อินโดนีเซีย - พิพิธภัณฑ์



          พิพิธภัณฑ์ในอินโดนีเซียมีกว่า 243 แห่ง ถูกสร้างขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันไปตามบริบททางสังคมการเมืองและวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่และผู้ก่อตั้ง เช่น ในยอกยาการ์ตา เป็นพื้นที่ที่มีการต่อสู้เพื่อเรียกร้องเอกราชจากเจ้าอาณานิคมดัตช์ พิพิธภัณฑ์จึงถูกสร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าว ขณะที่พิพิธภัณฑ์ในสุมาตราส่วนใหญ่จัดแสดงมรดกทางวัฒนธรรม เช่น สิ่งทอและสิ่งประดิษฐ์พื้นบ้าน (wikipedia, 2558)  เป็นต้น

          ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 ยุโรปมีความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ ก่อให้เกิดสมาคมต่างๆมากมายเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ ส่วนเจ้าอาณานิคมดัตช์ได้ก่อตั้ง “Dutch Society of the Sciences” ขึ้นที่เมือง Haarlem ในค.ศ.1752 ต่อมาในวันที่ 24 เมษายน ค.ศ.1778 ได้ก่อตั้งสมาคมศิลปะและวิทยาศาสตร์แห่งปัตตาเวียขึ้นในหมู่เกาะอินโดนีเซีย เกิดคุณูปการด้านพิพิธภัณฑ์แก่อินโดนีเซียเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นที่มาของการก่อตั้งพิพิธภัณฑสภานแห่งชาติอินโดนีเซียในเวลาต่อมา (National Museum of Indonesia, 2013)

          J.C.M Radermacher หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งสมาคม ได้อุทิศบ้านของเขาที่ Kalibesar เพื่อเป็นที่เก็บรวบรวมวัตถุและหนังสือต่างๆ จำนวนมาก สถานที่ดังกล่าวเป็นรากฐานสำคัญของพิพิธภัณฑ์และห้องสมุดในอินโดนีเซีย ต่อมาเมื่อสิ่งของต่างๆ เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากเกินกว่า Kalibesar รับไว้ได้ จึงเกิดสถานที่แห่งใหม่สร้างขึ้นโดย Sir Thomas Stamford Raffles ตัวแทนผู้บริหารอาณานิคมในตอนนั้น สถานที่ดังกล่าวสร้างขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ที่คล้ายคลึงกับพิพิธภัณฑ์ทั้งยังเป็นสถานที่พบปะกันในนามว่า “Literary Society” ตั้งอยู่บนถนนมัชปาหิตที่ 3 ต่อมาเมื่อสิ่งของมากขึ้น รัฐบาลเจ้าอาณานิคมดัตช์ โดยสมาคมศิลปะและวิทยาศาสตร์แห่งปัตตาเวีย จึงสร้างพิพิธภัณฑ์แห่งใหม่ขึ้นบนถนนเมอร์เดกา บารัต ในปีค.ศ.1862 และเปิดทำการครั้งแรกในปีค.ศ.1868 ชาวอินโดนีเซียมักเรียกพิพิธภัณฑ์ดังกล่าวว่า “Museum Gajah” ที่แปลว่า พิพิธภัณฑ์ช้าง หรือ ตึกช้าง เนื่องจากด้านหน้าของตึกมีรูปปั้นช้าง ที่เป็นของขวัญพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งเสด็จประพาสชวาในปีค.ศ.1871  (National Museum of Indonesia, 2013)

            พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติของอินโดนีเซีย ตั้งอยู่บนถนน เมอร์เดกา บารัต  เปิดทำการครั้งแรกในปี ค.ศ.1868 โดยสมาคมศิลปะและวิทยาศาสตร์แห่งปัตตาเวีย เป็นองค์กรปัญญาชนแห่งแรกในเอเชียที่ก่อตั้งขึ้นช่วงอาณานิคมในปีค.ศ.1778 จัดแสดงโบราณวัตถุ หนังสือและสิ่งประดิษฐ์ที่มีความเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมของเผ่าพันธุ์ ที่สะสมโดยเจ้าอาณานิคมดัตช์ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 และต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ของที่จัดแสดงล้วนมีความน่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็น รูปปั้นหินของฮินดู-ชวา ภาชนะสัมฤทธิ์ยุคดึกดำบรรพ์ เครื่องลายครามของจีน เป็นต้น (ศิริพร โตกทองคำ, ผู้แปล, 2549:127)   

            นอกจากพิพิธภัณฑ์ในอินโดนีเซียจะเป็นพื้นที่ในการจัดแสดงสิ่งของต่างๆ ตลอดจนเป็นสถานที่เพื่อบันทึกความทรงจำของแต่ละพื้นที่แล้ว ยังสะท้อนให้เห็นถึงความมีตัวตนของแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ที่สามารถนำเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ตลอดจนเรื่องราวต่างๆเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ของตนมาจัดแสดง

           บทความ “พิพิธภัณฑ์ในฐานะสัญลักษณ์แห่งชนชาติ การสร้างกลุ่มสังคมชุมชนชาวจีนโพ้นทะเลในอินโดนีเซียในยุคหลังซูฮาร์โต” ชี้ให้เห็นว่า ความพยายามในการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์โดยสมาคมชาวจีนโพ้นทะเลอินโดนีเซีย  พิพิธภัณฑ์ที่เรียกว่า สวนวัฒนธรรมจีนอินโดนีเซีย (Taman Budaya Tionghoa Indonesia) นอกจากแสดงให้เห็นถึงประวัติศาสตร์ของชาวจีนโพ้นทะเลในอินโดนีเซียแล้ว ยังสะท้อนให้เห็นถึงความมีตัวตนของกลุ่มชาติพันธุ์ดังกล่าว เนื่องจากบริบททางประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาชาวจีนมักตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงทั้งจากรัฐและเพื่อนร่วมชาติ ด้วยเงื่อนไขทางเศรษฐกิจที่ชาวจีนมีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูงกว่าชนพื้นเมือง ดังนั้นการเกิดขึ้นของพิพิธภัณฑ์จึงไม่ใช่เพียงสถานที่จัดแสดงสิ่งของหรือเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ แต่ในขณะเดียวกันกลับเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ช่วยยืนยันการมีตัวตนและเป็นที่ยอมรับจากเพื่อนร่วมชาติ (Kyoto Review of Southeast Asia , 2559)

  

บรรณานุกรม

    ศิริพร โตกทองคำ, ผู้แปล. (2549). อินโดนีเซีย. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์หน้าต่างสู่โลกกว้าง.

    Kyoto Review of Southeast Asia . (2016). พิพิธภัณฑ์ในฐานะสัญลักษณ์แห่งชนชาติ การสร้างกลุ่มสังคมชุมชนชาว
    จีนโพ้นทะเลในอินโดนีเซีย
    . เรียกใช้เมื่อ 31 March 2016 จาก Kyoto Review of Southeast Asia: http://goo.gl/lNZjKT

    National Museum of Indonesia. (2013). เรียกใช้เมื่อ 4 April 2016 จาก Virtual Collection of Asian Masterpieces: http://masterpieces.asemus.museum/museum/detail.nhn?museumId=1067

    wikipedia. (9 March 2015). List of museums and cultural institutions in Indonesia. เรียกใช้เมื่อ 31 March 2016 จาก Wikipedia The Free Encyclopedia : https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_museums_and_cultural_institutions_in_Indonesia