เมียนมา - บรรณนิทัศน์
ประวัติศาสตร์พม่า (A History of Burma)
ผู้แต่ง : หม่อง ทิน อ่อง (Muang Htin Aung)
ผู้แปล : เพ็ชรี สุมิตร
จัดพิมพ์ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์
เนื้อหา : หนังสือเล่มนี้มีจุดเด่นอยู่ที่การเขียนประวัติศาสตร์โดยนักวิชาการชาวพม่าเอง เริ่มต้นตั้งแต่พม่ายุคโบราณ การสร้างอาณาจักรต่างๆ การปฏิสัมพันธ์ทางการเมืองของอาณาจักรเหล่านี้โดยเฉพาะระหว่างพม่า มอญ ยะไข่ กะเหรี่ยง ไทยใหญ่และชนกลุ่มน้อยต่างๆ จนถึงช่วงตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ และจบลงที่การได้รับเอกราชหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นอกจากนี้ในส่วนท้ายที่เป็นปัจฉิมลิขิตที่มีบทสัมภาษณ์ผู้เขียนก็ทำให้ได้ข้อมูลที่เป็นสภาพการณ์และปัญหาของพม่าจนถึงช่วงทศวรรษ 2500 สมัยนายพลเนวิน
รัฐในพม่า (The State in Burma)
ผู้แต่ง : โรเบิร์ท เอช เทย์เลอร์ (Robert H. Taylor)
ผู้แปล : พรรณงาน เง่าธรรมสาร สดใส ขันติวรพงศ์ และ ศศิธร รัชนี ณ อยุธยา
จัดพิมพ์ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์
เนื้อหา : งานศึกษาเพื่อที่จะเข้าใจถึงการพัฒนาด้านโครงสร้างและระบบการเมืองของพม่า โดยปูพื้นให้เห็นถึงโครงสร้างรัฐยุคก่อนตกเป็นอาณานิคม แล้วเน้นศึกษาพัฒนาการนับแต่ตกเป็นอาณานิคม ถือเป็นงานวิชาการที่สามารถให้คำตอบหากต้องการเข้าใจสังคมการเมืองพม่าในยุคที่เป็นเผด็จการทหาร อันเป็นผลมาจากช่วงศตวรรษที่ 19-20 โดยแสดงให้เห็นปัจจัยที่ทำให้เกิดอำนาจรัฐจากชนชั้นนำทางการเมืองที่เป็นชนชั้นกลาง พรรคการเมือง ชาวนา เยาวชนและนักศึกษา กองทัพ พรรคการคอมมิวนิสต์ฯ ที่ก่อเกิดการปรับเปลี่ยนและขยายบทบาทหน้าที่ของรัฐในทุกด้านไม่ว่าจะเป็น ดินแดน ระเบียบและกฎหมาย เศรษฐกิจการคลัง ความสัมพันธ์กับต่างประเทศ และความชอบธรรมของรัฐ
พม่ากับการต่อต้านจักรวรรดินิยมอังกฤษ ค.ศ.1885-1895
(Burma’s Struggle Against British Imperialism, 1885-1895 )
ผู้แต่ง : นิ นิ เมียนต์ (Ni Ni Myint)
ผู้แปล : ฉลอง สุนทรวาณิชย์
จัดพิมพ์ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์
เนื้อหา : งานเขียนเล่มแรกที่ให้รายละเอียดพร้อมหลักฐานเกี่ยวกับขบวนการต่อต้านของชาวพม่าต่อการยึดครองของอังกฤษในบริเวณพม่าตอนบน และยังเป็นงานชิ้นแรกที่กล่าวถึงสงครามกองโจรที่ดำรงอยู่อย่างยืดเยื้อในพม่าตอนล่าง เป็นหนังสือที่แสดงให้เห็นความกล้าหาญและประสบการณ์อันเจ็บปวดของชาวพม่าที่ต่อสู้เพื่อเอกราชของตนเอง
ความสัมพันธ์ระหว่าง ไทย – พม่า – กะเหรี่ยง (Thai – Burmese - Karen Relations)
ผู้แต่ง : สมโชค สวัสดิรักษ์
จัดพิมพ์ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์
เนื้อหา : ผู้เขียนได้ศึกษาถึงปัญหาชนชาติกะเหรี่ยง หรือกองทัพแห่งชาติกะเหรียง (KNU) ภายใต้การนำของพลเอกโบเมี๊ยะ ซึ่งเป็นปัญหาชนกลุ่มน้อยที่รัฐบาลสหภาพพม่า (ในอดีต) พยายามที่จะปราบปรามตลอดเวลานับตั้งแต่ได้รับเอกราชเมื่อปี 1948 เป็นต้นมา ในช่วงเวลาดังกล่าวรัฐบาลพม่าภายใต้การนำของพลเอกซอหม่องถึงสมัยพลเอกตานฉ่วย ก็พยายามปราบปรามและกวาดล้างฐานที่มั่นของทหารกะเหรี่ยงซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำเมยติดกับชายแดนประเทศไทย แต่รัฐบาลทหารพม่าในตอนนั้นไม่สามารถทำได้สำเร็จ เพราะรัฐบาลไทยดำเนินนโยบาย “รัฐกันกระทบ” ที่มุ่งเน้นความมั่นคงด้านการป้องกันชายแดนด้านตะวันตก รวมถึงผลประโยชน์ทางการค้าชายแดน ดังนั้นปัญหาชนกลุ่มน้อยจึงเป็นตัวแปรสำคัญในความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับพม่ามาตั้งแต่อดีต
พม่า : นโยบายต่างประเทศสมัยพลเอกชาติชาย ชุณหะวัน
(Burmese : Thai Foreign Pokicy under the Chatichai Choonhavan’s Government)
ผู้แต่ง : เวณิกา บุญมาคลี่
จัดพิมพ์ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์
เนื้อหา : หนังสือเล่มนี้นำเสนอให้เห็นว่านโยบายต่างประเทศของไทยในสมัยพลเอกชาติชายที่มีต่อรัฐบาลทหารพม่า (SLORC) นั้น มุ่งเน้นเป็นมิตรเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจการค้า โดยเฉพาะการค้าไม้ นอกจากนั้นยังเพื่อผลประโยชน์ในการแก้ปัญหาความขัดแย้งตามแนวชายแดนของทั้งสองประเทศ และเพื่อเปิดโอกาสให้ไทยสามารถโน้มน้าวให้รัฐบาลทหารพม่ายุติพฤติกรรมการละเมิดสิทธิมนุษยชนอีกด้วย นอกจากนี้ผู้เขียนยังตั้งข้อสังเกตว่า นโยบายการค้ากับรัฐบาลทหารพม่าเป็นไปเพื่อผลประโยชน์เฉพาะกลุ่ม เช่น นักการเมือง นักการทหาร และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มทั้งสองนี้
พม่า : ประวัติศาสตร์และการเมือง (Burma : History and Politics)
ผู้แต่ง : ชาญวิทย์ เกษตรศิริ
จัดพิมพ์ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์
เนื้อหา : งานวิชาการที่ให้ภาพรวมของพม่าตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เริ่มต้นตั้งแต่สมัยราชวงศ์พุกาม ราชวงศ์ตองอู และราชวงศ์คองบอง มาจนถึงสมัยตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ สมัยเอกราช สมัยต่อต้านเผด็จการรัฐบาลทหาร จนถึงยุคเหตุการณ์ วันที่ 8 เดือน 8 ปีค.ศ.1988 (เหตุการณ์ “8888”) ซึ่งสะท้อนความไม่แน่นอนและเปลี่ยนผันอยู่ตลอดเวลาในประวัติศาสตร์และการเมืองของพม่า
