ลาว - ประวัติศาสตร์
ยุคอาณาจักร
ความเป็นมาของลาวปรากฏชัดขึ้นเมื่อมีการก่อตั้งอาณาจักรขึ้นที่เชียงดงเชียงทอง หรือ หลวงพระบาง ซึ่งสันนิษฐานว่าเมืองนี้คงเป็นเมืองศูนย์อำนาจของชนชาติที่พูดภาษาตระกูลมอญ-เขมรมาก่อนจะตกอยู่ในอำนาจของชนชาติลาว ทั้งนี้ ถือกันว่าประวัติศาสตร์ลาวเริ่มต้นจากเรื่องราวของพระเจ้าฟ้างุ้ม ที่กล่าวกันว่าสืบเชื้อสายมาจากขุนลอ โอรสขุนบรม ซึ่งได้ก่อตั้งอาณาจักรล้านช้างขึ้นในปี พ.ศ.1896 ( ธีระ นุชเปี่ยม ใน สำนักงานราชบัณฑิตยสภา, 2558, น.100) จากนั้นหลังจากยุคของพระเจ้าสามแสนไทย พระราชโอรสองค์โตซึ่งอยู่ในราชสมบัติถึง 43 ปี เมื่อพระองค์สวรรคตลง ได้เกิดความแตกแยกในอาณาจักรล้านช้างมาโดยตลอด และมีทั้งช่วงที่สงบรุ่งเรืองอยู่หลายสมัย สมัยพระเจ้าโพธิสารราช ซึ่งได้รับอิทธิพลด้านพุทธศาสนาจากอาณาจักรล้านนา จึงทำให้มีความรุ่งเรืองในด้านพุทธศาสนา ศิลปะและวรรณกรรมต่างๆ ต่อมาสมัยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ซึ่งถือว่าเป็นยุคทองของอาณาจักรล้านช้าง มีการย้ายเมืองหลวงจากหลวงพระบางมายังเวียงจันทน์ เพื่อหลีกเลี่ยงอำนาจของหงสาวดี และมีสัมพันธไมตรีที่ดีกับกรุงศรีอยุธยา อย่างไรก็ตาม ความรุ่งเรืองได้ดำรงอยู่จนสิ้นรัชสมัยพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราช หลังจากนั้นในปี พ.ศ.2242 อาณาจักรล้านช้างได้แตกเป็น 3 อาณาจักรที่เป็นอิสระแก่กัน ได้แก่ อาณาจักรหลวงพระบางในภาคเหนือ อาณาจักรเวียงจันทน์ในภาคกลาง และอาณาจักรจำปาศักดิ์ในภาคใต้ ซึ่งความขัดแย้งทั้งภายในอาณาจักรเดียวกันและความขัดแย้งระหว่างอาณาจักรและความขัดแย้งกับประเทศอื่น ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในความขัดแย้งทั้งหมด 15 ครั้งในช่วง 84 ปี มีถึง 11 ครั้งที่เกิดขึ้นภายในอาณาจักรเดียวกัน (สุวิทย์ ธีรศาศวัต, 2543, น.413)
จนในที่สุดทั้งสามอาณาจักรของลาวได้ตกเป็นประเทศราชของไทยทั้งหมดในปี พ.ศ.2322 โดยลาวได้ตกเป็นประเทศราชของไทยเป็นระยะเวลา 114 ปี (พ.ศ.2322-2436) ในช่วงที่ไทยปกครองลาวนั้น มิได้เปลี่ยนแบบแผนการปกครองของลาว ลาวยังคงใช้กฎหมายของตน มีอิสระในการบริหารบุคคล งบประมาณ การเก็บภาษี การศาล และดำเนินชีวิตตามวัฒนธรรมล้านช้าง และไทยมักจะผูกน้ำใจเจ้านายและขุนนางลาวไว้โดยตลอด ส่วนประโยชน์ที่รัฐบาลไทยได้จากการปกครองหัวเมืองลาวมากที่สุด คือ การเก็บส่วย (สุวิทย์ ธีรศาศวัต, 2543, น.414-415) การต่อต้านครั้งใหญ่ที่สุดของลาวต่อการปกครองของไทย คือ กบฏเจ้าอนุวงศ์ ซึ่งเจ้าอนุวงศ์ได้ฉวยโอกาสประกาศเอกราชยกทัพจาเวียงจันทน์มาตีภาคอีสานเลยมาจนถึงสระบุรี