ลาว - ข้อมูลพื้นฐาน



ข้อมูลพื้นฐาน

ที่ตั้งและพื้นที่

อยู่ในภูมิภาคเอเชีย ตอ.ต. ระหว่างเส้นละติจูดที่ 14-23 องศาเหนือ ลองจิจูดที่ 100-108 องศา ตอ. เวลาเร็วกว่าเวลามาตรฐานกรีนิช 7 ชม. เช่นเดียวกับไทย มีพื้นที่ประมาณ 236,800 ตร.กม. พื้นน้ำ 6,000 ตร.กม. ไม่มีทางออกสู่ทะเล (Landlocked Country)

 

อาณาเขต

ชายแดนโดยรอบประเทศติดกับประเทศเพื่อนบ้าน 5 ประเทศ ดังนี้
ทิศเหนือ          ติดจีน 423 กม.
ทิศใต้               ติดไทยและกัมพูชา 1,810 และ 535 กม. ตามลำดับ
ทิศตะวันออก    ติดเวียดนาม 2,130 กม.
ทิศตะวันตก       ติดเมียนมาร์ 235 กม.

 

ภูมิประเทศ

เป็นเทือกเขาสลับซับซ้อนทางภาคเหนือและภาคตะวันออกลาดลงสู่ภาคตะวันตก พื้นที่ 75% เป็นป่าและภูเขาอีก 25% เป็นที่ราบเชิงเขาและที่ราบลุ่มแม่น้ำ แม่น้ำโขงเป็นหัวใจของประเทศไหลผ่านลาวเป็นระยะทาง 1,835 กม. มีความสำคัญทั้งด้านเกษตรกรรม การประมง การผลิตพลังงานไฟฟ้า การคมนาคม จากภาคเหนือไปภาคใต้ และยังใช้เป็นพรมแดนธรรมชาติระหว่างลาวกับประเทศเพื่อนบ้าน

 

ภูมิอากาศ

อยู่ในเขตร้อนชื้นได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ระหว่างเดือนพฤศจิกายน ถึงเดือน เมษายน ทำให้อากาศแห้งแล้ง และอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม ทำให้มีฝนตกชุกเฉลี่ย 100 วันต่อปี มี 3 ฤดู ได้แก่ ฤดูร้อน ระหว่างเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม  อากาศร้อนและแห้งแล้ง อุณหภูมิเฉลี่ย 29-30 องศาเซลเซียส แต่อาจขึ้นสูงถึง 40 องศาเซลเซียส ในเดือนเมษายน   ฤดูฝน ระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนพฤศจิกายน ปริมาณน้ำฝนสูงสุดอยู่ทางภาคใต้บริเวณเทือกเขาอันนัมเฉลี่ย 3,000 ม.ม. ต่อปี  และ ฤดูหนาว ระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมีนาคม ภาคเหนืออากาศหนาวเย็น โดยเฉพาะบริเวณเทือกเขาสูง อุณหูมิลดต่ำมากใน เดือนมกราคม จนอาจถึงจุดเยือกแข็ง อุณหภูมิเฉลี่ย 10-15 องศาเซลเซียส
 

เมืองหลวง

เมืองหลวง ได้แก่ นครหลวงเวียงจันทน์

 

คำขวัญประจำชาติ

สันติภาพ เอกราช ประชาธิปไตย เอกภาพวัฒนาถาวร

 

ประชากร

ประมาณ 6.7 ล้านคน (ก.ค.2556) มี 49 ชนเผ่า 4 หมวดภาษา ความหนาแน่น 24

คน/ตร.กม. ประชากรแยกตามอายุ: วัยเด็ก (0-14 ปี) 35.5% วัยรุ่นถึงวัยกลางคน (15-64 ปี) 60.8% และวัยชรา (65 ปีขึ้นไป) 3.7% อายุขัยเฉลี่ยของประชากรประมาณ 63.14 ปี อัตราการเกิด 3%

 

ศาสนา

นับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาทและนับถือผี  เป็นหลัก

 

ภาษา

ภาษาลาวเป็นภาษาราชการ ชนเผ่าใช้ภาษาประจำเผ่าควบคู่กับภาษาลาว ภาษาฝรั่งเศส ยังคงใช้ในวงราชการและการติดต่อค้าขายบ้าง และภาษาอังกฤษใช้ในการติดต่อกับต่างประเทศและการค้าการศึกษา

 

การศึกษา

อัตราการรู้หนังสือ 73% งบประมาณด้านการศึกษาประมาณ 15% ของ GDP การศึกษาภาคบังคับ 5 ปี ในระดับประถมศึกษา ระบบการศึกษาระดับประถมศึกษาคือ 5 ปี มัธยมศึกษาตอนต้น 4 ปี และมัธยมศึกษาตอนปลาย 3 ปี ระดับอุดมศึกษา 4 ปี ส่วนระดับวิชาชีพชั้นกลาง 2 ปี และชั้นสูง 3 ลาวยังขาดสถาบันด้านอาชีวศึกษาและบุคลากรในสถาบันระดับอุดมศึกษา จึงพยายามที่จะพัฒนาโดยตั้งเป้าหมายจะเร่งสร้างสถาบันเพื่อผลิตบุคลากรด้านอาชีวศึกษาให้ได้ 10,000 คน ในปีการศึกษา 2557-2558

 

สกุลเงิน

กีบ

 

วันชาติ

วันที่ 2 ธันวาคม เนื่องจากเป็นวันแห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครอง (สำนักข่าวกรองแห่งชาติ, 2557, น.365-366)

 

ภูมิศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติ

ลาวได้ชื่อว่าเป็นประเทศแห่งป่าไม้และภูเขา ด้วยทรัพยากรป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์และมีขุนเขา สลับซับซ้อนโดยเฉพาะทางตอนเหนือของประเทศ ตั้งอยู่บริเวณที่เรียกว่า “ดินแดนสุวรรณภูมิ” หรือ คาบสมุทรอินโดจีน มีพรมแดนประชิดกับห้าประเทศเพื่อนบ้านคือ ไทย เวียดนาม เมียนมาร์ กัมพูชา และจีน และด้วยเหตุที่ล้อมรอบด้วยประเทศเพื่อนบ้านถึง 5 ประเทศ  ลาวจึงเป็นประเทศเดียวในแถบนี้ที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล แต่แม้ไม่มีทะเล ลาวก็ยังมีแม่น้ำสายสำคัญอย่างแม่น้ำโขงไหลผ่านประเทศ  นอกจากทรัพยากรป่าไม้แล้ว ประเทศลาวอุดมด้วยสินแร่ชนิดต่างๆ กระจายอยู่ตามพื้นที่ในประเทศลาว ทั้งทองคำ ทองแดง อะลูมิเนียม เกลือ ปูน เป็นต้น จึงมีการทำเหมืองตรงบริเวณที่พบแร่เหล่านี้ (วิทย์ บัณฑิตกุล, 2555, น.47)

 

ภูมิประเทศ

ภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นที่ราบสูงและที่ราบต่ำ ที่ราบสูงประกอบด้วยภูเขาและหุบเขา จุดสูงสุดประมาณ 9,000 ฟุต เต็มไปด้วยป่าไม้ พื้นที่ประมาณร้อยละ 80 ของประเทศเป็นพื้นที่แห้งแล้งไม่เหมาะแก่การเพาะปลูก  พื้นที่บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งมีอยู่ประมาณร้อยละ 20 ของประเทศ มีความอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูก (ศูนย์อินโดจีนศึกษา วิทยาลัยการบริหารรัฐกิจ มหาวิทยาลัยบูรพา, 2551, น.17)
โดยลักษณะภูมิประเทศสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ส่วน ได้แก่

เขตภูเขาสูงในภาคเหนือ เป็นทิวเขาสลับซับซ้อน ประกอบด้วยพื้นที่สามส่วนคือ พื้นที่ภูเขาบริเวณลุ่มแม่น้ำจู กับลำน้ำสาขาต่างๆ พื้นที่ราบสูงตรานนินท์ อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลประมาณ 3,600-4,500 ฟุต เป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำต่างๆ  และพื้นที่บริเวณหุบเขาลุ่มแม่น้ำโขง บริเวณนี้เป็นภูเขาสลับซับซ้อน อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรป่าไม้มากที่สุดของประเทศ เป็นถิ่นที่อยู่ของลาวสูงหรือม้ง

เขตที่ราบสูงในภาคใต้ มีอาณาเขตตั้งแต่ทิศตะวันออกเฉียงใต้ของที่ราบสูงเมืองไปพวนไปจนถึงชายแดนกัมพูชา  ในบริเวณเขตที่ราบสูงนี้มีที่ราบสูงขนาดใหญ่อยู่ 3 แห่ง ได้แก่ ที่ราบสูงเมืองพวน (แขวงเชียงขวาง) ที่ราบสูงนากาย (แขวงคำม่วน) และที่ราบสูงบริเวณภาคใต้ เป็นถิ่นอาศัยของลาวเทิงหรือชาวขมุที่ยังนับถือผี ที่ยังนับถือผี ทำเกษตรบนที่สูง ทำนาขั้นบันได และทำไร่เลื่อนลอย

เขตที่ราบลุ่มในภาคกลาง เป็นเขตที่ราบตามแนวฝั่งแม่น้ำโขงและแม่น้ำต่างๆ เป็นพื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์มากที่สุดในเขตพื้นที่ทั้ง 3 เขต เนื่องจากเขตที่ราบลุ่มเป็นพื้นที่อู่ข้าวอู่น้ำที่สำคัญของประเทศ  ได้แก่ ที่ราบลุ่มเวียงจันทน์ ที่ราบลุ่มสะหวันนะเขต และที่ราบจำปาสักทางภาคใต้ของลาว ซึ่งปรากฏตามแนวแม่น้ำโขงเรื่อยไปจนจดชายแดนประเทศกัมพูชา  เป็นถิ่นที่อยู่ของลาวลุ่มซึ่งมีอาชีพหลักคือ การทำนาลุ่มและทำการเกษตรตามลุ่มแม่น้ำโขง

 

ป่าไม้และสินแร่

พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศลาวเป็นขุนเขาและป่าไม้ โดยมีเนื้อที่ป่าทั้งหมดประมาณ 110,000 ตารางกิโลเมตร คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 47 ของพื้นที่ทั้งหมดของประเทศ มีความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้นานาชนิด ส่วนไม้เศรษฐกิจที่สำคัญของลาว ได้แก่ ไม้สัก ไม้แดง และไม้เนื้อแข็งอื่นๆ  ซึ่งพื้นที่ป่าไม้ส่วนใหญ่จะอยู่บริเวณเมืองซำเหนือแขวงหัวพัน และภาคเหนือของประเทศลาว นอกจากนั้นยังอุดมสมบูรณ์ไปด้วยสมุนไพรหลายร้อยชนิด ทำให้ชาวลาวมีอาชีพเก็บของป่าและส่งขายให้ประเทศเพื่อนบ้าน (วิทย์ บัณฑิตกุล, 2555, น.58)  นอกจากนั้นแล้ว แผ่นดินลาวยังมีแร่ธาตุต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นทองคำ ถ่านหิน ดีบุก ทองแดง อัญมณี อะลูมิเนียม แมงกานีส หินปูน หินกาว และเหล็ก ซึ่งเป็นทรัพยากรที่มีค่าในกาสร้างรายได้แก่ประเทศลาวเป็นอย่างมาก ทำให้อุตสาหกรรมเหมืองแร่มีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจลาวมากขึ้น (วิทย์ บัณฑิตกุล, 2555, น.61)

 

