เมียนมา - ประเพณีพิธีกรรม
สังคมเมียนมาหรือพม่าที่ผ่านมา นับได้ว่าเป็นสังคมที่แทบหยุดกาลเวลา และหยุดความเปลี่ยนแปลงไว้ได้ในระดับหนึ่ง ทั้งนี้เพราะพม่าปิดประเทศมานานกว่า 3 ทศวรรษ ในช่วงเวลาดังกล่าว สังคมพม่าอยู่ได้ด้วยการพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติและภูมิปัญญาท้องถิ่น เน้นความเป็นอยู่แบบพึ่งพาตนเอง สิ่งจำเป็นจึงมีเพียงแค่ปัจจัยสี่ คือ อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค (วิรัช นิยมธรรม และ อรนุช นิยมธรรม, 2551:81)
ในด้านความบันเทิง ทางการพม่าจะคอยควบคุมให้อยู่ในกรอบของจารีตประเพณี พม่าไม่มีสถานบันเทิงแบบสมัยใหม่ ไม่มีภาพยนตร์ต่างประเทศเข้าฉายมากนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไม่ค่อยมีการเสนอข่าวอาชญากรรม ซึ่งอาจเป็นเพราะขัดกับค่านิยมพม่าที่มักเลือกรับข่าวสารเฉพาะเรื่องที่เป็นมงคล ด้วยเหตุนี้ชาวพม่าจึงพึ่งพาความบันเทิงแบบท้องถิ่น อาทิ ละคร ดนตรี มวย มายากล และภาพยนตร์พม่า สิ่งบันเทิงเหล่านี้หาชมได้ในช่วงวันงานประเพณีของแต่ละท้องถิ่น ซึ่งส่วนใหญ่ก็คืองานฉลองพระเจดีย์ นอกเหนือจากงานฉลองพระเจดีย์ที่จัดต่างเวลากันในแต่ละท้องถิ่นแล้ว ชาวพม่าส่วนใหญ่จะนิยมแสวงหาความสุขกับการประกอบบุญกิริยาทางศาสนา หากเป็นชาวพุทธก็มักต้องหมั่นเข้าวัดทำบุญ ออกเดินทางแสวงบุญ นอกจากนี้พม่ายังมีงานประเพณีเพื่อสร้างกุศลที่อาจให้ความบันเทิงควบคู่กันไปด้วย ได้แก่ งานฉลองสงกรานต์ งานวัดรดน้ำต้นโพธิ์ งานจุดประทีป และงานทอดกฐิน เป็นต้น งานประเพณีดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของประเพณีสิบสองเดือน ที่ยังพบเห็นได้ในแทบทุกท้องถิ่น บางวันถือเป็นวันหยุดราชการอีกด้วย ส่วนวันสำคัญทางศาสนาอื่น ที่ถือเป็นวันหยุด ได้แก่ วันคริสต์มาส และวันสำคัญของชนเผ่าและศาสนาต่างๆ ในส่วนประเพณีสิบสองเดือนของพม่านั้น มีรายละเอียดดังต่อไปนี้ (วิรัช นิยมธรรม และ อรนุช นิยมธรรม, 2551:81)
นับแต่อดีตมา พม่ามีงานประเพณีของแต่ละเดือนในรอบปี เรียกว่า แซะนะล่ะ หย่าตี่บแว หรือประเพณีสิบสองเดือน ในยุคราชวงศ์ของพม่ามีการกำหนดให้งานนี้เป็นพระราชพิธี แม้ว่าในปัจจุบันพม่าจะยังคงสืบทอดงานประเพณีสิบสองเดือนไว้ แต่ก็มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมบ้าง (วิรัช นิยมธรรม และ อรนุช นิยมธรรม, 2551:82-83)
ลำดับเดือน
1 .ตะกู มี.ค.-เม.ย. งานฉลองสงกรานต์
2. กะโส่ง เม.ย.-พ.ค. งานรดน้ำต้นโพธิ์
3. นะโหย่ง พ.ค.-มิ.ย. งานสอบพระธรรม ปัจจุบันย้ายไปจัดในเดือนดะกู
4. หว่าโส่ มิ.ย. – ก.ค. งานบวชพระเณรและงานเข้าพรรษา
