เมียนมา - ข้อมูลพื้นฐาน



          ประเทศเมียนมา (ชื่อประเทศเมียนมา (Myanmar) ได้รับการส่งเสริมจากรัฐบาลให้ใช้ แทน พม่า (Burma) ตั้งแต่ค.ศ.1989 เป็นต้นมา ในหัวข้อ "ข้อมูลพื้นฐาน" จะใช้คำว่า เมียนมา ในการกล่าวถึงประเทศและประชากรในปัจจุบัน และจะใช้คำว่า พม่า ในแง่ของชนชาติ โดยเฉพาะในส่วนข้อมูลประวัติศาสตร์) หรือ พม่า ซึ่งเป็นชื่อที่เราคุ้นเคยมาแต่อดีตนั้น ในทศวรรษที่ 19 อังกฤษใช้เวลากว่า 62 ในปีในการทำสงครามและยึดครองพื้นที่ที่เป็นสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาในปัจจุบันสำเร็จ และได้รวมดินแดนทางตะวันตกสุดของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งนี้เข้าสู่จักรวรรดิอินเดีย โดยกลายเป็นส่วนหนึ่งจนถึงปีค.ศ.1937 หลังจากนั้นก็เป็นอาณานิคมที่ไม่ต้องขึ้นกับอินเดียอีกต่อไป ไม่กี่ปีต่อมาเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง เมียนมาก็เป็นอิสรภาพจากเครือจักรภพอังกฤษ เมื่อปีค.ศ.1948 แต่ความหอมหวานของการได้รับเอกราชก็อยู่กับประเทศนี้ได้ไม่นานนัก เมื่อเมียนมาซึ่งเคยเป็นพื้นที่ที่รวบรวมเอาดินแดนที่ต่างก็เคยเป็นรัฐปกครองตนเองและอาณาจักรของกลุ่มชนต่างๆ มาก่อน ความแตกต่าง ขัดแย้ง และความต้องการเป็นอิสระของแต่ละกลุ่มก็ทำให้เกิดปัญหาที่ควบคุมได้ยากขึ้นเรื่อยๆ ในที่สุดนายพลเนวิน ก็ได้เข้าครอบงำโดยตั้งตัวเองและกองทัพเป็นรัฐบาลที่มีอำนาจสูงสุดเด็ดขาดเป็นระยะเวลายาวนานกว่า 26 ปี จาก ค.ศ.1962-1988 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่สถาบันทางทหารเข้ามามีบทบาทเต็มที่ต่อการปกครองเมียนมาอย่างยาวนานและยังส่งต่ออำนาจให้แก่ทายาทในกองทัพมาจนถึงปัจจุบัน แม้ประเทศจะมีกระบวนการที่เป็นประชาธิปไตยครั้งประวัติศาสตร์นั่นคือ การเลือกตั้งที่เกิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ.2010 มาแล้วก็ตาม  

 

ภูมิประเทศและภูมิอากาศ

          เมียนมาตั้งอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีพื้นที่ทั้งหมด 677,000 ตารางกิโลเมตร แบ่งเป็น พื้นดิน 653,508 ตารางกิโลเมตร และพื้นน้ำ 23,070 ตารางกิโลเมตร มีพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 40 ของโลก ทิศเหนือติดประเทศจีน ทิศใต้เป็นทะเลอันดามันและอ่าวเบงกอล ทิศตะวันออกติดประเทศลาวและไทย ส่วนทิศตะวันตกติดประเทศอินเดียและบังคลาเทศ มีพรมแดนยาวที่สุดกับประเทศไทย โดยมีพรมแดนร่วมกันยาวกว่า 2,416 กิโลเมตร รองลงมาคือประเทศจีน 2,129 กิโลเมตร และประเทศอินเดีย 1,468 กิโลเมตร ตามลำดับ และมีความยาวชายฝั่งกว่า 1,930 กิโลเมตร

          สภาพภูมิประเทศตอนบนเป็นภูเขาและหุบเขา มีเทือกเขาซึ่งต่อจากเทือกเขาหิมาลัยทอดเป็นแนวยาวจาดเหนือไปใต้รวม 3 แนวด้วยกัน คือ เทือกเขานาคา เทือกเขาชิน เทือกเขายะไข่ อยู่ทางด้านทิศตะวันตก ตอนกลางของประเทศมีเทือกเขาพะโค และทางด้านตะวันออกเป็นพื้นที่ราบสูงฉาน พื้นที่สูงและภูเขามีความสูงเฉลี่ย 3,000 ฟุต เทือกเขาที่สูงที่สุดคือ เทือกเขากากาโบราซี (Mt.Hkakabo Razi) ในรัฐคะฉิ่น ความสูง 19,296 ฟุต ตอนกลางและตอนล่างเป็นที่ราบลุ่ม มีประชาชนอาศัยอยู่หนาแน่น มีแม่น้ำใหญ่หลายสายไหลผ่าน ได้แก่ อิระวดี สาละวิน สะโตง และชินวิน

