อินโดนีเซีย - ศิลปะการแสดง



          ศิลปะการแสดงในอินโดนีเซียมีความแตกต่างกันไปตามกลุ่มชาติพันธุ์ทั้งในระดับราชสำนักและชนพื้นเมือง ทั้งนี้การแสดงนาฏศิลป์อินโดนีเซียแบบมาตรฐานมีต้นกำเนิดมาจากราชสำนัก  แต่เดิมมีการเรียนการสอนแก่ราชนิกุลและบุตรธิดาของขุนนางในวังของสุลต่าน การเรียนการสอนอยู่ในราชประเพณีอย่างเคร่งครัด โดยครูอาจารย์เป็นผู้รำให้ศิษย์ดู และไม่สามารถแตะต้องตัวกันได้ ต่อมามีการก่อตั้งสถานศึกษาขึ้น การเรียนการสอนจึงเปลี่ยนแปลงไป ครูและลูกศิษย์สามารถแตะต้องตัวกันได้ ส่วนการแสดงนาฏศิลป์แบบพื้นเมืองในหมู่เกาะชวา บาหลี และเกาะต่างๆ ล้วนมีรูปแบบและเอกลักษณ์เฉพาะตนตามสภาพแวดล้อม ขนบธรรมเนียมประเพณี และชีวิตความเป็นอยู่ในแต่ละท้องถิ่น (พรศิริ ถนอมกุล, 2554:34)

            ในอดีตการแสดงนาฏศิลป์มิใช่เป็นไปเพียงเพื่อความรื่นเริงหาก แต่เป็นการกระทำขึ้นเพื่อใช้ในพิธีกรรม เช่น งานมงคลสมรส พิธีเฉลิมฉลองวันประสูติของพระบรมวงศานุวงศ์ ทั้งนี้ปัจจุบันการแสดงบางชุดได้มีการตัดทอนให้สั้นลงเพื่อให้เข้ากับยุคสมัย เช่น รำเปอโดโย, รำสลิมปี้, เบคซัน เซอการ์ มาดูร์โร เป็นต้น (ฉันทนา เอี่ยมสกุล, 2538:53) นอกจากนี้ในบางกลุ่มชาติพันธุ์การร่ายรำกระทำขึ้นเพื่อบูชาอำนาจเหนือธรรมชาติ กลุ่มชาติพันธุ์ส่วนใหญ่มีพิธีกรรมการรำเป็นของตนเองแสดงถึงการเปลี่ยนแปลงสถานะของคนๆ หนึ่ง เช่น การเกิด การตาย การแต่งงาน และการเข้าสู่วัยหนุ่มสาว นอกจากนี้ยังมีการร่ายรำที่มีความเกี่ยวข้องกับการเพาะปลูก ตลอดจนการปัดเป่าความเจ็บป่วยและวิญญาณร้าย มีการคัดกลุ่มคนทั้งหญิงและชายเพื่อเป็นผู้แสดง เช่น ระบำบาร็อง ของบาหลี ส่วนในชวาซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม มีการรำจนพัฒนากลายเป็นการแสดงเพื่อให้ชมในที่สาธารณะและการท่องเที่ยว คือ กูดา เกอปัง , กูดา ลุมปิง,เรออ๊อก และจาลีตัน (ศิริพร โตกทองคำ, ผู้แปล, 2549:78)

            ปัจจุบันการแสดงในอินโดนีเซียที่เก่าแก่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายได้แก่ วาหยัง (Wayang) คือการเชิดหนัง ทั้งนี้การแสดงหนังของอินโดนีเซียมีอยู่หลายประเภท เรียกรวมๆ ว่า "Wayang Kulit" คำว่า Wayang มาจากศัพท์ชวาว่า Baying แปลว่า เงา ส่วนคำว่า Kulit แปลว่า หนัง การแสดงหนังที่เก่าแก่และมีมาแต่เดิมเรียกว่า วาหยังปูรวะ (Wayang Perwa) นิยมแสดงเรื่องมหาภารตะและรามายณะ แต่เนื้อเรื่องมีความแตกต่างจากของอินเดีย มีโครงเรื่องซับซ้อนและตัวละครเพิ่มขึ้นเช่น ปะนะกะวัน หรือ ตัวตลก จะเป็นผู้ช่วยของตัวเอกให้กระทำการสำเร็จ เนื้อหาการแสดงมักอ้างอิงข้อธรรมะหรือแสดงให้เห็นว่าธรรมะย่อมชนะอธรรม (สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี, 2528:16)    

            นอกจากนั้นยังมีวาหยังอีกหลายประเภทเช่น Wayang Gedog มีรูปร่างคล้ายๆ Wayang Perwa ต่างกันตรงที่มักจะแสดงในเรื่องนิยายปรัมปราพื้นบ้านของชวาตะวันออก Wayang Suluh นิยมแสดงเรื่องสมัยใหม่ มักเป็นการแถลงนโยบายของรัฐบาล Wayang Wahya มักแสดงเพื่อเผยแพร่ศาสนาคริสต์ Wayang Golek เป็นหุ่นกระบอกที่นิยมในชวาตะวันตก (สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี, 2528:16) ส่วน Wayang Wong หรือ Wayang Orang มีชื่อเสียงมากที่สุดเป็นการแสดงที่มีลักษณะคล้ายหนังตะลุง (ศิริพร โตกทองคำ, ผู้แปล, 2549:79)   

            ส่วนดนตรีที่มีชื่อเสียงและรู้จักอย่างแพร่หลายในอินโดนีเซียคือ กาเมลัน (Gamelan) เป็นวงที่ประกอบด้วยเครื่องดนตรีประเภทโลหะ คำว่า กาเมลัน มาจากคำว่า กาเมล หมายถึง ที่จับหรือขวาน ดังนั้นเครื่องดนตรีส่วนใหญ่จึงเป็นเครื่องตีและเครื่องเคาะทำจากโลหะประเภททองเหลือง เช่น ฆ้อง เป็นต้น (ศิริพร โตกทองคำ, ผู้แปล, 2549:82) กาเมลัน ใช้บรรเลงประกอบการร้องเพลง การร่ายรำ และการละครในหลายโอกาส ไม่ว่าจะเป็นเพื่อความบันเทิง เพื่อประกอบพิธีกรรม และงานเฉลิมฉลองต่างๆ (Benjamin Brinner, 2008:4)

             กาเมลัน ในบาหลีนับว่ามีชื่อเสียงที่สุด เนื่องจากเป็นดนตรีที่จับทางได้ยาก มีการผสมผสานระหว่างเครื่องดนตรีประเภทโลหะ ซอ และขลุ่ย จึงทำให้เสียงดนตรีมีความไพเราะและมีจังหวะที่ละมุนขึ้น ต่างกับกาเมลันในชวาที่มีจังหวะเนิบนาบจับทางได้ง่ายกว่าและใช้เพียงเครื่องดนตรีประเภทโลหะ การแสดงกาเมลันของบาหลีมีขึ้นในงานเทศกาลตามวันและเวลาที่กำหนดในปฏิทินทางศาสนา ทั้งยังมีการแข่งขันดนตรีระหว่างหมู่บ้านเพื่อเป็นแรงกระตุ้นให้นักดนตรีและนักแต่งเพลงมีโอกาสในการพัฒนาความสามารถของตนอยู่เสมอ (ศิริพร โตกทองคำ, ผู้แปล, 2549:85)  

             ทั้งนี้ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของบริบททางสังคมทั้งภายในประเทศและในระดับโลก การแสดงแบบใหม่ล้วนแล้วแต่ให้ความตื่นตาตื่นใจมากขึ้นและเป็นข้อเปรียบเทียบกับการแสดงที่มีมาตั้งแต่อดีต ดังนั้นเพื่อสนับสนุนศิลปะการแสดงของอินโดนีเซีย รัฐบาลได้ให้ความสำคัญในการก่อตั้งสถาบันศิลปะการแสดงขึ้น การผสมผสานระหว่างการแสดงแบบเก่าและใหม่ของตะวันตกได้ก่อให้เกิด "เซินดราตารี" เป็นละครโบราณไม่มีบทพูดผสานกับลีลาและเครื่องแต่งกายสมัยใหม่ (ศิริพร โตกทองคำ, ผู้แปล, 2549:80)

            กล่าวโดยสรุปศิลปะการแสดงของอินโดนีเซียมิใช่เพียงเพื่อความรื่นเริงเท่านั้น หากแต่ยังมีจุดประสงค์ในการบูชาอำนาจศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติ โดยการร่ายรำผ่านพิธีกรรมต่างๆ ตามความเชื่อของแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์  ปัจจุบันศิลปะการแสดงส่วนใหญ่ที่มีอยู่ จะเป็นไปเพื่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวด้วยก็ตาม     

บรรณานุกรม

    ฉันทนา เอี่ยมสกุล. (2538). นาฏศิลป์อินโดนีเซีย. กรุงเทพมหานคร: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

    ศิริพร โตกทองคำ, ผู้แปล. (2549). อินโดนีเซีย. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์หน้าต่างสู่โลกกว้าง.

    สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี. (2528). บุหงารำไป. กรุงเทพมหานคร.

    พรศิริ ถนอมกุล. (2554). สายใยนาฏศิลป์ไทยกับนาฏศิลป์อินโดนีเซีย. ศิลปากร, 28-40.

    Benjamin Brinner. (2008). Music in Central Java. Newyork: Oxford University Press.