ฟิลิปปินส์ - ศาสนาและความเชื่อ
ฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่มีความเชื่อและศาสนาหลากหลาย เนื่องจากมีกลุ่มชาติพันธุ์เป็นจำนวนมากกว่า 106 กลุ่ม แม้ว่าประชากรส่วนใหญ่จะนับถือคริสต์ศาสนาที่ได้รับการเผยแพร่จากสเปนในช่วงคริสต์สตวรรษที่ 16 (Jesudas M.Athyal,Editor, 2015:223) แต่ยังคงมีความเชื่อดั้งเดิมของชนเผ่า อาทิเช่น ชาวอิฟูเกา มีเคารพในเทพเจ้า “บอรูน” เชื่อว่าเป็นเทพเจ้าแห่งความอุดมสมบูรณ์ ทั้งยังบูชาเครื่องลางของขลังมีสัญลักษณ์เป็นสัตว์สองเขาเรียกว่า ลิง-ลิง-โอ (วลัยลักษณ์ ทรงศิริ, 2559) นอกจากนี้ชาวพื้นเมืองยังศรัทธาเทพเจ้า Bathalang Majkapall มีความเชื่อว่าเป็นพระเจ้าผู้สร้างโลก พิธีกรรมตามความเชื่อของชาวพื้นเมืองประกอบไปด้วยการสวดมนต์และบูชายัญต่อเทพเจ้าและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย ให้ความเคารพกับธรรมชาติ ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดวงดาว ดาวตก ต้นไม้ที่มีอายุยืน แม่น้ำ ก้อนหินที่มีความสวยงามกว่าปกติ และสัตว์บางชนิด เช่น นกและจระเข้ เป็นต้น ส่วนความเชื่อหลังความตายนั้น หากผู้ใดปฏิบัติดีจะได้ขึ้นสวรรค์ หากปฏิบัติชั่ว ดุร้าย อยุติธรรม จะถูกพระเจ้าลงโทษ และตกนรก ความเชื่อดังกล่าวเหล่านี้ยังคงมีอยู่กระทั่งปัจจุบัน แม้ว่าจะมีหลักความเชื่อทางศาสนาที่เข้ามามีอิทธิพลในดินแดนแห่งนี้ไม่ว่าจะเป็นศาสนาอิสลามและคริสต์ศาสนา เป็นศาสนาที่ล้วนแล้วแต่มีอิทธิพลต่อความคิดความเชื่อ การดำรงชีวิตตลอดจนสืบเนื่องไปถึงเรื่องการเมือง ในประเด็นการเรียกร้องการปกครองตนเองของกลุ่มชาวมุสลิม เช่น ชาวโมโร กระทั่งก่อให้เกิดกลุ่มแบ่งแยกดินแดนขึ้นในเขตภาคใต้ของฟิลิปปินส์
ศาสนาอิสลาม
ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาแรกที่เข้ามาถึงดินแดนแห่งนี้ตั้งแต่ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 14 โดยพ่อค้ามุสลิมชาวเปอร์เซีย จากข้อมูลในปีค.ศ.2012 พบว่ามีชาวมุสลิมร้อยละ 11 จากประชากรทั้งหมดในฟิลิปินส์ (Wikipedia, 2016) จากข้อมูลดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าฟิลิปปินส์มีความแตกต่างกับประเทศอื่นในภาคพื้นคาบสมุทรของเอเชียตะวันออกฉียงใต้ เช่น อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ที่ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม หากแต่ในฟิลิปปินส์นั้นประชากรส่วนน้อยเป็นผู้นับถือศาสนาอิสลาม มีความเข้มข้นอยู่ทางภาคใต้ของประเทศ เนื่องจากบริบททางประวัติศาสตร์ที่เปลี่ยนแปลงไป แม้ว่าศาสนาอิสลามจะเข้ามาถึงดินแดนแห่งนี้ก่อนคริสต์ศาสนาแต่ก็สามารถเผยแผ่และกลืนกลายชาวพื้นเมืองได้น้อยกว่า
ศาสนาคริสต์
