ลาว-บรรณนิทัศน์



วิทย์ บัณฑิตกุล. (2555). สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว. กรุงเทพฯ: สถาพรบุ๊คส์.

          อยู่ในหนังสือชุดประชาคมอาเซียน เป็นเล่มที่เหมาะสมสำหรับคนที่เตรียมพร้อมเพื่อก้าวและเปิดรับสู่ประชาคมอาเซียน  เนื่องจากกล่าวถึงข้อมูลพื้นฐานของประเทศลาวครอบคลุมทุกด้านโดยอัพเดทถึงในปี พ.ศ.2555 ทั้งในเรื่องประวัติศาสตร์ตำนาน การเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ ภูมิศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติ เมืองและสถานที่สำคัญ เกี่ยวกับความเป็นคนลาว การแต่งกายของคนลาว วัฒนธรรมการกิน และเทศกาลงานประเพณี การเล่าเรื่องต่างๆ อยู่บนพื้นฐานความรู้ความเข้าใจที่ทุกคนสามารถเข้าได้โดยง่าย มีการเปรียบเทียบภาพของลาวกับประเทศไทย เนื่องจากการเป็นเพื่อนบ้านใกล้ชิดและมีลักษณะร่วมทางวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกันในหลายประการ

 

ศูนย์อินโดจีนศึกษา วิทยาลัยการบริหารรัฐกิจ มหาวิทยาลัยบูรพา. (2551). ข้อมูลพื้นฐานสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว. ชลบุรี: ศูนย์อินโดจีนศึกษา วิทยาลัยการบริหารรัฐกิจ มหาวิทยาลัยบูรพา.

          เนื่องจากศูนย์อินโดจีนศึกษาฯ มีบทบาทในเชิงการเผยแพร่ข่าวที่เกี่ยวข้องกับประเทศลาวและประเทศในอินโดจีนอยู่แล้ว แม้เนื้อหาจะครอบคลุมข้อมูลพื้นฐานของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวในทุกด้านทั้งด้านเศรษฐกิจ การปกครอง สังคมและวัฒนธรรมก็ตาม แต่จุดเด่นของหนังสือเล่มนี้คือ ข้อมูลเชิงสถิติและจุดเน้นที่เกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจของลาว และศักยภาพแนวโน้ม ทิศทางความก้าวหน้า  มีการวิเคราะห์จุดอ่อน จุดแข็ง อุปสรรค และโอกาส โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นเกี่ยวกับศักยภาพในการแข่งขันของประเทศลาว ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยที่เอื้อให้ลาวมีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางทางการค้า  รวมถึงศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวของภูมิภาคอาเซียน  เนื้อหาในเล่มนี้เป็นการให้ภาพอีกมุมหนึ่งของประเทศลาว เนื่องจากให้มิติเชิงลึกของเศรษฐกิจที่ไม่ได้มองแค่การค้า แต่ทุกอย่างคือการมองเป็นองค์รวมเกี่ยวโยงไปทั้งการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ การท่องเที่ยวไทย-ลาว ปัญหาทางสังคมที่เกิดขึ้นบริเวณชายแดนไทย-ลาว จุดเด่นของเนื้อหาจึงทำให้คนสามารถมองเห็นมิติที่เกิดขึ้นจริงทุกด้าน โดยเน้นที่ข้อเท็จจริงที่ผ่านมา  พร้อมการวิเคราะห์แนวโน้มสิ่งที่สามารถจะพัฒนาร่วมกันได้ต่อไประหว่างไทยและลาว ซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าและให้การพึ่งพาอาศัยในเชิงเศรษฐกิจระหว่างกันและกัน

 

ทรงคุณ จันทจร. (2551). แขวงหลวงพระบาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว: เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม. มหาสารคาม: สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.

