ลาว - ภูมิหลังและบริบทของพิพิธภัณฑ์ในประเทศลาว



         พิพิธภัณฑ์ในลาวมีจำนวนไม่มากนักเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างไทยที่มีมากกว่าพันแห่ง  จากข้อมูลในปี ค.ศ. 2011 เว็บไซต์ www.culturalprofiles.net รวบรวมได้ 17 แห่ง (culturalprofiles.net/laos, 2011)  พิพิธภัณฑ์เกือบทั้งหมดของลาว ดำเนินการโดยรัฐและพรรคประชาชนปฏิวัติลาว และมีกำเนิดที่แตกต่างหลากหลายอันเป็นเหตุมาจากบริบททางประวัติศาสตร์ 

          เริ่มตั้งแต่ยุคแรก “หอพระแก้ว”  ถือว่าเป็นพิพิธภัณฑ์แรกเริ่มของลาว ที่เกิดขึ้นในยุคอาณานิคมภายใต้อำนาจฝรั่งเศส และค่อยๆก่อรูปขึ้นอย่างชัดเจนหลังสงครามโลกครั้งที่ 2   พร้อมๆ กับการเกิดขึ้นของรัฐชาติและแนวคิดชาตินิยม   ศาสนวัตถุและโบราณวัตถุต่างๆ ถูกกำหนดให้เป็นมรดกของชาติ 

          พิพิธภัณฑ์ในลาวเริ่มเฟื่องฟูในทางปริมาณ หลังการปฏิวัติในปี 1975 แทบทั้งสิ้น  อุดมการณ์ทางการเมืองใน แนวทางสังคมนิยมกลายเป็นอัตลักษณ์สำคัญที่ต้อง “จัดแสดง”  จึงเกิดพิพิธภัณฑ์การปฏิวัติ  พิพิธภัณฑ์กองทัพ  พิพิธภัณฑ์ที่เชิดชูวีรบุรุษของชาติ  และพิพิธภัณฑ์ทางชาติพันธุ์ ก็ทยอยตามมา

         พิพิธภัณฑ์แห่งแรกที่ก่อตั้งขึ้นในยุคหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง คือพิพิธภัณฑ์การปฏิวัติลาว เปิดเมื่อปี ค.ศ. 1980 ซึ่งเป็นปีฉลองครบรอบ 5 ปีการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว   โดยการดัดแปลงอาคาร สถาปัตยกรรมแบบโคโลเนียลบนถนนสามแสนไท ในกรุงเวียงจันทน์  ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นที่ทำงานของเจ้าสุวันนะพูมา อดีตนายกรัฐมนตรีสมัยราชอาณาจักรลาว    พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เล่าเรื่องการต่อสู้ปฏิวัติของพรรคประชาชนปฏิวัติลาว และเส้นทางการก้าวขึ้นสู่อำนาจของพรรค รวมถึงการสร้างประเทศใหม่ตามแนวทางสังคมนิยม

          นโยบายจินตนาการใหม่ซึ่งประกาศใช้ในปี ค.ศ. 1986 ทำให้สภาพสังคมและเศรษฐกิจของลาวผ่อนคลายจาก แนวทางสังคมนิยม  การเล่าเรื่องและจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์จึงผันแปรไปตามความเปลี่ยนแปลงของสังคมด้วยเช่นกัน  "ห้องเลนิน" ที่เคยได้รับเงินสนับสนุนจากสหภาพโซเวียตถูกปิดไป การเล่าเรื่องความสัมพันธ์กับประเทศร่วมอุดมการณ์ เดียวกันทางการเมืองมีน้อยลง   ในปี ค.ศ. 1997 พิพิธภัณฑ์การปฏิวัติลาวได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น  "หอพิพิธภัณฑ์ แห่งชาติ"  (Lao National Museum) (Evans, 1998)

        ในช่วงทศวรรษที่ 1990  หลังจากที่ลาวเริ่มเปิดประเทศ ผ่อนคลายกฎระเบียบตามแนวทางสังคมนิยม  รัฐหันกลับเอามรดกประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมเช่น พุทธศาสนา  มาใช้เพื่อแสดงความชอบธรรมในทางการเมือง เช่นในปี ค.ศ.1991 ธาตุหลวงถูกนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์ของชาติแทนค้อนเคียว  ในช่วงเวลาดังกล่าวนี้ รัฐก่อตั้งพิพิธภัณฑ์เมืองขึ้นหลายแห่ง เช่น  พิพิธภัณฑ์ชนเผ่าเมืองพงสาลี (ค.ศ. 1993)  พิพิธภัณฑ์แขวงจำปาสัก (ค.ศ. 1995) หอพิพิธภัณฑ์เมืองสิง(ค.ศ. 1997) พิพิธภัณฑ์แขวงไชยะบุรี(ค.ศ. 2000)  พิพิธภัณฑ์ท่านไกสอน พมวิหาน (ค.ศ. 2000) ที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นเกียรติให้กับผู้นำการปฏิวัติคนสำคัญและอดีตประธานประเทศ เป็นต้น (culturalprofiles.net/laos, 2011)

