อินโดนีเซีย - ชาติพันธุ์



          อินโดนีเซียตั้งอยู่บนภาคพื้นคาบสมุทรของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภูมิประเทศประกอบด้วยหมู่เกาะกว่า 17,508 เกาะ อุดมไปด้วยทรัพยากรทางธรรมชาติ คือ น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน ทองแดง นิกเกิ้ล ดีบุก ทอง เงิน แร่เหล็ก ทรัพยากรทางทะเล และพืชเศรษฐกิจสำคัญ เช่น กาแฟ ยางพารา ยาสูบ ปาล์มน้ำมัน โกโก้ และข้าวโพด เป็นต้น (เปรมใจ วังศิริไพศาล และคณะ ,บรรณาธิการ, 2556:39) มีเกาะขนาดใหญ่จำนวน 5 เกาะ คือ ชวา สุมาตรา กาลิมันตัน สุลาเวสี และปาปัว  มีประชากรทั้งประเทศราว 249.9 ล้านคน (Data, 2016)  กระจายตัวอาศัยในหมู่เกาะต่างๆประมาณ 6,000 เกาะ มีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 1,000 กลุ่ม(Jesudas M.Athyal,Editor, 2015:116)  มีภาษามากกว่า 250 ภาษา ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม

           จากข้อมูลในปีค.ศ.2000 แสดงให้เห็นว่าชาวชวาเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดประมาณ 95.217 ล้านคน (Wikepedia, 2559) จำแนกได้เป็น 3 กลุ่มตามวิถีความเชื่อ และสถานภาพทางสังคม คือ

    1.กลุ่มคนชั้นสูงหรือปรียายี แต่เดิมหมายถึง กลุ่มเจ้านายและข้าราชสำนัก ปัจจุบันหมายถึง ผู้มีการศึกษาสูง ข้ารัฐการ รวมถึงเจ้าหน้าที่ผู้ปกครองท้องที่ ส่วนใหญ่อาศัยในเขตเมือง เป็นที่เคารพของคนทั่วไป เชื่อในความเชื่อเก่าแก่ของชวาที่ผสมผสานระหว่างความเชื่อในอำนาจเหนือธรรมชาติ ฮินดู พุทธ และอิสลาม เข้าด้วยกัน นิยมในศิลปดนตรีแบบชวา เช่น โขน หนังตะลุง มโหรีชวา (สีดา สอนศรี และคณะ, 2548:6-7)                            

    2.กลุ่มคนมุสลิมที่เคร่งครัดหรือซันตรี เป็นคนชวาที่นับถือศาสนาอิสลามอย่างเคร่งครัด มักมีอาชีพค้าขายและเป็นเจ้าของที่ดิน จึงมีฐานะดี นิยมศิลปะการแสดงและดนตรีแบบอาหรับหรือตะวันออกกลาง(สีดา สอนศรี และคณะ, 2548:6-7)                            

    3. กลุ่มคนชั้นล่างในสังคมหรืออาบังงัน อาศัยในชนบท เป็นคนกลุ่มใหญ่ที่มีฐานะยากจน ใช้แรงงาน ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง ต้องเช่าหรือเป็นแรงงานรับจ้างในไร่นา  โอกาสทางการศึกษาน้อย (สีดา สอนศรี และคณะ, 2548:6-7)

          จำนวนประชากรรองลงมาจากชาวชวา คือชาวซุนดา 36.701 ล้านคน ชาวบาตัก 8.466 ล้านคน ชาวมาดูรา 7.719 ล้านคน ชาวเบอตาวี 6.807 ล้านคน ชาวมีนังกาเบา 6.462 ล้านคน ชาวบูกิส 6.359 ล้านคน ชาวมาเลย์ 5.365 ล้านคน ชาวบันเติน 4.657 ล้านคน ชาวอาเจะห์ 4.091 ล้านคน ชาวบาหลี 3.946 ล้านคน ชาวดายัก 3.099 ชาวจีน 2.832 ล้านคน ชาวปาปัว 2.693 ล้านคน และ ชาวโมลุกกะ 2.203 ล้านคน เป็นต้น (Wikepedia, 2559)

           อินโดนีเซียเป็นประเทศหมู่เกาะขนาดใหญ่มีชาติพันธุ์หลากหลาย หลักการของรัฐในการดำรงชีวิตร่วมกันของกลุ่มชาติพันธุ์และกลายเป็นคำขวัญสำคัญในตราแผ่นดิน เพื่อธำรงไว้ซึ่งความมั่นคงของประเทศมีการประกาศไว้ตั้งแต่สมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จนกระทั่งปัจจุบันคือ “ภินเนกา ตุงกัล อีกา” (Bhinneka Tunggal Ika) หรือ “เอกภาพท่ามกลางความหลากหลาย” (Unity in  diversity) (ภูวดล ทรงประเสริฐ, 2539:2)

