มาเลเซีย - ศาสนาและความเชื่อ



          มาเลเซียเป็นดินแดนพหุวัฒนธรรม มีกลุ่มชาติพันธุ์หลัก 3 กลุ่ม คือ มลายู จีน และอินเดีย มีสัดส่วนของผู้นับถือศาสนาอิสลามร้อยละ 61.3 ศาสนาพุทธร้อยละ 19.8 ศาสนาคริสต์ร้อยละ 9.2 และศาสนาฮินดูร้อยละ 6.3 ชาวมลายูทั้งหมดเป็นผู้นับถือศาสนาอิสลาม ส่วนชาวจีนนับถือทั้งศาสนาคริสต์ พุทธ เต๋าและขงจื๊อ ชาวอินเดียนับถือศาสนาฮินดู (Jesudas M.Athyal,Editor, 2015:164)  

            ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาประจำชาติมาเลเซีย เข้าสู่ดินแดนแถบนี้ราวคริสต์ศตวรรษที่ 15 โดยพ่อค้าชาวมุสลิมจากอินเดีย เปอร์เซีย และ อาระเบียตอนใต้ ที่เข้ามาทำการค้าในมะละกา เมืองท่าสำคัญของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในขณะนั้น ในสมัยของเจ้าชายปรเมศวร ผู้เปลี่ยนจากการนับถือศาสนาฮินดูมาเป็นศาสนาอิสลามผ่านการราชาภิเษกสมรสกับพระราชธิดาของกษัตริย์จากสุมาตรา (Jesudas M.Athyal,Editor, 2015:166)  

           ปัจจุบันมาเลเซียมีประชากรชาวมุสลิมมากเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ  ศาสนาอิสลามเข้าไปมีบทบาทในการดำเนินชีวิตทั้งทางโลกและทางธรรม กระบวนการอิสลามาภิวัตน์ในมาเลเซียเกิดขึ้นตลอดระยะเวลาหลายปีตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 จนกระทั่งปัจจุบัน ศาสนาอิสลามจึงเป็นศาสนาที่มีความโดดเด่นที่สุดและเป็นตัวชี้วัดสำคัญทางการเมืองที่ส่งผลต่อเสียงสนับสนุนของรัฐบาลที่ได้รับจากประชาชน           

 

อิสลามาภิวัตน์ในมาเลเซีย

            อิสลามาภิวัตน์ เป็นกระบวนการเคลื่อนไหวของศาสนาอิสลาม มีวัตถุประสงค์ เพื่อสร้างให้เกิดการสอนอิสลาม โดยให้อิสลามนั้นเข้าไปอยู่ในรัฐบาล การเมือง เศรษฐกิจ องค์กรทางสังคม ระบบการศึกษา คุณค่าทางศีลธรรม และทุกแง่มุมของชีวิต ส่วนอีกคำอธิบายหนึ่งชี้ให้เห็นว่า อิสลามาภิวัตน์เป็นกระบวนการที่จะทำให้เกิดสังคมใหม่ที่อุทิศให้กับหลักคำสอนของศาสนาอิสลามทุกแง่มุม (แพร ศิริศักดิ์ดำเกิง, 2557:134)   

            กระแสอิสลามาภิวัตน์ในมาเลเซีย เริ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 และยิ่งชัดเจนขึ้นในค.ศ.1940-1960 เป็นช่วงที่อิสลามเข้าไปมีบทบาทในรัฐธรรมนูญ แทรกแซงในสถาบัน ระบบราชการ และก่อกำเนิดเป็นพรรคการเมือง ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาประจำชาติ ขณะเดียวกันก็ให้การยอมรับการปฏิบัติของศาสนาอื่น ผู้นำในแต่ละรัฐเป็นผู้นำศาสนาของคนมุสลิมภายใต้รัฐธรรมนูญแง่มุม (แพร ศิริศักดิ์ดำเกิง, 2557:138)

            กระแสอิสลามาภิวัตน์ยิ่งทวีความเข้มข้นขึ้นในช่วงทศวรรษ 1970 ภายใต้การผลักดันของผู้นำทางการเมืองจากพรรคอัมโน กระแสดังกล่าวถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อแย่งชิงฐานมวลชนระหว่างพรรครัฐบาล คือพรรคอัมโนกับขบวนการฟื้นฟูศาสนาอิสลามอื่นๆ ในมาเลเซีย ด้วยการช่วงชิงการให้นิยามแก่ “อิสลามที่แท้” และเหมาะสมกับสังคมมาเลย์ รวมทั้งเสนอตัวเป็นผู้สนับสนุนและส่งเสริมสถานะอิสลามในส่งคมมาเลเซียควบคู่ไปกับการส่งเสริมสิทธิและฐานะของชาวมลายูมุสลิมหรือ “ภูมิบุตรา” (แพร ศิริศักดิ์ดำเกิง, 2557:141)

           แม้ว่าจากนโยบายทางการเมืองและการเคลื่อนไหวของกลุ่มศาสนาต่างๆในกระแสอิสลามาภิวัตน์ ส่งผลให้สังคมมาเลเซียโดยรวมมีความเคร่งครัดทางศาสนามากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันกระแสดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างมลายูมุสลิมกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่น เช่น จากเดิมที่ชาวมลายูมุสลิมสามารถรับประทานอาหารร่วมกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นได้ขอเพียงแต่ในเมนูอาหารเหล่านั้นไม่มีหมู ปัจจุบันคนมลายูมุสลิมปฏิเสธที่จะรับประทานอาหารร่วมกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่น (แพร ศิริศักดิ์ดำเกิง, 2557:142)

          ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากกระแสอิสลามาภิวัตน์นั้น เสนอให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างกลุ่มมลายูมุสลิมและกลุ่มชาติพันธุ์อื่นที่ต่างศาสนา เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่านโยบายเศรษฐกิจใหม่ของมาเลเซียเกิดขึ้นเพื่อยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ และทำให้ทุกกลุ่มชาติพันธุ์มีความเท่าเทียมกันในทางเศรษฐกิจ ขณะที่กระแสอิสลามาภิวัตน์กลับทำให้เกิดความแปลกแยกระหว่างชาวมลายูมุสลิมกับกลุ่มชาติพันธุ์ต่างศาสนา ประเด็นปัญหาดังกล่าวจึงเป็นปัญหาที่มีความทับซ้อนระหว่างประเด็นปัญหากลุ่มชาติพันธุ์และประเด็นปัญหาด้านศาสนา  (อัญชลี ถั่วเถื่อน, 2016)

บรรณานุกรม

    Jesudas M.Athyal,Editor. (2015). Religion in Southeast Asia. California.

    แพร ศิริศักดิ์ดำเกิง. (2557). อิสลามาภิวัฒน์กับการเปลี่ยนแปลงทางสังคม : เปรียบเทียบมาเลเซียและไทย. ใน มณีวรรณ ผิวนิ่ม และคณะ, สาส์นมานุษยวิทยา 40 ปี:มานุษยวิทยาวังท่าพระ (หน้า 131-154). กรุงเทพมหานคร: บริษัท เอส.เอม.เซอร์คิทเพรส จำกัด.

    อัญชลี ถั่วเถื่อน. (2016). เปิดโฉมหน้ามุสลิมมาเลเซีย : การจัดการอิสลามในยุคโลกาภิวัฒน์. Retrieved พฤษภาคม 2016, 02, from ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล: http://www.peace.mahidol.ac.th/th/index.php?option=com_content&task=view&id=197&Itemid=155