เมียนมา - ศิลปะการแสดง
ศิลปะการแสดงถือเป็นส่วนสำคัญในงานบุญของพม่าที่สร้างความบันเทิงแก่ผู้ร่วมงาน ซึ่งศิลปะการแสดงต่างๆ ส่วนใหญ่เป็นการแสดงที่เป็นลักษณะประเพณีนิยม โดยได้รับการพัฒนาปรับเปลี่ยนมาจากการแสดงในราชสำนักพม่าในอดีต ก่อนหน้านั้น ศิลปะการแสดงหลายประเภทได้หยิบยืมมาจากกลุ่มวัฒนธรรมใกล้เคียง เช่น มอญ อินเดีย จีน ฉาน อยุธยา เป็นต้น ส่วนใหญ่ต่างก็มีพื้นฐานรากเหง้าการแสดงจากบทประพันธ์ของมหากาพย์ฮินดู หรือเป็นที่รู้จักกันในนามของรามายณะ นอกจากนั้นยังมีเรื่องราวนิทานชาดกทางพุทธศาสนา ซึ่งเชื่อมโยงถ่ายถอดกันมาในภูมิภาคนี้ (นฤมล ธีรวัฒน์ และคณะ.2551:207-215)
เมื่อคราวที่กรุงศรีอยุธยาเสียกรุงครั้งที่ 2 ในปีพุทธศักราช 2310 นั้นมีการกล่าวถึงเหตุการณ์หลังสงครามว่า พม่าได้กวาดต้อนเชลยชาวกรุงศรีอยุธยาไปเป็นจำนวนมาก โดยเน้นกลุ่มช่าง นักดนตรี และนักแสดง ซึ่งพระเจ้าปดุงโปรดแต่งตั้งให้กลุ่มเจ้านายและขุนนางของราชสำนักอยุธยาเป็นผู้ศึกษาและถ่ายทอดความรู้เชิงนาฏศิลป์ และดนตรีให้แก่กลุ่มนักแสดงในราชสำนักของพระองค์ การแสดงที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในสมัยนั้น ได้แก่ การแสดงโขนเรื่องรามเกียรติ์ การแสดงดังกล่าวยังมีอิทธิพลต่องานศิลปะแขนงอื่นๆ เช่น เครื่องเขิน ไม้แกะสลัก เป็นต้น อนุสรณ์ของกลุ่มแสดงนาฏศิลป์ชาวอยุธยาที่ยังปรากฏอยู่ในปัจจุบัน คือ ศาลพระราม ซึ่งตั้งอยู่บริเวณชุมชนพม่าเชื้อสายอยุธยาที่มัณฑเลย์ (นฤมล ธีรวัฒน์ และคณะ.2551:207-215)
ศิลปะการแสดงที่สืบทอดมาจากอดีตและยังคงได้รับความนิยมชมชอบอยู่ในสังคมพม่าในปัจจุบันได้นั้น เห็นจะต้องยกให้การแสดง 2 ประเภทอัน ได้แก่ ซะปแว หรือ ลิเกพม่า และโย่วเต คือหุ่นชักหรือหุ่นกระบอก การแสดงทั้ง 2 นี้ถือเป็นคู่แข่งกันในทุกๆ งานบุญ การแสดงจะเริ่มตั้งแต่ตอนเย็นถึงรุ่งเช้า โดยเน้นเรื่องราวนิทานพื้นบ้านหรือชาดกทั่วไป (นฤมล ธีรวัฒน์ และคณะ.2551:207-215)
ซะปแว