           ด้านการเมืองการปกครอง  รัฐได้ประกาศใช้หลัก “ปัญจศีลา หรือ ปัญจศีล” คือ หลัก 5 ประการ อันประกอบด้วย 1.ความเชื่อในพระเจ้าสูงสุดเพียงองค์เดียว 2.มานุษยนิยม คือ ประชาชนที่มีอารยธรรมและความยุติธรรม 3. ชาตินิยม คือ เอกภาพของอินโดนีเซีย (อรอนงค์ ทิพย์พิมล, 2555) 4.อำนาจอธิปไตยของปวงชน 5.ความยุติธรรมในสังคม (ลีเฟอร์ ไมเคิล, 2548:364) หลักการดังกล่าวมีขึ้นตั้งแต่ก่อนการได้รับเอกราชของอินโดนีเซียจากดัชต์หรือเนเธอร์แลนด์ โดยปรากฏในสุนทรพจน์ของซูการ์โน ต่อคณะกรรมการสืบสวนเพื่อเตรียมการเป็นเอกราชเมื่อ 1 มิถุนายน ค.ศ.1945 ที่ก่อตั้งขึ้นโดยการสนับสนุนของญี่ปุ่น (ลีเฟอร์ ไมเคิล, 2548:364)   

           ภายใต้คำขวัญและหลักในการบริหารประเทศที่ให้ความสำคัญกับการดำเนินชีวิตร่วมกันของประชาชนท่ามกลางความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ภาษา และศาสนา ประเด็นปัญหาความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์มีปรากฏขึ้นในบางระยะ ล้วนนำมาซึ่งความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน  อาทิเช่น ปัญหาความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชนพื้นเมืองกับกลุ่มชาวจีน และปัญหาการเรียกร้องเอกราชของชาวอาเจะห์ เป็นต้น

 

ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชนพื้นเมืองกับกลุ่มชาวจีน

             ประเด็นปัญหาความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชนพื้นเมืองกับกลุ่มชาวจีน เป็นผลสืบเนื่องจากสมัยอาณานิคม ที่ดัตช์เข้ามามีอำนาจเหนือหมู่เกาะอินโดนีเซีย และให้โอกาสแก่ชาวจีนในการพัฒนาสถานภาพทางเศรษฐกิจ ขณะที่ชาวพื้นเมืองถูกกีดกันและไม่ได้รับสิทธิ์(ภูวดล ทรงประเสริฐ, 2540:92)  กระทั่งต่อมาสมัยประธานาธิบดีซูการ์โน ในทศวรรษที่ 1960-1970 เป็นช่วงที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หวั่นเกรงภัยคอมมิวนิสต์ ชาวจีนในอินโดนีเซียกลายเป็นเหยื่อของความหวาดกลัวภัยดังกล่าว ได้รับความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาตั้งแต่ช่วงสมัยอาณานิคมกระทั่งหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ชาวจีนถูกมองว่าเป็นกลุ่มคนส่วนน้อยที่กุมอำนาจทางเศรษฐกิจเหนือชนพื้นเมือง ภายใต้ทัศนคติดังกล่าวชาวจีนในอินโดนีเซียถูกกวาดล้างอย่างรุนแรง กระทั่งนำไปสู่การตัดความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างอินโดนีเซียและจีนในที่สุด

            สมัยอาณานิคม ความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้าระหว่างดัตช์และชาวจีนเกิดขึ้นภายหลังการก่อตั้งบริษัทอินเดียตะวันออก หรือ The Dutch East Indies : VOC ใน ค.ศ.1602 โดยการลงทุนร่วมกันระหว่างราชสำนักและภาคเอกชนของดัตช์ กองเรือดัตช์ได้ประสานประโยชน์กับชาวจีนที่ตั้งหลักแหล่งบนหมู่เกาะอินโดนีเซียก่อนการเข้ามาของดัตช์อย่างช้าตั้งแต่ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 14  โดยเฉพาะผู้นำชุมชนชาวจีนฮกเกี้ยนที่สามารถผูกขาดเศรษฐกิจท้องถิ่นของเมืองท่าต่างๆทั้งในเกาะชวาและเกาะรอบนอกอื่นๆได้อย่างมั่นคง เมื่อดัตช์เข้ายึดครองเมืองปัตตาเวียจึงมีชาวจีนเหล่านี้เป็นผู้ส่งเสบียงอาหาร ล่าม และไส้ศึก เมื่อยึดได้แล้วดัตช์ได้หันมาทำลายระบบการค้าผูกขาดเครื่องเทศของพ่อค้าชาวจีน กระทั่งต้นคริสศตวรรษที่ 17 สถานะทางการค้าของชาวจีนถูกทำลายจนไม่สามารถเป็นคู่แข่งของดัตช์ได้ (ภูวดล ทรงประเสริฐ, 2540:91)  

