กัมพูชา - ศิลปะการแสดง



ศิลปะการแสดงในกัมพูชาถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญต่อประเทศและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ท่วงท่าในการรำที่พบอยู่บนภาพจำหลักในปราสาทนครวัดล้วนแล้วแต่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวก่อให้เกิดเป็นท่ารำอันสวยงามของระบำอัปสรา ศิลปะการแสดงด้านนาฏศิลป์ในปัจจุบัน แม้ว่าไม่มีเอกสารหลักฐานใดที่สามารถชี้แจงได้ถึงที่มาอันถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดนาฏศิลป์ในกัมพูชา แต่ในขณะเดียวกันสันนิษฐานว่าเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยนครพนมในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 1-6 ของกัมพูชา ดังที่ชัยวัฒน์ เสาทอง ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า “นาฏศิลป์กัมพูชามีหลักฐานปรากฏตั้งแต่สมัยพระนคร (ค.ศ. 540-800) เช่น รูปปั้นดินเหนียวสมัยนครบุรี เป็นรูปบุคคลร่ายรำ และจารึกที่กล่าวถึง “คนรำ” เป็นภาษาเขมร ในจารึกสมัยพระนคร (ค.ศ.825 จนถึงราวคริสต์ศตวรรษที่ 14) พบคำสันสกฤตอ่านว่า “ภาณิ” หมายถึงการแสดงเล่าเรื่อง และหากดูภาพสลักจำนวนมากในปราสาทหินต่างๆของขอม ไม่ต้องสงสัยเลยว่าในอาณาจักรขอมมีการร่ายรำ การแสดง เป็นเรื่องปกติธรรมดาสำหรับการบันเทิงในราชสำนักและประชาชน ในจารึกที่กล่าวถึงข้าพระที่ประจำศาสนสถานนั้นมักมี “คนรำ” ประจำอยู่ด้วย นาฏศิลป์กัมพูชาโบราณน่าจะได้รับอิทธิพลอินเดียเป็นพื้น ทั้งยังมีการพัฒนาสืบต่อมาจนรุ่งโรจน์ไม่แพ้ศิลปวิทยาการด้านอื่นๆ” (ชัยวัฒน์ เสาทอง, 2548:40)

ผู้มีคุณูปการในการสืบทอดและดำรงไว้ซึ่งศิลปะการแสดงด้านนาฏศิลป์ในกัมพูชาคนสำคัญ คือ สมเด็จพระมหากษัตริยานีกุสุมะนารีรัตน์ พระราชมารดาของสมเด็จพระนโรดม สีหนุ พระองค์ทรงเป็นผู้ที่ชาวกัมพูชายกย่องให้เปรียบเสมือนพระราชมารดาด้านนาฏศิลป์ ดังข้อความที่ปรากฏอยู่ในหนังสือระบำขแมร์ ซึ่งแปลมาจากภาษาเขมรโดยตรง ความว่า “พระองค์ได้ทรงบำเพ็ญมหาพลีกรรมอันยิ่งใหญ่ ทรงทุ่มเทพระพลังกาย โดยไม่เห็นแก่ความเหนื่อยอ่อน และทรงบริจาคทรัพย์อย่างมากมายเพื่อส่งเสริม และแนะนำให้มีผลงานการศึกษาค้นคว้าและจดบันทึกเพื่อยกสถานะวัฒนธรรมกัมพูชาให้สูงส่ง” (เพชร ตุมกระวิล, 2548) ทั้งยังทรงเป็นผู้ริเริ่มการแสดงระบำอัปสรา อันจัดอยู่ในระบำพระราชทรัพย์ หรือ ระบำเขมรโบราณ โดยมีสมเด็จพระเรียมนโรดม บุปผาเทวี พระราชธิดาของสมเด็จพระนโรดมสีหนุ ได้รับเลือกเป็นนางอัปสราตัวเอกองค์แรกของชาวกัมพูชา ทั้งนี้การแสดงระบำอัปสรายังถือเป็นการแสดงที่มีคุณูปการต่อการเรียกร้องเอกราชของชาวกัมพูชาจากฝรั่งเศส ผ่านทางการที่สมเด็จพระนโรดม สีหนุ นำการแสดงชุดดังกล่าวอันถือว่ามีความเกี่ยวโยงกับความรุ่งเรืองของนครวัดในอดีต ไปจัดแสดงยังทวีปยุโรปและอเมริกาเหนือ เพื่อเรียกร้องเอกราชจากฝรั่งเศส (สุจิตต์ วงษ์เทศ, 2556)   