เมื่อมีงานบุญที่ไหนก็จะต้องได้ดูลิเกพม่าที่นั่น ควบคู่ไปกับการแสดงหุ่นชัก เนื้อเรื่องส่วนหนึ่งที่ซะปแวนำมาแสดงไม่ต่างไปจากหุ่นชัก คือมาจากนิทานชาดก ที่ต่างกันอยู่ตรงผู้แสดงระหว่างคนกับหุ่นชัก อันที่จริงชาวไทใหญ่ก็มีการแสดงที่เหมือนซะปแว ซึ่งเรียกว่า จ้าดไต โดยเรียก ซะปแวว่า จ้าดพม่า ซึ่งคำว่า ซะ หรือ จ้าด มาจากคำว่า ชาตก หรือ ชาดก ในภาษาไทย ขั้นตอนการแสดงซะปแวเริ่มจากหัวหน้าหรือครูอาวุโสของคณะทำพิธีขอพรจากนัต ช่วยคุ้มครองให้การแสดงชุดนี้สำเร็จลุล่วงและได้รับความนิยมชมชอบจากผู้ชม โดยใช้ของเซ่นไหว้ที่มีกล้วยกับมะพร้าวเป็นหลัก หลังจากพิธีเสร็จแล้วดนตรีปี่พาทย์จะเริ่มประโคมเพื่อเป็นการโหมโรงเรียกผู้ชมเข้ามาดู เมื่อได้เวลาแสดงจะมีนักแสดงชาย 2 คน แต่งกายและพูดจาตลกขบขัน ที่พม่าเรียกว่า ลูชวีนด่อ ออกมาพูดคุย เกริ่นนำเรื่องราวที่จะแสดงในวันนั้นๆ เมื่อเล่าเรื่องราวต่างๆ เสร็จแล้วจึงเริ่มแนะนำตัวนักแสดงทีละคนว่าใครมีบทบาทอะไรในท้องเรื่อง พร้อมกันนั้นนักแสดงก็จะออกมานำเสนอตัวเองโดยการโชว์ทีเด็ดส่วนตัว อาทิ บางคนรำสวย บางคนร้องเก่งเสียงดี หรือบางคนก็พูดอ้อนผู้ชมเก่ง ในส่วนนี้ถือเป็นฉากแรกโดยเรียกว่า เอ้าเปี๊ยะ หรือการแสดงเป็นชุดๆ นั่นเอง (นฤมล ธีรวัฒน์ และคณะ, 2551,:220)
หลังจากที่โชว์ตัวนักแสดงเสร็จแล้วจึงเริ่มแสดงตามเนื้อหาของเรื่อง โดยจะแบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงแรกเป็นการแสดงเรื่องสมัยใหม่ ซึ่งคณะซะปแวนั้นๆ เป็นผู้ประพันธ์เรื่องราวขึ้นเอง ส่วนใหญ่มักจะมีเนื้อหาในชีวิตประจำวันทั่วไป เช่น ความรักของหนุ่มสาวที่มีอุปสรรค หรือ เรื่องราวของเมียน้อยเมียหลวง ช่วงนี้เองที่เป็นการพิสูจน์ว่าซะปแวคณะใดสามารถประพันธ์บทละครและแสดงได้ถูกใจผู้ชม ส่วนช่วงสุดท้ายเป็นการแสดงเรื่องราวของชาดกต่างๆ ไปจนถึงรุ่งเช้า โดยมีนักแสดงชาย 2 คน ออกมาเกริ่นก่อนในช่วงแรก เสร็จแล้วก็นั่งอยู่หน้าเวทีตลอดเวลา เพื่อคอยสอดแทรกเนื้อหาดำเนินเรื่องราวตอนต่างๆ หรือในบางครั้งก็มีการเสริมมุกตลกบ้าง หยอกล้อนักแสดงบ้าง จนกว่าการแสดงจะจบ ซึ่งทั้ง 2 ต้องเป็นผู้ปิดรายการด้วย ในการแสดงซะปแวครั้งหนึ่งนั้น จะใช้เวลาตั้งแต่ตะวันตกดินจนถึงเช้าตรู่ของวันใหม่ เพราฉะนั้นผู้ชมซะปแวต้องเตรียมอุปกรณ์การชมไว้ตั้งแต่กลางวัน นั่นคือ เสื่อ หมอน ขนมหรือของขบเคี้ยวทั่วไป แต่บางคนทนง่วงไม่ไหวมักจะนอนหลับก่อนเพื่อรอดูฉากที่ตนเองชอบหรือฉากสำคัญ (นฤมล ธีรวัฒน์ และคณะ, 2551:221)
