ฟิลิปปินส์ - ข้อมูลพื้นฐาน



ข้อมูลพื้นฐาน

          ประเทศฟิลิปปินส์ ตั้งอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีเมืองหลวงชื่อว่า มะนิลา ประกอบด้วย 7,107 หมู่เกาะ มีพื้นที่ประมาณ 300,000 ตร.กม. แบ่งเป็น 3 พื้นที่สำคัญ คือ ตอนเหนือ เกาะลูซอน (Luzon) รวมมะนิลา ตอนกลาง หมู่เกาะวิสายาส์ (Visayas) รวมหมู่เกาะปาลาวัน และมินโดรโร และ ตอนใต้ เกาะมินดาเนา (Mindanao) และหมู่เกาะซูลู (Sulu) ชายฝั่งทะเลที่ยาวถึง 36,289 กม. ทำให้ฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่มีชายฝั่งทะเลยาวเป็นอันดับ 5 ในโลก เวลาเร็วกว่าไทย 1 ชม. ฟิลิปปินส์อยู่ในเขต Pacific’s Ring Of Fire ซึ่งเป็นเขตแผ่นดินไหวรุนแรงและแนวภูไฟ ซึ่งมีอยู่ 106 ลูกทั้งประเทศ

 

อาณาเขต

ทิศเหนือ            จรดมหาสมุทรแปซิฟิก ทะเลจีนใต้ และช่องแคบ Bashi

ทิศตะวันออก     จรดมหาสมุทรแปซิฟิก และทะเลฟิลิปปินส์

ทิศใต้                จรดทะเลเซเลเบส และทะเลซูลู

ทิศตะวันตก       จรดทะเลฟิลิปปินส์ตะวันตก (ทะเลจีนใต้)
 

ภูมิประเทศ

          หมู่เกาะต่างๆของฟิลิปปินส์ แบ่งเป็น 3 ภาค ภาคเหนือ เกาะลูซอน ใหญ่ที่สุดมีที่ราบ 2 แห่ง คือ ที่ราบลุ่มแม่น้ำคากายันและที่ราบมะนิลาตอนกลางเกาะ ซึ่งเป็นที่ราบใหญ่ที่สุดของประเทศและเป็นที่ตั้งของเมืองหลวงมะนิลา ภาคกลาง หมู่เกาะวิสายาส์ ประกอบด้วยเกาะมินโดโร มาสตาเบ ซามาร์ ปาไน เนกรอส เซบู โปโซลและเลเต ภาคใต้ เกาะมินดาเนามีขนาดใหญ่อันดับ 2 รองจากเกาะลูซอน และมีภูเขา อาโป บนเกาะมินดาเนาเป็นภูเขาที่สูงที่สุดซึ่งมีความสูง 9,692 ฟุต อีกทั้งยังมีภูเขาไฟที่ยังไม่ดับอีก 21 ลูก ซึ่งเป็นภูเขาไฟที่คุกรุ่นมากถึง 6 ลูก คือ มายอน ตาอาล บูลูซาน พินาตูโบ คาลาอันและฮิบอค

 

ภูมิอากาศ

          ฝนตกชุกตลอดปี ปริมาณน้ำฝน 2,000 – 4,000 มม./ปี แบ่งเป็น 3 ฤดู ฤดูฝน ตั้งแต่เดือน มิ.ย. – ก.ย. โดยลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้จะพัดผ่านในช่วง มิ.ย. – มี.ค. และมีฝนตกทางภาคตะวันตกของเกาะเป็นส่วนมาก แต่มีฝนตกกระจายโดยทั่วไปบางส่วนของประเทศ โดยเกาะมินดาเนาจะมีฝนตกเกือบตลอดทั้งปี ฤดูหนาว ตั้งแต่เดือน ต.ค. –ก.พ. ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดผ่านในช่วง พ.ย. – มี.ค. เป็นลมเย็นและแห้งแล้ง อาจทำให้เกิดฝนในบางครั้ง ฤดูร้อน ตั้งแต่ มี.ค. – พ.ค. มีลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดผ่านทำให้เกิดฝนตกหนักบริเวณชายฝั่ง ความชื้นเฉลี่ยร้อยละ 75-85 ฟิลิปปินส์ประสบกับพายุไต้ฝุ่นปีละประมาณ 25 ลูก

 

