ฟิลิปปินส์ - ประวัติศาสตร์



          ชนเผ่าแรกที่อพยพเช้ามาในฟิลิปปินส์ คือ เผ่าปิกมี่ ซึ่งเป็นพวกหาของป่าและไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง จึงไม่ได้มีการจัดระเบียบชุมชน ไม่มีระบบการปกครอง ต่อมาเผ่าอินโดนีเซีย อพยพเข้ามาทางทะเลเป็นเผ่าที่มีพัฒนาการสูงกว่าปิกมี่และนำการเพาะปลูกและการทำนาบนไหล่เขาเข้ามายังฟิลิปปินส์ ชนเผ่าที่อพยพเข้ามาต่อมาคือชนเผ่ามาเลย์อพยพและยังนำวัฒนธรรมอิสลามมาสู่ฟิลิปปินส์

          หลังจากนั้นเฟอดินานด์ แมกเจลแลน นักเดินเรือชาวโปรตุเกส (สัญชาติสเปน) สำรวจพบหมู่เกาะฟิลิปปินส์เมื่อปี ค.ศ.1521 และตั้งชื่อว่า ฟิลิปปินส์เพื่อเป็นเกียรติแก่พระเจ้าฟิลลิปที่ 2 แห่งสเปน

          ชาวสเปนได้เดินทางมายังฟิลิปปินส์หลังจากการสำรวจพบของแมกเจลเลนและสามารถยึดเมืองมะนิลาได้ในปี ค.ศ. 1571 ต่อมายกฐานะให้เป็นเมืองหลวงของฟิลิปปินส์ที่เป็นอาณานิคมของสเปนอย่างเต็มรูปแบบ

           ฟิลิปปินส์กลายเป็นอาณานิคมของสเปนนานถึง 327 ปี ชาวฟิลิปปินส์พยายามต่อสู้กับสเปน โดยผู้นำที่สำคัญในการต่อสู้ 3 คน คือ

  • โฮเซ่ ริซาล มีแนวทางปฏิรูปให้ฟิลิปปินส์เป็นจังหวัดหนึ่งของสเปนและคนพื้นเมืองเป็นตัวแทนในสภาได้ ริซาลถูกประหารชีวิตเมื่อปี ค.ศ. 1896
  • แอนเดรส โบนิฟาซิโอ ตั้งสมาคมลับฟิลิปปินส์ชื่อ Katipunan เป็นชบวนการชาตินิยมเพื่อให้เป็นอิสระจากสเปนและถูกประหารชีวิตในปี ค.ศ. 1897
  • นายพลเอมิลิโอ อากินัลโด จัดตั้งรัฐบาลและสภาปฏิวัติ และประกาศเอกราชจากสเปนเมื่อ 12 มิ.ย. ค.ศ. 1898 และได้จัดตั้งสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ โดยมีรัฐธรรมนูญเมื่อ 23 ม.ค. ค.ศ. 1899และดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี แต่ยังไม่บรรลุผลสมบูรณ์เพราะสเปนแพ้สงครามและยกฟิลิปปินส์ให้สหรัฐฯเมื่อ 10 ก.ค. 1868

             ฟิลิปปินส์กับสหรัฐฯต่อสู้กันเป็นเวลาถึง 3 ปี จึงตกอยู่ภายใต้การปกครองของสหรัฐฯในปี ค.ศ. 1902 และได้รับเอกราชอย่างสมบูรณ์เมื่อ 4 ก.ค. 1946 หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 และได้จัดระบอบการปกครองแบบสาธารณรัฐ โดยมีประธานาธิบดีเป็นประมุขและหัวหน้าฝ่ายบริหาร โดยมี นายมานูแอล โรฮาส เป็นประธานาธิบดีคนแรก

 

ภูมิหลังของประเทศฟิลิปปินส์

          ชนเผ่าแรกที่เข้ามาในฟิลิปปินส์คือพวกปิกมี่ ซึ่งเป็นพวกหาของป่าและล่าสัตว์ซึ่งไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ต่อมาชนเป่าอินโดนีเซียที่เผยแพร่วัฒนธรรมเพาะปลูก และต่อมาก็เป็นชนเผ่ามาเลย์ที่นำเอาวัฒนธรรมอิสลามเข้ามายังฟิลิปปินส์

          ฟิลิปปินส์ยังมีความสัมพันธ์กับอินเดียมาจากการติดต่อค้าขายและได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมการแต่งกายอย่างการนุ่งโสร่งมีผ้าโพกหัวและวัฒนธรรมทางด้านภาษาอีกด้วย ในส่วนของจีนนั้น ชาวจีนได้เข้ามาแต่งงานกับชาวฟิลิปปินส์ทำให้เกิดกลุ่มคนฟิลิปปินส์เชื้อสายจีนที่มีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์ในปัจจุบัน เช่น นามสกุล ลิม ตัน โคฮวงโค ลิมจูโค ตองโค เป็นต้น

