยาไข่สีน้ำตาล

            นอกจากอาหารเปอรานากัน สิงคโปร์ยังมีอาหารจีน โดยเฉพาะจีนตอนใต้ เช่น ข้าวมันไก่ไหหลำ (Hainanese Chicken Rice) ซึ่งมีน้ำจิ้มเป็นซอสพริกใส่ขิงซอย และมีทั้งไก่ย่างและไก่นึ่ง บะหมี่กุ้งฮกเกี้ยน (Hokien Prawn Mee) เป็นก๋วยเตี๋ยวผัดแห้ง ใช้บะหมี่เหลืองผัดกับกุ้ง ปลาหมึก ถั่วงอก ไข่ และกระเทียม พร้อมซอสถั่วเหลือง ชาร์ก๋วยเตี๋ยว (Char Kway Teow) เป็นอาหารที่ได้รับความนิยมอย่างมากในสิงคโปร์ มีลักษณะเป็นก๋วยเตี๋ยวแห้งเส้นใหญ่ ผัดกับถั่วงอก ใส่หอยแครง ปรุงรสด้วยน้ำมะขาม ซอสจีน และซีอิ๊วดำ

            โรตี พราตา (Roti Prata) อาหารอินเดียซึ่งเป็นแป้งโรตีทอดกรอบ ทานกับแกงชนิดเผ็ด เช่นแกงหัวปลา หรือแกงไก่ สะเต๊ะ (Sate) น้ำจิ้มสะเต๊ะทำด้วยถั่ว กินกับน้ำอาจาดที่ผสมด้วยแตงกวาและหัวหอม ส่วนอาหารหวาน ได้แก่ Ice Kachang หรือน้ำแข็งไสที่ใส่เครื่องพวกถั่วแดง วุ้น ผลไม้เชื่อม และราดน้ำหวาน และอีกชนิดที่ขึ้นชื่อของสิงคโปร์คือ เซนดอล (Cendol) หรือลอดช่องในภาษาไทย Hawker Centres เป็นศูนย์อาหารเปิดโล่งที่มีอาหารให้บริการหลายร้าน หลายชนิด และราคาไม่แพง ส่วนใหญ่เป็นศูนย์อาหารที่ตั้งขึ้นบนพื้นที่ของรัฐบาล แต่ละเขตของสิงคโปร์จะมี Hawker Centre ของตัวเอง ซึ่ง Hawker Centre ที่ขึ้นชื่อของสิงคโปร์ อาทิ Jurong West Food Centre, Bukit Timah Hawker Centre และ Old Airport Road Market เป็นต้น

 

ประเพณีและเทศกาลสำคัญ

            ประเทศสิงคโปร์เป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ และแต่ละชาติพันธุ์ก็มีประเพณีวัฒนธรรมของตนเอง ในขณะเดียวกันสิงคโปร์ก็เป็นประเทศทันสมัยและเปิดรับวัฒนธรรมตะวันตกอย่างเสรีด้วยเหตุนี้ ประเพณีและเทศกาลสำคัญของประเทศสิงคโปร์จึงมีความหลากหลายตามความเชื่อทาง ศาสนาของกลุ่มชาติพันธุ์เป็นหลัก รวมทั้งวัฒนธรรมตามศาสนาแบบตะวันตก (กมลรัตน์ ศีลประเสริฐ, 2556,น.167)  แบ่งได้ดังนี้

 