5. หว่าข่อง ก.ค.-ส.ค. งานสลากภัต ปัจจุบันงานบูชานัตที่ต่องปะโยงเป็นที่สนใจมากขึ้น
6. ต่อดะลีง ส.ค.-ก.ย. งานแข่งเรือหรืองานต่อดะลีงหรืองานติจ์ซีง
7. ต่อดะลีง ส.ค.-ก.ย. งานจุดประทีปและงานออกพรรษา นิยมปล่อยโคมลอยกันในเดือนนี้
8. ตะส่องโมง ต.ค.-พ.ย. งานทอดกฐินและงานตามประทีป
9. นะต่อ พ.ย. – ธ.ค. งานบูชานัต ปัจจุบันจัดงานเทิดเกียรติกวี แทนงานบูชานัด
10. ปยาโต่ ธ.ค.-ม.ค. งานอัศวยุทธ ปัจจุบันไม่มีการจัดงาน
11. ดะโบ๊ะดแว ม.ค. – ก.พ. งานกวนข้าวทิพย์และงานหลัวไฟพระเจ้า
12. ดะบอง ก.พ.-มี.ค. งานก่อเจดีย์ทรายหรืองานดะบอง ปัจจุบันไม่นิยมจัดงานก่อเจดีย์ทราย
เดือนหนึ่ง เรียกว่า เดือนตะกู (มี.ค. - เม.ย.) เป็นเดือนเริ่มศักราชใหม่และเป็นเดือนต้นฤดูร้อน ประเพณีสำคัญของเดือนนี้คืองานฉลองสงกรานต์ พม่าถือเป็นงานฉลองวันส่งท้ายปีเก่าและย่างสู่ปีใหม่ มีการเล่นสาดน้ำกันตลอด 5 วัน ชาวพม่าถือว่าช่วงเวลานี้เป็นวันมงคล จึงนิยมเข้าวัดรักษาศีล ช่วยกวาดลานวัดและลานเจดีย์ สรงน้ำพระพุทธและเจดีย์ รดน้ำดำหัวพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ตลอดจนครูบาอาจารย์ และสระผมให้ผู้เฒ่าผู้แก่ด้วยน้ำส้มป่อย งดการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต สร้างกุศลด้วยการปล่อยวัว ควาย และปลา (วิรัช นิยมธรรม และ อรนุช นิยมธรรม, 2551:83)
เดือนสอง เรียกว่า เดือนกะโส่ง (เม.ย. - พ.ค.) พม่ามีสำนวนว่า “ตะกูน้ำลง กะโส่งน้ำแล้ง” เดือนกะโส่งจึงเป็นเดือนที่แห้งแล้ง ภาวะอากาศในเดือนนี้ร้อนอบอ้าวกว่าเดือนอื่นๆ ชาวพุทธพม่าจึงจัดงานรดน้ำต้นโพธิ์กันในวันเพ็ญของเดือนกะโส่ง และถืออีกว่าวันนี้ตรงกับวันที่พระพุทธเจ้าทรงประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง พม่าได้กำหนดเรียกวันดังกล่าวว่า วันพุทธะ ในวันนี้ชาวพุทธพม่าจะนิยมปฏิบัติบูชาตามวัดและเจดีย์ ด้วยการรักษาศีลและเจริญภาวนา วัดและเจดีย์จึงมีผู้คนไปทำบุญมากเป็นพิเศษ เดือนกะโส่งนับเป็นเดือนที่ฝนเริ่มตั้งเค้า ชาวนาจะเริ่มลงนา เพื่อเตรียมพื้นที่เพาะปลูก (วิรัช นิยมธรรม และ อรนุช นิยมธรรม, 2551:84)
เดือนสาม เรียกว่า เดือนนะโหย่ง (พ.ค. - มิ.ย.) เป็นเดือนเริ่มการเพาะปลูก ฝนเริ่มตก อากาศเริ่มคลายร้อน ต้นไม้ใบหญ้าเริ่มแตกยอด โรงเรียนต่างเริ่มเทอมใหม่หลังจากปิดภาคฤดูร้อน เดือนนะโหย่งจึงนับเป็นเดือนเริ่มชีวิตใหม่ ในสมัยที่ยังมีกษัตริย์ปกครองเคยจัดพิธีแรกนาขวัญในเดือนนี้ พม่าเรียกพิธีนี้ว่า “งานมงคลไถนา” ส่วนในทางศาสนาเคยเป็นเดือนสอบท่องหนังสือพุทธธรรม สำหรับพระเณร กล่าวว่ามีมาตั้งแต่สมัยของพระเจ้าตาหลุ่นมีงตะยาแห่งอังวะยุคหลัง ในอดีตจะสอบเฉพาะท่องหนังสือด้วยปากเปล่า แต่ปัจจุบันมีทั้งการสอบเขียนและสอบท่อง และได้ย้ายไปจัดในเดือนดะกูซึ่งเป็นเดือนแรกของปี (วิรัช นิยมธรรม และ อรนุช นิยมธรรม, 2551 :84)
เดือนสี่ เรียกว่า เดือนหว่าโส่ (มิ.ย. - ก.ค.) ถือเป็นเดือนสำคัญทางพุทธศาสนาด้วยเป็นเดือนเข้าพรรษา พม่ากำหนดให้วันเพ็ญเดือนหว่าโส่เป็นวันธรรมจักร เพื่อน้อมรำลึกวันประสูติ วันออกบวช และวันปฐมเทศนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในวันนี้ชาวพุทธพม่าจะเข้าวัดทำบุญและนมัสการพุทธเจดีย์กันอย่างเนืองแน่น และถัดจากวันธรรมจักรคือ วันแรม 1 ค่ำของเดือนหว่าโส่ จะเป็นวันที่พระสงฆ์เริ่มจำพรรษาในเดือนนี้ สาวๆ พม่าในหมู่บ้านมักจะจับกลุ่มออกหาดอกไม้นานาชนิด เรียกรวมๆ ว่า ดอกเข้าพรรษา ซึ่งขึ้นอยู่ตามชายป่าใกล้หมู่บ้าน เพื่อนำมาบูชาพุทธเจดีย์ นอกจากนี้ยังมีการถวายจีวรและเทียนที่วัด กิจกรรมสำคัญอีกอย่างหนึ่งในเดือนหว่าโส่ คือ งานบวชพระ ด้วยถือว่าวันเพ็ญเดือนหว่าโส่ เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงบวชให้แก่เบญจวัคคี ในอดีตพระมหากษัตริย์จะทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ การบวชพระและเณรสำหรับผู้สอบผ่านพุทธธรรมตามที่จัดสอบกันในเดือนนะโหย่ง เนื่องจากฤดูฝนจะเริ่มในเดือนหว่าโส่ เดือนนี้จึงเป็นเดือนเริ่มลงนาปลูกข้าวด้วย เล่ากันว่าชาวนาจะลงแขกปักดำข้าวในนา พร้อมกับขับเพลงกันก้องท้องทุ่งนา (วิรัช นิยมธรรม และ อรนุช นิยมธรรม, 2551:84)
เดือนห้า เรียกว่า เดือนหว่าข่อง (ก.ค. - ส.ค.) เป็นเดือนกลางพรรษา และเป็นเดือนที่มีงานบุญสลากภัต พม่าเรียกว่า ส่าเยดั่งบแว แต่เดิมใช้การจับติ้ว ภายหลังหันมาใช้กระดาษม้วนเป็นสลากภัตมีกล่าวถึงกันน้อยลง แต่กลับมีงานที่เด่นดังระดับประเทศขึ้นมาแทน คืองานบูชาผีนัตที่หมู่บ้านต่องปะโยง ณ ชานเมืองมัณฑะเลย์ เดือนนี้เป็นเดือนที่ฝนมักตกหนักกว่าเดือนอื่น (วิรัช นิยมธรรม และ อรนุช นิยมธรรม, 2551:85)
เดือนหก เรียกว่า เดือนต่อตะลีง (ส.ค. - ก.ย.) เป็นเดือนน้ำหลาก น้ำตามแม่น้ำลำคลองจะเอ่อเต็มตลิ่ง หลายท้องถิ่นจะจัดงานแข่งเรือกันอย่างสนุกสนาน และในเดือนนี้เช่นกันจะพบเห็นแพซุงล่องตามลำน้ำเป็นทิวแถว โดยเฉพาะในแม่น้ำอิระวดี แพซุงจะล่องจากเหนือสู่ปลายทาง ณ ท่าน้ำเมืองย่างกุ้ง และเดือนนี้อีกเช่นกันที่ชาวประมงจะเริ่มลงอวนจับปลา ด้วยเป็นเดือนที่มีปลาออกจะชุกชุมเป็นพิเศษ (วิรัช นิยมธรรม และ อรนุช นิยมธรรม, 2551:85)
