มาเลเซีย - ประเพณีพิธีกรรม



           ด้วยความเป็นพหุสังคม มาเลเซียจึงมีงานประเพณีและพิธีกรรมที่หลากหลายแตกต่างไปตามกลุ่มชาติพันธุ์และศาสนา กลุ่มชาติพันธุ์หลักคือ มลายู ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม ส่วนกลุ่มชาวจีน ประชากรนับถือศาสนาคริสต์ พุทธ ขงจื๊อและเต๋า ขณะที่ชาวอินเดีย ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาฮินดู

            วันสำคัญของชาวมาเลเซียทุกกลุ่มชาติพันธุ์คือ วันชาติ ตรงกับวันที่ 31 สิงหาคม ของทุกปี เป็นวันที่มาเลเซียได้รับเอกราชจากเจ้าอาณานิคมอังกฤษ มีการจัดจัดงานเฉลิมฉลองอย่างครึกครื้น มีริ้วขบวนแห่ไปตามถนนสายสำคัญในกรุงกัวลาลัมเปอร์ เมืองหลวงของมาเลเซีย (วิทย์ บัณฑิตกุล, 2555:131)

            งานเทศกาลสำคัญสำหรับชาวมลายูมุสลิม คือ เทศกาลฮารีรายา ถือเป็นวันสำคัญในรอบปีของผู้นับถือศาสนาอิสลาม วันสำคัญนี้กำหนดขึ้นจากการเฝ้าสังเกตดูดวงจันทร์ในวันสุดท้ายของการถือศีลอดในเดือนรอมฎอน โดยรัฐบาลเป็นผู้ประกาศให้รับรู้อย่างเป็นทางการ ทั้งนี้ในช่วงเวลาดังกล่าวยังถือเป็นวันหยุดราชการติดต่อกันหลายวันอีกด้วย (วิทย์ บัณฑิตกุล, 2555:134)

           งานเทศกาลสำคัญของชาวจีน คือ เทศกาลตรุษจีน ถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ของชาวจีนในมาเลเซียเช่นเดียวกับชาวจีนทั่วโลก มีการทำความสะอาดบ้านเรือนและประดับตกแต่งอย่างสวยงาม ตามศาลเจ้าต่างๆมีผู้คนหลั่งไหลเข้ากราบขอพระปีใหม่จากเทพเจ้า ทั้งยังมีกิจกรรมเชิดสิงโต สัญลักษณ์สำคัญอย่างหนึ่งเมื่อมีการเฉลิมฉลองของชาวจีน (วิทย์ บัณฑิตกุล, 2555:127)

           งานเทศกาลสำคัญของชาวอินเดีย คือ ประเพณีดีปาวาลี เป็นเทศกาลวันขึ้นปีใหม่ของชาวฮินดู และบูชาพระนางลักษมี ชายาของพระนารายณ์ เชื่อว่าเป็นเทพธิดาแห่งความร่ำรวยมั่งคั่ง ทั้งนี้ประเพณีดังกล่าวตรงกับวันพระจันทร์เต็มดวงในช่วงกลางเดือนตุลาคม ชาวฮินดูจึงมีการบูชาดวงจันทร์ด้วยความเชื่อว่าเป็นสัญลักษณ์ของพระนางลักษมี (วิทย์ บัณฑิตกุล, 2555:133)

           ท่ามกลางประเพณีและพิธีกรรมของชาวมลายู จีน และอินเดีย ยังมีงานประเพณีทำบุญเดือนสิบของชาวมาเลเซียเชื้อสายไทย ในอำเภอตุมปัต รัฐกลันตัน ที่จัดขึ้นทุกปีในวันแรม 1 ค่ำและ 15 ค่ำเดือน 10 เป็นพิธีทางพระพุทธศาสนาผสมผสานกับความเชื่อในสิ่งลี้ลับเกี่ยวกับวิญญาณของบรรพบุรุษ ถือเป็นประเพณีเก่าแก่และสำคัญมาก มีการยึดถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด คนในท้องถิ่นเรียกว่า ประเพณีชิงเปรต หรือ วันชิงเปรต ตามความเชื่อทางพระพุทธศาสนาว่า ในปลายเดือนสิบของทุกปี บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว และผู้ที่มีบาปทั้งหลายในนรก จะถูกปล่อยขึ้นมาให้พบลูกหลานในวันแรม 1 ค่ำเดือน 10 เรียกว่า วันรับเปรต และถูกเรียกกลับสู่นรกในวันแรม 15 ค่ำเดือน 10 เรียกว่า วันส่งเปรต มีการทำบุญเพื่ออุทิศกุศลแก่ผู้ล่วงลับในวันดังกล่าว(สุธานี เพ็ชรทอง,2547:44)  ของสำคัญในพิธีนี้กลับไม่ใช้อาหารคาวแต่เป็นอาหารหวานอันถือเป็นหัวใจหลักของพิธีกรรม เรียกว่า อาหารหลักในประเพณี มี 5 ชนิด คือ ขนมลา ขนมเจาะหู (ขนมดีซำ) ขนมพอง ขนมบ้า และขนมไข่ปลา (ขนมกง) (สุธานี เพ็ชรทอง,2547:64)

             แม้ว่ามาเลเซียเป็นประเทศที่มีความเข้มข้นของศาสนาอิสลามเนื่องจากมีกลุ่มชาติพันธุ์หลักเป็นชาวมลายูมุสลิม แต่กระนั้นประเพณีและพิธีกรรมของกลุ่มชาติพันธุ์อื่นยังคงมีที่ยืนและสามารถแสดงตัวตนในงานสำคัญต่างๆ สะท้อนให้เห็นการสนับสนุนความเป็นพหุสังคมและการยอมรับในความแตกต่างของกันและกัน

บรรณานุกรม

    วิทย์ บัณฑิตกุล. (2555). มาเลเซีย. กรุงเทพมหานคร: บริษัททวีพริ้นท์ (1991) จำกัด.

    สุธานี  เพ็ชรทอง. (2547).  ศึกษาประเพณีทำบุญเดือนสิบของชาวมาเลเซียเชื้อสายไทย ในอำเภอตุมปัต รัฐกลันตันประเทสมาเลเซีย. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ.