มาเลเซีย - ข้อมูลพื้นฐาน



ที่ตั้งและอาณาเขต: ประเทศมาเลเซียเป็นประเทศที่ตั้งอยู่ในบริเวณภาคพื้นสมุทรของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยแบ่งออกเป็น มาเลเซียตะวันออก และมาเลเซียตะวันตก มีพื้นที่รวม 329,347 ตารางกิโลเมตร มาเลเซียตะวันออก ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของเกาะบอร์เนียวทางตะวันออกของช่องแคบมลายู ประกอบด้วย ซาบาห์และซาราวัคโดยมีประเทศบรูไนคั่นระหว่างสองรัฐ มาเลเซียตะวันตก อยู่ในบริเวณคาบสมุทรมลายูมีอาณาเขตติดต่อกับภาคใต้ของไทย ประกอบไปด้วยรัฐทั้งสิ้น 11 รัฐ ได้แก่ กลันตัน เประ ปะลิส เกดะห์ ยะโฮร์ มะละกา เนกรีเซมบีลัน ปะหัง ตรังกานู ปีนัง และสลังงอร์ โดยมี กัวลาลัมเปอร์ ปุตราจายาซึ่งเป็นเมืองสำคัญทางราชการ และเกาะลาบวน เป็นเขตการปกครองพิเศษ

 

อาณาเขต:           
    ทิศเหนือ มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศไทย
    ทิศใต้ มีอาณาเขตติดต่อกับช่องแคบยะโฮร์ กั้นระหว่างประเทศมาเลเซียและประเทศสิงคโปร์
    ทิศตะวันออก มีอาณาเขตติดต่อกับทะเลจีนใต้
    ทิศตะวันตก มีอาณาเขตติดต่อกับทะเลอันดามันในมหาสมุทรอินเดียและช่องแคบมะละกาซึ่งกั้น ระหว่างประเทศมาเลเซียและเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย

 

ลักษณะทางภูมิศาสตร์: ลักษณะภูมิประเทศของมาเลเซียตะวันตก บนคาบสมุทรมลายูมีพื้นที่เป็นที่ราบลุ่มมีดินทรายถูกพัดมาจมฟากฝั่งอย่างต่อเนื่องยาว 960 กิโลเมตร ยาวไปตามชายฝั่งตะวันตกตั้งแต่ปะลิสถึงยะโฮร์ มีที่ราบสูงในตรังกานูขวาง มีศูนย์กลางทางการเมืองสมัยต้นจัดตั้งขึ้นใกล้แม่น้ำ ซึ่งชื่อรัฐต่างๆบนคาบสมุทรส่วนมากมาจากชื่อเรียกแม่น้ำสายสำคัญ แม่น้ำปะหังเป็นแม่น้ำสายที่ยาวที่สุดในมาเลเซีย มีความยาว 447 กิโลเมตร

สำหรับมาเลเซียตะวันออกบนเกาะบอร์เนียว มีภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขาและที่ราบสูงตอนใน มีที่ราบลุ่มมีดินทรายถูกพัดพามาทับถมก่อให้เกิดทิวเขาตามชายฝั่ง  มีที่ราบลุ่มกว้างเป็นที่ราบเนินตีนเขาตอนในเป็นเทือกเขา มีภูเขาคินาบาลูเป็นจุดที่สูงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

ลักษณะทางภูมิอากาศ : บริเวณที่ตั้งของประเทศมาเลเซียตั้งอยู่เหนือเส้นศูนย์สูตร ส่งผลให้มีอากาศร้อนและชื้นเกือบทุกพื้นที่ทั้งทางฝั่งตะวันออกและตะวันตก มีอุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 25.5 – 33 องศาเซลเซียส การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิสังเกตได้จากการเปลี่ยนแปลงของกระแสลมมรสุม ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ รับลมจากทะเลจีนใต้ เป็นลมกระแสหลักที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนพฤศจิกายน ถึง มกราคม จากนั้นในเดือนเมษายน ถึง พฤษภาคมจะเป็นลมตะวันตกเฉียงใต้ และเกิดการเปลี่ยนผ่านอีกครั้งในเดือนตุลาคม ถึง พฤศจิกายน ประเทศมาเลเซียมีฝนตกชุกปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยตั้งแต่ 2,000 – 4,000 มิลิเมตรต่อปี ด้วยลักษณะทางภูมิอากาศที่มีความชื้นตลอดทั้งปีส่งผลให้พืชพรรณและแหล่งทรัพยากรต่างๆอุดมสมบูรณ์ อุทยานแห่งชาติโกตาคินาบาลูในรัฐซาบาห์เป็นสถานที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์มาก นอกจากนี้ยังมีป่าชายเลนติดฝั่งทะเลและบริเวณปากแม่น้ำชายฝั่งตะวันตกของคาบสมุทรและฝั่งบอร์เนียว สถานที่ทางนิเวศวิทยาเหล่านี้เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญของการท่องเที่ยวมาเลเซียอีกด้วย


ประชากร: ประชากรของมาเลเซียในปัจจุบันมีจำนวนประมาณ 30,089,423คน  (สำนักสถิติแห่งชาติมาเลเซีย สืบค้น23 กันยายน 2558 https://www.statistics.gov.my.)

