มาเลเซีย - อาหาร



มาเลเซียเป็นประเทศพหุวัฒนธรรมมีกลุ่มชาติพันธุ์หลัก 3 กลุ่ม ได้แก่ มลายู จีน และอินเดีย  แม้ว่าอาหารส่วนใหญ่จะเป็นอาหารฮาลาล เนื่องจากมีประชากรกลุ่มชาติพันธุ์มลายูมุสลิมถึงร้อยละ 61.3 ขณะเดียวกันยังมีอาหารจากกลุ่มชาติพันธุ์จีนและอินเดียที่ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน เช่น ข้าวมันไก่ บะหมี่ หมูแดง หมูหัน เป็ดย่าง ซาลาเปา ป่อเปี๊ยะ ย้งโต่วฝู ล้วนแล้วแต่เป็นอาหารจีนที่มีการผสมผสานกระทั่งกลายเป็นส่วนหนึ่งของอาหารมาเลย์  ส่วนอาหารอินเดีย ได้แก่ ทันดูรี นาซิ เบรยานีดาล(แกงถั่วเลนทิล) โรตี มะตะบะ จาปาตี นาน อาจาด และอาหารที่มีส่วนประกอบของเครื่องเทศหลากชนิดโดยเฉพาะผงกะหรี่  นอกจากนี้ตามรัฐต่างๆยังมีอาหารที่ปรุงขึ้นจากวัตถุดิบในท้องถิ่นมีความแตกต่างไปแต่ละพื้นที่ เช่น ในซาบาห์และซาราวัก พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าดิบชื้นและอุดมสมบูรณ์มีชนเผ่าต่างๆ กว่า 30 กลุ่ม ดังนั้นจึงนิยมบริโภคหมูป่าและกวาง เป็นต้น (นันทนา ปรมานุศิษฏ์,2556:60)                                                                                                                                   

อาหารมาเลย์ปรุงจากวัตถุดิบนานาชนิด ได้แก่ ขมิ้น ขิง ข่า พริก หอม กระเทียม ใบมะกรูด ใบชะพลู ผักแพว สะตอ ใบเหมียง ยอดมะม่วงหิมพานต์ เนื้อวัว เนื้อแพะ เนื้อหมู เป็ด ไก่ และอาหารทะเล นิยมใช้กะทิในการปรุงอาหาร ใช้ “แคนเดิลนัต” (Candlenuts) เพื่อเพิ่มความเข้มข้นของน้ำแกง มีเครื่องปรุงรสสำคัญ คือ กะปิมาเลย์ หรือ “เบลาชัน” (Belecan) และน้ำบูดู (Budu) ซีอิ๊ว เต้าเจี้ยว น้ำปลา น้ำตาลโตนด มะนาว ส้มแขก และส้มจี๊ด(นันทนา ปรมานุศิษฏ์, 2556:61)  นอกจากนี้มาเลเซียทางตอนเหนือยังนิยมใช้มะขามและพริก เป็นวัตถุดิบที่ได้รับอิทธิพลจากประเทศไทยเนื่องจากมีอาณาเขตติดต่อกันและมีความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์ หากเป็นดินแดนที่ติดกับชายฝั่งด้านตะวันตกจะนิยมบริโภคเครื่องเทศใช้เครื่องเทศจำนวนมากในการประกอบอาหารเนื่องจากได้รับอิทธิพลจากอินเดีย (Rosemarry Brissenden, 2007:179)                                               

เมนูยอดนิยมรับประทานได้ทุกกลุ่มชาติพันธุ์ เนื่องจากไม่มีส่วนผสมของเนื้อหมู  คือ นาซิเลอมัก นาซิ (Nasi Lemak) แปลว่า ข้าว ส่วน เลอมัก แปลว่า มัน เป็นความมันที่ได้จากกะทิ วิธีการปรุงเริ่มต้นจากนำข้าวไปหุงกับน้ำกะทิและใบเตยเพื่อความหอมมัน รับประทานคู่กับน้ำพริก หรือ ซัมบัล แตงกวา ถั่วลิสงและปลาตัวเล็กทอด นอกจากอาหารคาวแล้วยังมีอาหารหวาน ชื่อว่า บูบู ชาช่า (BoBo Chacha) สีสันคล้ายอัญมณีหลากชนิดเชื่อว่าจะเกิดความเป็นสิริมงคลเมื่อได้รับประทาน ปรุงขึ้นจากวัตถุดิบนานาชนิด ได้แก่ เผือก มันเทศ มันต่อเผือก สาคูเม็ดเล็ก กล้วยหอม แป้งมัน สีผสมอาหาร ต้มในน้ำกะทิ น้ำตาลทราย และใบเตยหอม (รายการโฮมรูม, 2559)                                                  