เดือนเจ็ด เรียกว่า เดือนดะดีงจุต (ก.ย. - ต.ค.) ในวันเพ็ญของเดือนนี้จะมีการทำปาวารณาในหมู่สงฆ์ ชาวพุทธพม่าเรียกวันนี้เป็นวันอภิธรรม ด้วยเป็นวันที่พระพุทธองค์เสด็จลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ หลังจากที่ทรงเทศนาพระอภิธรรมตลอด 3 เดือนในพรรษาที่ผ่านมา ชาวพุทธจะจัดงานจุดประทีปเพื่อสักการบูชาพระพุทธเจ้า นอกจากนี้ยังมีงานลอยโคมไฟ บางที่จะทำโคมลอยขนาดใหญ่เป็นรูปโพตู่ด่อ หรือปะขาว รูปช้าง และรูปเสือ เป็นอาทิ นัยว่าทำเพื่อบูชาพระธาตุจุฬามณี ซึ่งอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ นอกจากนี้ในรัฐฉานจะมีงานบูชาพระเจ้าผ่องต่ออู่ ซึ่งเป็นพุทธรูป 5 องค์ ที่หมู่บ้านนันฮู ณ กลางทะเลสาบอีนเล กล่าวกันว่าพระเจ้าผ่องต่ออูเป็นพระพุทธรูปที่มีมาแต่สมัยพระเจ้าอะลองสี่ตู่แห่งพุกาม ต่อจากวันอภิธรรมจะเป็นวันออกจากพรรษา ซึ่งตรงกับวันแรม 1 ค่ำ ของเดือนดะดีงจุ๊ต ในเดือนดะดีงจุ๊ตนี้ยังจัดประเพณีไหว้ขมาต่อบิดามารดาและครูบาอาจารย์ นอกจากนี้ชาวพม่ายังเริ่มจัดงานมงคลสมรสกันในเดือนนี้ โดยเริ่มนับแต่วันแรม 1 ค่ำ ของเดือนตะดีงจุ๊ต ด้วยเชื่อว่าช่วงในพรรษานั้น กามเทพหรือเทพสัตตะภาคะ จำต้องพักผ่อน จึงต้องเปลี่ยนจัดงานแต่งงานในช่วงเวลาดังกล่าว จนกว่าจะพ้นช่วงพรรษา (วิรัช นิยมธรรม และ อรนุช นิยมธรรม, 2551:85)
เดือนแปด เรียกว่า เดือนดะส่องโมง (ต.ค. - พ.ย.) เป็นเดือนเปลี่ยนฤดูจากหน้าฝนย่างเข้าหน้าหนาว กล่าวคือครึ่งแรกของเดือนจะเป็นท้ายฤดูฝน และครึ่งหลังของเดือนจะเป็นช่วงต้นหนาว ชาวนาจะเริ่มเก็บเกี่ยวข้าวกันในเดือนนี้ ในทางพุทธศาสนาเดือนดะส่องโมงถือเป็นเดือนสำหรับงานทอดกฐิน ซึ่งที่จริงพม่ากำหนดช่วงเวลาจัดงานทอดกฐินเริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำกลางเดือนดะดีงจุ๊ต จนถึงวันเพ็ญกลางเดือนดะส่องโมง รวมเวลาหนึ่งเดือนเต็ม ในงานกฐินจะมีการแห่ครัวทานที่พม่าเรียกว่า ปเด่ต่าบี่งหรือต้นกัลปพฤกษ์ และในวันสุดท้ายของฤดูกฐิน ซึ่งตรงกับวันเพ็ญของเดือนดะส่องโมงนั้น ชาวพุทธพม่าจะมีการจัดงานจุลกฐิน พม่าเรียกจุลกฐินนี้ว่า มโตตี่งกาง แปลตามศัพท์ว่า “จีวรไม่บูด” เทียบได้กับอาหารที่ไม่ทิ้งให้ค้างคืนจนเสีย มโตตี่งกางเป็นกฐินที่ต้องทำให้แล้วเสร็จภายในวันเดียว เริ่มแต่ปั่นฝ้ายให้เป็นด้าย จากด้ายทอให้เป็นผืนผ้า แล้วย้อมตัดเย็บเป็นจีวร ในเดือนนี้ยังมีพิธีตามประทีป และทอดผ้าบังสุกุลหรือปั้งดะกู่ อีกด้วย (วิรัช นิยมธรรม และ อรนุช นิยมธรรม, 2551:86)
ทั้งนี้ประเพณีการจุดประทีปบูชาพระเป็นเจ้าของพม่าไม่นิยมการจุดประทีปลอยลงไปในน้ำหรือลอยกระทงอย่างไทย แต่ยังคงจารีตเดิมคือการจุดไฟตามประทีป (สิทธิพร เนตรนิยม, 2558)
