มาเลเซีย - ชาติพันธุ์



            มาเลเซีย มีชื่อทางการว่า สหพันธรัฐมาเลเซีย เดิมชื่อสหพันธรัฐมลายา ได้รับเอกราชจากอังกฤษเมื่อ ค.ศ.1957 ขณะนั้นมีเขตแดนเพียงคาบสมุทรมลายู ต่อมาปีค.ศ.1963 รวมตัวกับซาบาห์ ซาราวัก และ สิงคโปร์ จากนั้นเปลี่ยนชื่อเป็นมาเลเซีย ภายหลังสิงคโปร์แยกตัวออกไปเมื่อปีค.ศ.1965 มาเลเซียในปัจจุบันจึงมีเขตแดนเพียงคาบสมุทรมลายูหรือมาเลเซียตะวันตก กับรัฐซาบาห์และซาราวัก บนเกาะบอร์เนียวเหนือที่เรียกว่ามาเลเซียตะวันออก ประชากรส่วนใหญ่ประกอบไปด้วยกลุ่มชาติพันธุ์หลัก 3 กลุ่มได้แก่ มลายู จีน และอินเดีย (ปวีณา บุหร่า,2543:1)

            จากข้อมูลปีค.ศ.2010 มาเลเซียมีประชากรทั้งสิ้น 28.3 ล้านคน ร้อยละ71 อาศัยในเขตเมือง ประชากรส่วนใหญ่ร้อยละ 67.4 เป็นกลุ่มชาติพันธุ์มลายู หรือ “ภูมิบุตร” แปลว่า “บุตรของแผ่นดิน” กลุ่มชาติพันธุ์จีนร้อยละ 24.6 และกลุ่มชาติพันธุ์อินเดียร้อยละ 7.3 (Jesudas M.Athyal,Editor, 2015:164)

            ชาวมลายูเป็นกลุ่มชาติพันธุ์หลักที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดในประเทศ ใช้ภาษามลายูในการสื่อสารและนับถือศาสนาอิสลาม ทั้งยังเป็นมุสลิมที่มีความผูกพันกับชุมชนของตนอย่างมาก มีสำนึกในการเป็นมลายูผ่านสำนึกการนับถือศาสนาอิสลาม ส่วนมากอาศัยในชนบทประกอบอาชีพเกษตรกรรม หากอาศัยในเขตเมืองมักจะรับราชการ ชาวมลายูทุกคนได้รับสิทธิพิเศษเหนือกลุ่มชาติพันธุ์อื่นในฐานะเป็นเจ้าของแผ่นดินหรือ “ภูมิบุตร” เช่น การถือครองที่ดินและการรับราชการ หากเป็นปัญญาชนจะเป็นผู้กุมอำนาจทางการเมืองและการบริหาร (ปวีณา บุหร่า,2543:14)

            ส่วนชาวจีนเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีจำนวนมากรองจากกลุ่มมลายู ใช้ภาษาจีนและนับถือศาสนาพุทธ ขงจื๊อและเต๋า   เป็นชนชั้นกลางของสังคมมีบทบาทและกุมอำนาจในการพัฒนาประเทศด้านเศรษฐกิจ ส่วนมากเป็นพ่อค้าคนกลาง เจ้าของกิจการร้านค้าเล็กๆ ที่กระจายอยู่ทั่วไป ทั้งยังประกอบกิจการธนาคาร บริษัทประกันภัย บริษัทขนส่งทางทะเล เหมืองแร่ และสวนยาง ส่วนใหญ่ตั้งถิ่นฐานโดยแยกตามสำเนียงภาษาอยู่ทางภาคตะวันตกของคาบสมุทรมลายูมีทรัพยากรทางธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ เนื่องจากมีศาสนาภาษาและวัฒนธรรมเป็นของตนเอง ทำให้ชาวจีนเป็นผู้ที่ยึดติดกับกลุ่มของตนและรักษาเอกลักษณ์ดังกล่าวไว้อย่างเหนียวแน่น (ปวีณา บุหร่า,2543:15)  