            ส่วนการพัฒนาเศรษฐกิจการค้าในเกาะชวา ดัตช์ยังคงให้ความสำคัญกับการประสานผลประโยชน์ร่วมกับชาวจีน โดยการเปิดโอกาสให้ปลูกพืชต่างๆและสามารถทำธุรกิจการค้าได้อย่างเสรี ในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 17 มีโรงงานน้ำตาลของชาวจีนถึง 130 โรงงาน มีการนำเข้าแรงงานชาวจีนโดยการกวาดต้อนของเจ้าอาณานิคมเพื่อขายเป็นแรงงานให้แก่ผู้ประกอบการชาวจีน ขณะที่ชาวพื้นเมืองไม่ได้รับสิทธิ์ในการประกอบธุรกิจดังกล่าว ทั้งนี้ในระยะต่อมาแรงงานชาวจีนจึงมีโอกาสในการเลื่อนฐานะทางเศรษฐกิจเป็นพ่อค้าคนกลางกระทั่งก้าวขึ้นเป็นผู้ประกอบการได้ในที่สุด ส่วนชุมชนชาวจีนตามเมืองต่างๆในหมู่เกาะอินโดนีเซีย ลงหลักปักฐานสร้างครอบครัวมีทายาทที่เป็นลูกครึ่งระหว่างชนพื้นเมืองและชาวจีนเรียกว่า  “บาบา” ตามแบบชาวจีนฮกเกี้ยน หรือ “เปรานากัน” ตามแบบชาวอินโดนีเซีย(ภูวดล ทรงประเสริฐ, 2540:96)   

             ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ชาวจีนจากแผ่นดินใหญ่อพยพเข้าสู่หมู่เกาะอินโดนีเซียเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นจีนแคะ กวางตุ้ง แต้จิ๋ว ชาวพื้นเมืองมักเรียกชาวจีนเหล่านี้ว่า “โตต็อก” มีความแตกต่างจาก “เปรานากัน” ทั้งเรื่องทัศนคติในการดำรงชีวิตประจำวันและภาษาพูด เมื่อเข้าสู่ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 อุดมการณ์ชาตินิยมแผ่ขยายอย่างรวดเร็วในสังคมเปรานากันและโตต็อก เกิดโรงเรียนสอนภาษาจีนขึ้นทั่วหมูเกาะอินโดนีเซีย แม้ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นสามารถทำลายกองกำลังดัตช์และเข้ายึดครองอินโดนีเซียแทนในปีค.ศ.1942 แต่การเรียนการสอนภาษาจีนในพื้นที่ต่างๆ ยังคงมีอยู่ตามปกติ โตต็อกกลายเป็นผู้มีบทบบาทในการพัฒนาการเรียนการสอนและเผยแพร่อุดมการร์ชาตินิยมและอุดมการณ์คอมมิวนิสต์  ในหมู่เกาะอินโดนีเซียภายใต้การสนับสนุนโดยพรรคก๊กมินตั๋งและพรรคคอมมิวนิสต์จีน(ภูวดล ทรงประเสริฐ, 2540:98)  

             เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง เป็นช่วงเวลาเดียวกับการประสบความสำเร็จในการเรียกร้อง     เอกราชของอินโดนีเซีย ตลอดช่วงระยะเวลาดังกล่าว ขณะที่ชาวพื้นเมืองต่อสู้เพื่อเอกราชจากเจ้าอาณานิคมทั้งดัตช์และญี่ปุ่น ชาวจีนที่มีสายสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับดัตช์ยังคงวางตัวเป็นกลางทางการเมืองและประกอบธุรกิจของตนอย่างต่อเนื่องจึงสามารถพัฒนาศักยภาพทางเศรษฐกิจให้มั่งคั่งมากขึ้น ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวปรากฏชัดในการเข้าครอบครองกิจการที่เคยเป็นของดัตช์ภายหลังการเป็นเอกราชของอินโดนีเซีย  

             อินโดนีเซียยุคเอกราชภายใต้การนำของซูการ์โน ยังคงประสบกับข้อจำกัดต่างๆที่สืบทอดจากสมัยอาณานิคม ปัญหาทัศนคติระหว่างชาวพื้นเมืองกับชาวจีนก็เช่นกัน กลุ่มเปรานากันและโตต็อกเข้าควบคุมกิจการสินค้าการเกษตรที่เคยอยู่ภายใต้ความดูแลของดัตช์ ขณะที่ธุรกิจการธนาคาร ธุรกิจน้ำมัน ธุรกิจคมนาคมขนส่ง และไปรษณีย์ ถูกยึดเข้าเป็นกิจการของรัฐแต่กลับเป็นช่องทางให้ชาวจีนมีโอกาสตักตวงผลประโยชน์จากธุรกิจดังกล่าว แม้ว่ารัฐบาลจะออกนโยบายเพื่อเอื้อประโยชน์แก่ชาวพื้นเมืองในการผูกขาดการนำเข้าสินค้า เรียกว่า ระบบเบ็นเต็ง แต่ระบบดังกล่าวไม่ประสบความสำเร็จนัก เนื่องจากเกิดขึ้นท่ามกลางความวุ่นวายการช่วงชิงอำนาจทางการเมืองและความผันผวนทางเศรษฐกิจภายในประเทศ  ทั้งยังมีชาวพื้นเมืองบางกลุ่มร่วมมือกับชาวจีนจดทะเบียนการค้า เพื่อนำเข้าสินค้าตามสิทธิชาวพื้นเมืองที่รัฐบาลมอบให้ จึงเป็นช่องทางให้ชาวจีนได้เข้าไปมีผลประโยชน์แสวงหากำไรจากช่องทางดังกล่าว เรียกการกระทำดังกล่าวว่า อาลี – บาบา โดย อาลี หมายถึงชาวพื้นเมือง ส่วน บาบา หมายถึง ลูกครึ่งจีน (ภูวดล ทรงประเสริฐ, 2540:101)  