ชนกลุ่มน้อยกับรัฐบาลพม่า (The Burmese Government and the Ethnic Minority Groups)
ผู้แต่ง : พรพิมล ตรีโชติ
จัดพิมพ์ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์
เนื้อหา : ผู้เขียนศึกษาปัญหาความขัดแย้งแตกแยกและสงครามระหว่างกลุ่มเชื้อชาติต่างๆ กับรัฐบาลทหารพม่า ซึ่งมีความชัดเจนขึ้นและรุนแรงนับแต่พม่าได้รับเอกราชจากอังกฤษเมื่อปี 1948 จวบจนถึงปัจจุบัน จะเห็นว่าสาเหตุสำคัญของปัญหาดังกล่าวอยู่ที่รัฐบาลทหารของพม่าไม่ยอมรับหลักการปกครองตนเองและการมีส่วนร่วมทางการเมืองของชนชาติต่างๆ ตลอดทั้งความเท่าเทียมในหลากด้านของกลุ่มชนที่มีกว่า 20 กลุ่ม ซึ่งรวมเป็นประชากรเกือบครึ่งหนึ่งของประเทศ หนังสือเล่มนี้จึงเป็นฐานข้อมูลที่ชี้ให้เห็นถึงรากเหง้าของปัญหาชนกลุ่มน้อยในพม่า โดยเน้นศึกษาชนกลุ่มน้อยที่อาศัยอยู่ชายแดนพม่า-ไทย และใช้การศึกษาพิจารณาจากทั้งสองด้านเพื่อวิเคราะห์ถึงสาเหตุที่ไม่สามารถสร้างกระบวนการผสมผสานกลมกลืนและการอยู่ร่วมกันโดยสันติของกลุ่มชนชาติพันธ์ต่างๆ
บันทึกทูตเมียนม่าร์ : จากลุ่มอิรวดีสู่เจ้าพระยา (From Ayeyawaddy to Chao Phraya)
ผู้แต่ง : Maung Swe Thet
ผู้แปล : ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์
จัดพิมพ์ : สำนักพิมพ์มติชน,
เนื้อหา : เป็นหนังสือบันทึกเรื่องราวจากปลายปากกาของ "ฯพณฯ อู นยุ่น ส่วย" อดีตเอกอัครราชทูตเมียนมาร์ประจำประเทศไทยช่วงปี 2529-2535 (โดยใช้นามปากกา Muang Swe Thet) อาจเรียกได้ว่านี่คือ "ไดอารี่" ส่วนตัวของผู้แต่งที่อัดแน่นไปด้วยรายละเอียดจากความทรงจำระหว่างดำรงตำแหน่งในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อกระชับความสัมพันธ์ทวิภาคีกับไทย การออกงานและการสมาคมแบบนักการทูต หรือแม้กระทั่งภาระหน้าที่ในการประสานรอยร้าว และแก้ไขความเข้าใจที่ผิดระหว่างกัน ทำให้หนังสือเล่มนี้มีความสำคัญเสมือนเป็นบันทึกสายสัมพันธ์ระหว่างไทย-เมียนมาร์ นอกจากนี้หนังสือยังเล่ารายละเอียดถึงเบื้องลึกและเบื้องหลังของเหตุการณ์ เช่น วิกฤตการณ์ 8888 ในเมียนมาร์ หรือเหตุจี้เครื่องบินเมียนมาร์ เป็นต้น สำหรับหนังสือเล่มนี้ยิ่งอ่านยิ่งรู้จักเมียนมาร์ในมุมที่ไม่ยังเคยรู้ และยังทำให้คนไทยสามารถเข้าใจมุมมองของคนเมียนมาร์ต่อประเทศไทยอีกด้วย
บุเรงนอง (กะยอดินนรธา) กษัตริย์พม่าในโลกทัศน์ไทย
ผู้แต่ง : ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์
จัดพิมพ์ : สำนักพิมพ์มติชน, 2005
เนื้อหา : หนังสือเล่มนี้วิเคราะห์เรื่องของบุเรงนองออกเป็น 3 มิติ มิติแรกเป็นเรื่องการรับรู้ในโลกทัศน์ของคนร่วมยุคสมัยระหว่างไทยและมอญและพม่าในพุทธศตวรรษที่ 21-22 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่บุเรงนองมีตัวตนอยู่ มิติที่สอง เป็นเรื่องของความรู้สึกนึกคิดของคนไทยแต่พุทธศตวรรษที่ 24 หรืออีกนัยหนึ่งตั้งแต่สมัยการปฏิรูปประเทศให้ทันสมัย โดยเฉพาะเมื่อมีประวัติศาสตร์นิพนธ์เรื่อง ไทยรบพม่า ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพขึ้นมา และมิติที่สามคือ เรื่องของการรับรู้ของคนไทยในปัจจุบันที่ไม่เน้นเรื่องประวัติศาสตร์ หากเป็นเรื่องของนิยายและบุคคลในนิยายเป็นสำคัญ
พงศาวดารเรื่อง ไทยรบพม่า
ผู้แต่ง : สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
จัดพิมพ์ : สำนักพิมพ์มติชน, 2555
เนื้อหา : เป็นวรรณกรรมที่บอกเล่าเหตุการณ์สงครามระหว่างไทยกับพม่าซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยอยุธยาเรื่อยมาจนกระทั้งถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ซึ่งสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงประมวลเรื่องราวจากพงศาวดารหลายฉบับ แล้วนำมาเรียงร้อยขึ้นใหม่ พร้อมสอดแทรกความคิดเห็นประกอบให้เนื้อเรื่องมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ผู้ประพันธ์รังสรรค์ขึ้นเพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อผู้ที่ต้องการทราบถึงประวัติศาสตร์ในสมรภูมิรบระหว่างไทยและพม่า อธิบายเหตุการณ์ไทยรบกับพม่าครั้งกรุงศรีอยุธยา สาเหตุของการรบกับพม่าครั้งแผ่นดินพระเจ้ากรุงธนบุรี และได้อธิบายเรื่องไทยรบกับพม่าในครั้งกรุงรัตนโกสินทร์
พม่าเสียเมือง
ผู้แต่ง : ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช
จัดพิมพ์ : สำนักพิมพ์ดอกหญ้า 2000, 2552
เนื้อหา : หนังสือที่จะทำให้คุณผู้อ่านทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเมืองพม่าตอนเสียเมืองให้แก่ฝรั่ง โดยได้เรียบเรียงมาจากบันทึกของชาวอังกฤษที่ได้รู้เห็นเหตุการณ์ในสมัยนั้นหลายเล่ม ทั้งรายละเอียดเกี่ยวกับขนมธรรมเนียม ประเพณี และราชการในกรุงอังวะ ถ่ายทอดด้วยสำนวนภาษาอ่านง่าย ชวนติดตามตลอดเล่ม
พม่ารบไทย : ว่าด้วยการสงครามระหว่างไทยกับพม่า
ผู้แต่ง : สุเนตร ชุตินธรานนท์
จัดพิมพ์ : สำนักพิมพ์มติชน
