ลาว - ศาสนาและความเชื่อ
ดร.ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์ ได้กล่าวไว้ว่า ความเชื่อทางศาสนาของประชาชนในแถบอุษาคเนย์แต่ดั้งเดิมนั้นเป็นความเชื่อใน “ศาสนาปฐมบรรพ์” (Primitive Religion) ที่มีลักษณะแบบ “วิญญาณนิยม” (Animism) ผู้คนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่เดิมนั้นเชื่อเรื่องผีสางเทวดา เช่น ผีบ้านผีเรือน รุกขเทวดา นางไม้ (ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์,2553, น.284) กล่าวคือ ชนเผ่าดั้งเดิมของลาวมีการนับถือผี ได้แก่ ผีพ่อ ผีแม่ ผีปู่ย่า ตายาย และเปลี่ยนมาเป็นผีบ้าน ผีเรือน ผีเมือง ผีฟ้า ผีแถน ต่อมาความเชื่อของคนลาวได้มีการขยายตัวเป็นความเชื่อแบบผีพราหมณ์ และพุทธ (ทรงคุณ จันทจร, 2551, น.15) ศาสนาในอุษาคเนย์รวมถึงในประเทศลาว จึงมีลักษณะเป็นการผสมผสานลัทธิความเชื่อทางศาสนา ซึ่งประกอบด้วย ศาสนาปฐมบรรพ์ ศาสนาพราหมณ์ และพุทธศาสนา
ระบบความเชื่อของชาวอุษาคเนย์และรวมถึงชาวลาวปรากฏอยู่ใน นิทานปรัมปรา หรือตำนานพื้นเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปรากฏเรื่องราวของนาค ซึ่งเชื่อกันว่านาคเป็นผู้บันดาลให้เกิดธรรมชาติ ความมั่งคั่งและมั่นคง “นาค” ปรากฏในตำนานต่างๆ ของบ้านเมืองทั่วภูมิภาคอุษาคเนย์โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณสองฝั่งแม่น้ำโขง รวมไปถึงตำนานอุรังคธาตุที่เกี่ยวกับการสร้างบ้านแปลงเมืองของอาณาจักรล้านช้าง ซึ่งเป็นอาณาจักรสมัยโบราณของประเทศลาว ดังจะเห็นได้จากที่ อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม กล่าวไว้ใน ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ ว่า แต่ถ้าพิจารณาจำแนกแยกแยะสัญลักษณ์ในนิทานปรัมปราเกือบทั้งหมดแล้ว จะพบว่ามีอย่างน้อย 3 ลักษณะ คือ เป็นสัญลักษณ์ของกลุ่มชนดั้งเดิม เป็นสัญลักษณ์ของเจ้าแห่งดินและน้ำ และเป็นลัทธิทางศาสนา (อ้างถึงใน สุจิตต์ วงษ์เทศ, 2554, น.14) ในที่นี้ “นาค” จึงเป็นตัวแทนของกลุ่มชนพื้นเมืองที่มีความเชื่อร่วมกันอิงอยู่กับสภาพภูมิศาสตร์ ความเชื่อ สังคมวัฒนธรรมเหมือนกัน คือการนับถือบูชาธรรมชาติในส่วนที่กลุ่มชนต้องไปเกี่ยวข้องด้วย เนื่องจากการอาศัยและพึ่งพาธรรมชาติเป็นหลักในดำรงชีวิต
หนังสืออุรังคธาตุ เป็นเอกสารโบราณที่สำคัญ ซึ่งปรากฏนิทานปรัมปราเรื่องนาคเรื่องหนึ่ง ที่เล่าเรื่องในอดีตย้อนไปถึงยุคดึกดำบรรพ์ ว่ามีผู้คนกลุ่มหนึ่งเคลื่อนย้ายจากหนองแสซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของมณฑลยูนนานในจีน ลงมาตามลำน้ำอูที่อยู่ในดินแดนลาว แล้วกระจายกันตั้งหลักแหล่งอยู่บริเวณต่างๆ บริเวณฝั่งน้ำโขง นอกจากนั้นในหนังสืออุรังคธาตุ ยังได้กล่าวถึงตำนานการสร้างนครเวียงจันทน์ โดยย้ำว่า “แม่น้ำของไหลผ่าเมืองพระยาจันทบุรี” ซึ่งเป็นลักษณะภูมิประเทศของนครเวียงจันทน์สมัยอาณาจักรโบราณที่แม่น้ำโขงผ่ากลางเมือง โดยกล่าวถึงบุรุษที่ชื่อ “บุรีจันอ้วยล้วย” ซึ่งทำบุญเป็นประจำ ต่อมามีเหตุ พญานาคเห็นพฤติกรรมการทำบุญของนายบุรีจัน จึงเนรมิตให้มีรูปงาม และมีลาภยศมากมาย พร้อมทั้งสร้างเมืองเวียงจันทบุรีให้บุรีจัน
