กัมพูชา - ประเพณีพิธีกรรม



          งานประเพณีและพิธีกรรมถือเป็นสิ่งสำคัญที่สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิต ความคิดความเชื่อของคนในประเทศนั้นๆ งานประเพณีและพิธีกรรมในกัมพูชาก็เช่นกัน แม้ว่าในระยะหนึ่งดินแดนแห่งนี้เคยถูกทำลายได้รับความเสียหายอย่างมากโดยกลุ่มเขมรแดง แต่อย่างไรก็ตามงานประเพณีพิธีกรรมและวันสำคัญต่างๆ เช่น พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประเพณีสงกรานต์ เทศกาลน้ำ ยังคงมีการปฏิบัติสืบเนื่องจนกระทั่งปัจจุบัน และเป็นที่นิยมในหมู่ประชาชน ทั้งยังมีระยะเวลาในการจัดงานแตกต่างกันไป ส่วนประเพณีพิธีกรรมที่มีระยะเวลาในการจัดงานยาวนานที่สุดถึง 15 วัน คือ ประเพณีแซนโฎนตา อันถือเป็นประเพณีสำคัญที่สะท้อนให้เห็นการผสมผสานระหว่างความเชื่อในวิญญาณของบรรพบุรุษกับความศรัทธาในพระพุทธศาสนา  

          อย่างไรก็ตามงานประเพณีที่ได้ยกมากล่าวทั้งหมดนี้ล้วนมีปรากฏอยู่ในพระราชพิธีสิบสองเดือนทั้งสิ้น โดยเริ่มจากประเพณีสงกรานต์ มีขึ้นในเดือนห้าหรือเดือนเจตร ตรงกับเดือนเมษายน ส่วนพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ มีขึ้นในเดือนหกหรือเดือนพิสาขตรงกับเดือนพฤษภาคม ต่อมาคือแซนโฎนตา ปรากฏในพระราชพิธีสิบสองเดือนเรียกว่าพิธีสารทเดือนสิบ มีขึ้นในเดือนสิบหรือเดือนภัทรบทตรงกับเดือนตุลาคม ส่วนเทศกาลน้ำ มีขึ้นในเดือนสิบสองหรือเดือนกัตติกตรงกับเดือนพฤศจิกายน และในลำดับต่อไปจะเป็นการขยายความถึงภาพรวมของงานประเพณีและพิธีกรรมต่างๆ ข้างต้นพอสังเขป

 

สงกรานต์ : งานปีใหม่ของชาวกัมพูชา

          เทศกาลสงกรานต์ หรือ บน โจล ชนัม ทเม็ย แปลว่า บุญขึ้นปีใหม่ ถือเป็นเทศกาลสำคัญของชาวกัมพูชาทั้งยังปรากฏในพระราชพิธีสิบสองเดือน มีประวัติความเป็นมาตามความเชื่อในตำนานการตอบปัญหาธรรมระหว่างธรรมบาลกุมาลกับท้าวกบิลพรหมเช่นเดียวกับในประเทศไทย ปัจจุบันเทศกาลสงกรานต์ของชาวกัมพูชาจัดขึ้นเป็นเวลา 3 วัน วันที่หนึ่ง คือวันมหาสงกรานต์ หรือ ทไง มา ฮา ซ็อง กรานต์ วันที่สอง คือวันกลาง หรือ ทไง ก็อน ดาล วันที่สาม คือ ทไง เลิง ซ็อก หรือ วันเถลิงศก แต่ในบางปีเทศกาลนี้อาจมีถึง 4 วัน เนื่องจากขึ้นอยู่กับการโคจรของดวงจันทร์โดยจะมีการเพิ่มวันกลางอีกหนึ่งวัน (ไทยรัฐออนไลน์, 2559)

          เทศกาลสงกรานต์ในกัมพูชามีความคล้ายคลึงกับไทย เพราะเป็นวันปีใหม่ดั้งเดิมของท้องถิ่น ถือเป็นช่วงเวลาที่สมาชิกในครอบครัวได้กลับมาพบกันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา ก่อนถึงเทศกาลทุกคนในบ้านจะร่วมกันทำความสะอาดบ้านเรือนพร้อบตบแต่งให้สวยงามด้วยโคมไฟหลากสี มีการเตรียมเครื่องแต่งกายชุดใหม่ และที่สำคัญคือการเตรียมเครื่องเซ่นสรวงต่อเทวดา (สงกรานต์กัมพูชา วันปีใหม่แบบเขมร, 2559)  

