กัมพูชา - ศาสนาและความเชื่อ



เป็นที่ทราบดีว่าชาวกัมพูชาส่วนใหญ่ถึงร้อยละ 96.9 เป็นศาสนิกชนในพระพุทธศาสนา รองลงมาคือศาสนาอิสลามราวร้อยละ 2 ศาสนาคริสต์ร้อยละ 0.4 (WIKIPEDIA The Free Encyclopedia, 2016) ขณะที่ข้อมูลจากหนังสือ Religion in Southeast Asia แสดงให้เห็นว่า มีพุทธศาสนิกชนราวร้อยละ 96 ในจำนวนนี้มีผู้นับถือพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทถึงร้อยละ 90 แต่กระนั้นก็ตามชาวกัมพูชาตั้งแต่อดีตจวบกระทั่งปัจจุบันยังคงมีความเชื่อในอำนาจลี้ลับเหนือธรรมชาติ มีการบูชาวิญญาณบรรพบุรุษผู้ล่วงลับ บูชาดิน น้ำ ลม ไฟ ภูเขา ต้นไม้ใหญ่ฯ (ศูนย์อินโดจีนศึกษา วิทยาลัยการบริหารรัฐกิจ มหาวิทยาลัยบูรพา, ม.ป.ป.:92) แม้ว่าในเวลาต่อมาดินแดนแห่งนี้จะได้รับอิทธิพลทางศาสนาพราหมณ์และพระพุทธศาสนา แต่ความเชื่อในอำนาจลี้ลับนั้นยังคงอยู่จวบจนกระทั่งปัจจุบันที่เราจะเห็นได้จากการประกอบพิธีกรรมในงานประเพณีต่างๆ อาทิ สารทเดือนสิบหรือแซนโฎนตาของชาวกัมพูชา  เป็นประเพณีที่กระทำเพื่ออุทิศให้บรรพบุรุษผู้ล่วงลับ

ทั้งนี้ตามความเชื่อดั้งเดิมของชาวกัมพูชามีความผูกพันอยู่กับบรรพบุรุษและมีความเคารพในบุพการีสูงมาก โดยพิจารณาจาก ความศรัทธาใน “เมบา” และ “เนียะตา” ซึ่งเป็นคำเรียกที่มีความเกี่ยวข้องกับผีบรรพบุรุษทั้งสิ้น โดยคำว่า เมบา คือผีบรรพบุรุษที่ชาวกัมพูชาให้ความเคารพนับถือ ซึ่งมีประวัติสืบเนื่องจากความเชื่อในสมัยนครพนมของกัมพูชา ที่ว่า ดินแดนแห่งนี้มีกษัตริย์เป็นผู้หญิงนามว่า โสมา ได้แต่งงานกับพราหมณ์ชื่อ โญฑัญญะ จึงเชื่อว่ากัมพูชามีรากฐานทางวัฒนธรรมแบบผู้หญิงเป็นใหญ่ ซึ่งเชื่อมโยงกับคำว่า เม อันหมายถึง แม่ หรือบรรพบุรุษผู้หญิง และ บา อันหมายถึง พ่อ หรือ บรรพบุรุษผู้ชาย ชาวกัมพูชาเชื่อว่าไม่ว่าจะประกอบกิจการงานสิ่งใดต้องบอกกล่าวให้เมบารู้ และหากกระทำการสิ่งใดผิดต้องทำพิธีเซ่นไหว้เพื่อขอขมาเมบา (นรเศรษฐ์ พิสิฐพันพร, 2557:18)

ส่วนเนียะตา เป็นผีบรรพบุรุษที่ทำหน้าที่ปกปักรักษาคุ้มครองลูกหลานในสายตระกูล จะต้องกระทำการเซ่นไหว้ทุกปีผ่านพิธีกรรมในงานประเพณีแซนโฎนตา แต่ในขณะเดียวกันชาวกัมพูชามีความเกรงกลัวเนียะตามาก โดยเฉพาะเนียะตาที่ชาวบ้านไม่คุ้นเคย เนื่องจากเชื่อว่าเนียะตาเป็นเจ้าของแผ่นดิน ผืนป่า หมู่บ้าน ซึ่งในบางพื้นที่ชาวบ้านจะไม่กล้าเข้าไปอยู่อาศัยเพราะไม่คุ้นเคยกับเนียะตาผู้เป็นเจ้าของพื้นที่ (นรเศรษฐ์ พิสิฐพันพร, 2557:20)

อย่างไรก็ตามความเชื่อและความศรัทธาในเมบาและเนียะตายังคงมีสืบทอดมาจวบจนกระทั่งปัจจุบัน แม้ว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาจะมีทั้งศาสนาพราหมณ์และพระพุทธศาสนา เข้ามาประดิษฐานยังดินแดนแห่งนี้ ทั้งยังมีการรับนับถือโดยพระมหากษัตริย์ทั้งยังมีการสร้างศาสนสถานเพื่ออุทิศถวายแด่เทพเจ้าและศาสดาของศาสนานั้นๆ

 

ศาสนาพราหมณ์

ศาสนาพราหมณ์ถือเป็นศาสนาเก่าแก่ในกัมพูชาแม้ว่าจะเข้ามามีอิทธิพลในกัมพูชาภายหลังความเชื่อในอำนาจลี้ลับเหนือธรรมชาติ แต่ศาสนาพราหมณ์ก็เป็นศาสนาที่ทรงอิทธิพลในช่วงระยะเวลาหนึ่งกระทั่งก่อให้เกิดศาสนสถานเป็นปราสาทน้อยใหญ่เพื่อบูชาเทพเจ้าของศาสนาดังกล่าว

จากหลักฐานทางศิลปกรรมและเอกสารต่างๆ ที่ค้นพบเป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นว่าศาสนาพราหมณ์ได้เข้าสู่ดินแดนแห่งนี้ตั้งแต่สมัยฟูนัน ในราวคริสต์ศตวรรษที่ 5 ทั้งนี้เป็นที่ทราบดีว่าศาสนาพราหมณ์ในกัมพูชานั้นแบ่งออกเป็น 2 นิกาย คือ ไศวนิกาย ซึ่งนับถือพระศิวะเป็นเทพเจ้าสูงสุด และ ไวษณพนิกาย ซึ่งนับถือพระนารายณ์หรือพระวิษณุเป็นเทพเจ้าสูงสุด (รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง และ ศานติ ภักดีคำ, 2557:43)

อย่างไรก็ตามการสร้างศาสนสถานเพื่ออุทิศถวายแด่องค์พระวิษณุยังพบไม่มากเท่าศาสนสถานที่สร้างเพื่ออุทิศถวายแด่พระศิวะ จวบกระทั่งสมัยของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ทรงมีความเลื่อมใสในพระวิษณุเป็นอย่างมาก จึงทรงสร้างปราสาทนครวัดเพื่ออุทิศถวายแด่พระวิษณุ และภายหลังที่พระองค์สิ้นพระชนม์ทรงได้รับพระราชสมญานามว่า บรมวิษณุโลก อันสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อที่ว่าเมื่อพระองค์ละจากโลกนี้ไปแล้วจะได้ไปรวมกับพระวิษณุ(รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง และ ศานติ ภักดีคำ, 2557:43)  

ในเวลาต่อมาเมื่อเข้าสู่สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ราว ค.ศ.1181 ศาสนาพราหมณ์เริ่มเสื่อมลงเนื่องจากองค์พระมหากษัตริย์ได้หันไปรับนับถือพระพุทธศาสนานิกายมหายาน และตามด้วยการเผยแพร่พระพุทธศาสนานิกายเถรวาทในดินแดนกัมพูชา จึงทำให้ศาสนาพราหมณ์ลดความสำคัญลงไปทุกขณะแม้ว่าจะยังคงมีอยู่จวบกระทั่งปัจจุบัน แต่ก็จะสังเกตได้ว่าปรากฏอยู่ในระดับราชสำนัก อาทิ พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ที่มีพราหมณ์เป็นผู้ดำเนินการประกอบพิธี แต่ในขณะเดียวกันมีความเกี่ยวข้องกับประชาชนน้อยกว่าความเชื่อดั้งเดิมและพระพุทธศาสนา(รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง และ ศานติ ภักดีคำ, 2557:45)    