เดือนมกราคม - กุมภาพันธ์

            วันปีใหม่ (New Year) เฉกเช่นกับเมืองอื่นๆ วันปีใหม่เริ่มตามปฏิทินสากล คือวันที่ 1 เดือนมกราคม คนสิงคโปร์เฉลิมฉลองวันปีใหม่ด้วยดอกไม้ไฟ พลุ และงานสังสรรค์รื่นรมย์ทั่วทั้งเมือง             ตรุษจีน (Chinese New Year) เนื่องจากสังคมของประเทศสิงคโปร์ส่วนใหญ่ประกอบด้วยคนจีนเป็นหลัก ด้วยเหตุนี้ วันขึ้นใหม่จีนจึงถือเป็นเทศกาลสำคัญ ส่วนใหญ่มักจัดขึ้นในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ทั่วทั้ง China Town จะมีการตกแต่งประดับประดาเพื่อเฉลิมฉลอง ช่วงวันตรุษจีนถือเป็นวันสำคัญของครอบครัว มีการแจกอั่งเปาแก่เด็กตามประเพณีจีน นอกจากนี้ ยังมีการจัดขบวนพาเหรด Chingay แห่จากซิตี้ฮอลล์ (City Hall) ไปยังซันเท็กซิตี้ (Suntec City) เพื่อเฉลิมฉลอง โดยวันจัดขบวนแห่จะนับจากวันตรุษจีนถัดไปอีก 10 วัน

            ไทยปูซัม (Thaipusam) เป็นเทศกาลของชาวฮินดูที่แสดงความเคารพความภักดีต่อพระเจ้า ตามตำนานกล่าวว่าเป็นเรื่องของ อิดูบัน (Iduban) ผู้ศรัทธาในพระมุรุกัน มุ่งหมายที่จะแสดงความศรัทธาต่อพระเจ้าของเขาด้วยการปีนเขาโดยแบกน้ำผึ้งและนมขึ้นไปด้วย พระมุรุกันจึงเสกอุปสรรคระหว่างทางเพื่อทดสอบ กระนั้นด้วยความเพียรพยายาม อิดูบันก็ฝ่าฟันอุปสรรคเหล่านั้นและสามารถนำน้ำผึ้งและนมขึ้นไปสักการะบนยอดเขาได้ เขาจึงได้ขึ้นสวรรค์โดยมีตำแหน่งอยู่เคียงข้างพระเจ้ามุรุกัน ในขณะที่บางตำนานเชื่อว่าเป็นเทศกาลที่รำลึกถึงวันคล้ายวันเกิดของพระมุรุกันหรือพระขันธกุมาร และอีกองค์คือพระสุพรัมมาเนียม (Subramaniam) และเฉลิมฉลองที่พระปารวตีมอบหอกหรือทวนให้กับพระมุรุกัน เพื่อให้พระมุรุกันสามารถที่จะพิชิตอสูรสุรปัทมัน (Soorapadman) วันที่จะจัดงานคือในวันที่ดวงจันทร์เต็มดวงของเดือนทมิฬอันเป็นการนับปฏิทินตามจันทรคติแบบฮินดูที่ใช้โดยชาวทมิฬ นาดูในประเทศอินเดีย ซึ่งอยู่ในช่วงปลายเดือนมกราคมต้นเดือนกุมภาพันธ์

           ปูซัม (Pusam) คือ ดาวที่อยู่ในจุดสูงสุดระหว่างเทศกาลนี้ แม้ว่าเทศกาลนี้จะมาจากตำนานหลายเรื่อง แต่ในส่วนพิธีกรรมการเคารพสักการะนั้นนิยมปฏิบัติเช่นเดียวกัน กล่าวคือ ผู้เข้าร่วมพิธีหลักส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย จะแบกหรือลาก “กาวาดี” ที่ถูกออกแบบและตกแต่งอย่างงดงาม ผู้แบกกาวาดีจะร่ายรำในระหว่างที่แบกด้วย ในระหว่างพิธีกรรมสักการะและบูชา พวกเขาจะวิงวอนขอความช่วยเหลือจากพระมุรุกันผ่านกาวาดี โดยทั่วไปครอบครัวของผู้สักการะจะเป็นผู้ตกแต่งกาวาดีด้วยดอกไม้และขนนกยูงอันถือเป็นพาหนะของพระมุรุกัน ในเดือนที่จะมีเทศกาลไทยปูซัม ผู้อุทิศตนจะต้องตระเตรียมจิตใจ ร่างกาย และวิญญาณ ให้พร้อมรับกับงานหนักที่กำลังจะมาถึง หลายคนเริ่มอดอาหาร หรือกินอาหารมังสวิรัติ และสวดมนต์ทำสมาธิอย่างเคร่งครัด บางคนจะการเจาะร่างกาย จมูก และปาก เพื่อแสดงความไม่จีรังของเนื้อหนังมังสา ในประเทศอินเดียเทศกาลนี้ถูกสั่งห้ามแต่ในประเทศสิงคโปร์กลับเป็นเทศกาลหนึ่งที่สำคัญและได้รับการยอมรับ