          เมื่อเข้าสู่เทศกาลในวันแรก หรือ วันทไง มา ฮา ซ็อง กรานต์ จะมีพิธีสำคัญคือ พิธีสังเวยรับเทวดาใหม่ คาดว่าเวลาในการเริ่มพิธีมีขึ้นพร้อมกันทั่วประเทศโดยการรับสัญญาณผ่านโทรทัศน์วิทยุและเสียงระฆังจากวัดในหมู่บ้าน ซึ่งถือเป็นการให้สัญญาณว่าเทวดาใหม่ได้เสด็จมาเพื่อรับเครื่องสังเวยแล้วและจะสถิตย์อยู่เพื่อปกปักรักษาเป็นเวลา 1 ปี เริ่มจากการจุดเทียนธูปบูชาพระรัตนตรัย พรมน้ำอบแก่เครื่องเซ่นสังเวย และอธิษฐานขอพรจากเทวดา จากนั้นจะนำภัตตาหารไปถวายพระที่วัดรวมถึงขนทรายเข้าวัดเพื่อก่อพระเจดีย์ทราย ส่วนวันที่ 2 หรือ ทไง ก็อน ดาล คล้ายกับว่าเป็นวันของบรรพบุรษผู้ล่วงลับและบิดามารดา เนื่องจากในช่วงเช้าจะมีการจัดอาหารคาวหวานและเสื้อผ้าชุดใหม่เพื่อกราบขอพรจากบิดามารดาและผู้มีพระคุณ จากนั้นในช่วงสายจะน้ำภัตตาหารไปถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ที่วัดพร้อมทั้งมีการก่อพระเจดีย์ทรายขึ้นอีก 1 กอง ส่วนวันที่ 3 หรือ ทไง เลิง ซ็อก ถือเป็นวันเถลิงศกของชาวกัมพูชา ในช่วงเช้ายังคงมีการนำภัตตาหารไปถวายพระที่วัด ต่อด้วยสรงน้ำพระ และรดน้ำขอพรจากบิดามารดาในช่วงบ่าย จากนั้นจะมีการเล่นสาดน้ำกันอย่างสนุกสนาน แต่ที่จริงแล้วหนุ่มสาวจะเล่นสาดน้ำและมีการละเล่นต่างๆ อาทิ สะบ้า มอญซ่อนผ้า ชักเย่อ ตั้งแต่เริ่มเทศกาล หรือ ทไง มา ฮา ซ็อง กรานต์ (สงกรานต์กัมพูชา วันปีใหม่แบบเขมร, 2559)

          ปัจจุบันเทศกาลสงกรานต์ในกัมพูชายังคงมีการจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ในช่วงเวลาสามวันของเทศกาลปีใหม่นี้ชาวกัมพูชาจะไม่ประกอบกิจการงานใดเนื่องจากถือเป็นข้อห้ามและน่าจะกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ยึดถือกันมาจวบจนกระทั่งปัจจุบัน

 

พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ: ขวัญของเกษตรกรกัมพูชา

          พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญของชาวกัมพูชามีขึ้นในช่วงเดือนพฤษภาคม เช่นเดียวกับของไทย สันนิษฐานว่าเกิดขึ้นอย่างช้าที่สุดในสมัยนครธม ถือเป็นพระราชพิธีที่พระมหากษัตริย์ให้ความสำคัญต่อวิถีการดำรงชีวิตของราษฎรผู้ทำการเกษตร แม้ว่าพระองค์จะมิได้เป็นผู้ทำการเกษตรโดยตรง ทรงเป็นเจ้าของแผ่นดินแต่มิได้ทรงหวงแหนพื้นที่ไว้เฉพาะพระองค์เพียงผู้เดียว หากแต่พระราชทานพื้นที่ทำกินเหล่านั้นให้แก่ราษฎร ดังนั้นเพื่อเป็นการแสดงออกถึงความจงรักภักดีและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ราษฎรเหล่านั้นจึงทำการถวายผลผลิตทางการเกษตรของตนต่อองค์พระมหากษัตริย์เพื่อใช้เป็นเครื่องราชูปโภค หรือที่เรียกว่า    “การถวายส่วยสาอากร” (ออกญาเทพพิทู และ ขุนอุดมปรีชา, 2550: 87)

          ขณะที่ในส่วนขององค์พระมหากษัตริย์ แม้ว่ามิได้เป็นผู้ลงมือทำการเกษตรด้วยพระองค์เอง ทั้งยังทรงเป็นผู้ได้รับส่วยสาอากรจากราษฏรเพื่อดำรงพระชนม์ชีพ แต่พระองค์ก็มิได้ทรงละเลยความสำคัญในการพระราชทานขวัญและกำลังใจแก่ราษฎรเหล่านั้น ซึ่งทรงแสดงผ่านการประกอบพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ด้วยพระราชศรัทธาว่าจะเป็นเครื่องอำนวยความสุขความเจริญแก่ราษฎรของพระองค์

          นี่จึงถือเป็นที่มาของพระราชพิธีดังกล่าวที่มีการปฏิบัติสืบทอดต่อกันมาเป็นเวลายาวนาน แม้ว่าในบางช่วงที่กัมพูชาเกิดความผันผวนทางการเมืองและไม่เป็นที่แน่ชัดนักว่าพระราชพิธีนี้จะยังคงมีการปฏิบัติอยู่หรือไม่ แต่จากข้อเขียนของ ม.ร.ว.เบญจาภา  ไกรฤกษ์ ใน เนาขแมร์อยู่เขมรภาค 2 ได้ชี้ไว้ว่า “ระหว่างที่ประเทศกัมพูชาต้องตกอยู่ภายใต้การปกครองในระบอบคอมมิวนิสต์ ไม่มีใครทราบว่าพวกพราหมณ์ได้แยกย้ายกันไปอยู่ที่ใด แต่เมื่อพระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ ได้รับการสถาปนากลับขึ้นเป็นกษัตริย์อีกครั้งในปีค.ศ.1993 นั้นพวกพราหมณ์ก็ทยอยกลับมา” (เบญจาภา ไกรฤกษ์, 2540:42) จึงสังเกตได้ว่าตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ.1975-1979 ที่กัมพูชาตกอยู่ภายใต้การปกครองในรูปแบบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์นำโดยกลุ่มเขมรแดง และเมื่อสิ้นสุดยุคดังกล่าวสภาวะทางการเมืองภายในประเทศยังไม่มีเสถียรภาพมีการแบ่งแยกเป็นเขมรสามฝ่ายจวบจนกระทั่งปี ค.ศ.1992 พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญน่าจะได้มีการประกอบขึ้น เนื่องจากพระราชพิธีดังกล่าวต้องมีพราหมณ์เป็นผู้ประกอบพิธี

          แต่อย่างไรก็ตามภายหลังการเสด็จขึ้นครองราชย์อีกครั้งของสมเด็จพระนโรดม สีหนุ ในปี ค.ศ.1993 จึงรื้อฟื้นพระราชพิธีนี้ขึ้นในปี ค.ศ.1994 และมีการปฏิบัติสืบเนื่องจวบจนกระทั่งปัจจุบัน สำหรับสถานที่ในการประกอบพระราชพิธีแต่เดิมนั้นคือ พระราชวังและทุ่งพระเมรุ ในกรุงพนมเปญ เมืองหลวงของกัมพูชา หากแต่ในปี ค.ศ.2013 มีการเปลี่ยนสถานที่ในการประกอบพระราชพิธีเป็นจังหวัดกำปงจาม นับเป็นครั้งแรกที่จัดขึ้นนอกเขตเมืองหลวง ต่อมาในปี ค.ศ.2015–2016 มีการจัดขึ้นที่จังหวัดพระตะบอง และจังหวัดเสียมราฐ ตามลำดับ  ซึ่งเป็นการจัดพระราชพิธีนอกเขตเมืองหลวงอีกเช่นกัน ทั้งนี้ไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดว่าด้วยเหตุใดและใครเป็นผู้เลือกสถานที่ในการประกอบพระราชพิธี แต่กระนั้นก็ตามพระบาทสมเด็จพระบรมนารถนโรดม สีหมุนี ยังคงเสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพระราชพิธีทุกปี

          ในการประกอบพระราชพิธีนั้นมีความคล้ายคลึงกับในประเทศไทย แต่มีรายละเอียดบางส่วนที่แตกต่างกัน อาทิ บุคคลที่ทำหน้าที่พระยาแรกนาในประเทศไทย คือ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ส่วนในกัพูชา คือ นายกรัฐมนตรี  ขณะที่คำเรียกพระยาแรกนาอันถือเป็นผู้นำในการประกอบพิธี ประเทศไทยเรียกว่าพระยาแรกนา แต่กัมพูชาจะเรียกว่าพญานาค การเข้าสู่ปรัมพิธีของพญานาคนั้นต้องนั่งมาบนเสลี่ยง มีบริวารเป็นผู้เชิญเครื่องสูงจำนวน 12 คน ตามด้วยขบวนมเหสีของพญานาค (เบญจาภา ไกรฤกษ์, 2540:42) ซึ่งต่างกับของไทยที่พระยาแรกนาจะเดินร่วมมาในขบวนและตามด้วยเทพีคู่หาบเงินหาบทอง แต่อย่างไรก็ตามการจัดพระราชพิธีนี้ทั้งของกัมพูชาและไทยยังคงมีหมุดหมายเดียวกันคือการบำรุงขวัญและกำลังใจแก่ราษฎรผู้เป็นเกษตรกรภายในประเทศ

         ความโดดเด่นของพระราชพิธีอยู่ที่การเสี่ยงทายของพระโคโดยการนำอาหาร 7 อย่าง ประกอบด้วย ข้าวสาร ข้าวโพด ถั่ว หญ้า งา เหล้า และน้ำ ให้แพระโคเลือกกิน หากพระโคเลือกกินอาหารชนิดใดพยากรณ์ว่าสิ่งนั้นจะบริบูรณ์ดี เช่นในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญของกัมพูชาปี ค.ศ.2016 นี้ พระโคเลือกกินอาหาร 3 อย่าง คือ ข้าวสาร ข้าวโพด และถั่ว จึงพยากรณ์ว่าอาหารทั้ง 3 ชนิดนี้จะบริบูรณ์ดี

 

แซนโฎนตา : งานบุญใหญ่ของชาวกัมพูชา

          แซนโฎนตา หรือ บ็อนจุมเบ็ณฑ์ ถือเป็นงานบุญใหญ่ของชาวกัมพูชา ทั้งนี้ แซนโฎนตา เป็นภาษาเขมร  แซน หมายถึง การเซ่นไหว้ ส่วน โฎนตา หมายถึง บรรพบุรุษ  ดังนั้นประเพณีดังกล่าวจึงเป็นการทำบุญเพื่ออุทิศกุศลให้แก่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับ ซึ่งมีระยะเวลาการจัดงานถึง 15 วัน ตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 จนถึง วันแรม 15 ค่ำเดือน 10  แบ่งเป็น 2 ระยะ โดยระยะที่ 1 เรียกว่า เบ็นตูจ หรือ สารทเล็ก ส่วนระยะที่ 2 เรียกว่า เบ็นโท็ม หรือ สารทใหญ่ ในส่วนของเบ็นตูจ คือการนำอาหารไปทำบุญที่วัด แต่ที่สำคัญที่สุด คือ    เบ็นโท็ม หรือ สารทใหญ่ เป็นช่วงเวลาที่สมาชิกในครอบครัวทุกคนต้องกลับมารวมตัวกันยังบ้านเกิดเพื่อร่วมกันทำบุญอุทิศกุศลให้แก่บรรพบุรุษ โดยการที่สมาชิกในครอบครัวจะผลัดเปลี่ยนกันนำอาหารไปทำบุญที่วัดทุกวันตลอดระยะเวลา 14 วัน เนื่องจากในช่วงเวลาดังกล่าวถือเป็นข้างแรม เชื่อว่าเป็นช่วงที่วิญญาณของบรรพบุรุษกลับมาสู่โลกมนุษย์อีกครั้ง ดังนั้นจึงก่อให้เกิดพิธีกันสงฆ์ หรือ กันซ็อง ขึ้น

          พิธีดังกล่าวเกิดขึ้นจากความเชื่อที่ว่าเมื่อบรรพบุรุษกลับมาสู่โลกมนุษย์แล้วจะมาอาศัยพักในวัดบ้านเกิดของตน และรอคอยลูกหลานมาทำบุญ ดังนั้นการทำบุญในประเพณีแซนโฎนตาของชาวกัมพูชาจึงจำเป็นต้องกระทำในวัดบ้านเกิดของตน เนื่องจากหากไปทำที่อื่นเชื่อว่าวิญญาณบรรพบุรุษที่มารอคอยอยู่ที่วัดบ้านเกิดนั้นจะไม่พบลูกหลาน และจะออกตามหาลูกหลานไปทุกวัด และหากยังไม่พบก็จะโกรธและทำการสาปแช่งลูกหลาน ในขณะเดียวกันหากพบว่าลูกหลานมาทำบุญที่วัดบ้านเกิดของตน วิญญาณบรรพบุรุษก็จะชื่นอกชื่นใจให้พรลูกหลาน ทั้งยังปกปักรักษาคุ้มครอง ดังนั้นในส่วนนี้จึงสะท้อนให้เห็นถึงความทับซ้อนกันระหว่างความเชื่อในวิญญาณของบรรพบุรุษ หรือกล่าวสั้นๆ ว่าความเชื่อในเรื่องผีกับความศรัทธาในพระพุทธศาสนาที่ว่าวัดจะเป็นที่พักอาศัยของวิญญาณผู้ล่วงลับเมื่อกลับมายังโลกมนุษย์และการถวายอาหารแก่พระสงฆ์จะทำให้วิญญาณของบรรพบุรุษได้รับอาหารนั้นๆ ไปด้วย ในที่นี้วัดและพระสงฆ์จึงคล้ายกับเป็นสื่อกลางระหว่างวิญญาณของบรรพบุรุษกับลูกหลานให้ได้ติดต่อถึงกันตามพิธีกรรมและความเชื่อ

           การทำบุญในประเพณีแซนโฎนตาจะมีการประกอบอาหารขึ้น 2 ชนิด ถือเป็นอาหารสำคัญประจำประเพณี คือ อ็อนซ็อม และ บายเบ็ณฑ์ ในส่วนของ อ็อนซ็อม นั้นทำจากข้าวเหนียวห่อไส้หมูหรือไส้กล้วย ขณะที่ บายเบ็ณฑ์ คือก้อนข้าว ทำขึ้นเพื่ออุทิศให้แก่ผีไร้ญาติ หากพิจารณาตามความเชื่อของชาวกัมพูชาในจังหวัดสุรินทร์นั้นจะพบว่า บายเบ็ณฑ์ มีความเชื่อมโยงกับพระพุทธศาสนา ในเรื่องของจำนวนก้อนข้าวที่ใช้ในพิธีกรรม ซึ่งใช้เป็นจำนวนทั้งสิ้น 49 ก้อน ตามจำนวนก้อนข้าวที่พระพุทธเจ้าหยิบเสวยเมื่อได้รับการถวายจากนางวิสาขา ชาวกัมพูชาในจังหวัดสุรินทร์จึงยึดจำนวนตามนี้มาจวบจนกระทั่งปัจจุบัน (ศิริพร สุเมธารัตน์, 2553:455)