            ในปลายทศวรรษที่1960 บริบททางสังคมทั้งภายในประเทศและในระดับโลกเปลี่ยนแปลงไป ในระดับประเทศทั้งการเมืองและเศรษฐกิจเกิดความวุ่นวายเกิดการคอรัปชั่นขนานใหญ่  ชนชั้นนำเริ่มถูกมองในแง่ลบ แต่ผู้ที่ถูกทำให้กลายเป็นเหยื่อกลับกลายเป็นชาวจีนที่เป็นเจ้าของธุรกิจต่างๆในประเทศ การหวั่นเกรงภัยคอมมิวนิสต์และความตึงเครียดในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วทั้งประเทศ ส่งผลให้ชาวจีนยิ่งถูกเกลียดชังจากชาวพื้นเมืองทั้งในเขตเมืองหลวงและในเขตชนบท โดยเฉพาะในเขตชนบทชาวจีนถูกทำลายทั้งชีวิตและทรัพย์สิน กิจการที่เป็นของชาวจีนถูกทำลาย ชาวจีนในเขตชนบทต้องขายกิจการ ทิ้งทรัพย์สินไว้ในชนบทแล้วอพยพเข้ามาอยู่ในเขตเมือง แต่ก็ยังไม่ปลอดภัยนัก  แม้ว่ารัฐบาลจีนจะทำการประท้วงรัฐบาลอินโดนีเซียหลายครั้ง ท้ายที่สุดรัฐบาลจีนได้ส่งกองเรือของตนมารับชาวจีนในอินโดนีเซียกับไปยังแผ่นดินแม่และตัดสัมพันธ์ทางการทูตทุกรูปแบบกับอินโดนีเซียในปีค.ศ. 1967 (ภูวดล ทรงประเสริฐ, 2540:107)

            ในช่วงปลายทศวรรษที่ 1960 เป็นช่วงที่ซูการ์โนกำลังถูกริดรอนและหมดอำนาจทางการเมือง โดยการแทรกแซงจากกองทัพบก ภายใต้การนำของ พลตรีซูฮาร์โต อินโดนีเซียขณะนั้นเกิดความผันผวนทางเศรษฐกิจและการเมือง เกิดการจลาจลทำลายล้างคอมมิวนิสต์และชาวจีนอย่างขนานใหญ่ เหตุการณ์ดังกล่าวยังถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างความชอบธรรมให้กับอำนาจทางการเมืองของพลตรีซูฮาร์โต ที่จะขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีในปีค.ศ.1967 (ภูวดล ทรงประเสริฐ, 2540:107)

             เมื่อเข้าสู่ยุคของประธานาธิบดีซูฮาร์โต นักธุรกิจชาวจีนพยามก่อร่างสร้างตัวขึ้นจากการมีสายสัมพันธ์กับผู้นำทางการเมือง โดยเฉพาะครอบครัวของซูฮาร์โตและครอบครัวนายทหารคนสำคัญของกองทัพบกในขณะนั้น เพื่ออาศัยอำนาจบุคคลเหล่านี้เข้าแทรกแซงตลอดจนผูกขาดการทำธุรกิจต่างๆให้หน่วยงานรัฐ นักธุรกิจชาวจีนเหล่านี้จึงกลายเป็นผู้ทรงอิทธิพลทางเศรษฐกิจ และมีโอกาสเข้าร่วมงานกับรัฐบาลเพื่อแก้ปัญหาทางสังคมของผู้มีเชื้อสายจีนในอินโดนีเซีย โดยเข้าเป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการพิเศษเกี่ยวกับกิจการจีน และคณะกรรมการบริหารองค์กรติดต่อเกี่ยวกับกิจการจีน ทำงานร่วมกับนายทหารสำคัญในกองทัพและข้าราชการพลเรือนชั้นสูง กระทั่งสามารถหาทางออกเกี่ยวกับปัญหาสถานภาพทางเชื้อชาติและสัญชาติของชาวจีน โดยการออกกฤษฎีกาคำสั่งยกเลิกสนธิสัญญาเกี่ยวกับปัญหาคนสองสัญชาติตั้งแต่ค.ศ.1955 เพื่อเอื้อประโยชน์ให้ชาวจีนได้รับสัญชาติและมีสถานเป็นคนอินโดนีเซียอย่างถูกต้องตามกฎหมาย รัฐบาลยังบังคับใช้นโยบายกลืนกลาย เช่น ชาวจีนต้องเปลี่ยนชื่อเป็นภาษาอินโดนีเซีย ห้ามเผยแพร่ประเพณีจีนทุกรูปแบบในที่สาธารณะ เป็นต้น บทบาทของชาวจีนในทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นตลอดระยะเวลาที่ซูฮาร์โตดำรงตำแหน่งทางการเมือง กระทั่ง รัฐบาลอินโดนีเซียและจีนได้ฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูต ในปีค.ศ.1990  (ภูวดล ทรงประเสริฐ, 2540:107)