          สภาพภูมิอากาศส่วนใหญ่เป็นแบบมรสุมเขตร้อน มี 3 ฤดู คือ ฤดูฝนเริ่มตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคมถึงปลายเดือนตุลาคม ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้จะพัดเข้าสู่ประเทศทำให้มีฝนตกชุก พื้นที่ที่มีฝนตกมากที่สุดคือ ชายฝั่งทะเลในรัฐยะไข่ ภาคอิระวดี ภาคพะโค ภาคตะนาวศรี ฤดูหนาวเริ่มเมื่อเข้าสู่เดือนพฤศจิกายนยาวไปจนถึงปลายกุมภาพันธ์ อุณหภูมิเฉลี่ย 21 – 39 องศาเซลเซียส ส่วนฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงกลางพฤษภาคม อุณหภูมิอาจสูงถึง 43 องศาเซลเซียส ส่วนอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วประเทศอยู่ที่ 32 องศาเซลเซียส ต่ำสุดอยู่ที่ 0 องศาเซลเซียส ตอนบนสุดของประเทศซึ่งเป็นยอดเขาอาจมีหิมะตกในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงมกราคม ตอนกลางมีสภาพอากาศแห้งแล้งกว่า

 

ประชากร

          56.32 ล้านคน (ตัวเลขประมาณการเมื่อเดือนกรกฎาคม 2015) ประกอบไปด้วย 135 ชาติพันธุ์ เมียนมา 68% ไทยใหญ่ 9% กะเหรี่ยง 7% ยะไข่ 4% จีน 3% อินเดีย 2% มอญ 2% และชาติพันธุ์อื่นๆ อีก 5% ประชากรเพศชายประมาณ 27.99 ล้านคน และเพศหญิงประมาณ 28.33 ล้านคน อัตราการการเพิ่มของประชากรอยู่ที่ 1.01%

          จากประชากรทั้งหมด อัตราการรู้หนังสือในกลุ่มผู้ใหญ่อยู่ที่ 92.7% โดยระบบการศึกษาของเมียนมาถูกแบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ ขั้นพื้นฐาน (จากชั้นเด็กเล็กถึงมัธยมปลาย) และขั้นอุดมศึกษา โดยการศึกษาภาคบังคับสิ้นสุดที่ระดับมัธยมต้น

          ด้านศาสนาประชากรในประเทศนับถือศาสนาพุธ นิกายเถรวาทกว่า 89% ศาสนาคริสต์ 4% ศาสนาอิสลาม 4% และศาสนาฮินดู 0.5% นับถือภูตผีวิญญาณ เทวดาหรือนัต 1.2% และอื่นๆ อีก 0.2% เนื่องจากศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่มีคนนับถือมากที่สุด ประกอบกับความแข็งแกร่งที่สืบทอดมายาวนาน จึงมีนักบวชที่เป็นพระสงค์กว่า 300,000 รูป

 

การเมืองการปกครอง

          ปัจจุบันเมียนมาปกครองโดยรัฐบาลพลเรือน มีการแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 7 รัฐ คือ รัฐชิน รัฐคะฉิ่น รัฐคะยา รัฐคะยิน รัฐมอญ รัฐยะไข่ (ระไข่หรืออาระกัน) และรัฐฉาน กับ 7 มณฑล คือ อิระวดี พะโค มาเกว สะกาย ตะนาวศรี และย่างกุ้ง และมี 1 เขตสหภาพคือ เนปยิดอ เป็นเมืองหลวงที่ขึ้นกับประธานาธิบดีโดยตรง         โครงสร้างอำนาจตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2008 ประกอบด้วย 3 ส่วนสำคัญ คือ ประธานาธิบดี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และสภาความมั่นคงและการป้องกันแห่งชาติ (National Defence and Security Council: NDSC) โดยประธานาธิบดีเป็นประมุขของรัฐและมีอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ อำนาจสูงสุดในกองทัพและกระทรวงด้านความมั่นคงทั้งหมดเป็นของผู้บัญชาการทหารสูงสุด ส่วน NDSC เป็นเวทีหารือประเด็นความมั่นคงและกลไกถ่วงดุลอำนาจระหว่างรัฐบาลกับกองทัพ

          นอกจากนี้ ด้านฝ่ายบริหาร : มีรัฐบาล 2 ระดับ คือ 1) รัฐบาลระดับสหภาพ ปัจจุบันมี 29 กระทรวง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างๆ 35 คน และ 2) รัฐบาลท้องถิ่นประจำมณฑล/รัฐ ส่วนใหญ่เป็นรัฐบาลผสมหลายพรรค มีการจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรีประจำมณฑล/รัฐ ให้กับพรรคการเมืองชาติพันธ์ต่างๆ ในพื้นที่

          ฝ่ายนิติบัญญัติ : มี 2 ระดับ คือ 1) รัฐสภาสหภาพ ประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา

และ 2) สภาท้องถิ่นประจำมณฑล/รัฐ ทั้งนี้ผู้แทนที่ได้รับการแต่งตั้งจากกองทัพคิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 4 ของ

สภาทั้ง 2 ระดับ

          ฝ่ายตุลาการ : ประกอบด้วย ศาลฎีกาเป็นศาลสูงสุดของประเทศ ศาลสูงประจำมณฑล/รัฐ ศาลสูงประจำเขตปกครองตนเอง ศาลประจำเมือง ศาลประจำอำเภอ และศาลอื่นๆ ตามรัฐธรรมนูญ คือ ศาลทหาร และศาลรัฐธรรมนูญ

 

การทหาร

         กองทัพยังเป็นสถาบันที่มีความสำคัญสูงเป็นลำดับแรกต่อความมั่นคงของชาติ โดยมีความสำคัญทั้งในการรักษาความสงบและการเสริมสร้างเอกภาพภายในชาติ กองทัพได้รับการจัดสรรงบประมาณในสัดส่วนที่สูงกว่าหน่วยงานอื่นโดยเปรียบเทียบ งบประมาณกองทัพประจำปี 2013/2014 อยู่ที่ 2,300.03 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 13.4 ของงบประมาณประเทศทั้งหมดซึ่งอยู่ที่ 17,143.67 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

          ทั้งนี้นโยบายกองทัพเมียนมาในปัจจุบันคือ ไม่รุกรานประเทศอื่น ยึดยุทธศาสตร์การป้องปราม ไม่อนุญาตให้กองกำลังต่างชาติเข้ามาตั้งฐานทัพในประเทศ มุ่งมั่นพัฒนากองทัพให้ทันสมัย โดยเฉพาะด้านการป้องกันภัยทางอากาศและการส่งเสริมความแข็งแกร่งให้กับกองทัพเรือ

          ประเด็นปัญหาหนึ่งที่มีมาอย่างยาวนานของกองทัพพม่าคือ กองกำลังเยาวชน ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกต่อต้านจากประเทศต่างๆ ภายนอกมาโดยตลอด อย่างไรก็ตามเดือนมิถุนายน ปี 2012 รัฐบาลได้ลงนามในแผนปฏิบัติการเพื่อป้องกันการรับสมัครและใช้เยาวชนมาเป็นทหารในกองทัพ หลังจากนั้นต้นปี 2013 ก็มีการผลักดันและตามมาด้วยการยกเลิกการเป็นทหารของเยาวชน หลังจากการลงนามจนถึงปัจจุบันมีเยาวชนที่เป็นทหารในกองทัพถูกยกเลิกสถานะในการเป็นทหารจำนวนกว่า 600 คน 

 