ประชากร

          ประมาณ107,668,231 คน (ก.ค. 2557) ประกอบด้วยเชื้อชาติ มาเลย์ 96% จีน 2% และอื่น 2% อายุเฉลี่ยของประชากรโดยรวมประมาณ 71.38 ปี เพศชายประมาณ 68.45 ปี และเพศหญิง 74.45 ปี อัตราการเกิด 24.98/ประชากร 1,000 คน อัตราการตาย 4.9/ประชากร 1,000 คน อัตราการเพิ่มของประชากร 1.88%

 

ศาสนา

          คริสต์นิกายโรมันคาทอลิก 83% โปรเตสแตนต์ 9% อิสลามนิกายซุนนี่ 5% และศาสนาอื่นๆ 2%

 

ภาษา

          ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการ ภาษาตากาล็อก (ทั่วไป) มีภาษาพื้นเมืองมากกว่า 87 ภาษา และใช้ภาษาอาราบิคในพิธีทางศาสนาของชาวมุสลิม

 

การศึกษา

          อัตราการรู้หนังสือ 95.7% งบประมาณด้านการศึกษาประมาณ 2.5% ของ GDP การศึกษาภาคบังคับ 6 ปี สาขาวิชาในอุดมศึกษาที่นักศึกษาประสงค์เข้าเรียนมากที่สุดคือ การพยาบาล การศึกษาและเทคโนโลยีสารสนเทศ ส่วนสาขาที่มีแนวโน้มได้รับการสนใจมากขึ้นคือ การบริหารการจัดการโรงแรมและอาหาร

 

ระบบการเมือง

          ปกครองแบบสาธารณรัฐ(Republic) ประธานาธิบดีเป็นประมุขและหัวหน้ารัฐบาล วาระ 6 ปี และไม่เกิน 2 สมัย การเลือกตั้งประธานาธิบดีและการเลือกตั้งทั่วไปครั้งล่าสุดมีขึ้นเมื่อ 10 พ.ค. 2010 นายเบนิกโน อากิโน (Benigno Aquino) ชนะการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีต่อจากประธานาธิบดีกลอเรีย มากาปากัล อาร์โรโย และมีกำหนดครบวาระใน 20 มิ.ย. 2016 การเลือกตั้งทั่วไปครั้งต่อไปกำหนดในปี 2016

          ฝ่ายบริหาร ประธานาธิบดีมีอำนาจแต่งตั้ง คณะรัฐมนตรี เอกอัคราชทูต และควบคุมฝ่ายบริหาร กระทรวง ทบวง กรมต่างๆ

          ฝ่ายนิติบัญญัติ/รัฐสภา ทำหน้าที่ออกกฎหมาย ข้อมติ และจัดให้มีการไต่สวนในเรื่องที่มีความสำคัญ ให้ความเห็นชอบงบประมาณและภาษี ประกอบด้วย 2 สภา คือ

  1. วุฒิสภา มีสมาชิก 24 คน มาจากการเลือกตั้งโดยตรง วาระไม่เกิน 6 ปี และ ไม่เกิน 2 สมัย เลือกตั้งใหม่กึ่งหนึ่งทุก 3 ปี
  2. สภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) มีสมาชิกไม่เกิน 250 คน โดย 200 คนมาจากการเลือกตั้งโดยตรง และอีกที่ 50 คนมาจากการเลือกตั้งตามบัญชีรายชื่อจากตัวแทนสาขาอาชีพต่างๆ มีวาระ 3 ปีและไม่เกิน 3สมัย

         ฝ่ายตุลาการ ศาลสูง ศาลอุทธรณ์ และศาลชั้นต้น ศาลสูงประกอบด้วยและผู้พิพากษาสูง 14 คน มีอำนาจปลดประธานาธิบดี หากไม่มีประสิทธิภาพในการบริหารงาน หรือป่วยจนไม่สามารถปกครองประเทศ

          องค์กรอิสระ คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน คณะกรรมการการเลือกตั้ง คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน คณะกรรมการตรวจสอบการประพฤติมิชอบ และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน

          พรรคการเมืองสำคัญ Liberal Party (LP) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาล พรรค Puwersa ng Masa และ พรรค Kilusang Bagaon Lipunan

 

เศรษฐกิจ

          ระบบเศรษฐกิจแบบเสรีโดยใช้กลไกตลาด สภาพเศรษฐกิจและดารประกอบอาชีพคล้ายกับไทย สินค้าเกษตรเป็นรายได้หลัก การส่งเสริมอุตสาหกรรม การท่องเที่ยวและการบริการ

          ผลผลิตการเกษตรที่สำคัญ คือ ข้าว ข้าวโพด มะพร้าว อ้อยกล้วยหอม มะม่วง สับประรด และการประมง