(สุจิตต์ วงษ์เทศ, 2554, น.127-128) นอกจากนาคจะสร้างบ้านแปลงเมืองให้มนุษย์แล้ว นาคยังช่วยปกป้องคุ้มครองบ้านเมืองให้ด้วย เช่น นิทานเรื่องขุนบรมราชา ซึ่งเป็นเรื่องที่กล่าวถึงบริเวณสองฝั่งโขงมีนาค 15 ตระกูลคุ้มครองอยู่ ทำให้บ้านเมืองสองฝั่งโขงมีความมั่งคั่งและมั่นคง ธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ โดยประจำอยู่ตามจุดต่างๆ ในแหล่งธรรมชาติทั้งถ้ำ แหล่งน้ำ ภูเขา (สุจิตต์ วงษ์เทศ, 2554, น.196)
นอกจากนั้นแล้วยังมีตำนานที่บอกถึงการกำเนิดเผ่าพันธุ์ต่างๆ ในอุษาคเนย์ซึ่งมีตำนานบอกเล่าคล้ายคลึงกัน มีความแตกต่างในรายละเอียด แต่โครงเรื่องใหญ่มีความเชื่อร่วมกันว่า จักรวาลแบ่งออกเป็นสองชั้น คือ เมืองบน หรือเมืองฟ้า เป็นที่อยู่ของแถน ผู้เป็นเทพเจ้า และเมืองลุ่ม หรือโลกที่เป็นที่อยู่ของคน กับความเชื่อว่าเผ่าพันธุ์ต่างๆ ของมนุษย์ในโลก มีกำเนิดจากผลน้ำเต้าร่วมกัน (ปรานี วงษ์เทศ, 2543, น.289) ซึ่งของลาวนั้น ปรากฏในพงศาวดารล้านช้าง และนิทานของลาว สำนวนที่บันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรเป็นเรื่องย่อยในพื้นขุนบรมราชาธิราช รวมถึงตำนานท้าวฮุ่งขุนเจือง ซึ่งเป็นมหากาพย์ที่สำคัญและแพร่หลายในหมู่ผู้คนสองฝั่งแม่น้ำโขง วรรณกรรมของกลุ่มตระกูลไทย-ลาว ที่กล่าวถึงวีรบุรุษสองฝั่งโขงในสมัยที่ผ่านพ้นการสร้างบ้านแปลงเมือง และเมืองเริ่มมีศูนย์กลางแว่นแคว้นแล้ว สะท้อนถึงสัมพันธภาพระหว่างผู้คนในอุษาคเนย์ ความสามารถในการรวมเผ่าพันธุ์ต่างๆ ได้สำเร็จ เพื่อสร้างความเป็นหนึ่งเดียวทางสังคม การเมือง วัฒนธรรม ในหมู่ชนต่างเผ่าพันธุ์ในอุษาคเนย์ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ก่อนการรับศาสนาจากภายนอก
พุทธศาสนาในลาว
พุทธศาสนาเป็นลักษณะร่วมทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของประเทศอุษาคเนย์ภาคพื้นทวีป โดยเฉพาะประเทศที่นับถือพุทธศาสนานิกายเถรวาท ได้แก่ ลาว ไทย พม่า และกัมพูชา ซึ่งสำหรับประเทศลาวนั้น พุทธศาสนาได้เป็นรากฐานของความเชื่อ ค่านิยม วัฒนธรรมประเพณีตลอดจนการวิถีชีวิต จึงมีอิทธิพลต่อการหล่อหลอมความเป็นลาวจนมาจนถึงปัจจุบัน พัฒนาการทางพุทธศาสนาในประเทศลาวซึ่งมีการปรับเปลี่ยนตามบริบทของสภาพสังคมและการเมืองนั้น สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ช่วง ได้แก่
- พุทธศาสนาสมัยอาณาจักร
พระพุทธศาสนาสมัยโบราณยุคอาณาจักรนั้น ไม่ว่าจะเป็นอาณาจักรล้านช้าง อาณาจักรเวียงจันทน์ อาณาจักรหลวงพระบาง และอาณาจักรจำปาศักดิ์ ล้วนนับถือพุทธศาสนายึดมั่นในจิตใจทั้งประชาชนและสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยกษัตริย์มีหน้าที่ในการสนับสนุนและดูแลพุทธศาสนามาโดยตลอด พุทธศาสนาได้รับอิทธิพลจากอาณาจักรใกล้เคียงซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น พุทธศาสนาเถรวาทดั้งเดิมอิทธิพลมอญที่เผยแพร่ที่เข้ามาในลาวตั้งแต่แรกเริ่ม พุทธศาสนาเถรวาทแบบกัมพูชาที่เป็นกระแสหลักและสืบทอดต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันโดยมีพระเจ้าฟ้างุ้มมหาราชนำเข้ามาเผยแพร่ พุทธศาสนาเถรวาทแบบนิกายธรรมยุติจากไทยช่วงปกครองลาว พุทธศาสนาช่วงยุคโบราณมีความเจริญรุ่งเรืองเป็นปึกแผ่น การสู้ศึกสงครามไม่ได้ส่งผลกระทบมากนัก เพราะเป็นสงครามกับประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นพุทธศาสนิกชน ทั้งยังได้มีการติดต่อแลกเปลี่ยนพุทธศาสนาระหว่างกันโดยตลอด
การติดต่อสัมพันธ์ระหว่างคณะสงฆ์ทั้งในล้านช้าง ล้านนาและไทยเป็นไปอย่างกว้างขวาง การศึกษาทั้งบาลี สันสกฤต วรรณคดี เจริญงอกงามยิ่ง ดังจะเห็นได้จากกรณีการส่งสมณสาสน์ติดต่อระหว่างสมเด็จพระสังฆราช ณ กรุงเวียงจันทน์และสมเด็จพระสังฆราชแห่งกรุงธนบุรี เต็มไปศัพท์ภาษาบาลี สันสกฤตเป็นส่วนใหญ่ จนทำให้เข้าใจได้ยาก แม้ผู้เคยศึกษาภาษาทั้งสองมาบ้างแล้วก็ตาม (พระมหาดาวสยาม วชิรปัญโญ, 2555, น.98)
ยิ่งกว่านั้น ความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับพุทธศาสนามีความโดดเด่นในสมัยตอนต้นอาณาจักรล้านช้าง ซึ่งประชาชนให้ความนับถือพุทธศาสนา วัดและพระสงฆ์มีความเกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน วัดได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคมและเป็นศูนย์กลางของสังคม พระสงฆ์นอกจากนำคำสอนของพุทธศาสนาออกไปเผยแพร่ให้กับประชาชนแล้ว ยังช่วยเหลือให้คำปรึกษาแก่ชาวบ้านที่เข้ามาวัด พระสงฆ์จึงเป็นผู้นำแห่งจิตใจและปัญญา วัดเป็นศูนย์กลางของการบริการต่างๆ ของสังคมและศูนย์รวมจิตใจอย่างแท้จริง คือ เป็นสถานศึกษา เป็นศูนย์กลางทางด้านศิลปะและวัฒนธรรม เป็นสถานพยาบาล เป็นสถานสงเคราะห์ และเป็นที่พบปะชุมนุมของชาวบ้าน (ทรงคุณ จันทจร, 2551, น.25-26)
- พุทธศาสนาสมัยการปกครองของฝรั่งเศสและได้รับเอกราช
ยุคอาณานิคมจากประเทศตะวันตกประเทศลาวได้ตกอยู่ภายใต้การปกครองของฝรั่งเศส ฝรั่งเศสมองว่าประเทศลาวมีความล้าหลัง และฝรั่งเศสมีความเจริญรุ่งเรืองและวัฒนธรรมที่ดีกว่า จึงนำศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิและคณะบาทหลวงเข้ามาเผยแพร่ศาสนาเพื่อให้ประชาชนลาวเปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์ พร้อมนำภาษาฝรั่งเศสเข้ามาใช้ ส่งผลกระทบต่อภาษา วัฒนธรรมและพุทธศาสนาของชาวลาวเป็นอย่างมาก ในด้านพุทธศาสนาส่งผลให้พระธรรมคำสอนของศาสนาพุทธต้องถูกทำลาย โบราณสถานถูกปล่อยปละละเลย ไม่ได้รับการดูแล มีการนำรื้อถอนออกไปสร้างบ้าน โรงแรม โรงน้ำชา โรงเรียนถูกแยกออกจากวัด แต่พระสงฆ์และประชาชนลาวไม่ยอมจำนนจึงนำมาสู่การต่อสู้หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็น การตั้งสภาการจันทบุรีเพื่อปรับปรุงรูปแบบการศึกษาสงฆ์ รวมถึงการแต่งตั้งสมาคมนักปราชญ์เพื่อพัฒนาภาษาลาวและวัฒนธรรมลาว (ทรงคุณ จันทจร, 2551, น.32) ซึ่งส่งผลให้คนลาวสามารถอนุรักษ์อักษรลาวดั้งเดิมไว้ได้มาจนถึงปัจจุบัน