กลุ่มชาติพันธุ์: มาเลเซียมีลักษณะทางสังคมแบบพหุสังคมมีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ โดยสามารถแบ่งออกเป็นกลุ่มเชื้อชาติหลักได้ 3 เชื้อชาติ ได้แก่ มลายู จีน และ อินเดีย นอกจากนี้ยังประกอบไปด้วยกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆในซาบาห์และซาราวัค กลุ่มคนเชื้อชาติมลายูเป็นกลุ่มที่เป็นประชากรมากที่สุดในประเทศ ประมาณร้อยละ 50 ซึ่งตามนิยามของกฎหมายเกี่ยวกับคนมลายู คือ ผู้ที่พูดภาษามลายู ยึดมั่นในธรรมเนียมมลายูและนับถือศาสนาอิสลาม อีกทั้งยังได้รับการขนานนามว่าเป็น ภูมิบุตร หรือ บุตรของแผ่นดิน ซึ่งรวมกลุ่มคนพื้นเมืองดั้งเดิม คือ กลุ่มโอรังอัซลี ไว้ในกลุ่มนี้ด้วย  ชาวมลายูมีอาชีพเกษตรกรรมและรับราชการเป็นส่วนใหญ่

กลุ่มชาวจีนและชาวอินเดียรวมทั้งชาวปากีสถาน ชาวบังคลาเทศและชาวศรีลังกา โดยส่วนใหญ่เป็นผู้สืบเชื้อสายมาจากผู้ย้ายถิ่นฐานเข้ามาตั้งแต่กลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 โดยมาทำงานทางเศรษฐกิจสมัยอาณานิคม ชาวจีนในเมืองมีบทบาททางด้านการค้าและภาคธุรกิจ ส่วนชาวอินเดียในอดีตมักรับจ้างทำงานในสวนยางและต่อมาอพยพเข้าสู่ภาคแรงงานในเมือง

กลุ่มชาติพันธุ์ทางซาบาห์และซาราวัค เป็นประชากรมลายูชายฝั่งทะเลที่ประกอบไปด้วย กลุ่มอีบัน หรือดายัคทะเล นับถือศาสนาคริสต์ ที่ซาบาห์ มีกลุ่มกาดาซานและดูซุนอาศัยอยู่ กาดาซาน นับถือศาสนาคริสต์ ส่วนดูซุนนับถือศาสนาอิสลาม

ความหลากหลายทางเชื้อชาติ ภาษา และศาสนาของประชากรในมาเลเซียนั้นส่งผลให้เกิดการจัดการหาหนทางที่จะเชื่อมประสานคนหลายกลุ่มเข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งสิ่งสำคัญนั้นก็คือ “ภาษา” โดยมีภาษามาเลเซียเป็นภาษาราชการ ภาษาอังกฤษใช้กันอย่างกว้างขวางในการติดต่อ และภาษาอื่นๆ ก็ใช้พูดกันปกติในกลุ่มชาติพันธุ์ของตน คนจีนพูดภาษาจีนกลาง หรือไม่ก็แยกตามกลุ่มไป เช่น แคะ ฮกเกี้ยน แต้จิ๋ว กวางตุ้ง เป็นต้น ส่วนคนอินเดียใช้ภาษาทมิฬเป็นภาษากลาง นอกจากนี้ยังพบภาษาท้องถิ่นอื่นๆอีกด้วยความซับซ้อนทางภาษาสอดรับกับความหลากหลายเรื่องของศาสนาและวัฒนธรรมประเพณีภายในสังคมมาเลเซีย ชาวมลายูและภูมิบุตรา ทั้งหมดนับถือศาสนาอิสลาม คนพื้นเมืองอื่นๆ บางพวกนับถืออิสลาม หรือคริสต์ และมีอีกจำนวนไม่น้อยที่นับถือศาสนาพื้นเมืองของตน ชาวพุทธนับถือขงจื๋อ เต๋า การนับถือศาสนาฮินดูส่วนใหญ่จะเป็นการนับถือในสังคมชาวอินเดีย

สังคมวัฒนธรรม: สังคมมาเลเซียมีลักษณะพหุสังคมประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ จากภาพลักษณ์ดังกล่าว ได้ทำให้สภาพสังคมของมาเลเซียดำเนินไปอย่างขาดเอกภาพ และความปรองดอง เมื่อใดที่เกิดปัญหาที่นำไปสู่ประเด็นทางด้านเชื้อชาติวิกฤตการณ์ทางสังคมย่อมเกิดขึ้นได้ แต่การที่สังคมมาเลเซียยังอยู่ได้อย่างสงบ ก็เนื่องมาจากการประนีประนอมทางการเมืองและทางเศรษฐกิจ ที่จะทำให้ชาวมลายูดูแลทางด้านการเมืองและชาวจีนกับชาวอินเดียดูแลทางด้านเศรษฐกิจ แต่การแบ่งผลประโยชน์เช่นนี้ได้ทำให้สถานะทางเศรษฐกิจของชาวมลายูตกต่ำอย่างมาก