          อุตสาหกรรมหลัก คือ การผลิตอาหาร สิ่งทอ รองเท้า เคมีภัณฑ์ ปิโตรเลียมและถ่านหิน สินค้าอิเลคทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า

          ทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ คือ ทองแดง ตะกั่ว ทองคำ นิกเกิล โครเมียม น้ำมัน/ก๊าซธรรมชาติและทรัพยากรทางทะเล

          นโยบายเศรษฐกิจ แก้ไขปัญหาความยากจน ปราบปรามการทุจริต เร่งสร้างงานเพื่อแก้ไขปัญหาชาวฟิลิปปินส์ไปทำงานต่างประเทศ ก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐาน เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันและดึงดูดการลงทุน ส่งเสริมการท่องเที่ยว และเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรเพื่อให้สามารถพึ่งพาตนเองด้านอาหาร

          สกุลเงิน เปโซฟิลิปปินส์ อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลล่าร์ สหรัฐ / 43 – 44 เปโซ และ 1 บาท / 1.36 เปโซ (ส.ค. 57)

 

การทหาร

          กองทัพฟิลิปปินส์ ประกอบด้วย กองทัพบก กองทัพเรือและกองทัพอากาศ ซึ่งมีประธานาธิบดีเป็นผู้บัญชาการกองทัพ รมว. กลาโหม เป็นรองผู้บัญชาการกองทัพ และเสนาธิการกองทัพ เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด รับผิดชอบด้านยุทธการ ในนามประธานาธิบดี

          ในปี 2015นี้ งบประมาณด้านการทหารของประเทศฟิลิปปินส์ 2,655ล้านดอลลาร์สหรัฐ กองทัพมีกำลังพลรวม 127,00นาย โดยแบ่งเป็น กองทัพบก 90,000 นาย กองทัพเรือ 20,000 นาย และกองทัพอากาศ 17,000นาย รวมทั้งกองกำลังอื่นๆที่ไม่ใช่ทหาร 40,500 นาย กองกำลังสำรอง 131,000 นาย

 

ปัญหาด้านความมั่นคง

          ปัญหาความมั่นคงหลักของฟิลิปปินส์ที่สำคัญ ได้แก่

  1. การเคลื่อนไหวของพรรคคอมมิวนิสต์ฟิลิปปินส์ (Communist Party of the Philippines-CPP) และกองทัพประชาชนใหม่ (New People Army – NPA) ซึ่งเป็นกองกำลังติดอาวุธของ CPP เคลื่อนไหวทั่วประเทศ ปัจจุบันรัฐบาลฟิลิปปินส์ ยกเลิกการเจรจาสันติภาพกับ CPP เนื่องจาก CPPมักตั้งเงื่อนไขใหม่ๆ เมื่อถึงกำหนดวันเจรจาที่มีรัฐบาลนอร์เวย์เป็นคนกลาง
  2. ปัญหาการแบ่งแยกดินแดนในมินดาเนา ทางใต้ของฟิลิปปินส์ ซึ่งมีแนวร่วมปลดปล่อยอิสลามโมโร (Moro Islamic Liberation Front – MILF) เป็นแกนนำสำคัญ การเจรจาสันติภาพระหว่างMILF กับรัฐบาลซึ่งมีรัฐบาลมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวกการเจรจาสามารถลงนามในข้อตกลงสันติภาพเมื่อเดือน มีนาคม 2014
  3. ปัญหาการก่อการร้ายและก่ออาชญากรรมของกลุ่มก่อการร้ายอาบู ซายาฟ (Abu Sayyaf Group – ASG) ที่เคลื่อนไหวอยู่ในหมู่เกาะซูลูและเกาะบาสิลัน ทางตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะมินดาเนา มีพฤติกรรมเป็นอาชญากรมากกว่ากลุ่มต่อต้านรัฐบาล โดยเฉพาะการลักพาตัวเรียกค่าไถ่
  4. กลุ่มนักรบเสรีภาพอิสลามโมโร (Bangsamoro Islamis Freedom Fighter – BIFF) ที่แยกตัวมาจาก MILF โดยยืนยันว่าต้องการเป็นเอกราชไม่ยอมรับอำนาจจากรัฐบาลกลาง
  5. ความเคลื่อนไหวของแนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติโมโร (Moro National Liberation Front – MNLF) ที่พยายามเรียกร้องความสนใจจากรัฐบาลปัจจุบันให้ดำเนินการตามที่ MNLF ลงนามไว้กับอดีตประธานาธิบดีฟิเดล รามอส

 

