ฟิลิปปินส์ - ชาติพันธุ์



          ฟิลิปปินส์ตั้งอยู่บนภาคพื้นคาบสมุทรของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภูมิประเทศแวดล้อมด้วยหมู่เกาะกว่า 7,107 เกาะ (Jesudas M.Athyal,Editor, 2015:220) มีกลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิมกว่า 106 กลุ่ม กระจายตัวอาศัยในเกาะลูซอน วิสายาส์ และมินดาเนา จากข้อมูลในปีค.ศ.2015 จำนวนประชากรในฟิลิปปินส์มีมากถึง 100.98 ล้านคน (Wikipedia, 2016) นอกจากนี้ยังมีกลุ่มลูกครึ่ง ได้แก่ ลูกครึ่งสเปน ลูกครึ่งอเมริกา ลูกครึ่งจีน ลูกครึ่งเกาหลี ลูกครึ่งญี่ปุ่น คนรุ่นพ่อแม่ของบุคคลเหล่านี้เข้ามายังฟิลิปปินส์ในช่วงทศวรรษที่ 1970 เป็นต้นมา

          ส่วนกลุ่มพื้นเมืองดั้งเดิมเมื่อจำแนกตามกลุ่มภาษา พบว่ากลุ่มชาติพันธุ์ส่วนใหญ่คือ อิโลกาโน(Ilocano) ปังกาซินัน(Pangasinan) ปัมปังกัน(Pampangan) ตากาล็อก(Tagalog) บิโคลาโน(Bicolano) อิลองโก(Ilongo) Waray-Waray(วาไร-วาไร) เซบูอาโน (Cebuano) โบโฮลลาโน(Boholano) (สีดา สอนศรี, 2551:39)

            กลุ่มมุสลิม ได้แก่ มากินดาเนา(Maguindanao) มาราเนา(Maranao) เตาซุก(Taosug) ซามาล(Samal) ปาเจา(Bajao) ยาคาน(Yakan) อีลานอน(Ilanon) ซังกีร์(Sangir) เมลาบุกนัน(Melabugnan) จามา มาปุน(Jama Mapun) (สีดา สอนศรี, 2551:39)

            กลุ่มชาวพื้นเมืองที่ราบสูง-ลูซอน ได้แก่ อีฟูเกา(Ifugao) บอนต๊อก(Bontoc) คันคาไน(Kankanai) อีบาลอย(Ibaloi) คาลิงกา(Kalinga) ติงกุยอัน(Tinguian) อีสเนก(Isneg) กัดดัง(Gaddang) อีลองกอต(Ilongot) เนกริโต(Negrito) (สีดา สอนศรี, 2551:39)  

            กลุ่มชาวพื้นเมืองที่ราบสูง-มินโดโรและมินดาเนา ได้แก่ มังยัง(Mangyang) มาโนโบ(Manobo), บูกิดนอน(Bukidnon) บาโกโบ(Bagobo) มันดายา(Mandaya) อตา(Ata) มันซาคา(Mansaka) ซูบานุน(Subanun) มามานูอา(Mamanua) บิลา-อัน(Bila-an) ติรูไร(Tirurai) ตี-โบลิ(T-Boli) ตาซาได (Tasaday) (สีดา สอนศรี, 2551:39)

            ประเด็นปัญหาสำคัญของกลุ่มชาติพันธุ์ที่พบในฟิลิปปินส์คือ ปัญหากลุ่มแบ่งแยกดินแดน เนื่องจากความเป็นมาทางประวัติศาสตร์แสดงให้เห็นว่ากลุ่มมุสลิมได้ลงหลักปักฐานในดินแดนแห่งนี้ก่อนการเข้ามาของเจ้าอาณานิคมสเปนและสหรัฐอเมริกา ดังที่ Kamlan นักมานุษยวิทยาชี้ให้เห็นว่า ดินแดนที่มุสลิมในพื้นที่ภาคใต้ของฟิลิปปินส์ถือว่าเป็นดินแดนของบรรพบุรุษมุสลิมนั้น ควรเป็นดินแดนทั้งหมด เนื่องจากในคริสต์ศตวรรษที่ 8 พ่อค้าชาวอาหรับและผู้สอนศาสนาจากคาบสมุทรมาเลย์ บอร์เนียว และอินโดนีเซีย ได้เดินทางมาค้าขายและเผยแพร่ศาสนาอิสลามในหมู่เกาะซูลู มากินดาเนา และมาราเนา ต่อมาราวปลายคริสต์ศตวรรษที่ 13 ได้จัดตั้งระบบการเมืองการปกครองแบบสุลต่านในมินดาเนาตะวันตก ตอนเหนือ ตอนกลาง ตอนใต้ และซูลู โดยสุลต่านเหล่านั้นมีส่วนกล่อมเกลาผู้คนให้รับนับถือศาสนาอิสลาม ตั้งแต่ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 14 รวมทั้งได้ก่อตั้งโรงเรียนศาสนาอิสลาม (สีดา สอนศรี และคณะ, 2553:1)  

