ฟิลิปปินส์ - ประเพณีพิธีกรรม



          งานประเพณีและพิธีกรรมในฟิลิปปินส์มีความหลากหลายไปตามกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีอยู่เป็นจำนวนมากกว่า 106 กลุ่ม ทั้งกลุ่มดั้งเดิมและกลุ่มที่เข้ามาในช่วงการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อฟิลิปปินส์เข้าสู่การเป็นอาณานิคมของสเปนและสหรัฐอเมริกา เมื่อบริบททางสังคมเปลี่ยนแปลงไปมีการรับเอาวัฒนธรรมจากภายนอกเข้ามาผสมผสาน เช่น วันสำคัญเกี่ยวกับศาสนาและความเชื่อของชาวคริสต์คือ วันคริสต์มาส ส่วนชาวจีนยังมี วันตรุษจีน ถือเป็นงานเทศกาลสำคัญที่ชาวจีนทั่วโลกพร้อมใจกันจัดเฉลิมฉลองเนื่องในวันขึ้นปีใหม่ เพื่อความเป็นสิริมงคงและเป็นช่วงเวลาที่สมาชิกครอบครัวกลับมาอยู่ด้วยกันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา นอกจากนี้ยังมีวันสำคัญของทุกคนในชาติทั้งวันปฏิวัติประชาชนที่เกิดขึ้นจากการรวมพลังใจของประชาชนในประเทศโค่นล้มอำนาจเผด็จการของรัฐบาลมาร์กอสลงได้ และวันชาติฟิลิปปินส์ถือเป็นวันประกาศเอกราชจากสเปน ในวันนี้ทั้งรัฐบาลและชาวฟิลิปปินส์มีการจัดงานเฉลิมฉลองเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าว ดังขยายความได้ต่อไปนี้

 

วันชาติฟิลิปปินส์ (Independence)

            ฟิลิปปินส์ประกาศเอกราชเป็นอิสระจากสเปนในวันที่ 12 มิถุนายน ค.ศ.1898 ดังนั้นวันนี้ของทุกปีจึงถือเป็น “วันชาติฟิลิปปินส์” แม้ว่ามาภายหลังการประกาศเอกราชจากสเปน ฟิลิปปินส์ตกอยู่ภายใต้การปกครองของสหรัฐอเมริกา จนกระทั่งวันที่ 4 กรกฎาคม ค.ศ.1946 เมื่อสหรัฐอเมริกาส่งมอบอำนาจอธิปไตยคืนแก่ดินแดนแห่งนี้ ในช่วงระยะเวลาหนึ่งรัฐบาลฟิลิปปินส์กำหนดให้วันที่ 4 กรกฎาคม ของทุกปีคือ วันชาติ กระทั่งถึงปี ค.ศ.1962 ได้เปลี่ยนมาเป็นวันที่ 12 มิถุนายน และกำหนดให้วันที่ 4 กรกฎาคม ของทุกปีเป็นวันก่อตั้งสาธารณรัฐฟิลิปปินส์

            วันชาติฟิลิปปินส์ถือเป็นวันหยุดทางราชการของทุกกลุ่มชาติพันธุ์ รัฐบาลและประชาชนจัดงานเฉลิมฉลองเพื่อรำลึกถึงความสำคัญของวันดังกล่าว ชาวฟิลิปปินส์ทุกเพศทุกวัยร่วมใจกันเดินพาเหรด มีการเดินสวนสนามของทหารและตำรวจ นำโดยประธานาธิบดี ตามด้วยการกล่าวสุนทรพจน์และยิงสลุต 21 นัด

 

