อินโดนีเซีย - ประวัติศาสตร์
1. อินโดนีเซีย ค.ศ. 1 - 1500 ยุคการก่อเกิด
เรื่องการอพยพของชาวอินโดนีเซียเดิมมีความเชื่อว่าคนรุ่นแรกมีการอพยพมาจากภาคตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดียหรือพม่า และอพยพมาจากภาคใต้และบริเวณของประเทศจีน โดยอธิบายถึงการอาศัยของคนในอินโดนีเซียที่อาศัยอยู่บนเกาะริมชายฝั่ง แต่เมื่อมีการศึกษามายิ่งขึ้นการศึกษาถึงเรื่องการอพยพของคนอินโดนีเซียนั้นเปลี่ยนไป คือมีทฤษฎีที่แตกต่างปรากฏขึ้นว่าด้วยคนรุ่นแรกนั้นอาจจะไม่ด้อพยพมาจากแดนไกลนัก แต่เป็นการอพยพเคลื่อนย้ายถิ่นฐานเพียงในหมู่เกาะริมชายฝั่ง เพราะหลักฐานที่มีการศึกษาว่าด้วยหลักฐานในยุคหินที่เครื่องมือเครื่องใช้ไม่ได้มีความแปลงเปลี่ยนมากนัก วัฒนธรรมมีอยู่ไม่มีความเปลี่ยนแปลงมากนักมีความตายตัว ไม่เหมือนกับมากนักแบบการได้รับอิทธิพลจากภายนอก ชนเช่าเดิมได้รับอิทธิพลฮินดู พุทธ และอิสลามนั้นเกิดจากการได้รับอิทธิพลในเวลาต่อมาโดยศาสนาใหม่กับความเชื่อเดิมของคนรุ่นแรกนั้นไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมากแต่เป็นผสมผสานกันกับวัฒนธรรมดั้งเดิม ปรับเปลี่ยนใหม่ให้ผสมกลมกลืนกับที่มีอยู่
การศึกษาถึงเรื่องความเชื่อของคนอินโดนีเซียในยุคแรก พบว่าผู้คนนับถือลัทธิผี เชื่อว่าทุกสิ่งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิตมีพลังในตนเองหรือมีสมางัดคือวิญญาณของพวกเขาอยู่ สถานที่บางแห่ง วัตถุบางอย่าง หรือบุคคลบางประเภทจะได้รับอำนาจมาเป็นพิเศษ การนับถือภูตผีของคนยุคแรกจะมีอยู่ในทุกหนแห่งไม่ว่าจะเป็นทะเล ภูเขา แม่น้ำ สัตว์ชนิดต่างๆ ทั้งนี้เองยังมีการนับถือวิญญาณบรรพบุรุษ ยกย่องเคารพบูชา จึงมีปรากฏพิธีกรรมทางศาสนาที่เกี่ยวกับฝังข้าวของเครื่องใช้ที่อาจจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่ตายไปแล้วเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตหลังความตายระหว่างการเดินทาง
คำอธิบายในปัจจุบันมีการอธิบายจากหลักฐานในต้นคริสต์ศักราชว่า ชนบทต่างๆ และชนเผ่าทั้งหลายอาศัยอยู่บนเกาะในอินโดนีเซีย อาจจะมีการติดต่อกับโลกภายนอกด้วยเช่นกัน แต่ก็เป็นจำนวนที่น้อยมาก แต่เมื่อเวลาผ่านไป การติดต่อสื่อสารกันระหว่างคนบนเกาะกับโลกภายนอกก็มายิ่งขึ้น นำมาซึ่งการค้าขายและแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมไม่ว่าจะเป็นอิทธิพลอินเดีย (Indianisation) หรือ อิทธิพลศาสนาฮินดูและพุทธ อิทธิพลศาสนาอิสลาม (Islamisation) จนกระทั้งการเข้ามาของตะวันตกที่มาพร้อมศาสนาคริสต์และอารยธรรมตะวันตก (Westernisation) โดยในยุคเริ่มแรกการติดต่อกันเริ่มขึ้นด้วย นักแสวงบุญ พระและพ่อค้า (ค.ศ. 2- 414) ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เขียนไว้ครั้งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นหลักฐานจากจดหมายเหตุจีนตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่นที่มีการติดต่อกับอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยจีนมีความสัมพันธ์ทางการทูตติดต่อกับค้าขายกับผู้ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เกิดการแลกเปลี่ยนทางด้านวิทยาการ การค้าและวัฒนธรรม
ต่อมาเกิดการเข้ามาของอิทธิพลฮินดูและพุทธ โดยอิทธิพลที่อินโดนีเซียได้รับมาค่อนข้างปรากฏชัดในภูมิภาค มาจารึกเป็นภาษาสันสกฤตในยุคแรกศาสนาฮินดูนั้นคนท้องถิ่นรับเข้ามาในสังคมโดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับกษัตริย์ชนชั้นปกครองในราชสำนัก เน้นถึงเรื่องวรรณะและความสัมพันธ์ทางสังคมของชนชั้นต่างๆที่อยู่ระหว่างกัน เน้นบทบาทของกษัตริย์ที่สภาวะเป็นพระเจ้า ในอีกด้านหนึ่งศาสนาพุทธก็ถูกรับเข้ามาในสถาบันที่เกี่ยวกับประชาชนทั่วไป โดยพุทธศาสนานิกายมหายานถูกรับเข้ามาเป็นการเน้นการปฏิบัติ และการสร้างวัดตลอดจนอนุเสาวรีย์ จนกระทั้งในศตวรรษที่ 8 เป็นต้นมาลักษณะการปกครองมีความเปลี่ยนแปลงไปรูปแบบการปกครองมีลักษณะคล้ายกับอินเดีย โดยเฉพาะที่ปรากฏให้เห็นบนเกาะสุมาตราภาคใต้ที่เดิมเคยเป็นอาณาจักร์ศรีวิชัยที่ยิ่งใหญ่ผลักเปลี่ยนแข่งขันกันมีอำนาจกับอาณาจักรอื่นบนเกาะชวาตะวันออก อย่างเช่น จังกาละ เคดิรี สิงหัดส่าหรีและมัชปาหิต ทำให้เห็นได้ว่าในช่วง ค.ศ. 750 - 850 เป็นต้นมานั้นสามารถพบกับปูชนียวัตถุในพุทธศาสนาขนาดใหญ่มากมาย อย่างเช่น บุโรพุทโธ มรกดโลกที่สำคัญของอินโดนีเซียที่ถ่ายทอดความคิดในศาสนาพุทธว่าด้วยพุทธศาสนาเกี่ยวกับจักรวาลที่ปรากฏภาพสลักขนาดใหญ่รอบระเบียงทั้งสี่ด้านว่าด้วยเรื่องพุทธประวัติ แต่เมื่อเข้ายุคของอิทธิพลศาสนาอิสลามของเกาะชวา บุโรพุทโธอันยิ่งใหญ่ก็ถูกปล่อยทิ้งร้างเอาไว้ถูกปิดทับด้วยต้นไม้นานชนิดและขี้เถ้าจากภูเขาไป และถูกค้นพบอีกครั้งโดยทหารของเจ้าอาณานิคมอังกฤษ และบูรณะด้วยความร่วมมือของนักโบราณคดีจากฮอลันดา
เมื่ออาณาจักรต่างๆในอินโดนีเซียปรากฏขึ้นไม่ว่าจะเป็นอาณาจักรใหญ่น้อยในสุมาตรา อย่างอาณาจักรศรีวิชัย หรืออาณาที่ค่อยเติบโตในเกาะชวาที่กำลังขึ้นมาอำนาจและบทบาทในกลุ่มอาณาจักรในภูมิภาค การแข่งขันเริ่มต้นขึ้นอีกครั้ง เมื่อศูนย์กลางการค้าการเดินเรือติดต่อค้าขายเพิ่มมากขึ้น และเส้นทางการค้า ความอุดมสมบรูณ์ของสินค้าที่หลากหลายต่างเป็นจุดดึงดูดใหม่ จะเห็นได้ว่าความอุดมสมบรูณ์ของอาณาจักรริมทะเลอย่างศรีวิชัยจะได้เปรียบกว่าอาณจักรใดๆ นับตั้งแต่ศตวรรษที่ 7 เป็นต้นมา เป็นทั้งศูนย์กลางการค้า ศูนย์กลางการศึกษา และพุทธศาสนาตามหลักฐานของขาวจีนว่าด้วยหลวงพ่ออี้จิงที่เดินทางมายังอาณาจักรศรีวิชัย จนกระทั่งเข้าสู่ศตวรรษที่ 12 อาณาจักรเริ่มมีความอ่อนแอและกำลังเสื่อมสลาย อาจจะเป็นเพราะอำนาจของแว่นแคว้นต่างๆที่ได้รับประโยชน์ทางการค้าในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของชาวชวากำลังเพิ่มขึ้น เกิดการอพยพจากเมืองปาเล็มบังไปตั้งถิ่นฐานใหม่บนแหลมมลายู ก่อให้เกิดศูนย์กลางการแข่งขันทางด้านค้าในบริเวณช่องแคบ และในเวลาเดียวกันนั้นเอง การค้าเครื่องเทศของอินโดนีเซียนั้นกำลังเพิ่มขึ้นทำให้ฐานะของเมืองท่าบนเกาะชวาเข้มแข็งขึ้นกว่าเดิม
