เมียนมา - อาหาร
อาหารเป็นการแสดงออกทางวัฒนธรรมประการหนึ่งของแต่ละประเทศ สะท้อนให้เห็นวิถีชีวิต ความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายทางโภชนาการที่ปรากฏออกมาเป็นเมนูต่างๆ อาหารยังสะท้อนให้เห็นถึงการส่งผ่านและรับอิทธิพลจากวัฒนธรรมภายนอกเข้ามาผสมผสานกับวัฒนธรรมภายใน เกิดการปะทะสังสรรค์ ถูกบันทึกและส่งทอดอย่างเป็นรูปธรรมผ่านอาหารแต่ละเมนูตลอดจนความนิยมในการบริโภคของประชาชนภายในประเทศ
ความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติของเมียนมาหรือพม่า ก่อให้เกิดวัตถุดิบนานาชนิดเพื่อประกอบอาหารทั้งคาวและหวาน ไม่ว่าจะเป็น เนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ และ เครื่องปรุงชนิดต่างๆ การที่พม่ามีอาณาเขตติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน อันประกอบไปด้วย จีน อินเดีย บังคลาเทศ ลาว และไทย ความนิยมในการใช้เครื่องเทศปรุงอาหารจึงได้รับอิทธิพลจากอินเดีย ในขณะที่ข้าวนับเป็นอาหารหลักของชาวพม่าเช่นเดียวกับไทย ส่วนการดื่มชานั้นเป็นวัฒนธรรมตะวันตกที่พม่ารับจากเจ้าอาณานิคมอังกฤษ
ความหลากหลายทางชาติพันธุ์ในพม่ามีมากถึง 135 กลุ่ม เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ขนาดใหญ่จำนวน 8 กลุ่ม ประกอบไปด้วย พม่า มอญ ฉาน กะเหรี่ยง คะฉิ่น ฉิ่น คะยา ยะไข่ ความนิยมในการบริโภคอาหารจึงมีความต่างกันไปตามกลุ่มชาติพันธุ์ เช่น ชาวมอญนิยมนำ ผักตามฤดูกาลและปลาในท้องถิ่นมาประกอบอาหารเป็น แกงส้ม และ แกงเลียง ส่วนในเทศกาลสงกรานต์ ถือเป็นช่วงขึ้นปีใหม่ ชาวมอญนิยมทำ ข้าวแช่ “เปิงด้าจก์” แปลว่า ข้าวน้ำ หรือ “เปิงซงกราน” ที่แปลว่า ข้าวสงกรานต์ เพื่อบูชาเทวดา ซึ่งถือเป็นพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ (นันทนา ปรมานุศิษฏ์, 2556:32)
ชาวไทใหญ่นิยมบริโภคผักเป็นจำนวนมาก ลักษณะเฉพาะในแต่ละมื้ออาหารคือ ผักมาก เนื้อสัตว์น้อย แต่ในบางโอกาสจะบริโภคเนื้อไก่ เนื้อหมู เนื้อวัว และ เนื้อควาย ส่วนเครื่องปรุงรสมักใช้ ถั่วเน่า เป็นหลัก และซีอิ๊ว อาหารยอดนิยมของชาวไทใหญ่มักเป็นอาหารจำพวกยำ ได้แก่ ยำขนมจีน ยำใบเมี่ยง ยำใบบัวบก เป็นต้น นอกจากนี้เมนูอาหารที่เป็นที่รู้จักของชาวไทใหญ่ยังมี อุ๊บไก่ ขนมจีน ข้าวแรมฟืน ถั่วพูอุ่น และ ข้าวซอยฉาน มีลักษณะคล้ายขนมจีนน้ำเงี้ยว
ข้าวเป็นอาหารหลักของทุกกลุ่มชาติพันธุ์ มีความสำคัญต่อวิถีความเชื่อในเรื่องความอุดมสมบูรณ์ นอกจากนี้ยังมีการนำข้าวมาแปรรูปเป็นอาหารชนิดต่างๆ ทั้งคาวและหวาน เพื่อให้เกิดความหลากหลายในการบริโภคและเป็นที่นิยมของชาวพม่า
ข้าว ของชาวพม่า