แม่น้ำโขง

แม่น้ำโขง หรือ แม่น้ำของ (คำเรียกในภาษาลาว) เป็นแม่น้ำสายหลักและสำคัญที่สุดของประเทศลาว โดยเป็นเส้นกั้นพรมแดนธรรมชาติระหว่างไทยกับลาวด้านทิศตะวันตกตลอดแนวตั้งแต่จังหวัดเลย จนถึงจังหวัดอุบลราชธานีของไทย ริมฝั่งแม่น้ำเป็นที่ตั้งของเมืองใหญ่ๆ และมีประชากรอยู่หนาแน่น ความยาวของแม่น้ำโขงที่ไหลผ่านประเทศลาวประมาณ 1,835 กม. กิโลเมตร ลักษณะทั่วไปเป็นเกาะแก่งและโขดหินอยู่เป็นจำนวนมาก กระแสน้ำเชี่ยวมีตลิ่งสูงชัน ความกว้างของแม่น้ำจะค่อยๆ กว้างขึ้นตามลำดับเมื่อไหลลงสู่ตอนใต้ (ศูนย์อินโดจีนศึกษา วิทยาลัยการบริหารรัฐกิจ มหาวิทยาลัยบูรพา, 2551, น.19) มีอยู่สองช่วงที่กระแสน้ำโขงไหลแรง คือช่วงระหว่างหลวงพระบางกับเวียงจันทน์ และช่วงใกล้สะหวันนะเขตและแก่งกลางแม่น้ำขนาดใหญ่ (คอนพะเพ็ง) กว้าง 13 กิโลเมตร ซึ่งอยู่ระหว่างชายแดนลาวกับกัมพูชา แม่น้ำโขงจึงถูกแบ่งตามลักษณะภูมิศาสตร์ซึ่งส่งผลต่อลักษณะของประชากรและหน่วยทางการเมืองที่มีความแตกต่างชัดเจน รวมไปถึงลักษณะทางประวัติศาสตร์ที่มีความเป็นเอกลักษณ์ (มาร์ติน สจ๊วต-ฟอกซ์, 2553, น.9) อย่างเช่น แม่น้ำโขงตอนใต้สุดของประเทศลาวชายแดนลาวกับกัมพูชา มีลักษณะพิเศษคือ แตกตัวคลี่แยกเป็นรูปพัด เกิดเกาะแก่งจำนวนมากเกินกว่าที่จะนับได้  โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้ง พื้นที่ผืนน้ำดังกล่าวกินบริเวณกว้างประมาณ 480 ตารางกิโลเมตร และจากผืนน้ำที่กว้างขวางและโอบล้อมเกาะดอนจำนวนมาก บริเวณนี้จึงถูกเรียกว่า “มหานทีสี่พันดอน”  (ศุภชัย สิงห์ยะบุศย์, สุรศักดิ์ พิมพ์เสน และ เสริม ผลเพิ่ม, 2545, น.116-117) ซึ่งแม่น้ำโขงที่ไหลผ่ากลางแขวงจำปาสักนี้มีพื้นที่ทางธรณีวิทยาเป็นหินแข็งขวางแม่น้ำก่อให้เกิดน้ำตกและแก่งหินที่สวยงาม  และจากการที่สายน้ำโขงไหลผ่านนี้ ทำให้เขตพื้นที่รอบข้างเป็นที่ราบลุ่ม เหมาะสมต่อการปลูกข้าว ทำให้แขวงจำปาสักเป็นแหล่งปลูกข้าวที่สำคัญของประเทศลาวมาตลอดทุกยุคทุกสมัย วิถีชีวิตของผู้คนจึงมีอาชีพด้านการทำนา จับปลา เลี้ยงสัตว์ หรืออยู่ในวัฒนธรรมข้าวปลา (ศุภชัย สิงห์ยะบุศย์, สุรศักดิ์ พิมพ์เสน และ เสริม ผลเพิ่ม, 2545, น.97-98) นอกจากนั้น ความอุดมสมบูรณ์ทั้งประเภทและปริมาณปลาในแม่น้ำโขง ยังเป็นแหล่งขยายพันธุ์ปลาและแหล่งประมงน้ำจืดที่สามารถส่งออกจำหน่ายได้ รวมถึงส่งผลให้เกิดน้ำตกที่มีความวิจิตรบรรจงขนาดใหญ่ที่สุดในอุษาคเนย์นั่นคือ น้ำตกคอนพะเพ็ง ซึ่งได้กลายเป็นทรัพยากรด้านการท่องเที่ยวที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของลาวตอนล่างและประเทศลาว (ศุภชัย สิงห์ยะบุศย์, สุรศักดิ์ พิมพ์เสน และ เสริม ผลเพิ่ม, 2545, น.267-269)

แม่น้ำโขงมีความสำคัญทั้งด้านเกษตรกรรม การทำประมงพื้นบ้าน การผลิตพลังงานไฟฟ้าเพื่อใช้ในประเทศและส่งขายประเทศเพื่อนบ้าน  เป็นเส้นทางคมนาคมจากลาวเหนือไปลาวใต้ รวมทั้งยังเป็นเส้นทางการค้าระหว่างประเทศลาวกับประเทศเพื่อนบ้าน และบ่อเกิดแห่งตำนาน ความเชื่อ และประเพณี

 

สถานภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจ

การเมืองการปกครอง

ประเทศลาวได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบบราชาธิปไตย มาเป็นระบอบสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2518 โดยมีพรรคประชาชนปฏิวัติลาว (The Lao People’s Revolutionary Party) หรือ พรรค LPRP เป็นองค์กรชี้นำประเทศมาจนถึงปัจจุบัน โดยมีเจ้าสุภานุวงศ์เป็นประธานคนแรก ตำแหน่งสูงสุดในการปกครองประเทศลาว เรียกว่า ประธานประเทศ มีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี ประธานประเทศคนปัจจุบัน คือ พลโท จูมมะลี ไซยะสอน และยังดำรงตำแหน่งเลขาธิการใหญ่ คณะบริหารงานศูนย์กลางพรรคประชาชนปฏิวัติลาวอีกตำแหน่งหนึ่ง  (วิทย์ บัณฑิตกุล, 2555, น.31)

มีการแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 16 แขวง กับ 1 เทศบาล ได้แก่ นครหลวงเวียงจันทน์  ส่วน 16 แขวง ได้แก่ แขวงพงสาลี แขวงหลวงน้ำทา แขวงอุดมไซ แขวงบ่อแก้ว แขวงหลวงพระบาง แขวงซำเหนือ(หัวพัน)  แขวงไซยะบุลี  แขวงเชียงขวาง แขวงเวียงจันทน์ แขวงบริคำไซ แขวงคำม่วน แขวงสะหวันนะเขต (สวรรณเขต) แขวงสาละวัน แขวงเซกอง แขวงจำปาสัก และแขวงอัตตะปือ   สำหรับนครหลวงเวียงจันทน์ (เดิมชื่อว่า กำแพงนครเวียงจันทน์)  เป็นเมืองหลวงของประเทศที่มีรูปแบบการปกครองตนเองซึ่งเป็นเขตปกครองพิเศษ แยกตัวมาจากแขวงเวียงจันทน์ในปี พ.ศ.2532  (วิทย์ บัณฑิตกุล, 2555, น.34)

พรรคประชาชนปฏิบัติลาว ได้ยึดถือลัทธิมาร์กซิส (Marxist-Leninist Political Philosophy) เป็นพื้นฐานแนวคิด ดำเนินการปฏิวัติด้านรากฐานการผลิตและด้านวัฒนธรรม มีสายใยการจัดตั้งอยู่ในกองทัพ กระทรวง ทบวง กรม โรงเรียน โรงพยาบาล หรือ หน่วยงานย่อยต่างๆ ทั่วประเทศ ตั้งแต่ระดับศูนย์กลาง จนถึงระดับพื้นฐานเพื่อชี้นำ และสนับสนุนทุกหน่วยงานทั่วประเทศให้ได้รับความสะดวกและทำงานได้อย่างมีประสิทธิผล  (ทรงคุณ จันทจร, 2551, น.6-7)  ดังนั้น รูปแบบการปกครองของประเทศลาว จึงเป็นระบบพรรคการเมืองเดียว พรรคมีอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ มีสภาเดียวคือ สภาแห่งชาติ ทำหน้าที่ทั้งด้านนิติบัญญัติและตุลาการ คอยดูแลอนุมัติงบประมาณบริหารแผ่นดิน การออกและแก้ไขกฎหมาย รวมถึงพระราชบัญญัติต่างๆ อีกทั้งกำกับดูแลการทำงานของฝ่ายบริหาร  ผู้นำประเทศมีอำนาจในการกำหนดทิศทางนโยบายพัฒนาประเทศและควบคุมการบริหารประเทศทั้งหมด รองลงมาคือ นายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าคณะรัฐบาล ซึ่งเป็นผู้บริหารจัดการนโยบายของพรรคให้ไปในทิศทางที่กำหนดไว้ โดยแบ่งองค์กรบริหารการปกครองออกเป็น 3 องค์กร ได้แก่ นิติบัญญัติ บริหารและตุลาการ (วิทย์ บัณฑิตกุล, 2555, น.37)

นอกจากนั้นยังมีการรวมกลุ่มของมหาชน ในรูปขององค์กรเพื่อร่วมกันรับผิดชอบต่อสังคม  ซึ่งองค์การจัดตั้งมหาชนนี้ ได้รับการจัดตั้งจากพรรคประชาชนปฏิวัติลาวและได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล ประกอบด้วย 1) องค์การจัดตั้งชาวหนุ่มประชาชนปฏิวัติลาว (กลุ่มเยาวชนปฏิวัติลาว) ปฏิบัติหน้าที่ตามแนวทางของพรรคเพื่อป้องกันชาติ พัฒนาเศรษฐกิจ สนับสนุนระบอบสังคมนิยม   2) สมาพันธ์กำมะบาลลาว ( สมาพันธ์กรรมกรลาว หรือ Lao Labour Union) ปฏิบัติหน้าที่ศึกษาอบรมเป็นกำลังแรงงานสำคัญ เพื่อช่วยเหลืออำนาจการปกครองพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของกรรมกร และช่วยปกปักรักษาประเทศชาติ  3) สมาพันธ์แม่หญิงลาว (สมาพันธ์สตรีลาว หรือ Lao Women Union) ปฏิบัติหน้าที่ศึกษาอบรมสตรี รักษาสิทธิของสตรี ปกปักษ์รักษาและก่อสร้างประเทศชาติ 4) แนวโฮม “แนวลาวสร้างชาติ” (The Lao Front for National Construction) เป็นองค์กรที่กว้างขวางที่สุดกว่าทุกองค์กร โดยรวมเอาประชาชนทุกชนชั้น ทุกเพศทุกวัย ทุกชนเผ่า และทุกศาสนา มีหน้าที่สร้างรากฐานการปกครองชาติรักษาความสงบพัฒนาวัฒนธรรมและการศึกษาสร้างความสามัคคีระหว่างชนเผ่า สนับสนุนเสรีภาพในการนับถือศาสนาและความเชื่อของประชาชน ความเสมอภาคทางเพศ พัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชน โดยเน้นให้มีศรัทธาในระบอบสังคมนิยมภายใต้การชี้นำของพรรคประชาชนปฏิวัติลาว (ทรงคุณ จันทจร, 2551, น.8-9)

 

เศรษฐกิจ

พัฒนาการทางเศรษฐกิจของประเทศลาวสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ช่วง คือ

            1) ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม (ปี 2518-2528) ซึ่งหลังจากการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง ในปี 2518 ลาวได้ใช้ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมเป็นเวลานาน ซึ่งความสัมพันธ์ทางการค้ามุ่งเน้นประเทศสังคมนิยมคอมมิวนิสต์เป็นหลัก ทำให้เศรษฐกิจของลาวซบเซา ประสบปัญหาความยุ่งยาก ปัญหาความยากจน การขาดแคลนสินค้าอุปโภคบริโภค ปัญหาเงินเฟ้อ และปัญหาการบริหารงาน และการผลิตที่ไร้ประสิทธิภาพ รัฐบาลจึงได้ทบทวนนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจใหม่  พร้อมทั้งเริ่มกำหนดแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมขึ้นมา (ทรงคุณ จันทจร, 2551, น.3)  โดยแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับแรกนั้น  ลาวได้พยายามพัฒนาเศรษฐกิจตามแนวทางสังคมนิยมแบบโซเวียต ซึ่งยังเน้นการพึ่งพาตัวเองทางการเกษตรและเน้นการค้ากับกลุ่มประเทศสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ ซึ่งผลปรากฏว่าเศรษฐกิจเติบโตต่ำกว่าเป้าหมาย