ในศตวรรษที่ 9 เป็นต้นมาแว้นแคว้นต่างๆบนเกาะชวาริมทะเลเจริญขึ้น จากเดิมที่สวามิภักดิ์ต่อศรีวิชัย แต่ต่อมากลับกันมาสวามิภักดิ์ต่อกษัตริย์มลายูทำให้ศูนย์กลางจากภาคกลางย้ายไปภาคตะวันออกของเกาะชวา อาณาจักรใหญ่น้อยบนเกาะชวาต่างก็เป็นทั้งมิตรที่ดี และบ้างก็แข่งขันแย่งชิงความร่ำรวยและความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรบนเกาะ
การเปลี่ยนผ่านจากอาณาจักรศรีวิชัยมาสู่มัชปาหิต ในตอนท้ายนั้นเป็นเหมือนกับการเปลี่ยนอิทธิพลทางศาสนาด้วยเช่นกัน เพราะเมื่อเข้าสวามิภักดิ์กับกษัตริย์มลายูแล้วนั้นทำให้ผู้ปกครองแว่นแคว้านอาณาจักรเปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลามด้วยเนื่องด้วยปัจจัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความพยายามปลดแอกตัวเองจากอาณาจักรศรีวิชัย หรือการมองหาความรุ่งเรืองจากการค้าที่ได้ระหว่างทำการค้ากับพ่อค้ามลายู ยุโรป และจีน โดยการค้าของอาณาจักรมัชปาหิตกับจีนนั้นมีความรุ่งเรืองอย่างมากเพราะนโยบายของรัฐบาลจีนจากราชวงศ์หมิง ใน ค.ศ. 1368 (Brown, 2003, p. 27) นอกจากนี้อาณาจักรมัชปาหิตยังขยายตัวกว้างขวางก่อเกิดวัฒนธรรมของตนเองและเผยแพร่วัฒนธรรมมัชปาหิตไปยังพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะ วรรรณกรรม ศิลปะ สถาปัตยกรรม ที่พัฒนามากขึ้นจนกลายเป็นวัฒนธรรมและศิลปะของชวาตะวันออก และขยายกว้างขึ้นไปยังหมู่เกาะอื่นๆตามมาภายหลัง ดังที่ปรากฏในงานเขียนที่ชื่อว่า “Hikayat Banjar” (Brown, 2003, p. 28)
2. อินโดนีเซีย ค.ศ. 1400 - 1700 การเผยแพร่ศาสนาอิสลาม และการเข้ามาของจักรวรรดินิยม
จะได้เห็นได้ว่าการเดินทางมาจนกระทั่งศตวรรษที่ 14 อาณาจักรในอินโดนีเซียนั้นเต็มไปด้วยอาณาจักรในศาสนาพุทธ แต่แล้วการมาถึงของศาสนาอิสลามนั้นก็ได้มาถึง ผ่านทางการค้าขายโดยการสนับสนุนของพุทธศาสนิกชนโดยหลักฐานทางประวัติศาสตร์ไม่ปรากฏแน่ชัดว่าศาสนาอิสลามนั้นเริ่มปรากฏครั้งแรกในอินโดนีเซียเมื่อใด แต่หลักฐานที่สามารถระบุได้อย่างหนึ่งจากศิลาจารึกบนหลุมฝั่งศพของชาวมุสลิมนั้นระบุเอาไว้ว่าถูกฝั่งเมื่อ ค.ศ. 1082
ศาสนาอิสลามพัฒนาขึ้นในอินโดนีเซียและเข้ามาแทนที่ศาสนาฮินดูและพุทธที่เก่าแก่กว่าโดยที่ศาสนาอิสลามได้เข้ามาปะปนกับประเพณี ขนบธรรมเนียมและวัฒนธรรมที่มีอยู่เดิม นอกจากนี้การแพร่ขยายของศาสนาอิสลามนั้นยังมาจากการเข้ามาของนักสอนศาสนาในนิกายซูฟีเป็นนิกายที่มีความเชื่อในเรื่องลี้ลับซึ่งเดิมทีคนท้องถิ่นก็มีความเชื่อในเรื่องลี้ลับ นับถือภูตผีวิญญาณอยู่แล้วจึงดูเหมือนว่าการเข้ามาครั้งนี้จะไม่มีความแตกต่างกันมากนัก ทั้งนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆอีกด้วยในการแพร่ขยายของศาสนาอิสลาม คือ การแบ่งชนชั้นวรรณะของศาสนาฮินดูในอินโดนีเซียนั้นไม่ได้มีการแบ่งชนชั้นอย่างเคร่งครัดในแบบอินเดีย จึงทำให้การเข้ามาอิสลามไม่มีความยากลำบาก ทั้งนี้การเข้ามาของอิสลามยังเข้ามาด้วยความสันติเกิดเป็นความผูกพัน แต่ศาสนากลับเป็นปัจจัยหนึ่งที่เกิดขึ้นต่อการแข่งขันทางด้านค้าในหมู่เกาะ จึงทำให้เห็นได้ว่าการเข้ามาของศาสนาอิสลามนั้นเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ใช้เวลานานกว่าจะปรากฏให้เห็นชัด
3. อินโดนีเซีย ค.ศ. 1600 - 1900 การขยายอำนาจถึงการเสื่อมสลายของจักรวรรดินิยม สู่ยุคการเมืองและเศรษฐกิจถดถอย
การเข้ามาของชาวตะวันตกในอินโดนีเซียในเริ่มแรกเข้ามาตั้งแต่ ศตวรรษที่ 16 - 18 เป็นจุดเริ่มต้นของการปูพื้นฐานอิทธิพลทางด้านการค้าเพื่อก้าวไปสู่การขยายอิทธิพลเข้ายึดครองเป็นอาณานิคมในศตวรรษที่ 19 - 20 สาเหตุการเข้ามาของชาติตะวันตก มาจากในศตวรรษที่ 15 ดินแดนในเอเชียตะวันตกเฉียงใต้เคยเป็นเส้นทางการค้าระหว่างเอเชียและยุโรปถูกปิดลงเพราะพวกเติร์กที่เข้ามามีอำนาจจึงปิดเส้นทางดังกล่าวไม่มีการคมนาคมอีกต่อไป สินค้าสำคัญในเอเชียที่ยุโรปมีความต้องการมาก คือ เครื่องเทศที่ซื้อมาจากอินเดีย ต่อมาพ่อค้าวานิชในอิตาลี่ได้รับการผูกขาดให้ซื้อขายกับแถบเมดิเตอร์เรเนียนพ่อค้าวานิชจึงนำเครื่องเทศไปขายให้ยุโรปในราคาสูง เกิดความเป็นเดือดร้อนมากในยุโรป โดยเฉพาะสเปน ฝรั่งเศส โปรตุเกส อังกฤษ ดังนั้นชาติเหล่านั้นจึงพยายามหาเส้นทางเดินเรือที่ต้องผ่านอ่าวเปอร์เซีย เพื่อเดินทางเข้ามายังเอเชียด้วยตัวเอง เกิดเป็นการสำรวจเส้นทางนำไปสู่ยุคแห่งการค้นพบ