            ชาวอินเดีย มีจำนวนประชากรรองจากชาวมลายูและจีน ส่วนใหญ่นับถือศาสนาฮินดูและใช้ภาษาฮินดี มักเป็นผู้ใช้แรงงานตามสวนยางพาราซึ่งเป็นสินค้าส่งออกที่ทำรายได้ให้กับมาเลเซีย บางส่วนประกอบธุรกิจสิ่งทอ นักกฎหมาย แพทย์ และปล่อยเงินกู้ (ปวีณา บุหร่า,2543:16)

            มาเลเซียเป็นดินแดนพหุวัฒนธรรม เนื่องจากมีกลุ่มชาติพันธุ์ใหญ่ที่มีวัฒนธรรมต่างกันถึง 3 กลุ่ม ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์เป็นผลสืบเนื่องจากสมัยอาณานิคมที่มาเลเซียถูกปกครองโดยอังกฤษ กล่าวคือ กลุ่มชาติพันธุ์หลักทั้ง 3 กลุ่ม มีความแตกต่างกันทางวัฒนธรรม ภาษา และศาสนา มีปฏิสัมพันธ์และการปรับตัวเข้าหากันน้อย ต่างคนต่างอยู่ในกลุ่มชนที่เป็นชาติพันธุ์เดียวกัน โดยมีอังกฤษเป็นตัวกลางติดต่อในการทำกิจกรรมต่างๆ เช่น กิจกรรมทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง(อนุสรณ์ เมฆบุตร:5)

          อังกฤษปกครองด้วยวิธีการ “แบ่งแยกและปกครอง”  มีการนำเข้าชาวจีนมาเป็นแรงงานในเหมืองแร่ดีบุกเพื่อรองรับอุตสาหกรรมในประเทศแม่ ส่วนชาวอินเดียถูกนำมาเป็นแรงงานในสวนยางพารา ขณะที่ชาวมลายูยังคงอยู่ในภาคเกษตรกรรมผลิตเพื่อยังชีพเท่านั้น เป็นที่สังเกตได้ว่าอังกฤษมีการนำเข้าชาวจีนและอินเดียมาเป็นแรงงานเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ส่วนชาวมลายูนั้นยังคงถูกกีดกันให้อยู่ในภาคการเกษตรต่อไป ทั้งนี้อาจเนื่องเพราะอังกฤษหวั่นเกรงว่าหากชาวมลายูมีโอกาสในการครอบครองพื้นที่ทางเศรษฐกิจ จะก่อให้เกิดการต่อต้านขัดขืนการปกครองของตน ดังนั้นจึงส่งผลให้ชาวจีนและอินเดียมีฐานะทางเศรษฐกิจที่สูงกว่าชาวมลายู(กอร์ปธรรม นีละไพจิตร, 2553:109)

          ภายหลังได้รับเอกราช ความรู้สึกไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจระหว่างชาวมลายูและชาวจีนนำไปสู่การจลาจลทางเชื้อชาติครั้งใหญ่และร้ายแรงที่สุดในปี ค.ศ.1969 กล่าวคือแม้ว่าชาวมลายูคือ “ภูมิบุตร” มีสิทธิทางการเมืองในแผ่นดินของตนอย่างเต็มที่ แต่ฐานะทางเศรษฐกิจยังด้อยกว่าชาวจีน ขณะที่ชาวจีนแม้ว่าจะมีฐานะทางเศรษฐกิจที่ดีกว่าชาวมลายู แต่ฐานะทางการเมืองยังคงด้อยกว่า ดังนั้นเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองในปีดังกล่าวจึงเกิดขึ้นจากความต้องการในสิ่งที่ตนไม่มีของแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ (ปวีณา บุหร่า,2543:116)