          ชาวอาหรับก็ได้เข้ามาค้าขายกับประชาชนในเกาะมินดาเนาในภาคใต้ของฟิลิปปินส์พร้อมกับนำเอาศาสนาอิสลามเข้ามาเผยแพร่ จะเห็นได้ว่าศาสนาอิสลามนั้นได้เข้ามายังฟิลิปปินส์ 2 ระลอก คือ มาจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และมาจากประเทศอินเดียและตะวันออกกลาง

          ก่อนการเข้ามาของสเปนนั้น โครงสร้างทางสังคมของชาวฟิลิปปินส์ ประกอบด้วย

  • ชนชั้นปกครอง ซึ่งได้แก่หัวหน้าเผ่าต่างๆรวบไปถึงครอบครัวของหัวหน้าเผ่าด้วย ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีอำนาจที่สุดในสังคม มีกรรมสิทธิ์ในการถือครองทรัพย์สิน
  • เสรีชน ได้แก่พวกนักรบซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นญาติของผู้ปกครองมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินและทรัพย์สิน
  • พวกชาวนา คือ ผู้ที่เช่าที่นาของชนชั้นปกครองและเสรีชน สามารถมีทรัพย์สิน ที่ดิน และบ้านของตนเองได้แต่ต้องเสียภาษีให้ชนชั้นปกครอง
  • พวกทาส เป็นชนชั้นที่ต่ำที่สุดในสังคมที่ไม่มีที่ดินและทรัพย์สินเป็นของตัวเอง รวมทั้งไม่มีค่าตอบแทนใดๆ

 

ทางเศรษฐกิจ เป็นระบบเศรษฐกิจแบบพึ่งตนเองเป็นส่วนใหญ่ชาวพื้นเมืองผลิตสิ่งของต่างๆเพื่อการบริโภคมากกว่าการค้าขายและส่วนใหญ่ทำอุตสาหกรรมในครัวเรือน ส่วนการค้าระหว่างประเทศนั้น ฟิลิปปินส์ได้ทำการค้าขายกับชาวอาหรับในคริสต์ศตวรรษที่ 9 และชาวจีน เวียดนาม อินเดีย ชวา มลายู ในศตวรรษที่ 14

          ด้านการเมืองการปกครองนั้น ชาวฟิลิปปินส์อยู่กันเป็นหมู่บ้านกระจายอยู่ทั่วไป ซึ่งเรียกว่า บารังไก (Barangay) มีอิสระต่อกัน เป็นสังคมเกษตร นับถือผีและศาสนาอิสลาม(ทางตอนใต้บริเวณเกาะมินดาเนา)มาตั้งแต่ศตวรรษที่ 14  การปกครองเป็นแบบหมู่บ้านมีดาตู (Datu) เป็นผู้ปกครองแบบอุปถัมภ์ ซึ่งมีกำหนดการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจมีสภาผู้อาวุโสเป็นที่ปรึกษา ถูกถอดถอนได้ และการปกครองแบบหมู่บ้านที่สืบทอดอำนาจภายในครอบครัวต่อกันมานั้น เป็นลักษณะของการเมืองของครอบครัวในปัจจุบันของฟิลิปปินส์นั่นเอง

          รูปแบบการปกครองแบบบารังไกนั้น เป็นที่มาของระบบการปกครองท้องถิ่นของฟิลิปปินส์ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นลักษณะการกระจายอำนาจจั้งแต่เมืองหลวงจนถึงจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งเป็นผลมาจากเมื่อสหรัฐฯ เข้ามาครอบครองฟิลิปปินส์นั้นได้จัดให้มีการเลือกตั้งระดับหมู่บ้าน ตั้งแต่เมืองหลวงจนถึงท้องถิ่นทั้งหมด

 

ประเทศฟิลิปปินส์ภายใต้การปกครองของสเปน (ค.ศ. 1521 – 1899)

             มีโครงสร้างทางสังคม เศรษฐกิจและการเมืองการปกครองแตกต่างไปจากเดิม โดยพยายามบีบบังคับชาวพื้นเมืองในรูปแบบต่างๆ อีกทั้งยังแสวงหาผลประโยชน์จากชาวฟิลิปปินส์อีกด้วย