เศรษฐกิจ

            นับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงอำนาจจากรัฐบาลทหารไปสู่การเป็นรัฐบาลพลเรือนเมื่อปี 2011 เมียนมาได้เริ่มยกเครื่องเศรษฐกิจโดยมุ่งเป้าไปที่การดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศและผนวกเศรษฐกิจของตนเองเข้ากับเศรษฐกิจโลก การปฏิรูปเศรษฐกิจรวมถึงการทำให้ค่าเงินจั๊ตลอยตัว นอกจากนี้ยังได้ออกกฎหมายการลงทุนต่างประเทศในปี 2012 ที่จะอนุญาตให้มีการลงทุนต่างประเทศมากขึ้นและให้ความเป็นอิสระแก่ธนาคารกลางในการดำเนินงาน ซึ่งถือเป็นกฎหมายกระตุ้นการลงทุนจากต่างประเทศฉบับแรกหลังเปลี่ยนผ่านทางการเมืองและการออกกฎหมายเกี่ยวกับการลงทุนจากต่างประเทศที่ไม่เคยปรับปรุงเลยมากว่า 20 ปี รวมทั้งเมื่อปี 2013 ยังได้อนุญาตให้ธนาคารต่างประเทศเข้าไปตั้งสำนักงานเพื่อดำเนินธุรกิจทางการเงินเป็นครั้งแรกหลังภาคการเงินของประเทศถูกควบคุมอย่างเคร่งครัดโดยรัฐบาลทหารมาตั้งแต่ทศวรรษ 1960 ความมุ่งมั่นของรัฐบาลในเรื่องการปฏิรูปทางเศรษฐกิจนี้มุ่งหวังให้ประเทศตะวันตกผ่อนคลายมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ยังญี่ปุ่นก็ยังเป็นประเทศผู้สนับสนุนรายสำคัญในด้านการลงทุนทางโครงสร้างพื้นฐาน และท่าทีของญี่ปุ่นก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะสร้างความมั่นใจให้เกิดการผ่อนคลายของมาตรการลงโทษที่ชาติตะวันตกมีเคยต่อเมียนมา

          ความสมบูรณ์ทางทรัพยากรธรรมชาติ อัตราประชากรวัยแรงงานสูง ทำเลที่ตั้งอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีการเติบโตและมีพลวัตทางด้านเศรษฐกิจสูงที่สุดภูมิภาคหนึ่งของโลก ทำให้เมียนมาสามารถดึงดูดความสนใจจากนักลงทุนต่างประเทศได้อย่างดีนั้น อย่างไรก็ตาม แม้จะสามารถดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศได้มากมายทำให้มาตรฐานการดำรงชีวิตประชาชนในเมียนมาร์ดีขึ้น แต่การกระจายกระจายความมั่งคั่งและการยกระดับคุณภาพชีวิตยังถูกจำกัดอยู่ในพื้นที่เมือง และประชาชนในชนบทยังไม่ได้รับผลจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ ทำให้เมียนมายังเป็นหนึ่งในประเทศที่ยากจนที่สุดในเอเชียอยู่ (ประชากรกว่า 51 ล้านคนยังอยู่ในเกณฑ์ที่ถือว่ายากจน) ทำให้รัฐบาลเมียนมามุ่งปฏิรูปเศรษฐกิจและสังคม โดยกำหนดแผนการปฏิรูปประเทศระยะที่ 2 โดยมุ่งขจัดความยากจน พัฒนาชนบท รวมถึงการพัฒนาพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธ์ต่างๆ ก่อนที่การเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียนจะบังคับใช้ โดยแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติระยะ 5 ปี (2011-2016) มีการปรับโครงสร้างผลผลิตมวลรวมภายในประเทศใหม่ โดยลดการพึ่งพาภาคเกษตรกรรมและปรับเพิ่มการพึ่งพาภาคอุตสาหกรรม ขณะที่ภาคบริการมีสัดส่วนการเติบโตและสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ

           อุตสาหกรรมทำเงินและได้รับความสนใจจากต่างประเทศซึ่งทำรายได้อย่างมหาศาลคือ อุตสาหกรรมเสื้อผ้าและเครื่องนุ่มห่ม อุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ อุตสาหกรรมอาหาร และอุตสาหกรรมพลังงาน ซึ่งอุตสาหกรรมหลังนี้เริ่มสร้างความมั่งคั่งให้กับเมียนมามาตั้งแต่ประเทศยังไม่เข้าสู่การเปลี่ยนผ่าน แม้อุตสาหกรรมพลังงานจะทำกำไรอย่างมหาศาลให้กับรัฐบาลแต่ปัญหาที่ตามมาคือ ความขัดแย้งกับคนในพื้นที่ที่มีการทำโครงการทางด้านพลังงานต่างๆ จนกลายเป็นประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนซึ่งวกกลับมาทำลายความเชื่อมั่นในการลงทุนจากต่างประเทศ นอกจากนี้อุปสรรคหลักๆ ในการพัฒนาเศรษฐกิจของเมียนมาประกอบไปด้วย โครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจยังไม่ดีพอ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การทุจริตในทุกระดับ สิทธิการถือครองที่ดิน ระบบการออกใบอนุญาตการค้า รวมถึงไม่มีแผนรองรับการพัฒนาอย่างยั่งยืนนั้น ถือเป็นข้อจำกัดที่เมียนมายังปรับตัวเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ช้าและอาจไม่ทันการณ์ต่อการเปลี่ยนแปลงเพื่อรองรับความมั่งคั่งที่จะเกิดขึ้น

