ลาว - ประเพณีพิธีกรรม



วัฒนธรรมประเพณีที่มีการปฏิบัติสืบต่อกันมา เรียกว่า ฮีตสิบสอง คองสิบสี่ ฮีตยี่คองเจียว ฮีตไภ้คองเชย ฮีตผัวคองเมีย  ซึ่งมีความใกล้เคียงกับประเพณีของประชาชนในภาคอีสานของไทย โดยคำว่า ฮีต หมายถึง จารีต และคำว่า สิบสอง หมายถึง 12 เดือนในรอบหนึ่งปี  หมายถึง การจัดเทศกาลงานประเพณีจนครบทั้ง 12 เดือน ซึ่งจะมีงานบุญที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละเดือน โดยเฉพาะชาวหลวงพระบางที่ยังคงสืบทอดประเพณีดังกล่าวอย่างเคร่งครัด  ซึ่งนอกจากบุญประเพณีสิบสองเดือนที่ปรากฏในฮีตสิบสองแล้ว ยังมีการทำบุญอื่น เช่น ประเพณีทำบุญขึ้นบ้านใหม่ ประเพณีบุญกองบวชกองหด ประเพณีแต่งงาน บายศรีสู่ขวัญ  ประเพณีเลี้ยงผีปู่ผีตา ประเพณีวันกรรม (ออกลูก) ประเพณีผิดผี ประเพณีข่วง (บ่าวสาวลงข่วง) ประเพณีแฮกนาขวัญ (ศูนย์อินโดจีนศึกษา วิทยาลัยการบริหารรัฐกิจ มหาวิทยาลัยบูรพา, 2551, น.37) โดยมีประเพณีที่สำคัญดังนี้

 

  1. ประเพณี 12 เดือน

บุญประเพณี 2 เดือน หมายถึง จารีตประเพณีที่ชาวบ้านปฏิบัติกันในโอกาสต่างๆ ทั้งสิบสองเดือนของแต่ละปี  ซึ่งบุญประเพณี 2 เดือนนี้ เป็นลักษณะร่วมทางวัฒนธรรมประการหนึ่งของผู้ที่นับถือศาสนาพุทธในประเทศลาวและภาคอีสานของไทย สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของประชาชนทั้ง 2 ฝั่งของลุ่มแม่น้ำโขง ก่อนที่จะถูกแบ่งแยกโดยเหตุผลทางการเมือง การประกอบพิธีดังกล่าวนิยมทำกันในท้องถิ่นต่างๆ โดยทั่วไป แต่กิจกรรมบางอย่างในบางท้องถิ่น อาจเลิกปฏิบัติ หรือมีการปฏิบัติผิดแผกแตกต่างกันไปบ้าง ขึ้นอยู่กับความนิยมและความเชื่อถือของประชาชนในแต่ละท้องถิ่นเป็นสำคัญ สำหรับบุญประเพณีที่ค่อนข้างจะได้รับความนิยม มีการถือปฏิบัติอย่างกว้างขวาง ได้แก่ บุญพระเวส (เดือนมีนาคม)  บุญสังขานต์ขึ้นหรือบุญปีใหม่(เดือนเมษายน)  สรงน้ำพระ (เดือนเมษายน)  บุญเข้าพรรษา (เดือนกรกฎาคม) บุญข้าวประดับดิน (เดือนสิงหาคม)  บุญข้าวสาก (เดือนกันยายน)  บุญออกพรรษา (เดือนตุลาคม)  บุญไหลเรือไฟ (เดือนตุลาคม)  และในเดือนพฤศจิกายน คือ งานบุญกฐินและบุญไหว้พระธาตุ (ทรงคุณ จันทจร, 2551, น.65-66)

 

  1. ประเพณีงานบุญสงกรานต์

ถือเป็นวันปีใหม่ของลาวเช่นเดียวกับของไทย วันแรกของงานเรียกว่า วันสังขารล่อง ชาวหลวงพระบางจะไปจับจ่ายซื้อของและธงรูปพระพุทธเจ้า เพื่อนำไปปักกองเจดีย์ทรายริมแม่น้ำโขง ตกเย็นมีการลอยกระทง พร้อมใส่สิ่งของต่าง อธิษฐานให้ทุกข์โศกโรคภัยลอยไปกับกระทง วันที่สองเรียกว่า วันเนา ช่วงเช้ามีการแห่รูปหุ่นเชิดรูปเยอ ย่าเยอ และสิงห์แก้วสิงห์คำ  และขบวนแห่นางสงกรานต์  วันที่สาม เรียกว่า วันสังขารขึ้น ชาวบ้านจะทำข้าวเหนียวนึ่งและนมลูกกวาด เดินขึ้นภูษี ซึ่งเป็นภูเขาสูงกลางเมืองหลวงพระบาง  วันที่สี่ นับเป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่ง มีการแห่งพระบาง ซึ่งเป็นพระพุทธรูปคู่เมืองหลวงพระบาง จะอัญเชิญออกมาให้ชาวเมืองสรงน้ำปีละครั้ง พระบางนี้จะประดิษฐานอยู่ที่วัดใหม่เป็นเวลา 3 วัน 3 คืน (วิทย์ บัณฑิตกุล, 2555, น.154-155)

 

  1. ประเพณีแข่งเรือในเทศกาลออกพรรษา

งานแข่งเรือเป็นงานครึกครื้นอย่างยิ่งในรอบปี แต่ละวัดมักจะมีเรือแข่งงามๆ ลงรักปิดทอง หนุ่มๆ จะพร้อมใจกันมาเป็นฝีพายโดยพร้อมเพรียงราว 30-40 คน นำเรือลงซ้อมพายก่อนถึงวันงาน โดยมีผู้เฒ่า  1 คน เป็นคนถือท้าย  และวันแข่งจริงประชาชนจะแต่งตัวหลากสีสวยงามเต็มฝั่งแม่น้ำโขง เรือแข่งเตรียมพร้อมและยังมีเรือกรรมการตัดสิน มีเรือบรรดาเจ้านายและข้าราชการผู้เข้าชมจอดชมแน่นขนัด (ทรงคุณ จันทจร, 2551, น.67)

 

  1. ประเพณีงานเข้าพรรษาและการทำบุญที่วัด

เนื่องจากชาวลาวส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ ในระหว่างวันเข้าพรรษาและทุกวันพระจะมีการไปวัดตักบาตร ตอนบ่ายฟังเทศน์ โดยในช่วงเช้าพรรษาชาวบ้านจะพากันไปใส่บาตรรับศีล มีการถวายเทียนเข้าพรรษา มีการแห่เทียนพรรษา มีการทานขันข้าวให้คนตาย รวมทั้งการทานแด่พ่อแม่ ปู่ย่า ตายายที่ยังมีชีวิตอยู่ด้วย คนเฒ่าคนแก่จะไปนอนวัดจำศีล  คนทั่วไปงดเว้นการทำบาปและถือศีล เดือนยี่เป็ง (เพ็ญเดือนสิบสอง) มีการลอยกระทงในแม่น้ำโขงโดยแห่จากวัดลงมาสู่แม่น้ำ  งานเทศกาลประเพณีมักจะเกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา และมีการประกอบกิจกรรมทางศาสนาอย่างเคร่งครัด

 

  1. ประเพณีตักบาตรข้าวเหนียว

บางคนขนานนามว่า หลวงพระบาง เป็นเมือง “ธรรมิกสังคมนิยม” แห่งสุดท้าย เนื่องจากคนลาวมีความผูกพันแนบแน่นกับพุทธศาสนา ดังจะเห็นได้ว่า ชาวลาวในหลวงพระบางจะมีการใส่บาตรในยามเช้าตรู่ ขณะที่พระสงฆ์หลายร้อยรูปเดินแถวเรียงรายไปทั่วทุกซอกถนนในเมือง โดยมีชาวบ้านแทบทุกบ้านเฝ้าเตรียมใส่บาตรร่วมกับชาวหลวงพระบาง  บางคนเรียกการตักบาตรแบบนี้ว่า “ตักบาตรข้าวเหนียว” เพราะคนหลวงพระบางใส่บาตรแต่ข้าวเหนียวเปล่า โดยไม่มีกับข้าว ประเพณีนี้เป็นที่กล่าวถึงและชื่นชมของผู้คนที่มาจากต่างบ้านต่างเมืองแล้วได้มาพบเห็นศรัทธาในพุทธศาสนาของชาวหลวงพระบาง (ทรงคุณ จันทจร, 2551, น.68)

บรรณานุกรม

    ทรงคุณ จันทจร. (2551). แขวงหลวงพระบาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว: เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม.มหาสารคาม: สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.

    วิทย์ บัณฑิตกุล. (2555). สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว. กรุงเทพฯ: สถาพรบุ๊คส์.

    ศูนย์อินโดจีนศึกษา วิทยาลัยการบริหารรัฐกิจ มหาวิทยาลัยบูรพา. (2551). ข้อมูลพื้นฐานสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว. ชลบุรี: ศูนย์อินโดจีนศึกษา วิทยาลัยการบริหารรัฐกิจ มหาวิทยาลัยบูรพา.