ข้าวเป็นอาหารหลักและเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำหรับชาวพม่า ข้าว ถูกผูกโยงเข้ากับความเชื่อเหนือธรรมชาติที่มอบความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ชุมชนและผู้คน ชาวพม่ามองว่า ข้าว คือ นัต เทพศักดิ์สิทธิ์ที่ต้องทำพิธีบูชาเมื่อเริ่มและเสร็จสิ้นจากการทำนา ข้าวยังถูกถวายเข้าวัดเพื่อทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาซึ่งเป็นที่เคารพบูชาและศูนย์รวมจิตใจของชาวพุทธ
นอกจากนี้ข้าวยังถูกนำมาแปรรูปเป็นเส้นก๋วยเตี๋ยว เส้นบะหมี่ เส้นขนมจีน ขนม และ สุรา ทั้งยังเป็นที่นิยมแก่ชาวพม่าและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ เส้นก๋วยเตี๋ยวของพม่ามีอยู่ 3 ลักษณะ คือ 1.นันจี - เส้นใหญ่ 2.นันปยา – เส้นแบน 3.นันเต – เส้นหมี่ เส้นบะหมี่เรียกว่า เข้าซแว เส้นขนมจีน เรียกว่า ม่งพะ อาหารยอดนิยมที่มีขนมจีนเป็นส่วนประกอบคือ ม่งฮีนกา มีลักษณะคล้ายขนมจีนน้ำยาของไทย แต่ไม่ใส่น้ำกะทิ ในน้ำแกงมีเนื้อสัตว์เป็นส่วนประกอบ ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหมู เนื้อไก่ ส่วนใหญ่นิยมเนื้อปลาน้ำจืด มีเครื่องเคียงเป็นผักทอด รับประทานเป็นทั้งอาหารหลักและอาหารว่าง เนื่องจากชาวพม่าเชื่อว่าเป็นอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ลดคลอเรสเตอรอล ชาวต่างชาติ (นฤมล ธีรวัฒน์ และคณะ, 2551:92)
ส่วนกับข้าวมักปรุงขึ้นจากเนื้อหมู เนื้อไก่ เนื้อวัว เนื้อแพะ เนื้อปลา และผักนานาชนิด ไม่ว่าจะเป็น ใบกระเจี๊ยบแดง ผักบุ้ง ผักกวางตุ้ง ผักชี ใบบัวบก กะหล่ำปลี ผักกาดหอม มะเขือเทศ แตงกวา แตงร้าน น้ำเต้า มะรุม ลูกเนียง หัวผักกาดขาว มันฝรั่ง หยวกกล้วย หน่อไม้ แครอท และถั่วหลากชนิด เครื่องปรุงอาหารที่ชาวพม่านิยมใช้ ประกอบไปด้วย เกลือ หอมแดง กระเทียม ขิง ขมิ้น น้ำมันถั่วลิสง น้ำมันงา หอมเจียว พริกผัดน้ำมัน ผงกะหรี่ กะปิ น้ำปลา ถั่วเน่า มะสะหล่า หรือ ผงฮินเลที่ใส่ในแกงฮังเล
น้ำพริกของชาวพม่าที่นักท่องเที่ยวมักเลือกซื้อเป็นของฝาก เรียกว่า Balachaung ทำจากกะปิผัดกับน้ำมันถั่วลิสง พริก มะขาม หอมเจียว กระเทียมเจียว และ กุ้งแห้ง มีรสชาติคล้ายน้ำพริกกุ้งเสียบของไทย รับประทานกับข้าวสวย ไข่เจียว และผักสด
อาหารยอดนิยมของชาวพม่าอีกอย่างหนึ่ง คือ หล่าเพ็ด (LAHPET) เป็นอาหารว่างคล้ายกับเมี่ยงคำของไทย ใช้ใบชะพลูห่อเป็นคำ มีใบชาหมักรับประทานกับเครื่องเคียง เช่น กระเทียมเจียว ถั่วชนิดต่างๆ งาคั่ว กุ้งแห้ง ขิง และ มะพร้าวคั่ว หล่าเพ็ดเป็นอาหารจานสำคัญที่ขาดไม่ได้ในโอกาสพิเศษและเทศกาลสำคัญต่างๆ
นอกจากอาหารคาวแล้ว ชาวพม่ายังนิยมรับประทานขนมที่แปรรูปจากข้าว เช่น
ม่งเซงปาว ทำจากข้าวสารโม่ละเอียด เป็นขนมที่ได้รับความนิยมในหมู่ชาวพม่า เคยเป็นขนมในระดับราชสำนัก ภายหลังแพร่กระจายสู่ประชาชน ปัจจุบันหาซื้อได้ทั่วไปตามท้องตลาด (นฤมล ธีรวัฒน์ และคณะ, 2551:93)
ม่งจ่าซิ ขนมเม็ดบัว ทำจากแป้งข้าวเหนียว นำมาปั้นเป็นลูกเล็กๆ นำไปต้มในน้ำเดือด จากนั้นนำมาคลุกมะพร้าวขูดโรยด้วยน้ำเชื่อม (นฤมล ธีรวัฒน์ และคณะ, 2551:93)