           2) ระบบเศรษฐกิจเสรีการตลาด (ปี 2529-ปัจจุบัน) โดยหลังจากที่รัฐบาลชุดปัจจุบันยึดอำนาจได้ในปี พ.ศ.2518 ได้มีการปฏิรูปประเทศและเศรษฐกิจอย่างจริงจัง ภายใต้ “นโยบายจินตนาการใหม่” ในปี พ.ศ.2529 โดยเริ่มเปิดเสรีทางเศรษฐกิจมาอย่างต่อเนื่องตลอดทศวรรษ 1990 ส่งผลให้ภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศลาวมีพัฒนาการที่ดีตามลำดับในช่วง 20 กว่าปีที่ผ่านมา (วิทย์ บัณฑิตกุล, 2555, น.40)

ซึ่งนโยบายจินตนาการใหม่นี้อยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 2 ที่เป็นการหันไปเปิดประเทศ ใช้กลไกตลาดสนับสนุนการค้าและการลงทุนจากต่างประเทศ ปฏิรูปการเองและปรับความสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชน ส่วนแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 3 (2534-2538) และ ฉบับที่ 4 (2539-2543) มีความโดดเด่นมากขึ้น คือ เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจตามแผนดังกล่าว รัฐบาลจึงได้แบ่งพื้นที่ในการพัฒนาประเทศออกเป็น 3 เขต 6 แขวง ได้แก่

ภาคเหนือของประเทศ กำหนดให้แขวงเชียงขวางเป็นพื้นที่หลักสำหรับการส่งเสริมการผลิตปศุสัตว์  ส่วนหลวงพระบางซึ่งเป็นที่ตั้งของเมืองหลวงเก่า และโบราณสถานเป็นพื้นที่เหมาะสมแก่การท่องเที่ยว ส่วนแขวงบ่อแก้วและหลวงน้ำทาซึ่งมีพื้นที่ติดต่อกับไทย พม่าและยูนนานของจีน เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อรองรับโครงการสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ

ภาคกลางของประเทศ มีแขวงเวียงจันทน์และคำม่วนเป็นแขวงหลัก  เน้นให้เป็นพื้นที่เพื่อการส่งเสริมการค้าและอุตสาหกรรม  โดยให้นครเวียงจันทน์เป็นเขตการค้าและอุตสาหกรรม โดยการจัดตั้งเมืองธุรกิจแห่งใหม่บริเวณเชิงสะพานมิตรภาพไทย-ลาว และจัดตั้งเมืองอุตสาหกรรมครบวงจรที่เมืองไซธานี ส่วนแขวงคำม่วนเป็นพื้นที่ที่มีแม่น้ำหินปูน  แม่น้ำเถิน และแม่น้ำเซบั้งไฟไหลผ่าน เหมาะที่จะสร้างเขื่อนหลายแห่ง  ส่วนแขวงคำม่วนมีแร่ธาตุอุดมสมบูรณ์มากที่สุดในประเทศ เช่น แร่เงิน ทองคำ ดีบุก ยิบซั่ม และโปรแตส สามารถขนส่งสินค้าออกสู่ทะเลโดยอาศัยท่าเรือของเวียดนาม จึงเหมาะสมที่จะพัฒนาพื้นที่นี้เป็นเขตพัฒนาอุตสาหกรรมจากแร่ธาตุต่างๆ

ภาคใต้ของประเทศ มีแขวงสะหวันนะเขตและแขวงจำปาสักเป็นแขวงหลักสำหรับการพัฒนาการค้า เกษตรกรรมและการท่องเที่ยว สะหวันนะเขตอยู่ตรงข้ามกับมุกดาหารของไทยซึ่งเป็นเขตสะพานข้ามแม่น้ำโขงไทย-ลาว แห่งที่สองจึงจะพัฒนาให้เป็นเขตการค้าเสรี รวมถึงยังมีทางหลวงไปถึงเมืองเว้และท่าเรือดานังของเวียดนาม ส่วนแขวงสาละวัน เซกอง จำปาสักและอัตตะบือเป็นพื้นที่เหมาะสมแก่การทำกสิกรรม เลี้ยงสัตว์  ส่วนแขวงจำปาสักซึ่งอดีตเคยเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรจำปาสัก มีโบราณสถานและที่ท่องเที่ยวตามธรรมชาติอยู่มาก (สุรชัย ศิริไกร, 2548, น.213-214)

กล่าวสรุปคือ มีการเน้นเสรีภาพการค้าและการลงทุนเพิ่มขึ้น มีเป้าหมายที่ชัดเจนในการให้ลาวเป็นศูนย์กลางการผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อการส่งออก  พัฒนาเกษตรกรรม การค้าและการท่องเที่ยว โดยความร่วมมือกับประเทศสมาชิกเพื่อนบ้านในโครงการสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ และโครงการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ และการเข้าเป็นสมาชิกขององค์การอาเซียนในปี พ.ศ.2540 รวมถึงนโยบายการพัฒนาการพัฒนาลาวให้เป็นศูนย์กลางการค้าและคมนาคมในอนุภูมิภาคนี้ เนื่องจากลาวเป็นประเทศเดียวที่มีพรมแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านถึง 6 ประเทศคือ จีน เวียดนาม พม่า ไทยและกัมพูชา ทำให้อนาคตการพัฒนาเศรษฐกิจของลาวผูกพันกับการพัฒนาเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศอาเซียนและจีน (สุรชัย ศิริไกร, 2548, น.267) นอกจากนี้ยังรวมถึงการวางเป้าหมายการนำประเทศให้หลุดพ้นจากความยากจนภายในปี 2563