สถานการณ์ที่น่าติดตาม

          การเมืองภายในฟิลิปปินส์แม้มีเสถียรภาพ แต่ประชาชนเริ่มไม่พอใจการบริหารงานของประธานาธิบดีเบนิกโน ฮากิโน เนื่องจากมีการใช้งบประมาณวาธารณะในทางที่ไม่เหมาะสม และการที่ยังไม่เปิดเผยชื่อผู้ที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งตำแหน่งประธานาธิบดีคนต่อไปและมีความพยายามที่ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้สามารถดำรงตำแหน่งต่อไปหลังครบวาระในปี 2559 รวมทั้งยังมีปัญหาท้าทายสำคัญที่อาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพรัฐบาล เช่น การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ การพัฒนาขีดความสามารถของกองทัพ โดยเฉพาะในช่วงที่ฟิลิปปินส์มีปัญหาขัดแย้งกับจีนในทะเลจีนใต้ การเสริมสร้างสันติภาพภายในประเทศ การเพิ่มประสิทธิภาพในการรับมือกับภัยทางธรรมชาติ และการเพิ่มความสัมพันธ์ด้านการทหารกับสหรัฐฯตลอดจนการเข้ามาใช้สิ่งอำนวยความสะดวกที่ฐานทัพของฟิลิปปินส์ขณะที่มีประชาชนบางกลุ่มต่อต้าน ส่วนการเจรจากับแนวร่วมปลดปล่อยอิสลามโมโร (MILF) ซึ่งมีลงนามในข้อตกลงบังสาโมโร เมื่อ มี.ค. 2014 และจะนำไปสู่การมีสันติภาพในมินดาเนา อย่างไรก็ตาม ยังมีปัญหาเรื่องการเสนอร่างกฎหมายเห็นชอบจากรัฐสภา ขณะที่กลุ่มมุสลิมโมโรที่แยกตัวออกมาจากกลุ่มหลักเริ่มใช้ความรุนแรงอย่างต่อเนื่องเพื่อเรียกร้องความสนใจจากรัฐบาลฟิลิปปินส์

          เศรษฐกิจฟิลิปปินส์ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ภาคธุรกิจที่เป็นกลไกขับเคลื่อนสำคัญ คือ อุตสาหกรรมการผลิต การค้า การบริการการก่อสร้าง การส่งออกแรงงาน การรับจ้างบริหารระบบธุรกิจและธุรกิจพลังงานทางเลือก

          ปัญหาสำคัญที่รัฐบาลเร่งแก้ไข คือ

  1. การเพิ่มผลผลิตข้าวให้เพียงพอต่อการบริโภคและพยายามปรับปรุงพันธุ์ข้าวเพื่อการส่งออกโดยตั้งเป้าหมายสามารถแข่งขันในการส่งออกข้าวได้ภายในปี 2017
  2. การเร่งเสริมสร้างขีดความสามารถด้านการแข่งขัน โดยให้ความสำคัญกับการก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานตามโครงการที่มีภาครัฐและภาคเอกชนเป็นหุ้นส่วน เพื่อมุ่งดึงดูดนักลงทุนต่างชาติทั่วโลกเข้าร่วมโครงการ ทั้งนี้ รัฐบาลจัดสรรเงิน 9,100ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อพัฒนาเส้นทางคมนาคม ในปีงบประมาณ 2558
  3. การแก้ไขปัญหาขาดดุลงบประมาณจำนวนมาก
  4. การทุจริตประพฤติมิชอบ
  5. ความล่าช้าของระบบราชการ
  6. การขาดแคลนพลังงานรวมทั้งค่าไฟฟ้าแพง ซึ่งปี 2015 นี้ ฟิลิปปินส์ต้องเผชิญปัญหาวิกฤตปัญหาพลังงานขาดแคลนในเกาะลูซอน (สำนักข่าวกรองแห่งชาติ, 2557, น.507-512)

 

วัฒนธรรม

          เนื่องจากประเทศฟิลิปปินส์นั้นประกอบไปด้วยเกาะต่างๆ และมีชนเผ่าดั้งเดิมหลายชนเผ่า หลายชาติพันธุ์ รวมทั้งกลุ่มที่เข้ามาทำการค้าตั้งแต่สมัยสเปนเข้ามาครอบครอง ซึ่งล้วนแล้วแต่มีวัฒนธรรมเป็นของตนเอง จึงทำให้ฟิลิปปินส์มีหลากหลายทางภาและวัฒนธรรม ตลอดจนการพัฒนาของสังคมดั้งเดิมไปสู่การเป็นเมืองขึ้นภายใต้การปกครองของสเปนและสหรัฐอเมริกา ทำให้ฟิลิปปินส์มีการผสมผสานทางวัฒนธรรมของวัฒนธรรมพื้นเมือง วัฒนธรรมมุสลิม วัฒนธรรมสเปนและอเมริกา คือ มีลักษณะครอบครัวที่ใกล้ชิดแบบสเปนแต่มีความทันสมัยแบบอเมริกาโดยเฉพาะในสังคมเมือง