พวกดัชต์เข้ามายังอินโดนีเซียในฐานะพ่อค้า เข้าควบคุมเพียงแค่ท่าเรือสำคัญๆในชวาเหนือ และศูนย์กลางทางการค้าใหญ่ๆ ของเกาะที่ค้าเครื่องเทศอื่นๆ ก็ย่อมเป็นการเพียงพอแล้วสำหรับการบรรลุเป้าหมาย (มิลตัน ออสบอร์น, 2544, หน้า 102) มากกว่านั้นบริษัทอีสอินเดียได้ค่อยๆขยายตัวกลายเป็นผู้แสวงหาดินแดนใหม่เพื่อครอบครอง แสวงหาผลประโยชน์ทางด้านการค้า สร้างความขัดแย้งระหว่างชาวชวาด้วยกันเอง นำไปสู่การสิ้นสลายของอาณาจักรมะตะรัม ในศตวรรษที่ 18 พวกดัตช์ได้เข้าไปเกี่ยวข้อง และมีอิทธิพลต่อการเมืองภายในของชวาอย่างมาก และสนใจมากถึงขนาดเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำกับการก่อตั้งรัฐใหม่ขึ้นแทนอาณาจักรมะตะรัม โดยรัฐใหม่นี้ตั้งขึ้นที่ยอกยาการ์ต้าและสุรากาต้าอันเป็นเมืองสำคัญในเกาะชวากลาง ราวกลางศตวรรษที่ 18 บริษัทอีสอินเดียของดัตช์มีการอ้างว่าอำนาจทางการเมืองเหนือเกาะชวาเกือบทั้งหมด แต่ยังเป็นในลักษณะที่ไม่ข้มงดวนัก ยังไม่ส่งผลกระทบมากนักต่อชาวท้องถิ่นหรือเจ้าอาณานิคมเอง ผลกระทบทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นจากการที่ดัตช์พยายามหาวิธีการใหม่ๆเพื่อเพิ่มรายได้ มีการรีดนาทาเร้นผลิตผลทางการเกษตรและชาวท้องถิ่น เพื่อทำให้ได้ผลผลิตและผลประโยชน์อย่างที่สุด ดัตช์ทำเช่นนี้ผ่านชนชั้นผู้นำของชาวชวา และเจ้าภาษีอากรชาวจีน ภาระที่เกิดขึ้นนั้นกระทบกับชาวนาท้องถิ่นและกระทบไปยังตัวของชนชั้นนำด้วยเช่นกัน
ช่วงก่อนศตวรรษที่ 19 การขยายอำนาจของเจ้าอาณานิคมขยายออกไปเพียงไม่กี่แห่ง และมีไม่มากนักที่ได้รับผลกระทบ แต่ทว่าในศตวรรษที่ 19 และ 20 เป็นต้นไปการขยายอำนาจขอดัตช์เข้าไปอย่างกว้างขวางบนหมู่เกาะของอินโดนีเซีย เข้าไปเป็นระยะ และอย่างช้าๆ และสร้างผลกระทบให้กับชาวท้องถิ่นในช่วงเวลานั้น การขยายตัวนี้เองเป็นการกระทำเพื่อตอบสนองการขยายตัวของตลาดการค้าผลิตผลทางการเกษตรที่นำส่งผลิตผลสินค้าเมืองร้อนไปยังยุโรป และอีกส่วนหนึ่งเป็นปฏิกิริยาต่อกิจกรรมของมหาอำนาจชาติต่างๆอีกด้วย ที่เข้ามาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น แรงกดดันจากความต้องการทางเศรษฐกิจและการแข่งขันกันของเจ้าอาณานิคมนั้นมีลักษณะแบบหลวมๆเหนือหมู่เกาะในอินโดนีเซีย มีจุดบัญชาการหรือศูนย์กลางทางการปกครองหลักเพียงไม่กี่แห่ง โดยทั้งหมดนี้อาศัยความร่วมมือจากผู้นำท้องถิ่น แต่นั้นก็ยังคงไม่เพียงพอมากนักต่อการขยายตัวมากขึ้นของดัตช์ ในตอนปลายศตวรรษที่ 18 รัฐบาลดัตช์ในหมู่เกาะอินดิสทำการแทนบริษัทอีสอินเดียของดัตช์ที่ล้มเลิกไป เริ่มหาทางควบคุมหมู่เกาะให้ได้มากยิ่งขึ้น วางระบบบริหารให้มีรูปแบบเดียวกัน โดยการปกครองในรูปแบบนี้นำมาซึ่งปัญหาความขัดแย้งรุนแรงกับกองกำลังของชาวพื้นเมือง โดยเฉพาะในหลายๆเขตของเกาะสุมาตรา ดัตช์ต้องต่อสู้กับชาวพื้นเมืองเป็นสิบๆผี กว่าจะเข้าไปมีอำนาจสูงสุดเหนือดินแดนเหล่านั้นได้สำเร็จก็เข้าสู่ช่วงปลายศตวรรษที่ 19
เมื่อเข้าถึงช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ฐานโครงสร้างของหมู่เกาะอีสต์อินดีสของดัตช์ได้รับการสถาปนาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ผลสืบเนื่องจากชัยชนะและสนธิสัญญาทำให้ดัตช์สามารถอำนาจการปกครองเหนือหมู่เกาะทั้งหมด ตั้งแต่ทางตะวันตกของเกาะสุมตราไปจนถึงภาคตะวันตกของเกาะนิวกินีทางด้านตะวันออก มีเพียงอาณานิคมเล็กๆของโปรตุเกสทางตะวันออกของเกาะติมอร์เท่านั้น ที่ยังหลุดรอดจากร่างแหชองดัตช์ ขยายอาณาเขตการปกครองไปทั่วหมู่เกาะในอินโดนีเซีย ในบางพื้นที่เจ้าอาณานิคมเข้าไปนั้นยังคงมีความหลากหลายมาก จนกลายเป็นผลกระทบในเวลาต่อมา โดยเฉพาะในเกาะชวา ชวากลางและตะวันออกชาวพื้นเมืองท้องถิ่นที่เป็นชาวนาจะยากจนมากขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงเจ้าอาณานิคมดัตช์เองยังปลูกฝังศาสนาคริสต์เข้าไปด้วย
4. อินโดนีเซีย ค.ศ. 1900 - 1945 เวลาของการเปลี่ยนแปลง สงครามการยึดครอง การต่อสู้เพื่อเอกสาร และ เป็นเอกราช
นับตั้งแต่เริ่มศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา การเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ หรือแม้แต่สภาพสังคมในตอนนั้นเต็มไปด้วยระบบการปกครองภายใต้การดูแลของดัตช์ที่ไม่เพียงเฉพาะในเขตเมืองใหญ่ๆอย่างในชวากลางอีกต่อไป แต่การปกครองโดยเจ้าอาณานิคมอย่างดัตช์ได้ขยายเข้าไปยังหลายๆเมืองรวมทั้งหมู่เกาะอื่นๆ การปกครองของดัตช์เปลี่ยนแปลงไป เมื่อมีการนโยบายจักรวรรดินิยมฮอลันดาเข้ามาใช้อย่างเต็มที่แผ่ขยายกว้างออกไป แทรกแซงเข้าไปในวิถีชีวิตของพลเมืองอย่างมาก โดยเฉพาะนโยบายที่เรียกว่า “นโยบายจริยธรรม” (Ethical Policy) โดยเจ้าอาณานิคมที่มีการประกาศใช้เมื่อ ค.ศ. 1901 เพื่อรวมหมู่คนในสังคมต่างๆเข้ากัน แต่กลับกันนั้นนโยบายนี้กลับทำให้เกิดความแตกแยกกันมากยิ่งขึ้น มีความพยายามพัฒนาประเทศให้ทันสมัยแต่กลับทำให้เกิดการแบ่งแยกในสังคมมากขึ้น การแบ่งแยกที่สำคัญ คือ ชาวยุโรป ชาวตะวันออก และชาวพื้นเมือง โดยการแบ่งเป็นสามกลุ่มนี้แต่ละกลุ่มกลับมีฐานะและชนชั้นทางสังคมที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะอย่างชาวยุโรปที่เป็นส่วนน้อยของสังคมแต่กลับได้สิทธิและอำนาจพิเศษเหนือชาวอื่นๆ โดยเฉพาะกับชาวพื้นเมืองที่เป็นประชาชนส่วนใหญ่ แม้ว่าทั้งหมดที่ชาวฮอลันดาทำขึ้นนั้นเพื่อใช้เพื่อการปกครอง แต่การกระทำเหล่านั้นกลับไม่ส่งผลดีต่อตนเองชาวพื้นเมืองแต่อย่างใด โดยตลอดช่วงหลายปี ดัตช์ประสบกับปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะปัญหากบฏ ได้เกิดขึ้นหลายต่อหลายครั้ง และครั้งที่สำคัญที่สุด ยกตัวอย่างได้ คือ ครั้งที่เกิดขึ้นในอาเจะห์ ที่เกิดขึ้นเพื่อปลดแอกตัวเองให้เป็นอิสรภาพของชาวพื้นเมือง และครั้งนี้เป็นเหมือนแรงกระตุ้นสำคัญนำไปสู่การร่วมกลุ่มในขบวนชาตินิยมในเวลาต่อมา
ในการขยายการปกครองของดัตช์ไปยังพื้นที่ต่างๆ ทำให้เกิดการปกครองที่คนมีฐานะท้องถิ่น หรือชาวอินโดนีเซียได้รับการศึกษาใช้ภาษาดัตช์เป็นภาษาทั่วไป และชาวฮอลันดาก็หันมาใช้ภาษามาเลย์ที่เป็นพื้นฐานของอินโดนีเซียสมัยใหม่เพื่อเป็นภาษาของรัฐบาลให้มีการขยายออกไปทั่วหมู่เกาะ จะเห็นได้ว่าการที่ชาวอินโดนีเซียได้รับการศึกษามากขึ้นก็ทำให้ชาวพื้นเมืองเริ่มหันมาตระหนักมากขึ้นว่าพวกเขาถูกกดขี่ ถูกกัดกันในด้านต่างๆมาก ช่องว่างหรือสิทธิพิเศษระหว่างกลุ่มคนก็แตกต่างกันออกไป อย่างเช่นกลุ่มคนอินโดนีเซียที่ได้รับการศึกษาแบบตะวันตก เมื่อทำงานพวกเขากลับไม่ได้งานทำในแบบเดียวกับชาวจีน ยูเรเซีย หรือว่าชาวตะวันตกอื่นๆ พวกคนอินโดนีเซียกลับได้เงินเดือนที่น้อยกว่าแม้ว่าจะมีคุณวุฒิทางการศึกษาที่เท่ากัน