             ต่อมาในปีพ.ศ.1998 เกิดเหตุจลาจลครั้งใหญ่เพื่อต่อต้านอำนาจทางการเมืองของประธานาธิบดีซูฮาร์โต ทั้งยังเกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของกลุ่มชาวจีนอีกครั้ง เนื่องจากความไม่พอใจในความแตกต่างของฐานะทางเศรษฐกิจ มีรายงานผู้เสียชีวิตชาวจีนกว่า 1,000 รายและในท้ายที่สุดในปีเดียวกันประธานาธิบดีซูฮาร์โตได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม ค.ศ.1998 จึงทำให้ความวุ่นวายดังกล่าวเริ่มสงบลง ถือเป็นการสิ้นสุดอำนาจทางการเมืองที่มีมายาวนานกว่า 32 ปี

             กล่าวได้ว่าชาวจีนในอินโดนีเซียตั้งแต่ช่วงอาณานิคมกระทั่งภายหลังได้รับเอกราช เป็นกลุ่มคนที่มีบทบาททางเศรษฐกิจเหนือชาวพื้นเมืองมาโดยตลอด ก่อให้เกิดความรู้สึกที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างชาวพื้นเมืองกับชาวจีน ส่งผลให้ชาวจีนกลายเป็นเหยื่อของความความรุนแรงอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและการเมืองในอินโดนีเซียในแต่ละครั้ง  แม้ว่าในปัจจุบันรัฐบาลอินโดนีเซียอนุญาตให้วัฒนธรรมจีนเป็นที่เปิดเผยต่อสาธารณะมากขึ้น ให้ใช้ชื่อแซ่แบบจีนได้แต่สิ่งสำคัญที่สุดที่ชาวจีนคาดหวังจากผู้นำทางการเมือง ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งล่าสุดเมื่อปีค.ศ.2014 คือการนำมาซึ่งสันติภาพและความยุติธรรมแก่กลุ่มชาติพันธ์ที่แม้ว่าจะเป็นชนกลุ่มน้อยในประเทศ แต่ก็มีจำนวนมากถึง 10 ล้านคนโดยประมาณ(Christine Franciska, 2557)

 

ปัญหาการเรียกร้องเอกราชของชาวอาเจะห์

           อาเจะห์เป็นจังหวัดหนึ่งของอินโดนีเซีย อยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของสุมาตรา มีภาษาเป็นของตนเอง ปัจจุบันเขียนด้วยตัวอักษรโรมัน มีประชากรหลายชาติพันธุ์อาศัยอยู่ อาทิเช่น กลุ่มอาเจะห์ กลุ่มกาโย กลุ่มอานุก จาเม กลุ่มตาเมียง กลุ่มคลุท เป็นต้น  ชาวอาเจะห์ถือเป็นมุสลิมที่เคร่งครัดมาก ศาสนาอิสลามเข้าสู่อาเจะห์ตั้งแต่ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 8 นอกจากนี้ยังเข้าสู่อินโดนีเซียผ่านทางดินแดนแห่งนี้ จึงนับได้ว่า      อาเจะห์คือ “ทวารสู่เมกกะ” (วิทยา สุจริตธนารักษ์ และ สุภาค์พรรณ ขันชัย, 2546:3-4)    

            ชาวอาเจะห์มีประวัติการต่อสู้มาเป็นเวลายาวนานตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 14 ในการต่อสู้เพื่อขจัดอำนาจของโปรตุเกสที่เข้ายึดครองมะละกาในปีค.ศ.1586 และการต่อสู้เพื่อดินแดนของตนเองเมื่อครั้งที่ดัตช์พยายามเข้ายึดครองเป็นอาณานิคม ในปีค.ศ.1873 ดังข้อความที่ว่า “อาเจะห์มีอำนาจเข้มแข็งและรุ่งเรือง จนกระทั่งฮอลันดาไม่อาจจะปล่อยให้เป็นรัฐอิสระอีกต่อไปได้” (เต็งกู ฮาซัน เอม ดิติโร่, 2543:42) สุลต่านและประชาชนชาวอาเจะห์ต่อสู้กับดัตช์อย่างไม่ย่อท้อ ไม่เคยยอมจำนนและไม่เคยทำสัญญาสงบศึก การต่อสู้ในปีดังกล่าวอาเจะห์ได้รับชัยชนะ แม้ว่าในปีค.ศ.1903 สุลต่านจะประกาศยอมจำนนต่อเจ้าอาณานิคม แต่การต่อสู้ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องกระทั่งปี ค.ศ.1942 เป็นการต่อสู้ครั้งสุดท้ายในการขับไล่ดัตช์ออกจากดินแดนอาเจะห์ (สุพรรณี กาญจนัษฐิติ, 2543) นับเป็นระยะเวลายาวนานเกือบศตวรรษที่ชาวอาเจะห์ต่อสู้กับเจ้าอาณานิคมตะวันตกเพื่อรักษาความเป็นรัฐอิสระของตนเอง