          จากการที่สเปนเข้ามาเป็นเจ้าอาณานิคมนั้นได้นำศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกเข้ามาเผยแพร่ เพื่อเป็นเครื่องมือการปกครอง ซึ่งทำให้ฟิลิปปินส์ในปัจจุบันเป็นประเทศที่มีคนนับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกเป็นอันดับ 4 ของโลก คิดเป็นประมาณ 83 % ของชาวฟิลิปปินส์ วิถีชีวิตของชาวฟิลิปปินส์จึงเกี่ยวข้องกับศาสนาตั้งแต่เกิดจนเสียชีวิต การคุมกำเนิดเป็นเรื่องขัดหลักของศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก จึงทำให้มีบุตรมาก เป็นครอบครัวใหญ่ อีกทั้งยังรับอิทธิพลระบบเจ้าขุนมูลนายและระบบอุปถัมภ์จากเสปนและค่านิยมทางครอบครัวที่เป็นแบบประเพณีนิยม อบรมให้เคารพและเชื่อฟังผู้อาวุโสเด็กจะถูกอบรมสั่งสอนให้ยอมรับอำนาจของผู้อาวุโสกว่า จึงทำให้เกิดพฤติกรรมที่ยอมรับอำนาจนิยม

          การที่ฟิลิปปินส์ได้ตกเป็นเมืองขึ้นของสหรัฐอเมริกาเป็นเวลาถึง 50 ปี นั้นทำให้ฟิลิปปินส์ รู้จักการมีส่วนร่วมทางการเมืองและการทำงานเพื่อสังคมสูง ฟิลิปปินส์ถือได้ว่าเป็นประเทศที่เป็นประชาธิปไตยก่อนประเทศอื่นๆในเอเชีย  

          ฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่ไม่เหมือนประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพราะได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมมาจากทางยุโรป ละตินอเมริกัน และอเมริกา ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากอินเดียและจีนน้อยมากแม้ว่าจีนจะติดต่อค้าขายกับฟิลิปปินส์มานานและอินเดียจะเผยแพร่วัฒนธรรมเข้ามาในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มานานเช่นกันแต่ก็ไม่ได้เข้ามามีอิทธิพลโดยตรงต่อฟิลิปปินส์เหมือนประเทศอื่นๆในภูมิภาคนี้

          วัฒนธรรมในการดำเนินชีวิตของชาวฟิลิปปินส์นั้น เป็นวัฒนธรรมแบบผสมผสานของเอเชีย ยุโรปและสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะอเมริกานั้นได้ปลูกฝังความเชื่อมั่นในตนเองให้กับชาวฟิลิปปินส์ ทำให้กล้าแสดงออกในความคิดเห็นของตนเองและกล้าวิพากษ์วิจารณ์ไม่ว่าเรื่องนั้นจะรุนแรงแค่ไหน

บรรณานุกรม

    สำนักข่าวกรองแห่งชาติ. (2257). ข้อมูลพื้นฐานของต่างประเทศ 2558. สำนักข่าวกรองแห่งชาติ.

    ดี.จี.อี ฮอลล์. (2557). ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้: สุวรรณภูมิ – อุษาคเนย์ภาคพิศดารเล่ม 2 .กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.

    สีดา สอนศรี. (2551). ฟิลิปปินส์: จากอดีตสู่ปัจจุบัน (ค.ศ.1986-2006)0. กรุงเทพฯ: โครงการตำราและสิ่งพิมพ์คณะรัฐศาตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

    สีดา สอนศรี. (2557). หนังสือชุด สถาบันการเมืองในประเทศอาเซียนบวกสาม “สาธารณรัฐฟิลิปปินส์”.กรุงเทพฯ: ศูนย์วิจัยดิเรก ชัยนาม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

    สถาบันพัฒนาข้าราชการพลเรือน. (2557). ระบบบริหารราชการของสาธารณรัฐ ฟิลิปปินส์. นนทบุรี: กรกนกการพิมพ์.

    กรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์. (2555). คู่มือ การค้าและการลงทุนสาธารณรัฐฟิลิปปินส์. กรุงเทพฯ: สำนักข่าวพาณิชย์ กรมส่งเสริมการส่งออก.