 

Transnational Issues

         ข้อพิพาทระหว่างประเทศ มากกว่าครึ่งของประชากรในเมียนมามาจากกลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลายและเป็นชาติพันธุ์ที่มีความเกี่ยวเนื่องเครือญาติกับคนในประเทศเพื่อนบ้านของเมียนมา แม่น้ำนาฟที่เป็นชายแดนกับประเทศบังคลาเทศเป็นเส้นทางการขนส่งสินค้าผิดกฎหมาย นอกจากนั้นบังคลาเทศต้องรองรับชาวโรฮิงญากว่า 29,000 คน ที่ลี้ภัยจากรัฐอาระกันของเมียนมา อย่างไรก็เมื่อตามปัญหาเรื่องนี้สร้างผลกระทบใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ทางรัฐบาลเมียนมาร์จึงได้ออกแบบรั้วลวดหนามมาเพื่อใช้ยับยั้งการขนส่งสิ้นค้าผิดกฎหมายข้ามพรมแดนฝั่งบังคลาเทศซึ่งมีความตึงเครียดมากขึ้นอย่างชัดเจน โดยรั้วนี้จะมีความยาวกว่า 200 กิโลเมตร นอกจากนี้บังคลาเทศยังร้องเรียนไปที่ศาลอาญาระหว่างประเทศว่าด้วยกฎหมายทางทะเล เพื่อตัดสินข้อพิพาททางทะเลที่มีกับเมียนมาและอินเดีย กับบังคลาเทศยังมีข้อพิพาททางดินแดนในทะเล นอกจากนี้ยังมีปัญหาประชาชนกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ หนีข้ามเขตแดนเข้าไปยังประเทศจีน อันเนื่องมาจากนโยบายปราบปรามกลุ่มที่เชื่อมโยงกับการค้ายาเสพติดอีกด้วย   

          ผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นในประเทศ ปัจจุบันเมียนมามีจำนวนผู้พลัดถิ่นฐานภายในประเทศกว่า 662,400 คน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มติดอาวุธชาติพันธ์ต่างๆ ที่อยู่ใกล้ชายแดนประเทศไทยและประเทศจีนหรือประชาชนที่ได้รับผลพวงจากเรื่องนี้ และเมียนมายังมีปัญหาคนไร้สัญชาติซึ่งมีจำนวนมากกว่า 145,000 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ รัฐบาลเมียนมาไม่นับว่าโรฮิงญาเป็นชาติพันธุ์หนึ่งของประเทศ โดยสิทธิการเป็นพลเมืองของชาวโรฮิงญาเรียกได้ว่าถูกปล้นไปเมื่อปี 1982 โดยกฎหมายจัดหมวดหมู่โรฮิงญาว่าไม่ใช่ชาติ หรือชาวต่างชาติ ใดๆ ปัญหาการไร้สัญชาติจึงเกิดขึ้น อย่างไรก็ตามร่างปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องกับประชาชนในรัฐยะไข่ที่ถูกร่างขึ้นเมื่อปี 2014 มีเนื้อหาว่า โรฮิงญาต้องแสดงให้เห็นว่าครอบครัวพวกเขาได้มาอยู่อาศัยในเมียนมาเป็นเวลาอย่างน้อย 60 ปี จึงจะมีคุณสมบัติเป็นพลเมือง และยังมีคนพื้นเมืองที่เกิดในพม่าแต่ไม่ใช่กลุ่มชาติพันธุ์ใดชาติพันธุ์หนึ่งที่มีสถานะทางกฎหมายในเมียนมาร์ก็ถือเป็นคนไร้สัญชาติเช่นกัน โดยในส่วนนี้เรายังไม่เห็นว่ามีความคืบหน้าในการพยายามแก้ปัญหา 