             โครงสร้างทางสังคม สเปนได้จัดชนชั้นในสังคมเสียใหม่ โดยได้แบ่งออกเป็น

  • ชนชั้นสูง ได้แก่ ชาวสเปนที่ทำหน้าที่ปกครองบ้านเมืองและผูกขาดการรับราชการ ปัจจุบันก็คือผู้ครอบครองที่ดินรายใหญ่ๆ
  • ชนชั้นกลาง ได้แก่ พวกลูกครึ่งจากการสมรสระหว่างชาวสเปนและชาวพื้นเมือง เรียกว่า เมสติโซ (ผู้ชาย) และเมสติซา (ผู้หญิง) ซึ่งมีสิทธิ์รับราชการและเป็นพวกกู้ชาติในเวลาต่อมา ปัจจุบันเป็นนักธุรกิจของประเทศ
  •  ชนชั้นต่ำ ได้แก่ ชาวพื้นเมืองที่เป็นผู้เช้าที่ดินซึ่งไม่มีบทบาทใดๆในสังคมเลย พวกนี้ถูกเรียกว่า พวกอินดิโอ

             การจัดแบ่งชนชั้นดังกล่าวทำให้สเปนมีความสะดวกในการใช้มาตรการแสวงหาผลประโยชน์จากชาวพื้นเมืองโดยใช้ระบบโปโล ซึ่งเป็นระบบที่เกณฑ์แรงงาน ที่ให้ชาวพื้นเมืองทุกคน ยกเว้นหัวหน้าเผ่าและลูกชายคนแรกของหัวหน้าเผ่าต้องอุทิศแรงงานให้ทางราชการ และระบบวันดาลาที่เป็นระบบบังคับซื้อสินค้าโดยบังคับให้ชาวพื้นเมืองขายสินค้าในราคาที่ต่ำ (สีดา สอนศรี, 2551,น.5)

             การศึกษา สเปนมุ่งที่จะสอนให้ชาวพื้นเมืองได้เรียนรู้เกี่ยวกับศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกจึงมีการตั้งโรงเรียนในเขตโบสถ์ทุกแห่งซึ่งบาทหลวงจะเป็นผู้ดำเนินการสอนและใช้ภาษาสเปนในการเรียนการสอน ซึ่งโรงเรียนและมหาวิทยาลัยเหล่านี้ยังมีอยู่ในปัจจุบัน

            อิทธิพลของประเพณีศาสนาคริสต์โรมันคาทอลิกก็มีผลต่อชาวฟิลิปปินส์ปัจจุบันเช่นกัน เช่นการยอมรับประเพณีการมีบิดามารดาร่วม ประเพณีที่ทำให้ชาวฟิลิปปินส์มีพ่อและแม่อุปถัมภ์หรือพ่อทูนหัวแม่ทูนหัว ซึ่งทำให้ชาวฟิลิปปินส์มีเครือญาติบริวารเกื้อกูลอุปถัมภ์ซึ่งกันและกันมาจนถึงปัจจุบัน

            เศรษฐกิจ สเปนได้เข้ามาพร้อมกับนำระบบถือครองที่ดินหรือระบบศักดินาที่เรียกว่าระบบเอ็นคอมเมียนดา โดยให้ผู้มีสิทธิ์ถือครองที่ดินสามารถเรียกเก็บผลประโยชน์จากบุคคลที่เข้ามาประกอบอาชีพในที่ดินของตนได้แต่คนเหล่านี้ต้องนับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก (สีดา สอนศรี,2551,น.6) ส่วนผลประโยชน์ที่ได้จากที่ดินส่วนพระมหากษัตริย์ยกให้เป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ผลประโยชน์ที่ได้จากที่ดินสงฆ์ให้ยกเป็นของวัดหรือคณะผู้สอนศาสนาและผลประโยชน์ที่ได้จากสิทธิส่วนบุคคลให้เก็บผลประโยชน์ตามสิทธิที่ตนถือครองอยู่ และระบบถือครองที่ดินนั้นได้ตกทอดมาถึงฟิลิปปินส์ปัจจุบัน โดยตระกูลใหญ่ๆ ของฟิลิปปินส์ปัจจุบันล้วนแต่ได้รับมรดกตกทอดจากการถือครองที่ดินมาจากสมัยสเปนเข้าครอบครองทั้งสิ้น

           ในส่วนของโครงสร้างการเมืองการปกครอง สเปนได้จัดการปกครองใหม่โดยแบ่งการปกครองออกเป็นจังหวัด แต่ละจังหวัดแบ่งเป็นเมืองแต่ละเมืองประกอบด้วยหมู่บ้านหรือบารังไก การปกครองทั้งหมดขึ้นตรงต่อเมืองหลวงเป็นการปกครองแบบรวมศูนย์