และฝ่ายไทยได้เกณฑ์กองทัพใหญ่ตีโต้ฝ่ายลาวอย่างรุนแรง ขณะที่เจ้าอนุวงศ์หนีไปพึ่งญวณหรือเวียดนาม และได้กลับมายึดเมืองเวียงจันทน์โดยการสนับสนุนกองกำลังจากทหารเวียดนาม ซึ่งทำให้ครั้งนี้ไทยได้ตอบโต้โดยการตีเวียงจันทน์จนแตกพ่าย และนับได้ว่าสร้างความเสียหายให้กับสภาพนครหลวงในขณะนั้นเป็นอย่างมาก เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้ไทยกับญวณบาดหมางกันมากขึ้น จนกลายเป็นสงครามยืดเยื้อชิงอำนาจระหว่างไทยกับญวณในอาณาจักรลาวโดยตลอดมาจนถึงยุคอาณานิคมด้วย ส่วนทางเศรษฐกิจในช่วงที่ไทยปกครองนั้นส่วนใหญ่เป็นการแลกเปลี่ยนกันในชุมใกล้เคียง เป็นเมืองใหญ่ๆ ซึ่งส่วนมากอยู่ริมแม่น้ำโขงที่มีการค้าระหว่างเมืองและระหว่างประเทศด้วย พ่อค้าลาวจากภาคอีสานและฝั่งซ้ายค้าขายข้ามไปมามีเป็นปกติอยู่แล้ว สินค้าจากยุโรปส่วนมากส่งผ่านกรุงเทพมาอุตรดิตถ์ทางเรือ แล้วขึ้นช้างส่งต่อทางเรือมายังหลวงพระบาง อุปสรรคการค้าในยุคนั้นคือแก่งน้ำโขงซึ่งเป็นอันตรายในการเดินเรือ ถนนที่กลายเป็นหล่มในฤดูฝน ไข้ป่าและโจรที่คอยดักปล้นอยู่ทางภาคใต้ กับ โจรฮ่อทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของลาว (สุวิทย์ ธีรศาศวัต, 2543, น.416-417)
ยุคอาณานิคม
ฝรั่งเศสเริ่มขยายอำนาจเข้ามาในอินโดจีนตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังคริสต์ศตวรรษที่ 19 โดยได้ยึดครองเวียดนามและกัมพูชา แล้วจัดตั้งเป็นอินโดจีนของฝรั่งเศสในปี พ.ศ. 2430 ทำให้พรมแดนของไทยด้านที่ติดต่อกับประเทศราชลาวจึงประชิดกับดินแดนอาณานิคมของฝรั่งเศส ( ธีระ นุชเปี่ยม ใน สำนักงานราชบัณฑิตยสภา, 2558, น.105) การปล้นสะดมของโจรฮ่อในเขตรอยต่อไทยญวณเป็นปัญหาเรื้อรังที่ทั้งฝ่ายไทยและญวณล้วนเคยปราบปราบให้สงบได้เป็นครั้งคราว เมื่อฝรั่งเศสปกครองญวณยังคงเกิดปัญหาเรื่องโจรฮ่ออยู่ จนกระทั่ง ทั้งไทยและฝรั่งได้ร่วมมือกันในการปราบโจรฮ่อให้ออกไปจากทั้งแผ่นดินลาว และแผ่นดินญวณได้สำเร็จเด็ดขาดในที่สุด ซึ่งผลร้ายที่ตามมาคือ ฝรั่งเศสตั้งฐานทัพในสิบสองจุไทแล้วไม่ยอมถอนทัพเข้าเขตญวณ พร้อมอ้างว่าดินแดนแห่งนี้เป็นของญวณมาก่อน จึงเกิดการทำสัญญา 9 ข้อระหว่างไทยกับฝรั่งเศสที่เมืองเดียนเบียนฟู โดยยอมให้ฝรั่งเศสตั้งกองทหารไว้ที่สิบสองจุไทไว้ชั่วคราว จากนั้นฝรั่งเศสได้ขอเข้ามาสำรวจลาว เพื่อนำผลการสำรวจไปใช้ในการปักปันเขตแดน ซึ่งในส่วนฝ่ายไทยเห็นว่าหากมีการปักปันเขตแดนอย่างชัดเจน ก็จะขจัดปัญหาการกระทบกระทั่งต่างๆ ระหว่างกัน จึงยินยอมให้ฝรั่งเศสดำเนินการสำรวจได้ ผู้มีบทบาทสำคัญในเรื่องการสำรวจเขตแดนคือ โอกุสต์ ปาวี รองกงสุล ประจำหลวงพระบาง ปี พ.