ยกตัวอย่างเช่น การ์ตินี่ใฝ่ฝันที่จะไปศึกษาในฮอลันดา โดยมีนักศึกษาเพียงแค่ 5 เท่านั้นในปี ค.ศ. 1900 แต่ผ่านไป 8 ปี มีนักศึกษาเพิ่มขึ้นเป็น 23 คน ผู้ก่อตั้งสมาคมอินดิส (Indies Association) รวมทั้งนักศึกษาอินโดนีเซีย และยูเรเซียน และจำนวนนักศึกษาในกลุ่มนี้ก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนเปลี่ยนชื่อเป็นเป็นภาษาอินโดนีเซีย คือ Perhimpunan Indonesia-Indonesian Association รวมเฉพาะคนที่มีเชื้อสายอินโดนีเซีย จากที่เคยใช้ภาษาดัตช์ก็เปลี่ยนมาใช้ภาษาอินโดนีเซียแทน ใช้คำว่าอินโดนีเซีย แทนคำว่า อินดีส โดยเหตุการณ์นี้ที่เกิดขึ้นนำมาสู่ปัจจัยหนึ่งที่ช่วยเพิ่มแนวคิดชาตินิยมในหมู่นักศึกษา และเมื่อนักศึกษาที่ได้รับการศึกษาจากตะวันตกกลับมาก็มีไม่น้อยที่กลับมาเป็นผู้นำขบวนการชาตินิยม (เอลซา ไซนุดิน, 2557, หน้า 239)
เนื่องจากเจ้าอาณานิคมเกิดความกลัวที่จะให้การศึกษาแบบตะวันตกกับชาวพื้นเมือง จึงรีรอที่จะเพิ่มความสะดวกและความสนใจกับโรงเรียนให้กับประชาชนชาวอินโดนีเซีย จึงทำให้จำนวนโรงเรียนที่เกิดขึ้นโดยมีครูที่ได้รับการศึกษาจากตะวันตกแต่ไม่มีงานทำนั้นเข้ามาเป็นครูในโรงเรียนราษฎร์มากยิ่งขึ้น จนเกิดเป็นข้อสงสัยที่ว่าโรงเรียนเหล่านี้เองที่เป็นโรงเรียนเถื่อน สอนเผยแพร่ความรู้เรื่องชาตินิยม โดยความคิดเหล่านี้เองทำให้เจ้าอาณานิคมนั้นไม่ได้ตระหนักถึงพลังและความรู้สึกชาตินิยมมากนัก และมองว่าคนที่ได้รับการศึกษาจากตะวันตกนั้นยังมีน้อยอยู่ไม่สามารถสร้างอิทธิพลและแรงกดดันได้ ทว่ากลับกันแรงกดดันเริ่มเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆจนสามารถเห็นได้ โดยเฉพาะอย่างในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เจ้าอาณานิคมมองว่าแนวคิดเรื่องชาตินิยมนั้นมาจากอิทธิพลภายนอก ถูกกระตุ้นลัทธิชาตินิยมมากจากสหรัฐอเมริกา รัสเซีย หรือแม้แต่ญี่ปุ่น พวกชาวพื้นเมืองที่มีการศึกษามองว่าพวกเขาไม่อาจจะยินยอมรับรูปแบบการปกครองแบบเดิมได้อีกแล้ว
หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ญี่ปุ่นขยายการค้าไปยังหมู่เกาะอินโดนีเซียและขยายอิทธิพลไปในหมู่เกาะที่มีประชากรพื้นเมือง ในค.ศ. 1929 ญี่ปุ่นเป็นผู้สั่งสินค้นเข้าร้อยละ 11 ของสินค้าทั้งหมด จนกระทั่ง ค.ศ. 1935 มีการสั่งสินค้ามากถึงร้อยละ 30 แม้ว่าญี่ปุ่นจะสั่งสินค้าจากอินโดนีเซียเพียงร้อยละ 5 เท่านั้น แต่ก็ทำให้เจ้าอาณานิคมฮอลันดาเริ่มรู้สึกถึงความไม่มั่นคงอีกต่อไป โดยเฉพาะในเรื่องการค้าในภูมิภาค ในช่วงนั้นญี่ปุ่นแสดงความจำนงซื้อน้ำมัน ถ่านหินและผลิตผลแร่ธาตุเป็นจำนวนมาก ในขณะเดียวกันฮอลันดาก็มีความต้องการขายสินค้าจำพวกน้ำตาล กาแฟ ชาและยาสูบก่อนสินค้าชนิดอื่นๆ แต่ทว่าญี่ปุ่นไม่ได้มีความสนใจสินค้าที่เจ้าอาณานิคมในอินโดนีเซียต้องการขายเพราะสินค้าเหล่านั้นญี่ปุ่นสามารถหาได้อยู่แล้ว เหลือเพียงความต้องการสินค้าจำพวกน้ำมันเท่านั้น เพื่อนำมาขยายอุตสาหกรรม ในช่วงทศวรรษที่ 1930 ฮอลันดาจำกัดกิจกรรมของญี่ปุ่นในอินโดนีเซียด้วยการออกกฎหมายให้มีใบอนุญาตนำสินค้าเข้า วางระเบียบแรงงานต่างชาติกำหนดคนต่างชาติบางชาติที่จะอพยพเข้าประเทศ ด้วยคมการจับปลาในน่าน้ำรอบเขตแดน ญี่ปุ่นต่อต้านการกำหนดจำนวนคนอพยพเข้าเพราะพวกเขาถือว่าทำลายฐานะที่เท่าเทียมกัน ต่อมาญี่ปุ่นแสดงออกอย่างเปิดเผยถึงแผ่นการร่วมวงไพบูลย์อันยิ่งใหญ่ของชาวเอเชียที่ญี่ปุ่นแสดงออกถึงการเป็นผู้นำ คล้ายกับที่อังกฤษแสดงออกในเครือจักรวรรดิอังกฤษ
การเข้ามาค้าขายของญี่ปุ่นส่งผลดีกับชาวพื้นเมืองอินโดนีเซียหลายที่มีรายได้อย่างจำกัด เพราะสินค้าจากญี่ปุ่นเข้ามาในอาณานิคมมากขึ้น ชาวอินโดนีเซียที่มีีรายได้อย่างจำกัดสามารถจับจ่ายใช้สอยได้ในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ จากเดิมที่พ่อค้าคนกลางเป็นชาวจีนนำส่งสินค้าแต่ก็พากันกีดกันสินค้าจากญี่ปุ่น ซึ่งทางด้านญี่ปุ่นก็มองว่าการมาครั้งนี้มาเพื่อสร้างการแข่งขันทางการค้ากับจีน
เมื่อมีการประกาศสงครามในยุโรปในเดือนกันยายน ค.ศ. 1939 ในครั้งแรกดูเหมือนว่าดินแดนในอินเดียตะวันออกของฮอลันดาอาจจะได้รับแต่เพียงผลกระทบทางอ้อมอย่างที่เกิดขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ค.ศ. 1940 เยอรมนีเข้าบุกฮอลันดาและรัฐบาลฮอลันดาก็ย้ายไปลอนดอนในปีนั้นชาวญี่ปุ่นส่งคณะทูตการค้าไปยัง ปัตตาเวีย โดยคณะทูตดังกล่าวให้ความสนใจที่ทำสัมปทานน้ำมันในหมู่เกาะอินโดนีเซีย แต่ฮอลันดากลับไม่ได้ร่วมมือด้วย จึงทำให้ญี่ปุ่นมาเป็นผู้ลงนามร่วมในสัญญาไตรภาคีกับฝ่ายอักษะ คือเยอรมนีและอิตาลี ท่าทีของฮอลันดายิ่งแข็งกร้าวมากยิ่งขึ้น ต่อต้านแผนการร่วมวงศ์ไพบูลย์ที่ญี่ปุ่นประกาศอย่างเปิดเผย ในเดือนกรกฎาคมฮอลันดาปฏิบัติตามแบบอย่างของสหรัฐอเมริกา บริเตนใหญ่ และเครือจักรภพอังกฤษด้วยการบีบบังคับธุรกิจของญี่ปุ่น เลิกล้มข้อตกลงทางการเงินที่ฮอลันดาที่ญี่ปุ่นเพิ่งตกลงกันเมื่อเร็วๆนี้ ในเดือนธันวา ค.ศ. 1941 ญี่ปุ่นเห็นว่าฝ่ายพันธมิตรร่วมมือกันต่อต้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น จึงเข้าโจมตีกองเรือรบอเมริกันที่อ่าวเพิร์ล วันต่อมาฮอลันดาก็ประกาศสงครามกับญี่ปุ่น แม้ว่าก่อนหน้านี้แทบจะไม่มีเวลาเตรียมตัวป้องกันหมู่เกาะอินโดนีเซีย
ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1942 กองทัพญี่ปุ่นกองทัพแรกขึ้นบกที่อินโดนีเซียหวังว่าจะยึดที่เก็บน้ำมันทางตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะบอร์เนียว บาลิกปาปัน และปาเล็มบัง โดยการเข้ามาครั้งนี้เข้ามาเพื่อยึดสิ่งที่ต้องการจากสิ่งที่ไม่ได้รับในการทำสนธิสัญญา สามเดือนหลังจากการประกาศสงคราม และเพียง 8 วันหลังจากญี่ปุ่นบุกเกาะชวา แม้ทัพฮอลันดาก็ยอมแพ้ในนามของกองทัพสัมพันธมิตรในชวา จนทำให้ชาวพื้นเมืองมองว่าการเข้ามาของญี่ปุ่นนั้นมีความสามารถ ฮอลันดานั้นไร้สมรรถภาพเมื่อต้องเผชิญกับภาวะสงคราม ในหลายเขตของอินโดนีเซีย ในช่วงแรกการที่ญี่ปุ่นเข้าไปนั้นได้รับการต้อนรับว่าเป็นผู้นำอิสรภาพมาให้ แต่ต่อมาการเข้ามาของญี่ปุ่นก็ทำให้ชาวพื้นเมืองบางส่วนก็มองรับรู้ได้ถึงการถูกปกครองแบบอาณานิคม และเต็มไปด้วยความโหดร้ายและถูกทรยศ
ภายใต้อำนาจของชาวญี่ปุ่น ดินแดนในอินโดนีเซียถูกแย่งออกอยู่ภายใต้อำนาจ 3 ส่วน คือ ชวา สุมาตราและมาดูรา โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่ชวา โดยที่อินโดนีเซียตะวันออกก็เหมือนกับในอดีต ต้องพึ่งพาชวาในเรื่องของอาหารและเสื้อผ้า ญี่ปุ่นใช้เวลากว่าหนึ่งปีกว่าจะสำเร็จในการกักขังชาวฮอลันดาทั้งหมด เว้นแต่คนจำนวนน้อยที่อาจจะปกปิดเบื้องหลังที่เป็นฮอลันดาได้สำเร็จ ญี่ปุ่นสั่งปิดโรงเรียนฮอลันดาทั้งหมด ภาษาดัตช์ถูกห้ามใช้อีกต่อไป และยกเลิกสิทธิพิเศษทั้งหมดที่เคยให้แก่ฮอลันดา รวมไปถึงการยุติสิทธิพิเศษที่ให้แก่ชาวยูเรเซียและชาวจีนในสังคม นโยบายต่างๆของญี่ปุ่นนิยมชาวอินโดนีเซียพื้นเมืองที่เป็นชนชั้นกลางแทนที่จะเป็นชาวจีนอีกต่อไป ญี่ปุ่นได้ก่อตั้งขบวนการไตรภาคีเพื่อเรียกร้องเสียงสนับสนุนจากอินโดนีเซีย เพื่องานสงครามของญี่ปุ่น ด้วยการโฆษณา “ญี่ปุ่น ผู้นำเอเชีย ญี่ปุ่นผู้ปกป้องเอเชีย ญี่ปุ่นแสงสว่างของเอเชีย” แต่วิธีนี้กลับล้มเหลว ทำให้ญี่ปุ่นตระหนักได้ว่างานจะสำเร็จได้จะต้องทำงานผ่านผู้นำของคนพื้นเมือง กลุ่มผู้นำชาตินิยม โดยญี่ปุ่นเชื่อว่าความรู้สึกของชาวอินโดนีเซียรู้สึกต่อต้านชาวฮอลันดามากกว่าญี่ปุ่นที่เป็นเหมือนผู้ที่เข้ามาช่วยเหลือ ในกำหนดงานครบรอบปีของ “การปลดปล่อย” ครั้งแรกในชวาและมาดูรา ญี่ปุ่นอนุญาตให้ก่อตั้งศูนย์ปุเตระ หรือ ศูนย์อำนาจของประชาชน (Putera-Pusat Tenaga Rakjat) ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1943 เป็นองค์การที่รวมนักชาตินิยมทั้งหมดไว้ ผู้นำคือคณะต้นใบสามแฉก สี่ใบ (Empat Serangkai) คือพวกชาตินิยมชั้นนำ ได้แก่ ซูการ์โน มุฮัมมัด ฮัตตา กี ฮัดยาร์ เทวัญ โตโร และผู้แทนของความคิดแบบมุสลิม คือ กีอายี เอช เอ็ม มันซูร์ โดยองค์กรนี้ได้รับความเชื่อถืออย่างกว้างขวางที่จะนำไปสู่การเป็นชาตินิยมอย่างแท้จริง
ภายใต้การปกครองของญี่ปุ่น ค่านิยมแบบดังเดิมถูกสงสัย ความสัมพันธ์ในสังคมแบบเก่าถูกนำมาตีความหมายให้ตรงกันข้าม และบางกรณีก็ถูกทำลายลงอย่างสิ้นเชิง ความรับผิดชอบใหม่ได้มอบหมายให้แก่ผู้ที่มิเคยได้รับสิทธิเหล่านั้นมาแต่ก่อน บังคับให้มีความไว้ใจในตนเองแบบใหม่ แต่พวกที่คิดว่าสถานการณ์ใหม่ๆ หมายความต้องพึ่งพาอยู่กับทรัพย์สินของพวกเอง เพื่อความอยู่รอดของร่างกาย อย่างที่ญี่ปุ่นเน้นเรื่องการฝึกร่างกาย และฝึกในทางทหารมาเป็นพิเศษ อย่างเช่น เปตะ คือกองทัพอาสาสมัครของผู้ที่ป้องกันบ้านเมือง เป็นพลังทางทหารขององค์การชาตินิยมปูเตระ ส่วนองค์การมุสลิมแห่งชาติ คือ มาสจูมิ ได้เข้ามาทดแทน โดยทั้งหมดนั้นญี่ปุ่นหวังว่าจะรวบรวมความช่วยเหลือจากพวกมุสลิมเพื่อทำสงครามศาสนาต่อต้านฝ่ายสัมพันธมิตร แต่นั้นก็ยากเพราะรัฐบาลญี่ปุ่นในอินโดนีเซียเป็นรัฐบาลนอกศาสนาเสียเอง แม้ว่าจะได้รับการสนับสนุนศาสนาอิสลามอย่างเต็มที่ เครื่องมืออีกประการหนึ่งที่มีการสร้างแบบขึ้นเพื่อจุดประสงค์ของโฆษณาของญี่ปุ่น มีการห้ามมิให้วิทยุทุกสถานีรับการกระจายเสียงจากโพ้นทะเล เว้นแต่ส่วนหนึ่งที่พวกใต้ดินเป็นผู้ก่อตั้ง มีการใช้ภาษาอินโดนีเซียสำหรับการกระจายเสียงเพราะมีชาวอินโดนีเซียเพียงส่วนน้อยที่เข้าใจภาษาญี่ปุ่นแม้จะมีการบังคับให้เรียนในโรงเรียนก็ตาม โฆษณาเป็นชาวอินโดนีเซีย โดยเฉพาะผู้นำชาตินิยมโฆษณาชวนเชื่อของพวกชาตินิยมแฝงมาในภาษาญี่ปุ่นด้วยเช่นกัน ในการใช้วิทยุกระจายเสียงเช่นนี้ทำให้ชาวชนบทเริ่มมีความสำนึกทางการเมืองมากขึ้น เช่นเดียวกับการเพิ่มการอพยพของชาวชนบทที่เข้ามาแสวงหาอาหารหรือทำการค้า ถูกเกณฑ์แรงงานมาหรือถูกนำเข้ามาในเมืองเพื่อฝึกหัดวิชาต่างๆ การสนับสนุนของมวลชนที่สำคัญที่จะดำเนินต่อไปให้การปฏิวัติได้บรรลุสำเร็จมาบัดนี้เกี่ยวข้องกับพวกชาตินิยมชาวตะวันตกที่มีการศึกษาสูงซึ่งเป็นพวกเดียวที่อาจเป็นผู้นำตามที่ต้องการ
ค.ศ. 1944 ผู้นำญี่ปุ่นได้เล็งเห็นว่าตนเองเป็นรองในสงครามแล้ว ผู้นำอินโดนีเซียก็ทราบเรื่องนี้จากวิทยุลับ ท่าทีของญี่ปุ่นที่มีต่อขบวนการชาตินิยมเริ่มเปลี่ยนไป ต่อมาในเดือนกันยายน ค.ศ. 1944 นายกรัฐมนตรีโคอิโซแห่งญี่ปุ่นสัญญาว่าจะให้เอกราชกับอินโดนีเซีย ค.ศ. 1945 องค์การตรวจสอบการตระเตรียมเอกราชของชาวอินโดนีเซีย ได้ตั้งขึ้นที่จาการ์ตา มีสมาชิก 62 คน คนเหล่านี้ไม่พูดภาษาอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นภาษาในการประชุมเลย ญี่ปุ่นทิ้งญัตติให้เปิดไว้ในที่ประชุม มิได้วางทั้งแผนการทั่วไป หรือแผนการที่แน่นอน ด้วยอาจจะหวังว่าพวกเขาได้รับการวางฉากให้กลุ่มผู้นำต่างๆต่อสู้กัน ซึ่งคงทำให้การปฏิวัติไร้ผล แต่จะทำให้ชาวอินโดนีเซียมีงานวุ่นวาย คณะกรรมการก็ยังดำเนินการต่อไปโดยมติเป็นเอกฉันท์ที่จะร่างรัฐธรรมนูญควบคุมถึงประเด็นบางอย่างเช่น เรื่องเขตแดน คุณสมบัติของพลเมือง ศาสนา โครงสร้างทางการเมืองของรัฐใหม่