รัฐธรรมนูญของประชาชนมาเลเซียหรือของชาวมลายู บทบัญญัติทั่วไปของรัฐธรรมนูญมาเลเซีย จะให้ความคุ้มครองต่อเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนยกเว้นในกรณีที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของชาติ ความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมของสังคม นอกจากนี้ ประชาชนทุกคนจะได้รับการปฏิบัติตามกระบวนการของกฎหมาย หรือในกรณีที่ถูกควบคุม ก็จะได้รับการแจ้งข้อกล่าวหาและสาเหตุก่อนการถูกควบคุม และยังได้รับอนุญาตให้ติดต่อที่ปรึกษาทางกฎหมายหรือทนายความได้ ยกเว้นในภาวะฉุกเฉิน ภาวะฉุกเฉินนี้ครอบคลุมไปถึงการจลาจล การต่อต้านประมุขและสถาบันของประเทศ ภาวะที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ

ในกรณีภาษา ได้เป็นปัญหาที่สำคัญในพหุสังคมของมาเลเซียเช่นกัน แต่จากข้อตกลงร่วมกันระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล ได้ทำให้ภาษามลายูเป็นภาษาประจำชาติ ตามกฎหมายว่าด้วยภาษาแห่งชาติ ค.ศ. 1967 และเพื่อเป็นการส่งเสริมการใช้ภามลายูให้แพร่หลาย สภาภาษาได้ใช้วิธีการต่างๆ มากมายมาช่วย เช่น การจัดพิมพ์หนังสือ ตำรา และเอกสารที่ประชาชนทั่วไปนิยมเป็นภาษามลายู ต่อมารัฐบาลเริ่มเห็นผลเสียของการเลิกใช้ภาอังกฤษ  ส่งผลต่อการพัฒนาด้านเศรษฐกิจระดับสากล ประชาชนจึงต้องได้เรียนรูภาษาอังกฤษเป็นอย่างดี

สำหรับศาสนาก็ถือว่ามีส่วนสำคัญอย่างมากทั้งในทางการเมือง การปกครอง และภาพลักษณ์ของชาติพันธุ์ คือทางด้านชาตินิยม ความเป็นกลุ่มผลประโยชน์สำหรับพรรคการเมืองและการจัดระเบียบการปกครอง และการเป็นชาวมลายู ซึ่งในส่วนนี้รัฐธรรมนูญของสหพันธ์ก็ได้กล่าวไว้ว่า ชาวมลายูเป็นบุคคลที่นับถือศาสนาอิสลาม ทำให้การเป็นชาวมลายูกับการนับถือศาสนาอิสลามดูจะแยกกันไม่ออก ซึ่งตามสภาพที่แท้จริงแล้วในสังคมมาเลเซีย มลายูเกือบทุกคนจะเป็นมุสลิม และถ้าชาวมลายูผู้ใดได้เลิกนับถือศาสนานั้น ก็จะถูกตัดออกไปจากการเป็นสมาชิกของชนเผ่าอีกด้วย

พหุสังคม ความหลากหลายทางเชื้อชาติและศาสนา มาเลเซียมีกลุ่มเชื้อชาติหลัก 3 กลุ่ม ได้แก่ มลายู จีน และอินเดีย

บรรณานุกรม

    ชุลีพร วิรุณหะ. (2551). บุหงารายา : ประวัติศาสตร์จากคำบอกเล่าของชาวมลายู. กรุงเทพฯ: ศักดิโสภาการพิมพ์.

    พัชรินทร์ สวนฐิตะปัญญา. (2541). มาเลเซีย : เอกภาพกับการศึกษา. กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย

    พิเชียร คุระทอง. (2541). ทรรศนะและความคิด มหาธีร์ โมฮัมหมัด คนขวางโลก. กรุงเทพฯ:  สำนักพิมพ์มติชน.

    สมพงษ์ งามแสงรัตน์. (2552) .จากมะละกาถึงบาหลีในนามของพระเจ้าและพริกไทย. กรุงเทพฯ: แพรวสำนักพิมพ์.

    อันดายา บาร์บารา วัตสัน และ ลีโอนาร์ด. (1943). ประวัติศาสตร์มาเลเซีย.กรุงเทพฯ: มูลนิธิตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.

    อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ และ ชปา จิตต์ประทุม (บรรณาธิการ). (2542). วิกฤตการณ์มาเลเซีย : เศรษฐกิจ การเมือง-วัฒนธรรม. กรุงเทพฯ: สถาบันเอเชียศึกษา.