เนื้อหา : หนังสือเล่มนี้น่าจะเป็นงานเขียนทางวิชาการประวัติศาสตร์เล่มแรกๆ ในวงการการศึกษาประวัติศาสตร์ของไทยที่มุ่งศึกษาและตีแผ่เรื่องราวในสงครามระหว่างกรุงศรีอยุธยา-กรุงรัตนโกสินทร์ กับกรุงหงสาวดี-กรุงอังวะตามที่ปรากฏใน “พงศาวดารของฝั่งพม่า” ซึ่งมีเนื้อความแตกต่างจากหลักฐานและการรับรู้ของของฝ่ายไทยในหลายส่วน อีกทั้งหนังสือเล่มนี้ยังได้ “ตรวจสอบ” ความเชื่อหรือความรับรู้ที่เราเคยมีมาเกี่ยวกับเรื่องสงครามระหว่างไทยกับพม่าอีกหลายประการ เสนอในที่นี้ มุ่งศึกษาและตีแผ่เรื่องราวในสงครามที่ไทยมีกับพม่าตามที่มีปรากฏในพงศาวดารพม่าฉบับต่างๆ ซึ่งมีสาระและมุมมองที่หาอ่านไม่ได้ในเอกสารไทย
พม่ารบอังกฤษ ก่อนสิ้นแผ่นดินและราชบัลลังก์พม่า
ผู้แต่ง : สถาปัตย์ สหเทวกาล
จัดพิมพ์ : สำนักพิมพ์เจ้าพระยา
เนื้อหา : หนังสือเล่มนี้บอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ของพม่าในช่วงยุคลาอาณานิคมสมัยศตวรรษที่ 17-18 สงครามการทำศึกระหว่างราชวงศ์ในขณะนั้นและอังกฤษ รวมไปถึงสงครามภายในที่เกิดขึ้นและส่งผลไม่แพ้ศึกภายนอก โดยเฉพาะในช่วงยุคที่ประเทศอังกฤษได้แผ่อิทธิพลเข้ามายังประเทศฝั่งเอเชีย ซึ่งในช่วงเวลานั้น พม่ามีเหตุกระทบกระทั่งกับอังกฤษจนทำให้ต้องเสียดินแดนและตกอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษในที่สุด ภายในหนังสือเล่มนี้จะบอกเล่าประวัติศาสตร์ตั้งแต่ครั้งก่อนเสียยะไข่ให้อังกฤษ การบริหารจัดการภายในเมืองยะไข่ การเข้ามาของทูตอังกฤษ ปัญหาราชบัลลังก์ในเมืองอัสสัม จนกระทั่งเกิดการรบกับอังกฤษขึ้น
เมื่อยุโรปรุกคืบเข้าสู่พม่า จนถึง...พม่าสูญเอกราช
ผู้แต่ง : Bo Aye Maung
ผู้แปล : Myint Thandar Thein
จัดพิมพ์ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2556
เนื้อหา : เป็นผลงานแปลและเรียบเรียงจากหนังสือของ "Bo Aye Maung (โบ เอ หม่อง)" อันเป็นเอกสารค่อนข้างเก่าแก่และไม่แจ้งปีที่พิมพ์ เนื้อหาสำคัญนั้นนอกจากจะให้ความรู้เกี่ยวกับการติดต่อค้าขายระหว่างพม่ากับยุโรป ซึ่งค่อยๆ คืบคลานเป็นการรุกรานและยึดครองในที่สุด ยังมีจุดเด่นที่รายละเอียดซึ่งอ้างถึงตัวบุคคลไว้เกือบทุก้าวย่างของการติดต่อซึ่งกันและกัน รายละเอียดภายในหนังสือประกอบด้วย การรู้จักพม่าของโลกตะวันตก จุดเริ่มต้นอาณานิคม ชนวนแห่งสงคราม ประเด็นในราชวงศ์พม่า การตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ จนมาถึงการได้รับเอกราชอีกครั้ง
ต้นทางจากมะละแหม่ง
ผู้แต่ง : องค์ บรรจุน
จัดพิมพ์ : แพรว
เนื้อหา : เรื่องราวการเดินทางไปในเมืองมอญในประเทศพม่า เพื่อกลับไปสืบหาบ้านเกิดของบรรพบุรุษของตน โดยผู้เขียนปลอมตัวเป็นคนมอญ เนื้อหานำเสนอความเหมือนและความแตกต่างของประเพณี ความเชื่อของคนมอญในประเทศไทยและมอญดั้งเดิมซึ่งปัจจุบันยังอยู่ในประเทศพม่า นอกจากได้เรียนรู้เรื่องประเพณีแล้วยังได้อ่านประสบการณ์น่าตื่นเต้นของผู้เขียนที่ต้องปลอมตัวเป็นคนมอญเพื่อเข้าไปเก็บข้อมูล และหนังสือเล่มนี้ยังได้รับรางวัล "นายอินทร์อวอร์ด" อีกด้วย
ไร้แผ่นดิน : เส้นทางจากพม่าสู่ไทย (A Journey of Ethnic Minority)
ผู้แต่ง : พรมิมล ตรีโชติ
จัดพิมพ์ : ศูนย์หนังสือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2005
เนื้อหา : นำเสนองานวิจัยที่สำคัญเรื่อง “ไร้แผ่นดิน : เส้นทางจากพม่าสู่ไทย” ซึ่งเป็นงานวิจัยที่สอดคล้องกับสภาวการณ์ของรัฐบาลไทยในช่วงนั้น ที่มีความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาอันสัมพันธ์กับผู้พลัดถิ่นจากพม่าในประเทศไทย ให้เนื้อหามีตั้งแต่ความเป็นมา ปฏิสัมพันธ์ไทย-พม่าในบริบทของผู้พลัดถิ่นจากพม่า นโยบายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงความเป็นไปได้ของนโยบายส่งกลับผู้หนีภัยจาการสู้รบ พร้อมทั้งบทสรุปและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับคนพลัดถิ่นชาวพม่าในประเทศไทย
ไทรบพม่า
ผู้แต่ง : นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว และ นวลแก้ว บูรพวัฒน์
จัดพิมพ์ : Openbooks
เนื้อหา : หนังสือเล่มนี้เน้นเนื้อหาที่ทำให้เห็นถึงสภาพของกองกำลังกู้ชาติไทใหญ่ในในขณะนั้นว่าเป็นอย่างไร เป้าหมายในการกู้ชาติไทใหญ่คืออะไร และมีสิ่งใดที่ยังคงแสดงให้เห็นถึงความเป็นชาติไทใหญ่หลงเหลืออยู่บ้าง อย่างการจัดพิมพ์ตำราสอนภาษาไทใหญ่ เพื่อสืบสานภาษาของชาติให้ดำรงไว้ นอกนั้นยังมีเรื่องเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่น่าสนใจเกี่ยวกับคนไทใหญ่ที่น่าสนใจ
ทิวทัศน์ต้องห้ามในรัฐฉาน (Forbidden Glimpses of Shan State)
ผู้แต่ง : อิงเกอ ซาเจ้น
จัดพิมพ์ : เครือข่ายปฏิบัติงานสตรีไทใหญ่, 2552
เนื้อหา : สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของชาวไทใหญ่อย่างพระราชวังของเจ้าฟ้าตามเมืองต่างๆ กำลังถูกรัฐบาลทหารพม่าลดทอนความสำคัญและรื้อทำลาย ในขณะเดียวกันรัฐบาลพม่ากลับสร้างอนุสรณ์สถานใหม่ๆ ขึ้นมาเพื่อแสดงอำนาจของตัวเอง เช่น การสร้างเจดีย์ชเวดากองจำลองทั่วรัฐฉาน เป็นต้น นอกจากนี้ พื้นที่ซึ่งอยู่ภายใต้โครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐบาล และเรือนจำยังเป็นสถานที่ต้องห้ามสำหรับประชาชนทั่วไป หนังสือเล่มนี้แนะนำสถานที่ต่างๆ ในรัฐฉานที่รัฐบาลพม่าพยายามทำให้เลือนหายไปเรื่อยๆ นอกจากนี้ ภายในหนังสือยังมีภาพประกอบของเจ้าสี่ป้ออีกด้วย
แผ่นดินฉานในม่านหมอก