           เนื้อหากล่าวถึงข้อมูลพื้นฐานทั่วไปครอบคลุมทุกด้านทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคมและวัฒนธรรม แต่เน้นไปที่เมืองหลวงพระบางซึ่งเป็นตัวเอกในการเล่าเรื่องทั้งหมด  ในหลายประเด็นจึงมีข้อมูลจำเพาะของหลวงพระบางแทรกอยู่ ทั้งนี้เน้นเจาะลึกไปในด้านสังคม วัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชาวหลวงพระบางในเชิงลึกกว่าหัวข้ออื่นๆ เช่น ความเป็นมาและพัฒนาการของพุทธศาสนาในประเทศลาว การศึกษา  ความเชื่อ ประเพณี อาหาร และแหล่งท่องเที่ยวของหลวงพระบาง หากอ่านเนื้อหาทั้งหมดแล้วจะทำให้สามารถเข้าใจวิถีชีวิต และความรู้สึกนึกคิดโดยรวมของชาวหลวงพระบาง

 

ศุภชัย สิงห์ยะบุศย์, สุรศักดิ์ พิมพ์เสน และ เสริม ผลเพิ่ม. (2545). โครงการสารคดีลาวตอนล่าง: สะหวันนะเขต สาละวัน เซกอง จำปาสักและอัตตะปือ : ห้าแขวงลาวตอนล่าง. กรุงเทพฯ: โครงการอาณาบริเวณศึกษา 5 ภูมิภาค.

          ลาวตอนล่าง หมายถึง สะหวันนะเขต สาละวัน เซกอง จำปาสัก และอัตตะปือ ซึ่งเป็น 5 แขวงใน สปป.ลาว นั้น มีพื้นที่ติดกับประเทศไทย ในขณะที่ภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำโขง ทำให้คนที่อาศัยในบริเวณนั้น มีลักษณะทางชาติพันธุ์ วิถีชีวิตและวัฒนธรรมด้านต่างๆ ไม่ต่างจากชาวอีสานในประเทศไทย  นอกจากนั้นพื้นที่ลาวตอนล่างยังมีทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญต่อระบบเศรษฐกิจหลายประการเช่น การสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้า สถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ แสดงให้เห็นว่าแท้จริงลาวตอนล่างมีลักษณะเด่นและเอกลักษณ์ไม่แพ้เมืองอื่นๆ ของประเทศลาว ทั้งด้านวิถีชีวิต วัฒนธรรมชนเผ่า ศิลปวัฒนธรรม ประเพณีพิธีกรรม แหล่งประวัติศาสตร์และความเป็นมาสมัยอาณาจักรจามปาศักดิ์ ล้วนมีคุณค่าทางวิชาการและการศึกษา  ในแง่ของความสัมพันธ์ระหว่างลาวตอนล่างกับไทยนั้นก็มีความชัดเจนทั้งกลุ่มชาติพันธ์ ลักษณะร่วมทางวัฒนธรรม และการไปมาหาสู่ในวิถีชุมชนริมสองฝั่งโขง  เรียกได้ว่ามีความสัมพันธ์แนบแน่นในทุกระดับตั้งแต่ระดับประชาชน ภาครัฐจนถึงนโยบายระดับประเทศ ยิ่งในปัจจุบันความสัมพันธ์ที่ยึดประโยชน์ส่วนร่วมทางเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศส่งผลดีต่อการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน และความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศได้เป็นอย่างดี โดยเนื้อหาในหนังสือถ่ายทอดในเชิงสารคดี มีคำสัมภาษณ์ และการบันทึกการเดินทางที่ทำให้สามารถมองเห็น เข้าใจวิถีชีวิตของชาวลาวตอนล่างได้เป็นอย่างดี

 

ธีระ นุชเปี่ยม.(2558). สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว. ใน สำนักงานราชบัณฑิตยสภา, สารานุกรมประวัติศาสตร์ประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน ฉบับราชบัณฑิตยสภา (น.97-139). กรุงเทพฯ: สำนักงานราชบัณฑิตยสภา.

