อินโดนีเซีย - ประเพณีพิธีกรรม



          ความหลากหลายทางชาติพันธุ์ภาษาและศาสนาในอินโดนีเซียส่งผลให้เกิดประเพณีและพิธีกรรมที่มีความหลากหลาย ทั้งพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อในอำนาจเหนือธรรมชาติ พิธีกรรมที่เกี่ยวเนื่องทางศาสนา อาทิ อิสลาม คริสต์ ฮินดู และพุทธ

            เนื่องจากอินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีความเข้มข้นของศาสนาอิสลาม ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมถึงร้อยละ 88.22 (Jesudas M.Athyal,Editor, 2015:117) วันสำคัญทางศาสนาจึงถือเป็นวันหยุดราชการและมีงานเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ อาทิเช่น วันเมาลิด จัดขึ้นในเดือน 12 ตามปฏิทินอิสลามเพื่อเป็นการระลึกถึงวันประสูติของศาสดานบีมูฮัมหมัด มีขึ้นครั้งแรกใน ค.ศ. 1207 โดยพี่ชายของสุลต่านซาลาดิน (Sultan Saladin) ประเทศอียิปต์ ส่วนในอินโดนีเซียเริ่มจัดขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 1970  มีการจัดขบวนพาเหรดและเลี้ยงอาหาร ทั้งยังมีการแจกเงินให้เด็กๆ เพื่อเป็นของขวัญ แต่เนื่องจากความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ภาษาและศาสนาในอินโดนีเซีย การเฉลิมฉลองในแต่ละพื้นที่จึงแตกต่างกันไป มีการผสมผสานเข้ากับพิธีกรรมและความเชื่อที่มีอยู่ในพื้นที่  เช่น บาหลี ดินแดนศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อของศาสนาฮินดู ผู้คนส่วนใหญ่จึงไม่ใช่ชาวมุสลิม ดังนั้นการแสดงเพื่อเฉลิมฉลองงานเมาลิดของศาสนาอิสลามจึงเป็นการแสดงท้องถิ่นที่ได้รับอิทธิพลจากศาสนาฮินดู ส่วนในบาเตน (Baten) เป็นสถานที่ยอดนิยมของชาวมุสลิมปีละกว่าพันคน นิยมเดินทางมายังมัสยิดเพื่อเคารพสุสานของสุลต่าน และทำพิธีแช่ตัวในสระน้ำของมัสยิดด้วยความเชื่อที่ว่า น้ำจะนำมาซึ่งความโชคดีในชีวิตของพวกเขา (Zainah R. Hasan, 2016)

             ท่ามกลางความเข้มข้นของศาสนาอิสลามในอินโดนีเซีย เป็นที่ทราบดีว่าบาหลีคือพื้นที่ที่มีความโดดเด่นในการนับถือศาสนาฮินดู พิธีกรรมต่างๆกระทำขึ้นเพื่อบูชาเทพเจ้าสำคัญ 3 องค์ คือ พระพรหมในฐานะผู้สร้าง พระศิวะในฐานะผู้ทำลาย และพระวิษณุในฐานะผู้ปกป้อง ทั้งนี้เมื่อพิจารณาจากบริบทแวดล้อมเช่น สถานที่ราชการ และชื่ออาคารต่างๆ ส่วนใหญ่มีสัญลักษณ์เป็นครุฑ หรือ การูดา (Garuda) เป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นว่า ชาวบาหลีให้ความสำคัญกับพระวิษณุเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากครุฑคือพาหนะของพระวิษณุ (ดวงจันทร์ อาภาวัชรุตม์ เจริญเมือง, 2547:221) ชาวบาหลีดำรงชีวิตบนฐานความเชื่อที่เรียกว่า “ตรีตรรกนะ” คือความเชื่อในความสัมพันธ์ของสามสิ่ง คือ

          1. ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับพระเจ้า โดยมนุษย์ต้องมีความศรัทธาในพระเจ้า มีการเซ่นไหว้ทั้งที่บ้านและวัดวิษณุ (ดวงจันทร์ อาภาวัชรุตม์ เจริญเมือง, 2547:221)  

          2. ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ เนื่องจากความเชื่อที่ว่ามนุษย์มีที่มาจากพระพรหมองค์เดียวกัน ดังนั้นมนุษย์ทุกคนจึงเป็นพี่น้องกันวิษณุ (ดวงจันทร์ อาภาวัชรุตม์ เจริญเมือง, 2547:221)