 

พระพุทธศาสนา

พระพุทธศาสนาในกัมพูชาถือเป็นศาสนาหลักที่มีประชาชนเคารพนับถือถึงร้อยละ 96.9 ในจำนวนนี้เป็นศาสนิกชนในนิกายเถรวาทถึงร้อยละ 90 ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่าเพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนี้ ในข้อเขียนนี้กระทำได้เพียงการตั้งสมมติฐานว่าน่าจะเป็นผลสืบเนื่องมาจากพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทได้รับการอุปถัมภ์จากราชสำนักเช่นเดียวกันกับในประเทศไทย จึงส่งผลให้นิกายเถรวาทเป็นที่นิยมของประชาชนชาวกัมพูชา ซึ่งที่กล่าวมานี้เป็นเพียงข้อสมมติฐานเท่านั้น และยังต้องทำการศึกษาเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงต่อไป

แต่อย่างไรก็ตามการปรากฏตัวของพระพุทธศาสนามหายานในกัมพูชามีขึ้นตั้งแต่สมัยฟูนัน ที่มีศาสนาพราหมณ์ปรากฏขึ้นด้วยเช่นกัน ต่อมาในคริสต์ศตวรรษที่ 12 พระพุทธศาสนานิกายเถรวาทได้เผยแผ่เข้าสู่ดินแดนแห่งนี้ (ศูนย์อินโดจีนศึกษา วิทยาลัยการบริหารรัฐกิจ มหาวิทยาลัยบูรพา, ม.ป.ป.:93) และปักหลักอย่างมั่นคงซึ่งสะท้อนให้เห็นจากจำนวนประชากรกว่าร้อยละ 90 ที่รับนับถือนิกายดังกล่าว

แม้ว่าในช่วงที่กัมพูชาตกอยู่ภายใต้การปกครองของเขมรแดง ถือเป็นช่วงที่พระพุทธศาสนาในกัมพูชาตกต่ำอย่างที่สุด ประชาชนถูกบังคับให้ยกเลิกการนับถือศาสนา พระสงฆ์ถูกบังคับให้สึกและแต่งงานตลอดจนถูกฆาตกรรม วัดและศาสนสถานทางพระพุทธศาสนาถูกทำลาย (ยงยุทธ บุราสิทธิ์, 2557:72) แต่เมื่อสิ้นสุดยุคของเขมรแดงในปี ค.ศ.1979 พระพุทธศาสนาจึงได้รับการฟื้นฟูและเป็นที่เคารพจากรัฐบาลต่อมาจวบกระทั่งปัจจุบัน

พระพุทธศาสนามิได้มีบทบาทในทางธรรมเท่านั้นแต่ยังมีบทบาทในทางสังคมและการเมือง คือเป็นหลักในการดำรงชีวิตของประชาชนและการบริหารบ้านเมืองในบางระยะ อาทิ เฮง สัม ริน อดีตผู้นำกัมพูชาภายหลังยุคเขมรแดง ได้ยกย่องว่าพระพุทธศาสนาเป็นพลังทางศีลธรรมที่สำคัญในการสร้างสังคมใหม่ ขณะที่ในช่วงต่อมาเมื่อซอน ซาน ขึ้นเป็นผู้นำในรัฐบาลผสมกัมพูชาประชาธิปไตย เขาเชื่อมั่นว่า พระพุทธศาสนาอันเป็นรากฐานวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชาวกัมพูชา จะเป็นพลังอันสำคัญในการรวมชาติกัมพูชาให้เป็นหนึ่งเดียว นอกจากนี้อิทธิพลของพระพุทธศาสนาที่มีต่อชาวกัมพูชา (ยงยุทธ บุราสิทธิ์, 2557:74) ซึ่งทำให้ชาวโลกประจักษ์อย่างเป็นรูปธรรมคือ การกำหนดให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ แต่ขณะเดียวกันก็มิได้กีดกันประชาชนหากจะนับถือศาสนาอื่น