ผู้แต่ง : เจ้ายอดศึก นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว และ นวลแก้ว บูรพวัฒน์
จัดพิมพ์ : Openbooks, 2552
เนื้อหา : เป็นหนังสือรวมบทความและงานเขียนเกี่ยวกับไทใหญ่ที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์รายวัน รายสัปดาห์ และนิตยสารอีกหลายเล่ม จำนวน ๒๑ บทความ ไม่นับรวมภาคผนวกที่ว่าด้วยการวิจารณ์หนังสือที่เกี่ยวข้องกับชนกลุ่มน้อยนี้อีก ๓ เล่ม ภายในหนังสือจะให้ภาพชีวิตของชาวไทใหญ่ที่ถูกนำเสนอถึงมิติความเป็นคนเท่าเทียมกับคนอื่นๆ ทั่วโลก ซึ่งสะท้อนให้เห็นวิถีชีวิต วัฒนธรรม แบะความเชื่อต่างๆ แต่ละหน้าที่อ่านไปจะทำให้ซึมซับเจตนารมณ์การกู้ชาติเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ และสิ่งที่น่าสนใจคือ การนำเสนอประเด็นร้อนที่เกิดขึ้นในประเทศพม่าที่เกี่ยวข้องกับชาวไทใหญ่โดยตรง และอาจส่งผลกระทบต่อประเทศไทยและชาวโลก อาทิ การร่างรัฐธรรมนูญพม่า อุโมงค์ลับในพม่า เป็นต้น
ปลายขอบฟ้าฉาน
ผู้แต่ง : เจ้ายอดศึก นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว และ นวลแก้ว บูรพวัฒน์
จัดพิมพ์ : ศยาม, 2555
เนื้อหา : ในหนังสือเล่มนี้รวบรวมบทความที่คุณนิพัทธ์พร เพ็งแก้ว คุณนวลแก้ว บูรพวัฒน์ เขียนไว้ และมีบทความที่พลโทเจ้ายอดศึกเขียนร่วมด้วย ช่วงแรกๆ ที่อ่านเป็นการลำดับเหตุการณ์ประวัติศาสตร์รัฐฉานตั้งแต่ 1939 – ปัจจุบัน ซึ่งล่าสุดคือการบรรลุข้อตกลงหยุดยิงเบื้องต้นกับรัฐบาลพม่า เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2011 โดยหนังสือได้เล่าถึงการต่อสู้ของชาวไทใหญ่ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าการต่อสู้เพื่อความอยู่รอดต้องทำทั้งด้านวัฒนธรรมเพื่อรักษาอัตลักษณ์ควบคู่ไปกับการต่อสู้ทางการเมืองเพื่อเรียกร้องสิทธิในการปกครองตนเอง ทั้งยังตอกย้ำให้เราเห็นอีกว่า การต่อสู้ของบรรดาชาติพันธุ์ต่างๆ ที่เป็นกลุ่มชนส่วนน้อยจะประสบผลตามความมุ่งหมายหรือไม่ มิได้อยู่ที่ประสิทธิภาพของพลังการต่อสู้ของชาติพันธุ์ต่างๆ เท่านั้น หากแต่อยู่ที่พัฒนาการของการเมืองระหว่างประเทศ ตลอดจนผลประโยชน์และท่าทีของกลุ่มประเทศมหาอำนาจทั้งในและนอกภูมิภาคอีกด้วย
รัฐฉาน : พิชัยยุทธ์ทางการเมืองการทหาร
(Shan State : a strategic handbook on politics and military)
ผู้แต่ง : ดุลยภาค ปรีชารัชช
จัดพิมพ์ : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2558
เนื้อหา : หนังสือเล่มนี้ มาจากงานวิจัยของผู้แต่ง เนื้อหาหนังสือสร้างคำอธิบายทางวิชาการที่บอกว่ารัฐฉานเป็นรัฐเผ่าชน ความอยู่รอดขึ้นกับหัวหน้าเผ่า ทักษะการรบและเจรจาของหัวหน้าเผ่า แต่ขณะเดียวกันก็สามารถมองรัฐฉานในอีกมุมว่าเป็นรัฐขุนศึก ซึ่งทำให้อธิบายต่อไปได้ว่าทำไมรัฐฉานมีลักษณะไร้ระเบียบเปิดโอกาสให้รัฐพม่าเข้ามาแทรกแซงได้ ทั้งยังเน้นผลิตโมเดลเพื่ออธิบายโครงสร้างอำนาจของรัฐฉาน และยังพยายามจัดเครือข่ายความสัมพันธ์อำนาจในรัฐฉาน ซึ่งจะเห็นว่าบางกลุ่มมีความสัมพันธ์แนบแน่นขึ้นกับรัฐบาลพม่า เช่นพรรคการเมืองไทยใหญ่ ในทางการเมืองอาจจะมีการเจรจาต่อรอง แต่ในทางกองทัพก็มีการตระเตรียมสำหรับการสู้รบอยู่ตลอด
จดหมายจากรัฐฉาน แผ่นดิน 19 เจ้าฟ้า
ผู้แต่ง : พร ธิติพัฒนพงศ์
จัดพิมพ์ : ร.ศ.๒๒๙, 2553
เนื้อหา : หนังสือเล่มนี้รวมเล่มมาจากหนังสือพิมพ์สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ จากคอลัมน์ที่ผู้เขียนได้บอกเล่าเรื่องราวของรัฐฉาน จนทำให้เมืองปิดถูกเผยโฉมแก่ผู้อ่านอย่างกว้างขวาง โดยนำเสนอความเป็นมาของรัฐฉานก่อนที่จะถูกพม่าพยายามกลืนชาติ ไม่ว่าจะเป็นความพยายามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ แสดงให้เห็นว่าแม้นักรบไทใหญ่รุ่นแล้วรุ่นเล่าจะถูกไล่ล่าสังหารโดยรัฐบาลทหารพม่าจนบางช่วงลมหายใจแห่งการกู้ชาติจะรวยริน แต่ก็มีผู้นำกองกำลังอย่างเจ้ายอดศึก ที่พยายามสืบทอดเจตนารมณ์ของบรรพบุรุษตลอดมามิได้ขาด
รัฐฉาน : ประวัติศาสตร์และการปฏิวัติ (Shan State : History and Revolution)
ผู้แต่ง : อัคนี มูลเมฆ
จัดพิมพ์ : ศิลปวัฒนธรรม,
เนื้อหา : รวมเรื่องราวน่ารู้เกี่ยวกับประวัติที่สำคัญและการปฏิวัติอันยาวนานของ "รัฐฉาน" โดยเนื้อหาในเล่มจะทำให้ทราบถึงเบื้องหลังแห่งความยากลำบากในความพยายามต่อสู้เพื่อปฏิวัติปลดปล่อยดินแดนของชาวไทใหญ่ให้พ้นจากการยึดครองของศัตรูภายนอก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องขบวนการต่อสู้กับรัฐบาลพม่า ปัญหายาเสพติดและบทบาทในการค้าฝิ่นของรัฐบาลพม่าในรัฐฉาน โดยถ่ายทอดด้วยภาษาที่อ่านเข้าใจง่าย พร้อมภาพประกอบชัดเจน ซึ่งจะทำให้ผู้อ่านเข้าใจความเป็นไปของประเทศเพื่อนบ้านได้ดียิ่งขึ้น
พม่าผ่าเมือง
ผู้แต่ง : เกียรติชัย พงษ์พาณิชย์
จัดพิมพ์ : สำนักพิมพ์ประพันธ์สาน, 2553
เนื้อหา : หนังสือเล่มนี้เป็นความพยายามที่จะมองพม่าถึงวิวัฒนาการทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ที่ทำให้พม่าก้าวมาถึงจุดที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เป็นการมองภาพของพม่านับแต่ "นายพลเนวิน" ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งอำนาจสูงสุดของประเทศเมื่อครั้งที่เขาปฏิวัติล้มล้างรัฐบาลพลเรือนของ "อู นุ" ในวันที่ 2 มีนาคม 2505 จนตราบถึงวันที่เขาก้าวลงจากฐานะตำแหน่งดังกล่าว! การเมืองพม่าภายใต้อาญาเผด็จการทหารเป็นเช่นไร? ติดตามพร้อมกันได้แล้ว! สารบัญ ภาคแรก กลียุค-เผด็จการ ภาคหลัง ปฏิวัติ-ตระบัดสัตย์