 

เดือนมีนาคม - เมษายน

           เชง เม้ง (Qing Ming Festival) เป็นเทศกาลที่ครอบครัวจีนแต่ละครอบครัวจะไปสุสานเพื่อจัดพิธีเซ่นไหว้แก่บรรพบุรุษ โดยวัดที่ได้รับความนิยมคือวัดวัดกงเหม็งซานพอครากซี (Kong Meng San Phor Kark See) บนถนนซินหมิง (Sin Ming)

 

เดือนพฤษภาคม - มิถุนายน

          เทศกาลไหว้บ๊ะจ่าง (Dragon Boat Festival) เป็นเทศกาลที่จัดขึ้นในวันที่ห้าของเดือนห้าตามปฏิทินจีน เพื่อแสดงความระลึกถึงวีรบุรุษพื้นบ้านของชาวจีน ถือเป็นเทศกาลที่ชาวจีนสิงคโปร์จะกินบะจ่าง รวมทั้งมีการแข่งขันเรือพายข้ามมารีนาเบย์ (Marina Bay)

          วิสาขบูชา (Vesak Day) เป็นวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพานของพระพุทธเจ้าตามความเชื่อในศาสนาพุทธ จะมีการปล่อยนกตามวัดพุทธในสิงคโปร์ และรวมทั้งพิธีเวียนเทียนในตอนเย็น

 

เดือนสิงหาคม - กันยายน

            วันสารทจีน (Festival of the Hungry Ghosts) ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำตามปฏิทินจันทรคติถือเป็นวันที่ผีได้รับการปลดปล่อยจากนรกให้กลับมายังโลกมนุษย์ ในเทศกาลนี้จะมีการจุดธูปบูชารวมทั้งเผาข้าวของเงินทองกระดาษเพื่อทำบุญให้แก่ผีเหล่านั้น และตอนกลางคืนส่วนใหญ่จะมีการแสดงละครและงิ้ว

           วันชาติ (National Day) คือวันที่ 9 สิงหาคม ทั่วทั้งประเทศจะประดับประดาธงชาติสิงคโปร์ รวมทั้งเฉลิมฉลองด้วยขบวนพาเหรดจากทุกกลุ่มชาติพันธุ์ เพื่อระลึกถึงวันประกาศเอกราช แยกตัวออกจากประเทศมาเลเซียมาเป็นสาธารณรัฐสิงคโปร์ (Republic of Singapore) ในปี ค.ศ. 1965

          รอมฎอน (Ramadan) เดือนแห่งการถือศีลอดของชาวมุสลิม ตรงกับเดือนที่ 9 ของปฏิทินฮิจญ์เราะฮ์ หรือปฏิทินอิสลาม เป็นเดือนที่มุสลิมถือศีลอดทั้งเดือน ด้วยเหตุนี้จึงเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า “เดือนบวช” และถือว่าเป็นเดือนที่สำคัญที่สุดเดือนหนึ่ง มุสลิมจะต้องอดอาหารเพื่อที่จะได้มีความรู้สึกถึงคนที่ไม่ได้รับการดูแลจากสังคม เช่น คนยากจน เป็นต้น และเดือนนี้ยังเป็นเดือนที่อัลกรุอานได้ถูกประทานลงมาเป็นทางนำให้แก่มนุษย์ มุสลิมจึงต้องอ่านอัลกุรอาน เพื่อศึกษาถึงสิ่งที่พระเจ้าต้องการให้มนุษย์รู้ว่าการเป็นอยู่ในโลกนี้และโลกหน้าจะเป็นอย่างไร และจะต้องทำตัวอย่างไรบ้าง กิจกรรมพิเศษของมุสลิมนิกายซุนนะหฺคือการละหมาดตะรอเวียะฮ์ในยามค่ำของเดือนนี้ ในสิงคโปร์ มัสยิดที่นิยมคือ มัสยิดสุลต่าน (Sultan Mosque บนถนนอาหรับ หรือที่เกย์แลง (Geylang) โดยวันสุดท้ายของการถือศีลอดเรียกว่า “Hari Raya Puasa” ชาวมุสลิมจะนิยมแต่งกายด้วยเสื้อผ้าชุดใหม่และไปเยี่ยมเยียนครอบครัวและญาติมิตร

          WOMAD ย่อมาจาก World of Music, Arts and Dance เป็นเทศกาลที่มีการเฉลิมฉลองโดยมีลักษณะเป็นการจัดการแสดงดนตรีและเต้นรำชั้นนำของโลก ซึ่งได้รับการคัดสรรจากหลายยุคหลายสมัย และเป็นแหล่งรวมตัวของศิลปินที่มีความสามารถทางด้านดนตรีและศิลปะการเต้นรำจากทั่วโลก เพื่อแสดงการเต้นและเล่นเพลงท่วงทำนองต่าง ๆ

          เทศกาล WOMAD Singapore ได้มีการจัดครั้งแรกประมาณปี ค.ศ. 1998 ในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนพฤษภาคม ซึ่งจัดที่ ป้อมฟอร์ท คันนิ่งปาร์ค (Fort Conning Park) ซึ่งเคยเป็นกองบัญชาการทหารอังกฤษในประเทศสิงคโปร์ ปัจจุบันเป็นสวนสาธารณะอันร่มรื่น และเป็นที่ตั้งของศูนย์ศิลปะการแสดงของประเทศสิงคโปร์ การจัดเทศกาล WOMAD Singapore ในครั้งนั้นเป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลศิลปะที่ได้รับการสนับสนุนจาก สภาศิลปะแห่งชาติของศิลปะ (Singapore National Arts Council) การจัดครั้งนั้นมีนักท่องเที่ยวและผู้เข้าชมโดยประมาณ 14,000 คน ซึ่งถือว่าได้รับการตอบรับที่ดีมาก ทำให้ในภายหลัง งานเทศกาลนี้ได้รับเงินทุนการจัดเพิ่มอีกใน 2 ปี คือปี ค.ศ. 1999 และ ค.ศ.2000 ในปี ค.ศ. 2002 เทศกาล WOMAD Singapore จัดโดยองค์กร WOMAD Organization สาขาสิงคโปร์ ซึ่งเท่ากับว่าเทศกาลในประเทศสิงคโปร์จะเข้าเป็นส่วนหนึ่งของเวทีที่จัดขึ้นทั่วโลก หลังจากนั้นในปี ค.ศ. 2003 สำนักงานการท่องเที่ยวของประเทศสิงคโปร์ก็เข้ามาร่วมจัดเทศกาลนี้ด้วยเช่นกัน และเปลี่ยนไปจัดในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนสิงหาคมเพื่อให้ตรงกับวันชาติ ของประเทศ ซึ่งในปี ค.ศ. 2005 ก็จัดในวันครบรอบ 40 ปีของประเทศสิงคโปร์มาแล้ว และทำให้เทศกาล WOMAD Singapore ได้มีเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวมากขึ้น