          เมื่อเหตุการณ์สงบลงรัฐบาลมาเลเซียได้ประกาศใช้นโยบายเศรษฐกิจใหม่ ด้วยวัตถุประสงค์ 2 ประการ คือ 1. เพื่อขจัดความยากจนของประชาชนทุกชาติพันธุ์ 2. เพื่อการปรับโครงสร้างทางสังคมใหม่ (เหมือนขวัญ เรณุมาศ, 2556:70) โดยหวังว่านโยบายดังกล่าวจะนำไปสู่ความเป็นความเป็นเอกภาพของชาติในที่สุด แต่อย่างไรก็ตามแม้ว่าในท้ายที่สุดนโยบายนี้สามารถทำให้สภาพชีวิตของชาวมลายูดีขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็ยังเอื้อประโยชน์ทางเศรษฐกิจและยังคงสร้างเสริมฐานะของชาวจีนให้สูงขึ้นกว่าชาวมลายู เนื่องจากชาวจีนมีประสบการณ์ทางเศรษฐกิจตั้งแต่สมัยอาณานิคม และภายใต้นโยบายเศรษฐกิจใหม่จึงก่อให้เกิดการสร้างและขยายตัวทางเศรษฐกิจของชาวจีนมากยิ่งขึ้น (ปวีณา บุหร่า,2543:119)

         แม้ว่านโยบายเศรษฐกิจใหม่จะสร้างงานสร้างรายได้จากการนำมาตรการต่างๆ ไปปฏิบัติทางเศรษฐกิจ ภายในระยะเวลา 20 ปี ตั้งแต่ค.ศ.1971-1990 สามารถแก้ปัญหาความยากจน สร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น พัฒนาประเทศให้มีโครงสร้างพื้นฐานด้านการเกษตรไปสู่โครงสร้างพื้นฐานทางอุตสาหกรรมมากขึ้น เพื่อเกิดการจ้างงานและอาชีพใหม่ๆ แต่ยังไม่สามารถสร้างเอกภาพระหว่างประชากรกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ อย่างมั่นคงได้ภายในระยะเวลา 20 ปี เนื่องจากยังคงมีปัจจัยหลายประการที่สามารถก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ได้ในสังคมมาเลเซีย (ปวีณา บุหร่า,2543:119)

         แม้ว่ามาเลเซียจะไม่สามารถหลีกเลี่ยงปัญหาความแตกต่างของกลุ่มชาติพันธุ์ได้ แต่สิ่งที่รัฐบาลมาเลเซียทำและประสบความสำเร็จคือการผลักดันนโยบายทางเศรษฐกิจที่ส่งผลดีต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน นอกจากนี้สิ่งสำคัญควบคู่ไปกับนโยบายเศรษฐกิจคือพรรคการเมืองต่างๆ ในประเทศมาเลเซียที่มีฐานะเป็นตัวแทนของกลุ่มชาติพันธุ์ มีการดำเนินนโยบายที่ตอบสนองต่อกลุ่มชาติพันธุ์เพื่อเป็นการลดแรงปะทะโดยตรงของประชาชน เพื่อไม่ให้มีความรุนแรงเกิดขึ้นดังที่เคยมีมา

บรรณานุกรม

    Jesudas M.Athyal,Editor. (2015). Religion in Southeast Asia. California.

    กอร์ปธรรม นีละไพจิตร. (2553). ชาติพันธุ์มลายูกับบริบทของรัฐชาติสมัยใหม่:ก่อนยุคแห่งวาทกรรมโหยหาสมานฉันท์. ใน สุเจน กรรพฤทธิ์ และ สิทธา เลิศไพบูลย์ศิริ, อุษาคเนย์ที่รัก (หน้า 98-113). กรุงเทพมหานคร.

    ปวีณา  บุหร่า. (2543).  นโยบายเศรษฐกิจใหม่ (ค.ศ.1971 - 1990) กับปัญหาการสร้างเอกภาพระหว่างประชากรเชื้อชาติต่างๆในมาเลเซีย. สารนิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

    เหมือนขวัญ เรณุมาศ. (2556). ว่าด้วยชาติพันธุ์และเศรษฐกิจการเมืองมาเลเซีย. รูสมิแล, 67-74.

    อนุสรณ์  เมฆบุตร. (2549). การบูรณาการกลุ่มชาติพันธุ์ในรัฐพหุสังคม : กรณีศึกษากลุ่มชาติพันธุ์สยามในรัฐเคดาห์ ประเทศมาเลเซีย. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาภูมิศึกษา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.