          ทั้งนี้เมื่อการทำบุญดำเนินมาถึงวันที่ 14 คือ วันแรม 14 ค่ำ เดือน 10 จะมีการฉลองกันซ็อง ด้วยการสวดพหูเทวาฯถือเป็นอันสิ้นสุดพิธี ในวันดังกล่าวยังถือเป็น วันเบ็นโท็ม ซึ่งเป็นวันสำคัญที่สุดในงานประเพณีนี้เนื่องจากลูกหลานทุกคนจะต้องมารวมตัวกันที่บ้าน มีการจัดสำรับอาหารคาวหวานทั้งนำไปทำบุญที่วัดและเซ่นไหว้บรรพบุรุษที่บ้าน โดยมีผู้นำในการทำพิธีเรียกว่า อาจารย์ มีผู้ร่วมพิธีเป็นลูกหลานในสายตระกูลตลอดจนเพื่อนบ้านในหมู่บ้าน เมื่อพิธีเริ่มขึ้นลูกหลานและผู้ร่วมพิธีจะเปล่งเสียงว่า “โมเวยโฎนตา โมเวยโฎนตา โมเวยโฎนตา” (ไกรศักดิ์ ศรีพนม, 2554: 112) เพื่ออันเชิญวิญญาณของบรรพบุรุษมารับเครื่องเซ่นไหว้ ถือเป็นช่วงเวลาที่สัมผัสได้ถึงความศักดิ์สิทธิ์เข้มขลังของพิธีกรรม ทั้งยังสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของลูกหลานที่จัดพิธีขึ้นเพื่อแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษผู้ล่วงลับ แต่มีข้อสังเกตประการหนึ่งว่าในพิธีที่กระทำขึ้นที่บ้านนี้จะไม่มีพิธีสงฆ์ มีแต่อาจารย์และผู้ร่วมพิธีเท่านั้น

           เมื่อถึงวันรุ่งขึ้นคือวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 ถือเป็นวันสุดท้ายของประเพณีและส่งดวงวิญญาณของบรรพบุรุษกลับสู่ยมโลก ในช่วงเช้ายังคงมีการทำบุญที่วัด และเมื่อเข้าสู่ช่วงบ่ายจะเป็นช่วงเวลาของการส่งวิญญาณโดยการที่ลูกหลานจะนำกาบกล้วยหรือกาบมะพร้าวมาทำเป็นรูปเรือ ใส่อาหารคาวหวาน และนำไปลอยในแม่น้ำ และบอกกล่าวส่งทางให้แก่วิญญาณของบรรพบุรุษกลับคืนสู่ยมโลก ถือเป็นการสิ้นสุดประเพณีแซนโฎนตาที่ลูกหลานและชาวบ้านได้พร้อมใจกันจัดขึ้นตลอดระยะเวลา 15 วัน (ไกรศักดิ์ ศรีพนม, 2554: 113)

          ดังที่กล่าวมานี้เป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นว่าประเพณีแซนโฎนตานอกจากจะเป็นงานบุญใหญ่ของชาวกัมพูชาแล้วยังสะท้อนให้เห็นการผสมผสานระหว่างความเชื่อในวิญญาณบรรพบุรุษกับพระพุทธศาสนา ทั้งยังเป็นพิธีกรรมที่ชาวกัมพูชาได้แสดงออกถึงความกตัญญุตาต่อบรรพบุรุษ ถือเป็นการส่งเสริมสายใยความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวที่จะได้กลับมาพบกัน อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ในช่วงที่มีงานประเพณีดังกล่าว

         อย่างไรก็ตามแม้ว่าโลกจะวิวัฒนาการไป แต่ในขณะเดียวกันงานประเพณีแซนโฎนตา หรือ บ็อนจุมเบ็ณฑ์ ของชาวกัมพูชายังได้รับการรักษาและมีการปฏิบัติตามประเพณีอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าเหตุผลในทางหนึ่งอาจเป็นเพราะความหวาดหวั่นว่าผีบรรพบุรุษจะสาปแช่งหากลูกหลานในสายตระกูลละเลยที่จะปฏิบัติตามประเพณีดังกล่าว แต่หากมีเหตุผลอีกด้านหนึ่งที่อบอวลไปด้วยความรู้สึกอบอุ่นที่ทุกคนในบ้านจะได้กลับมาอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากัน ได้สร้างบุญกุศลได้รับประทานอาหารร่วมกัน น่าจะเป็นช่วงเวลาแห่งความสุขที่ทุกคนยากจะละเลยและละความสำคัญไปได้              

 