           บทความนี้กล่าวถึงพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวได้อย่างย่นย่อตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน สภาพที่ตั้งซึ่งทำให้ลาวมีฐานะเป็นดินแดนกันชนระหว่างชาติเพื่อนบ้านที่เข้มแข็งกว่า โดยเฉพาะระหว่างไทยกับเวียดนามที่มีการแย่งชิงอำนาจในดินแดนลาวมาตลอดทุกสมัย จากนั้นกล่าวถึงหลักฐานทางโบราณคดีที่มีการตั้งถิ่นฐานในดินแดนลาวตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์  จนกระทั่งถึงสมัยยุคประวัติศาสตร์ที่ปรากฏเรื่องราวสืบย้อนถึงอาณาจักรล้านช้างในสมัยพระเจ้าฟ้างุ้ม ก่อนจะแตกแยกเป็น 3 อาณาจักร ได้แก่ หลวงพระบาง เวียงจันทน์ และจำปาศักดิ์  ซึ่งได้ตกเป็นประเทศราชของไทยอยู่นานจนกระทั่งปลายศตวรรษที่ 19 ฝรั่งเศสเข้ามาปกครองลาวในฐานะรัฐอารักขา ที่ได้รวมอาณาจักรลาวทั้งหมดเข้าด้วยกันและผนวกเป็นส่วนหนึ่งของภูมิภาคอินโดจีนของฝรั่งเศส ภายหลังได้รับเอกราชลาวแตกแยกเป็นฝ่ายต่างๆ เกิดสงครามตัวแทนความคิดอุดมการณ์ทางการเมืองที่แบ่งเป็นสองขั้ว จนในที่สุดพรรคคอมมิวนิสต์ลาวได้ยึดอำนาจและก่อตั้งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวขึ้นมาและได้ปกครองในระบอบนี้จนถึงปัจจุบัน  และเนื่องจากหนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ในปี พ.ศ.2558 จึงมีข้อมูลที่อัพเดทถึงสถานการณ์ลาวในปัจจุบันและทิศทางแนวโน้มในการพัฒนาประเทศลาวต่อไปด้วย

 

ดารารัตน์ เมตตาริกานนท์. (2548). ประวัติศาสตร์ลาวหลายมิติ. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ.

            มีเนื้อหาที่แบ่งประเภทมุมมองในการเกิดประวัติศาสตร์ลาวที่แตกต่างกันไป ได้แก่ ประวัติศาสตร์ลาวในมุมมองของตะวันตกยุคเก่า ประวัติศาสตร์ลาวในมุมมองของเพื่อนบ้าน โดยมองจากเอกสารเวียดนามและไทยประวัติศาสตร์ลาวจากมุมมองของลาวสมัยราชอาณาจักร โดยมองผ่านหนังสือแบบเรียนที่ใช้อยู่ในช่วงสมัยนั้น  และประวัติศาสตร์ลาวในมุมมองของลาวสมัย สปป.ลาว ช่วงสังคมนิยมยุคต้น โดยถือเอาปีที่ลาวเปลี่ยนนโยบายเข้าสู่ยุคจินตนาการใหม่ เป็นปีที่สิ้นสุดของการศึกษา ซึ่งในแต่ละมุมมองนั้นมีรายละเอียดที่แตกต่างกันแสดงให้เห็นว่าประวัติศาสตร์นั้นขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นผู้เขียน  อีกทั้งเนื้อหาในหนังสือเป็นเหมือนการทบทวนงานเขียนที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ลาวทั้งหมด เป็นการศึกษาเชิงลึกในอีกมิติหนึ่งที่มีความน่าสนใจ

 

สุวิทย์ ธีรศาศวัต. (2543). ประวัติศาสตร์ลาว 1779-1975. กรุงเทพฯ : สร้างสรรค์.