          3.ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม เนื่องจากเชื่อว่าทุกหนทุกแห่งไม่ว่าจะเป็นภูเขา แม่น้ำ ต้นไม้ และที่ใดก็ตามจะมีเทพประจำอยู่ทุกจุด มนุษย์จึงไม่ควรทำลายทรัพยาการสิ่งแวดล้อมวิษณุ (ดวงจันทร์ อาภาวัชรุตม์ เจริญเมือง, 2547:221)  

          ดังนั้น พระเจ้า มนุษย์ และสิ่งแวดล้อมคือหนึ่งเดียวกัน ดังนั้นจึงต้องสงวนรักษาทรัพยากรเหล่านี้ไว้ หากมนุษย์ทำลายผู้อื่นหรือทำลายสิ่งแวดล้อมก็เท่ากับว่าทำลายตนเอง นอกจากนี้ยังเชื่อว่า มนุษย์อยู่ระหว่างความดีกับความชั่ว การดำเนินชีวิตจึงเป็นไปเพื่อทำให้ความดีกับความชั่วเกิดความสมดุล ไม่ให้ความชั่วเข้าครอบงำ ด้วยเหตุนี้จึงเกิด “พิธีตะไบฟัน”ในวัยเด็กเพื่อตัดเขี้ยวเล็บของความชั่วร้ายไม่ให้เข้าครอบงำการกระทำของเด็กวิษณุ (ดวงจันทร์ อาภาวัชรุตม์ เจริญเมือง, 2547:221)      

          นอกจากนี้ยังมีงานสำคัญทางศาสนาที่เชื่อว่าเป็นวันที่ธรรมะชนะอธรรม คือ งานกาลูงัน เป็นงานสำคัญที่สุดของชาวบาหลีตามความเชื่อของศาสนาฮินดู ตรงกับสัปดาห์ที่ 11 ในปฏิทินทางศาสนาของบาหลี มีการทำพิธีบูชาทั้งสิ้นเป็นเวลา 10 วัน มีการตั้งเสาไม้ไผ่สูงตกแต่งด้วยทางมะพร้าว ใบตอง ผลไม้ และขนมชนิดต่างๆ เชื่อว่าเป็นการเซ่นไหว้บรรพบุรุษผู้ล่วงลับและกลายเป็นเทพที่จะลงมาเยี่ยมครอบครัวในช่วงเวลาดังกล่าว (Gouri Mirpuri,Robert Cooper,and Michael Spilling, 2012,177)

             ด้านกลุ่มชาติพันธุ์พิธีกรรมเกี่ยวกับความตายของชาวโทราจาที่อาศัยอยู่ในเกาะสุลาเวสี เป็นพิธีกรรมที่มีความน่าสนใจและถือได้ว่าเป็นอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ เนื่องจากพิธีกรรมที่เกี่ยวกับความตายของชาวโทราจานั้นมีการจำแนกพิธีกรรมไปตามช่วงอายุและฐานะทางสังคมของผู้ตาย สามารถขยายความได้ดังนี้

            1. ดีสิลลี่ เป็นพิธีกรรมของเด็กหรือทารกของชนชั้นล่าง มีการเซ่นหมูเพียง 1 ตัว และหากทารกตายในขณะที่ฟันยังไม่ขึ้นจะมีการนำไปฝังในต้นไม้ใหญ่ (รัศมี ชูทรงเดช, 2535:188)

            2. ดิสปาแสงบอกิ เป็นพิธีกรรมที่จัดขึ้นเพียงวันเดียวสำหรับวัยรุ่นหรือผู้ใหญ่ มีการเซ่นด้วยควาย 1 ตัวและหมู 8 ตัว (รัศมี ชูทรงเดช, 2535:188)

            3. ดิสปาทัลลังบองกิ เป็นงานศพของชนชั้นกลาง จัดงาน 3วัน 3คืน เซ่นด้วยควาย 4 ตัว และหมูจำนวนมาก ในวันที่สองของงานญาติมีของขวัญสำหรับผู้ตาย มีการเต้นรำตามเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตของผู้ตาย เป็นการอำลาวัญญาณของผู้ตายและปรารถนาให้วิญญาณสู่สุคติ (รัศมี ชูทรงเดช, 2535:189)