เนปิดอว์ : ปราการเหล็กแห่งกองทัพพม่า
(Naypyidaw : the iron fortification of Myanmar Armed Forces)
ผู้แต่ง : ดุลยภาค ปรีชารัชช
จัดพิมพ์ : โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2555
เนื้อหา : เป็นผลงานดีเด่นชิ้นหนึ่งในแวดวงพม่าศึกษาของไทยในปัจจุบัน เนื่องจากเป็นงานวิจัยที่ศึกษาและค้นคว้าเกี่ยวกับนโยบายความมั่นคงของพม่าผ่านมุมมองของกองทัพและการสร้างเมืองใหม่ ตลอดจนการพัฒนาเมืองยุทธศาสตร์หลายเมือง ซึ่งได้เรียบเรียงไว้อย่างเป็นระบบและเต็มไปด้วยรายละเอียดที่น่าสนใจ และถือได้ว่าเป็นงานบุกเบิกชิ้นสำคัญที่สามารถเจาะลึกรายละเอียดซึ่งเป็นข้อมูลชุดใหม่เกี่ยวกับพม่าและยุทธศาสตร์ความมั่นคงของพม่าได้เป็นอย่างดี ประเด็นที่น่าสนใจสำหรับงานชิ้นนี้อยู่ที่การอธิบายลักษณะทางภูมิศาสตร์ บทบาทสำคัญของเมืองหลวงใหม่ "เนปิดอร์" อันสัมพันธ์กับนโยบายความมั่นคงของกองทัพพม่าได้อย่างละเอียด จนทำให้เข้าใจระบบความคิดของกองทัพพม่าเกี่ยวกับการป้องกันประเทศ นอกจากนี้หนังสือยังสร้างความตื่นตาตื่นใจในการให้รายละเอียดโครงข่ายเมืองใต้ดินและการวางขุมกำลังใต้ดินเพื่อการป้องกันประเทศ ตลอดจนการวางระบบเครือข่ายโทรคมนาคมเพื่อการข่าวทางทหาร ซึ่งถือเป็นเทคโนโลยีขั้นสูงที่หลายคนยังคงคิดไม่ถึงว่าพม่าจะไปได้ไกลถึงเพียงนี้
จับกระแส : ยุทธศาสตร์การเมืองพม่า
ผู้แต่ง : ดุลยภาค ปรีชารัชช
จัดพิมพ์ : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2554
เนื้อหา : หนังสือเล่มนี้ออกมาในช่วงจังหวะที่การเมืองของพม่าอยู่ในระยะเปลี่ยนผ่านพอดี หนังสือเล่มนี้กล่าวถึงการเมืองของพม่าในห้วงก่อนการเปลี่ยนผ่านของพม่า เนื้อหาแสดงถึงกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเเละพหุรัฐ กองทัพ ตลอดจนท่าทีเเละบทบาทของ จีน อินเดีย สหรัฐ เเละอาเซียนที่จะมีบทบาทต่อพม่ามากขึ้นเป็นลำดับ เนื้อหายังแจกแจงปัญหาพร้อมตีแผ่ข้อมูลเชิงลึกเพื่อให้สังคมไทยได้รู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงของรัฐเพื่อนบ้านทางตะวันตก ซึ่งเป็นรัฐที่มีความสำคัญต่อยุทธศาสตร์การเมืองโลก และเป็นรัฐที่เริ่มทรงพลังทางการเมืองและการทหาร รวมถึงเป็นรัฐที่ถูกควบคุมโดยคณะผู้ปกครองที่มีความเจนจัดช่ำชองทางการเมือง ช่วยให้ผู้อ่านเห็นพม่าทะลุหลังม่านหมอก ซึ่งอาจไม่ต่างไปจากที่พม่ามองตัวเองและมองโลกภายนอก ทั้งยังเผยภาพอำพรางด้วยมุมมองรัฐศาสตร์ที่ชวนติดตาม
ผ่าการเมืองพม่า : ความขัดแย้ง ความมั่นคง ในโลกที่ไร้พรมแดน
ผู้แต่ง : ดุลยภาค ปรีชารัชช
จัดพิมพ์ : โอเดียนสโตร์, 2551
เนื้อหา : หนังสือเรื่องนี้เป็นความพยายามของผู้เขียนในการรวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของพม่าในรอบสหัสวรรษใหม่เพื่อสร้างความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับธรรมชาติของรัฐพม่าการดำเนินยุทธศาสตร์ของรัฐบาลทหาร และการปรับตัวของพม่าบนเวทีการเมืองระหว่างประเทศ โดยเพิ่มเติมรายละเอียดตลอดจนสอดแทรกแผนที่ทางยุทธศาสตร์และคลังรูปภาพเป็นจำนวนมาก เพื่อให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่อัดแน่นไปด้วยข้อมูลที่ทันสมัยและสร้างความเพลิดเพลินให้กับผู้อ่านไปในเวลาเดียวกัน
โรฮิงญา...บนเส้นทางสุดขอบโลก
ผู้แต่ง : Sophie Ansel และคนอื่นๆ
ผู้แปล : พิภพ อุดมอิทธิพงศ์
จัดพิมพ์ : ศูนย์ภูมิภาคด้านสังคมศาสตร์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2556
เนื้อหา : หนังสือที่เน้นนำเสนอพร้อมภาพถ่ายที่สะท้อนเรื่องราวของชาวโรฮิงญาซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยในประเทศพม่า หรือรู้จักกันในนาม “ประชากรที่ไม่เป็นที่ต้องการ” ไม่ว่าจะเป็นที่ใดในโลก เรื่องราวของชีวิตที่ต้องอยู่อย่างผู้อาศัยในบ้านเกิดเมืองนอนของตน ต้องรอนแรมหลบหนีจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งโดยหวังว่าจะพบที่ที่พวกเขาได้รับการยอมรับ แต่ยิ่งหนี พวกเขาก็ยิ่งพบว่า ชีวิตมีแต่การหนี และหนีอย่างไม่มีที่สิ้นสุด หรืออาจจะต้องหนีไปจนสุดขอบโลก หนังสือค้นหาสาเหตุที่คนกลุ่มนี้ต้องดั้นด้นล่องเรือเสี่ยงภัยออกจากประเทศบ้านเกิด และเหตุใดที่ที่ให้โรฮิงญากลายเป็นกลุ่มชนที่ไม่เป็นที่ต้องการ
ศิลปะพม่า
ผู้แต่ง : ศักดิ์ชัย สายสิงห์
จัดพิมพ์ : ศิลปวัฒนธรรม, 2557
เนื้อหา : หนังสือเล่มนี้เป็นงานรวบรวมและเรียบเรียงข้อมูลขึ้นมาอย่างเป็นระบบในเรื่องของรูปแบบศิลปกรรมในดินแดนพม่าที่ถูกพัฒนาขึ้นในแต่ละยุคสมัย ตั้งแต่ยุคแรกเริ่มที่มีการรับวัฒนธรรมผ่านทางศาสนา โดยมีรายละเอียดทั้งศิลปะของชาวพม่า ชาวมอญ ชาวยะไข่ ซึ่งเป็นชนชาติหลักในการก่อกำเนิดมาเป็นศิลปะพม่าอันสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน รายละเอียดเนื้อหาประกอบด้วยความเป็นมาทางประวัติศาสตร์โดยย่อ ประวัติศาสตร์ศิลปะในแต่ละยุคสมัย แหล่งเรียนรู้ทางศิลปะที่สำคัญ และบทบาทของศิลปะพม่าที่มีความสัมพันธ์กับศิลปะในประเทศไทย