           เมื่อสิ้นสุดยุคอาณานิคมภายใต้อำนาจของดัตช์ อาเจะห์ถูกส่งต่อให้อยู่ภายใต้การดูแลของชวาอย่างไม่เต็มใจ อย่างไรก็ตามในระยะต่อมาเมื่ออินโดนีเซียประกาศเอกราชและสถาปนาชื่อประเทศเป็น สาธารณรัฐอินโดนีเซีย อาเจะห์ยังคงเป็นรัฐอิสระไม่ได้ถูกควบคุมแต่อย่างใดและให้การสนับสนุนอินโดนีเซียเป็นอย่างดี (วิทยา สุจริตธนารักษ์ และ สุภาค์พรรณ ขันชัย, 2546:55)

            ในวันที่ 1 มกราคม ค.ศ.1950 อาเจะห์ได้กลายเป็นจังหวัดหนึ่งของสาธารณรัฐอินโดนีเซีย และด้วยความผันผวนทางการเมืองในปีต่อมา อาเจะห์สิ้นสถานะการเป็นจังหวัดและกลายเป็นส่วนหนึ่งของจังหวัด สุมาตราเหนือ ทั้งรัฐบาลกลางยังลดบทบาททางทหารและอำนาจทางการเมืองโดยการโยกย้ายนายทหารชั้นผู้ใหญ่ ลดกำลังจากระดับกองพันเป็นกองร้อย ทำให้อาเจะห์ไม่สามารถปกครองตนเองได้ ภายใต้สภาพการดังกล่าวอาเจะห์เริ่มไม่พอใจรัฐบาลกลาง เมื่อมีการนำคนนอกเข้าไปปกครองอาเจะห์ (วิทยา สุจริตธนารักษ์ และ สุภาค์พรรณ ขันชัย, 2546:60)

              การต่อสู้เพื่อเอกราชปรากฏขึ้นชัดเจนในวันที่ 21 กันยายน ค.ศ.1953 ในนามกลุ่มดารุสอิสลาม ประกาศสถาปนา “รัฐอิสลามแห่งอินโดนีเซีย” ขึ้น นำโดย ดาอุด เบอเรอเอะห์ ผู้นำทางศาสนาคนสำคัญของอาเจะห์ แม้ว่าในระยะต่อมาประธานาธิบดีซูการ์โนจะยอมรับหลักการให้อาเจะห์เป็นพื้นที่พิเศษ มีอิสระในการปกครองตนเองด้านศาสนา การศึกษา และวัฒนธรรม แต่ท่าทีดังกล่าวของรัฐบาลไม่ได้ทำให้ชาวอาเจะห์เชื่อใจมากขึ้นและกลับไม่ไว้วางใจว่ารัฐบาลมีความจริงใจที่จะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น (เมธัส อนุวัตรอุดม, 2555:12)

              ในปีค.ศ.1971 อาเจะห์กลายเป็นแหล่งตักตวงผลประโยชน์ที่สำคัญจากรัฐบาลกลางและนักธุรกิจชาวชวา เนื่องจากมีการค้นพบน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่สามารถทำรายได้อยากงอกงามให้แก่บุคคลกลุ่มดังกล่าว ขณะที่ชาวอาเจะห์ได้รับผลประโยชน์เพียงน้อยนิด (เมธัส อนุวัตรอุดม, 2555:12) จากสภาพความเป็นอยู่ที่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากบุคคลภายนอก จึงนำไปสู่การประกาศอิสรภาพ ในวันที่ 4 ธันวาคม ค.ศ.1976 โดย แนวปลดปล่อยแห่งชาติอาเจะห์ สุมาตรา  ออกคำประกาศอิสรภาพโดย ดร.เต็งกู ฮาซัน เอม ดิติโร่ เป็นผู้ลงนาม บุคคลดังกล่าวผู้สืบเชื้อสายมาจากครูสอนศาสนาอิสลามที่มีชื่อเสียงของอาเจะห์ และอดีตสุลต่านแห่งอาเจะห์ในอดีต การประกาศนี้ทำให้ชาวอาเจะห์ตระหนักในความเป็นชาติที่มีประวัติศาสตร์มายาวนานและพร้อมที่จะลุกขึ้นสู้เพื่อปกป้องความเป็นอิสระของตนเอง (เต็งกู ฮาซัน เอม ดิติโร่, 2543:53)