เดือนเก้า เรียกว่า เดือนนะด่อ เป็นเดือนที่เก็บเกี่ยวข้าวเสร็จแล้ว ชาวนา จะนวดข้าวและสงฟางสุมเป็นกอง เดิมเคยเป็นเพียงเดือนสำหรับบูชานัตหลวงหรือผีหลวง ณ เขาโปปาแห่งเมืองพุกาม แต่ปัจจุบันพม่ากำหนดให้มีงานเทิดเกียรติกวีและนักปราชย์ของพม่าแทน โดยจัดในวันขึ้น 1 ค่ำ งานนี้เริ่มจัดเป็นครั้งแรกในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.1944 ทุกๆ ปีจะจัดให้มีการอ่านบทประพันธ์และการเสวนาเกี่ยวกับวรรณกรรมกันตามสถานศึกษาและตามย่านชุมชนต่างๆ สำหรับในยุคราชวงศ์เคยถือเอาเดือนนี้จัดพระราชพิธีเพื่อมอบบรรดาศักดิ์ให้แก่นักรบนักปกครอง ตลอดจนกวีที่มีผลงานดีเด่น (วิรัช นิยมธรรม และ อรนุช นิยมธรรม, 2551:86)
เดือนสิบ เรียกว่า เดือน ปยาโต่ (ธ.ค. - ม.ค.) เดือนนี้เป็นเดือนที่หนาวจัด กวีหญิงของพม่าสมัยคอนบองนามแหม่เคว เคยบันทึกไว้ว่า “เดือนปยาโต่ หนาวเหน็บจนกายสั่น ผิงไฟยังมิอุ่น ห่มผ้าหลายผืนยังมิคลาย” ในเดือนนี้ชาวไร่ที่กำลังเก็บเกี่ยวงาจะต้องคอยเฝ้าระวังฝนหลงฤดู หากฝนตกลงมาในเวลาที่เก็บงา งาก็จะเสียหาย ชาวนาพม่าจะเรียกฝนที่ตกยามนี้ว่าฝนพังกองงา ความหนาวเย็นจะล่วงมาจนถึงเดือนดะโบ๊ะดแว ซึ่งเป็นเดือนถัดมา ในอดีตเคยจัดงานอัศวยุทธ โดยมีการประลองยุทธด้วยช้างศึก ม้าศึก และการใช้อาวุธต่างๆ อาทิ ดาบ หอก เป็นต้น รัฐบาลพม่าเคยรื้อฟื้นจัดงานนี้ในปีท่องเที่ยวพม่า(ค.ศ.1996) แต่ก็จัดได้เพียงปีเดียวเท่านั้น (วิรัช นิยมธรรม และ อรนุช นิยมธรรม, 2551:87)
เดือนสิบเอ็ด เรียกว่า เดือนดะโบ๊ะดแว (ม.ค. - ก.พ.) ในเดือนนี้ชาวพม่ารำลึกถึงพระพุทธเจ้าที่ย่อมต้องทรงผจญต่อภัยหนาวเช่นกัน และเชื่อว่าการผิงไฟจะช่วยให้ธาตุ 4 คืนสู่สมดุลย์ ชาวพม่าจึงจัดงานบุญบูชาไฟแด่พระพุทธและพระเจดีย์ ซึ่งเป็นองค์แทนพระพุทธเจ้า เรียกว่างานหลัวไฟพระเจ้า หรือ งานบุญไฟ ปัจจุบันยังคงมีงานบุญเช่นนี้เฉพาะในบางท้องที่ของพม่าตอนบน ในเดือนนี้ยังมีงานกวนข้าวทิพย์ หรือ ถะมะแน ซึ่งจัดในช่วงข้างขึ้นของเดือน กล่าวว่าพม่าจัดงานนี้มาแต่สมัยญองยาง และในเดือนนี้อีกเช่นกันที่ชาวบ้านจะเริ่มเกี่ยวข้าวและปีนเก็บน้ำตาลสดจากยอดตาล ซึ่งพบเห็นทั่วไปในเขตพม่าตอนกลางและตอนบน (วิรัช นิยมธรรม และ อรนุช นิยมธรรม, 2551:87)
เดือนสิบสอง เรียกว่า เดือนดะบอง (ก.พ. - มี.ค.) ในเดือนนี้อากาศจะเริ่มคลายหนาว และเริ่มเปลี่ยนไปสู่ฤดูร้อนในช่วงหลังของเดือน ประเพณีสำคัญคืองานก่อเจดีย์ทราย โดยจะก่อทรายเป็นรูปจำลองเขาพระสุเมรุ ทำยอดซ้อนเป็น 5 ชั้น พม่าเคยจัดประเพณีในยุคราชวงศ์ แต่ปัจจุบันไม่นิยมจัดแล้ว ตามตำนานกล่าวว่าเดือนนี้เป็นเดือนที่เริ่มมีการสร้างเจดีย์พระเกศธาตุหรือพระเจดีย์ชเวดากอง ซึ่งตกในเดือนดะบองเป็นเดือนสำหรับงานบูชาเจดีย์ชเวดากองด้วยเช่นกัน เดือนดะบองเป็นเดือนสำหรับบูชาเจดีย์ชเวดากอง ด้วยเช่นกัน เดือนดะบองนี้ถือเป็นเดือนสุดท้ายของปีตามศักราชพม่า (วิรัช นิยมธรรม และ อรนุช นิยมธรรม, 2551:88)