          การค้ามนุษย์ ปัจจุบันเมียนมาเป็นประเทศแหล่งที่มาของการค้ามนุษย์ไม่ว่าจะเกิดขึ้นในผู้ชาย ผู้หญิง หรือเด็ก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการบังคับใช้แรงงานและการค้าประเวณี ในประเทศอื่นๆ นอกจากนี้ด้วยภาวะเศรษฐกิจที่มีปัญหาของการกระจายรายได้ทำให้เกิดการเพิ่มขึ้นของอัตราการย้ายถิ่นฐานอย่างผิดกฎหมายไปยังประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และสหรัฐอเมริกา และเมื่อลักลอบเข้าไปได้แล้วคนเหล่านี้ก็จะถูกบังคับใช้แรงงานอย่างผิดกฎหมายทั้ง การค้าประเวณี แรงงานในธุรกิจประมง อุตสาหกรรมก่อสร้าง บางส่วนที่อพยพออกมาและได้เป็นผู้ลี้ภัยแล้วและยังมีปัญหาทางเศรษฐกิจอยู่ก็ยังต้องเข้าสู่วังวนของการค้ามนุษย์ในประเทศปลายทาง ทั้งการบังคับใช้แรงงาน หรือเป็นขอทาน เป็นต้น

          ยาเสพติด เมียนมายังคงเป็นแหล่งผลิตยาเสพติดใหญ่เป็นอันดับสามของโลก มีรายงานว่า การผลิตฝิ่นที่ผิดกฎหมายในปี 2012 มีมากกว่า 690 ตัน เพิ่มขึ้นร้อย 13 จากปี 2011 นอกจากนี้การเพาะปลูกฝิ่นยังมีพื้นที่กว่า 51,000 ไร่ ในปี 2012 เพิ่มขึ้นมาร้อยละ 11 ของปีก่อนหน้า การผลิตในพื้นที่ของกองทัพรัฐว้าเป็นพื้นที่ใหญ่ที่สุด รัฐฉานก็เป็นอีกพื้นที่ที่มีตัวเลขของการผลิตฝิ่นในระดับสูง ปัญหายาเสพติดในเมียนมานั้นเป็นปัญหาที่ร้ายแรงและสร้างปัญหาเรื้อรังมาเป็นระยะเวลายาวนาน เมียนมาร์ถือได้ว่าเป็นประเทศที่มี narcotrafficking ที่สำคัญ เนื่องจากรัฐบาลขาดความมุ่งมั่นและจริงจังต่อการปราบปรามและการฟอกเงินจากส่วนนี้ ทำให้การแก้ปัญหายาเสพติดก็เป็นไปอย่างยากลำบาก และยิ่งทำให้เมียนมาเป็นแหล่งที่มาของยาบ้าและเฮโรอีนแหล่งสำคัญในภูมิภาค

 

ความสัมพันธ์กับประเทศไทย

          เมียนมากับไทยสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม ค.ศ.1948 สถานะความสัมพันธ์อยู่ในระดับดี ในห้วงที่ไทยเผชิญกับสถานการณ์ความไม่สงบภายในซึ่งนำไปสู่การยึดอำนาจของกองทัพเมื่อปี 2014 นั้น รัฐบาลเมียนมายึดถือนโยบายสอดคล้องกับหลักการของอาเซียนคือ ไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่น เว้นแต่จะมีประเด็นที่กระทบต่อผลประโยชน์ของเมียนมาร์ ในภาพรวม เมียนมาใช้แนวทางแสดงความเห็นใจสถานการณ์ในประเทศไทย ทั้งยังไม่วิพากษ์วิจารณ์การเมืองไทยและกองทัพในเชิงลบ แม้ว่าเมียนมาจะถูกกดดันจากประเทศตะวันตกและนักเคลื่อนไหวด้านประชาธิปไตยที่ต้องการเห็นเมียนมาแสดงบทบาทในการเป็นประธานอาเซียนต่อประเด็นการเมืองไทยมากกว่านี้

          เมียนมามีความสำคัญต่อไทยหลักๆ 3 ด้าน ดังนี้

          ด้านความมั่นคง การเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีความใกล้ชิดที่มีพรมแดนติดกันกว่า 2,000 กิโลเมตร ทำให้ไทยต้องแบกรับความเสี่ยงจากปัญหาความไม่สงบภายในเมียนมาร์ที่ดำรงมาอย่างยาวนานโดยตลอดทั้งทางตรงและทางอ้อม ปัจจุบันไทยรับภาระผู้หนีภัยจากการสู้รบชาวเมียนมาร์กว่าหนึ่งแสนคน นอกจากนี้ผลพวงจากความไม่สงบทำให้ประเทศไทยได้รับผลกระทบร่วมในประเด็น การค้ายาเสพติด การค้ามนุษย์ การหลบหนีเข้าเมืองโดยเฉพาะในกลุ่มผู้ใช้แรงงาน รวมไปถึงชาวมุสลิมโรฮิงญาซึ่งเป็นผลพวงจากแนวทางกีดกันทางชาติพันธุ์ที่รัฐบาลเมียนมายังปฏิบัติกับชนกลุ่มอื่น