ม่งกลาแม คล้าย กะละแม ของไทย ขนมชนิดนี้ได้รับความนิยมในพม่าตอนใต้ (นฤมล ธีรวัฒน์ และคณะ, 2551:93)
เบงม่ง ขนมเค้กพม่า ทำจากข้าวเจ้าผสมน้ำตาล เกลือ และมะพร้าว โรยด้วย เมล็ดฝิ่น (นฤมล ธีรวัฒน์ และคณะ, 2551:93)
ฮาลวา ทำจากข้าวเหนียวโม่ผสมน้ำตาล กะทิ และเมล็ดฝิ่น จากนั้นนำไปนึ่ง มีลักษณะคล้ายขนมศิลาอ่อนขนมหวานทางภาคเหนือของไทย (นฤมล ธีรวัฒน์ และคณะ, 2551:93)
ชเวถมีน มีลักษณะคล้ายข้าวเหนียวแก้วของไทย ใช้ข้าวเหนียวกวนกับน้ำตาล และโรยหน้าด้วยมะพร้าวขูด (นฤมล ธีรวัฒน์ และคณะ, 2551:93)
นอกจากเส้นก๋วยเตี๋ยวและขนมแล้ว ชาวพม่ายังนิยมแปรรูปข้าวเป็นสุรา โดยนำข้าวไปหมักกับลูกแป้งหัวเชื้อ เมื่อคั้นน้ำออกมาจะกลายเป็นเหล้าพม่า เรียกว่า หล่อส่า ปัจจุบันยังเป็นที่นิยมกันในเขตชนบทเพื่อต้อนรับแขกแทนเหล้าและเบียร์ที่มีราคาแพง ในโอกาสงานเลี้ยงฉลองต่างๆ เช่น งานบุญ และ งานวัด
อาหารพม่าที่ได้รับอิทธิพลจากจีนและอินเดีย
อาหารจีนและอินเดียเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในพม่า ไม่ว่าเมืองเล็กหรือใหญ่จะมีร้านอาหารจีนและอินเดียเปิดให้บริการ อาหารพม่าที่ได้รับอิทธิพลจากจีน ได้แก่ โจ๊ก ข้าวผัด หมี่ผัด และ อิ่วจาก๊วย เป็นต้น ส่วนการใช้เครื่องเทศประกอบอาหารของพม่า เป็นอิทธิพลทางวัฒนธรรมที่ได้รับจากอินเดีย เครื่องเทศที่นิยมใช้ มักประกอบไปด้วย ผงกะหรี่ มะสะหล่า น้ำมันเนย น้ำมันถั่วลิสง เป็นต้น เมนูอาหารยอดนิยมได้แก่ ข้าวหมกไก่ ข้าวหมกแพะ ซาโมซา แกงต่างๆรับประทานคู่กับ โรตี จาปาตี และนาน
ในขณะที่อาหารคาวมีชื่อเสียงและเป็นที่นิยม พม่ายังมีผลไม้หลากชนิด ไม่ว่าจะเป็น สตรอเบอรี่ ในเขต Pyin U Lwin เมืองมัณฑะเลย์ และเมืองย่างกุ้ง อะโวคาโด จากทะเลสาบอินเล สับปะรดจากเมืองบาโก มะละกอ จากเมือง Hsipaw แตงโมลูกใหญ่จากเมืองพะโค กล้วย มะพร้าว ทุเรียน ขนุน ส้ม เป็น (Steven, 2002:116)
นอกจากนี้พม่ายังได้รับอิทธิพลการดื่มชาจากอังกฤษ ชาวพม่านิยมพบปะ พูดคุยกันในร้านน้ำชา จึงเห็นได้ว่ามีร้านน้ำชาอยู่ทั่วไป ซึ่งเป็นร้านที่ไม่หรูหราเป็นเพียงเพิงใต้ร่มไม้ ชาวพม่านิยมดื่มชาร้อนทั้งใส่และไม่ใส่นม คู่กับซาโมซา และ อิ่วจาก๊วย (นันทนา ปรมานุศิษฏ์.2556:34)
บรรณานุกรม
M. J. Steven. (2002). Myanmar (Burma). Australia: Lonely Planet Publications Pty Ltd.
Mic,L.,Michael,C.,and Joe,.C. Steven M. (2002). Myanmar (Burma). Australia: Lonely Planet Publications Pty Ltd.
นฤมล ธีรวัฒน์ และคณะ. (2551). มองพม่าผ่านชเวดากอง. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์โอ.เอส.พริ้นติ้งเฮ้าส์.
นันทนา ปรมานุศิษฏ์. (2556). โอชาอาเซียน. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์มติชน.
วิรัช นิยมธรรม และ อรนุช นิยมธรรม. (2551). เรียนรู้สังคมและวัฒนธรรมพม่า. พิษณุโลก: โรงพิมพ์ตระกูลไทย.