            จนกระทั่งสเปนเข้าครอบครองฟิลิปปินส์ในค.ศ.1565 สเปนเรียกชาวมุสลิมเหล่านี้ว่า Moors เนื่องจากมีลักษณะความเป็นอยู่และแนวคิดคล้ายพวก Moors ที่ครอบครองสเปนมาแต่เดิม สิ่งที่สเปนกระทำต่อชาวมุสลิมภาคใต้ คือ เข้าโจมตีถิ่นฐานที่อยู่อาศัย ทำลายระบบสุลต่านในมินดาเนาและซูลู การโจมตีดังกล่าวมีขึ้นตลอดระยะเวลา 350 ปีที่สเปนปกครองฟิลิปปินส์ (สีดา สอนศรี และคณะ, 2553:1) ต่อมาเมื่อสหรัฐอเมริกาเข้าเป็นเจ้าอาณานิคมได้พยายามรวมมุสลิมภาคใต้เข้ามาอยู่ในโครงสร้างการพัฒนาของรัฐบาล ทั้งยังพยายามพัฒนามุสลิมทางตอนใต้ให้ทันสมัยเท่ากับชาวฟิลิปปินส์ที่นับถือคริสต์ศาสนา นิกายโรมันคาทอลิก โดยใช้นโยบายดึงดูด (Policy of Attraction) เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตทั้งในทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคม มีการพยายามสร้างโรงเรียน โรงพยาบาล และนำครูที่ไม่ใช่ชาวมุสลิมเข้าไปให้ความรู้แก่เยาวชน หากแต่ในทางกลับกับกลายเป็นการสร้างความหวาดระแวงต่อชาวมุสลิมในพื้นที่จึงไม่ส่งบุตรหลานเข้าเรียนในโรงเรียนของสหรัฐอเมริกาสร้างขึ้น ดังนั้นเมื่อถูกต่อต้านจึงไม่สามารถพัฒนาเขตพื้นที่ดังกล่าวได้อย่างเต็มที่ และในช่วงนี้เองชาวมุสลิมเริ่มก่อรูปแนวคิดอิสลามเพื่อต่อต้านสหรัฐอเมริกา (สีดา สอนศรี, 2549:3)

            กลุ่มแบ่งแยกดินแดนเริ่มเกิดขึ้นในทศวรรษที่ 1960 โดยคนรุ่นหนุ่มที่ไม่ได้มาจากครอบครัวชนชั้นนำ แต่มีการศึกษาสูง เนื่องจากได้รับทุนรัฐบาลให้เข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยของรัฐ ณ กรุงมะนิลา แต่ในระยะแรกชนชั้นนำท้องถิ่นที่ได้รับการศึกษาเหล่านี้ไม่ได้รับความนิยมจากชาวมุสลิมในพื้นที่เท่าที่ควร เนื่องจากชนชั้นนำพยายามสนับสนุนให้มุสลิมเข้ากับชาวคริสต์ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ แต่ต่อมาเมื่อรัฐบาลใช้นโยบายเข้าปราบปรามกลุ่มโมโรที่ต้องการแบ่งแยกดินแดน จึงทำให้เกิดขบวนการต่อต้านรัฐบาลขึ้นในปี ค.ศ.1976 (สีดา สอนศรี,2549:3)

           ปัจจัยที่มีผลต่อการเกิดขบวนการดังกล่าวอาจมาจากปัจจุบันภายใน คือผู้นำมุสลิมบางกลุ่มต้องการรักษาอำนาจของตัวเองในการควบคุมทรัพยากรต่างๆ ในท้องถิ่นและปัจจัยด้านอุดมการณ์ของกลุ่มหัวรุนแรง ส่วนปัจจัยภายนอก คือ การใช้กำลังของกองกำลังทหารของรัฐบาลมาร์กอสเข้าปราบปราม ทำให้เกิดความตึงเครียดระหว่างผู้ควบคุมทรัพยากร ผู้ยึดถืออุดมการณ์ เครือญาติบริวารและชนชั้นต่างๆ ในสังคมของโคตาบาโต