หุ่นชักพม่าเป็นศิลปะที่นิยมในราชสำนักพม่า เป็นการแสดงที่สื่อถึงนัยยะสำคัญทางการเมือง เรื่องราวต่างๆ ในราชสำนักที่ไม่สามารถพูดถึงอย่างตรงไปตรงมาได้ ในอดีตผู้ชักหุ่นต้องเป็นชายเท่านั้น นักเล่นหุ่นชักหลายคนได้รับการยกย่องให้เป็นถึงขุนนาง เช่น อูปุ๊ ผู้มีสิทธิกินส่วยจาก 12 หัวเมือง เป็นต้น แต่ต่อมาในภายหลังเริ่มมีการถ่ายทอดความรู้หุ่นชักพม่าให้แก่ผู้หญิง อาทิเช่น คณะแสดงหุ่นมัณฑะเลย์ อาจารย์ผู้ควบคุมคณะได้ถ่ายทอดวิชาให้แก่ลูกและหลานที่เป็นผู้หญิง เพื่อสืบทอดวิธีการชักหุ่นพม่าตามรูปแบบที่มีมาแต่โบราณ นอกจากผู้ชักหุ่นแล้วยังมีนักร้องและนักดนตรีวงปี่พาทย์ เสียงและคารมของนักร้องนับเป็นจุดเด่นและปัจจัยวัดความสำเร็จของคณะหุ่นชัก การแสดงหุ่นชักได้แพร่กระจายจากราชสำนักในช่วงปลายสมัยราชวงศ์คองบองไปสู่พม่าตอนล่าง หลังจากที่อังกฤษยึดครอง โดยนิยมเล่นกันในเมืองย่างกุ้ง ความล่มสลายของราชสำนักพม่าทำให้คณะหุ่นชักเดินทางไปแสดงนอกเมืองมัณฑะเลย์มากขึ้น(นฤมล ธีรวัฒน์ และคณะ, 2551:222)
เรื่องราวที่นำมาใช้เล่นหุ่นกระบอกจะมีความแตกต่างกันไปแต่ละคณะ มักนิยมเขียนบทขึ้นเพื่อแสดงเอง และไม่มีการหยิบยืมเรื่องราวระหว่างคณะมาใช้เล่นโดยเด็ดขาด แต่บทเพลงที่ใช้ประกอบการเล่นอาจมีการหยิบยืมใช้บ้าง เนื้อหาในการเล่นหุ่นมักเป็น ชาดก นิทานพื้นบ้าน ตำนานเกี่ยวกับนัตหรือองค์เจดีย์ เรื่องราวบางส่วนที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์พม่า และ รามายณะ เป็นต้น ซึ่งแสดงผ่านหุ่นทั้งสิ้น 36 ตัว ต่อมาบางคณะใช้หุ่นทั้งสิ้น 32 ตัว หรือ 24 ตัว และในขณะที่ไม่มีการแสดง หุ่นทุกตัวจะถูกเก็บรักษาไว้บนหิ้งเป็นอย่างดี (ประภาศรี ดำสอาด, 2542:18)
อะเญ่ย
หมายถึงการแสดงตลกแบบพม่า การแสดงชนิดนี้ผู้แสดงส่วนใหญ่เป็นผู้ชายแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าสีฉูดฉาดสะดุดตา นุ่งโสร่งลายตารางโตๆ สวมเสื้อป้ายอกและมีผ้าโพกศรีษะ ส่วนนักแสดงหญิงมักแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าที่สวยงามสีนวลตา สวมเสื้อเกาะอกแล้วสวมด้วยเสื้อที่มีชายงอน นุ่งผ้าซิ่นลูนตยา โดยต่อเชิงผ้าสีขาวให้ยาวออกไป เมื่อได้เวลาแสดงก็จะเริ่มด้วยการแสดงฟ้อนรำเดี่ยวของมีนตะมีที่ออกมาร่ายรำในท่วงท่าต่างๆ ด้วยทำนองเพลงสนุกสนานจากวงษ์ปี่พาทย์ที่อยู่ด้านหน้า (นฤมล ธีรวัฒน์ และคณะ, 2551:225)
คนพม่ามีวิธีสังเกตว่ามีนตะมีคนไหนรำเก่งหรือไม่นั้น โดยดูจากว่าใครที่ต่อชายผ้าซิ่นลูนตยาได้ยาวที่สุดแล้วรำโดยที่ชายผ้านั้นไม่ไปพันกับเท้า และในขณะที่รำ ผ้าก็พลิ้วไหวเป็นคลื่นไปตามจังหวะการรำถือว่ามีนตะมีคนนั้นเก่งและมีชื่อเสียงมาก หลังจากฟ้อนรำเปิดตัวจบลงไปแล้ว นักแสดงชายจำนวน 5-6 คน ซึ่งเรียกว่า ลูชวินด่อ จะออกมาแสดงท่าทางอากัปกิริยาต่างๆ หรือใช้คำพูดที่ชวนให้ตลกขบขัน โดยใช้ผ้าโพกหัวเป็นอุปกรณ์หลัก สร้างสมมติว่าเป็นสิ่งของ สัตว์ต่างๆ หรืออะไรก็ได้ตามแต่จะจินตนาการ ที่สำคัญจะต้องเรียกเสียงหัวเราะให้ได้มากที่สุด พร้อมทั้งมีการแสดงฟ้อนรำสลับกันไปบ้างแล้วแต่เทคนิคของแต่ละคณะ นักท่องเที่ยวสามารถพบเห็นการแสดงอะเญ่ยนี้ได้ตามงานวัดทั่วไปเช่นเดียวกับการแสดงอื่นๆ (นฤมล ธีรวัฒน์ และคณะ, 2551:225-226)
เครื่องดนตรี
ในบรรดาเครื่องดนตรีที่มีอยู่ในภูมิภาคนี้ เครื่องดนตรีพม่านับว่าเป็นเครื่องดนตรีที่มีความสวยงามประณีต เด่นสะดุดตาจนเป็นที่รู้จักกันทั่วไป นอกจากความงามและอรรถรสทางเสียงของเครื่องดนตรีพม่า ยังมีความไพเราะและจังหวะที่แปลกออกไปจากดนตรีในภูมิภาคนี้ การจำแนกเครื่องดนตรีแบบพม่านั้นแตกต่างกันจากแบบไทย กล่าวคือ ดนตรีไทยได้แบ่งชนิดของเตรื่องดนตรีไว้เป็น 4 ประเภทคือ เครื่องดีด สี ตี และเป่า แต่พม่านิยมแบ่งประเภทเครื่องดนตรีเป็น 5 ประเภท คือ ทองเหลืองหรือเครื่องโลหะ เครื่องสาย เครื่องหนัง เครื่องลม และเครื่องตี โดยมีคำเรียกให้คล้องจองเป็นภาษาพม่าว่า เจ โจ ตะเหย่ เหล่ โค่ว (นฤมล ธีรวัฒน์ และคณะ, 2551:207)
เจ