        ในปี ค.ศ. 1994 พิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ลาว ชานกรุงเวียงจัน ก่อตั้งขึ้นโดยการท่องเที่ยวลาว ใช้ชื่อว่า "สวนวัฒนธรรมบรรดาเผ่าแห่งชาติ" Grant Evans นักวิชาการลาวศึกษา ตั้งข้อสังเกตอย่างน่าสนใจว่า  พื้นที่ส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑ์ทำเป็นสวนสัตว์  ส่วนที่เหลือได้จำลองบ้านบรรดาชนเผ่ามาให้ชมได้แก่ "บ้านลาวสูง" "บ้านลาวเทิง" และ "บ้านลาวลุ่ม" โดยมีการอ้างว่าการก่อสร้างสวนแห่งนี้จะสะท้อนคุณค่าทางศิลปะ ทักษะ และเทคนิค" ของบรรดากลุ่มชาติพันธุ์ แต่ในความเป็นจริงปรากฏว่าบ้านกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ดูจะไม่ใกล้เคียงกับความเป็นจริงนัก  การจัดแสดงบ้านของกลุ่มชาติพันธุ์จึงเป็นเพียงสัญลักษณ์ที่ลาวต้องการบอกให้รู้ว่าประเทศลาวมีกลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลายเท่านั้น (Evans, 1998)

          ในช่วงสิบปีนี้  มีเอกชนก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ขึ้นด้วย   ผู้ก่อตั้งส่วนใหญ่เป็นนักสะสม หรือเป็นผู้มีฐานะดี และมีความสัมพันธ์อันดีกับพรรคฯ   เช่น พิพิธภัณฑ์ผ้า ในกรุงเวียงจันของหาญชนะ สีสาน  ลูกชายของอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแถลงข่าวและวัฒนธรรม  ซึ่งมีธุรกิจการค้าเกี่ยวกับผ้าพื้นเมือง   พิพิธภัณฑ์ผ้าของดวงเดือน บุนยาวง  ลูกสาวมหาสิลา วีระวงศ์ ปราชญ์คนสำคัญที่ได้รับการยกย่องอย่างสูงในประเทศลาว 

          ข้อที่น่าสนใจคือ เมื่อลาวเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี ค.ศ. 1975  หอคำหรือพระราชวังของเจ้ามหาชีวิตที่เมืองหลวงพระบาง ถูกเปลี่ยนหน้าที่ไปเป็นพิพิธภัณฑ์ จากพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์กลายเป็นพื้นที่สาธารณะ   ในช่วงเปลี่ยนแปลงระยะแรก  หอคำจะเปิดให้ชมเฉพาะแขกรัฐบาล  และรัฐก็ไม่ได้ดูแลเอาใจใส่มากนัก แต่เมื่อลาวเปิดประเทศในทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา  อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวก็กลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการหารายได้เข้าประเทศ โดยเฉพาะในยามที่ลาวเพิ่งฟื้นตัวจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ รัฐประกาศให้ปี 1999 – 2000 เป็นปีท่องเที่ยวลาว  (Visit Lao Year)   เมื่อเมืองหลวงพระบางได้รับความนิยมมากขึ้นเป็นลำดับ ทั้งจากต่างชาติและนักท่องเที่ยว  รัฐจึงเริ่มให้ความสำคัญด้านการอนุรักษ์และบูรณะโบราณสถานและโบราณวัตถุที่ครั้งหนึ่งเคยถูกมองว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งศักดินาหรือระบอบเก่า  เนื่องมาจากมรดกดั้งเดิมเหล่านั้นกลายเป็น “หน้าตา” และแหล่งรายได้สำคัญของประเทศ (ศุภชัย สิงห์ยะบุศย์, 2553)   หอคำจึงมีชื่อใหม่ว่า “หอพิพิธภัณฑ์แห่งชาติหลวงพระบาง”  เมื่อยูเนสโก (UNESCO) ประกาศให้หลวงพระบางเป็นเมืองมรดกโลก ในปี ค.ศ. 1995   สถาปัตยกรรมทั้งวัดวาอาราม ที่อยู่อาศัย รวมถึงวิถีชีวิตวัฒนธรรมชาวเมือง ได้รับการอนุรักษ์   “หลวงพระบาง” กลายเป็นพิพิธภัณฑ์มีชีวิตขนาดใหญ่ที่สุดของลาว  ท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์ การท่องเที่ยว (Evans, 1998)  และการหลั่งไหลเข้ามาของชาวต่างชาติ    “ศูนย์ศิลปะและชนเผ่าวิทยา เมืองหลวงพระบาง”  พิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ที่ดำเนินงานโดยชาวต่างชาติ  ก็ได้ถือกำเนิดขึ้นในปี ค.ศ. 2007 (Traditional Arts and Ethnology Centre, 2011) ภายในบริบทของเศรษฐกิจและวิถีชีวิตที่สัมพันธ์กับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอย่างเข้มข้นของสปป.ลาว

บรรณานุกรม

    ศุภชัย สิงห์ยะบุศย์. (2553). หลวงพระบางเมืองมรดกโลก: ราชธานีแห่งความทรงจำ และพื้นที่พิธีกรรมในกระแสโลกาภิวัตน์. กรุงเทพฯ: สายธาร.

    culturalprofiles.net/laos. (2011). เรียกใช้เมื่อ 9 มิถุนายน 2011 จาก culturalprofiles: http://www.culturalprofiles.net/laos/Directories/Laos_Cultural_Profile/-956.html

    Grant Evans. (1998). Statue and Museums. ใน Grant Evans, The Politics of Ritual and Remembrance Laos since 1975 (หน้า 114-128). Chiang Mai: Silkworm Books .

    Traditional Arts and Ethnology Centre. (2011). Our Work: The Traditional Arts and Ethnology Centre. เรียกใช้เมื่อ 01 12 2011 จาก Traditional Arts and Ethnology Centre: http://www.taeclaos.org/