ประเพณีวันสงกรานต์
เดือนเมษายนเป็นช่วงหน้าร้อน หรือเรียกว่าเดือนตะคู เป็นเดือนที่ตะวันยามเที่ยงอยู่ตรงศรีษะมากที่สุด ในช่วงนี้น้ำในแม่น้ำลำคลองเริ่มจะแห้ง จริงตามคำกล่าวของพม่าที่ว่า ตะคูน้ำลง กะโส่งน้ำแล้ง (กะโส่ง เริ่มราวกลางเดือนพฤษภาคม) ในปีพ.ศ.1997 พม่ากำหนดเทศกาลสงกรานต์ หรือที่พม่าเรียกว่า ตจั่ง-บแว ในช่วงวันที่ 14-16 เมษายน (วิรัช นิยมธรรม และ อรนุช นิยมธรรม, 2551:89)
พม่าเริ่มศักราชใหม่ในเดือนตะคู และฉลองด้วยประเพณีสงกรานต์ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในประเพณีสิบสองเดือนที่มีสีสันกว่าเทศกาลอื่นๆ สงกรานต์ถือเป็นเทศกาลฉลองวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ของชาวพม่า ชาวพุทธพม่าถือว่าช่วงเทศกาลสงกรานต์เป็นเวลาเหมาะ สำหรับการสร้างบุญกุศล จึงนิยมเข้าวัด รักษาศีล ฟังธรรม ตลอดจนประกอบกิจทางศาสนา นอกจากนี้ในช่วงเดือนเมษายน ชาวพม่าจะนิยมจัดงานบวชเณรให้บุตรชาย และจัดงานเจาะหูและบวชชีให้บุตรสาว ดังจะพบเห็นขบวนแห่บวชตามท้องถนนและบนลานเจดีย์ในช่วงเดือนดังกล่าว ฉะนั้นหลังสงกรานต์ แต่ละวัดจึงเต็มไปด้วยเณรและชีมากเป็นพิเศษ นอกจากสงกรานต์จะเป็นช่วงเวลาแห่งการสร้างกุศลของชาวพุทธพม่าทั้งประเทศแล้ว สงกรานต์ยังเป็นเทศกาลสำหรับเด็ก หนุ่มสาว และคนรุ่นใหม่ที่จะได้มีโอกาสแสดงออกอย่างอิสระ โดยเฉพาะในการเล่นน้ำ ร้องเพลง เต้นรำ ตลอดจนการแต่งตัวตามรสนิยม(วิรัช นิยมธรรม และ อรนุช นิยมธรรม, 2551:89)
ในช่วงสงกรานต์จะมีดอกไม้ประจำ 7 ชนิด เรียกรวมว่า ดอกสงกรานต์ หรือ ตะจั่งปาง ที่พบเห็นได้ง่ายคือ ดอกคูณ และดอกประดู่ ดอกประดู่บานหลังฝนเปลี่ยนฤดูที่พม่าเรียกว่า “ฝนสงกรานต์” หรือ “ตะจั่งโม” ในช่วงสงกรานต์ชาวบ้านจะนำดอกประดู่มาบูชาและนำมาแซมผม และก่อนฝนสงกรานต์จะตกชะลงมาชาวบ้านที่มีหัวการค้าจะคอยจองต้นประดูเพื่อรอตัดดอกขาย ประดู่จึงเป็นดอกไม่แห่งเทศกาลสงกรานต์ ช่วยเติมสีสันให้ชีวิตในช่วงต้นฤดูร้อน ส่วนขนมประจำสงกรานต์ที่พบบ่อย คือ ขนมต้ม พม่าเรียก “ลูกขนมลอยน้ำ” หรือ ม่งโลงเหย่บ่อ ชาวพม่านิยมทำขนมต้มเพื่อแจกกันในหมู่ญาติมิตร ส่วนคนที่มีเชื้อสายมอญจะทำข้าวแช่ ที่เรียกว่า ตะจั่งถะมีง แปลว่า “ข้าวสงกรานต์” (วิรัช นิยมธรรม และ อรนุช นิยมธรรม, 2551:91)