            สิงคโปร์กรังด์ปรีซ์ (Singapore Grand Prix) รายการแข่งรถสูตรหนึ่งซึ่งจัดขึ้นในตอนกลางคืนเป็นที่แรกของโลก เทศกาลนี้จัดขึ้น 3 วันในมารีนาเบย์ ถือเป็นอีกหนึ่งเทศกาลที่ได้รับความนิยมจากคนสิงคโปร์และคนทั่วโลกผู้หลงใหลในความเร็วของรถสูตรหนึ่ง

           เทศกาลไหว้พระจันทร์ (Moon Cake Festival) หรือเทศกาลกลางฤดูใบไม้ร่วง (Mid-Autumn Festival ) เป็นเทศกาลตามวัฒนธรรมจีนที่มีขึ้นในช่วงกลางฤดูใบไม้ร่วง และเพื่อเป็นการฉลองการเก็บเกี่ยว จะมีขึ้นในคืนวันเพ็ญเดือน 8 ตามปฏิทินจันทรคติ (ประมาณเดือนกันยายนตามปฏิทินสากล) ในเทศกาลนี้ ชาวจีนสิงคโปร์จะเฉลิมฉลองด้วยการไหว้ดวงจันทร์ในเวลากลางคืน สำหรับประเทศสิงคโปร์ เทศกาลนี้ถือเป็นประเพณีใหญ่ มีการเฉลิมฉลองด้วยโคมไฟสีแดงเป็นสีสันยามค่ำคืน หรือบางแห่งอาจมีการเชิดมังกร ทั้งนี้จะมีชื่อเรียกต่างกันออกไปตามแต่ละท้องถิ่น นอกจากนี้ ยังมีขนมชนิดหนึ่ง เรียกว่า "ขนมไหว้พระจันทร์" ที่มีสัณฐานกลมคล้ายขนมเค้ก ทำจากแป้ง มีไส้ต่างๆ เป็นธัญพืช ใช้เซ่นไหว้และรับประทานกันจนเป็นเอกลักษณ์ในเทศกาลนี้

 

เดือนตุลาคม - พฤศจิกายน

           ดีพาวลี (Deepavali) จัดขึ้นในช่วงเดือนตุลาคมหรือพฤศจิกายนของทุกปีตามปฏิทินของชาวฮินดู ถือเป็นเทศกาลประจำปีของชาวอินเดียในสิงคโปร์ Deepavali เป็นภาษาสันสกฤต Diwali หรือ Deepavali หมายความว่า “แสงแห่งตะเกียง” เป็นสัญลักษณ์ปลดปล่อยความชั่วร้ายจากจิตใจ และแทนที่ด้วยแสงสว่างจากตะเกียง ถือเป็นเทศกาลแห่งแสงและการประดับไฟของชาวฮินดู โดยทั่วไป งานเฉลิมฉลอง Deepavali คือหนึ่งในงานสำคัญทางศาสนาของชาวอินเดีย ที่นับถือศาสนาฮินดู และถือเป็นวันปีใหม่

           ก่อนวันงานจะเริ่มต้น 1 วัน สมาชิกในครอบครัวจะรวมตัวในเรือนของผู้อาวุโสที่สุด ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นการรวมญาติพี่น้อง เพื่อพูดคุยหรือปรับความเข้าใจกัน จากนั้นสมาชิกในครอบครัวจะรับพรจากผู้อาวุโส และบางครั้งจะมีการใส่เงินแก่ผู้อาวุโสน้อยกว่าตามลำดับด้วย เช้าตรู่วันรุ่งขึ้นจะเป็นงานฉลองวันปีใหม่ ทุกคนในครอบครัวจะต้องตื่นก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น เพื่ออาบน้ำด้วยน้ำมันที่ทำจากขิง (Gingerly Oil) ชำระบาปที่ได้ทำลงไปในปีที่ผ่านมา และสวดมนต์ที่บ้านก่อนเดินทางไปสวดมนต์ที่วัด และเดินทางกลับบ้าน เพื่อรอต้อนรับเพื่อนๆ จากทุกเชื้อชาติที่แวะมาเยี่ยมเยียน