           หนังสือดังกล่าวมาจากการวิจัยเชิงลึกในประวัติศาสตร์ของลาวในช่วงระยะเวลาตั้งแต่ ค.ศ. 1779-1975 สมัยที่ไทยปกครองลาว  สมัยฝรั่งเศสปกครอง และ สมัยที่ลาวได้รับเอกราช ซึ่งเน้นไปในด้านเศรษฐกิจ และการเมืองการปกครอง โดยในสมัยที่ไทยปกครองลาวนั้น ลาวยังคงมีระบอบการปกครอง และระบบเศรษฐกิจที่ไม่แตกต่างไปจากสมัยอาณาจักรล้านช้าง  มีการขูดรีดผลประโยชน์จากลาวของรัฐไทยในรูปของส่วนและเกณฑ์แรงงานเป็นครั้งคราว ความขัดแย้งที่รุนแรงมีไม่บ่อย ไทยจะเข้ามาปราบปรามต่อเมื่อมีการกระด้างกระเดื่องต่อฝ่ายไทยเท่านั้น ในขณะที่สมัยตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสนั้น ลาวได้ผจญกับความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและเศรษฐกิจครั้งใหญ่ การยกเลิกทาส การขูดรีดภาษีและแรงงานมากกว่าในสมัยที่ไทยปกครองทำให้เกิดการต่อต้านอย่างต่อเนื่องกว่าครึ่งศตวรรษ  ทำให้เกิดขบวนการชาตินิยมที่พัฒนามาสู่ขบวนการแบบสังคมนิยมในเวลาต่อมา ส่วนในสมัยลาวได้รับเอกราช ซึ่งนับว่าเป็นช่วงสั้นๆ ในประวัติศาสตร์นั้น การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองเกิดขึ้นช้ามาก เนื่องจากความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างฝ่ายขวาและฝ่ายซ้ายในลาว โดยการสนับสนุนจากประเทศในค่ายเสรีนิยมและค่ายคอมมิวนิสต์ ซึ่งสุดท้ายฝ่ายซ้ายในเวียดนามเหนือได้รับชัยชนะ ส่งผลให้ลาวเปลี่ยนการปกครองเป็นสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ไปด้วย

 

สจ็วต-ฟอกซ์, มาร์ติน. (2553). ประวัติศาสตร์ลาว (จิราภรณ์ วิญญรัตน์, ผู้แปล/ กาญจนี ละอองศรี และ ปรียา แววหงษ์, บรรณาธิการ). กรุงเทพฯ : มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย.

            ประวัติศาสตร์ลาวเล่มนี้ เขียนขึ้นโดยนักวิชาการชาวออสเตรเลียที่เชี่ยวชาญประเทศลาวในทุกด้านโดยเฉพาะด้านการเมือง ประวัติศาสตร์เล่มดังกล่าวจึงเป็นมุมมองสะท้อน วิเคราะห์เจาะลึกพัฒนาการทางประวัติศาสตร์จากชาวตะวันตก โดยกล่าวถึง อาณาจักรล้านช้างตั้งแต่ยุครุ่งเรืองจนถึงยุคเสื่อม ที่การโยกย้ายประชากร และการแตกแยกภายในส่งผลทำให้ล้านช้างอ่อนแอลง และกล่าวถึงยุคลาวภายใต้ฝรั่งเศส ที่เป็นความล้มเหลวในการจะสร้างลาวให้เป็นหนึ่งเดียวกันและปูทางไปสู่การมีเอกราชและการปกครองตนเอง  รวมถึงเอกราชและเอกภาพที่สะท้อนถึง ความล้มเหลวของชนชั้นนำลาวส่วนใหญ่ และชนชั้นปกครองลาวในการสร้างพลังให้แก่ราชอาณาจักรลาว  และยังกล่าวถึงผลกระทบของสงครามต่อประเทศลาว จากนั้นปิดท้ายถึงการสถาปนาสาธารณรับประชาธิปไตยประชาชนลาวในระบอบใหม่ที่จะนำเอกภาพมาสู่ประเทศอีกครั้ง ซึ่งความเปราะบางในเรื่องอัตลักษณ์แห่งชาติยังคงดำรงอยู่ การเข้าสู่ทศวรรษแห่งความร่วมมือระดับภูมิภาคจึงเป็นเรื่องท้าทายของ สปป.ลาว

 

สุรชัย ศิริไกร. (2548). การพัฒนาเศรษฐกิจและการเมืองลาว (พิมพ์ครั้งที่ 4, ฉบับปรับปรุง). กรุงเทพฯ : โครงการจัดพิมพ์คบไฟ.