          ด้านพลังงาน ไทยนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากเมียนมาเพื่อใช้ผลิตไฟฟ้าถึงร้อยละ 30 ของการปริมาณการบริโภคพลังงานภายในประเทศ ทั้งนี้ในช่วง 20 ปี ตั้งแต่ปี 2010-2030 ไทยมีแผนที่จะนำเข้าไฟฟ้าพลังน้ำจากเมียนมาเพิ่มขึ้นอีก ซึ่งจะทำให้เมียนมากลายเป็นแหล่งพลังงานสำคัญแห่งหนึ่งของไทย อย่างไรก็ตามความต้องการทางด้านพลังงานในเมียนมาร์มีมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากการปฏิรูปนโยบายทางเศรษฐกิจของเมียนมาเอง ทั้งนี้เมื่อปี 2012 เมียนมาเคยลดสัดส่วนการขายก๊าซธรรมชาติให้ไทย จากปัจจัยทั้งสองนี้ทำให้ไทยควรพิจารณาเกี่ยวกับความมั่นคงทางพลังงานของตนเองเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นได้หากเมียนมามีการปรับลดการขายสินค้าพลังงานให้ไทยในอนาคต

          ด้านเศรษฐกิจ ในปี 2013/2014 ไทยเป็นคู่ค้าและผู้ลงทุนอันดับ 2 ของเมียนมาร์รองมาจากจีน มูลค่าการค้าประมาณ 5,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยเป็นฝ่ายเสียเปรียบดุลการค้า เนื่องจากการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากเมียนมาจำนวนมาก ส่วนมูลค่าการลงทุนของไทยสูงกว่า 10,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ

 

เมียนมากับอาเซียน

           บทบาทของอาเซียนที่มีต่อเมียนมาทางด้านเศรษฐกิจ การเมืองและสังคมนั้น ไม่สามารถแยกบทบาทขององค์กรและบทบาทของชาติสมาชิกออกจากกันโดยสิ้นเชิงได้ เนื่องจากบทบาทจากทั้งสองฝ่ายล้วนเอื้อต่อกันมาโดยตลอด แต่บทบาทของอาเซียนที่เป็นเรื่องขององค์กรโดยตรงนั้นทางด้านเศรษฐกิจดูจะโดดเด่นกว่ามาก เพราะทางด้านการเมืองและสังคมนั้น ตัวองค์กรเองมีข้อจำกัดในหลักการอันนำไปสู่แนวทางการปฏิบัติขององค์กร บทบาทของอาเซียนที่มีต่อเมียนมาทางด้านเศรษฐกิจจึงถือว่าอาเซียนประสบความสำเร็จมากพอสมควร ซึ่งบทบาทของอาเซียนทำให้เมียนมาไม่ต้องเอาตัวเองเข้าไปพึ่งพาเศรษฐกิจของชาติตะวันตก ซึ่งประกาศการแทรกแซงทางเศรษฐกิจเมียนมาอยู่ และมีทางออกสำหรับภาคเศรษฐกิจของตัวเองอีกด้วย ซึ่งถือได้ว่าเป็นความสำเร็จที่ไม่สามารถหาได้หากไม่มีความร่วมมือในภูมิภาคอาเซียนเกิดขึ้น ทว่าบทบาทของอาเซียนที่มีต่อเมียนมาทางด้านการเมืองและด้านสังคมนั้นแม้ไม่โดดเด่นเท่าใดนัก แต่อย่างไรก็ตามจากรายละเอียดความเห็นในเชิงลบของอาเซียนต่อเมียนมาส่งผลต่อการตัดสินใจในการปฏิรูปภายในเมียนมาพอสมควร