เป็นที่ทราบดีว่าศาสนาคริสต์เป็นศาสนาประจำชาติของฟิลิปปินส์ เข้ามายังดินแดนแห่งนี้โดยเจ้าอาณานิคมสเปนในคริสต์ศตวรรษที่ ประชากรส่วนใหญ่ถึงร้อยละ 90 (Wikipedia, 2016) เป็นศาสนิกชนของศาสนานี้จำแนกเป็นนิกายโรมันคาทอลิก และนิกายโปรเตสแตนต์ นำเข้ามาเผยแพร่โดยสหรัฐอเมริกาในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ดังนั้นฟิลิปปินส์จึงเป็นประเทศหนึ่งในโลกที่มีผู้นับถือศาสนาคริสต์มากที่สุด และนับว่าเป็นจำนวนมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
แต่อย่างไรก็ตามเมื่อศาสนาคริสต์เข้าสู่ดินแดนแห่งนี้ ได้เข้ามาผสมผสานกับความเชื่อดั้งเดิมของชนเผ่าที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก จึงไม่ได้เป็นโรมันคาทอลิกบริสุทธิ์เหมือนต้นแบบ ปัจจุบันฟิลิปปินส์มีพระคาดินัลด์ถือเป็นพระระดับสูงถึง 2 รูป ทั้งยังมีอิทธิพลทางการเมืองอีกด้วย แม้ว่ารัฐธรรมนูญได้กำหนดให้แยกรัฐออกจากศาสนา แต่พระคาดินัลด์ยังคงทำหน้าที่คล้ายผู้นำทางจิตวิญญาณ เช่น บทบาทของพระคาดินัลด์ไฆเม่ ซิน เข้าร่วมเดินขบวนกับประชาชนเพื่อต่อต้านรัฐบาลของอดีตประธานาธิบดีมาร์กอสและเอส ตราดา และยังผลสำเร็จถึงสองครั้ง (วรางคณา นิพัทธ์สุขกิจ, 2555:31)
นอกจากนี้ยังมีเหตุผลสำคัญอีกประการหนึ่งที่ชาวฟิลิปปินส์ส่วนใหญ่รับนับถือศานาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก คือ ผู้ที่รับนับถือจะได้รับการยกเว้นภาษีและได้รับผลประโยชน์อื่นๆ เป็นจำนวนมากจากรัฐบาล โดยมีบาทหลวงเป็นผู้ปกป้อง ดังนั้นคริสต์ศาสนาจึงมีความสำคัญต่อชาวฟิลิปปินส์เป็นอย่างยิ่งเพราะไม่เพียงแต่เป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจเท่านั้นแต่ยังได้รับความมั่นคงในการดำรงชีวิตอีกด้วย (วรางคณา นิพัทธ์สุขกิจ, 2555:31)
บรรณานุกรม
Jesudas M.Athyal,Editor. (2015). Religion in Southeast Asia. California.
Wikipedia. (21 April 2016). Christianity in the Philippines. เรียกใช้เมื่อ 30 May 2016 จาก Wikipedia The Free Encyclopedia Web site: https://en.wikipedia.org/wiki/Christianity_in_the_Philippines
Wikipedia. (30 May 2016). Islam in the Philippines. เรียกใช้เมื่อ 30 May 2016 จาก Wikipedia The Free Encyclopedia Web site: https://en.wikipedia.org/wiki/Islam_in_the_Philippines
วรางคณา นิพัทธ์สุขกิจ. (2555). ฟิลิปปินส์ประวัติศาสตร์แห่งการต่อสู้. กรุงเทพมหานคร: เมืองโบราณ.
วลัยลักษณ์ ทรงศิริ. (17 เมษายน 2559). "ลิงลิงโอ" เครื่องรางก่อนประวัติศาสตร์ ที่ยังคงสืบเนื่องความหมายสำหรับชาวอิฟูเกาในฟิลิปปินส์. เรียกใช้เมื่อ 15 พฤษภาคม 2559 จาก เว็บไซต์มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์: http://lek-prapai.org/home/view.php?id=5030