            พัฒนาการเศรษฐกิจและการเมืองลาวกล่าวถึงช่วงเวลาตั้งแต่พรรคประชาชนปฏิวัติลาวปกครองประเทศหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งในช่วงระยะต้น ควบคุมอำนาจเบ็ดเสร็จปิดประเทศ และสภาพการค้าที่ค้าขายเฉพาะประเทศในเครือคอมมิวนิสต์ ส่งผลให้เศรษฐกิจย่ำแย่ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง แม้ว่ารัฐบาลได้ร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจห้าปีฉบับแรกขึ้นมาก็ตาม แต่เศรษฐกิจยังคงไม่กระเตื้องขึ้น จนกระทั่งได้เกิด นโยบายกลไกเศรษฐกิจใหม่ และเปิดประเทศเพื่อการค้าและการลงทุนมากขึ้น ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 2 ซึ่งส่งผลให้มีการค้าและการลงทุนจากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว และต่อมาแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 3 ซึ่งลาวได้ปฏิรูปเศรษฐกิจโดยให้เสรีภาพการค้าและการลงทุนมากขึ้น มีวิสัยทัศน์ในการผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อส่งออก และนโยบายเน้นการพัฒนาความร่วมมือทางการค้าและการลงทุนทั้งระหว่างประเทศและระดับภูมิภาค ซึ่งแผนดังกล่าวนี้ได้เปลี่ยนแปลงสภาพสังคมของลาวให้เท่าทันโลกได้เป็นอย่างดีโดยลาวเป็นส่วนหนึ่งของระบบทุนนิยมโลก  หนังสือดังกล่าวเป็นการกล่าวถึงรายละเอียดของแผนพัฒนาเศรษฐกิจของลาวในแต่ละฉบับ ความเป็นมาและผลกระทบที่เกิดขึ้นทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคมและความเป็นอยู่

 

พระมหาดาวสยาม วชิรปัญโญ. (2555). พระพุทธศาสนาในลาว (พิมพ์ครั้งที่ 2). พระนครศรีอยุธยา: สถาบันวิจัยพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

             พระพุทธศาสนาในลาวเล่มนี้ เน้นเจาะลึก ประเด็นเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การนับถือพุทธศาสนาของประชาชนลาวในฐานะศาสนาประจำชาติมาทุกยุคทุกสมัย ที่ประสบกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมการเมืองมาโดยตลอด เนื้อหาทั้งหมดกล่าวถึงสถานะของพุทธศาสนาในแต่ละยุคสมัย เริ่มตั้งแต่การเผยแพร่พุทธศาสนาสู่ลาวตั้งแต่แรกเริ่มเข้ามาทั้งพุทธศาสนาเถรวาทดั้งเดิม แบบกัมพูชา และนิกายธรรมยุตของไทย และพุทธมหายานแบบจีน  และลักษณะของพุทธศาสนาในอาณาจักรล้านช้าง  สมัยสามอาณาจักร และยุคภายใต้การปกครองของไทย ที่ไม่แตกต่างกันมากนัก คือได้รับการยอมรับนับถือตั้งแต่ระดับเจ้าขุนมูลนายไปจนถึงประชาชนชาวลาว  แต่หลังจากนั้นพุทธศาสนาได้เจอกับผลกระทบในสมัยการปกครองของฝรั่งเศส แต่กระแสชาตินิยมยังส่งผลดีต่อพุทธศาสนาจนกระทั่งยุคได้รับเอกราช และสุดท้ายยุคหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองหรือสมัยสังคมนิยม ซึ่งพุทธศาสนาถูกอำนาจจากพรรคในการลิดรอนความศักดิ์สิทธิ์ และการตีความเพื่อรับใช้อุดมการณ์แบบสังคมนิยม 

 

สมบูรณ์ สุขสำราญ. (2534). รายงานผลการวิจัยเรื่อง พุทธศาสนากับความชอบธรรมทางการเมือง กรณีเปรียบเทียบประเทศไทย ลาว และกัมพูชา. กรุงเทพฯ: โครงการเผยแพร่ผลงานวิจัย ฝ่ายวิจัย จุฬาฯ.

             กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและสังคม กับ พุทธศาสนา เนื่องจากพุทธศาสนาเป็นรากเหง้าของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยที่พุทธศาสนาถือเป็นวัฒนธรรมร่วมระหว่างไทย ลาวและกัมพูชา การเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่เกิดขึ้นในกระบวนการทางการเมืองและสังคมจะมีผลกระทบโดยตรงต่อศาสนา  พุทธศาสนาสัมพันธ์กับการจัดระเบียบในสังคมพร้อมทั้งได้ทำหน้าที่ในการสร้างความชอบธรรมทางการเมืองไปด้วย ในกรณีของลาวนั้นได้มีการศึกษาถึงวิธีการ เหตุผล และยุทธวิธีที่รัฐบาลลาวระดมพลังทางศาสนาสนับสนุนวัตถุประสงค์ทางการเมือง และการตีความพุทธศาสนาเพื่อสนับสนุนความชอบธรรมและอุดมการณ์ของรัฐบาลคอมมิวนิสต์ตลอดถึงจนถึงการปฏิบัติต่อพุทธศาสนาของลาวภายใต้รัฐบาลคอมมิวนิสต์

 

ทวีวัฒน์  ปุณฑริกวิวัฒน์. (2553). พุทธศาสนากับสังคมการเมืองในอุษาคเนย์. ใน สุเจน กรรพฤทธิ์ และสิทธา เลิศไพบูลย์ศิริ (บรรณาธิการ). อุษาคเนย์ที่รัก. กรุงเทพฯ. (หนังสือที่ระลึก ฉลองครบรอบ 10 ปี โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์).

            บทความ “พุทธศาสนากับสังคมการเมืองในอุษาคเนย์” ได้กล่าวถึงประวัติศาสตร์ศาสนากับสังคมการเมืองใน “อุษาคเนย์” ที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวโยงกันมาโดยตลอด โดยด้านหนึ่งส่งผลต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในทุกด้าน และอีกด้านหนึ่งมีส่วนสำคัญในการกำหนดความรุ่งเรืองหรือวามเสื่อมของศาสนาภายใต้อำนาจรัฐ โดยบทความนี้ได้กล่าวถึง การผสานความเชื่อทางศาสนาดั้งเดิมเข้ากับพุทธศาสนาในภูมิภาคอุษาคเนย์  และแบ่งแยกย่อยเป็นพุทธศาสนาเถรวาท ได้แก่ พุทธศาสนาในพม่า กัมพูชา และลาว ส่วนพุทธศาสนามหายาน ได้แก่ พุทธศาสนาในเวียดนาม และสิงคโปร์  ปิดท้ายถึงลักษณะเฉพาะของพุทธศาสนาในแต่ละประเทศในภูมิภาคอุษาคเนย์ซึ่งมีบริบททางสังคม วัฒนธรรมและการเมืองที่ไม่เหมือนกัน เนื่องจากปฏิสัมพันธ์ที่แตกต่างกันระหว่างรัฐกับพุทธศาสนาในแต่ละประเทศ ส่วนข้อสรุปของพุทธศาสนาในลาว คือ การที่พุทธศาสนาสามารถผ่านพ้นการครอบงำทางการเมืองมาโดยตลอด และยังปรับตัวได้ดีกับลัทธิสังคมนิยมในลาว จึงถือว่าได้รับชัยชนะในการเป็นฐานแห่งความคิดและวัฒนธรรมของชาวลาว

 

Stuart-Fox, Martin. (2002). Buddhist Kingdom, Marxist State: the making of modern Laos (2nd Edition). Bangkok: White Lotus.

            หนังสือเล่มนี้กล่าวถึง การเปลี่ยนแปลงของลาวในสมัยใหม่ตั้งแต่ที่ฝรั่งเศสเข้ามาครอบครองลาว ขบวนการชาตินิยมของลาว จนกระทั่งถึง ยุคพรรคประชาชนปฏิวัติลาวเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบสังคมนิยม โดยเน้นไปถึงรายละเอียดของการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ระบอบสังคมนิยม การดำเนินนโยบายและสภาพสังคมในขณะนั้น  โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดำเนินนโยบายลดทอนอำนาจความศักดิ์สิทธิ์ของพุทธศาสนาด้วยวิธีการต่างๆ ทั้งจัดการปกครองสถาบันสงฆ์  การแทรกแซงกิจกรรมทางศาสนา การให้มีการตีความพุทธศาสนาให้เข้ากับแนวคิดมาร์กซิส เพื่อสร้างความชอบธรรมทางการเมือง และได้มีวิพากษ์ถึงความเหมือนกับความต่างระหว่างพุทธศาสนากับลัทธิมาร์กซิสด้วย อย่างไรก็ตามในที่สุดรัฐบาลลาวก็ได้ยอมประนีประนอมผ่อนปรนให้กับพุทธศาสนา จากนั้นหนังสือได้กล่าวถึงการปฏิรูปนโยบายพรรคทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงความสัมพันธ์กับประเทศภายนอกอื่นๆ ในยุคแห่งการพัฒนาชาติด้วยระบอบใหม่ของลาว