              เมื่อเข้าสู่ยุคประธานาธิบดีซูฮาร์โต อาเจะห์และรัฐบาลได้ใช้กำลังเผชิญหน้ากันทางทหาร เนื่องจากเกิดขบวนการอาเจะห์เอกราช (Gerakan Aceh Merdeka – GAM หรือ Free Acehnese Movement 1976-1989) โดยในปี 1976 เรียกขบวนการนี้ว่า แนวปลดปล่อยแห่งชาติอาเจะห์ สุมาตรา ขณะที่รัฐบาลกลางมีอำนาจทางทหารที่เข้มแข็ง ประกาศให้อาเจะห์เป็นพื้นที่ปฏิบัติการทางทหารในปีค.ศ.1989  เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็นการทรมาน อุ้มฆ่า และข่มขืน มีผู้เสียชีวิตราว 1,000-3,00 คน สูญหาย 900-1,400 คน เมื่อความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินเกิดขึ้น ชาวอาเจะห์จึงหันมาให้การสนับสนุนการเคลื่อนไหวของขบวนการอาเจะห์เอกราช  หรือ GAM  และเข้าเป็นแนวร่วมมากขึ้น เป็นการสร้างเงื่อนไขให้กลุ่มขบวนการมีความแข็งแกร่งมากขึ้น แม้ว่าในสมัยต่อมา ประธานาธิบดีบีเจ ฮาบีบี มีการยกเลิกการใช้กำลังทางทหารและกล่าวคำขอโทษต่อชาวอาเจะห์ แต่สถานการณ์ความรุนแรงยังคงมีอยู่เป็นระยะ แม้ว่าจะมีการนัดเจราจาแต่ก็ไม่เป็นผล

              ต่อมาในสมัยประนาธิบดีอับดุล เราะห์มาน วาฮิด สถานการณ์ในการเจรจาเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น วาฮิด แสดงท่าทีสนับสนุนการลงประชามติในอาเจะห์ โดยกล่าวว่า “ในเมื่อประชาชนชาวติมอร์ตะวันออกทำการลงประชามติกันได้ อาเจะห์ก็น่าจะทำได้เช่นกัน”  นอกจากนี้อาเจะห์ยังได้รับข้อเสนอจากรัฐบาลกลางให้มีสถานภาพพิเศษ (วิทยา สุจริตธนารักษ์ และ สุภาค์พรรณ ขันชัย, 2546:119-120) จากความพยายามของภาครัฐและ GAM นำไปสู่ข้อตกลงยุติความเป็นปฏิปักษ์ (Cessation of  Hostilties Agreement - CoHA) เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม ค.ศ.2002 ณ กรุงเจนีวา แต่ภายใน 5 เดือนหลังจากนั้น เมื่อเข้าสู่สมัยของประธานาธิบดีเมกาวาตี ซูการ์โนบุตรี มีการประกาศกฏอัยการศึก และใช้กำลังทหารเข้าปราบปรมกลุ่ม GAM ครั้งใหญ่ในอาเจะห์อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน มีการจับกุมคุมขังด้วยวิธีการนอกกฏหมาย การสูญหายและการอุ้มฆ่า  แต่ในท้ายที่สุดทั้งสองฝ่ายสามารถเจรจาและร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจข้อตกลง (Memorandum of Understanding - MOU) ณ กรุงเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ.2005 นำไปสู่การถอนกำลังทหารของรัฐบาลออกจากพื้นที่  ทั้งนี้ในข้อตกลงยังระบุว่า GAM ยอมยกเลิกข้อเรียกร้องเพื่อแยกตัวเป็นเอกราชและปลดอาวุธกองกำลังของตัวเอง  ถือเป็นการยุติความขัดแย้งรุนแรงในอาเจะห์ที่มีมายาวนานกว่า 30 ปี (อรอนงค์ ทิพย์พิมล, 2553:270) ทั้งยังนำไปสู่การจัดการปกครองตนเองของอาเจะห์ในรูปแบบเขตปกครองพิเศษอีกด้วย  

            ภายหลังการลงนามในบันทึกดังกล่าว กลุ่ม GAM ยังคงมีการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง โดยการจัดตั้งพรรคการเมืองในนามพรรคอาเจะห์ หรือ PA (Partai Aceh)  เพื่อลงสมัครในการเลือกตั้งทั่วไปของอินโดนีเซียเมื่อวันที่ 9 เมษายน ค.ศ.2009 ทั้งยังได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากประชาชนถึงร้อยละ 99.99 เนื่องจากมีความเชื่อมั่นว่าพรรคPA ยังคงยึดมั่นในอุดมการณ์อาเจะห์เอกราช(อรอนงค์ ทิพย์พิมล, 2553:270) แม้ว่าปัจจุบันปัญหาการเรียกร้องเอกราชของชาวอาเจะห์จะยุติลง แต่อุดมการณ์ในความต้องการเป็นรัฐเอกราชนั้นยังคงอยู่ หากแต่ไม่มีการใช้ความรุนแรงในการเรียกร้องอย่างที่เคยเป็นมา   

           อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ สภาพภูมิประเทศเป็นหมู่เกาะ อาจเป็นอุปสรรคของรัฐบาลกลางในการเข้าถึงประชาชนในแต่ละพื้นที่ นอกจากปัญหาความขัดแย้งด้านชาติพันธุ์แล้วยังมีปัญหาความขัดแย้งด้านศาสนา อาทิเช่น ความขัดแย้งระหว่างชาวคริสต์และมุสลิมในโมลุกกะ อาเจะห์ และ ปาปัว  ทั้งนี้เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในแต่ละครั้งไม่ว่าจะเป็นด้านชาติพันธุ์หรือศาสนา เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นความเข้าใจและศักยภาพในการแก้ปัญหาของรัฐบาล ภายใต้คำขวัญของประเทศที่มีมาก่อนการเป็นเอกราชของอินโดนีเซียว่า “เอกภาพท่ามกลางความหลากหลาย” แต่ในท้ายที่สุดยังคงพบปัญหาความขัดแย้งในประเด็นของความหลากหลายเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ความคาดหวังในการแก้ปัญหาจึงตกอยู่กับผู้นำรัฐบาลอินโดนีเซียคนปัจจุบัน คือ ประธานาธิบดีโจโก วีโดโด ที่ได้ให้สัญญาแก่ชาวอินโดนีเซียในช่วงก่อนการดำรงตำแหน่งว่าจะตรวจสอบโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคม ค.ศ.1988 และจะต่อสู้เพื่อสิทธิของชนกลุ่มน้อย    

 

บรรณานุกรม

    ภูวดล ทรงประเสริฐ. (2539). อินโดนีเซีย : อดีตและปัจจุบัน. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

    ภูวดล ทรงประเสริฐ. (2540). ชาวจีนในอินโดนีเซีย. สังคมศาสตร์ปริทัศน์, 87-114.

    เมธัส อนุวัตรอุดม. (2555). กระบวนการสันติภาพอาเจะห์ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย. กรุงเทพมหานคร: บริษัท ธรรมดาเพรส จำกัด.

    วิทยา สุจริตธนารักษ์. (2548). ผู้นำอินโดนีเซีย. ใน สีดา สอนศรี และคณะ, ผู้นำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้:ศึกษาเฉพาะประเทศอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ มาเลเซีย และไทย (หน้า 1-76). กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

    ลีเฟอร์ ไมเคิล. (2548). พจนานุกรมการเมืองสมัยใหม่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

    วิทยา สุจริตธนารักษ์ และ สุภาค์พรรณ ขันชัย. (2546). อดีตและอนาคตของอะเจห์. กรุงเทพมหานคร: บริษัท กรีน พริ้นท จำกัด.

    เปรมใจ วังศิริไพศาล และคณะ ,บรรณาธิการ. (2556). กระแสเอเชีย 2012/2555. กรุงเทพมหานคร: สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหสวิทยาลัย.

    อรอนงค์ ทิพย์พิมล. (2553). อาเจะห์วันนี้ : สี่ปีหลังข้อตกลงสันติภาพ ความหวาดระแวงระหว่างผู้คนในสังคมยังคงอยู่. ใน สุเจน กรรพฤทธิ์ และ สิทธา เลิศไพบูลย์ศิริ, อุษาคเนย์ที่รัก (หน้า 267-275). กรุงเทพมหานคร.

    เต็งกู ฮาซัน เอม ดิติโร่. (2543). รัฐอาเจะห์แห่งสุมาตรากับลัทธิอาณานิคม. ศิลปวัฒนธรรม, 38-53.

    สุพรรณี กาญจนัษฐิติ. (2543). Aceh (ประวัติย่อของอาเจะห์). ศิลปวัฒนธรรม, 38-53.

    Jesudas M.Athyal,Editor. (2015). Religion in Southeast Asia. California.

    Christine Franciska. (02 กรกฎาคม 2557). New voting power of Chinese Indonesians. เรียกใช้เมื่อ 21 มีนาคม 2559 จาก BBC: http://www.bbc.com/news/world-asia-27991754

    Data. (2016). เรียกใช้เมื่อ 09 กุมภาพันธ์ 2016 จาก The Worldbank: http://data.worldbank.org/indicator/SP.POP.TOTL

    http://mono29.mthai.com. (13 พฤศจิกายน 2558). ความขัดแย้งทางศาสนาในอินโดนีเซีย. เรียกใช้เมื่อ 23 มีนาคม 2559 จาก mono29: https://goo.gl/5uWCUj

    Wikepedia. (2559). Ethnic group in Indonesia. เรียกใช้เมื่อ 03 มีนาคม 2559 จาก Wikepedia: https://en.wikipedia.org/wiki/Ethnic_groups_in_Indonesia

    อรอนงค์ ทิพย์พิมล. (2555). เอกภาพท่ามกลางความหลากหลาย. เรียกใช้เมื่อ 02 มีนาคม 2559 จาก ประชาไท บล็อกกาซีน: http://blogazine.pub/blogs/onanong/post/3658