เมียนมา - ศาสนาและความเชื่อ
พม่าหรือเมียนมามีความโดดเด่นในเรื่องการศรัทธาพุทธศาสนา มีเจดีย์และศาสนสถานในพุทธศาสนาจำนวนมาก ประชากรกว่า 87 % นับถือพุทธศาสนา แต่ในขณะเดียวกันมีประชากรบางส่วนที่นับถือพลังเหนือธรรมชาติจำนวน 4.5% คริสต์ศาสนา 4 % อิสลามและฮินดู 1.5% (Steven, 2002:62)
ความสำคัญของพระพุทธศาสนาไม่ได้อยู่ที่จำนวนผู้นับถือเพียงอย่างเดียว แต่พุทธศาสนายังเป็นรากฐานสำคัญของสังคมพม่า โดยมีประวัติย้อนหลังไปถึงสมัยปยูและอาณาจักรพุกาม ในช่วงระยะเวลาจากอดีตถึงปัจจุบันซึ่งเป็นเวลากว่าพันปี ได้หล่อหลอมให้พระพุทธศาสนาในพม่ามีลักษณะเฉพาะของตนเอง นั่นคือ การมีลักษณะผสมผสานของศาสนาและความเชื่อต่างๆ ที่มีอยู่ในดินแดนพม่า (นฤมล ธีรวัฒน์ และคณะ.2551:233)
พระพุทธศาสนา
ชนชาติมอญเป็นชนกลุ่มแรกในพม่าที่รับนับถือพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทจากทักษิณนิกาย หรือ นิกายพุทธทางใต้ ของอินเดีย (Steven, 2002:55) เชื่อกันว่าพุทธศาสนาเข้ามาสู่ประเทศพม่า เมื่อครั้งที่พระเจ้าอโศกมหาราช แห่งอินเดียให้การอุปถัมภ์การสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 3 ได้มีการส่งพระสมณทูตไปเผยแพร่พุทธศาสนาในแถบประเทศต่างๆ รวม 9 สาย (ฟื้น ดอกบัว, 2554:182) โดยพม่าอยู่ในส่วนของสุวรรณภูมิ ชาวพม่ายังเชื่อว่า สุวรรณภูมิ มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองสะเทิมทางตอนใต้ของพม่า พุทธศาสนาได้เจริญรุ่งเรืองในพม่าราวพุทธศตวรรษที่ 6 เนื่องจากพบหลักฐานเป็นคำจารึกภาษาบาลี นักประวัติศาสตร์ท่านหนึ่งชื่อว่า ตารนาถ เชื่อว่าพุทธศาสนาแบบเถรวาทได้เข้าสู่พม่า ตั้งแต่สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช (ประวัติพุทธศาสนาพม่า, 2015)
พม่าบัญญัติให้พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติตั้งแต่ปีค.ศ.1974 ปัจจุบันพุทธศาสนาเป็นสถาบันที่แข็งแกร่งที่สุดในพม่า สืบเนื่องจากประเพณีปฏิบัติอันยาวนานหลายประการ ประการแรก ความใกล้ชิดระหว่างสถาบันกษัตริย์กับสถาบันภิกษุ ซึ่งต่างก็พึ่งพาอาศัยกันและกัน ประการที่สอง การรักษาความเข้มข้นขององค์ความรู้และวินัย โดยผ่านการปะทะสังสรรค์กับผู้นำทางศาสนาประเทศอื่นๆในเครือพุทธศาสนาเถรวาท โดยเฉพาะศรีลังกาและไทย และประการที่สาม คือการทุ่มเททรัพยากร สมบัติวัตถุ และงานฝีมืออันประณีตบรรจงให้กับภิกษุ ปูชนียสถาน และโลกทางกายภาพของชาวพุทธ (นฤมล ธีรวัฒน์ และคณะ.2551:234-235)