ศ.2429 ซึ่งปาวี ได้เริ่มสำรวจลุ่มแม่น้ำโขงก่อนหน้านั้นหลายปี ใช้เวลารวมกันถึงประมาณ 16 ปี ทั้งเดินเท้า นั่งช้าง และใช้แพเป็นพาหนะ เป็นระยะทางประมาณ 30,000 กิโลเมตร สำรวจพื้นที่รวมกันทั้งหมดประมาณ 627,000 ตารางกิโลเมตร ตั้งแต่อ่าวสยามจนครอบคลุมดินแดนอินโดจีนปัจจุบัน คณะสำรวจซึ่งมีอยู่หลายชุดในช่วงระยะเวลาดังกล่าวเรียกว่า คณะสำรวจปาวี ( ธีระ นุชเปี่ยม ใน สำนักงานราชบัณฑิตยสภา, 2558, น.108-109) ต่อมาฝรั่งเศสอ้างสิทธิเหนือดินแดนเหล่านี้เพราะถือว่าเคยอยู่ภายใต้อำนาจเวียดนาม พร้อมเรียกร้องให้ไทยถอนกำลังออกจากดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงทั้งหมด พร้อมทั้งใช้กองกำลังทหารและแรงกดดันข่มขู่ไทย นำมาสู่การทำสนธิสัญญาระหว่างไทยกับฝรั่งเศสเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ.2436 โดยยกดินแดนฝรั่งซ้ายของแม่น้ำโขงหรือดินแดนลาวให้ฝรั่งเศสมีอำนาจปกครองนับแต่นั้น
เมื่อฝรั่งเศสเข้าปกครองลาว ลาวกลายเป็นแคว้นหนึ่งของสหภาพอินโดจีน มีข้าหลวงใหญ่ฝรั่งเศสเป็นผู้บังคับบัญชาอยู่ที่ฮานอย ซึ่งขึ้นกับกระทรวงอาณานิคมที่ปารีสอีกที ลาวมีผู้สำเร็จราชการฝรั่งเศสปกครองอยู่เวียงจันทน์ การปกครองส่วนกลางมีฝรั่งเศสเป็นหัวหน้ากอง ส่วนการปกครองส่วนภูมิภาคมี 10 แขวง ทุกแขวงมีเจ้าแขวงฝรั่งเศสปกครอง แขวงประกอบด้วยเมือง มีเจ้าเมืองลาวซึ่งผู้สำเร็จราชการฝรั่งเศสเป็นผู้แต่งตั้ง อย่างไรก็ตามฝรั่งเศสไม่ยอมให้กษัตริย์ที่หลวงพระบางมีฐานะเป็นประมุขของลาวทั้งหมดแม้กระทั่งในเชิงสัญลักษณ์ และฟื้นฟูเวียงจันทน์เป็นนครหลวงและศูนย์กลางการปกครองโดยตรง การปกครองโดยตรงของฝรั่งเศสในแต่ละแขวงนั้น ครอบคลุมกิจกรรมทุกอย่างตั้งแต่งานยุติธรรม การเก็บภาษี และงานโยธาธิการ มีการนำชาวเวียดนามมาเป็นเจ้าหน้าที่ทำงานจำนวนหนึ่ง ส่วนชาวลาวเป็นเจ้าหน้าที่ระดับล่าง ฝรั่งเศสให้ความสำคัญเป็นพิเศษในเรื่องการเลิกทาสและการเก็บภาษี ซึ่งการเลิกทาสนั้นเป็นภารกิจในการสร้างความก้าวหน้าของฝรั่งเศส ส่วนการเก็บภาษีนั้นมีการเก็บภาษีเป็นเงินมากขึ้นรวมทั้งภาษีในรูปแบบอื่นๆ โดยสิ่งที่สร้างความไม่พอใจให้แก่ชาวลาวอย่างมากคือ การขูดรีดภาษีและเกณฑ์แรงงานต่างๆ อย่างมาก ทำให้ชาวลาวเดือดร้อนและพากันต่อต้านฝรั่งเศสอย่างต่อเนื่องทั้งภาคใต้และภาคเหนือ ในช่วงดังกล่าว ลาวได้พัฒนาการด้านสังคมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ด้านโยธาธิการ ด้านสาธารณสุข การศึกษา และการคมนาคม ในขณะที่ด้านเศรษฐกิจไม่ได้มีพัฒนาการใดๆ มากนัก อย่างไรก็ตามการปกครองลาวของฝรั่งเศสมีความโดดเด่นในด้านการศึกษาและวัฒนธรรมซึ่งส่งผลต่อการสร้างสำนึกความเป็นชาติในหมู่ชนชั้นนำของลาว คือ การปฏิสังขรณ์และอนุรักษ์โบราณสถานและค้นคว้าวิจัยด้านประวัติศาสตร์และวรรณกรรมของลาว คือ ในเวียงจันทน์มีการบูรณปฏิสังขรณ์พระธาตุหลวงและวัดพระแก้ว ด้วยความช่วยเหลือของสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบุรพทิศ รวมถึง การขุดค้นและบูรณะปราสาทหินวัดภูในจำปาสัก ( ธีระ นุชเปี่ยม ใน สำนักงานราชบัณฑิตยสภา, 2558, น.119) อีกทั้งได้ก่อให้เกิดความตื่นตัวในการกำหนดตัวเขียนภาษาลาวให้เป็นมาตรฐานและฟื้นฟูพุทธศาสนาในลาว ซึ่งแม้ว่าพุทธศาสนาจะได้รับผลกระทบภายใต้การปกครองของฝรั่งเศส แต่ส่งผลเพียงเล็กน้อย เพราะท้ายที่สุดแล้วคริสต์ศาสนาไม่ได้รับความสนใจจากชาวลาว และชาวลาวยังคงนับถือพุทธศาสนาเช่นเดิม อีกทั้งการศึกษาค้นคว้าด้านประวัติศาสตร์ วรรณกรรม และวัฒนธรรม และการถกเถียงเรื่องต่างๆ ภายใต้การปกครองของฝรั่งเศสนี้ ได้มีส่วนสำคัญในการสร้างแรงกระตุ้นเกี่ยวกับชาตินิยมในลาว ซึ่งมุ่งเน้นในด้านวัฒนธรรม ต่อมาเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดขึ้นในยุโรป และฝรั่งเศสแพ้สงคราม ทำให้อำนาจในอินโดจีนอ่อนลง ในช่วงดังกล่าว ญี่ปุ่นได้เข้ามาครอบครองลาวและชาวลาวถูกเกณฑ์แรงงานและภาษีหนักกว่าเดิม ทำให้เกิดขบวนการลาวอิสระต่อต้านจักรวรรดินิยม แต่ต่อเมื่อญี่ปุ่นยอมจำนวนต่อฝ่ายสัมพันธมิตร ฝรั่งเศสได้ส่งกองทัพกลับเข้ามาในลาวอีกครั้ง ขบวนการลาวอิสระ เป็นแกนนำในการต่อสู้กับฝรั่งเศสและสุดท้ายก็แตกพ่ายข้ามไปตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นในประเทศไทย โดยรัฐบาลไทยซึ่งมีปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้นำในขณะนั้น ให้การสนับสนุนทั้งอาวุธและเงิน สุดท้ายรัฐบาลพลัดถิ่นก็ได้สลายตัวไป แต่สมาชิกของขบวนการลาวอิสระบางส่วนไม่ยอมเข้าหาฝรั่งเศสได้หนีเข้าป่า เมื่อฝรั่งเศสเริ่มเพลี่ยงพล้ำในสงครามอินโดจีน ที่ดำเนินมา ก็ถูกกดดันโดยเฉพาะจากสหรัฐอเมริกาให้ยอมตามข้อเรียกร้องของกลุ่มชาตินิยมในอินโดจีน พร้อมเรียกร้องให้ฝรั่งเศสขยายอำนาจการปกครองตนเองให้แก่ลาวมากขึ้น ในช่วงนี้กลุ่มลาวอิสระหัวรุนแรงก็แยกไปดำเนินการจัดตั้งขบวนการปฏิวัติประกอบด้วยแนวร่วมที่เรียกว่า “แนวลาวอิสระ” และรัฐบาลที่เกรียกว่า “ปะเทดลาว” ซึ่งนับว่าขบวนการคอมมิวนิสต์ลาวก่อรูปขึ้นแล้วเกือบจะสมบูรณ์ เพียงแต่ยังมิได้จัดตั้งพรรคคอมมิวนิสต์ลาวขึ้น ซึ่งส่วนนี้ได้นำไปสู่การยึดและปลดปล่อย 2 แขวงของลาว คือ แขวงซำเหนือและแขวงพงสาลี ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ลาวมีเขตพื้นที่ปกครองตนเอง ซึ่งขณะเดียวกันประเทศอื่นในอินโดจีนก็อยู่ระหว่างช่วงเรียกร้องเอกราช โดยกองทัพเวียดนามได้เปิดฉากโจมตีเดียนเบียนฟูซึ่งเป็นขุมกำลังที่ใหญ่ที่สุดของฝรั่งเศสในอินโดจีนอย่างดุเดือด จนฝรั่งเศสต้องยอมจำนนในวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ.2497 หลังจากวันนั้นฝรั่งเศสได้ถอนตัวออกจากอินโดจีนอย่างสิ้นเชิง ตามสัญญาเจนีวาซึ่งลงนามในวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ.2497 (สุวิทย์ ธีรศาศวัต, 2543, น.421) โดยมีหนูฮัก พูมสะหวัน เป็นตัวแทนของฝ่ายปะเทดลาวเข้าร่วมประชุม โดยที่ประชุมได้ให้การรับรองเอกราชของลาว เพื่อให้ประชาชนลาวมีอำนาจปกครองตนเอง และได้ตัดสินอนาคตทางการเมือง โดยกำหนดให้จัดการเลือกตั้งเสรีในปี พ.ศ.2498
ยุคสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวถึงปัจจุบัน
ประเทศลาวได้รับเอกราชและมีวิถีแห่งประชาธิปไตยในช่วงระยะเวลาสั้นๆ นั้นคือ มีการเลือกตั้งและมีรัฐบาลบริหารประเทศ แต่ความแตกแยกทางการเมืองภายในของผู้นำอย่างรุนแรงเป็น 2 ขั้วใหญ่ ได้แก่ ฝ่ายขวามีเวียงจันทน์เป็นศูนย์กลาง โดยมีมหาอำนาจโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาสนับสนุน อีกฝ่ายคือ ฝ่ายซ้าย หรือขบวนการปะเทดลาว ซึ่งมีศูนย์กลางที่ซำเหนือ มีประเทศสังคมนิยมสนับสนุน โดยเฉพาะเวียดนาม ในขณะที่ฝ่ายขวาแตกแยกและมีรัฐบาลเปลี่ยนหน้ากันขึ้นมาปกครองประเทศถึง 10 รัฐบาลในช่วงเกือบ 2 ทศวรรษหลังได้รับเอกราช (สุวิทย์ ธีรศาศวัต, 2543, น.424) หลังจากที่สหรัฐอเมริกาถอนกองกำลังจากอินโดจีน สมรภูมิในอินโดจีนจึงสิ้นสุดลงด้วยชัยชนะของฝ่ายคอมมิวนิสต์ ทำให้ฝ่ายขวาในลาวเสียขวัญอย่างมาก ประกอบกับเกิดเหตุการณ์วุ่นวายทางการเมือง ฝ่ายปะเทดลาวซึ่งเป็นฝ่ายซ้ายจึงได้ยึดอำนาจทางทหารและยึดอำนาจการปกครองลาวได้อย่างเบ็ดเสร็จ โดยการจัดตั้งรัฐบาลภายใต้พรรคประชาชนปฏิวัติลาว เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ.2518 เป็นการเปลี่ยนระบอบการปกครองจากราชอาณาจักรลาวเป็นการปกครองด้วยระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ในชื่อว่า “สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว” มีเจ้าสุภานุวงศ์ เป็นประธานประเทศ และท่านไกสอน พมวิหาน เป็นนายกรัฐมนตรี รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันของลาวประกาศใช้เมื่อปี พ.ศ.2534 ซึ่งกำหนดให้ลาวเป็นสาธารณรัฐสังคมนิยมที่มีลัทธิมาร์กซ-เลนิน (Marxism-Leninism) เป็นพื้นฐานด้านอุดมการณ์และมีพรรคการเมืองพรรคเดียวเป็นองค์กรชี้นำประเทศ คือ พรรคประชาชนปฏิวัติลาว โดยทางการลาวเรียกระบอบการปกครองตนเองว่า “ระบอบประชาธิปไตยประชาชน” ( ธีระ นุชเปี่ยม ใน สำนักงานราชบัณฑิตยสภา, 2558, น.136)