วันปฏิวัติประชาชน        

            วันปฏิวัติประชาชนเป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งของชาวฟิลิปปินส์ ตรงกับวันที่ 25 กุมภาพันธ์ของทุกปี เพื่อรำลึกถึงวันที่ประชาชนนับแสนคนร่วมเดินขบวนขับไล่รัฐบาลเผด็จการมาร์กอสในวันดังกล่าวเมื่อปีค.ศ. 1986 สภาพกรุงมะนิลา เมืองหลวงของฟิลิปปินส์ขณะนั้นเต็มไปด้วยผู้คนที่ออกมาเดินบนท้องถนน กระทั่งในที่สุดสามารถโค่นล้มอดีตประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ อี. มาร์กอส ลงได้ ในวันดังกล่าวยังเป็นวันที่ครอบครัวของมาร์กอสต้องหลบหนีออกนอกประเทศ ถือเป็นการสิ้นสุดอำนาจทางการเมืองและอำนาจทุกอย่างที่เคยมีอยู่ในมือสืบเนื่องเป็นระยะเวลายาวนานกว่า 13  ปี ตั้งแต่วันที่ 21 กันยายน ค.ศ.1972 – ปลายปีค.ศ.1985 ถือเป็นการสิ้นสุด (สีดา สอนศรี, 2551:59) อำนาจลงด้วยพลังของประชาชนโดยแท้ การจัดงานในวันดังกล่าว ชาวฟิลิปปินส์จะมารวมตัวกันบนท้องถนนในกรุงมะนิลา มีขบวนมิสซา การแสดง การร้องเพลง เต้นรำ และจุดพลุเพื่อเฉลิมฉลอง (วิทย์ บัณฑิตกุล, 2555:141)  

  

เทศกาลอิมบายา (Imbayah) ของชาวอิฟูเกา

            ชาวอิฟูเกา เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิมในเกาะลูซอน ยังชีพด้วยการทำนาขั้นบันไดบนไหล่เขา ในอดีตเมื่อเกิดความแห้งแล้งอดอยากคนกลุ่มนี้จะมีพิธีกรรมล่าหัวมนุษย์ของเพื่อนบ้านที่เป็นศัตรู ให้ความนับถือ“บอรูน” หรือ เทพเจ้าแห่งความอุดมสมบูรณ์ ทั้งยังนับถือสัญลักษณ์สัตว์สองเขาเรียกว่า ลิง-ลิง-โอ  เชื่อว่าเป็นเครื่องลางเพื่อความโชคดี  เทศกาลสำคัญของคนกลุ่มนี้คือเทศกาล อิมบายา หมายถึง เหล้าที่ทำจากข้าวมีเหลือเฟือ จากความหมายของชื่องานเป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นถึงการเฉลิมฉลองด้วยเหล้าที่ทำมาจากข้าว เป็นงานเทศกาลที่ปรับมาจากประเพณีดั้งเดิมในการจัดงานเลี้ยงของชาวบ้านผู้มีฐานะดี โดยจัดขึ้นหลังเทศกาลเก็บเกี่ยว หรืองานแต่งงาน ตลอดจนงานมงคลต่างๆ เพื่อแบ่งปันให้คนอื่นที่มีที่นาน้อยกว่ามีโอกาสได้ดื่มกินไปด้วย (วลัยลักษณ์ ทรงศิริ, 2559)   

 

เทศกาลอาตี-อาตีฮัน

            ปัจจุบันเป็นเทศกาลแห่งความสนุกสนาน มีการเฉลิมฉลองเพื่อเป็นเกียรติแก่พระเยซู มีการจัดขบวนแห่ประกอบเสียงเพลงและการเต้นรำอย่างครึกครื้น โดยผู้ร่วมงานแต่งกายด้วยชุดพื้นเมืองหลากสีสัน ใช้สีและเขม่าวาดบนใบหน้า (Wikipedia , 2016) เทศกาลนี้จัดขึ้นทุกปีในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนมกราคม ณ เมืองกาลีโบ บนเกาะปาไน ชื่อของเทศกาลดังกล่าวมีความหมายว่า เล่นเป็นคนอาตี หมายถึง ชนเผ่าเนกรีโต ชนพื้นเมืองของเกาะ (วิทย์ บัณฑิตกุล, 2555:139)

 