ศิลปะในประเทศพม่า
ผู้แต่ง : รศ.ม.ล.สุรสวัสดิ์ สุขสวัสดิ์
จัดพิมพ์ : สำนักพิมพ์สายธาร, 2554
เนื้อหา : เป็นหนังสือที่รวบรวมและอธิบายถึงลักษณะ ความเป็นมา และภาพถ่ายของศิลปะในประเทศพม่า มีรายละเอียดเนื้อหา อาทิเช่น ประวัติศาสตร์พม่าโดยสังเขป แหล่งวัฒนธรรมยุคแรกเริ่มในพม่า ศิลปะยะไข่ ศิลปะพม่าสมัยก่อนพุกาม ศิลปะพม่ายุคพุกาม ศิลปะพม่ายุคหลังพุกามและยุคอาณานิคม
ประวัติศาสตร์ศิลปะพม่า เล่ม 1
ผู้แต่ง : ภภพพล จันทร์วัฒนกุล
จัดพิมพ์ : สำนักพิมพ์เมืองโบราณ, 2553
เนื้อหา : ให้ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ และรายละเอียดทางศิลปะและสถาปัตยกรรมที่สำคัญของประเทศพม่า ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ถึงปัจจุบัน รวมทั้งคติความเชื่ออันเกี่ยวเนื่องกับงานศิลปะ อาทิ อคติเรื่องอดีตพระพุทธเจ้า พระอุปคุต สิงห์หน้าวัดพม่า เป็นต้น ผู้เขียนเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ศิลปะไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งจะช่วยเสริมให้ผู้อ่านได้รู้และเข้าใจที่มาที่ไปอันเกี่ยวข้องและเชื่อมโยงกันระหว่างศิลปะกับความเชื่อและสังคมของพม่าเป็นอย่างดี
60 วัด วัง และสถานที่สำคัญในพม่า
ผู้แต่ง : ภภพพล จันทร์วัฒนกุล
จัดพิมพ์ : สำนักพิมพ์เมืองโบราณ, 2553
เนื้อหา : แนะนำสถานที่น่าสนใจภายในเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศพม่า ได้แก่ ย่างกุ้ง หงสาวดี พุกาม มัณฑะเลย์ อังวะ และรัฐฉาน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นโบราณสถานที่สะท้อนถึงการสั่งสมทางศิลปะและวัฒนธรรมที่มีมายาวนานบนผืนแผ่นดินพม่า โดยเล่าถึงความเป็นมา แผนผังของของศาสนาที่ช่วยเสริมให้เห็นภาพรวมของศาสนสถานนั้นๆ เหมาะสำหรับผู้ต้องการศึกษาข้อมูลเพื่อเตรียมตัวเดินทางไปสัมผัสพม่า
เจดีย์ในศิลปะพม่า-มอญ : พัฒนาการทางด้านรูปแบบตั้งแต่ศิลปะศรีเกษตรถึงศิลปะมัณฑเล
ผู้แต่ง : ผศ.ดร.เซษฐ์ ติงสัญชลี
จัดพิมพ์ : สำนักพิมพ์เมืองโบราณ, 2555
เนื้อหา : ให้ความรู้เกี่ยวกับ "เจดีย์" ในประเทศพม่า โดย "ดร.เชษฐ์ ติงสัญชลี" อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่สนใจศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับศิลปะสถาปัตยกรรมของเจดีย์ในประเทศพม่ามากกว่า 10 ปี เนื้อหาในเล่มแบ่งออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ๆ คือ เจดีย์ทรงระฆัง และเจติยวิหาร ซึ่งทั้งสองกลุ่มได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะอินเดียและลังกา แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ทางสังคมและศิลปวัฒนธรรมระหว่างอินเดีย ลังกา และพม่า ซึ่งผู้เขียนได้วิเคราะห์ให้เข้าใจถึงลักษณะสำคัญและพัฒนาการของเจดีย์ในศิลปะพม่ายุคต่างๆ จากที่ระยะแรกได้รับอิทธิพลทางศิลปะจากดินแดนภายนอก มีพัฒนาการและการสร้างสรรค์จนกลายเป็นเจดีย์ที่มีรูปแบบเฉพาะของแต่ละยุค
พม่า : หน้าต่างสู่โลกกว้าง
ผู้แต่ง : ED. Tom Le Bas
จัดพิมพ์ : สำนักพิมพ์หน้าต่างสู่โลกกว้าง, 2557
เนื้อหา : หนังสือเล่มนี้ได้รวบรวมเนื้อหาสาระต่างๆ ไว้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ผู้คน ศิลปะ วัฒนธรรมและประเพณี รวมถึงแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจ พม่า มีแหล่งท่องเที่ยวอันโดดเด่น น่าหลงใหล เต็มไปด้วยโบราณสถานอันล้ำค่า น่าอัศจรรย์ไปจนถึงทัศนียภาพอันยืนหยัดท้าทายกาลเวลา รวมไปถึงเส้นทางเดินเท้าท่องชมธรรมชาติและการลงเรือล่องแม่น้ำด้วย มีภาพประกอบและเนื้อหาเหมาะสม เจาะลึกข้อมูลที่หลากหลายด้าน พร้อมข้อมูลสำคัญ ที่จะช่วยให้รู้จักและท่องเที่ยวพม่าได้สะดวกยิ่งขึ้น
เขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย
ผู้แต่ง : วริศรา ภานุวัฒน์
จัดพิมพ์ : แสงดาว, 2556
เนื้อหา : หนังสือที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ซึ่งกำลังจะกลายเป็นประตูเศรษฐกิจที่เชื่อมโลกตะวันตกและตะวันออก ทั้งเป็นแหล่งลงทุนใหม่ที่มีศักยภาพสูงของกลุ่มอาเซียน หนังสือเล่มนี้จะเจาะลึกความคิดของผู้บริหารประเทศไทยและพม่า พร้อมกับความคิดเห็นของผู้นำท้องถิ่นทั้งไทยและพม่า ที่เกี่ยวข้องกับโครงการทวาย ตลอดจนแสดงให้เห็นถึงการเตรียมตัวของประชาชนทั้งคนไทยและคนพม่า โดยเฉพาะคนที่อยู่ในพื้นที่ หรือเส้นทางที่โครงการนี้จะต้องใช้พื้นที่ รวมทั้งนำเสนอข้อมูลทั้งฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายต่อต้านโครงการ ให้ข้อเสนอแนะ และให้ภาพเกี่ยวกับประเทศไทยเมื่อโครงการเสร็จสิ้นแล้ว
เมืองพม่าน่าลงทุนที่สุด
ผู้แต่ง : วริศรา ภานุวัฒน์
จัดพิมพ์ : แสงดาว, 2557
เนื้อหา : ประเทศเมียนมาร์กำลังจะเปลี่ยนแปลงสู่ประชาธิปไตย ทางรัฐบาลจึงมีนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศสู่การพัฒนาให้เท่าเทียมชาติอื่นๆ โดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนกฎหมายการลงทุนจากต่างชาติให้เปิดกว้างขึ้น ล่อตาล่อใจนักลงทุนภายนอกประเทศให้เข้ามาร่วมลงทุน บวกกับทรัพยากรทางเศรษฐกิจที่มีอย่างล้นเหลือ ผู้ที่เข้าไปทำธุรกิจต้องศึกษาและเตรียมตัวก่อนเข้าไปลงทุน หนังสือเล่มนี้แนะนำช่องทางธุรกิจ และข้อมูลรอบด้านสำหรับการลงทุนในประเทศเมียนมาร์ ไม่ว่าจะเป็น เมืองน่าลงทุน อุตสาหกรรมเด่น ธุรกิจที่รัฐบาลส่งเสริม แนวทางการติดต่อธุรกิจกับชาวเมียนมาร์ กฎหมายการลงทุน ซึ่งผู้ประกอบการธุรกิจขนาดใหญ่และ SMEs ไม่ควรมองข้ามหากอยากลงทุนในเมียนมาร์