เครื่องดนตรีประเภทแรกนี้เป็นหมวดเครื่องดนตรีที่รวมเอาเครื่องโลหะทุกชนิดรวมกัน ทั้งจากสำริด ทองเหลือง ทองแดง อันได้แก่ ฆ้องวงหรือเจวาย ฆ้องใหญ่หรือมอง ฉิ่งหรือซี ฉาบหรือลินกวีน กังสดาลหรือเจซี ฉิ่งและฉาบพม่ามีลักษณะน่าสนใจและแปลกกว่าของไทย ฉิ่งมีขนาดประมาณ 5 – 14 นิ้ว พม่าจัดเป็นประเทศที่มีชื่อเสียงในเรื่องเครื่องดนตรีประเภทโลหะโดยเฉพาะฆ้องโหม่ง ซึ่งมีคุณภาพเสียงที่ดีมากกว่าฆ้องของกลุ่มอื่นๆ ที่ทำใช้กันในภูมิภาคนี้ แม้แต่ฆ้องที่ใช้ตีประโคมงานพิธีสำคัญของไทยก็ยังเป็นฆ้องโหม่งที่นำเข้ามาจากพม่าตั้งแต่สมัยอดีต ในปัจจุบันฆ้องพม่ายังเป็นที่นิยมใช้ในภาคกลางและภาคเหนือของไทย โดยหาซื้อได้ง่ายตามด่านชายแดนทั่วไป มีแหล่งใหญ่อยู่ที่ด่านชายแดนอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย (นฤมล ธีรวัฒน์ และคณะ, 2551:207-208)
โจ
เครื่องดนตรีประเภทเครื่องสายของพม่านั้น เมื่อเทียบกับเครื่องดนตรีไทยแล้วถือว่ามีจำนวนไม่มาก เนื่องจากเครื่องสายที่ยังคงนิยมใช้กันในพม่า ปัจจุบันเหลือเพียงพิณซาวก้าว หรือพิณโค้งเท่านั้น นอกเหนือจากพิณแล้ว ในอดีตยังมีเครื่องดนตรีประเภทเครื่องสายอีกหลายชิ้นอาทิ ตะยอ เป็นเครื่องสีชนิดหนึ่ง วิธีเล่นคล้ายซอของไทย แต่มีรูปร่างคล้ายไวโอลินมีทั้งแบบ 2 สาย และ 3 สาย ฮอร์นตะยอ เป็นเครื่องดนตรีลูกผสมระหว่างไวโอลีนและแตรมี 4 สาย ภาษาไทยเรียกว่าไวโอลีนปากแตร มิจาว เป็นเครื่องดนตรีที่มีรูปร่างเป็นแบบจะเข้ เวลาเล่นต้องวางระนาบกับพื้น มี 3 สาย เครื่องดนตรีทั้งหมดนี้ล้วนแต่เป็นเครื่องดนตรีจากวัฒนธรรมมอญ ที่ปัจจุบันทั้งเครื่องดนตรีและผู้เล่นเหลืออยู่น้อยมาก ซึ่งส่วนใหญ่มีตามชุมชนรอบนอก เช่น รัฐมอญ รัฐฉาน เป็นต้น (นฤมล ธีรวัฒน์ และคณะ, 2551:209)
ตะเหย่
ตะเหย่หรือเครื่องดนตรีประเภทเครื่องหนัง อันได้แก่กลองชนิดต่างๆ พม่าเรียกว่าโบ่ง แหล่งการผลิตกลองที่สำคัญของพม่าอยู่ที่ตำบลมะเกว เมืองมีนละ ในอดีตที่นี่เคยเป็นชุมชนที่มีอาชีพเป็นช่างทำกลอง อาศัยอยู่ริมแม่น้ำซึ่งสะดวกต่อการเดินทางขนส่งกลองสู่ตลาด จนชาวพม่าเรียกแม่น้ำแห่งนี้ว่าแม่น้ำโอซี ซึ่งหมายถึงแม่น้ำกลอง ช่างทำกลองชาวพม่ามีความพิถีพิถันในการทำกลองเป็นอย่างมาก เพื่อได้มาซึ่งกลองที่มีคุณภาพ รูปทรงสวยงาม เสียงดีและคงทน โดยจะเลือกไม้ที่มีคุณภาพมาทำ เช่นไม้สะเดา ไม้ประดู่ ไม้จามจุรี ไม้ต่างๆ เหล่านี้ชาวพม่าถือว่าเป็นไม้มงคลของพม่า เมื่อนำมาทำกลองแล้วจะทำให้เกิดเสียงกลองที่เป็นมงคลแก่ผู้ตีและผู้ฟัง ส่วนหนังที่ใช้ในการขึงหน้ากลองนิยมใช้หนังวัวมากที่สุด นอกจากหนังวัวยังมีหนังกวาง และหนังแพะบ้าง กลองพม่ามีลักษณะพิเศษคือการทำ “ถ่วงกลอง” ที่ต้องทายางรักลงไปก่อนตรงบริเวณศูนย์กลางของหนังหน้ากลอง กว้างประมาณ 2 ใน 3 ส่วนของหน้ากลอง ด้วยเหตุผลคือ เพื่อรักษาหน้ากลองให้คงทนยาวนาน และยังช่วยให้กลองมีเสียงดีมีคุณภาพตามต้องการถ่วงกลองแบบโบราณของพม่า ทำจากข้าวสวยบดกับขี้เถ้าไม้มะขามบดบนไม้กระดานจนได้เนื้อเหนียวเกาะกันดี มีความฝาดน้อย และยังเก็บไว้ใช้ได้นาน 3 – 5 วัน เมื่อถ่วงกลองมีคุณภาพดีก็จะส่งผลให้เสียงกลองมีคุณภาพตามไปด้วย ส่วนถ่วงกลองที่นิยมใช้กันในเป็นส่วนผสมระหว่างแป้งชนิดหนึ่งที่นำมาผสมสีนวดกับน้ำและเก็บไว้ใช้ได้นานเป็นปีๆ ถ่วงกลองประเภทนี้มีขายทั่วไปตามท้องตลาดราคาประมาณก้อนละ 5 บาทหรือ 150 จั๊ต สูตรผสมของถ่วงกลองประเภทนี้ช่างชาวพม่าถือว่าเป็นสูตรลับจึงไม่มีการเปิดเผย ถ่วงกลองทั้ง 2 ชนิดนี้มีคุณสมบัติของความเค็มสูง ทำให้หน้ากลองชำรุดได้ง่าย (นฤมล ธีรวัฒน์ และคณะ, 2551:221)
อย่างไรก็ดีในปัจจุบันชาวตำบลมะเกว ได้หันเหชีวิตจากเดิมที่เป็นช่างทำกลองอย่างเดียวมาทำอาชีพอื่นๆ ที่มีรายได้ดีกว่า สบายกว่า เนื่องจากการทำกลองเป็นงานหนักและต้องใช้เวลานานกว่าที่กลองหนึ่งใบจะเสร็จสมบูรณ์ กลองพม่านั้นมีหลายชนิด แต่ละชนิดจะมีรูปร่าง เสียง และหน้าที่ใช้สอยที่แตกต่างกัน สำหรับกลองที่ส่งอิทธิพลมาถึงไทย และยังเป็นที่นิยมใช้เล่นในงานเทศกาลงานรื่นเริงอยู่ถึงปัจจุบันคือ กลองยาว อย่างเช่นรำกลองยาวและพม่ากลองยาว ซึ่งไทยเราได้หยิบยืมมาใช้จนกลายเป็นวัฒนธรรมของไทยโดยเฉพาะภาคกลางไปแล้ว กลองชนิดนี้ในภาษาพม่าเรียกว่า โอซี (นฤมล ธีรวัฒน์ และคณะ, 2551:212)
เหล่
คำว่า เหล่ ในภาษาพม่าหมายถึง ลม แต่ในที่นี้มีความหมายว่าเป็นเครื่องดนตรีที่ต้องใช้ลม หมายถึง เครื่องเป่า ซึ่งในพม่านั้นมีอยู่ 2 ชนิด คือ ขลุ่ยหรือปะลเว และปี่หรือแน เครื่องดนตรีทั้ง 2 ชนิดนี้มักใช้เล่นประสมวงกับวงดนตรีอื่นๆ กล่าวคือ ขลุ่ยพม่ามักจะใช้บรรเลงเดี่ยวควบคู่กันกับเครื่องดนตรีที่ใช้แสดงเดี่ยว เช่น พิณหรือระนาด ซึ่งพม่าเรียกว่า ปัตตะลา ใช้ขลุ่ยเป็นตัวประสานเพื่อให้เครื่องดนตรีที่บรรเลงเดี่ยวอยู่นั้นเด่นชัดขึ้น แต่ในขณะเดียวกันขลุ่ยจะทำหน้าที่เป็นนักร้องคลอเบาๆไปกับเครื่องเดี่ยว เพราะสำเนียงการเป่าขลุ่ยของพม่าจะเป็นการเป่าเลียนสำเนียงนักร้อง คล้ายการสีซอสามสายของไทย ส่วนปี่แนของพม่ามีอยู่ 2 ขนาดคือ แนเล็กที่เรียกว่า แนกะเล และแนใหญ่ ที่เรียกว่า แนจี ตัวแนทำมาจากไม้ประดู่หรือไม้ชิงชัน เหลากลึงจนได้รูปทรงคล้ายปี่มอญหรือปี่แนแบบทางภาคเหนือ มี 8 รู ตัวลำโพงของแนเล็กในอดีตมักจะทำมาจากไม้ยะมเหน่แล้วลงรักปิดทอง แต่ปัจจุบันนิยมใช้แผ่นโลหะทองเหลืองหรือทองแดงแบบแนใหญ่แทน ส่วนลิ้น กำพวดและส่วนอื่นๆ คล้ายกับปี่แนของภาคเหนือ ในการเล่นประสมวงปี่พาทย์พม่าจะต้องมีปี่แนเล็กและใหญ่เป่าควบคู่กันเสมอ เช่นเดียวกันกับปี่แนที่ใช้ในภาคเหนือที่ได้รับอิทธิพลโดยตรงจากพม่า สมัยที่พม่ายังปกครองล้านนาช่วงพุทธศตวรรษที่ 21 – 23 ซึ่งหลักฐานทางประวัติศาสตร์พบว่าก่อนหน้านี้ชาวล้านนาเรียกปี่แนว่า สรไน หรือ ปี่สรไน (นฤมล ธีรวัฒน์ และคณะ, 2551:212-213)
โค่ว
คำว่าโค่ว หมายถึง ตี เคาะ แต่มิได้หมายเฉพาะหมวดของเครื่องประกอบจังหวะเท่านั้น เนื่องจากหมวดนี้ชาวพม่ายังรวมระนาดหรือปัตตะลาอีกด้วย ในหมวดของเครื่องประกอบจังหวะพม่านั้นมีอยู่หลายชนิด คือ ฉาบเล็ก ฉาบใหญ่ ฆ้องโหม่ง กรับ เกราะ ฉิ่งเล็ก (ใช้ในวงเครื่องบรรเลงควบคู่กับกรับ) ฉิ่งใหญ่ ไม้เหิบ กลองแผง กลองใหญ่ (คล้ายกลองตะโพน) เครื่องประกอบจังหวะหรือเครื่องเคาะต่างๆ เหล่านี้ล้วนเป็นส่วนสำคัญในวงดนตรีและการแสดงฟ้อนรำของพม่า (นฤมล ธีรวัฒน์ และคณะ, 2551:213-214)
บรรณานุกรม
นฤมล ธีรวัฒน์ และคณะ. (2551). มองพม่าผ่านชเวดากอง. เชียงใหม่: สำนักพิมพ์ซิลค์เวอร์ม.
ประภาศรี ดำสอาด. (2542). หุ่นกระบอกพม่า. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์ บริษัท สหธรรมิก จำกัด.
ระวิน แพงจันทร์. (2547). คู่มือนักเดินทางฉบับพกพา เมียนมาร์. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์อทิตตา .