            4. ดิปาลิมังบองกิ เป็นพีกรรมสำหรับชนชั้นกลาง จัดขึ้นเป็นเวลา 5 วัน 5 คืน เซ่นด้วยควายจำนวน 8 ตัว และหมูเป็นจำนวนมาก (รัศมี ชูทรงเดช, 2535:190)

            5. ดิปาปิตุงบองกิ เป็นพิธีกรรมสำหรับคนระดับล่างของชนชั้นสูง มีการจัดงาน 7 วัน เซ่นควายจำนวน 10 ตัว และหมุเป็นจำนวนมาก (รัศมี ชูทรงเดช, 2535:190)

            6. ดิราไป เป็นพิธีกรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดและซับซ้อนที่สุด สำหรับชนชั้นสูงของชาวโทราจา พีกรรมแบ่งเป็น 2 ช่วง แต่ละช่วงจัด 7 วัน แล้วเว้นประมาณ 6 -12 เดือน (รัศมี ชูทรงเดช, 2535:190)

            ในระหว่างพิธีกรรม ชาวบ้านในหมู่บ้านจะช่วยงานกันด้วยแรงกายและนำอาหารต่างๆไปช่วยงาน ส่วนสมาชิกในครอบครัวผู้ตายจะงดข้าวรับประทานเฉพาะผลไม้และมันฝรั่ง มีการฆ่าควายจำนวน 12 ตัว หรือ 24 ตัว และหมูจำนวน 100 ตัว นอกจากนี้มีการเต้นรำ ชนวัวและไก่กระทั่งงานเสร็จ หากมีการจัดงานเป็นเวลานานศพของผู้ตายจะถูกมัดไว้คล้ายมัมมี่ และเก็บไว้ในบ้าน หลังจากเสร็จพิธีกรรมต่างๆ จะเคลื่อนย้ายศพไปยังสุสาน ทั้งนี้ที่ไว้ศพถูกจำแนกไปตามสถานะทางสังคมเช่นกัน โดยชนชั้นสูงจะฝังศพในช่องหินตามหน้าผา ส่วนใหญ่เป็นสุสานของครอบครัว มีสัญลักษณ์ตุ๊กตาไม้วางไขว้ไว้หน้าช่องหิน การสลักหินนั้นใช้ระยะเวลาถึง 6 เดือน ส่วนชนชั้นกลางและชนชั้นล่างจะนำศพของผู้ตายไว้ภายในถ้ำ และวางซ้อนกัน หลังจากนั้นนำดอกไม้วางเพื่อเซ่นวิญญาณผู้ตาย (รัศมี ชูทรงเดช, 2535)

            ชาวโทราจายังมีพิธีกรรมเกี่ยวกับศพ หากผู้ตายเป็นชาวโทราจาแล้วไปเสียชีวิตที่อื่น ต้องนำศพกลับไปฝังยังหมู่บ้าน แต่ยากต่อการแบกศพเนื่องด้วยความไกลของระยะทาง ชาวโทราจาจึงใช้คาถาในการทำให้ศพเดินได้เพื่อความสะดวกในการเคลื่อนย้าย พิธีกรรมดังกล่าวยังคงมีอยู่กระทั่งปัจจุบัน

บรรณานุกรม

    ดวงจันทร์ อาภาวัชรุตม์ เจริญเมือง. (2547). เมืองยั่งยืนในเอเชีย: แนวคิดและประสบการณ์จากเมืองนาราและบาหลี. เชียงใหม่: ห้างหุ้นส่วนจำกัดเชียงใหม่โรงพิมพ์แสงศิลป์.วารสาร

    รัศมี ชูทรงเดช. (2535). ความตายในดินแดนโทราจา เกาะสุลาเวซี อินโดนีเซีย. ศิลปวัฒนธรรม, 187-192.

    สุจิตต์ วงษ์เทศ. (2525). ไปบาหลีแล้วมีงานบุญวิสาขะบนเกาะชวา. ศิลปวัฒนธรรม, 14-36.

    Gouri Mirpuri,Robert Cooper,and Michael Spilling. (2012). CULTURE OF THE WORLD INDONESIA. Newyork: Michelle Bisson.

    Zainah R. Hasan. (2016). The influence of local traditions and cultures on Mawlid celebration in Indonesia. เรียกใช้เมื่อ 8 April 2016 จาก Academia: https://www.academia.edu/11280663/The_influence_of_local_traditions_and_cultures_on_Mawlid_celebration_in_Indonesia