ลงทุนในพม่าต้องระวัง
ผู้แต่ง : บุญชัย ใจเย็น
จัดพิมพ์ : แสงดาว, 2557
เนื้อหา : ในอดีตเมียนมาร์ได้ขาดการติดต่อกับประเทศอื่นๆ เป็นระยะนานพอสมควร ปัจจุบันการเปลี่ยนท่าทีของรัฐบาลซึ่งส่งผลให้เมียนมาร์เป็นประเทศเนื้อหอมทันที ชาติสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) ได้ยกเลิกการคว่ำบาตรทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ รัฐบาลเมียนมาร์ได้หวังจะพัฒนาเศรษฐกิจให้ทัดเทียมกับชาติอื่นๆ ซึ่งเป็นเหตุจูงใจบรรดานักลงทุนจากต่างชาติให้เข้ามาร่วมลงทุน หลายชาติเล็งเห็นว่า พม่าคือขุมทรัพย์อันล้ำค่า ในแง่ธุรกิจนักลงทุนเริ่มต้นก่อนย่อมได้เปรียบ แม้จะมีหลายปัจจัยที่ทำให้เมียนมาร์เป็นสวรรค์การลงทุนแห่งใหม่ แต่นั่นอาจทำให้มองข้ามปัจจัยเสี่ยงอีกหลายประการที่เราคาดไม่ถึงหากต้องการลงทุน ต้องทำอย่างรอบคอบ มองให้รอบด้าน ผลได้ผลเสีย คุ้มค่าหรือไม่ ซึ่งในหนังสือเล่มนี้รวมประเด็นปัญหาที่เป็นปัจจัยแวดล้อมที่ส่งสามารถผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจในเมียนมาร์ ทั้งปัญหาระหว่างรัฐบาลกับสื่อ ความขัดแย้งทางชาติพันธุ์และศาสนา อุปสรรคในการลงทุน เป็นต้น
Lightless Life
จัดทำ : Ta’ang Students and Youth Organization – TSYO
เผยแพร่ : Ta’ang Students and Youth Organization – TSYO, 2010
เนื้อหา : รายงานที่สะท้อนการศึกษาภายใต้การบริหารของรัฐบาลทหารพม่าที่เข้าขั้นวิกฤติ เนื่องจากรัฐบาลพม่าให้ความสนใจด้านการศึกษาของของเยาวชนน้อยกว่าการพัฒนากองทัพ โดยรายงานฉบับนี้ชี้ว่า การศึกษาในชุมชนชาวดาระอั้ง หรือชาวปะหล่องในรัฐฉานก็กำลังได้รับผลกระทบอย่างหนักไม่แพ้กัน การไม่สนใจทุ่มงบประมาณเพื่อให้การช่วยเหลือและพัฒนาด้านการศึกษาในพื้น ทำให้เด็กๆ ในพื้นที่ขาดแคลนอาคาร โรงเรียนและอุปกรณ์การเรียน และอีกปัญหาที่เด่นชัดก็คือ มีเด็กออกโรงเรียนกลางคันเป็นจำนวนมาก เนื่องจากไม่สามารถเข้าเรียนได้
Displaced Childhoods
จัดทำ : Partners Relief & Development และ Free Burma Rangers
เผยแพร่ : Partners Relief & Development และ Free Burma Rangers, 2010
เนื้อหา : รายงานชิ้นนี้กล่าวถึงสงครามและความขัดแย้งในพม่านอกจากจะทำให้ประชาชนหลายล้านคนต้องทิ้งบ้านเรือนและกลายเป็นผู้พลัดถิ่นภายในแล้ว ยังเป็นสาเหตุให้เด็กระหว่าง 3–9 แสนคนต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่นภายในที่ต้องอาศัยอยู่ในป่า ในรายงานกล่าวถึงสภาพที่เด็กไม่มีทั้งโรงเรียนและโรงพยาบาลซึ่งทำให้คุณภาพการศึกษาและสุขอนามัยย่ำแย่ นอกจานี้นี้ยังเสี่ยงที่จะถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนได้ง่าย และหากสถานการณ์ความขัดแย้งยังเกิดขึ้นต่อเนื่อง จำนวนเด็กที่ต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่นภายในจะยังคงสูงต่อเนื่อง
Stateless Starving : Persecuted Rohingya Flee Burma and Starve in Bangladesh
ผู้แต่ง : Richard Sollom
เผยแพร่ : Physicians for Human Rights, 2010
เนื้อหา : สถานการณ์ของชาวมุสลิมโรฮิงญาที่ลี้ภัยไปอยู่ในประเทศบังกลาเทศ และยังไม่ได้รับการรับรองสถานะเป็นผู้ลี้ภัยถูกกฎหมายกำลังเผชิญกับปัญหาละเมิดสิทธิมนุษยชนในบังกลาเทศ และยังต้องเสี่ยงที่จะถูกจับได้ทุกเมื่อจากทางการบังกลาเทศหรือถูกส่งกลับมายังฝั่งพม่า นอกจากนี้ ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญากลุ่มนี้ยังต้องเผชิญกับความอดอยาก ขาดแคลนอาหารและน้ำดื่มสะอาด รวมไปถึงเผชิญหน้ากับปัญหาทางด้านสุขภาพร้ายแรง
Life Under the Junta : Evidence of Crimes Against Humanity in Burma’s Chin State
ผู้แต่ง : Adam Richard, Parveen Parmar and Richard Sollom
เผยแพร่ : Physicians for Human Rights, 2011
เนื้อหา : เป็นรายงานที่ออกมาในปี 2011 มีเนื้อหาเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลพม่าในรัฐชิน ซึ่งเปิดเผยเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่มากเกินระดับปกติทั้งในระดับรัฐและการกระทำของกองทัพที่กระทำต่อประชาชนในรัฐชิน ซึ่งสะท้อนสภาพชีวิตที่ต้องพบกับปัญหาต่าง การขาดความมั่นคงในการดำเนินชีวิต และความไม่เป็นธรรมที่รัฐบาลส่วนกลางของพม่าได้กระทำต่อชนชาติอื่นในประเทศ
Patterns of Anti-Muslim Violence in Burma : A Call for Accountability and Prevention
ผู้แต่ง : Andrea Gittleman and Marissa Brodney
เผยแพร่ : Physicians for Human Rights, 2013
เนื้อหา : ในเอกสารฉบับนี้ได้แสดงถึงวิธีกลั่นแกล้งและใช้ความรุนแรงของทั้งรัฐบาลและประชาชนต่อชาวโรฮิงญาในพม่า ซึ่งเริ่มต้นจากประชาชนในรัฐยะไข่และได้แพร่กระจายไปยังชุมชนมุสลิมอื่นๆ ทั่วประเทศ โดย Physicians for Human Rights ได้ทำการศึกษาสิ่งที่เกิดขึ้นใน 8 พื้นที่ทั่วประเทศพม่าระหว่างปี 2004 - 2013 การวิจัยภาคสนามนี้แสดงให้เห็นว่าปัจจัยที่ทำให้มีการต่อยอดการกระทำความรุนแรงต่อชาวโรฮิงญานั้นมาจากการไม่ต้องรับโทษต่อความผิดที่ได้ละเมิดในทางร่างกายและจิตใจต่อชนกลุ่มนี้ ซึ่งจากรายงานแสดงให้เห็นว่าชาวโรฮิงญาจำเป็นที่จะต้องได้รับการปกป้องและมีสิทธิ์ในการเรียกหาความเป็นธรรม