ช่วงแรกของการปกครองประเทศในระบอบสังคมใหม่เป็นการเดินหน้าใช้อำนาจแบบเบ็ดเสร็จอย่างรวดเร็วเกินไป ความพยายามของพรรคที่จะควบคุมประเทศทั้งด้านการบริหารและเศรษฐกิจนั้น ไม่ใช่แนวทางในการสร้างความปรองดองแห่งชาติ แต่กลับสร้างความไม่ไว้วางใจ และยัดเยียดสิ่งที่เรียกว่า “วัฒนธรรมสังคมนิยมแบบลาว” ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ทั้งหมดถูกย้ายไปยังเวียงไซเพื่อเข้าค่ายสัมมนาทางการเมือง ส่วนข้าราชการระดับล่างที่ยังคงอยู่ปฏิบัติงานก็ได้รับคำสั่งให้เข้าร่วมการประชุมครั้งแล้วครั้งเล่า เพื่อศึกษาอุดมการณ์ทางการเมืองใหม่รวมทั้งวิพากษ์นโยบายรัฐบาลชุดเก่า นอกจากนั้น ประชาชนจำนวนหนึ่งก็ถูกจับกุมและถูกส่งเข้ามาร่วมการสัมมนานั้นด้วย ทำให้เกิดบรรยากาศแห่งความหวาดกลัวและระแวงสงสัยในสังคม นอกจากการบังคับใช้กฎข้อบังคับต่างๆ ทั้งในระดับบุคลและในทางเศรษฐกิจอย่างเข้มงวดแล้ว ยังมีความพยามที่จะปลุกระดมประชาชนให้มีอุดมการณ์ “ที่ก้าวหน้า” มีการปิดสิ่งพิมพ์ ควบคุมข้อมูลข่าวสารอย่างเข้มงวดกวดขัน ประชาชนในชนบทและชาวเมืองก็ถูกทหารใช้กำลังบีบคั้นให้เข้าร่วมการประชุมประชาชน ลูกจ้างของรัฐถูกกระตุ้นให้เข้าร่วมการทำงานในระดับย่อยๆ มากมาย พรรคบริหารแบบปิดประเทศ แม้ในชาติตะวันตกก็หยุดให้ความช่วยเหลือ มีเพียงประเทศคอมมิวนิสต์เช่นสหภาพโซเวียตที่คอยให้ความช่วยเหลือทางการเงินได้ในบางส่วน ซึ่งนำสู่สภาวะเศรษฐกิจที่ล่มสลาย ยิ่งไปกว่านั้นพุทธศาสนายังได้รับแรงกดดันจากนโยบายของพรรคที่พยายามทำลายความน่าเชื่อถือของพระสงฆ์ การไม่สนับสนุนให้มีการประกอบพิธีตามแบบพุทธศาสนา การคุกคามวัตรปฏิบัติของพระสงฆ์ เช่น การบิณฑบาต การให้พระสงฆ์ทำงานสร้างผลผลิต การให้สอดแทรกอุดมการณ์ของลัทธิมาร์กซิส เป็นต้น (สจ็วต-ฟอกซ์, มาร์ติน, 2553, น.351-353)
อย่างไรก็ตาม ประเทศลาวมีความก้าวหน้าไปหลายด้านในช่วงเกือบ 3 ทศวรรษที่ผ่านมา หลังจากที่รัฐบาลปรับเปลี่ยนแนวทางการพัฒนาแบบสังคมนิยมของตนมาเป็น “นโยบายจินตนาการใหม่” ในปี พ.ศ.2529 นโยบายนี้ต่อมาเปลี่ยนเป็นนโยบายปฏิรูปหรือการเปลี่ยนแปลงใหม่ ความมุ่งหมายหลักประการหนึ่งของนโยบายปฏิรูปคือ เชื่อมเศรษฐกิจของลาวเข้ากับระบบทุนนิยมโลกมากขึ้น เพื่อให้ลาวเติบโตก้าวหน้าในทางเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็ว ( ธีระ นุชเปี่ยม ใน สำนักงานราชบัณฑิตยสภา, 2558, น.136) ในขณะที่ด้านสังคมวัฒนธรรมและความเป็นอยู่ของประชาชนนั้น รัฐบาลได้มีการผ่อนปรน และประนีประนอมมากขึ้น นอกจากนั้น มาร์ติน สจ็วต-ฟอกซ์ ยังได้กล่าวถึง เรื่องการประสานสามัคคีภายในภูมิภาคซึ่งเป็นกระแสหลักของทศวรรษที่ 1990 ในการสร้างพลังอำนาจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งลาวได้เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนและร่วมมือระดับภูมิภาค ดังนี้
“เดือนเมษายน พ.ศ.2537 สะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งแรกระหว่างประเทศไทยกับลาวเปิดใช้อย่างเป็นทางการ สัญลักษณ์นี้ประจักษ์ชัดว่า นี่มิใช่เพียงแค่การเปิดศักราชใหม่ของความสัมพันธ์ฉันมิตรระหว่างลาว-ไทยเท่านั้น แต่ลาวกำลังถูกดึงเข้าเป็นส่วนหนึ่งของภูมิภาคนี้มากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเงินลงทุนของไทยในลาวมีมากยิ่งกว่าจากประเทศอื่นๆ เป็นอิทธิพลทางเศรษฐกิจซึ่งคล้ายคลึงกับอิทธิพลทางการเมืองของเวียดนามในลาว การเปิดกว้างสู่ประเทศไทยมิใช่เพียงการก้าวไปสู่บทบาทดั้งเดิมของลาวในฐานะประเทศกันชนระหว่างกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านที่มีอำนาจมากกว่าเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการค้าขายและการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นกับประเทศตะวันตกและอาเซียน รวมไปถึงการไหลบ่าของวิทยาการใหม่ๆ และความคิดแบบใหม่ๆ ซึ่ง สปป.ลาว อาจมีความยากลำบากที่จะดูดซึมสิ่งเหล่านี้ได้โดยง่าย อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงกลางปี 1990 อิทธิพลในทางสากลอันทรงพลังซึ่งเข้ามาปะทะกับ สปป.ลาว นั้นมิใช่ความขัดแย้งระหว่างประเทศอีกต่อไป แต่เป็นการทำให้ระบบเศรษฐกิจมีความทันสมัยมากขึ้นและการรวมตัวกันภายในภูมิภาค” (สจ็วต-ฟอกซ์, มาร์ติน, 2553, น.410)
ปัจจุบัน การเมืองลาวยังคงมีเสถียรภาพภายใต้การนำของพรรคประชาชนปฏิวัติลาว และรัฐบาลของนายทองสิง ทำมะวง ซึ่งให้ความสำคัญต่อการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น และการสนับสนุนบทบาทผู้นำรุ่นใหม่ ทั้งนี้ รัฐบาลลาวปรับคณะรัฐมนตรีเมื่อเดือนมีนาคม 2557 เพื่อแก้ปัญหาด้านงบประมาณ ต่อมาเมื่อเดือนกรกฎาคม 2557 มีการแต่งตั้งรองนายกรัฐมนตรีเพิ่ม 2 ตำแหน่ง รวมทั้ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงป้องกันประเทศรัฐมนตรีว่าการกระทรวงป้องกันความสงบ แทนผู้เสียชีวิตจากเหตุเครื่องบินตก เมื่อเดือนพฤษภาคม 2557
ซึ่งสะท้อนถึงการถ่ายโอนอำนาจจากผู้นำรุ่นเก่าสู่ผู้นำรุ่นใหม่ในที่ประชุมสมัชชาพรรคฯ สมัยที่ 10 ในต้นปี 2559
