มาเลเซีย - บรรณนิทัศน์



พัชรินทร์ สวนฐิตะปัญญา. (2541). มาเลเซีย : เอกภาพกับการศึกษา. กรุงเทพฯ:สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.         

          การเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศมาเลเซียนับตั้งแต่ได้รับเอกราชเมื่อ ค.ศ.1957 (พ.ศ.2500) เป็นต้นมา ลักษณะหลากหลายทางเชื้อชาติได้กลายเป็นปัญหาที่รัฐบาลต้องเร่งแก้ไขเพื่อสร้างสังคมให้มีเอกภาพ ให้ความสำคัญของการศึกษาในโรงเรียน เพราะถือว่าเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับการผลิตพลเมืองที่ต้องการให้แก่สังคม โดยวิธีเน้นเรื่องการใช้ภาษาในโรงเรียน ที่จะสร้างให้มีภาษาประจำชาติ เป็นภาษาสื่อกลางในการติดต่อระหว่างกลุ่มพลเมืองเชื้อชาติต่างๆ การผสมกลมกลืนวัฒนธรรมทางภาษา โดยที่รัฐบาลได้เน้นความสำคัญของภาษามาลายู และกลุ่ม เชื้อชาติมลายู เพียงกลุ่มเดียว ก่อให้เกิดความไม่พอใจในระหว่างกลุ่มเชื้อชาติอื่นๆ อย่างกว้างขวางจนกลายเป็นปัญหาทางสังคมและการเมืองที่เกิดขึ้น ก่อให้เกิดความรู้สึกของความไม่เท่าเทียมกันในระหว่างกลุ่มผู้ที่ไม่ใช่ชาวมลายู ซึ่งกลุ่มเชื้อชาติต่างๆ เหล่านี้เล็งเห็นในเจตนาของรัฐบาลว่าต้องการจะควบคุมการศึกษาของกลุ่มตนให้เป็นไปตามทิศทางที่รัฐบาลต้องการ

          ปัจจุบันรัฐบาลมาเลเซียยังคงมุ่งมั่นที่จะสร้างเอกภาพในสังคม โดยการเน้นพัฒนาบุคลากร นโยบายด้านการศึกษาของมาเลเซียจึงเปลี่ยนจากการเน้น ภาษาบาฮาซา มาเลเซีย มาเน้น ภาษาอังกฤษ ควบคู่กันไป การศึกษาจะเป็นสื่อสำคัญที่จะช่วยให้เกิดความคิดความเข้าใจ และทัศนะในเรื่องต่างๆ เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งจะเอื้อประโยชน์ต่อมาเลเซีย

 

อันดายา บาร์บารา วัตสัน และ ลีโอนาร์ด.(1943). ประวัติศาสตร์มาเลเซีย. กรุงเทพฯ: มูลนิธิตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.

            บอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ของมาเลเซียตั้งแต่ยุคแรกจากชุมชนการค้าขายทางทะเลที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ สู่การเป็นศูนย์กลางการค้าที่ยิ่งใหญ่ โดยอาณาจักรเริ่มแรก คือ ศรีวิชัย สืบทอดต่อมายังมะละกาและยะโฮร์ ซึ่งนอกจากจะมีความเจริญทางกาค้าแล้วยังเหมาะสมสำหรับการอุปถัมภ์ศาสนาอีกด้วย ดังนั้นจึงเรียกได้ว่ามาเลเซียเป็นดินแดนที่ไม่หยุดนิ่งและเป็นที่เปิดรับความก้าวหน้าทางความคิดจากต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยประชาชนท้องถิ่นจะเลือกนำเอาสิ่งที่เหมาะสมมาปรับใช้ให้เหมาะกับความต้องการของตน ต่อมาอาณาจักรเหล่านี้ได้เสื่อมลงหลังจากที่ชาติตะวันตกเข้ามาล่าอาณานิคม เกิดการแบ่งแยกแล้วปกครองโดยเจ้าอาณานิคม

 

สมพงษ์ งามแสงรัตน์. (2552). จากมะละกาถึงบาหลีในนามของพระเจ้าและพริกไทย. กรุงเทพฯ: แพรวสำนักพิมพ์.

            เรื่องราวการบันทึกการเดินทางของนักเขียนที่ตามหาประวัติศาสตร์ของมาเลเซียจากจุดเริ่มต้นที่มะละกา สังคมที่ประกอบไปด้วยการผสมผสานของวัฒนธรรมอันหลากหลาย สะท้อนผ่านภาพเขียนลายเส้นงดงามและร่วมออกไปผจญภัยตามหาที่มาที่ไปของมะละกาและเดินทางต่อไปจนถึงบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย

 

ชุลีพร วิรุณหะ. (2551). บุหงารายา : ประวัติศาสตร์จากคำบอกเล่าของชาวมลายู. กรุงเทพฯ : ศักดิโสภาการพิมพ์.

            บทวิเคราะห์งานเขียนพื้นเมืองประเภทพงศาวดาร ตำนานรัฐ และตำนานท้องถิ่นของชาวมลายู ซึ่งมีความน่าสนใจอยู่ที่การทำความเข้าใจเพื่อนบ้านผ่านคำบอกเล่าของชาวมลายูที่จะสามารถสะท้อนประวัติศาสตร์ สังคมและวัฒนธรรมของตนได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังเป็นการเปิดโอกาสในการเรียนรู้และเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างไทยและโลกมลายู จากมุมมองและจุดยืนของอีกฝ่ายหนึ่งด้วย ซึ่งงานเขียนชิ้นนี้ผู้เขียนเลือกงานชิ้นสำคัญ 5 ชิ้นในการวิเคราะห์ ได้แก่ ซจาเราะห์ มบายู (Sejarah Melayu) ตุห์ฟัต อัล-นาฟีส์ (Tuhfat al-Nafis) ฮิกายัต อับดุลเลาะห์ (Hikayat Abdullah) ฮิกายัต ปัตตานี (Hikayat Patani) และ ฮิกายัติ มรง มหาวงสา (Hikayat Merong Mahawangsa)

 

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ และ ชปา จิตต์ประทุม (บรรณาธิการ). (2542). วิกฤตการณ์มาเลเซีย : เศรษฐกิจ การเมือง-วัฒนธรรม. กรุงเทพฯ สถาบันเอเชียศึกษา.

            จากการประสบปัญหาวิกฤตทางเศรษฐกิจจากผลพวงของวิกฤตการณ์ในเอเชียรวมทั้งประเทศไทยนั้น มาเลเซียเป็นประเทศเดียวที่มีจุดยืนและแนวทางแก้ไขที่แตกต่างออกไป ทั้งวิกฤตการเมืองภายใน ความขัดแย้งและการแข่งขันทางอำนาจของผู้นำระดับสูง การศึกษาวิกฤตการณ์มาเลเซียในด้าน เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมจะเป็นประโยชน์ต่อวงวิชาการและนโยบายต่อไป  โดยมีหัวข้อในการศึกษาสำคัญได้แก่  วิกฤตการณ์มาเลเซีย : พัฒนาการและความเป็นมา วิกฤตการณ์เอเชียกับปฏิกิริยาของมาเลเซีย มหาธีร์กับอันวาร์บนเส้นทางการเมือง อิทธิพลของอิสลามในสังคมมาเลย์ และวิกฤตเศรษฐกิจและการเมืองมาเลเซีย : ผลกระทบต่อประเทศไทยและสิงคโปร์

 

พิเชียร คุระทอง. (2541). ทรรศนะและความคิด มหาธีร์ โมฮัมหมัด คนขวางโลก. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน.

            ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจในเอเชีย หลายประเทศประสบกับปัญหาทางด้านการเงิน มาเลเซียหนึ่งในประเทศของเอเชียที่ได้รับวิกฤตดังกล่าวนี้ มีท่าทีต่อการแก้ไขปัญหาของผู้นำประเทศที่เป็นไปในแนวทางที่สวนกระแสกับประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