          อย่างไรก็ตามสิ่งที่สามารถอธิบายถึงบทบาทอาเซียนที่มีต่อเมียนมาได้ คือแนวคิดเรื่องผลประโยชน์แห่งชาติ ซึ่งเห็นได้จากที่ชาติสมาชิกอาเซียนชาติอื่นๆ มองเห็นผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจของตนที่จะได้รับจากการรักษาความสัมพันธ์อันดีกับเมียนมาผ่านองค์กรความร่วมมือในภูมิภาค จึงได้เลือกใช้นโยบายปฏิสัมพันธ์เชิงสร้างสรรค์กับเมียนมา ซึ่งแนวคิดแบบปฏิสัมพันธ์เชิงสร้างสรรค์นี้ทำให้อาเซียนปฏิบัติกับเมียนมาในรูปแบบที่ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจแยกออกจากกันกับทางการเมือง สิทธิมนุษยชน หรือประเด็นทางสังคม เนื่องจากการปฏิบัติของอาเซียนต่อเมียนมานั้นจะเห็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ชาติสมาชิกจะสามารถตักตวงจากเมียนมาร์ได้เป็นสำคัญ ซึ่งแน่นอนว่าความต้องการผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากเมียนมานี้จะทำให้อาเซียนจำเป็นต้องหวั่นเกรงที่จะว่ากล่าวเมียนมาในเรื่องของปัญหาการเมืองและสังคมภายในประเทศเมียนมา และเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาด้านความสัมพันธ์ดังชื่อของนโยบายที่ว่าเป็นการปฏิสัมพันธ์เชิงสร้างสรรค์ ซึ่งนโยบายปฏิสัมพันธ์เชิงสร้างสรรค์นี้ถือได้ว่าเป็นข้อบกพร่องข้อหนึ่ง แม้จะทำให้อาเซียนกับเมียนมาร์ไม่มีปัญหากระทบกระทั่งและยังส่งผลดีต่อความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจ แต่การเลือกใช้นโยบายปฏิสัมพันธ์เชิงสร้างสรรค์นี้เป็นอุปสรรคในการที่จะกดดันให้เมียนมาแก้ปัญหาภายในของตนเอง

         นอกจากนั้นองค์กรอาเซียนในปัจจุบันนี้ มีกลไกการทำงานที่รองรับในการพัฒนาสภาพภายในเมียนมาเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจเท่านั้น เนื่องจากอาเซียนเน้นในเรื่องของการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นความต้องการของทุกประเทศ ทำให้บทบาทของอาเซียนทางด้านเศรษฐกิจที่มีต่อเมียนมาจึงส่งผลเป็นรูปธรรม แต่กลไกที่จะพัฒนาทางด้านการเมืองและสังคมนั้นอาเซียนยังมีข้อบกพร่องอยู่จึงส่งผลต่อบทบาทอาเซียนที่จะเข้าไปแก้ไขปัญหาทางการเมืองและสังคมของเมียนมา และทำให้บทบาทที่มีนั้นไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร

        อย่างไรก็ตามจากสถานการณ์ช่วงปี 2003-2010 การปฏิบัติของอาเซียนต่อกรณีของเมียนมาก็ถือได้ว่าเข้มข้นขึ้นกว่าในยุคก่อนมาก ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการยกระดับความสำคัญของปัญหาทางการเมืองและสังคมในเมียนมาขึ้นมา แม้อาเซียนเองก็ยังคงยึดมั่นในหลักการปฏิสัมพันธ์เชิงสร้างสรรค์นี้ แต่การเลือกตั้งที่เกิดขึ้นในเมียนมาคงไม่อาจปฏิเสธว่าน้ำเสียงอันแข็งกร้าวที่อาเซียนใช้กับเมียนมานั้นมีส่วนอยู่พอสมควรที่ทำให้เกิดกระบวนการปฏิรูปที่เป็นรูปธรรมเกิดขึ้น

        บทบาทของอาเซียนที่มีต่อเมียนมาร์ทั้งสามด้านนี้ จึงทำให้เห็นถึงศักยภาพขององค์กรอาเซียนอีกด้วย โดยการศึกษากรณีของเมียนมาสะท้อนให้เห็นทั้งข้อดีและข้อด้อยขององค์กรอาเซียนในการปฏิบัติงาน ในทางการเมืองและสังคมนั้น พบว่าอาเซียนมีข้อจำกัดและข้อด้อยอยู่มาก แต่ทางด้านเศรษฐกิจอาเซียนมีแนวทางและระบบในการพัฒนาที่ถือว่าอยู่ในระดับดี แต่ปัญหาที่จะต้องขบคิดต่อไปในอนาคตสำหรับอาเซียนที่แสดงให้เห็นจากกรณีของเมียนมาคือ อาเซียนจะมีวิธีการอย่างไรที่จะทำให้ประเทศที่พัฒนาช้ากว่าสามารถแข่งขันกับประเทศใหญ่ในอาเซียนได้ภายใต้การใช้ระบบเศรษฐกิจที่มุ่งไปสู่การเป็นตลาดร่วม ซึ่งอาจจะทำให้ประเทศที่มีการพัฒนาด้อยกว่าเสียเปรียบทางด้านการแข่งขันกับประเทศใหญ่ๆ ในอาเซียน