บอน อม ตุก : เทศกาลน้ำของชาวกัมพูชา   

          เทศกาลน้ำ หรือ บอน อม ตุก ถือเป็นเทศกาลรื่นเริงที่ชาวกัมพูชาตั้งตาคอย เนื่องจากเป็นเทศกาลที่รัฐบาลประกาศให้เป็นวันหยุดราชการต่อเนื่องกันถึง 3 วัน ตรงกับวันขึ้น14-15 ค่ำ และวันแรม 1 ค่ำ เดือน 12 ของทุกปี การจัดงานมีขึ้นในทุกจังหวัดของกัมพูชา แต่พื้นที่สำคัญอยู่ในกรุงพนมเปญ บริเวณ แม่น้ำจตุมุข อันเป็นจุดบรรจบกันของแม่น้ำสายหลักในกัมพูชาถึง 3 สาย คือ แม่น้ำโขง แม่น้ำบาสักและแม่น้ำสาบ ภายในงานมีสมเด็จพระบรมนารถนโรดม สีหมุนี เสด็จพระราชดำเนินร่วมงานโดยเป็นองค์ประธานในพิธี พร้อมด้วยคณะรัฐบาลและข้าราชการระดับสูงตลอดจนพสกนิกรทุกหมู่เหล่า (ธีรภาพ โลหิตกุล, 2558:152)

          งานบอน อม ตุก ของชาวกัมพูชานี้กระทำขึ้นเพื่อบูชาและตอบแทนพระคุณของสายน้ำที่นำความอุดมสมบูรณ์มาสู่การดำรงชีวิต ถือเป็นโบราณราชประเพณีที่มีปรากฏอยู่ในหนังสือพระราชพิธีทวาทศมาส ของขุนอุดมปรีชา อธิบายว่า พระราชพิธีเดือนสิบสอง มี 3 พระราชพิธี คือ 1.พระราชพิธีพายเรือ 2.ลอยพระประทีป     3.ไหว้พระแข (ออกญาเทพพิทู และ ขุนอุดมปรีชา, 2550: 22)  ซึ่งมีความสอดคล้องกับธรรมเนียมการจัดงาน บอน อม ตุก ในปัจจุบัน มีการประกอบพิธีหลัก 3 พิธี คือ 1. พิธีลอยประทีป จะกระทำในช่วงเวลากลางคืน ด้วยการลอยประทีปไปตามลำน้ำ พร้อมทั้งมีการประกวดขบวนเรือที่ตกแต่งอย่างสวยงามด้วยไฟหลากสี  2.พิธีไหว้พระจันทร์ หรือ ชาวกัมพูชาเรียกว่า สัมเพียส พระแข เพื่ออธิษฐานขอพรจากดวงจันทร์ให้มีข้าวปลาอาหารอุดมสมบูรณ์ 3.พิธีอุ อัมมก เป็นพิธีกรรมที่ชาวบ้านจะต้องมารวมตัวกันที่วัดในเวลาเที่ยงคืน เพื่อรับประทาน อัมมก เป็นอาหารชนิดหนึ่งลักษณะคล้ายข้าวเม่าคลุก ผสมกล้วยและมะพร้าวขูด (ธีรภาพ โลหิตกุล, 2558:153) 

          แม้ว่าเทศกาลน้ำจะเป็นงานที่ชาวกัมพูชาตั้งตาคอย แต่ภายหลังการเกิดเหตุโศกนาฏกรรมบนสะพานที่เชื่อมระหว่างเกาะเพชรกับกรุงพนมเปญเมื่อปี ค.ศ.2010 ทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมากถึง 347 คน และการเกิดอุทกภัยในปี ค.ศ.2011 รวมถึงการสวรรคตของสมเด็จพระนโรดม สีหนุในปี ค.ศ.2012 จึงทำให้รัฐบาลยกเลิกการจัดงานติดต่อกันถึง 3 ปี จนกระทั่งในปี ค.ศ. 2014 ได้มีการจัดเทศกาลน้ำขึ้นใหม่อีกครั้ง โดยมีสมเด็จพระบรมนาถนโรดม สีหมุนี เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธาน บรรยากาศของงานเต็มไปด้วยความรื่นเริง มีการจัดแสดงคอนเสิร์ต การประกวดเรือประดับดวงไฟและการแข่งขันเรือยาว ต่อมาในปี ค.ศ.2015 รัฐบาลได้ยกเลิกการจัดงานดังกล่าวจึงไม่มีงานรื่นเริงใดรวมถึงการแข่งขันเรือยาว เนื่องจากรัฐบาลให้เหตุผลว่าระดับน้ำในโตนเลสาบลดระดับลง ไม่สามารถทำการแข่งขันได้ แต่ประชาชนบางส่วนมองว่าเป็นความประสงค์ของรัฐบาลที่ไม่ต้องการให้คนหมู่มากมารวมตัวกันในช่วงเวลาที่สถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศกำลังตึงเครียด อย่างไรก็ตามข้าราชการและผู้ใช้แรงงานในอุตสาหกรรมทอผ้าและเครื่องนุ่งห่มยังคงได้หยุดงานเป็นเวลา 3 วัน ตามประกาศของรัฐบาล         