          ดีพาวลีจะสิ้นสุดด้วยการร่วมรับประทานอาหาร ประกอบด้วย แกงเนื้อ ข้าว เนื้อหวาน ลูกกวาดที่ทำจากมะพร้าว เค้กส่าหรี และอาหารพื้นเมืองอีกมากมาย และร่วมดื่มฉลองอย่างพร้อมเพรียงในหมู่ญาติพี่น้อง และเพื่อนๆ ที่มาร่วมงาน ส่วนการแต่งกายเพื่อร่วมเฉลิมฉลองในงาน ทุกคนจะต้องแต่งกายด้วยเสื้อผ้าชุดใหม่ โดยฝ่ายหญิงจะนุ่งห่มด้วยชุดสาหรี (Sarees) ส่วนฝ่ายชายจะแต่งกายเสื้อแขนยาวที่เรียกว่า (Jippas and Veshis) และนุ่งโสร่ง บ้านเรือนจะมีการตกแต่งประดับประดาด้วยตะเกียง (Kolam) ที่ทำจากเมล็ดข้าวและเมล็ดธัญพืชที่แห้งสนิท และตกแต่งด้วยสีสดใส ให้เป็นรูปดอกไม้ เส้นรูปทรงเลขาคณิต และนกยูง ตามความเชื่อสมัยโบราณ เป็นการเชื้อเชิญเทพเจ้าแห่งความร่ำรวย คือ พระนางลักษมี (Maha Lakshmi) จะเสด็จลงจากสวรรค์มาอวยพรสู่ครอบครัวให้เกิดความร่ำรวยตลอดไป

          เทศกาลกินเจ (The Nine Emperor Gods Festival) เทศกาลถือศีลกินเจในประเทศสิงคโปร์นิยมจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่บนถนนเซรางกูน (Serangoon) โดยเริ่มจากวัดคิว อ่อง เยียห์ (Kiu Ong Yiah) ซึ่งมีทั้งการแสดงงิ้ว และร่างทรงเทพเจ้าจีน

          พิธีนวราตรี (Navarathiri) พิธีนวราตรีเกิดขึ้นเพื่อบูชาพระแม่อุมาเทวีครั้งยิ่งใหญ่ เป็นพิธีที่เก่าแก่สืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยพระเวท มีพิธีบูชารวม 10 วัน 10 คืน พร้อมกันทั่วโลก และในวันสุดท้ายของงาน จะมีการอัญเชิญองค์เทวรูปพระแม่อุมาเทวี และเทวรูปองค์อื่น ๆ และจะมีการแสดงการร่ายรำและดนตรีในวัดฮินดูทั่วทั้งเมือง โดยเฉพาะวัดศรี ตันดายุตาปานี(Sri Thandayuthapani) บนถนนแทงค์ (Tank)

          เทศกาลลุยไฟ (Thimithi) เป็นเทศกาลของฮินดูที่จัดขึ้นที่วัดแขก หรือวัดศรี มารีอัมมา (Sri Mariamma) ในย่านไชน่าทาวน์ ช่วงเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายนของทุกปี พิธีกรรมนี้เกิดจากความเชื่อเรื่องการทรมานตนเพื่อไถ่บาป

 

เดือนธันวาคม

          วันคริสต์มาส (Christmas Day) วันคริสต์มาสถือเป็นอีกวันหนึ่งที่มีความสำคัญต่อชาวสิงคโปร์ ทั่วทั้งเมืองมีการตกแต่งประดับประดาเพื่อเฉลิมฉลองเช่นเดียวกับเมืองอื่น ๆ ของโลก โดยเฉพาะถนนออชาร์ดย่านธุรกิจที่สำคัญจะได้รับการประดับไฟและเต็มไปด้วยบรรยากาศแห่งการส่งความสุข