การเล่นน้ำสงกรานต์ในพม่ามีระดับความนุ่มนวลมากน้อยต่างกันตามวิสัยสุภาพที่สุดจะใช้ใบหว้าจุ่มน้ำจากขันเงินแล้วประพรมที่ไหล่ ใบหว้าถือเป็นไม้นามมงคล พม่าเรียกว่า อ่องตะปแหย่ แฝงนัยว่า “สัมฤทธิ์” ชาวพม่านิยมบูชาพระด้วยใบหว้า จากนั้นอาจนำมาประดับบ้าน ร้านค้า และพาหนะ หรือพกติดตัวเป็นมงคล การรดน้ำอีกวิธีหนึ่งที่สุภาพคือการรินรดน้ำที่ไหล่ ส่วนการเล่นน้ำที่เน้นความสนุกสนานนั้น มีทั้งสาดใส่กัน และฉีดด้วยสายยาง ที่ใช้ถุงปาใส่กันก็มี ภายหลังทางการพม่าสั่งห้ามเด็ดขาด กำหนดโทษหนักถึงจำคุก (วิรัช นิยมธรรม และ อรนุช นิยมธรรม, 2551:91-92)
โดยเฉพาะในเมืองย่างกุ้งและมัณฑะเลย์จะมีบรรยากาศการเล่นสงกรานต์ที่คึกคัก ตามถนนจะมีปะรำสำหรับการแสดงดนตรี ร้องรำ และเล่นสาดน้ำ ในย่างกุ้งแต่ละกระทรวงจะสร้างปะรำเพื่อให้ประชาชนเล่นน้ำและดูการแสดง โทรทัศน์จะแพร่ภาพ และเพลงสงกรานต์จะดังครึกครื้นตลอดวัน ปะรำบันเทิงมักจะมีอยู่ทุกเส้นทาง และทุกประรำจะเดินสายยางฉีดน้ำพวยพุ่งราดรดผู้คนที่ผ่านไปมา ส่วนการแสดงบนเวทีจะมีนักร้องและดาราภาพยนตร์หมุนเวียนมาร้องเพลงไปตามปะรำ ส่วนใหญ่เป็นเพลงแนวร่วมสมัย วัยรุ่นส่วนใหญ่จะละจากผ้าถุงและโสร่ง หันไปแต่งกายตามสมัยนิยม อย่างไรก็ตาม แม้พม่าจะนิยมเล่นน้ำสงกรานต์กันรุนแรง บางทีออกจะเล่นกันเกินขอบเขต แต่ก็เว้นที่จะไม่สาดน้ำพระสงฆ์ ชี โยคี และผู้ถืออุโบสถศีล (วิรัช นิยมธรรม และ อรนุช นิยมธรรม, 2551:92)
พอพ้นจากวันเล่นน้ำ 3 วัน ก็จะเป็นวันขึ้นปีใหม่ ชาวพม่าจะถวายดอกไม้บูชาประทีป สรงน้ำ และขอพรกับพุทธรูปพุทธเจดีย์ ฟังสวดมงคลสูตรที่โรงธรรมกลางบ้าน และถวายอาหารแด่พระสงฆ์ มีการจัดงานคารวะครูอาจารย์ สระผมและตัดเล็บให้ผู้เฒ่าผู้แก่ทั้งที่บ้านและที่พักคนชรา พร้อมกับมอบเครื่องนุ่งห่มใหม่แด่ผู้ใหญ่ที่ตนเคารพ อีกทั้งทำงานไว้ชีวิตวัวควาย ปล่อยนก ปล่อยปลา เจดีย์และวัดสำคัญ จะเนื่องแน่นไปด้วยผู้คนนับแต่เช้าจรดค่ำ โดยเฉพาะในเมืองย่างกุ้ง ผู้คนจะนิยมไปไหว้พระขอพรกัน เจดีย์ชเวดากอง มหาวิชยะเจดีย์ เจดีย์กะบาเอ้ เจดีย์ซูเหร่ พระเช่าก์ทัตจี พระงาทัตจี พระโกทัตจี และวัดแหม่ละมุ(วิรัช นิยมธรรม และ อรนุช นิยมธรรม, 2551:92-93)
งานไหว้พุทธเจดีย์
งานไหว้พุทธเจดีย์ในพม่า นิยมจัดกันในเดือนดะส่องโมง (ต.ค. - พ.ย.) อันเป็นเดือนพ้นฤดูฝน หลังออกพรรษา และหมดภาระจากการเก็บเกี่ยวพืชผลในไร่นา ชาวพุทธพม่ามีเจดีย์เป็นที่พึ่งทางใจ การไหว้พระเจดีย์ในช่วงงานฉลององค์พระ จึงนับเป็นโอกาสอันสำคัญที่ชาวพุทธพม่าให้ความสำคัญ เพราะนอกจากจะเป็นช่วงเวลาแห่งการทำบุญสร้างกุศลแล้ว ยังเป็นช่วงเวลาแห่งความบันเทิง (วิรัช นิยมธรรม และ อรนุช นิยมธรรม, 2551:94)