 

ปรานี วงษ์เทศ. (2543). สังคมและวัฒนธรรมในอุษาคเนย์. กรุงเทพฯ: ศิลปวัฒนธรรม.

           จุดประสงค์ของหนังสือ คือ การทำความเข้าใจภูมิหลังอย่างกว้างๆ ทางด้านสังคมและวัฒนธรรม ของอุษาคเนย์ภาคพื้นทวีปที่ถูกแบ่งแยกเป็นประเทศพม่า ไทย ลาวเขต และเวียดนาม โดยเฉพาะการปรับตัวของมนุษย์ในภูมิภาคอุษาคเนย์กับสภาพแวดล้อมทางสังคมและวัฒนธรรมที่มีทั้งความคล้ายคลึงและแตกต่างกัน เนื้อหาแบ่งเป็นแนวคิดทฤษฎีวิวัฒนาการทางศาสนา ที่ช่วยอธิบายพัฒนาการทางสังคมวัฒนธรรมในอุษาคเนย์  เรื่องราวเกี่ยวกับโลกของกลุ่มชนดั้งเดิมและชนเผ่าในอุษาคเนย์ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์จนถึงปัจจุบัน  ระบบความเชื่อพิธีกรรมในอุษาคเนย์ โดยเฉพาะความเชื่อดั้งเดิมก่อนการรับอิทธิพลจากศาสนาภายนอก และสุดท้ายสำนึกเกี่ยวกับเผ่าพันธุ์ของกลุ่มคนในภูมิภาค ผ่านตำนานและนิทานปรัมปรา ที่สะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์ และการผสมผสานทั้งทางวัฒนธรรมและเชื้อชาติของผู้คนในภูมิภาค

 

สุจิตต์ วงษ์เทศ. (2554). นาค มาจากไหน? (พิมพ์ครั้งที่ 3). กรุงเทพฯ: โพสต์บุ๊กส์.

            นาค หรือ พญานาค เป็นความเชื่อของผู้คนในภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นลักษณะทางวัฒนธรรมร่วมกัน ปรากฏอยู่ในงานศิลปะทุกประเภทโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาและพระมหากษัตริย์  หนังสือเล่มนี้บอกเล่าถึงรายละเอียดความเป็นมาของ นาค อย่างรอบด้าน จากตำนาน ความเชื่อ และหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ได้สันนิษฐานว่า “นาค” เป็นสัญลักษณ์ของกลุ่มชนดั้งเดิม  สัญลักษณ์ของดินและน้ำ  และลัทธิศาสนา  นอกจากนั้นยังประวัติศาสตร์ และตำนานต่างๆ ของอุษาคเนย์ที่เกี่ยวข้องกับนาคทั้งสิ้น โดยเฉพาะตำนานที่นาคช่วยสร้างบ้านแปลงเมือง หรือ นาคสร้างเวียงจันทบุรีที่สองฝั่งแม่น้ำโขง และเกี่ยวโยงกับการคุ้มครองอาณาจักรในหนังสืออุรังคธาตุ  รวมถึงพิธีกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับนาค

 

พิษณุ จันทร์วิทัน. (2556). เสน่ห์ภาษาลาว (พิมพ์ครั้งที่ 4). กรุงเทพฯ: สถาพรบุ๊คส์.