           จะเห็นได้ว่า สภาพการเมืองและการปกครองของฟิลิปปินส์นั้นตกอยู่ในอำนาจการปกครองของชาวสเปนแต่เพียงฝ่ายเดียว ไม่เปิดโอกาสให้ชาวพื้นเมืองได้แสดงความคิดเห็นหรือมีสิทธิขั้นพื้นฐานใดๆ เลยจึงก่อให้เกิดขบวนการชาตินิยมขึ้นและนำไปสู่การปฏิวัติในปีค.ศ. 1896

 

การครอบครองของสหรัฐอเมริกา

            ในขณะที่ชาวฟิลิปปินส์ต่อสู้เพื่อเอกราชอยู่นั้น คิวบาซึ่งเป็นอาณานิคมของสเปนได้ทำการปฏิวัติต่อต้านการปกครองของสเปนด้วยแต่เนื่องจากการปราบกบฏชาวคิวบานั้นไปกระทบผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ที่อยู่ในคิวบาและสเปนได้โจมตีเรือรบของสหรัฐฯ สหรัฐฯจึงประกาศสงครามกับสเปนทันทีและนั่นก็คือสาเหตุที่สหรัฐส่งกองทัพเรือมาโจมตีกองทัพสเปนที่มะนิลาซึ่งทำให้สหรัฐฯเริ่มแผ่อิทธิพลเข้ามาในฟิลิปปินส์ โดยแท้จริงแล้วตามหลักการมอนโรของสหรัฐซึ่งวางหลักการไว้ว่าสหรัฐฯจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับกิจการของประเทศยุโรปและในขณะเดียวกันก็จะไม่ยอมให้ยุโรปเข้ามาแทรกแซงในกิจการของตน แต่ในเหตุการณ์กบฏคิวบานี้ สเปนได้แทรกแซงกิจการของสหรัฐมีผลให้ธุรกิจของสหรัฐฯถูกกระทบกระเทือนเป็นอย่างมาก สหรัฐฯจึงวางนโยบายโจมตีมะนิลาเพื่อหวังผลทางเศรษฐกิจจากเมืองท่านี้ด้วย และการสู้รบครั้งนี้สเปนเป็นฝ่ายแพ้จึงต้องสูญเสียฟิลิปปินส์ให้กับสหรัฐฯในปี ค.ศ. 1898 และสหรัฐฯต้องจ่ายเงินจำนวน 20 ล้านดอลลาร์ให้เป็นการตอบแทนภายใน 3 เดือน นับตั้งแต่เซ็นสัญญา

            หลังจากที่สหรัฐได้เข้ามาครอบครองฟิลิปปินส์นั้น สภาพสังคมได้เปลี่ยนไปจากเดิมมาก เพราะสหรัฐฯได้ให้สิทธิเสรีภาพมากกว่าสมัยที่ตกอยู่ภายใต้การปกครองของสเปน สหรัฐได้เข้าจัดการระบบการศึกษาใหม่ที่ทันสมัย โดยมุ่งให้นักเรียนทุกคนเข้าเรียนภาคบังคับในชั้นประถม 1-6 และได้ตั้งโรงเรียนศึกษาผู้ใหญ่และตั้งมหาวิทยาลัยแห่งชาติ คือ มหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์ ที่จัดการสอนตามหลักสูตรอเมริกัน ภาษาที่ใช้ในการสอนขณะนั้นคือภาษาอังกฤษและสเปน

            ด้านเศรษฐกิจ สหรัฐฯได้ปรับปรุงแผนพัฒนาเศรษฐกิจ โดยพัฒนาธนาคารทางการเกษตรและอุตสาหกรรมให้เป็นแหล่งสำคัญของในการพัฒนาเศรษฐกิจของชาติ และยังขยายการค้าต่างประเทศและควบคุมภาษีของฟิลิปปินส์ให้รัดกุมยิ่งขึ้น ในด้านการเกษตรได้ปรับปรุงการเพิ่มผลการผลิตต่างๆ เช่น อ้อย ยาสูบ มะพร้าว ป่าน และให้การค้าผลผลิตเหล่านี้เป็นไปอย่างเสรีระหว่างสหรัฐฯและฟิลิปปินส์ ซึ่งทำให้ฟิลิปปินส์ตกเป็นรองสหรัฐอยู่มาก แต่ปัญหาที่สหรัฐไม่สามารถแก้ไขได้ก็คือ ปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน แม้ว่าสหรัฐจะพยายามปฏิรูปที่ดินโดยพยายามให้ประชาชนระดับล่างเข้ามาเป็นเจ้าของที่ดินแต่ก็ไม่สามารทำให้ชนชั้นกลางและบาทหลวงกระจายที่ดินให้คนระดับล่างได้

            ปัญหาความยุติธรรมในการกระจายรายได้ เป็นปัญหาที่ฟิลิปปินส์ประสบ ประชาชนได้รับค่าจ้างต่ำ สภาพการทำงานก็ไม่ดี รายได้ประชาติก็ต่ำทำให้ประชาชนก่อความวุ่นวายขึ้นบ่อยครั้ง สภาวะเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์ระยะหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้นยิ่งทรุดหนักเนื่องจากปัญหาเงินเฟ้อ รายได้ของประชาชนตกต่ำมาก และด้วยสภาพเศรษฐกิจเสื่อมโทรม สภาพสังคมก็เกิดปัญหาวุ่นวายมาตามกัน ฟิลิปปินส์จึงยอมให้สหรัฐเข้ามาดำเนินการฟื้นฟูประเทศแต่มีข้อแลกเปลี่ยนโดยการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเพิ่มบทบัญญัติว่า ด้วยสิทธิเท่าเทียมกัน โดยยินยอมให้สหรัฐมีสิทธิในการแสวงหาผลประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติของฟิลิปปินส์มากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการตกต่ำทางเศรษฐกิจเนื่องจากผลประโยชน์อยู่กับสหรัฐฯเป็นส่วนใหญ่และเป็นเหตุผลให้รัฐบาลคอมมิวนิสต์เข้ามาอ้างเพื่อล้มล้างรัฐบาล

             จากการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจในสมัยที่สหรัฐเข้าครอบครองนี้ ทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่สำคัญ 2 ประการ คือ 1. เกิดชนชั้นกลางและปัญญาชน ซึ่งคนกลุ่มเป็นกำลังในการสร้างชาติและรับทอดการดำเนินงานปกครองแต่การพัฒนาก็ยังทำไม่ทั่วถึง 2. กลุ่มร่ำรวยซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยได้เข้ามาควบคุมเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งได้แก่ ชาวสเปน จีน อเมริกันและพวกลูกครึ่งทั้งหลาย (สีดา สอนศรี, 2551,น.15)

          สหรัฐฯดำเนินนโยบายที่มีลักษณะตรงข้ามกับสเปนเป็นอย่างมาก นั่นคือมีการกระจายอำนาจการปกครอง เพราะสหรัฐถือว่าเป็นหน้าที่ของตนที่จะให้การศึกษาเกี่ยวกับการเมืองการปกครองและสร้างความเจริญให้ฟิลิปปินส์ด้วย

          สหรัฐได้ฝึกชาวพื้นเมืองให้รู้จักการปกครองระบอบประชาธิปไตยและรู้จักการปกครองตนเอง โดยระยะแรกจัดให้มีการปกครองแบบเทศบาลหรือการปกครองแบบกระจายอำนาจขึ้น ในขั้นต่อมาก็จัดการปกครองส่วนกลาง ร่างรัฐธรรมนูญปกครองตนเอง จัดตั้งระบบพรรคการเมืองและองค์กรอิสระต่างๆ ซึ่งเป็นรากฐานการปกครองของฟิลิปปินส์ในเวลาต่อมา

บรรณานุกรม

    สำนักข่าวกรองแห่งชาติ. (2557). ข้อมูลพื้นฐานของต่างประเทศ 2558. สำนักข่าวกรองแห่งชาติ.

    ดี.จี.อี ฮอลล์. (2557). ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้: สุวรรณภูมิ – อุษาคเนย์ภาคพิศดารเล่ม 2 .กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.

    สีดา สอนศรี. (2551). ฟิลิปปินส์: จากอดีตสู่ปัจจุบัน (ค.ศ.1986-2006). กรุงเทพฯ: โครงการตำราและสิ่งพิมพ์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

    สีดา สอนศรี. (2557). หนังสือชุด สถาบันการเมืองในประเทศอาเซียนบวกสาม “สาธารณรัฐฟิลิปปินส์”.กรุงเทพฯ: ศูนย์วิจัยดิเรก ชัยนาม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

    สถาบันพัฒนาข้าราชการพลเรือน. (2557). ระบบบริหารราชการของสาธารณรัฐ ฟิลิปปินส์. นนทบุรี: กรกนกการพิมพ์

    กรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์. (2555). คู่มือ การค้าและการลงทุนสาธารณรัฐฟิลิปปินส์.กรุงเทพฯ: สำนักข่าวพาณิชย์ กรมส่งเสริมการส่งออก.