ลาว - สถานการณ์กลุ่มชาติพันธุ์ในลาว
จากการทำสำมะโนประชากรครั้งล่าสุดในปี ค.ศ. 2005 ลาวมีจำนวนประชากรลาวประมาณ 5.6 ล้านคน และสถิติล่าสุดในปี ค.ศ. 2009 ประชากรลาวมีประมาณ 6.1 ล้านคน (Population Census 2005, 2011) การจำแนกประชากรชนเผ่าครั้งล่าสุดในปี ค.ศ. 2005 ใช้ระบบการจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามตระกูลภาษา 4 ตระกูลภาษา คือ ตระกูลภาษาไท - ลาว (Tai - Lao) ตระกูลภาษามอญ - เขมร(Mon - Khmer) ตระกูลภาษาจีน - ทิเบต และตระกูลภาษาม้ง - อิวเมี่ยน จากการจำแนกในระบบนี้ ลาวประกอบด้วยชนเผ่าทั้งสิ้น 49 กลุ่ม และแตกเป็นกลุ่มย่อยได้ 160 กลุ่ม อย่างไรก็ตาม ประวัติศาสตร์ของการจำแนกชนเผ่าในลาว เป็นเรื่องที่ค่อนข้างสลับซับซ้อน และยังเป็นข้อถกเถียงกันจนถึงปัจจุบัน
หลังจากลาวเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี ค.ศ. 1975 จนถึงปัจจุบัน มีการสำรวจสำมะโนประชากรมาแล้วทั้งสิ้น 3 ครั้ง คือในปี ค.ศ. 1985 ปี ค.ศ. 1995 และปี ค.ศ. 2005 ในการสำรวจแต่ละครั้ง จะมีการประกาศการจำแนกประชากรตามชนเผ่า ที่จำแนกโดยองค์กรแนวลาวสร้างชาติ ซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1976 ในชื่อ คณะกรรมาธิการชนชาติ อยู่ในองค์กรแนวลาวฮักชาติ (NLHS) ซึ่งต่อมาในปี ค.ศ. 1979 เปลี่ยนชื่อเป็นแนวลาวสร้างชาติ (NLSS) องค์กรนี้มีหน้าที่โดยตรงในการจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ในลาว กล่าวได้ว่า ทันทีที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง รัฐบาลลาวได้แสดงความสนใจเรื่องกลุ่มชาติพันธุ์อย่างชัดเจนในกองประชุมใหญ่ผู้แทนทั่วประเทศ
ตามสถิติของปี ค.ศ. 2005 เมื่อพิจารณาสัดส่วนประชากรลาว พบว่าจำนวน 2 ใน 3 หรือประมาณร้อยละ 65 เป็น กลุ่มที่พูดภาษาลาว - ไท ประกอบด้วยกลุ่มชาติพันธุ์ 8 ชนเผ่า อีกร้อยละ 11 เป็นกลุ่มที่พูดภาษาม้ง – อิวเมี่ยนและจีน - ทิเบต ซึ่งส่วนใหญ่อาศัยอยู่บนภูเขาหรือพื้นที่สูง ประกอบด้วย 7 กลุ่ม ในตระกูลภาษาจีน - ทิเบต และ 2 กลุ่มในตระกูลภาษาม้ง - อิวเมี่ยน ส่วนตระกูลภาษามอญ - เขมร มีสัดส่วนประชากรร้อยละ 24 และมีจำนวนชนเผ่ามากที่สุดคือ 32 กลุ่ม
ตาราง 1 การจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์แยกตามตระกูลภาษา โดยแนวลาวสร้างชาติ ปี ค.ศ. 2005
* ชนเผ่าลาวมีจำนวนร้อยละ 55
กลุ่มที่มีความแตกต่างด้านวัฒนธรรมและภาษาหลากหลายที่สุดคือ กลุ่มที่อยู่ในตระกูลภาษามอญ – เขมร ประกอบด้วยกลุ่มชาติพันธุ์จำนวนมากที่สุด (32 กลุ่ม) เมื่อเทียบกับกลุ่มตระกูลภาษาอื่น แต่ขณะเดียวกันก็มีสัดส่วนประชากรเพียง 1 ใน 4 ของจำนวนประชากรทั้งหมด (ร้อยละ 24 ของจำนวนประชากร)
เป็นที่ทราบกันว่า การจำแนกคนหรือกลุ่มชาติพันธุ์ในลาวนั้น ไม่ว่าจะอยู่ยุคสมัยใดก็ไม่ใช่เป็นเรื่องตรงไปตรงมา แต่มีนัยยะทางการเมืองและเป็นเรื่องความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ดังเช่น สำมะโนประชากรในปี ค.ศ.1955 รัฐบาลลาวราชอาณาจักร ได้รวมเอากลุ่มคนลาวและไทมาไว้กลุ่มเดียวกัน โดยจัดอยู่ในกลุ่มคนลาว ทำให้สัดส่วนประชากรคนลาวเพิ่มสูงขึ้นเป็นกว่าร้อยละ 70 สะท้อนว่าการสำมะโนประชากรเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างความเป็นชาติลาว ในขณะที่ประชากรกลุ่มข่ากลับน้อยลงกว่าเดิม ซึ่งไม่แน่ใจว่าเกิดจากสาเหตุการเมือง หรือการสำรวจสำมะโนประชากรไม่สามารถเข้าถึงพื้นที่ห่างไกล (Pholsena, 2006)
Joachim Schliesinger นักวิชาการด้านชาติพันธุ์ ให้ทัศนะเพิ่มเติมว่าการทำสำมะโนประชากรในปี ค.ศ. 1995 และการจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ ยังเป็นเพียงการจำแนกคร่าวๆ ที่ไม่ได้อยู่บนฐานข้อมูลประชากรที่ถูกต้อง และไม่ได้ให้ภาพรวมเกี่ยวกับสถานการณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ตามความเป็นจริง แต่เป็นเพียงการคาดการณ์และการใช้อำนาจทางการเมืองในการตัดสินว่า ชนเผ่าไหนจะถูกยุบรวม เผ่าไหนไม่มีชื่อ หรือเผ่าไหนอยู่ในจำนวนที่ถูกระบุว่า “อื่นๆ” (Schliesinger, 2003)
ในอีกด้านหนึ่ง Grant Evans นักวิชาการลาวศึกษา ชี้ให้เห็นว่า การทำสำมะโนประชากรของลาวดังกล่าว มิได้ให้ความสำคัญกับกลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่ในเมือง เช่น จีน เวียดนาม ไทย ทั้งที่คนเหล่านี้มีจำนวนไม่น้อย แต่ใช้คำรวมๆ แทนกลุ่มชนนี้ว่า “อื่นๆ” ซึ่งเป็นไปได้ว่ากลุ่มคนดังกล่าวจำนวนหนึ่ง อาจถูกเหมารวมว่าเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ “ลาว” (Evans, 2003)
แม้ว่าในวงวิชาการและทางการเมือง จะมีการจำแนกชนเผ่าตามตระกูลภาษาอย่างเป็นทางการหลายครั้ง แต่การจำแนกที่นับได้ว่า “ติดตลาด” และได้รับความนิยมทั้งในแง่การใช้งานและการรับรู้ของคนทั่วไปจนถึงปัจจุบัน คือ การจำแนกเป็นกลุ่มลาวลุ่ม ลาวเทิง และลาวสูง โดยรัฐบาลลาวคอมมิวนิสต์ ซึ่งคิดขึ้นโดย P.S. Nginn ในต้นทศวรรษ 1960 เป็นการจำแนกโดยมีพื้นฐานอยู่บนการตั้งถิ่นฐานเชิงภูมิศาสตร์ของกลุ่มคน
ลาวลุ่ม คือ คนลาวที่อาศัยอยู่บนพื้นราบ
ลาวเทิง คือ คนลาวที่อาศัยอยู่บริเวณเชิงเขา
และลาวสูงหมายถึงคนลาวที่อาศัยอยู่บนภูเขา
การจำแนกดังกล่าวเรียกได้ว่าเป็นความคิดสร้างสรรค์ (creative) ระดับชาติ เนื่องจากรัฐสามารถจัดทุกคนเข้าไปอยู่ในกลุ่มใด กลุ่มหนึ่งในสามกลุ่มดังกล่าวนี้ได้โดยง่าย
จะเห็นได้ว่า การใช้คำว่า “ลาว” นำหน้าชื่อเรียกนั้น เป็นกลยุทธ์ทางการเมืองที่ต้องการเชื่อมโยงชนเผ่าที่หลากหลายเข้าสู่ความหนึ่งเดียวของชาติลาว ทั้งๆ ที่ชนเผ่าเหล่านี้ไม่ได้มีภาษา ศาสนา วัฒนธรรม ประเพณีอย่างคนลาว (Schliesinger, 2003) และการจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ออกเป็น 3 กลุ่มตามพื้นที่อยู่อาศัยทางภูมิศาสตร์นั้น ไม่ตรงกับความเป็นจริงทางสังคม เพราะบางชนเผ่าก็ย้ายจากภูเขาลงมาอาศัยอยู่ที่ราบนานแล้ว ในทางกลับกันก็มีคนลาวลุ่มอพยพขึ้นไปอาศัยอยู่ในพื้นที่เขตภูเขาด้วยเช่นกัน
ในระดับนโยบายของรัฐต่อกลุ่มชาติพันธุ์ รัฐมักจะประกาศอย่างโจ่งแจ้งถึงหลักการ “เสมอภาคบันดาเผ่า” แต่ก็ดูเหมือนว่าจะขัดกับหลักแนวคิดความเป็นชาติลาวบนพื้นฐานที่ว่า “หลากหลายแต่เป็นหนึ่งเดียว” ดังคำพูดของไกสอน พมวิหาน อดีตประธานประเทศที่ว่า “ชนเผ่าแต่ละเผ่ามีวัฒนธรรมที่ดีและสวยงาม และเป็นวงศาคณาญาติแห่งชาติลาว เหมือนกับดอกไม้นานาชนิดที่เติบโตในสวนที่หลากสีสันและให้กลิ่นหอมที่แตกต่างกัน” (Banomyong, 2006)
Laohoua Cheutching นักวิชาการลาวเชื้อสายม้ง ได้วิพากษ์นโยบายของรัฐบาลต่อกลุ่มชาติพันธุ์ในลาวว่า หลักการเสมอภาคบรรดาเผ่า ดูจะเป็นผลดีต่อกลุ่มชาติพันธุ์ในช่วงที่ทำสงครามกับรัฐบาลลาวราชอาณาจักร และหลังจากปี ค.ศ. 1975 นโยบายการเสมอภาคบรรดาเผ่าก็ยังคงเป็นอาวุธทางอุดมคติที่ผู้นำของพรรคนำมาใช้เพื่อกุมอำนาจทางการเมือง แต่ในความเป็นจริงช่วงสิบปีแรกกลับมีความพยายามใช้นโยบายการผสมกลมกลืนชนเผ่า เช่น การสร้างแนวทางสังคมแบบใหม่สำหรับเพิ่มผลผลิต การสร้างวัฒนธรรมสังคมนิยมให้เป็นคนลาวแบบใหม่ และในขณะเดียวกัน การทำงานร่วมกันระหว่างผู้นำชนเผ่าที่เคยมีขึ้นในช่วงสงคราม ก็ไม่ได้มีการสานต่อหลังปี 1975
หลังจากนโยบายการผสมกลมกลืนชนกลุ่มน้อยล้มเหลว ในปี ค.ศ. 1986 ผู้นำได้เปลี่ยนนโยบายต่อชนเผ่า โดยนำไปผูกติดกับเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม ต่อมาพรรคและรัฐบาลใช้วิถีการเมืองและเศรษฐกิจเป็นตัวกำหนดปัญหา ชนเผ่าส่วนใหญ่ ซึ่งในช่วงแรกได้รับการต่อต้านจากชนกลุ่มน้อยโดยเฉพาะคนม้ง ซึ่งรัฐมักใช้กำลังทางทหารเข้าปราบปราม ปัจจุบันเป้าหมายพื้นฐานของนโยบายรัฐบาลคือ การบูรณาการชนเผ่าเข้าสู่สังคม การปกป้องวัฒนธรรม ประเพณีดั้งเดิม และการปรับปรุงคุณภาพชีวิตทั้งทางวัตถุและจิตวิญญาณของชนกลุ่มน้อย ได้รับการชูประเด็นให้โดดเด่นและเน้นขึ้นมาอีกครั้ง (Cheutching, 2000)
อย่างไรก็ดี ปัญหาสำคัญระหว่างรัฐและกลุ่มชาติพันธุ์ในลาวตอนนี้ก็คือ การแผ้วถางและบุกรุกป่าเพื่อทำการเกษตร รัฐเห็นว่าวิธีการถางและเผา (slash and burn) ของชนเผ่าในเขตภูเขา เป็นการทำลายสิ่งแวดล้อมและป่า ทำให้รัฐพยายามแก้ปัญหาด้วยการใช้นโยบายเคลื่อนย้ายหมู่บ้านจากที่สูงมาสู่ที่ราบลุ่ม เพื่อลดการบุกรุกป่า แต่กลุ่มคนอพยพหน้าใหม่ก็เผชิญปัญหาการขาดแคลนที่ดินทำกิน และการแย่งที่ทำกินกับกลุ่มชนเผ่าอื่นที่อยู่ในพื้นที่มาแต่เดิม เนื่องจากรัฐขาดการเตรียมการที่ดีในการโยกย้ายกลุ่มชาติพันธุ์และการตั้งหมู่บ้านใหม่ รวมทั้งการเตรียมจัดสรรทรัพยากรอื่นๆ ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ทำให้นโยบายการโยกย้ายหมู่บ้านชนเผ่าประสบความล้มเหลว มีบางกรณีที่ชนเผ่าย้ายกลับไปอยู่ที่เดิมในเวลาต่อมา (The government of Lao PDR, August 2006)
Grant Evans ตั้งข้อสังเกตว่า อันที่จริงนโยบายเกี่ยวกับชนกลุ่มน้อยของรัฐบาลลาวราชอาณาจักรกับรัฐบาล สปป.ลาวนั้นไม่ได้ต่างกัน แต่การโฆษณาชวนเชื่อของ สปป.ลาว ว่าเป็นรัฐบาลที่เป็นตัวแทนชนกลุ่มน้อยนั้น กลับสร้างปัญหาให้รัฐเอง เพราะนโยบายดังกล่าวทำให้ชนกลุ่มน้อยยิ่งตระหนักในความแตกต่างทางเชื้อชาติของตนมากยิ่งขึ้น และขณะเดียวกันก็สร้างความหวังว่ารัฐจะยกฐานะทางสังคมของตนได้อย่างรวดเร็ว แม้รัฐจะประกาศว่าชนทุกกลุ่มมีความเสมอภาคกัน แต่ความจริงชนกลุ่มน้อยก็รู้ดีว่าพวกเขามิได้มีสิทธิพลเมืองที่เสมอภาคแต่อย่างใด Evans ได้ยกตัวอย่างที่น่าสนใจเกี่ยวกับชาวขมุ ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่สำคัญกลุ่มหนึ่งของกองทัพพรรคคอมมิวนิสต์ลาวขมุคนหนึ่งเล่าว่า “ระหว่างการปฏิวัติ อะไรๆ ก็พรรคให้ประชาชน แต่ปัจจุบันอะไรๆ เป็นประชาชนที่ต้องให้พรรค... คนลาวพากันร่ำรวย แต่คนชนบทคนขมุที่นั่นล้วนยากจน” (Evans, 2003)
บรรณานุกรม
Population Census 2005. (2011). เรียกใช้เมื่อ 19 May 2012 จาก Lao Statistics Bureau: http://www.nsc.gov.la/
Grant Evans. (2003). Urban Minorities. ใน Grant Evans, Laos and Ethnic Minority Cultures: Promoting Heritage (หน้า 241). Paris: UNESCO.
Joachim Schliesinger. (2003). Ethnic Groups of Laos Volume 1. Introduction and Overview. Bangkok: White Lotus.
Laohoua Cheutching. (2000). The Situation of the Hmong and Minority Polities in Laos. ใน Laohoua Cheutching, Ethnic Monoroties and Nationalism in Southeast Asia (หน้า 148-150). Frankfurt am Main: Peter Lang.
The government of Lao PDR. (August 2006). Lao People's Democratic Republic: Northern Region Sustainable Livelihoods Development Project. Vientiane: the government of Lao PDR for the Asian Development Bank.
Vattana Pholsena. (2006). Post-War Laos: the Politics of Culture, History and Identity. Singapore: Institute of Southeast Asian Studies.
Vattana Pholsena and Ruth Banomyong. (2006). Laos from Buffer State to Crossroads. Chiang Mai: MekongPress.