ในวันที่ 1 มิถุนายน ค.ศ. 1945 ซูการ์โน ร่างกฎ 5 ข้อ (ปัญจสีลา) ซึ่งยอมรับกันว่าเป็นปรัชญาของประเทศอินโดนีเซีย คือลัทธิชาตินิยม ลัทธินานาชาติ รัฐบาลที่เป็นที่ยอมรับ ความยุติธรรมในสังคมและความเชื่อในพระเจ้าสูงสุด เข้าเริ่มด้วยการเรียกร้องเพื่ออิสรภาพและสรุปด้วยคำสรุปว่า “ประชาชนที่มีใจมุ่งมั่นในเมอร์เดกะคืออิสรภาพ อาจได้รับความสำเร็จและเป็นเจ้าภาพของอิสรภาพนั้นหรือมิฉะนั้นก็ตาย” (เอลซา ไซนุดิน, 2557, p. 300) ความรู้สึกดังกล่าวควบคุมพวกชาตินิยมอยู่ได้และญี่ปุ่นก็ไม่ได้มีการต่อต้านใดๆ ในวันที่ 8 สิงหาคม หลังจากที่สหรัฐอเมริกาได้ทิ้งระเบิดปรมาณูครั้งแรกที่ฮิโรชิมา ซูการ์โน และฮัตตาบินไปยังศูนย์บัญชาการของญี่ปุ่นที่ไซง่อน วันที่ 11 สิงหาคม ญี่ปุ่นยอมรับการยอมแพ้สงคราม และได้สัญญาว่าจะคืนเอกราชให้ในวันที่ 14 สิงหาคม แม้วันไม่ได้ประกาศยอมแพ้ในอินโดนีเซีย แต่ชาวพื้นเมืองก็สามารถสร้างเรื่องราวเหล่านี้ได้จากการกระจายเสียงจากสถานีวิทยุลับ
หลังจากซูการ์โน และ ฮัตตากลับจากไซ่ง่อน ได้ไม่กี่วันความหวาดหวั่นว่ากลุ่มต่างๆในหมู่ชนชั้นสูงอาจจะกีดกันความพยายามของกันและกัน ชารีร์พยายามชักชวนให้ซูการ์โนประกาศอิสรภาพในแบบปฏิวัติและต่อต้านญี่ปุ่นขณะเดียวกันก็รวบรวมผู้สนับสนุนใต้ดินของเราประมาณ 6,000 คนเพื่อเตรียมยึดอำนาจบริหารคืนจากญี่ปุ่น ในตอนนั้นซูการ์โนได้ตั้งตนเป็นผู้นำชาตินิยมที่มีผู้รู้จักมากที่สุดแล้วทรงอิทธิพลมากที่สุด มีความสำคัญต่อการประกาศเอกราชในขณะนั้น แต่ทว่าซูการ์โนยังรีรอที่ประกาศอิสรภาพ
จนกระทั่งในวันที่ 17 สิงหาคม ก็ได้มีการตกลงเรื่องถ้อยคำแถลงการณ์การประกาศเอกราช แม้ว่าจะมีแรงกดดันอย่างมากที่จะให้ใช้ถ้อยคำรุนแรงต่อต้านญี่ปุ่นในคำประกาศ แต่ในที่สุด ผู้นำรุ่นเก่า เช่น ซูการ์โนและฮัตตาก็ได้รับคำยินยอมให้นำเอาคำประกาศที่นุ่มนวลกว่า ที่ดูมีทางนำไปสู่ความขัดแย้งกับญี่ปุ่นน้อยกว่าเพื่อเป็นการประนีประนอม และใหู้ซการ์โนและฮัตตาลงนามในคำประกาศในฐานะเป็นผู้แทนของชาติอินโดนีเซีย โดยมีการทำพิธีง่ายๆ และดูศักดิ์สิทธิ์ในส่วนหน้าที่พักส่วนตัวในจาการ์ตา ก็อ่านประกาศอิสรภาพเมื่อเวลา 10 นาฬิกา มีเนื้อความดังนี้
“เราประชาชนอินโดนีเซีย ขอประกาศเอกราชของประเทศอินโดนีเซีย ณ บัดนี้ เรื่องเกี่ยวกับการโอนอำนาจและเรื่องอื่นๆ จะจัดการไปเป็นลำดับและให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้” (เอลซา ไซนุดิน, 2557, หน้า 305-306)
5. อินโดนีเซีย ตั้งแต่ ค.ศ. 1945 หลังเอกราช เดินหน้าสู่ประชาธิปไตย ในศตวรรษที่ 21
หลังจากการประกาศเอกราชของขบวนการชาตินิยมที่มีการเคลื่อนไหวมานานหลายสิบปี ปฏิกิริยาของประชาชนในอินโดนีเซียต่างตื่นเต้นที่บ้านเมืองของพวกเขาเป็นอิสระ ผู้คนหันมาสวมใส่เสื้อสีแดงขาวพร้อมนุ่งโสร่ง ออกมาแสดงความดีใจในหลายๆเขตหัวเมือง ไม่ว่าจะเป็นที่เมดาน ซึ่งก่อนหน้านี้ได้เกิดความวุ่นวายเมื่อยุวชนพื้นเมืองพยายามบังคับทหารอัมบนผู้สนับสนุนฮอลันดาตามประเพณีให้ใส่เสื้อแดงขาว หรือการปะทะกันเมื่อชาวพื้นเมืองพยายามจะนำธงอินโดนีเซียไปแทนที่ธงของญี่ปุ่น ในจาการ์ตาเริ่มมีการต่อสู้เมื่อมีการเข้าปลดอาวุธของทหารญี่ปุ่นที่ประจำการอยู่ทางด้านทหารอังกฤษกองแรกที่ขึ้นบกที่อินโดนีเซีย ในวันที่ 29 กันยายน เมื่อมาถึงก็ได้ตระหนักแล้วว่ารัฐบาลแห่งชาติอินโดนีเซียได้เกิดขึ้นมาแล้ว ต่อมาอินโดนีเซียได้มีการจัดตั้งกองทัพแห่งชาติอย่างเป็นทางการ นำมาซึ่งพัฒนากองกำลังเปตระ โดยการที่อังกฤษเข้ามาในอินโดนีเซียนั้นเข้ามาเพื่อปลดอาวุธของกองทัพญี่ปุ่นในอินโดนีเซีย พร้อมทั้งต้องการให้ความคุ้มครองฮอลันดาพันธมิตรของตน ด้วยหลายๆเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอินโดนีเซีย การควบคุมของรัฐบาลซูการ์โนนั้นทำให้อังกฤษมองว่า รัฐบาลนี้มีความสามารถในการควบคุมสถานการณ์ให้สงบสุขได้ ถึงแม้อังกฤษในบางฝ่ายจะยังคงไม่ยอมรับรัฐบาลนี้ก็ตาม แต่ทว่าฮอลันดาได้ส่งทูตมายังอินโดนีเซียมาเจรจาเพื่อตกลงให้อินโดนีเซียต้องอยู่ร่วมในอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ต่อไป
ความขัดแย้งได้เริ่มต้นขึ้นในเมืองต่างๆ ที่มีความภักดีเกิดการสู่รบกันอย่างต่อเนื่องและดูเหมือนจะขยายแผ่กว้างออกไป ในปี ค.ศ. 1946 รัฐบาลฮอลันดาได้ออกประกาศและยอมเจรจากับตัวแทนของผู้มีอำนาจของรัฐ ในการเจรจาครั้งนั้น ฮอลันดาเสนอให้มีการจัดตั้งจักรภพแห่งอินโดนีเซีย ประกอบด้วยดินแดนที่มีการปกครองตนเองในระดับต่างๆ และจะให้สัญชาติอินโดนีเซียกับผู้ที่เกิดที่นั้น ขณะที่กิจการภายในก็จะให้มีการบริหารแบบประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้ง มีชาวอินโดนีเซียเป็นส่วนใหญ่ คณะรัฐมนตรีต้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในทางการเมือง มีผู้แทนของกษัตริย์ของเนเธอร์แลนด์หนึ่งเป็นหัวหน้า ภูมิภาคต่างๆของอินโดนีเซียจะรวมกันเป็นสหพันธ์ จักรภพจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรฮอลันดา แต่การเจรจาหลายต่อหลายของฮอลันดาและอินโดนีเซียไม่ประสบความสำเร็จ เกิดความชักงักงันในการเจรจาที่จะทำให้ฮอลันดากลับมาครอบครองอินโดนีเซียมากขึ้น จนเกิดข้อพิพาทกันระหว่างฮอลันดาและอินโดนีเซีย ทำให้การเจรจาไม่สามารถเจรจาไปต่อได้ปัญหาดำเนินมาถึงสหประชาชาติ ในที่สุดคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติที่ถูกบีบบังคับจากนานาชาติ ปฏิบัติตามข้อตกลงของอินเดียและออสเตรเลีย ออกคำสั่งให้มีการหยุดยิง และแต่งตั้งคณะกรรมการระหว่างชาติประกอบด้วยตัวแทนจากออสเตรเลีย เบลเยี่ยม สหรัฐอเมริกา มาประชุมเพื่อตัดสินข้อพิพาท โดยการตกลงทั้งสองฝ่ายยอมรับโดยมีการหยุดยิง กำหนดเขตปลอดทหาร และจัดตั้งสหรัฐอินโดนีเซีย แต่ทว่าการตกลงก็ไม่ได้เป็นไปตามคาดหวัง เพราะการเจรจาฮอลันดาเสียเปรียบ และทำผิดข้อตกลงโดยการละเมิดข้อตกลงการหยุดยิงก่อน และข้อกล่าวหาของฮอลันดาก็ได้รับความเชื่อถือจากสหประชาชาติมากกว่า โดยใช้เรื่องคอมมิวนิสต์ที่โลกเสรีในช่วงเวลานี้กำลังหวาดกลัวอยู่เป็นข้ออ้าง ที่ทำให้อินโดนีเซียในขณะนั้นกำลังถูกครอบงำโดยคอมมิวนิสต์ และฮอลันดากำลังพยายามอย่างยิ่งที่จะกวาดล้างคอมมิวนิสต์อย่างจริงจัง แต่กระนั้นความวุ่นวายก็ไม่จบลงเสียที สุดท้ายสหประชาชาติได้เป็นตัวกลางเข้ามายุติข้อพิพาทนี้อีกครั้ง โดยสั่งให้หยุดยิงและขอให้ฮอลันดาคืนยอร์กยาเมืองหลวงของอินโดนในรัฐชวากลาง ต่อมายังมีความวุ่นเกิดขึ้นหลายต่อหลายครั้งในดินแดนเกาะอื่นๆของอินโดนีเซีย โดยการดิ้นรนของฮอลันดาเพื่อรักษาอำนาจเหนืออินโดนีเซียที่ผ่านมาหลายครั้งนั้นล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง ทำให้ชาติต่างๆไม่พอใจและหันมาสนับสนุนอินโดนีเซียแทน
ต่อมาเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม ค.ศ. 1949 ได้มีการจัดประชุมนานาชาติที่กรุงเฮก เพื่อจัดการโอนอำนาจอธิปไตยมีผู้มาร่วมประชุมจากทุกฝ่าย โดยรัฐบาลฮอลันดายินยอมคืนอำนาจทั้งหมดให้แก่ประชาชนชาวอินโดนีเซีย และในเดือนธันวาคม ได้มีการจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวสำเร็จโดยมี ซูการ์โน เป็นประธานาธิบดี โมฮัมเมด ฮัตตา เป็นนายกรัฐมนตรี และจัดตั้งขึ้นเป็นสหพันธรัฐ โดยฮอลันดาลงนามยอมรับว่าอินโดนีเซียเป็นเอกราชและเป็นรัฐที่มีอำนาจเต็มที่
หลังจากได้รับเอกราชอย่างแท้จริงอินโดนีเซียก็ได้ก้าวสู่ยุคใหม่ ที่สามารถปกครองตนเองได้ และมีปัญหาสำคัญอีกมากมายรออยู่ข้างหน้าเพื่อรอการแก้ไข โดยเฉพาะเรื่องความหลากหลายของเชื้อชาติในอินโดนีเซีย ประเทศที่เต็มไปด้วยหมู่เกาะ ซึ่งปัญหาแรกทั้งซูการ์โนและผู้คนจำนวนมากเชื่อว่าคือการรวมความเป็นหนึ่งเดียวกัน ก่อนสำรวจความแตกต่างในสังคมอินโดนีเซีย และความท้าทายต่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันก็ควรมองมาที่พื้นฐานของความเป็นหนึ่งเดียว คือ ความคิดในเรื่องปัญจสีลา กฏบัญญัติ 5 ข้อที่ ซูการ์โนนำเสนอองค์การสำรวจและก็เป็นที่ยอมรับในเวลาต่อมาว่าเป็นพื้นฐานปรัชญาของอินโดนีเซียที่เป็นเอกราช เป็นสัญลักษณ์ของเครื่องหมายแห่งชาติ เป็นตัวแทนของยุคสมัยใหม่ ความคิดแรกๆ ที่พยายามรวบรวมอินโดนีเซียให้เป็นหนึ่งเดียวนั้นคือ ประเพณีชวาที่มีอิทธิพลสำคัญโดยเฉพาะอย่างชาวประชาชนเชื้อสายชวา กระแสความคิดต่อมาคือ ประเพณีมุสลิมที่ขัดแย้งกับแนวคิดความประพฤติบางอย่างของกฏอาดัทหรือกฎหมายและขนบธรรมเนียมพื้นเมืองในหลายๆภูมิภาคของอินโดนีเซีย ที่ไม่ได้เกิดปัญหาเพียงเฉพาะบนเกาะชวาเท่านั้น กระแสดความคิดที่สามคือ การเกิดประเพณีตะวันตกพร้อมกับกระแสความคิดต่างๆในตัวเอง โดยทั้งหมดนั้นมาจากอิทธิพลความคิดอินโดนีเซียที่มีการส่งผ่านต่อกันมา ตั้งแต่การเข้ามาของชาวตะวันตกเก่าแก่ที่สุดคือศาสนาคริสต์ ในการเข้ามาครั้งนี้มีการเผยแผ่เข้าไปยังหลายๆพื้นที่ในหมู่เกาะของอินโดนีเซีย
ในเรื่องของความแตกต่างระหว่างเขตเป็นความแตกต่างกันระหว่างเขตที่อยู่ในแต่ละหมู่เกาะของอินโดนีเซีย คือ ตั้งแต่ในสมัยโบราณความสำคัญจะต้องเริ่มต้นจากชวามาก่อน นับตั้งแต่อาณาจักรศรีวิชัย และมัชปาหิต ที่ต่อมาสร้างความริษยาต่อชาวชวา จนทำให้เกิดความเกลียดชังระหว่างกัน ทั้งในมณฑลต่างๆ หรือชนกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ต่อมาเป็นเรื่องการแบ่งแยกในหมู่ชนชั้นสูงที่แบ่งชนชั้นทางสังคมยังเป็นปัญหาอีกรูปแบบหนึ่งของการจะรวมให้อินโดนีเซียเป็นหนึ่งเดียวท่ามกลางความหลากหลายเป็นความท้าทายอย่างยิ่งสำหรับซูการ์โนที่ต้องเข้ามาดูแลเรื่อง เพื่อให้อินโดนีเซียเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันโดยไม่มีการแบ่งกันในเวลาต่อมา
ต่อมาในปี ค.ศ. 1965 นายทหารชั้นผู้ใหญ่ 6 คนของกองทัพอินโดนีเซียถูกลักพาตัวและสังหารโดยกลุ่มที่ใช้ชื่อว่า “G30S” ได้เข้ายึดสถานีวิทยุและประกาศว่าการสังหารนายทหารผู้ใหญ่ทั้ง 6 คนนั้นเป็นไปเพื่อปกป้องซูการ์โนจากการถูกรัฐประหาร แต่ทว่าการป้องกันเหล่านั้นไม่ประสบความสำเร็จ ต่อมา มีผู้นำกองทัพอินโดนีเซียนามว่านายพลซูฮาร์โต สั่งกองทัพให้เข้ายึดสถานีวิทยุ และใช้วิธีการโฆษณาชวนเชื่อผ่านสื่อต่างๆ ว่าพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียพยายามทำรัฐประหารและสังหารนายทหารระดับสูงทั้ง 6 คน รวมไปถึงผู้นำและสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียถูกกองทัพและกลุ่มมุสลิมจับกุมและสังหาร ในช่วงเวลาแห่งการกวาดล้างพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียนั้น ประมาณกันว่ามีผู้ถูกสังหารประมาณ 200,000 ถึงมากกว่า 1 ล้านคน จนประเทศเข้าสู่ภาวะไร้เสถียรภาพอย่างรุนแรง จนประธานาธิบดีซูการ์โนต้องมอบอำนาจการบริหารประเทศให้แก่นายพลซูฮาร์โต และได้มาเป็นประธานาธิบดีคนที่ 2 ของอินโดนีเซีย