พม่าเรียกเจดีย์ ว่า พยา มีความหมายเทียบได้กับ “พระ” พม่าถือว่าพุทธเจดีย์เป็นองค์แทนพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เขตเจดีย์ไม่นับเป็นเขตพำนักของสงฆ์หรือชี หากแต่กำหนดไว้เป็นเขตสำหรับปฏิบัติบูชา เพื่อที่ชาวพุทธพม่า ไม่ว่า สงฆ์ ชี โยคี หรือฆราวาสจะมาสวดมนต์ นั่งสมาธิ และขอพร ส่วนงานไหว้พุทธเจดีย์พม่า เรียกว่า พยา-บแวด่อ คำว่า พยา หมายถึง พุทธเจดีย์ ดังกล่าวแล้ว บแว หมายถึง งาน ตรงกับคำว่า ปอย ในภาษาคำเมือง ส่วน ด่อ เป็นปัจจัยพิเศษเติมท้ายคำนาม มักใช้กำกับบ่งชี้สิ่งอันควรเทิดทูน อาทิ ประเทศ ชาติ กองทัพ และพระราชวัง เป็นต้น (วิรัช นิยมธรรม และ อรนุช นิยมธรรม, 2551:95)
ชาวพม่ามักนิยมไหว้พระเจดีย์กันอยู่เป็นนิจ ในเมืองย่างกุ้งมีพระเจดีย์ชเวดากอง ซึ่งเป็นเจดีย์ที่ชาวพม่าเคารพศรัทธาสูงสุด ด้วยเชื่อว่ามีพระเกศาธาตุบรรจุไว้ 8 เส้น หากต้องเดินทางไกล หรือกลับคืนมาจากแดนไกล หรือเพียงมาเยี่ยมเยือนเมืองย่างกุ้ง ชาวพุทธพม่ามักจะต้องมาสักการะพระเจดีย์ชเวดากองเพื่อเป็นสิริมงคล ชาวบ้านมักหาเวลาว่างมาเที่ยวเจดีย์ บ้างสรงน้ำพระประจำวันที่ตั้งอยู่ตามเชิงเจดีย์ บ้างมาทำบุญปิดทององค์เจดีย์ บ้างมาขอพรจากองค์พระเจดีย์หรือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่รายรอบบนลานเจดีย์ อาทิ พระสิวลี พระอุปคุต พ่อปู่โพโพจี และผู้วิเศษที่พม่าเรียกว่า ทุตยะเป้าก์ บ้างมาเที่ยวชมสินค้าและเลือกหาหนังสือธรรมะที่วางขายตามบันไดสู่องค์พระและบ้างมาดูหมอ หรือ มาเดินเที่ยวเล่นในยามว่าง แต่ละวันเขตเจดีย์สถานในพม่าจึงเป็นสถานที่ที่ชาวพม่ามาทำบุญขอพร และเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจสำหรับชาวบ้านที่อยู่ใกล้เคียง (วิรัช นิยมธรรม และ อรนุช นิยมธรรม, 2551:95)
การไปไหว้พระเจดีย์นั้น พม่ามีธรรมเนียมอยู่ว่าทุกคนไม่ว่าจะอยู่ในฐานะใด เมื่อเข้าในเขตพุทธเจดีย์จะต้องถอดรองเท้านับแต่เริ่มย่างสู่ทางเข้าเจดีย์นั้น ในประวัติศาสตร์พม่าเคยเกิดกรณีพม่าประท้วงชาวต่างชาติ เมื่อปี ค.ศ.1918 เนื่องจากชาวต่างชาติไม่ยอมถอดรองเท้าเมื่อเข้าเขตพุทธเจดีย์ ชาวพม่าจึงใช้เป็นชนวนต่อต้านอังกฤษที่ปกครองพม่าอยู่เวลานั้น โดยวาดการ์ตูน แสดงภาพชาวต่างชาติชายหญิงสวมรองเท้าขึ้นคร่อมหลังชายพม่าที่เดินเท้าเปล่าในเขตลานเจดีย์ การสวมรองเท้าหรือถุงเท้าเข้าเขตเจดีย์จึงถือเป็นข้อห้ามสำหรับทุกคน (วิรัช นิยมธรรม และ อรนุช นิยมธรรม, 2551:95)
บรรณานุกรม
วิรัช นิยมธรรม และ อรนุช นิยมธรรม. (2551). เรียนรู้สังคมและวัฒนธรรมพม่า. พิษณุโลก: โรงพิมพ์ตระกูล.
สิทธิพร เนตรนิยม. (2558). ตะซาวง์ไดง์ จุดไฟตามประทีปในพม่า. ใน พิพัฒน์ กระแจะจันทร์, ลอยกระทง เรือพระราชพิธี วัฒนธรรมน้ำร่วมราม (หน้า 57-63). กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกับฝ่ายวิชาการ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.