ทิศทางการพัฒนาประเทศในห้วง 5 ปีต่อไป รัฐบาลลาวยังคงมุ่งเป้าหมายการนำประเทศให้หลุดพ้นจากสถานะประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุดภายในปี 2563 ขณะเดียวกันลาวดำเนินนโยบายต่างประเทศแบบเปิดกว้าง เพื่อสร้างดุลยภาพในการพัฒนาสัมพันธ์กับประเทศมหาอำนาจ เช่น ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ เพื่อลดทอนการครอบงำจากอิทธิพลของจีนและเวียดนาม ทั้งนี้ ลาวกำลังเตรียมความพร้อมต่อการเป็นประธานอาเซียนในปี 2559 นอกจากนี้ สภาแห่งชาติลาวรับรองกฎหมายว่าด้วยการต่อต้านและเป็นแหล่งเงินทุนสนับสนุนการก่อการร้าย เมื่อกรกฎาคม 2557 เพื่อป้องกันปัญหาฟอกเงินและก่อการร้าย รวมทั้งปฏิบัติตามพันธะขององค์การสหประชาชาติต่อการเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลก อย่างไรก็ดี ลาวต้องเผชิญปัญหาท้าทาย ได้แก่ 1) ปัญหาเศรษฐกิจ เช่น รายได้ภาครัฐต่ำกว่าเป้าหมาย อัตราการขาดดุลการค้า ค่าครองชีพและอัตราเงินเฟ้อ อยู่ในระดับที่เสี่ยงต่อการเกิดวิกฤติทางการเงิน และ 2) ปัญหาทาสังคม ได้แก่ การแพร่ระบาดของยาเสพติด การลักลอบการค้ามนุษย์ การทุจริต ความเหลื่อมล้ำด้านการพัฒนาและรายได้ รวมทั้งแรงงานต่างชาติผิดกฎหมาย นอกจากนี้ สังคมลาวเริ่มวิจารณ์การบริหารงานของรัฐบาลจากปัญหาเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมและการละเมิดสิทธิมนุษยชน ขณะที่กัมพูชา เวียดนาม และองค์กรเอกชนระหว่างประเทศยังคงคัดค้านการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงของลาว (สำนักข่าวกรองแห่งชาติ, 2557, น.370)
บรรณานุกรม
ธีระ นุชเปี่ยม.(2558). สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว. ใน สำนักงานราชบัณฑิตยสภา (น.97-139). กรุงเทพฯ: สำนักงานราชบัณฑิตยสภา., สารานุกรมประวัติศาสตร์ประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน ฉบับราชบัณฑิตยสภา
สจ็วต-ฟอกซ์, มาร์ติน. (2553). ประวัติศาสตร์ลาว (จิราภรณ์ วิญญรัตน์, ผู้แปล/ กาญจนี ละอองศรี และ ปรียา แววหงษ์, บรรณาธิการ). กรุงเทพฯ : มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย
สำนักข่าวกรองแห่งชาติ. (ธันวาคม 2557). ข้อมูลพื้นฐานของต่างประเทศ 2558. สืบค้นเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2558, จาก https://www.nia.co.th/niaweb58/data_gb.asp.
สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. (2558). เพลินภาษาเพื่อนอาเซียน ฉบับราชบัณฑิตยสภา (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ: สำนักงานราชบัณฑิตยสภา.
สุวิทย์ ธีรศาศวัต. (2543). ประวัติศาสตร์ลาว 1779-1975. กรุงเทพฯ : สร้างสรรค์.