เทศกาลคริสต์มาส

            คริสต์มาสเป็นเทศกาลสำคัญของชาวฟิลิปปินส์เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่นับถือคริสต์ศาสนา ดังนั้นในงานเทศกาลดังกล่าวมีการจัดงานเป็นระยะเวลาตั้งแต่เดือนกันยายน – เดือนธันวาคมของทุกปี ในงานมีการเฉลิมฉลองประดับไฟตกแต่งไปทั่วเมือง ไม่ว่าจะเป็นห้างสรรพสินค้า สวนสาธารณะ ตลอดจนพื้นที่ต่างๆ ทั้งประเทศล้วนประดับประดาไปด้วยโคมไฟ ดาวคริสต์มาส มีความสำคัญเทียบเท่าต้นคริสต์มาสของตะวันตก  ประเพณีดั้งเดิมคือการทำมิสซาในเวลากลางคืน เรียกว่า ซิมแบง กาบิ หรือ ไนท์ มาส เป็นเวลา 9 คืน จนถึงวันคริสต์มาสอีฟ มีความเชื่อว่าหากขอพรเมื่อทำครบตามจำนวนวันคำขอนั้นจะเป็นจริง (บทความ-ข่าวทางมานุษยวิทยา, 2556)ในเทศกาลนี้นอกจากจะเป็นการปฏิบัติศาสนกิจร่วมกันแล้วยังเป็นการพบปะสังสรรค์รับประทานอาหารร่วมกัน ทั้งยังมีการรำลึกถึง โฮเซ รีซาล วีรบุรุษของชาติอีกด้วย (วิทย์ บัณฑิตกุล, 2555:143)

 

โมริโอเนส

            เป็นงานสำคัญของศาสนาคริสต์จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วงสัปดาห์ถือศีลของชาวคริสต์ช่วงเดือนเมษายน มีการเฉลิมฉลองทั่วประเทศ เทศกาลดังกล่าวมีต้นกำเนิดจากเกาะมาริดูเก(Marinduque)ในฟิลิปปินส์ จัดขึ้นเพื่อรำลึกถึงองค์พระเยซูในเหตุการณ์ที่ถูกตรึงบนไม้กางเขน มีการจำลองเหตุการณ์ในวันประหาร ผู้ร่วมขบวนแห่สวมหน้ากากและแต่งตัวคล้ายทหารโรมันในคัมภีร์ไบเบิล เทศกาลนี้เป็นประเพณีดั้งเดิมของกลุ่มชาวนาและชาวประมงจัดขึ้นในวันขอบคุณพระเจ้า ต่อมาได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนและนักท่องเที่ยว จึงกลายเป็นเทศกาลใหญ่และได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น (วิทย์ บัณฑิตกุล, 2555:143) 

บรรณานุกรม

    Wikipedia. (2016, May 13). Ati-Atihan festival. Retrieved May 27, 2016, from Wikipedia The Free Encyclopedia Web site: https://en.wikipedia.org/wiki/Ati-Atihan_festival

    บทความ-ข่าวทางมานุษยวิทยา. (2556, มีนาคม 1). Retrieved พฤษภาคม 27, 2559, from เว็บไซต์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) : http://www.sac.or.th/main/content_detail.php?content_id=382

    วลัยลักษณ์ ทรงศิริ. (17 เมษายน 2559). "ลิงลิงโอ" เครื่องรางก่อนประวัติศาสตร์ ที่ยังคงสืบเนื่องความหมายสำหรับชาวอิฟูเกาในประเทศฟิลิปปินส์. เรียกใช้เมื่อ 15 May 2559 จาก เว็บไซต์มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์: http://lek-prapai.org/home/view.php?id=5030

    วิทย์ บัณฑิตกุล. (2555). สาธารณรัฐฟิลิปปินส์. กรุงเทพมหานคร: บริษัทสถาพรบุคส์ จำกัด.

    สีดา สอนศรี. (2551). ฟิลิปปินส์:จากอดีตสู่ปัจจุบัน(ค.ศ.1986-2006). กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.