            หนังสือเล่มนี้เนื้อหากล่าวถึงลักษณะและความเป็นมาของภาษาลาว ซึ่งถือว่าเป็นภาษาร่วมสมัยกับภาษาล้านนาของไทย และกล่าวถึงภาษาลาวที่ใช้ในปัจจุบันในชีวิตประจำวันต่างๆ ซึ่งรวมไปถึงภาษาลาวที่ใช้ในวรรณกรรมด้วย ซึ่งจะเน้นเรื่องภาษิตคำสอน  อีกทั้งคำร้อยกรองในภาษาลาว ทั้งโคลง กาพย์ และกลอน พร้อมทั้งได้ยกตัวอย่างอธิบายเพลงลาวกับวรรณกรรมลาวที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก ซึ่งหลายเรื่องเป็นวัฒนธรรมร่วมกันระหว่างชาวลาวกับชาวอีสานในไทย โดยเฉพาะในพื้นที่สองฝั่งโขง

 

สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. (2558). เพลินภาษาเพื่อนอาเซียน ฉบับราชบัณฑิตยสภา (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ: สำนักงานราชบัณฑิตยสภา.

            เป็นการรวบรวมลักษณะทางภาษา คำศัพท์ รวมถึงบริบททางสังคมวัฒนธรรมในการใช้ภาษานั้นๆ ของแต่ละประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน ทั้งนี้สำหรับประเด็นภาษาลาว มีการกล่าวถึงลักษณะและโครงสร้างภาษาลาวโดยละเอียด พร้อมแบ่งหมวดหมู่คำศัพท์เหมือนกันกับภาษาอื่น เช่น  คำทักทาย คำอำลา คำขอบคุณ คำขอโทษ คำอวยพรปีใหม่ ชื่อเดือน ชื่อปี ตัวเลข เป็นต้น

 

นันทนา ปรมานุศิษฏ์. (2556). โอชาอาเซียน. กรุงเทพฯ: มติชน

            “อาหาร” สะท้อนถึงวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของคนในแต่ละประเทศได้ หนังสือเล่มนี้เป็นการบอกเล่าที่มาที่ไปของอาหารชาติต่างๆ ในอุษาคเนย์ รวมถึงวัตถุดิบ วิธีปรุง โดยที่ “ภูมิศาสตร์” ถือเป็นปัจจัยหลักในการกำหนดอาหารของประเทศในอุษาคเนย์ ประเทศที่มีเขตแดนติดกันจึงมักจะมีลักษณะร่วมทางวัฒนธรรมอาหาร อีกทั้งอาหารยังบ่งบอกถึงการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมได้ประการหนึ่ง อย่างเช่น อาหารลาวที่ถูกจัดกลุ่มในอาหารกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ได้แก่ พม่า ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม  ซึ่งในส่วนของอาหารลาวนั้นได้รับอิทธิพลทั้งจากไทย เวียดนาม และวัฒนธรรมการกินจากฝรั่งเศส

 

เพียสิง จะเลินสิน. (2553). ตำรับอาหารพระราชวังหลวงพระบาง (จินดา จำเริญ, ผู้แปล). กรุงเทพฯ: ผีเสื้อลาว.

             เป็นการถ่ายทอดตำราอาหารลาวดั้งเดิมฉบับพระราชวังหลวงพระบาง โดยท่านเพียสิง จะเลินสิน ในฐานะหัวหน้าห้องเครื่องในพระราชวังหลวงพระบาง เนื้อหาเริ่มด้วยอุปนิสัยการบริโภคของคนลาว และมารยาทบนโต๊ะอาหาร ความสำคัญของอาหารในลาว  จากนั้นกล่าวถึงเครื่องปรุงและข้อมูลที่เป็นประโยชน์สำหรับผู้ประกอบอาหาร รวมไปถึงการจัดสำรับอาหารบนโต๊ะ และวัตถุดิบในการประกอบอาหาร ได้มีการอธิบายโดยละเอียด ก่อนเข้าสู่ตำรับอาหารลาวซึ่งมีถึง 114 ตำรับ จากนั้นเป็นการเพิ่มเรื่องของหวานลาว (ซึ่งไม่ใช่ต้นฉบับของเพียสิง) หนังสือเล่มนี้เป็นเหมือนสารานุกรมสำหรับอ้างอิงตำรับอาหารดั้งเดิมของหลวงพระบาง ที่สามารถนำไปเป็นวิธีในการประกอบการอาหารลาวได้จริง