อินโดนีเซีย - ความเชื่อและศาสนา



          อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีชาวมุสลิมมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีศาสนาที่ได้รับการรับรองโดยรัฐธรรมนูญแห่งชาติ 6 ศาสนา ได้แก่ ศาสนาอิสลาม ศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ นิกายโรมันคาทอลิก ศาสนาฮินดู ศาสนาพุทธ และลัทธิขงจื๊อ (อรอนงค์ ทิพย์พิมล, 2557:2) มีสัดส่วนของผู้นับถือศาสนาอิสลามถึงร้อยละ88.22 รองลงมาเป็นศาสนาคริสต์ร้อยละ 8.92 ศาสนาฮินดูร้อยละ 1.81 ศาสนาพุทธร้อยละ 0.84 ลัทธิขงจื๊อและศาสนาอื่นๆร้อยละ 0.20 (Jesudas M.Athyal,Editor, 2015:117) ทั้งนี้ก่อนการเข้ามาของศาสนาต่างๆ ชาวพื้นเมืองอินโดนีเซียมีความเชื่อในอำนาจลี้ลับเหนือธรรมชาติ เชื่อว่ามีพลังบันดาลได้ทั้งคุณและโทษ ต่อมาเมื่อมีการติดต่อทำการค้ากับชาวอินเดีย ศาสนาพราหมณ์-ฮินดูจึงเป็นศาสนาแรกที่ชาวอินโดนีเซียรับนับถือ ลำดับต่อมาคือศาสนาพุทธ ศาสนาคริสต์และศาสนาอิสลาม 

 

ศาสนาฮินดู

          ศาสนาฮินดูเข้าสู่หมู่เกาะอินโดนีเซียในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 2 โดยพ่อค้าชาวอินเดีย หนึ่งในผู้เผยแพร่คนสำคัญนามว่า Sri Agastya อิทธิพลของศาสนาฮินดูเผยแพร่เข้าสู่ราชอาณาจักรหนึ่งในกาลิมันตันตะวันออก นามว่า Kutai เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าศาสนาดังกล่าวได้รับการสมาทานแล้วในหมู่เกาะอินโดนีเซีย กระทั่งภายหลังคริสต์ศตวรรษที่ 8 ศาสนา ฮินดูประดิษฐานอย่างมั่นคงในบาหลีจนกระทั่งปัจจุบัน (Jesudas M.Athyal,Editor, 2015:118)

          เป็นที่ทราบกันดีว่า บาหลี คือดินแดนสวยงามและศักดิ์สิทธิ์ เชื่อกันว่าเป็นที่ประทับของเทพเจ้า ภูเขาที่สำคัญและสูงที่สุดคือ ภูเขาอากุง เป็นเขาพระสุเมรุและปฐวินาภีหรือสะดือแห่งแผ่นดิน ทั้งเป็นที่ประทับของพระศิวะ ศาสนสถานสำคัญในพื้นที่ คือ ปุราเบซากิห์ (Pura Besaki) หรือ วัดเบซากิ ตั้งอยู่บนเชิงเขาด้านทิศใต้ของภูเขาอากุง สร้างขึ้นเพื่อบูชาภูเขาลูกดังกล่าว จึงถือเป็นเทวาลัยที่สำคัญที่สุดในเกาะบาหลีเป็นที่เคารพนับถือของประชาชน (เชษฐ์ ติงสัญชลี, 2558:165) ทั้งนี้ตามความเชื่อทางศาสนาชาวบาหลีเชื่อว่าวัวเป็นพาหนะของเทพเจ้า ส่วนในเขตชวากลางมีศาสนสถานที่ใหญ่ที่สุดและได้รับการยกย่องให้เป็นมรดกโลก คือ จันดี ปรัมบานัน (Candi Prambanan) หรือ จันดีราราจงกรัง (Candi Rara Jonggrang) ปัจจุบันทั้งชวาและบาหลีเป็นสถานที่สำคัญของผู้ศรัทธาในศาสนาฮินดูและนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก

ศาสนาพุทธ

          พระพุทธศาสนาเข้าสู่หมู่เกาะอินโดนีเซียในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 4 ได้รับการเผยแพร่จากพ่อค้าชาวอินเดียในเกาะสุมาตรา ชวา และสุลาเวสี ราวค.ศ.423 มีพระภิกษุนามว่า Gunawarman เข้ามาเผยแผ่พระพุทธศาสนาในชวา มีอาณาจักร Kaling หรือ Ho Ling ยอบรับนับถือและเลื่อมใสศรัทธา โดยขณะนั้นมีผู้ปกครองเป็นราชินีนามว่า Ratu Sima (Jesudas M.Athyal,Editor, 2015:118)

          ภาพรวมของพระพุทธศาสนาในอินโดนีเซียมีถึง 4 นิกาย คือ มหายาน วัชรยาน เถรวาท และเอกยาน เนื่องจากพุทธศาสนิกชนส่วนใหญ่เป็นชาวจีนดังนั้นมหายานจึงได้รับการนับถืออย่างแพร่หลายกว่านิกายอื่น ส่วนนิกายเถรวาทเพิ่งเริ่มเป็นที่ยอมรับนับถือจากพุทธศาสนิกชนในอินโดนีเซีย เนื่องจากหลักในการปฏิบัติของฝ่ายเถรวาทเน้นในด้านการดำรงชีวิตอยู่ในปัจจุบัน ขณะที่ฝ่ายมหายานเน้นด้านพิธีกรรมและสังคมสงเคราะห์ ส่วนวัชรยานเน้นในรูปแบบของพิธีกรรม (ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์, 2556:226)

           ศาสนสถานสำคัญทางพระพุทธศาสนาที่ได้รับการยกย่องให้เป็น 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลก คือ บุโรพุทโธ ในเขตชวากลาง ถูกสร้างขึ้นในช่วงค.ศ.750-850 โดยราชวงศ์ไศเลนทร แปลว่า “กษัตริย์แห่งภูเขา” ศาสนสถานดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความคิดทางพระพุทธศาสนาเกี่ยวกับจักรวาล จากภาพถ่ายทางอากาศแสดงให้เห็นเป็นรูปโดมใหญ่มีสถูปรอบๆ เป็นสัญลักษณ์ของจักรวาล ภาพแกะสลักรอบระเบียงทั้งสี่ด้านล้วนเป็นภาพพุทธประวัติ ส่วนใต้ฐานเจดีย์เป็นรูปแกะสลักภาพนูนแสดงให้เห็นโลกของความใคร่และตัณหา คนดีจะได้รับรางวัลด้วยการไปเกิดใหม่ในชีวิตที่ดีกว่าส่วนคนชั่วจะได้รับโทษในที่ที่ต่ำกว่า (เอลชา ไชนุดิน, 2552:59-60)

           มีผู้ให้ความเห็นว่าบุโรพุทโธไม่ใช่เพียงตัวแทนของพุทธจักรวาลและทาง 10 ขั้นเพื่อบรรลุนิพพานเท่านั้น แต่ยังมีความผูกพันกับอดีตกาล ดังนั้นบุโรพุทโธจึงไม่ใช่สถูปในความหมายดั้งเดิมคือเป็นสถานที่บรรจุพระบรมสาริกธาตุของพระพุทธเจ้า แต่เป็นสถานที่บรรจุพระศพของกษัตริย์ในราชวงศ์ไศเลนทร จึงเท่ากับผูกโยงปูชนียสถานในพระพุทธศาสนาเข้ากับการบูชาบรรพบุรุษกว่า (เอลชา ไชนุดิน, 2552:59-60)  แม้ในระยะต่อมาราชวงศ์ดังกล่าวจะสิ้นสุดอำนาจลงแต่บุโรพุทโธยังคงอยู่จนกระทั่งปัจจุบัน แต่ในขณะเดียวกันเมื่อกาลเวลาเปลี่ยนแปลงไปความเจริญของเมืองมีมากขึ้น ความสะดวกสบายในการดำเนินชีวิตเป็นที่ต้องการของคนในปัจจุบัน การติดต่อสื่อสารก็เช่นกัน บริเวณใกล้เคียงบุโรพุทโธ กลายเป็นพื้นที่ตั้งสถานีรับส่งสัญญาณโทรศัพท์ ส่งผลต่อการลดทอนความสวยงามทางทัศนียภาพทางธรรมชาติของศาสนสถาน นอกจากนี้บุโรพุทโธยังกลายเป็นแม่เหล็กทางเศรษฐกิจที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก เกิดร้านค้าและป้ายโฆษณาจำนวนมากบนถนนสายหลักที่มุ่งสู่ศาสนสถาน จนไม่สามารถมองเห็นความงามของวิหารได้จากถนนเช่นในอดีต (National geographic ฉบับภาษาไทย, 2553) อย่างไรก็ตามบุโรพุทโธยังคงเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวพุทธในอินโดนีเซียทั้งยังเป็นที่ยอมรับจากพุทธศาสนิกชนและนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก

ศาสนาคริสต์

          ศาสนาคริสต์ทั้งนิกายโรมันคาทอลิกและนิกายโปรเตสแตนต์ เข้าสู่อินโดนีเซียในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 6 โดยชาวโปรตุเกส ชาวดัตช์ และชาวอังกฤษ เริ่มเผยแพร่ทางฝั่งอินโดนีเซียตะวันออก อันประกอบไปด้วย โมลุกกะ สุลาเวสีเหนือ นุสา เต็งการา ปาปัว และกาลิมันตัน ต่อมามีการเผยแพร่ตามชายฝั่งของเกาะบอร์เนียว ส่วนเกาะสุลาเวสี มีมิชชันนารีสอนศาสนาให้แก่ชาวพื้นเมืองโทราจัน (Torajans) ทั้งยังมุ่งเผยแพร่ให้แก่ชาวพื้นเมืองในเกาะสุมาตราอีกด้วย ปัจจุบันในอินโดนีเซียมีชาวบาตัค(Batak)เป็นผู้นับถือศาสนาคริสต์นิกายโปรแตสแตนท์ รวมถึงคนในปาปัว(Papua)และอัมบน(Ambon)ประมาณ 90% (Jesudas M.Athyal,Editor, 2015:120)    

 

ศาสนาอิสลาม

          การเผยแพร่ศาสนาอิสลามเข้าสู่หมู่เกาะอินโดนีเซียมีอยู่หลายคำอธิบาย หนึ่งในนั้นอธิบายว่าศาสนาอิสลามเข้าสู่ดินแดนแห่งนี้ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 7 โดยพ่อค้าอาหรับในสุมาตราทางตอนเหนือ ต่อมาในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 9 อาณาจักรเปอร์ลัค(Perlak) เป็นแห่งแรกที่ชาวเมืองได้หันมารับนับถือศาสนาอิสลาม ส่วนอีกคำอธิบายหนึ่งชี้ให้เห็นว่าในคริสต์ศตวรรษที่ 13 ศาสนาอิสลามในอินโดนีเซียได้รับการเผยแพร่จากรัฐกุเจรัต (Gujarat)ของอินเดีย เข้ามาทางสุมาตราและแพร่หลายมากขึ้นในชวาตะวันออก ทั้งนี้ในช่วงเวลาดังกล่าวมีหลายอาณาจักรที่ได้รับอิทธิพลจากศาสนาอิสลาม เช่น เดมัค(Demak) มะทะรัม(Mataram) และบันเตน(Banten) เป็นต้น การเผยแพร่ศาสนาอิสลามเริ่มประสบผลสำเร็จในช่วงท้ายของศตวรรษที่ 15 เนื่องจากอาณาจักรต่างๆ ในหมู่เกาะอินโดนีเซียราว 20 แห่งหันมารับนับถือศาสนาอิสลามจนกระทั่งปัจจุบันอินโดนีเซียถือเป็นประเทศที่มีชาวมุสลิมจำนวนมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในชวาและสุมาตรา ประชาชนราวร้อยละ 98 นับถือศาสนาอิสลามนิกายซุนหนี่ ส่วนที่เหลือเป็นนิกายชีอะห์และอามาดียะห์

          เป็นที่ทราบกันดีว่าศาสนาอิสลามมีบทบาทในทางการเมืองและการดำรงชีวิต อิสลามมิได้เป็นเพียงแต่ศาสนาในทางธรรมแต่ยังเป็นศาสนาทางโลกที่มีบทบาทมาในอินโดนีเซียมาเป็นเวลายาวนาน ประเด็นปัญหาสำคัญคือ การเกิดขึ้นของขบวนการต่อต้านรัฐ ภายหลังการได้รับเอกราชจากเจ้าอาณานิคม แม้ว่ามุสลิมจะเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศแต่ขณะเดียวกันกลับขาดความเป็นเอกภาพ เนื่องจากวิถีปฏิบัติที่แตกต่างกันมีมุมมองที่ขัดแย้งกันเองเกี่ยวกับแนวคำสอนของศาสนา ขบวนการต่อต้านรัฐที่เกิดขึ้นจึงเกิดจากสาเหตุที่แตกต่างกันออกไป แต่สาเหตุสำคัญที่ส่งผลให้เกิดผลกระทบทางสังคมตลอดมาจนกระทั่งปัจจุบัน คือ การประกาศก่อตั้งสาธารณรัฐอินโดนีเซียให้เป็นรัฐทางโลกไม่ใช่รัฐอิสลาม โดยประธานาธิบดีซูการ์โน ส่งผลให้เกิดกลุ่มต่อต้านรัฐหลายกลุ่ม อาทิเช่น ขบวนการนะห์ดาตุล อูลามะ(Nahdatul Uiama-NU) และกลุ่มญามาอะห์ อิสลามมิยะห์หรือเจไอ(Jamaah Islamiyah-JI) เป็นองค์กรก่อการร้ายมุสลิมที่มีบทบาทมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภายหลังได้หันมาต่อต้านตะวันตกด้วย (รัฐกับมุสลิมในอินโดนีเซีย, 2550:5)

          ประการที่สองที่ทำให้เกิดการต่อต้านรัฐคือ การเข้าครอบครองดินแดนที่ไม่ใช่ของตนโดยรัฐบาลกลาง อาทิเช่น ในอาเจะห์ ก่อให้เกิดขบวนการอาเจะห์เสรีหรือ GAM (Gerakan Aceh Merdeka) แม้ว่าปัจจุบันกลุ่มดังกล่าวจะสิ้นสุดลงไปแล้ว แต่สมาชิกกลุ่มได้ก่อตั้งพรรคการเมืองขึ้นในนามพรรค Patai Aceh หรือ PA พร้อมกับอุดมการณ์ทางการเมืองที่ยังคงอยู่คือการเรียกร้องเอกราชให้อาเจะห์ (รัฐกับมุสลิมในอินโดนีเซีย, 2550:5)

          นอกจากบทบาทในการต่อต้านรัฐแล้วมุสลิมบางกลุ่มยังทำการต่อต้านและสร้างความขัดแย้งกับเพื่อนร่วมชาติแต่ต่างศาสนา คือ ชาวคริสต์ และชาวพุทธ มีการทำลายสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาตลอดจนสัญลักษณ์ต่างๆ ก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนผู้บริสุทธิ์

          ความหลากหลายทางศาสนาที่มีอยู่ในประเทศอินโดนีเซีย นอกจากเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของประชาชนในประเทศแล้ว ยังมีส่วนส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวภายในประเทศ ทั้งนี้ประเด็นสำคัญที่ต้องตระหนักไว้เสมอคือความศรัทธาต่อศาสนาท่ามกลางบริบททางสังคมและการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป  แม้ว่ารัฐบาลอินโดนีเซียยังคงยึดมั่นในคำขวัญที่ว่า “เอกภาพท่ามกลางความหลากหลาย” แต่ในปัจจุบันความขัดแย้งระหว่างศาสนายังคงเป็นประเด็นสำคัญ

บรรณานุกรม

    ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์. (2556). พระพุทธศาสนาเถรวาทในอินโดนีเซีย. ใน ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์, พระพุทธศาสนาในประเทศเพื่อนบ้าน (หน้า 222-228). กรุงเทพมหานคร: เรือนแก้วการพิมพ์.

    เชษฐ์ ติงสัญชลี. (2558). ศิลปะชวา. กรุงเทพมหานคร: มติชน.

    อรอนงค์ ทิพย์พิมล. (2557). สาธารณรัฐอินโดนีเซีย. กรุงเทพมหานคร: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

    เอลชา ไชนุดิน. (2552). ประวัติศาสตร์อินโดนีเซีย. กรุงเทพมหานคร: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.

    รัฐกับมุสลิมในอินโดนีเซีย. (2550). รัฐกับสังคมมุสลิมในอินโดนีเซีย. จุลสารความมั่นคงศึกษา, 5-37.

    Jesudas M.Athyal,Editor. (2015). Religion in Southeast Asia. California.

    National geographic ฉบับภาษาไทย. (2553). บุโรพุทโธ วิหารผู้ท้าทายกาลเวลา. National geographic ฉบับภาษาไทย, 56-59.