           Hari Raya Haji  วันตรุษอีด (Hari Raya Haji หรือ Festival of Sacrifice) วันตรุษอีด หรือวันอีด เป็นวันเฉลิมฉลองในศาสนาอิสลาม โดยในวันนี้จะมีกิจกรรมต่างๆ เช่น แต่งกายให้สะอาดเรียบร้อย ร่วมกันทำพิธีละหมาดวันอีดที่สนามหรือในมัสยิด เยี่ยมเยียนญาติพี่น้อง รับประทานอาหารร่วมกัน เป็นต้น ในสิงคโปร์มีการเฉลิมฉลอง อย่างมีสีสรรกันมากบนถนนเกย์แลง ถนนเกลาง เซราย Serai และ Kampong Glam

          Singapore International Marathon เป็นงานที่จัดขึ้นทุก 2 ปี เพื่อดึงดูดผู้สนใจทั้งชาวสิงคโปร์และชาวต่างประเทศ ให้เข้าร่วมการแข่งขันวิ่งมาราธอนในทุกประเภท ซึ่งการวิ่งจะครอบคลุมระยะทางรอบเกาะถึงกว่า 43 กิโลเมตร

 

วันหยุดนักขัตฤกษ์

            หน่วยงานราชการและสำนักงานเอกชนของประเทศสิงคโปร์เปิดทำการวันจันทร์ถึงศุกร์ เวลา 9.00-17.00 น. และวันเสาร์ เวลา 9.00-13.00 น. ร้านค้าทั่วไปและห้างสรรพสินค้า เปิดให้บริการวันอาทิตย์ถึงพฤหัสบดี เวลา 10.30-21.00 น. และวันศุกร์ถึงเสาร์ เวลา 10.30-22.00 น. ธนาคารพาณิชย์ทั่วไป เปิดทำการวันจันทร์ถึงศุกร์ เวลา 9.00-15.00 น. และวันเสาร์ เวลา 9.30-11.30 น.

วันขึ้นปีใหม่                    วันที่ 1 เดือนมกราคม

วันตรุษจีน                      ปลายเดือนมกราคม - ต้นเดือนกุมภาพันธ์

วันศุกร์ประเสริฐ (Good Friday)   วันศุกร์ก่อนวันอีสเตอร์ของทุกปี                

วันแรงงาน                     วันที่ 1 เดือนพฤษภาคม

วันชาติ                          วันที่ 9 เดือนสิงหาคม

วัน Hari Raya Puasa     เดือนสิงหาคม - เดือนกันยายน

วัน Deepavali                เดือนตุลาคม - เดือนพฤศจิกายน

วัน Hari Raya Haji         เดือนธันวาคม

วันคริสต์มาส                  วันที่ 25 เดือนธันวาคม

บรรณานุกรม

    en.wikipedia.org. (ม.ป.ป.). เรียกใช้เมื่อ 2015 Dec 18 จาก wikipedia Web site: http://en.wikipedia.org/wiki/lee_Kuan_Yew

    Ministry of Trade and Industry. (2013). Economic Survey of Singapore; First Quarter 2013. Republic of Singapore.

    โคริน เฟื่องเกษม. (2554). สิงคโปร์ภายใต้สามผู้นำ. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์เดือนตุลา.

    กรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์. (2555). คู่มือ การค้าและการลงทุนสาธารณรัฐสิงคโปร์ . กรุงเทพฯ: สำนักข่าวพาณิชย์ กรมส่งเสริมการส่งออก.

    ดี.จี.อี ฮอลล์. (2557). ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้: สุวรรณภูมิ – อุษาคเนย์ภาคพิศดารเล่ม 2. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.

    สำนักข่าวกรองแห่งชาติ. (2557). ข้อมูลพื้นฐานของต่างประเทศ 2558. ไทย: สำนักข่าวกรองแห่งชาติ.