ด้วยลักษณะเด่นของพุทธศาสนาเถรวาทของพม่าที่สามารถเป็นแกนหลักในความหลากหลาย ในขณะเดียวกัน พุทธศาสนาก็มีความลึกซึ้งในหลายระดับทั้งระดับปรัชญา ระดับการปฏิบัติสมาธิวิปัสสนา ไปจนถึงพุทธศาสนาระดับชาวบ้าน ศาสนาพุทธจึงสามารถสร้างความเป็นปึกแผ่นในความหลากหลายให้สังคมพม่าได้และกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความเป็นเอกภาพร่วมกัน ผู้ปกครองพม่าแต่ละยุคจึงไม่อาจปฏิเสธความสำคัญของศาสนาพุทธ ความรู้ในพระไตรปิฎกของชาวบ้านทั่วๆไป ส่วนใหญ่มักจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ทางศีลธรรม และโศลกคำสอนที่เรียกว่า “โต้ว” บางบทที่ชี้แนะทางสายกลาง เช่นโศลกว่าด้วยเรื่องหน้าที่ศีลธรรมที่เรียกว่า มินกลาโต้ว ในส่วนที่เป็นพระอภิธรรมซึ่งเป็นความรู้ขั้นสูงนั้นมักไม่เป็นที่รู้จักมักคุ้นของชาวบ้าน แม้แต่ผู้ที่เคยผ่านการบวชเรียนมาแล้วก็ตาม ชาวบ้านทั่วไปจะมีความรู้ความเข้าใจในพุทธศาสนาอยู่ 3 เรื่องด้วยกันคือ 1. ความคิดในเรื่องกรรม และบุญ 2. ศีลและการถือปฏิบัติ 3.ความเชื่อแบบดั้งเดิมในสังคมพม่า (นฤมล ธีรวัฒน์ และคณะ.2551:246)
นอกจากนี้พุทธศาสนาและพระสงฆ์ในพม่ายังมีบทบาททางการเมืองที่สำคัญตั้งแต่ในช่วงปีค.ศ.1930 ในการเป็นผู้นำต่อต้านอาณานิคมอังกฤษ ต่อมาในปี ค.ศ.1988 พระสงฆ์มีบทบาทสำคัญในการเป็นแกนนำต่อต้านรัฐบาลทหารภายใต้การนำของนายพลเนวิน ซึ่งเป็นรัฐบาลที่ไม่ให้ความสำคัญกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนตั้งแต่ปี ค.ศ.1962 ส่งผลให้เกิดการปะทะกับทหาร มีการนองเลือดและมีผู้เสียชีวิตนับพันคน จนนานาชาติต้องหันมาให้ความสนใจและจับตามองบทบาททางการเมืองของพระสงฆ์ในพม่ามากขึ้น ปัจจุบันพุทธศาสนาและพระสงฆ์ยังคงเป็นผู้นำหลักทางจิตวิญญาณของชาวพม่าทั้งในการดำรงชีวิตและการเมือง ดังพบได้อยู่เสมอว่าในพม่าพระสงฆ์มักเป็นแกนนำในการต่อต้านรัฐบาล สนับสนุนนักการเมืองในประเทศ ตลอดจนต่อต้านศาสนิกชนต่างศาสนา
“นัต” กับความเชื่อของชาวพม่า
พม่าได้ชื่อว่าเป็นดินแดนแห่งพุทธศาสนาและพุทธเจดีย์ พุทธศาสนิกชนชาวพม่าต่างให้ความเคารพในพระสงฆ์ซึ่งถือเป็นเนื้อนาบุญและเป็นที่พึ่งแห่งกุศล แต่ภายใต้ร่มเงาแห่งพุทธศาสนานั้น สังคมพม่ายังคงแฝงไปด้วยกลิ่นอายความเชื่อเกี่ยวกับการบูชาผีอยู่ไม่น้อย และที่ปรากฏเป็นภาพเด่นชัดคือ การบูชานัต ดังพบว่าภายในบ้านของชาวพม่าบางบ้านมีหิ้งบูชานัตตั้งอยู่ใกล้หิ้งพระพุทธรูป หลายบ้านปลูกศาลคล้ายศาลพระภูมิ ไว้ที่หน้าบ้าน ในขณะที่ริมทางตามต้นไม้ใหญ่ยังมีศาลนัตอยู่ทั่วไป แม้แต่ในเขตลานพระเจดีย์ยังพบว่ามีรูปนัต ปั้นเป็นองค์เทพ เทวี ผู้เฒ่า รูปยักษ์ เห็นชัดว่าชาวพม่าจำนวนไม่น้อยยังคงกราบไหว้บูชานัต ทั้งที่บ้านและที่สาธารณะ ตลอดจนในเขตพุทธสถาน (วิรัช นิยมธรรม และ อรนุช นิยมธรรม, 2551:143)
คำว่า “นัต” ปราชญ์ชาวพม่า เชื่อว่าคำนี้น่าจะมาจากคำว่า นาถ ในภาษาบาลี หมายถึง “ผู้เป็นที่พึ่ง” ตามกล่าวไว้ในตำรานิรุกติศาสตร์เก่าแก่เล่มหนึ่งของพม่า คือ โวหารลีนตฺถทีปนี แต่งโดย มหาเชยสงขยา และในสารานุกรมพม่า เล่ม 6 ได้นิยามคำว่า นัตไว้ในทำนองเดียวกัน โดยจัดแบ่งนัตไว้ 3 ส่วน คือ วิสุทินัต คือ ผู้บริสุทธิ์ อันหมายถึง พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระอรหันต์ อุปปตฺตินัต คือ เทวดาและพรหมาที่อยู่บนสรวงสวรรค์ และ สมฺมุตินัต คือ พระราชา พระราชินี ตลอดจนราชบุตรราชธิดา นอกจากนี้ยังกล่าวถึงเทพประจำจักรวาลว่าเป็นนัต เช่น เทพประจำดาวนพเคราะห์ สุริยเทพ จันทราเทพ อัคนีเทพ และวาโยเทพ ดังนั้นนัตตามนัยของคำว่า นาถ นี้ ก็คือ เหล่าเทพเทวาบนชั้นฟ้าตลอดถึงผู้ประเสริฐและผู้ทรงอำนาจบนโลกมนุษย์ ถือเป็นนัตตามโลกทัศน์ในพุทธศาสนา ส่วนพจนานุกรมพม่า ของรัฐบาลเมียนมาร์ กล่าวถึงนัตไว้ 3 นัย ได้แก่ 1. เทพอุปปัติทรงฤทธิ์คุ้มครองมนุษย์ 2.วิญญาณศักดิ์สิทธิ์ของผู้ตายร้าย และ 3. คำขยายสิ่งซึ่งอุบัติขึ้นเอง เช่น นัตสะบา “ข้าวนัต หรือ ข้าวป่า” และ นัตเย-ดวีง “สระนัต หรือ สระรรมชาติ” เป็นต้น สิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติจึงถือว่าเป็นด้วยอำนาจแห่งนัต ดังนั้นนัตตามคติของชาวพม่าจึงหมายถึง ผู้ทรงฤทธิ์ เป็นได้ทั้งเทพยดาและวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ แต่ไม่รวมถึงพระพุทธเจ้า พระอรหันต์ ตลอดจนพระราชา หรือ ราชตระกูล (วิรัช นิยมธรรม และ อรนุช นิยมธรรม, 2551:143-144)
ชาวพม่า เชื่อว่า มนุษย์ประกอบด้วยร่างกาย ที่เรียกว่า โก่ก่ายะ และ ขวัญ ที่เรียกว่า เละปยา เมื่อตายไปขวัญจะกลายเป็นดวงวิญญาณล่องลอยอยู่ในโลก สามารถให้คุณให้โทษแก่ผู้คนทั่วไปได้ หรืออาจเข้าสิงร่างของผู้อื่นและบังคับให้ผู้นั้นกระทำสิ่งต่างๆ ตามความประสงค์ของดวงวิญญาณ และเมื่อพิจารณาสภาพการกลายเป็นนัตของคนพม่าแล้วจะเห็นว่าสอดคล้องกับความเชื่อเรื่องดวงวิญญาณ คือ ธาตุที่ไม่ดับสูญ ในหนังสือ โตงแซะคุนิจ์มีง หรือ นัต 37 ตน เขียนโดย อูโพจา ได้บรรยายเรื่องนัตไว้ว่า “เรื่องการกลายเป็นนัตนั้นจดจำแลเชื่อกันว่า ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นคนเผ่าพันธุ์ใดกษัตริย์หรือสามัญชน มั่งมีหรือยากไร้ หญิงหรือชาย เด็กหรือผู้ใหญ่ หากแต่เป็นผู้ที่คนทั่วไปยกย่อง ยึดเป็นที่พึ่งได้และเป็นผู้ที่มีเมตตา ยามตายก็จากไปอย่างน่าเวทนา เมื่อผู้คนทั่วไปรับรู้ จึงบังเกิดความสะเทือนใจ โจษจันกันไปทั่ว วิญญาณของผู้นั้นจึงกลายเป็นนัต” (วิรัช นิยมธรรม และ อรนุช นิยมธรรม, 2551:145)
ชาวพม่าติดต่อกับนัตในหลายรูปแบบ มีทั้งการกราบไหว้ เซ่นสรวง ลงทรง เพื่อขอความคุ้มครอง บนบานศาลกล่าว หรือบัดพลีเมื่อคำขอเป็นผลสัมฤทธิ์ รูปแบบของการเซ่นไหว้นัตในเรือน นัตตามศาล และนัตที่อยู่รายรอบพระเจดีย์นั้นส่วนใหญ่กระทำคล้ายๆกัน จะแตกต่างกันอยู่บ้างขึ้นอยู่กับนัตแต่ละตน เช่น นัตบางตนนิยมมังสวิรัติ กินเฉพาะผลไม้ ดอกไม้ ใบไม้ นัตบางตนชอบอาหารดิบ เช่น ปลาดิบ เนื้อดิบ นัตบางตนชอบของมึนเมา ดื่มเหล้าเมามายยามประทับทรง และบางตนชอบบุหรี่ เป็นต้น (วิรัช นิยมธรรม และ อรนุช นิยมธรรม, 2551:161)
ความเชื่อเกี่ยวกับนัตของชาวพม่าในส่วนที่เกี่ยวกับนัตตามนัยของผีอารักษ์นั้นดูจะเป็นความเชื่อพื้นถิ่นที่ปรากฏอยู่คู่สังคมพม่ามายาวนานยิ่งกว่าพุทธศาสนา บทบาทของนัตในความเชื่อของพม่าดั้งเดิมมีความสำคัญถึงระดับร่วมสร้างบ้านแปงเมืองในพุกามยุคแรกๆ จนได้รับความสำคัญเป็นมิ่งเมือง เป็นไปได้ว่าในยุคของพระเจ้าอโนรธา การรับพุทธศาสนาจากภายนอกได้ทำให้นัตในคติความเชื่อพื้นถิ่นถูกลดบทบาทลงเป็นเพียงนัตที่คอยพิทักษ์รักษาพระพุทธศาสนา แต่อย่างไรก็ตามชาวพม่าไม่อาจปฏิเสธอำนาจนัตอย่างสิ้นเชิง สังคมพม่าจึงเป็นสังคมพุทธที่แฝงอยู่ด้วยความเชื่อในนัตระคนกัน (วิรัช นิยมธรรม และ อรนุช นิยมธรรม, 2551:168)
ศาสนาฮินดู
ผู้นับถือศาสนาฮินดู ในพม่า มีประมาณ 840,000 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวพม่าเชื้อสายอินเดีย มีพระพรหม เป็นที่เคารพสักการบูชา ศาสนาดังกล่าวเข้าสู่พม่าตั้งแต่ยุคโบราณ เนื่องจากรัฐระคาย หรือ ยะไข่ ของพม่า มีอาณาเขตติดต่อกับรัฐมณีปุระ ของ อินเดีย ดังนั้นศาสนาฮินดูจึงผ่านเข้าสู่พม่าทางรัฐดังกล่าว (Religion in Myanmar, 2015)
ฮินดูเป็นศาสนาที่ทรงอิทธิพลในราชสำนักพม่าในช่วงก่อนอาณานิคม สิ่งแสดงถึงอิทธิพลดังกล่าว ประกอบไปด้วย สถาปัตยกรรมทางศาสนาในเมืองพุกาม และ ภาษาพม่าที่รับเอาภาษาบาลี-สันสกฤต มาใช้ ปัจจุบัน แม้ว่าประชากรส่วนใหญ่ในพม่าจะเป็นพุทธศาสนิกชนในพุทธศาสนา แต่ยังมีความเชื่อดั้งเดิมเกี่ยวกับ พระเจ้าสักกะมิน ชาวพม่าเชื่อว่าเป็นต้นกำเนิดของพระอินทร์ ในศาสนาฮินดู เทพเจ้าฮินดูหลายองค์เป็นที่เคารพบูชาของชาวพม่า อาทิเช่นพระศิวะ หรือ Paramizwa พระวิษณุ หรือ Withano พระนางสุรัสวดี หรือ Thuyathadi นอกจากนี้วรรณกรรมจำนวนมากของพม่ายังได้รับอิทธิพลจากศาสนาฮินดู เช่น รามายณะ ภาษาพม่าเรียกว่า Yama Zatdaw เป็นต้น (Religion in Myanmar, 2015)
ปัจจุบันชาวพม่าที่นับถือศาสนาฮินดู มีอยู่เป็นจำนวนมากในเมืองย่างกุ้ง และ มัณฑะเลย์ ศาสนสถานฮินดูในยุคโบราณยังคงมีหลงเหลืออยู่เป็นจำนวนมากในเมืองต่างๆ ของพม่า เช่น วัด Nathlaung Kyaung ในเมืองพุกาม ที่สร้างขึ้นเพื่อถวายแด่พระวิษณุ เป็นต้น (Religion in Myanmar, 2015)
คริสต์ศาสนา
คริสต์ศาสนาในพม่าได้รับการเผยแพร่จากคณะมิชชันนารีเป็นเวลากว่า 150 ปีมาแล้ว คริสต์ศาสนาจากคณะอเมริกันแบบทิสต์ เป็นคณะแรกที่เดินทางเข้ามาเผยแผ่คริสต์ศาสนายังดินแดนพม่า สามารถเปลี่ยนความเชื่อทางศาสนาของชาวพุทธในพม่าได้บ้างเป็นส่วนน้อย แต่ขณะเดียวกันในหมู่ชนกลุ่มน้อยที่นับถือสิ่งลี้ลับเหนือธรรมชาติกลับมีแนวโน้มที่จะรับนับถือคริสต์ศาสนาได้มากกว่า เช่น กะเหรี่ยง กะฉิ่น และ ฉิ่น คริสต์ศาสนิกชนในพม่าจึงมักเป็นชนกลุ่มน้อย (Steven, 2002:62)
ศาสนาอิสลาม
ศาสนาอิสลามเข้าสู่พม่าในปีค.ศ.1827 โดยพ่อค้าชาวอาหรับ ชาวมุสลิมในพม่าประกอบไปด้วย 2 กลุ่ม คือ โรฮิงญา และ ปันทาย สำหรับชาวมุสลิมโรฮิงญา ในรัฐอาระกันหรือรัฐระคาย ทางชายแดนทางตะวันตกของประเทศพม่า ติดกับชายแดนบังคลาเทศ มีลักษณะร่างกาย ภาษาที่ใช้ใกล้เคียงกับภาษาเบงกาลี ในบังคลาเทศ ประเทศเพื่อนบ้านมุสลิมทางตะวันตก จากเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์และความแตกต่างทางชาติพันธุ์ที่ชัดเจน ชาวโรฮิงยาไม่เคยถูกยอมรับว่าเป็นกลุ่มชาติพันธ์ที่อาศัยอยู่ในประเทศพม่า เนื่องจากผลพวงของสงครามระหว่างอังกฤษกับพม่า (M.Athyal, 2015:194)
แม้ว่าภายหลังได้รับเอกราชจากอังกฤษ ชาวโรฮิงยาถูกรับรองความเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ในสมัยรัฐบาลอูนุ ในการประชุมสภาในปีค.ศ. 1950 แต่ภายหลังการยึดอำนาจของนายพล เน วิน ในปีค.ศ. 1978 ได้ใช้วิถีทางสังคมนิยมแบบพม่า สร้างความรู้สึกชาตินิยมพม่าพุทธขึ้น จึงนำไปสู่ความเกลียดชังกลุ่มชาติพันธุอื่นที่ต่างจากพม่า คือผู้อาศัยในดินแดนอาระกัน หรือระคายในปัจจุบัน มีลักษณะใกล้เคียงกับคนในบังคลาเทศ มากกว่าพม่า นับถือทั้งศาสนาอิสลาม ฮินดูและพุทธ (ศิววงศ์ สุขทวี, 2013)
อย่างไรก็ตามประเด็นของชาวโรฮิงญายังคงเป็นประเด็นปัญหาที่รอการแก้ไขอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากกลุ่มคนเหล่านี้ยังคงได้รับความเดือดร้อนในการดำรงชีวิต ประสบกับปัญหาค้าแรงงานข้ามชาติ ตลอดจนปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน เนื่องจากไม่มีสถานะของพลเมืองในประเทศใดประเทศหนึ่ง จึงก่อให้เกิดประเด็นปัญหาดังกล่าวและอีกหลายด้านตามมา
บรรณานุกรม
Jesudas M Athyal. (2015). Religion in Southeast Asia : an encyclopedia of faiths and cultures. California: Santa Barbara.
M.,Mic,L.,Michael,C.,and Joe,.C. Steven. (2002). Myanmar (Burma). Australia: Lonely Planet Publications Pty Ltd.
Religion in Myanmar. (26 November 2015). เรียกใช้เมื่อ 2 December 2015 จาก wikipedia Web site: https://en.wikipedia.org/wiki/Religion_in_Myanmar
นฤมล ธีรวัฒน์ และคณะ. (2551). มองพม่าผ่านชเวดากอง. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์โอ.เอส.พริ้นติ้งเฮ้าส์.
ประวัติพุทธศาสนาพม่า. (2015). เรียกใช้เมื่อ 08 11 2015 จาก เว็บไซต์ธรรมะไทย: http://www.dhammathai.org/thailand/missionary/burma.php
ฟื้น ดอกบัว. (2554). ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาในนานาประเทศ. กรุงเทพมหานคร: โสภณการพิมพ์.
วิรัช นิยมธรรม และ อรนุช นิยมธรรม. (2551). เรียนรู้สังคมและวัฒนธรรมพม่า. พิษณุโลก: โรงพิมพ์ตระกูลไทย.
ศิววงศ์ สุขทวี. (29 8 2013). โรฮิงยา ชีวิตภายใต้อำนาจ จากชายแดนพม่าถึงไทย. เรียกใช้เมื่อ 8 11 2015 จาก เว็บไซต์ประชาไท: http://www.prachatai.com/journal/2013/08/48462