ต่อมาสมัยที่ลาวได้รับเอกราชจากฝรั่งเศส สถานการณ์ของพุทธศาสนาจึงได้รับการฟื้นฟูและพัฒนาให้ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการจัดสมณศักดิ์ของสงฆ์ การจัดตั้งสถาบันการศึกษาพระพุทธศาสนาชั้นสูง การจัดตั้งโรงเรียนศีลธรรมพุทธเยาวชนลาว การจัดตั้งพุทธสมาคม และการจัดสร้างพระไตรปิฎก
- พุทธศาสนาสมัยหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง
หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขเป็นการปกครองแบบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ขึ้นในประเทศลาวซึ่งส่งผลกระทบต่อพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก โดยแรกเริ่มระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ตามอุดมการณ์ลัทธิมาร์กซิสนั้นได้เข้ามากุมอำนาจเหนือพุทธศาสนาและสถาบันสงฆ์อย่างเบ็ดเสร็จ โดยได้พยายามลดบทบาทและความศักดิ์สิทธิ์ของพุทธศาสนาลงด้วยวิธีการต่างๆ ดังนี้
- มีการยกเลิกตำแหน่งสังฆราชและสมณศักดิ์ของคณะสงฆ์ชุดเดิม และยกเลิกการศึกษาสงฆ์แบบเดิม โดยให้เรียนทฤษฎีการเมืองสังคมนิยมแทนการศึกษาภาษาบาลีสันสกฤต
- เบียดเบียนพระสงฆ์ฝ่ายวิปัสสนากรรมฐาน ให้พระสงฆ์ทำงานด้วยเพิ่มผลผลิตด้วยการเลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ ปลูกผัก พระสงฆ์หลายท่านหากไม่ยอมทำตามถูกสังหารไปหลายรูป ส่วนพระสงฆ์ที่ทำงานด้านการเมืองในชนบทได้รับการยกย่อง
- ห้ามการอุปสมบท โดยพระสงฆ์และสามเณรจะไม่ได้รับอนุญาตให้อุปสมบท จำนวนของพระเณรจึงลดลงเรื่อยๆ ทั้งยังมีการให้ฆราวาสที่สึกจากพระประชาสัมพันธ์ว่ามีงานว่าง พระหนุ่มเณรน้อยจึงเริ่มสึกกันอย่างมากมาย
- แยกประชาชนออกจากพระ โดยการกล่าวโจมตีพระเถระชั้นผู้ใหญ่ ทำบัตรสนเท่ห์แจกจ่ายไปตามวัดและใส่ร้ายพระให้ประชาชนสับสนหมดศรัทธา
ยิ่งไปกว่านั้นพุทธศาสนาได้ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการแสวงหาความชอบธรรมในระบอบการปกครองแบบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ด้วย เพื่อให้ประชาชนยอมรับทัศนะใหม่ของพุทธศาสนาและยอมรับลัทธิมาร์กซิส โดยใช้ยุทธวิธี คือ การลดบทบาทของสถาบันสงฆ์เหลือเพียงนิกายเดียวภายใต้การควบคุมขององค์การพุทธศาสนิกชนลาว ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของพรรครัฐบาลคอมมิวนิสต์อีกทอดหนึ่ง คณะสงฆ์ลาวจึงถูกควบคุมชี้นำกวดขันอย่างใกล้ชิดจากกลไกของรัฐ นอกจากนั้นแล้วยังจัดให้มีการอบรมสัมมนาทางการเมืองสำหรับพระภิกษุสามเณรเพื่อปลูกฝังอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ โดยฝึกให้พระสงฆ์เป็นเครื่องมือสำคัญในการสื่อสารระหว่างฝ่ายคอมมิวนิสต์กับประชาชน (สมบูรณ์ สุขสำราญ, 2534, น.107) โดยระหว่างปี พ.ศ.2518-2523 พุทธศาสนาถูกใช้เป็นสถาบันเผยแพร่อุดมการณ์คอมมิวนิสต์อย่างกว้างขวาง พระสงฆ์เทศนาโดยมีการอธิบายคำสอนตีความพุทธศาสนาให้สอดคล้องกับลัทธิมาร์กซิสของระบอบคอมมิวนิสต์ เช่น กฎไตรลักษณ์ของพุทธศาสนากับ ปรัชญาสสารธรรม (Dialectical) ของมาร์กซิส เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม นโยบายและการปฏิบัติของพุทธศาสนาและพระสงฆ์ของพรรคคอมมิวนิสต์ในระยะหลังๆ ผ่อนปรนการกวดขันและมีลักษณะที่ประนีประนอมมากขึ้น หลังปี พ.ศ.2523 พระสงฆ์ในลาวได้รับอิสระสามารถเริ่มเทศนาได้เป็นปกติ และประชาชนสามารถประกอบพิธีกรรมทางศาสนาได้ ดังเช่นข้อมูลจากการสัมภาษณ์ เมื่อปี พ.ศ.2532 ซึ่ง ศาสตราจารย์ ดร.สมบูรณ์ สุขสำราญ ได้กล่าวถึง
“ครั้งแรกรัฐบาลมีความดื้อดึงอย่างมากที่จะบิดเบือนพุทธศาสนา ไม่ยอมละเลยหรือใจกว้างให้กับความเชื่อผีสางและสิ่งที่ไร้เหตุผล ตลอดจนบรรทัดฐานขนบธรรมเนียมประเพณี และพิธีกรรมตามหลักความเชื่อเดิมของพุทธศาสนาที่ประชาชนส่วนใหญ่ยึดถือปฏิบัติ รัฐยืนยันว่าว่าประเทศลาวจะต้องมีพุทธศาสนาแบบเดียวเท่านั้น คือ พุทธสาสนาที่ผสมผสานกลมกลืนกับลัทธิมาร์กซ-เลนิน แต่ต่อมารัฐบาลจึงได้ตระนักว่าพุทธศาสนาตามประเพณีนิยมได้หยั่งรากฝังลึกในจิตใจของประชาชนมาช้านาน และพระภิกษุสงฆ์ก็ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตจิใจ และเป็นที่ยอมรับนับถือของประชาชน การลบหลู่ดูหมิ่นศาสนาและพระสงฆ์จึงเท่ากับเป็นการกบฏและสร้างความแตกแยกระหว่างประชาชนกับรัฐบาลและพรรคคอมมิวนิสต์” (สมบูรณ์ สุขสำราญ, 2534, น.108)
จากการสัมภาษณ์แสดงให้เห็นว่าท้ายสุดแล้ว ลัทธิมาร์กซิสได้ประนีประนอมกับพุทธศาสนาเถรวาทเพื่อการดำรงอยู่ในสังคมลาวของกันและกัน เนื่องด้วยลัทธิมาร์กซิสได้ใช้สถาบันสงฆ์และพุทธศาสนามาสนับสนุนการมีขึ้นของอุดมการณ์ใหม่ให้ได้รับการยอมรับในสังคม แต่ขณะเดียวกันสังคมลาวก็ไม่อาจอยู่ได้เป็นปกติหากขาดซึ่งรากเหง้าแห่งวัฒนธรรมเช่นศาสนาพุทธ
“Yet Buddhism has proved more durable than the Party. It has survived because it is central to the cultural identity of Laos, and because most lowland Lao have remained Buddhists at heart.” (Stuart-Fox, Martin, 2002, P.152)
จากที่ มาร์ติน สจ๊วต ฟอกซ์ นักวิชาการชาวออสเตรเลียผู้เชี่ยวชาญประเทศลาว ได้กล่าวไว้ในหนังสือ “Buddhist Kingdom, Marxist State: The making of modern Laos” แสดงให้เห็นถึงความมั่นคงของพุทธศาสนาในลาวที่สามารถดำรงอยู่ได้ ลักษณะของพุทธศาสนาที่ยืดหยุ่นปรับตัวผ่านการพิสูจน์ทางการเมืองและสังคม เพราะพุทธศาสนาเป็นศูนย์กลางของวัฒนธรรม เป็นรากเหง้าและเอกลักษณ์ของความเป็นชาวลาว และนั่นก็เป็นเหตุผลเพียงพอที่จะทำให้ชาวลาวยึดมั่นในพุทธศาสนาอย่างแนบแน่นไม่ว่าจะผ่านพ้นในยุคสมัยใดก็ตามในประวัติศาสตร์
สังคมลาวนั้นกฎเกณฑ์ทางศีลธรรมและค่านิยมของประชาชนมีรากฐานจากพุทธศาสนา เพราะพุทธศาสนามีความสำคัญและสัมพันธ์กับการจัดระเบียบทางสังคมอย่างลึกซึ้ง คือ พุทธเถรวาทในลาวทำให้คนยอมอยู่ในกรอบจารีตประเพณี ทั้งการดำเนินชีวิตและการปฏิบัติตามหลักธรรมคำสอนทางศาสนาพุทธ อีกทั้งยังเป็นยิ่งกว่ากฎหมายคือ ทำให้ชาวพุทธสามารถทำตามข้อบังคับของสังคมได้ โดยที่วัดและสถาบันสงฆ์ถือเป็นกลไกสำคัญที่เข้าถึงความเป็นอยู่ของประชาชนและมีอิทธิพลต่อสังคมโดยรวมมากที่สุด ลัทธิมาร์กซิสจึงใช้อำนาจต่างๆ ผ่านทางวัดและสถาบันสงฆ์เพื่อเป็นสื่อกลางระหว่างรัฐกับประชาชน จึงกล่าวได้ว่า จุดเด่นของพุทธศาสนาในลาว คือ การผสมผสานกลมกลืนไปกับระบบการปกครองแบบมาร์กซิส โดยที่รัฐมาร์กซิสได้แสวงหาความชอบธรรมจากพุทธศาสนาในการดำเนินนโยบาย สร้างความเชื่อ สร้างสังคมใหม่ สร้างค่านิยมใหม่ เพื่อใช้ในการควบคุมปกครองและการรวมความเป็นหนึ่งเดียวของคนชาติ แต่ขณะเดียวกันความเข้มงวด ความมีระบบระเบียบ และอุดมการณ์ความพอเพียงของระบอบการปกครอง ก็มีส่วนทำให้ พุทธศาสนาในลาวสถิตมั่นคง และมีความบริสุทธิ์ผุดผ่องมากกว่าหลายประเทศในภูมิภาค เนื่องมาจากสังคมปิดของลาว สถานการณ์พุทธศาสนาในปัจจุบันรัฐบาลให้เสรีภาพให้แก่สถาบันสงฆ์เพิ่มขึ้น มีการสร้างวิทยาลัยสงฆ์และ ฟื้นฟูการศึกษาแบบเดิมของสงฆ์
บรรณานุกรม
ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์. (2553). พุทธศาสนากับสังคมการเมืองในอุษาคเนย์. ใน สุเจน กรรพฤทธิ์ และ สิทธา เลิศไพบูลย์ศิริ (บรรณาธิการ). อุษาคเนย์ที่รัก. กรุงเทพฯ. (หนังสือที่ระลึก ฉลองครบรอบ 10 ปี โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์).
ทรงคุณ จันทจร. (2551). แขวงหลวงพระบาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว: เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม.มหาสารคาม: สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.
ปรานี วงษ์เทศ. (2543). สังคมและวัฒนธรรมในอุษาคเนย์. กรุงเทพฯ: ศิลปวัฒนธรรม.
พระมหาดาวสยาม วชิรปัญโญ. (2555). พระพุทธศาสนาในลาว (พิมพ์ครั้งที่ 2). พระนครศรีอยุธยา: สถาบันวิจัยพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
สมบูรณ์ สุขสำราญ. (2534). รายงานผลการวิจัยเรื่อง พุทธศาสนากับความชอบธรรมทางการเมือง กรณีเปรียบเทียบประเทศไทย ลาว และกัมพูชา. กรุงเทพฯ: โครงการเผยแพร่ผลงานวิจัย ฝ่ายวิจัย จุฬาฯ.
สุจิตต์ วงษ์เทศ. (2554). นาค มาจากไหน? (พิมพ์ครั้งที่ 3). กรุงเทพฯ: โพสต์บุ๊กส์.
Stuart-Fox, Martin. (2002). Buddhist Kingdom, Marxist State: the making of modern Laos (2nd Edition). Bangkok: White Lotus.