Bitter Wounds and Lost Dreams : Human Rights Under Assault in Karen State, Burma
ผู้แต่ง : Adam Richards and Bill Davis
เผยแพร่ : Physicians for Human Rights, 2012
เนื้อหา : ในขณะที่รัฐบาลกลางของพม่ากำลังปฏิรูปทางการเมืองแต่กองทัพพม่ายังคงละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชนกลุ่มน้อยในรัฐกะเหรี่ยง ในรายงานนี้อ้างผลการวิจัยจากการสำรวจภาคสนามที่ขึ้นในช่วงต้นปี 2012 ว่า สิทธิมนุษยชนของประชาชนชาวกะเหรี่ยงและชุมชนที่อยู่ทางภาคตะวันออกอันมีพรมแดนติดกับประเทศไทยถูกละเมิดอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้กองทัพได้ทำการสู้รบกับกลุ่มคนในแถบนี้มาหลายทศวรรษ กว่าหนึ่งในสามของคนในพื้นที่ถูกขับไล่และบังคับให้ละทิ้งที่อยู่อาศัย รวมทั้งถูกบังคับใช้แรงงานให้กับกองทัพและถูกทำร้ายร่างกาย ซึ่งรวมถึงการถูกข่มขืนและถูกทรมานทางร่างกายต่างๆ สะท้อนถึงความต้องการควบคุมและตัดความแข็งแกร่งของพื้นที่ที่มีแนวโน้มจะแข็งข้อต่อรัฐบาล โดยรายงานฉบับนี้สะท้อนปัญหาของพื้นที่รัฐกะเหรี่ยงทั้งเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน และแสดงตัวชี้วัดด้านสุขภาพ ด้านอาหารและการเข้าถึงการบริการทางสุขภาพ
Under Siege in Kachin State, Burma
ผู้แต่ง : Bill Davis
เผยแพร่ : Physicians for Human Rights, 2011
เนื้อหา : PHR Physicians for Human Rights ได้ลงพื้นที่และทำวิจัยในรัฐคะฉิ่นของพม่าเพื่อนนำเสนอเป็นรายงานของสิทธิมนุษยชนร้ายแรงละเมิดในภูมิภาคคะฉิ่น โดยพบว่าระหว่างเดือนมิถุนายนถึงเดือนกันยายน 2011 กองทัพพม่าปล้นอาหารจากพลเรือนและยังยิงกราดเข้าไปในบ้านเรือนผู้คน มีหมู่บ้านมากมายที่ถูกคุกคามโจมตีและมีการใช้บังคับใช้แรงงานชาวบ้าน และใช้ชาวบ้านในการค้นหาทุ่นระเบิดซึ่งเป็นการใช้มนุษย์ไปเสี่ยงตายโดยไม่ยินยอม นอกจากนี้ยังมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่สำคัญอื่นๆ คือ การงคับพลเรือนคะฉิ่นเพื่อใช้เป็นหน่วยรบและเดินนำหน้ากองทัพพม่าป้องกันการทหารพม่าเหยียบทุ่นระเบิด ซึ่งเป็นการกระทำที่ถือว่าละเมิดสิทธิการดำรงชีวิตอยู่ของมนุษย์โดยไร้ความปราณี
The Resistance of the Monks : Buddhism and Activism in Burma
ผู้แต่ง : Bertil Lintner
เผยแพร่ : Human Rights Watch, 2009
เนื้อหา : ตีแผ่เรื่องราวของพระสงฆ์ชาวพม่าที่ถูกปราบปรามอย่างหนัก หลังพระสงฆ์นำประท้วงในเดือนกันยายน ปี 2550 ที่ผ่านมา
Diagnosis : Critical Health and Human Rights in Eastern Burma
ผู้แต่ง : Bertil Lintner
เผยแพร่ : Human Rights Watch, 2009
เนื้อหา : การละเมิดสิทธิมนุษยชน สงครามและความขัดแย้งกำลังส่งผลให้ผู้หญิงและเด็ก โดยเฉพาะทางภาคตะวันออกของประเทศพม่าที่กำลังเผชิญกับปัญหาโรคภัยไข้เจ็บ เด็กราว 40 เปอร์เซ็นต์ในเขตพื้นที่สู้รบกำลังเผชิญกับโรคขาดสารอาหาร และเด็กราว 60 เปอร์เซ็นต์ต้องเสียชีวิตจากโรคที่ปัจจุบันสามารถป้องกันได้แล้ว อย่างเช่น โรคมาเลเรียและโรคท้องร่วง สิ่งที่น่าตกใจกว่าคือ อัตราการตายของเด็กกำลังเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปัญหาสุขภาพในภาคตะวันออกของพม่ายังส่งผลกระทบต่อชายแดนไทยที่ติดพม่าอีกด้วย
Neither War Nor Peace : The Future Of The Cease-Fire Agreements In Burma
ผู้แต่ง : Tom Kramer
เผยแพร่ : Transnational Institute, 2009
เนื้อหา : รัฐบาลพม่ากำลังกดดันกลุ่มติดอาวุธที่ทำสัญญาหยุดยิงกับรัฐบาลเป็นเวลา กว่า 20 ปี ให้วางอาวุธและเข้าร่วมการเลือกตั้งปี 2010 ภายในรายงานเล่มนี้ มีการวิเคราะห์สถานการณ์ระหว่างกลุ่มหยุดยิงและฝั่งรัฐบาล และความเป็นไปได้ของการเผชิญหน้าระหว่างทั้งสองฝ่าย
Unsafe State : State-sanctioned sexual violence against Chin women in Burma
ผู้แต่ง : Women’s League of Chinland
เผยแพร่ : Women’s League of Chinland, 2007
เนื้อหา : ผู้หญิงและเด็กสาวในรัฐชิน รัฐที่อยู่ทางภาคตะวันตกของประเทศ กำลังเผชิญกับการถูกละเมิดทางเพศจากกองทัพพม่า นับตั้งแต่กองทัพพม่าขยายกำลังทหารเข้าไปในรัฐชินเป็นจำนวนมาก จากรายงานฉบับนี้ชี้ให้เห็นว่า เด็กหญิงอาจถูกทหารพม่าข่มขืนคาบ้านของตัวเอง หรือระหว่างที่ออกไปทำงานในไร่ บางรายอาจถูกละเมิดทางเพศพร้อมๆ กับการถูกทำร้ายร่างกายและทารุณกรรม รวมไปถึงการฆ่าสังหารอย่างเหี้ยมโหด ขณะที่หญิงชาวชินที่รอดชีวิตจากทหารพม่า ได้เดินทางหลบหนีเข้าไปในเขตของอินเดียเป็นจำนวนมาก
Walking Amongst Sharp Knives
ผู้แต่ง : Karen Women’s Organization
เผยแพร่ : Karen Women’s Organization, 2010
เนื้อหา : องค์กรสตรีกะเหรี่ยง (KWO) ได้ใช้เวลาเก็บข้อมูลกว่า 4 ปี เพื่อตีแผ่เรื่องราวชีวิตจริงของแม่หลวงจำนวนถึง 95 คนที่ถูกทหารพม่าละเมิดสิทธิมนุษยชนในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะการข่มขืนที่เกิดขึ้นในภาวะสงคราม ในหลายตำบลของรัฐกะเหรี่ยงและรัฐมอญ