กัมพูชา - พิพิธภัณฑ์
ปัจจุบันพิพิธภัณฑ์ในกัมพูชามีอยู่ราว 9 แห่ง ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในกรุงพนมเปญและเสียมเรียบ เป็นพิพิธภัณฑ์ของรัฐที่อยู่ภายใต้การดูแลของสถาบันอัปสราและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีทั้งพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่สะท้อนให้เห็นถึงความรุ่งเรืองของกัมพูชาในอดีต อาทิ พิพิธภัณฑ์แห่งชาติกัมพูชา พิพิธภัณฑ์แห่งชาตินครวัด และพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงเรื่องราวประวัติศาสตร์ทางการเมือง โศกนาฏกรรมในช่วงที่กัมพูชาอยู่ภายใต้การปกครองของเขมรแดง อาทิ พิพิธภัณฑ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์แห่งโตลสเลง พิพิธภัณฑ์กับระเบิด และพิพิธภัณฑ์สงครามกัมพูชา (ปณิตา สระวาสี, 2559)
นอกจากนี้ยังมี นครวัด และแหล่งโบราณสถานต่างๆ ที่นับเป็นไซต์มิวเซียม ถือเป็นแหล่งการเรียนรู้สำคัญของชาวกัมพูชารวมถึงนักท่องเที่ยวผู้สนใจศึกษาวิถีชีวิตศิลปวัฒนธรรมตลอดจนความเชื่อและศาสนาของชาวกัมพูชาในอดีต โดยเฉพาะนครวัด ถือเป็นโบราณสถานสำคัญและเป็นงานสถาปัตยกรรมชิ้นเอกของกัมพูชา สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 เพื่ออุทิศถวายแด่พระวิษณุ เป็นปราสาทที่มีอาณาบริเวณกว้างขวาง มีลักษณะพิเศษคือด้านหน้าปราสาทหันไปทางทิศตะวันตก ต่างจากศาสนสถานหลังอื่นในวัฒนธรรมเขมรที่นิยมหันไปทางทิศตะวันออก ซึ่งสันนิษฐานได้ว่าเนื่องจากทิศดังกล่าวมีความสัมพันธ์กับพระวิษณุ นอกจากนี้ นครวัด ยังมีภาพสลักเป็นเรื่องราวของพระวิษณุเป็นหลัก อาทิ สงครามกรุงลงกา พระวิษณุรบอสูร พระกฤษณะรบอสูรพาณ และรูปพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 พร้อมกับคำจารึกว่า พระบาทกัมรเตงอัญบรมวิษณุโลก ดังนั้นที่แห่งนี้จึงเป็นแหล่งเรียนรู้และพิพิธภัณฑ์ขนาดใหญ่ที่พื้นที่ทั้งหมดสามารถเป็นพิพิธภัณฑ์ได้ ไม่เพียงเฉพาะเป็นสถานที่เก็บรวบรวมสิ่งของเพื่อจัดแสดงเรื่องราวต่างๆ เท่านั้น หากแต่ทุกอย่างของนครวัดไม่ว่าจะเป็นสถาปัตยกรรม ศิลปกรรม ตัวโครงสร้างของศาสนสถาน และทุกสิ่งทุกอย่างที่นี่ล้วนเป็นพิพิธภัณฑ์อยู่ในตัวของตัวเองทั้งสิ้น
ขณะที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ (National Museum of Cambodia) ถือเป็นแหล่งการเรียนรู้ที่สำคัญทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของกัมพูชา เนื่องจากก่อตั้งโดย George Groslier นักโบราณคดีชาวฝรั่งเศส ผู้มีความสามารถทางด้านงานศิลปะและมีคุณูปการต่อวงการศิลปะกัมพูชาในการก่อตั้งสถาบันการสอนศิลปะในกัมพูชา ทั้งนี้พิพิธภัณฑ์ดังกล่าวตั้งอยู่ทางทิศเหนือของพระบรมหาราชวังจตุมุขมงคล ก่อตั้งขึ้นในปีค.ศ.1905 อาคารเป็นสถาปัตยกรรมแบบเขมร เดิมทีนั้นตามพระราชกฤษฎีกาของสมเด็จพระศรีสวัสดิ์(สีสุวัตถิ์) พิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีชื่อว่า “พิพิธภัณฑ์อัลแบร์ ซาโร” ตามชื่อของ Albert Sarraut อัครเทศาภิบาลฝรั่งเศสประจำอินโดจีนในสมัยนั้น แต่ภายหลังที่กัมพูชาได้รับเอกราชจากฝรั่งเศสเป็นระยะเวลา 8 ปี จึงเปลี่ยนชื่อเป็น “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ” ซึ่งปัจจุบันมีการจัดเก็บโบราณวัตถุจากโบราณสถานต่างๆ กว่า 15,000 ชิ้น ส่วนใหญ่เก็บรักษาไว้ในคลัง และคัดเลือกมาจัดแสดงเพียง 2,500 ชิ้น (ศานติ ภักดีคำ, 2556:99)
ส่วนศาสนสถานอันถือเป็นพิพิธภัณฑ์และศูนย์รวมความศรัทธาของชาวกัมพูชาอีกแห่งหนึ่งคือ พระเจดีย์เงิน (The Royal Palace’Silver Pagoda) หรือ วัดพระแก้ว สร้างขึ้นโดยสมเด็จพระนโรดม สีหนุ เมื่อปีค.ศ.1892 ตั้งอยู่ในเขตพระราชวังหลวง ลักษณะพิเศษคือพื้นของอาคารดังกล่าวปูลาดด้วยแผ่นเงินกว่า 5,000แผ่น แต่ละแผ่นหนักมากกว่า 1 กิโลกรัม ภายในวัดแห่งนี้ประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญคู่บ้านคู่เมือง 2 องค์ คือ พระแก้วมรกตสมัยศตวรรษที่ 17 และพระพุทธรูปทองคำบริสุทธิ์ 90 กิโลกรัม ประดับด้วยเพชร 9,584 เม็ด โดยมีเม็ดใหญ่ที่สุดหนักราว 25 กะรัต (ศูนย์อินโดจีนศึกษา วิทยาลัยการบริหารรัฐกิจ มหาวิทยาลัยบูรพา, ม.ป.ป.:103-104) ทั้งนี้ในช่วงที่กัมพูชาตกอยู่ภายใต้การปกครองของเขมรแดง สถานที่แห่งนี้ได้กลายเป็นที่เก็บรวบรวมสิ่งของต่างๆ กว่า 1,600 ชิ้น อาทิ พระบรมสารีริกธาตุ รูปสลักของพระพุทธเจ้าที่ทำจากหินและโลหะ ตลอดจนสิ่งของต่างๆ อีกมากมาย สถานที่แห่งนี้จึงมิได้เป็นเพียงวัดที่ประดิษฐานพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์เท่านั้น ในขณะเดียวกันยังเป็นสถานที่รวบรวมศาสนวัตถุที่สำคัญทางพระพุทธศาสนาของราชสำนักกัมพูชาอีกด้วย (Marilyn Seow and Laura Jeanne Gobal(ed), 2004:25)
นอกจากพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์อันทรงคุณค่าทางวัฒนธรรมของกัมพูชาแล้ว ในอีกทางหนึ่งยังมีพิพิธภัณฑ์ที่ให้คุณค่าต่อการตระหนักรู้เพื่อรำลึกถึงโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นในกัมพูชาภายใต้การปกครองของเขมรแดง ที่นำโรงเรียนมาทำเป็นคุกเพื่อคุมขังนักโทษทางการเมือง ซึ่งปัจจุบันกลายเป็น พิพิธภัณฑ์โตลเสลง (Tuol Sleng Genocide Museum) สถานที่แห่งนี้สร้างขึ้นในปี ค.ศ.1962 เดิมเคยเป็นโรงเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา แต่เมื่อกัมพูชาเข้าสู่ยุคมืดอันเป็นยุคที่อยู่ภายใต้การปกครองของเขมรแดงในช่วงปี ค.ศ.1975-1979 สถานที่แห่งนี้ถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นคุกเพื่อจองจำและสืบสวนสอบสวนนักโทษทางการเมือง ที่กลุ่มเขมรแดงเชื่อว่าทำการต่อต้านอำนาจการปกครองของตน ทั้งนี้ในปัจจุบันคุกโตลสเลง หรือ S-21 ที่ภาษาเขมรอ่านว่า ซอ มเภ็ยมวย กลายเป็นพิพิธภัณฑ์เพื่อจัดแสดงเรื่องราวชีวิตของนักโทษที่ถูกทรมานจนกระทั่งเสียชีวิตผ่านภาพวาด และเครื่องทรมานร่างกาย ที่ใช้งานจริงในช่วงที่สถานที่แห่งนี้ใช้จองจำนักโทษ ภายในสถานที่ดังกล่าวยังมีหัวกะโหลกและภาพของนักโทษผู้เสียชีวิตภายในคุกแห่งนี้ราว 20,000 คน (ศูนย์อินโดจีนศึกษา วิทยาลัยการบริหารรัฐกิจ มหาวิทยาลัยบูรพา, ม.ป.ป.:106)
ปัจจุบันแม้ว่ากัมพูชายังคงมีพิพิธภัณฑ์จำนวนไม่มากนักแต่ในขณะเดียวกันพิพิธภัณฑ์ที่มีอยู่จัดเป็นสถานที่ที่มีคุณูปการต่อการเรียนรู้ของชาวกัมพูชาและนักท่องเที่ยวผู้สนใจ ทั้งนี้ล่าสุดในปี ค.ศ.2015 กัมพูชาได้เปิดตัวพิพิธภัณฑ์ Angor Panorama มีเนื้อหาในการจัดแสดงเกี่ยวกับประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ของอาณาจักรเขมรในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 9-15 ผ่านรูปจำลองและภาพวาดขนาดใหญ่ แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นการเข้ามาลงทุนและออกแบบโดยมันซูแด สตูดิโอผลิตผลงานด้านศิลปะขนาดใหญ่ที่สุดในโลกของประเทศเกาหลีเหนือ มิใช่เป็นพิพิธภัณฑ์ที่ก่อตั้งโดยชาวกัมพูชาหากแต่ก่อตั้งในประเทศกัมพูชา ขณะที่รายได้ในระยะแรกทั้งหมดจะตกเป็นของสตูดิโอดังกล่าวแต่เพียงผู้เดียว จากนั้นสิบปีให้หลังรายได้จะตกเป็นของทั้งสองฝ่ายคือกัมพูชาและสตูดิโอ ส่วนในระยะที่สามพิพิธภัณฑ์แห่งนี้จะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของสถาบันอัปสรา ทั้งนี้สถาบันดังกล่าวได้เผยถึงความมุ่งหวังต่อพิพิธภัณฑ์น้องใหม่แห่งนี้ว่ามุ่งสร้างให้เป็นแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มาเข้าชมนครวัด แต่ในขณะเดียวกันระยะที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวเข้าชมเพียง 20 คนต่อวัน (ปณิตา สระวาสี, 2559) นี่จึงอาจกลายเป็นประเด็นปัญหาสำคัญที่ทางผู้สร้างพิพิธภัณฑ์และสถาบันอัปสราต้องตระหนักในความจริงข้อนี้เพื่อหาช่องทางในการเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวและช่องทางในการพัฒนารูปแบบการนำเสนอเรื่องราวเพื่อให้สามารถดึงดูดความสนใจจากนักท่องเที่ยวได้มากขึ้น
บรรณานุกรม
Marilyn Seow and Laura Jeanne Gobal(ed). (2004). MUSEUMS of Southeast Asia. Singapore: Archipelago Press.
ปณิตา สระวาสี. (25 มีนาคม 2559). ธุรกิจพิพิธภัณฑ์ในกัมพูชาของเกาหลีเหนือ. เรียกใช้เมื่อ 28 กันยายน 2559 จาก เว็บไซต์ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย: http://www.sac.or.th/databases/museumdatabase/blog_inside.php?id=2078
ศานติ ภักดีคำ. (2556). 100 เรื่องน่ารู้ในกัมพูชา. กรุงเทพมหานคร: อมรินทร์คอมมิกส์ อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง.
ศูนย์อินโดจีนศึกษา วิทยาลัยการบริหารรัฐกิจ มหาวิทยาลัยบูรพา. (ม.ป.ป.). ข้อมูลพื้นฐานราชอาณาจักรกัมพูชา. ชลบุรี: ศูนย์อินโดจีนศึกษา วิทยาลัยการบริหารรัฐกิจ มหาวิทยาลัยบูรพา.