สถานภาพทางเศรษฐกิจของลาวมีรายได้หลักมาจาก พลังงานไฟฟ้า โดยที่ลาวมีแหล่งน้ำสำหรับผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อใช้ในประเทศและส่งออกเป็นตามนโยบายการเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าของเอเชีย (Battery of Asia) ส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของ GPD ของประเทศถึง 27% จากโครงการต่างๆ ที่ขายไฟฟ้าให้กับประเทศไทย (ศูนย์อินโดจีนศึกษา วิทยาลัยการบริหารรัฐกิจ มหาวิทยาลัยบูรพา, 2551,น. 32) ส่วนภาคเกษตรกรรม ลาวมีพื้นที่เพาะปลูกประมาณ 40% โดยมีพืชเกษตรสำคัญ ได้แก่ กาแฟ ยางพารา ข้าว และข้าวโพด การเพาะปลูกที่สำคัญอยู่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำโขง นอกจากนั้นยังมีการพัฒนาการเกษตรแผนใหม่เช่น การปลูกไม้ยางพาราร่วมกับมาเลเซีย ส่วนกาแฟเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญ ส่วนใหญ่ทำการเพาะปลูกที่ภาคใต้ ถือเป็นกาแฟคุณภาพดีโดยเฉพาะที่ปากช่องแขวงจำปาสัก (กนกพรรณ อยู่ชา, 2539, น.62) และเนื่องจากลาวมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์จึงมีการทำสัมปทานป่าไม้ เช่น ไม้สัก ไม้มะฮอกกานี ไม้กฤษณา และการทำเหมืองแร่ เช่น ทองคำ ทองแดง โพแทช บ็อกไซต์ ถ่านหิน สังกะสี และอัญมณี (สำนักข่าวกรองแห่งชาติ, 2557, น.367) นอกจากนั้นยังมีการทำอุตสาหกรรมขนาดเล็กส่วนใหญ่อยู่บริเวณเวียงจันทน์ เช่น อุตสาหกรรมทอผ้าฝ้าย โรงงานผลิตเบียร์ลาว เป็นต้น  สำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวตามนโยบายการส่งเสริมการท่องเที่ยวของรัฐบาลนั้น ลาวได้ตั้งเป้าหมายเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวแห่งภูมิภาคอินโดจีน ด้วยการวางแผนพัฒนา 5 เมืองหลักตามบริบทที่แตกต่างกันออกไป ได้แก่ (1) กรุงเวียงจันทน์ เน้นแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์และแหล่งช็อปปิ้ง  (2) เมืองหลวงพระบาง เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวภาคเหนือ เน้นจุดขายธรรมชาติและประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ  (3) จำปาสัก เน้นแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติที่สำคัญคือ น้ำตกคอนพะเพ็ง และเกาะดอนโขง รวมถึงโบราณสถานเช่น ปราสาทวัดภู และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวลาว  (4) สะหวันนะเขต เป็นศูนย์กลางการค้าการท่องเที่ยวระหว่างไทย-ลาว-เวียดนาม  (5) เมืองห้วยทรายและแขวงบ่อแก้ว เน้นจุดเชื่อมต่อการท่องเที่ยวกับอนุภูมิภาคในเขตสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ คือภาคเหนือของไทย พม่า และจีนตอนใต้ (กนกพรรณ อยู่ชา, 2539, น.102-103)

สถานการณ์และแนวโน้มการพัฒนาเศรษฐกิจของลาว ที่ผ่านมาลาวตั้งเป้าหมายจะเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวในปี 2558 ส่วนด้านธุรกิจท่องเที่ยวนั้น เมื่อปี 2556 ลาวมีรายได้จากภาคการท่องเที่ยวประมาณ 596 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  อีกทั้งได้รับการคัดเลือกจากองค์การค้าและการท่องเที่ยวของกลุ่มประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปเป็นประเทศดีที่สุด้านการท่องเที่ยวและวัฒนธรรมประจำปี 2556 อย่างไรก็ดี รัฐบาลอนุมัติแผนระงับการส่งออกถ่านหินชั่วคราวตั้งแต่ปี 2558 เพื่อสำรองปริมาณถ่านหินรองรับการบริโภคภายในประเทศ (สำนักข่าวกรองแห่งชาติ, 2557, น.368)

 

สังคมและวัฒนธรรม

ประเทศลาวรวมถึงประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยเฉพาะภาคพื้นทวีป (Mainland) เช่น ลาว ไทย กัมพูชา พม่า มีลักษณะร่วมทางวัฒนธรรมที่เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อ ศาสนา ภาษา กลุ่มชาติพันธ์ และวิถีชีวิต เนื่องจากในสมัยโบราณวัฒนธรรมไม่ได้ถูกจำกัดด้วยอาณาเขตและพรมแดนของชาติพันธุ์ที่ไม่ได้ปรากฏชัดเช่นสังคมปัจจุบัน ที่ทำให้คนต้องกำหนดชาติพันธุ์ของตัวเอง  ดังเช่นที่ อาจารย์ปราณี วงษ์เทศ กล่าวถึง สำนึกเกี่ยวกับชนเผ่าของชาวอุษาคเนย์ไว้ว่า ลักษณะของกลุ่มชนในอดีตคงอยู่ในระดับเผ่าพันธุ์ ที่ถือว่ามีวัฒนธรรมร่วมกันในทางภาษา และลักษณะทางวัฒนธรรมอื่นๆ เช่น องค์การทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม แต่มิได้ถูกรวบรวมจัดระเบียบบูรณาการเป็นส่วนเดียวกัน โดยองค์กรการปกครองมีศูนย์กลางที่เป็นรัฐและไม่มีพรมแดนทางการเมืองที่กำหนดเขตแน่นอนตายตัวเหมือนรัฐประชาชาติ (ปราณี วงษ์เทศ,2543, น.288)

อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม กล่าวว่า สำนึกและความเชื่อเกี่ยวกับเผ่าพันธุ์ของผู้คนในอุษาคเนย์ สะท้อนให้เห็นทัศนคติ โลกทรรศน์ของผู้คนในแถบนี้ ที่มิได้แยกตัวเองอยู่อย่างโดดเดี่ยว แต่มีการติดต่อสังสรรค์ สัมพันธ์กันมาตลอดเวลายาวนานตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ จนไม่น่าเชื่อว่าจะมีเผ่าพันธุ์หรือชนชาติใดในปัจจุบันที่อ้างได้ว่า เป็นกลุ่มชนที่ไม่เคยผสมผสานกับผู้คนต่างเผ่าพันธุ์หรือดำรงเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของตนไว้ได้ โดยปราศจากอิทธิพลของวัฒนธรรมเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะในสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ที่เป็นผืนแผ่นดินเดียวกันของอุษาคเนย์ นอกจากนี้ ยังมีหลักฐานทางโบราณคดียืนยันว่า มีการติดต่อกันระหว่างผู้คนภายในภาคพื้นทวีป กับ ผู้คนภายนอกทั้งทางบก ทางทะเลมาตลอดอย่างน้อยไม่ต่ำว่า 2,500 ปีมาแล้ว (อ้างใน ปรานี วงษ์เทศ, 2543, น.286)

 

การแต่งกาย

การแต่งกายส่วนใหญ่ของประชาชนลาวคือ ชุดแต่งกายของผู้หญิงนั้นนิยมนุ่งผ้าซิ่นหรือผ้าถุงทอมือจากฝ้ายลวดลายต่างๆ  อาจมีผ้าสไบเฉียงที่เรียกว่า เบี่ยง ทอด้วยลวดลายสวยงาม หรือเป็นผ้าทอสีพื้นทั้งผ้าฝ้ายและผ้าไหม คาดเอวด้วยเข็มขัดเงินลวดลายสวยงาม เกล้ามวยผมประดับดอกไม้ไว้ด้านหลัง ส่วนผู้ชายนั้นจะสวมเสื้อผ้าไหมสีพื้นหรือผ้าตาดทองยกดอก สวมเสื้อราชปะแตน  คาดบ่าด้วยผ้าขาวม้าหรือผ้าแถบมีลวดลาย มัดหมี่ หรือสีพื้น ทอด้วยฝ้ายหรือไหม การแต่งกายประจำชาติ หรือ ชุดแต่งกายพื้นเมืองของชาวไทลาวนี้ เป็นที่นิยมสวมใส่ในชีวิตประจำวัน ทุกโอกาสและเหตุการณ์สำคัญในชีวิต (วิทย์ บัณฑิตกุล, 2555, น.126-127) ในขณะที่การนุ่งผ้าซิ่นของผู้หญิงนั้นยังได้ประยุกต์ใช้ใส่เป็นเครื่องแบบของนักเรียนและนักศึกษาลาวด้วย แสดงให้เห็นว่า ชาวลาวยังคงสามารถรักษาวัฒนธรรมการแต่งกายอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะไว้ได้เป็นอย่างดี ซึ่งแตกต่างจากประเทศพื้นบ้านในอุษาคเนย์ ที่รับการแต่งกายแบบสากลมาใช้ในชีวิตประจำวันเป็นเรื่องปกติ ส่วนเครื่องประดับผู้หญิงชาวนิยมอัญมณีต่างๆ ทั้งเครื่องทอง และเครื่องเงิน โดยเฉพาะเครื่องเงินของลาวนั้น มีชื่อเสียงและเป็นหนึ่งในของที่ระลึกที่นักท่องเที่ยวสนใจในการความเป็นเอกลักษณ์ของลวดลายเป็นอย่างยิ่ง นอกเหนือจากผ้าทอมือของลาว

นอกจาก ชุดแต่งกายประจำชาติลาวซึ่งเป็นวัฒนธรรมการแต่งกายของชาวไทลาวแล้ว ยังมีเครื่องแต่งกายของกลุ่มชาติพันธ์อื่นๆ ในลาว ซึ่งมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็น ชาวภูไท ชาวไทดำ และชาวไทขาว ซึ่งจะมีลวดลายของผ้าซิ่นหรือผ้าทอที่สวยงามอีกแบบหนึ่ง

 

ภาษาและวรรณกรรม

ภาษาประจำชาติและเป็นกระแสหลักที่ใช้โดยทั่วไปในประเทศลาวคือ ภาษาไทลาว  ซึ่งภาษาลาวนี้มีคำศัพท์และการออกเสียงที่คล้ายกับภาษาไทยถิ่นอีสาน ทางภาษาศาสตร์จึงได้มีการจัดกลุ่มภาษาลาวและภาษาไทยถิ่นอีสานอยู่ในภาษากลุ่มย่อยของภาษาตระกูลเดียวกันคือ ภาษาตระกูลไท-ไต (Thai-Tai)  เนื่องจากภาษาลาวมีระบบการเขียนคล้ายกับภาษาไทย ทั้งลักษณะของคำโดด การใช้คำลักษณะนาม และการเรียบเรียงประโยค (สำนักงานราชบัณฑิตยสภา, 2558, น.3)

ส่วนความเป็นมาของอักษรลาวนั้น เนื่องจากลักษณะอักษรที่มีความโดดเด่นและโบราณ ศาสตราจารย์ยอร์ซ เซเดย์ เคยให้ความเห็นว่า อักษรลาวน่าจะมีที่มาจากอักษรไทยของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช เกิดขึ้นที่เมืองสุโขทัย แล้วแพร่หลายไปยังเมืองที่ติดต่อกัน คือ ในดินแดนล้านนาและล้านช้าง แต่ภายหลังตัวอักษรไทยในดินแดนล้านช้างได้เปลี่ยนเป็นตัวอักษรลาว ในขณะที่ มหาวสิลาวีละวง เห็นว่า ชาติลาวมีตัวหนังสือของตัวเองมาหลายร้อยปีหรืออาจจะเป็นพันปีก่อนสมัยพ่อขุนรามคำแหงของไทย (อ้างใน พิษณุ จันทร์วิทัน, 2556, น.15) ส่วนคำต่างๆ ในภาษาลาวปัจจุบันนั้น อาจแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ คำลาวเดิม และคำลาวที่มีเค้ามาจากภาษาบาลี-สันสกฤต และภาษาอื่น  อย่างไรก็ตามแม้ภาษาเขียนของลาวจะมีความแตกต่างจากเมื่อหลายสิบปีก่อน เนื่องมาจากการกำหนดกฎเกณฑ์การเขียนให้เป็นแบบเดียวกัน  แต่ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปมากนักหากเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ตัวอักษรไม่ได้มีการใช้อักษรโรมัน หรือเปลี่ยนรูปแบบวิธีการเขียนไปเลย เช่น อักษรไทยสมัย จอมพล ป.พิบูลสงคราม  เนื่องจากที่ผ่านมาได้มีการพยายามอนุรักษ์ภาษาลาวไว้ให้ได้มากที่สุด จึงไม่น่าแปลกใจที่อักษรลาวจะยังคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์และความแพร่หลายได้ดีกว่าเมื่อเทียบกับตัวอักษรที่น่าจะเกิดขึ้นพร้อมๆ กัน เช่น ตัวอักษรล้านนาทางภาคเหนือของไทย เป็นต้น การเปลี่ยนแปลงของภาษาลาวจึงเป็นสิ่งสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงทางสังคม วัฒนธรรมและการเมืองของประเทศลาวได้เป็นอย่างดี

วรรณกรรมของลาวที่มีมาแต่โบราณซึ่งรวมถึงวรรณกรรมพื้นบ้าน มีหลายประเภท ได้แก่ สุภาษิตคำสอน มีความคล้ายคลึงกับภาษาถิ่นอีสานของไทย  ผญาภาษิต  คำกลองเล่นสัมผัสหลายรูปแบบคล้ายกับคำพังเพยของไทย  ปริศนาภาษิตเป็นคำสอนเปรียบเทียบสิ่งต่างๆ ให้ขบคิด เป็นภาษิตอีกหนึ่งประเภทของลาวแต่โบราณ รวมถึงคำสอนภาษิต โคลงภาษิตและคำโตงโตย ส่วนคำร้อยกรองในภาษาลาวนั้นคล้ายกับไทย ไม่ว่าจะเป็นกาพย์ กลอน และโคลง ในรายละเอียดปลีกย่อยตามประเภทที่แตกต่างออกไป ส่วนวรรณกรรมลาวที่มีมาแต่โบราณและเป็นที่รู้จักกันดีส่วนมากจะเป็นตำนานของวีรบุรุษ เช่น พื้นขุนบรม หนังสือขุนเจือง รวมถึงนิทานสอนใจเชิงคติธรรม เช่น สังข์ศิลป์ไชย อินทิญาณสอนลูก ปู่สอนหลาน หนังสือเสียวสวาด เป็นต้น (พิษณุ จันทร์วิทัน, 2556, น.174)  ซึ่งวรรณกรรมบางเรื่องมีทั้งต้นฉบับภาษาลาวและต้นฉบับภาษาไทย ซึ่งมีเนื้อหาบางส่วนแตกต่างกันไปบ้าง จึงสะท้อนถึงวัฒนธรรมความเชื่อและตำนานที่มีร่วมกันอย่างแนบแน่นมาช้านานระหว่างลาวกับไทย

บรรณานุกรม

    กนกพรรณ อยู่ชา. (2539). สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว: ภูมิหลังทางการเมือง และสถานภาพทาง เศรษฐกิจ. กรุงเทพฯ สมาคมไทย-ลาว: สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ.

    ทรงคุณ จันทจร. (2551). แขวงหลวงพระบาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว: เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม. มหาสารคาม: สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.

    ปรานี วงษ์เทศ. (2543). สังคมและวัฒนธรรมในอุษาคเนย์. กรุงเทพฯ: ศิลปวัฒนธรรม.

    พิษณุ จันทร์วิทัน. (2556). เสน่ห์ภาษาลาว (พิมพ์ครั้งที่ 4). กรุงเทพฯ: สถาพรบุ๊คส์.

    สจ็วต-ฟอกซ์, มาร์ติน. (2553). ประวัติศาสตร์ลาว (จิราภรณ์ วิญญรัตน์, ผู้แปล/ กาญจนี ละอองศรี และ ปรียา แววหงษ์, บรรณาธิการ). กรุงเทพฯ : มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย

    สำนักข่าวกรองแห่งชาติ. (ธันวาคม 2557). ข้อมูลพื้นฐานของต่างประเทศ 2558. สืบค้นเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2558, จาก https://www.nia.co.th/niaweb58/data_gb.asp.

    สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. (2558). เพลินภาษาเพื่อนอาเซียน ฉบับราชบัณฑิตยสภา (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ: สำนักงานราชบัณฑิตยสภา.

    สุรชัย ศิริไกร. (2548). การพัฒนาเศรษฐกิจและการเมืองลาว (พิมพ์ครั้งที่ 4, ฉบับปรับปรุง). กรุงเทพฯ : โครงการจัดพิมพ์คบไฟ.

    วิทย์ บัณฑิตกุล. (2555). สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว. กรุงเทพฯ: สถาพรบุ๊คส์.

    ศุภชัย สิงห์ยะบุศย์, สุรศักดิ์ พิมพ์เสน และ เสริม ผลเพิ่ม. (2545). โครงการสารคดีลาวตอนล่าง: สะหวันนะเขต สาละวัน เซกอง จำปาสักและอัตตะปือ : ห้าแขวงลาวตอนล่าง. กรุงเทพฯ: โครงการอาณาบริเวณศึกษา 5 ภูมิภาค.

    ศูนย์อินโดจีนศึกษา วิทยาลัยการบริหารรัฐกิจ มหาวิทยาลัยบูรพา. (2551). ข้อมูลพื้นฐานสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว. ชลบุรี: ศูนย์อินโดจีนศึกษา วิทยาลัยการบริหารรัฐกิจ มหาวิทยาลัยบูรพา.