นอกจากนี้ยังมีอาหารยอดนิยมนานาชนิด เช่น สะเต๊ะ (Satay) มีชื่อเสียงมากในมาเลเซีย เป็นอาหารประเภทปิ้งย่าง ใช้เนื้อสัตว์ ได้แก่ เนื้อไก่ เนื้อวัว เนื้อแพะ คลุกกับเครื่องเทศเสียบไม้แล้วนำไปย่าง รับประทานกับซอสที่มีส่วนผสมของเครื่องเทศและถั่ว มีเครื่องเคียงเป็นแตงกวา หอมใหญ่ และสับปะรด โรตีจาไน (Roti Canai) ทำจากแป้งสาลีแข็ง รอเย๊าะ หรือ สลัดแขก (Rojak) เป็นสลัดผักที่มีเส้นหมี่ แตงกวา ถั่ว กุ้งชุบแป้งทอด ไข่ต้มและนมข้น ราดด้วยซอสที่ทำมาจากถั่ว ชาก๋วยเตี๋ยว (Char Kway Teow) ก๋วยเตี๋ยวผัดใส่กระเทียมนิดหน่อย กุ้งสด ถั่วงอก ปลาค้อกเคิ้ล และไข่ โรยซอสถั่วและพริกเมื่อจะรับประทาน (ศูนย์อินโดจีนศึกษา วิทยาลัยบริหารรัฐกิจ มหาวิทยาลัยบูรพา, 2556:152-153)                                                               

มากกว่านั้นกลุ่มชาวมาเลเซียเชื้อสายไทยในอำเภอตุมปัต รัฐกลันตัน อาหารมิได้ถูกใช้เพื่อยังชีพเท่านั้น หากแต่ยังมีบทบาทในการเป็นเครื่องเซ่นสังเวยแก่บรรพบุรุษในประเพณีทำบุญเดือนสิบ ที่จัดขึ้นทุกปีในวันแรม 1 ค่ำและ 15 ค่ำ เพื่ออุทิศบุญกุศลแก่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้ว มีอาหารหลัก 5 ชนิด ได้แก่ ขนมลา ขนมเจาะหู(ขนมดีซำ) ขนมพอง ขนมบ้า และขนมไข่ปลา(ขนมกง) รวมเรียกว่า ขนมเดือนสิบ อาหารหลักในประเพณีทำบุญเดือนสิบ จึงหมายถึง อาหารอันเป็นหัวใจและขาดไม่ได้ในประเพณี จะทำขึ้นในช่วงมีงานบุญประเพณีนี้เท่านั้น(สุธานี เพ็ชรทอง,2547:64)                                                              

ดังนั้น อาหารจึงมิได้มีไว้เพียงบริโภคเพื่อยังชีพหากแต่ยังมีส่วนในการสร้างกระบวนการเรียนรู้ในประเด็นของความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นภายในประเทศและกลุ่มชาติพันธุ์ทั้งยังเป็นการแสดงถึงตัวตนและอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์และเป็นหัวใจสำคัญในประเพณีและพิธีกรรมที่ใช้เซ่นไหว้บรรพบุรุษอีกด้วย

บรรณานุกรม

    Rosemarry Brissenden. (2007). SOUTHEAST ASIAN FOOD. United States of America.

    ข้อมูลพื้นฐานสหพันธรัฐมาเลเซีย. (ม.ป.ป.). ศูนย์อินโดจีนศึกษา วิทยาลัยบริหารรัฐกิจ มหาวิทยาลัยบูรพา.

    นันทนา ปรมานุศิษฏ์. (2556). โอชาอาเซียน. กรุงเทพมหานคร: มติชน.

    รายการโฮมรูม. (2559). โฮมรูม/โอชารสอาเซียน/อาหารมาเลเซีย. Retrieved 04 27, 2559, from http://youtubeall.com/watch/90PJ9MNs1rU/.html