ค.ศ. 1965 นายพลซูฮาร์โต ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีคนที่ 2 ของอินโดนีเซีย โดยในยุคนี้ถูกเรียกว่า “ยุคระเบียบใหม่” (New Order) โดยรัฐบาลมีจุดมุ่งหมายสำคัญไม่เพียงการพัฒนาการเมืองการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย แต่เป็นการสร้างเสถียรภาพทางการเมือง ซูฮาร์โตเชื่อว่า ถ้าหากการเมืองสงบนิ่งรัฐบาลที่อยู่ในอำนาจมั่งคงก็จะทำให้การบริหารประเทศนำมาซึ่งประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนไม่ต้องกังวลในเรื่องความวุ่นวายทางการเมืองอย่างที่เคยเป็นมาในอดีตโดยความมีเสถียรภาพทางการเมืองที่นายพลซูฮาร์โตได้มานั้นไม่ได้มาจากประชาชน โดยการบริหารประเทศนั้นดำเนินด้วยการบริหารเข้าสู่ศูนย์กลาง นายพลซูฮาร์โตมีอำนาจเบ็ดเสร็จเหนือ กองทัพ ระบบราชการ และพรรคการโกลคาร์ (Golkar) ซึ่งมีฐานะเป็นพรรคการเมืองหลักของอินโดนีเซียในยุคนั้น รัฐบาลของซูฮาร์โตใช้อำนาจเผด็จการโดยการปราบปรามกลุ่มที่แข็งข้อต่อรัฐบาล โดยเฉพาะขบวนการคอมมิวนิสต์และขบวนการแบ่งแยกดินแดน ตลอด 30 กว่าปีที่ผ่านด้วยการปกครองแบบเผด็จการได้สร้างความเปลี่ยนหลายอย่างให้กับอินโดนีเซียโดยเฉพาะทางด้านเศรษฐกิจที่ทำให้ผู้คนในหลายๆเกาะของอินโดนีเซียร่ำรวยขึ้นอย่างมากในช่วง ทศวรรษที่ 1980-1990 อย่างเช่น บนเกาะกาลิมันตันตะวันออก อาเจะห์ และ อิเรียนจายา เริ่มแสดงความไม่พอใจที่รัฐบาลส่วนกลางนั้นได้เข้ามาแทรกแซงและควบคุมกิจการภายในของประเทศมากเกินไป ทำให้ผู้คนจำนวนมากที่อยู่ห่างไกลจากศูนย์บนเกาะชวานั้นเกิดความรู้สึกไม่พอใจ ต่อการกำหนดทิศทางการพัฒนาพื้นที่ของต้น และในที่สุดวิกฤตเศรษฐกิจครั้งรุนแรงในภูมิภาคเอเชียก็ผลักดันพลังจากภาคประชาชนโค่นล้มอำนาจนายพลซูฮาร์โต ในปี ค.ศ. 1998
ในปีเดียวกันความสั่นคลอนของอำนาจของรัฐบาลนายพลซูฮาร์โตด้วยพลังจากประชาชนที่พยายามแปลงยุคเผด็จการรวมศูนย์อำนาจให้มาเป็นการปกครองที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น รวมไปถึงการเรียกร้องให้มีการกระจายอำนาจสู่การปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆในอินโดนีเซีย แต่การขยายอำนาจไปยังท้องถิ่นก็นำมาสู่ความขัดแย้งอื่นๆที่ตามอีก คือความขัดแย้งในเรื่องชาติพันธ์ุ ศาสนา และการแบ่งแยกดินแดน จนกลายเป็นจุดเปลี่ยนแปลงสำคัญของอินโดนีเซียที่ต้องกลับมาคิดทบทวนกันใหม่ว่ารูปแบบการปกครองแบบใดที่จะสามารถรวมอินโดนีเซียที่มีความหลากหลายเข้าด้วยกันได้โดยไม่เกิดความขัดแย้งอีกต่อไปในรัฐบาลยุคถัดมา คือ ยุคปฏิรูปการปกครอง หลังจากการครองอำนานยาวจากจากนายพลซูฮาร์โต นับตั้งแต่ปี 1998
มีการพิจารณากฎหมายฉบับใหม่เกิดขึ้นมาเป็นการเริ่มต้นของกระบวนการกระจายอำนาจและการสถาปนาการปกครองท้องถิ่นของอินโดนีเซีย (ทวีศักดิ์ เผือกสม, 2555, หน้า 281) แต่ทว่ากฎหมายทั้งสองฉบับที่นำออกมาเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองสู่การกระจายอำนาจจากส่วนกลางสู่ท้องถิ่นนั้นกลับสร้างปัญหาอย่างหนักให้กับรัฐบาล เพราะ รัฐบาลท้องถิ่นเกิดการทุจริตใช้เงินซื้อตำแหน่ง และต่อรองผลประโยชน์ทางนโยบายการเมืองระดับท้องถิ่น การเลือกตั้งที่ไม่สุจริต เป็นต้น จนถึงปี ค.ศ. 2004 การดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดี นางเมกาวาตี ซูการ์โน บุตรี มีความพยายามแปลงการบริหารประเทศอีกครั้งเพื่อให้ประเทศมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น และกำหนดให้มีการเลือกตั้งในส่วนท้องถิ่น มีการเลือกตั้งอย่างเสรี ยุติธรรม
ในปี ค.ศ. 2014 นายโจโค วิโดโด เข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี คนที่ 7 ของอินโดนีเซีย ได้รับการคัดเลือกจากการเลือกตั้ง เป็นประธานาธิบดีคนแรกของอินโดนีเซียที่ไม่ได้มาจากสายสัมพันธ์ทางการเมือง หรือเป็นกลุ่มทุนรายใหญ่ หรือจะเป็นกลุ่มทางทหารเดิม ซึ่งการเข้ามาดำรงตำแหน่งครั้งนี้ของนายโจโค วิโดโด ไม่เพียงเข้าเพื่อทำให้ความหลากหลายของอินโดนีเซียมีความเข้าใจและยั่งยืนมากยิ่งขึ้น แต่รัฐบาลนี้ก็ต้องเข้ามาพัฒนาความมีเสถียรภาพทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น รวมถึงเรื่องพยายามปรับเปลี่ยนรูปแบบการปกครองส่วนท้องถิ่นให้ดียิ่งขึ้น ภายใต้ความเปลี่ยนของโลก และเศรษฐกิจโลกที่มีความผันผวน ในช่วงปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำกันทั่วทั้งโลกอีกด้วย เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่สร้างความท้าทายให้กับผู้นำคนใหม่ของอินโดนีเซียอย่างยิ่ง
บรรณานุกรม
ทวีศักดิ์ เผือกสม. (2555). ประวัติศาสตร์อินโดนีเซีย รัฐจารีตบนหมู่เกาะ ความเป็นสมัยใหม่แบบอาณานิคมและสาธารณรัฐแห่งความหลากหลาย. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ.
มิลตัน ออสบอร์น. (2544). เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สังเขปประวัติศาสตร์. กรุงเทพฯ: ตรัสวิน.
เอลซา ไซนุดิน. (2557). ประวัติศาสตร์อินโดนีเซีย. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.
Brown, C. (2003). A Short History of Indonesia: athe Unlikely Nation. Singapore: South Wind Productions.
Miles H. Hodges. (2014). WHAT IS TO BE DONE WITH THE WEST'S EMPIRES OR COLONIES IN ASIA IN THE WAKE OF THE COLLAPSE OF THE JAPANESE EMPIRE. Retrieved from Kings Academic: http://www.kingsacademy.com/mhodges/index.html
Nusantara, G. (2011, July 2). The Ancient Kingdoms of the Indonesian Archipelago . Retrieved from Geografika Nusantara: http://keith-travelsinindonesia.blogspot.com/2011/07/ancient-kingdoms-of-indonesian.html
Roberts, G. (2014, October 20). Widodo to become Indonesian president today. Retrieved from ABC News: http://www.abc.net.au/am/content/2014/s4110226.html