 

สรุป   

สำหรับหัวข้อศาสนาและความเชื่อในกัมพูชานี้ เป็นส่วนที่กล่าวถึงศาสนาและความเชื่อที่มีอยู่ในกัมพูชาอย่างพอสังเขป โดยเริ่มจากการกล่าวถึงความเชื่อดั้งเดิมของชาวกัมพูชาที่ยังมีความเคารพศรัทธาใน   เมบาและเนียะตา ซึ่งถือเป็นวิญญาณของบรรพบุรุษ แม้เมื่อระยะเวลาผ่านไปมีทั้งศาสนาพราหมณ์และพระพุทธศาสนา เข้ามามีอิทธิพลต่อความคิดความเชื่อของคนภายในประเทศ แต่ในขณะเดียวกันความเชื่อดั้งเดิมก็ยังคงอยู่ ดังนั้นศาสนาและความเชื่อในกัมพูชาจึงไม่สามารถแยกออกจากกันได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เนื่องจากยังมีความซ้อนทับกันระหว่างความเชื่อดั้งเดิมกับศาสนาพราหมณ์และพระพุทธศาสนา ซึ่งปรากฏเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนผ่านพิธีกรรมในประเพณีต่างๆ อาทิ ประเพณีแซนโฎนตา เพราะประเพณีดังกล่าวมีขึ้นเพื่อบูชาบรรพบุรุษผู้ล่วงลับ แต่ในขณะเดียวกันก็มีการทำบุญตักบาตรกับพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาด้วยความเชื่อว่าจะสามารถอุทิศบุญกุศลให้แก่วิญญาณบรรพบุรุษได้ ส่วนศาสนาพราหมณ์นั้นเป็นที่ตั้งข้อสังเกตได้ว่าจะมีบทบาทอยู่ในพระราชพิธีระดับราชสำนักและมีความเกี่ยวข้องกับชีวิตประชาชนน้อยมาก หากแต่ยังสามารถดำรงอยู่ได้ด้วยการมีพราหมณ์เป็นผู้ประกอบพิธีกรรมต่างๆ ซึ่งบางพิธีมีความสำคัญต่อทั้งราชสำนักและประชาชน อาทิ พระราชพิธีแรกนาขวัญ ที่มีการจัดขึ้นตั้งแต่อดีตจวบกระทั่งปัจจุบัน

บรรณานุกรม

    Jesudas M.Athyal,Editor. (2015). Religion in Southeast Asia : an encyclopedia of faiths and cultures. Santa Barbara, California: ABC-CLIO, LLC,.

    Religion in Cambodia. (10 September 2016). เรียกใช้เมื่อ 27 September 2016 จาก WIKIPEDIA The Free Encyclopedia Web site: https://en.wikipedia.org/wiki/Religion_in_Cambodia

    นรเศรษฐ์ พิสิฐพันพร. (2557). โลกทัศน์ของชาวเขมร. ใน เสาวภา พรสิริพงษ์, เรียนรู้ประเทศเพื่อนบ้าน:กัมพูชาในมิติทางสังคมวัฒนธรรม (หน้า 15-55). นครปฐม: สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล.

    ยงยุทธ บุราสิทธิ์. (2557). ความสัมพันธ์ทางพระพุทธศาสนา กัมพูชา-ไทย. ใน เสาวภา พรสิริพงษ์, เรียนรู้ประเทศเพื่อนบ้านกัมพูชาในมิติทางสังคมวัฒนธรรม (หน้า 57-103). กรุงเทพมหานคร: สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย.

    รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง และ ศานติ ภักดีคำ. (2557). ศิลปะเขมร. กรุงเทพมหานคร: มติชน.

    ศูนย์อินโดจีนศึกษา วิทยาลัยการบริหารรัฐกิจ มหาวิทยาลัยบูรพา. (ม.ป.ป.). ข้อมูลพื้นฐานราชอาณาจักรกัมพูชา. ชลบุรี: ศูนย์อินโดจีนศึกษา วิทยาลัยการบริหารรัฐกิจ มหาวิทยาลัยบูรพา.