ปัจจุบันศิลปะการแสดงด้านนาฏศิลป์ประเภทระบำในกัมพูชามีการจำแนกออกเป็น 3 กลุ่ม คือ

1. ระบำท่วงท่าขแมร์โบราณ หรือ ระบำพระราชทรัพย์ คือ ระบำที่มีในราชสำนัก เช่น ระบำอัปสรา ระบำเทพมโนรมย์ ระบำจูนโปร์ ระบำมุนีเมขลา ระบำสุวรรณมัจฉา เป็นต้น (เพชร ตุมกระวิล, 2548)  

2. ระบำประเพณีขแมร์ คือ ระบำที่จัดแสดงคู่กับงานประเพณีต่างๆ เช่น ระบำกั๊วะอังเร ระบำเนสาทระบำแสนโภลย ระบำตรุษ ระบำเนียงเมว ระบำเบ๊ะกรอวาน ระบำกะงอกไพลิน ระบำกรอเบ็ยเผิกสรา ระบำกันแตแร เป็นต้น (เพชร ตุมกระวิล, 2548)

3. ระบำประชาปริยขแมร์ คือ ระบำพื้นบ้านเขมร เช่น การรำวงภูมิทะเม็ย เป็นต้น (เพชร ตุมกระวิล, 2548)

แม้ว่าในช่วงเวลาหนึ่งที่ชาวกัมพูชาทั้งประเทศจะต้องเผชิญกับโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ภายใต้การปกครองของเขมรแดงตั้งแต่ปี ค.ศ.1975-1979 ส่งผลให้ศิลปะการแสดงด้านนาฏศิลป์ในกัมพูชาได้รับความเสียหายอย่างหนักด้วยการทุบทำลาย รวมถึงนักแสดงชายที่เรียกว่า ศิลปกร และนักแสดงหญิงที่เรียกว่า ศิลปการิณี ส่วนมากถูกสังหารในช่วงเวลาดังกล่าว เนื่องจากถูกมองว่าเป็นมรดกของศักดินา แต่หากว่าเป็นนักแสดงที่ได้รับความนิยมในกลุ่มเขมรแดงก็จะสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้และทำการแสดงต่างๆ ตามที่กลุ่มเขมรแดงต้องการชม แต่กระนั้นก็ตามเมื่อความวุ่นวายภายในประเทศสิ้นสุดลงหลังจากปีค.ศ.1993 ศิลปะการแสดงประเภทนาฏศิลป์ต่างๆ โดยเฉพาะระบำพระราชทรัพย์ ยังคงได้รับการสืบทอดและเป็นที่นิยมจวบจนกระทั่งปัจจุบันโดยเฉพาะระบำอัปสรา (เพชร ตุมกระวิล, 2548)

บรรณานุกรม

    เพชร ตุมกระวิล. (2548). ระบำขแมร์. บุรีรัมย์: โรงพิมพ์วินัย.

    ชัยวัฒน์ เสาทอง. (1 พฤษภาคม 2548). นาฏศิลป์กัมพูชา. ศิลปวัฒนธรรม, 26(7), 40-44.

    สุจิตต์ วงษ์เทศ. (5 พฤศจิกายน 2556). นาฏศิลป์กัมพูชากับไทย: สุจิตต์ วงษ์เทศ. เรียกใช้เมื่อ 26 กันยายน 2559 จาก เว็บไซต์ทางอีศาน: http://e-shann.com/?p=4917