 

สรุป

          งานประเพณีและพิธีกรรมที่ได้ยกมากล่าวทั้งหมดนี้ล้วนสะท้อนให้เห็นถึงวิถีการดำรงชีวิตของชาวกัมพูชาตั้งแต่อดีตจวบกระทั่งปัจจุบัน แม้ว่าในข้อเขียนนี้ยังไม่สามารถลงรายละเอียดถึงพัฒนาการของประเพณีพิธีกรรมต่างๆ ที่เคยมีปรากฏในพระราชพิธีสิบสองเดือนอันถือเป็นโบราณราชประเพณีที่อาจเคยกระทำอยู่เพียงในระดับราชสำนัก หรือเคยกระทำทั้งในระดับราชสำนักและราษฎรทั่วไป อันนี้เป็นที่น่าเสียดายที่ข้อเขียนนี้ยังไม่สามารถชี้แจงให้ทราบถึงรายละเอียดเหล่านั้นได้ แต่อย่างไรก็ตามงานประเพณีพิธีกรรมเหล่านี้ยังคงปรากฏอยู่จวบกระทั่งปัจจุบัน บางเทศกาลอาจมีการงดเว้นการจัดโดยรัฐบาลแต่ในขณะเดียวกันสำหรับสิ่งที่เรียกว่างานประเพณีและมีพิธีกรรมที่มีวิถีชีวิตของผู้คนเข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่ว่าอย่างไรงานประเพณีเหล่านั้นจะยังคงอยู่ในความตระหนักรู้ของประชาชนอยู่เสมอและด้วยความหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเมื่อบริบททางเศรษฐกิจการเมืองและสังคมของกัมพูชาเปลี่ยนแปลงไป งานประเพณีพิธีกรรมเหล่านี้จะยังคงดำรงอยู่ตามสถานะที่เคยมีมามิได้เป็นเพียงแค่ความทรงจำที่ครุกรุ่นไปด้วยความรื่นเริงแต่ไม่อาจเกิดขึ้นได้จริง

บรรณานุกรม

    เบญจาภา ไกรฤกษ์. (29 กรกฎาคม 2540). เนาขแมร์อยู่เขมรภาค 2. มติชนสุดสัปดาห์, 17(884), 42-43.

    ไกรศักดิ์ ศรีพนม. (ตุลาคม 2554). 'จุมเบ็ณฑ์ - แซนโฎนตา' เทศกาลไหว้ผีบรรพชนคนเขมร. เมืองโบราณ, 37(3), 104-113.

    ธีรภาพ โลหิตกุล. (ตุลาคม 2558). "บอน อม ตุก" - บุญบูชามหานที. ทางอีศาน, 4(42), 152-155.

    ศิริพร สุเมธารัตน์. (2553). ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเมืองสุรินทร์. สุรินทร์: โรงพิมพ์ ส.พันธุ์เพ็ญ.

    สงกรานต์กัมพูชา วันปีใหม่แบบเขมร. (15 เมษายน 2559). เรียกใช้เมื่อ 26 กันยายน 2559 จาก เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์: http://www.thairath.co.th/content/605709

    ออกญาเทพพิทู และ ขุนอุดมปรีชา. (2550). พระราชพิธีทวาทศมาส หรือพระราชพิธีสิบสองเดือนกรุงกัมพูชา ภาค 2. (ศานติ ภักดีคำ, ผู้แปล) กรุงเทพมหานคร: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง.

    ออกญาเทพพิทู และ ขุนอุดมปรีชา. (2550). พระราชพิธีทวาทศมาส หรือพระราชพิธีสิบสองเดือนกรุงกัมพูชา ภาค 3. (ศานติ ภักดีคำ, ผู้แปล) กรุงเทพมหานคร: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง.