มาเลเซีย - ศิลปะการแสดง



           มาเลเซียนับได้ว่าเป็นดินแดนพหุวัฒนธรรม เนื่องจากความหลากหลายหลายทางชาติพันธุ์ อันประกอบไปด้วย 3 กลุ่มหลัก คือ มลายู จีน และอินเดีย ดังนั้นศิลปะการแสดงในมาเลเซียจึงมีความหลากหลายไปตามกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีอัตลักษณ์ทางประวัติศาสตร์และเรื่องราวในการแสดงเป็นของตนเอง

            ศิลปะการแสดงแบบมาเลย์ จำแนกได้เป็น 2 แบบ คือ 1. แบบพื้นถิ่น เช่น Asli และ Inang เป็นการแสดงของชนพื้นเมืองในคาบสมุทรมาเลเซีย 2. แบบประยุกต์ เช่น Joget และ Zapin  เป็นการแสดงของชาวมาเลเซียที่ได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมภายนอกตามบริบททางประวัติศาสตร์และความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง (Taman Sri Nibong RA Log, 2011)

           การเต้นรำยอเก็ต (Joget ) เป็นการแสดงที่มีความนิยมในมาเลเซีย ลักษณะการเต้นมีชีวิตชีวาเคลื่อนไหวไปพร้อมกับจังหวะดนตรีที่สนุกสนาน ศิลปะการแสดงประเภทนี้มีต้นกำเนิดจากการเต้นรำพื้นเมืองของชาวโปรตุเกส ที่กล่าวถึงรัฐมะละกาเมืองท่าการค้าที่มีความเจริญรุ่งเรืองในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 15 ส่วนการรำมะหยง (Mak Yong) เป็นการแสดงที่ใช้บอกเล่าเรื่องราวของความรัก ร้องเพลงละคร และละครตลก เป็นการแสดงขึ้นชื่อของรัฐกลันตัน (ศูนย์อินโดจีนศึกษา วิทยาลัยบริหารรัฐกิจ มหาวิทยาลัยบูรพา, 2556:158)  

            นอกจากนี้ยังมีวงมโหรี เป็นวงดนตรีดั้งเดิมของมาเลเซีย ประกอบด้วยเครื่องสายจากอินโดนีเซีย มีการร้องเพลงประกอบเสียงกลองให้จังหวะอย่างสนุกสนาน ในอดีตกลองยักษ์ของมาเลเซีย หรือ Rebana มีความสำคัญในการติดต่อสื่อสารระหว่างภูเขาลูกหนึ่งไปยังอีกลูกหนึ่ง เพื่อประกาศให้ทราบถึงงานและเหตุการณ์ต่างๆ เช่น งานแต่งงาน ประกาศข่าวสารต่างๆ และสัญญาณเตือนอันตราย โดยการตีกลองเป็นจังหวะที่แตกต่างกันเพื่อบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ กลองยักษ์เป็นพื้นฐานของเครื่องดนตรีที่ใช้ในงานพิธีการต่างๆ มีการจัดงานเทศกาลกลองยักษ์ขึ้นในช่วงเดือนพฤษภาคม หรือ เดือนมิถุนายน ของทุกปีในรัฐกลันตัน(ศูนย์อินโดจีนศึกษา วิทยาลัยบริหารรัฐกิจ มหาวิทยาลัยบูรพา, 2556:158) 

            ศิลปะการแสดงของชาวจีน จำแนกได้เป็น 2 ประเภท คือ ศิลปะการแสดงแบบดั้งเดิม ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์โจว และ ศิลปะการแสดงตามกลุ่มชาติพันธุ์ เป็นรูปแบบการแสดงภายในกลุ่มชาติพันธุ์ที่ประดิษฐ์ขึ้นเอง ส่วนศิลปะการแสดงแบบอินเดีย มีหลากหลายรูปแบบที่ได้รับความนิยม เช่น Bhangra ,Bihu, Chhau,Ghoomar ,Dandiya,Yakshagana และ Lavani เป็นต้น (Tan Hooi Ping, 2016) 

           

บรรณานุกรม

    Taman Sri Nibong RA Log. (16 September 2011). เรียกใช้เมื่อ 02 May 2016 จาก Cultural Dances & Traditional Musical Instruments of Malaysia: https://tsnra.wordpress.com/2011/09/16/4-cultural-dances-of-malaysia/

    Tan Hooi Ping. (2016). เรียกใช้เมื่อ 02 May 2016 จาก Malaysia Traditional Dance: http://hooiping88.blogspot.com/p/malaysia-traditional-dance.html

    ข้อมูลพื้นฐานสหพันธรัฐมาเลเซีย. (ม.ป.ป.). ชลบุรี: ศูนย์อินโดจีนศึกษา วิทยาลัยการบริหารรัฐกิจ มหาวิทยาลัยบูรพา.