           หนึ่งในจำนวนผู้ต่อต้านรัฐบาล คือ นูร์ มิซูอาริ ผู้นำคนสำคัญของแนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติโมโร หรือ (MNLF) เป็นขบวนการแบ่งแยกดินแดนภาคใต้และกลุ่มผลประโยชน์หัวรุนแรงมีความต้องการให้ภาคใต้เป็นเขตปกครองตนเอง ที่มีบทบาทตั้งแต่มาร์กอสเริ่มประกาศกฎอัยการศึกจนถึงปัจจุบัน ในช่วงที่มาร์กอสมีอำนาจอยู่นั้นกบฏแบ่งแยกดินแดนภาคใต้กลุ่มนี้มีบทบาทอยู่ 3 ช่วง คือ 1. ในปี ค.ศ.1972-1973 เมื่อมาร์กอสเริ่มประกาศกฎอันการศึก 2. ในปี ค.ศ.1976-1977 เมื่อมีการเจรจาหยุดยิงกับรัฐบาล 3.ในปีค.ศ.1980-1981 เมื่อมาร์กอสประกาศยกเลิกการใช้กฎอัยการศึก(สีดา สอนศรี,2550:11) กลุ่มนี้สามารถต้อสู้เรียกร้องกระทั่งรัฐบาลให้สิทธิในการปกครองตนเอง เรียกว่า เขตปกครองตนเองมุสลิมมินดาเนา(Autonomous Religion of Muslim Mindanao : ARMM) ประกอบด้วยจังหวัดมากินดาเนา ลาเนาเดลซูร์ เกาะบาสิลัน ซูลู ตาวีตาวี และมารวี (จับตาเอเชียตะวันออก, 2553)   

           ทั้งนี้ปัจจุบันทางภาคใต้ของฟิลิปปินส์ยังคงมีกลุ่มแบ่งแยกดินแดน ที่ยังเคลื่อนไหวก่อความไม่สงบอยู่เป็นระยะเพื่อต่อสู้กับรัฐบาล อาทิเช่น กลุ่ม MILF หรือ แนวร่วมปลดปล่อยอิสลามโมโร เป็นกลุ่มขบวนการที่มีความแข็งกร้าวกว่า MNLF มีผู้นำคนสำคัญคือ ซาลามัต ฮาซิม ความต้องการของเขาคือให้ภาคใต้ทั้งหมดของฟิลิปปินส์เป็น “รัฐอิสลาม” (ปรีชา คุวินทร์พันธุ์, 2548) ต้องการเอกราชจากฟิลิปปินส์ เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ค.ศ.2012 ประธานาธิบดีเบนิกโน อากีโนประกาศข้อตกลงแลกประโยชน์สันติภาพกับแนวร่วมปลดปล่อยอิสลามโมโร และล่าสุดในปีค.ศ.2016 พื้นที่ดังกล่าวจะกลายเป็นเขตปกครองตนเองบังซาโมโร (บล็อกเรื่องเล่าจาก ดร.โย, 2558) 

บรรณานุกรม

    Jesudas M.Athyal,Editor. (2015). Religion in Southeast Asia. California.

    Wikipedia. (23 May 2016). Demographics of the Philippines. เรียกใช้เมื่อ 27 May 2016 จาก Wikipedia The Free Encyclopedia: https://en.wikipedia.org/wiki/Demographics_of_the_Philippines

    จับตาเอเชียตะวันออก. (29 กันยายน 2553). ข่าวและบทความ. เรียกใช้เมื่อ 31 พฤษภาคม 2559 จาก จับตาเอเชียตะวันออก: http://www.eastasiawatch.in.th/article.php?id=583

    บล็อกเรื่องเล่าจาก ดร.โย. (2 ธันวาคม 2558). เรียกใช้เมื่อ 30 พฤษภาคม 2559 จาก Chaopraya news Web site: https://goo.gl/Y61oy9

    ปรีชา คุวินทร์พันธุ์. (2548). ศาสนา ชาติพันธุ์-ชาตินิยม และความรุนแรง. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.).

    สีดา สอนศรี. (2551). ฟิลิปปินส์:จากอดีตสู่ปัจจุบัน(ค.ศ.1986-2006). กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

    สีดา สอนศรี และคณะ. (2553). มุสลิมกับความมั่นคงของรัฐ ฟิลิปปินส์ จีน อินเดีย สิงคโปร์ รัสเซีย สเปน ปากีสถาน มาเลเซีย อินโดนีเซีย ตุรกี. สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ.