กัมพูชา - ประวัติศาสตร์



ประวัติศาสตร์กัมพูชายุคแรก

          ต้นกำเนิดของชาวกัมพูชายังคงเป็นประเด็นโต้แย้งกันในหมู่นักวิชาการ บ้างก็ว่าพวกเขามีถิ่นฐานเดิมอยู่ทางตอนใต้ในประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซียปัจจุบัน บ้างก็ว่ามาจากทางตอนบนบริเวณภาคใต้ของจีนแผ่นดินใหญ่ หรือมาจากแถบอินเดีย อย่างไรก็ตามหม้อดินที่พบในถ้ำลางสเปียนทางภาคตะวันออก-

เฉียงเหนือของกัมพูชาก็เป็นหลักฐานสำคัญที่ยืนยันว่าผืนแผ่นดินแถบนี้มีผู้คนอยู่อาศัยมาตั้งแต่ 4,200 ปีก่อนคริสตกาล เชื่อกันว่ากลุ่มชนที่เข้ามาอาศัยอยู่ในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำโขงและแม่น้ำบาซักนี้ น่าจะเป็นหนึ่งในบรรพบุรุษของชาวกัมพูชาในยุคปัจจุบัน

          ในทางประวัติศาสตร์ถือว่า สังคมกัมพูชาเริ่มพัฒนาเมื่อรับวัฒนธรรมฮินดูเข้ามาผสมกับวัฒนธรรมพื้นเมือง แล้วเกิดการก่อตั้งรัฐที่เรียกว่า “ฟูนัน”  (ศตวรรษที่ 1-6) กระบวนการรับวัฒนธรรมฮินดูนั้นเกิดขึ้นอย้างช้าๆ และไม่ชัดเจน มีเพียงตำนานพระทองนางนาคที่เล่าว่า รัฐนี้เกิดขึ้นจากพราหมณ์เกาฑิณยะผู้มีธนูวิเศษได้ปรากฏกายที่ชายฝั่งแถบนี้ ได้สมรสกับนางโสมาธิดาพระยานาค แล้วตั้งรัฐชื่อ “กัมโพช” ขึ้น มีหลักฐานที่สำคัญมาจากบันทึกของจีน กล่าวถึงการส่งบรรณาการอย่างสม่ำเสมอของฟูนัน แต่ก็ไม่อาจยืนยันได้ว่าอาณาจักรฟูนันนั้นเป็นรัฐเล็ก นครรัฐ หรือเมืองก่อนนครรัฐ และยังเชื่อกันว่าฟูนันมีระบบชลประทานเพื่อใช้ทำการเกษตร โดยเฉพาะการปลูกข้าวนาลุ่ม ขณะที่พื้นที่อื่นๆ มีการปลูกข้าวนาดอน ปลูกเผือก มัน หาของป่า และล่าสัตว์

          หลังปี ค.ศ. 500 เป็นต้นมา อาณาจักรฟูนันก็เริ่มเสื่อมอำนาจลง ศูนย์กลางอำนาจเปลี่ยนมาอยู่ลึกไปในแผ่นดินที่เรียกรวมๆ ว่า เจนละ ที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของฟูนัน มีอาณาเขตอยู่ที่ลุ่มแม่น้ำโขงตอนกลางและตอนล่าง ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าฟูนันพ่ายแพ้ต่ออำนาจของเจนละซึ่งเคยมีสถานะป็นเมืองขึ้นของฟูนัน และหลังจากนั้นไม่มีคณะทูตส่งบรรณาการไปยังจีนอีกเลย ทำให้คนรุ่นหลังขาดหลักฐานที่เป็นการจดบันทึกของชาวจีนเพื่อใช้ในการศึกษาเรื่องราวที่เกิดขึ้นในช่วงนั้น

          อย่างไรก็ตามในพงศาวดารราชวงศ์ถัง ในช่วงหลังปี ค.ศ. 706 มีการกล่าวถึงเรื่องราวของดินแดนแถบนี้อยู่บ้าง ได้แก่ อาณาจักรเจนละบกและเจนละน้ำ โดยเล่าถึงการแบ่งอาณาจักรออกเป็นสองส่วนทางทิศเหนือและทิศใต้ ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไปเจนละบกเริ่มมีอิทธิพลเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนในปีคริสต์ศตวรรษที่ 8 พัฒนาขึ้นเป็นอาณาจักรที่มั่งคั่งและเป็นปึกแผ่น จุดเปลี่ยนของเจนละนั้นอาจอ้างอิงได้จากจารึกหลักหนึ่งของชวาที่บันทึกจากคำบอกเล่าของพ่อค้าอาหรับ เกี่ยวกับการที่กษัตริย์เขมรพ่ายแพ้ต่อทัพชวาของมหาราชาแห่งราชวงศ์ไศเลนทร์

 

กัมพูชายุคเมืองพระนคร

          พัฒนาการต่อมาจากอาณาจักรเจนละปรากฏอยู่ในจารึกปราสาทสด็อกก๊อกธม โดยระบุว่ามีพระราชาที่ทรงพระนามว่า พระเจ้าชัยวรมันที่ 2 ได้ทรงประกอบพระราชพิธีสถาปนาพระองค์ขึ้นเป็นสกลกษัตริย์ ในราวปี ค.ศ. 802 แม้ไม่มีหลักฐานใดที่จะระบุได้ถึงการสืบเชื้อสายของพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 กับราชวงศ์แห่งอาณาจักรเจนละในช่วงก่อนหน้า แต่เชื่อว่าพระองค์เสด็จมาจากชวา มีผู้เสนอแนวคิดว่าครอบครัวของพระองค์ คงจะไปตั้งรกรากอยู่ที่ชวาในช่วงเหตุการณ์ความวุ่นวายในเจนละ และพระองค์อาจถูกราชสำนักไศเลนทร์ยึดตัวไว้เป็นประกัน

          ความสำคัญของการขึ้นครองราชย์ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 คือการเปลี่ยนอาณาจักรเขมรจากยุคแว่นแคว้นกระจัดกระจายมาสู่ยุคเทวราชาแห่งสมัยพระนคร มีหลักฐานชี้ชัดว่าการประกอบพิธีกรรมต่างๆ ล้วนแสดงให้เห็นว่ากษัตริย์ไม่ได้มีสถานะอย่างปุถุชนคนธรรมดา แต่เป็นผู้มีอำนาจพิเศษที่เกี่ยวพันกับพระศิวะ นั่นหมายความว่าพระองค์ทรงประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนความเชื่อของชาวเขมร กษัตริย์องค์ต่อๆ มาและประชาชนจากที่เคยบูชาผีบรรพบุรุษให้หันมายกย่องพระองค์ในฐานะปฐมวิญญาณแห่งบรรพบุรุษในยามที่พระองค์ล่วงลับ

          กษัตริย์ที่มีความสำคัญต่อจากพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 ได้แก่ พระเจ้าอินทรวรมัน ซึ่งครองราชย์โดยการยึดอำนาจจากชัยวรมันที่ 3 โอรสของปฐมกษัตริย์แห่งสมัยพระนคร พระองค์ทรงวางรูปแบบตรีกรณียกิจซึ่งเป็นแบบอย่างให้แก่กษัตริย์รุ่นต่อมา ซึ่งประกอบด้วย การสนับสนุนการชลประทาน โดยการสร้างบารายขนาดใหญ่, การยกย่องบิดามารดาและบรรพบุรุษ โดยสร้างเทวรูปประจำตัวคนเหล่านั้นไว้ในเทวาลัย การก่อสร้างเทวาลัยบนภูเขาให้มีรูปทรงพีระมิดขั้นบันได โดยตั้งใจให้เป็นที่เก็บพระศพของพระองค์เอง

          แม้ชาวเขมรจะยึดถือความเชื่อเรื่องเทวราชา แต่ก็ใช่ว่ากษัตริย์ทุกพระองค์จะมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ในหลายรัชสมัยอำนาจของกษัตริย์บางพระองค์ก็อ่อนแอ อาจด้วยบุคลิกภาพส่วนพระองค์และปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ

           พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ถือได้ว่าเป็นกษัตริย์ที่เรืองอำนาจที่สุดในประวัติศาสตร์เขมร อาณาจักรเขมรในสมัยของพระองค์มีความเป็นปึกแผ่นชัดเจน โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับหลายรัชสมัยก่อนหน้านั้นซึ่งเต็มไปด้วยความแตกแยกปั่นป่วน บางช่วงมีผู้ตั้งตัวเป็นกษัตริย์พร้อมกัน 2 – 3 พระองค์

          ความเข้มแข็งของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 เห็นได้จากการขยายอาณาจักรเขมรให้กว้างไกลออกไปยิ่งกว่าที่เคยเป็นมา พระองค์รบชนะในดินแดนของพวกจามทางตะวันออก ซึ่งปัจจุบันอยู่ในเขตประเทศเวียดนาม และยังทรงยกทัพไปรบยังดินแดนอันนัมทางตอนเหนือของเวียดนาม รวมถึงดินแดนมอญ ซึ่งปัจจุบันอยู่ทางตะวันตกของประเทศไทยบริเวณริมฝั่งแม่น้ำอิรวดี ไม่เว้นแม้แต่ดินแดนทางตอนเหนือของคาบสมุทรมลายู

          ด้วยศรัทธาที่พระสุริยวรมันที่ 2 มีต่อพระวิษณุ พระองค์โปรดเกล้าฯให้สร้างปราสาทนครวัดอย่างใหญ่โตและแหวกขนบของการสร้างเทวาลัยในสมัยนั้น เพื่อบูชาเทพเจ้าและเตรียมเป็นที่สถิตของดวงพระวิญญาณของพระองค์เองเมื่อสิ้นพระชนม์

          ส่วนพุทธศาสนานั้นเริ่มมีอิทธิพลต่อขนบประเพณีและความเชื่อทางศาสนาของเขมรในยุคพระเจ้ายโศวรมัน (ค.ศ. 889 – 910 ) มาถึงสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 5 แม้พระองค์จะนับถือพระศิวะ แต่ก็ทรงยอมรับพุทธศาสนาที่เข้ามามีอิทธิพลในราชสำนักเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามกษัตริย์เขมรส่วนใหญ่มีความเชื่อในศาสนาพราหมณ์ บางพระองค์สนใจพุทธศาสนานิกายมหายาน

          พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทรงสนพระทัยในพุทธศาสนาจึงทรงนำระบบพุทธราชามาปรับใช้ในการปกครอง ถือเป็นการปฏิวัติความเชื่อเรื่องเทวราชาที่มีมาแต่เดิม จากที่กษัตริย์เคยสัมพันธ์โดยตรงกับเทพเจ้า และราษฎรก็เชื่อว่าความสามารถนี้เชื่อมโยงกับฟ้าฝนที่ตกต้องตามฤดูกาล และความอุดมสมบูรณ์มาสู่กษัตริย์ในพุทธศาสนาที่ทรงดูแลทุกข์สุขของประชาชนด้วยพระองค์เอง มีจารึกว่าพระเจ้าชยวรมันที่ 7 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างถนนทั่วราชอาณาจักร ซึ่งประชาชนเห็นว่านี่เป็นความเมตตากรุณาของพระองค์

 

กัมพูชายุคหลังเมืองพระนคร

          เนื่องจากความรุ่งเรืองของสมัยพระนคร ชี้วัดกันที่การสร้างปราสาท การเขียนจารึกบนแผ่นศิลา การวางชลประทาน รวมถึงราชสำนักตามแบบพราหมณ์ – ฮินดู ช่วงปี ค.ศ. 1431 – 1863 จึงเป็นช่วงเวลาที่ถูกระบุว่าเป็นยุคแห่งความเสื่อมของอาณาจักรเขมร เพราะนอกจากจะขาดหลักฐานที่เป็นตัวบ่งชี้ถึงความเจริญและอำนาจของกษัตริย์เช่นในยุคก่อนหน้าแล้ว ยังเต็มไปด้วยบาดแผลจากการเป็นรัฐกันชนระหว่างสองอาณาจักร ได้แก่ สยามทางด้านตะวันตกและเวียดนามทางด้านตะวันออก

          ในปี ค.ศ. 1353 ทัพสยามบุกเข้าตีและได้ชัยชนะเหนืออาณาจักรเขมรเป็นครั้งแรก ก่อนที่เขมรจะโดนโจมตีซ้ำอีกครั้งในปี ค.ศ. 1431 ซึ่งเป็นช่วงรอยต่อที่มีการย้ายเมืองหลวงหลายครั้ง ตั้งแต่เมืองละแวก ไปที่เมืองอุดง ก่อนที่จะมาปักหลักที่เมืองพนมเปญในปี ค.ศ. 1437 เนื่องจากมีทำเลที่เอื้อต่อการควบคุมเส้นทางการค้าทางน้ำมากกว่า โดยเฉพาะสินค้าที่มาจากจีนผ่านทางอาณาจักรลาว เพราะเป็นจุดบรรจบของแม่น้ำ 3 สาย คือ แม่น้ำโขง แม่น้ำซาป และแม่น้ำบาซัก และที่สำคัญคือพนมเปญอยู่ห่างไกลจากกรุงศรีอยุธยา จึงน่าจะปลอดภัยกว่าทำเลเดิม ถือเป็นการเปลี่ยนสังคมเขมรจากที่มีศูนย์กลางเป็นดินแดนตอนในที่ใช้เพื่อการปลูกข้าว มายังริมฝั่งแม่น้ำที่มุ่งค้าขายเป็นหลัก

          อย่างไรก็ตาม ในช่วง 200 ปีต่อมาอาณาจักรเขมรต้องทำสงครามกับราชสำนักอยุธยาหลายครั้ง แม้จะได้ชัยชนะเป็นบางครั้ง แต่ส่วนใหญ่มักเป็นฝ่ายแพ้ ทำให้เขมรตกเป็นเมืองขึ้นของกรุงศรีอยุธยา ในขณะเดียวกันชาวเวียดนามได้เริ่มอพยพเข้ามายังเขตดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ซึ่งมีชาวเขมรตั้งรกรากอยู่ก่อนหน้านี้

          กลางคริสต์ศตวรรษที่ 18 สยามพ่ายแพ้ต่อทัพพม่าทำให้ต้องเสียกรุงศรีอยุธยาเป็นครั้งที่ 2 แต่ก็ฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว มีการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานีแห่งใหม่ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงยึดนโยบายต่อประเทศเพื่อนบ้านโดยการแบ่งแยกและปกครอง โดยไม่มีดินแดนใดมีกำลังเพียงพอที่จะต่อกรกับสยามในยุคนั้น ซึ่งในขณะที่ทางตะวันตกเขมรถูกบีบด้วยอิทธิพลจากสยาม ในทางตะวันออกเขมรก็ต้องพบกับแรงกดดันจากเวียดนาม อาณาจักรเขมรถูกรุกรานและยึดครองครั้งแล้วครั้งเล่าโดยกองทัพสยามและเวียดนาม ซึ่งถือเป็นรื่องยากลำบากสำหรับกษัตริย์เขมรที่ต้องครองบัลลังก์ในสถานการณ์ที่เป็นรองประเทศเพื่อนบ้านในทุกๆ ด้าน กษัตริย์เขมรบางยุคจึงหันมาใกล้ชิดราชวงศ์สยามเพื่อถ่วงดุลฝ่ายเวียดนาม ขณะที่บางพระองค์ก็เลือกเอาใจฝักใฝ่กับราชสำนักเว้ สร้างความขุ่นเคืองให้แก่ฝ่ายสยามอย่างไรก็ตามการขาดอำนาจเด็ดขาดที่จะชี้ความเป็นไปของบ้านเมืองย่อมไม่เป็นผลดีต่อผู้อยู่ในตำแหน่งกษัตริย์ นักวิชาการบางรายวิเคราะห์ว่าผลกระทบจากการขยายอำนาจของสยามและเวียดนามทำให้ความศรัทธายำเกรงของกษัตริย์เขมรในสายตาประชาชนลดลง

          ขณะเดียวกันการยกตนขึ้นเป็นใหญ่เหนือดินแดนและประชาชนชาวเขมรของจักรพรรดิมินห์หมางแห่งเวียดนาม ก็สร้างความเจ็บแค้นและความรู้สึกเป็นปรปักษ์ให้แก่คนเขมร โดยเฉพาะนโยบายเปลี่ยนเขมรให้เป็นเวียดนาม ซึ่งมีทั้งการส่งคนเวียดนามเข้าปกครองคล้ายรูปแบบอาณานิคม การบังคับให้คนเขมรใช้ภาษาเวียดนาม รวมไปถึงการเกณฑ์กำลังคน ตอนปลายคริสต์สตวรรษที่ 19 เริ่มปรากฏการต่อต้านโดยการก่อกบฏ ซึ่งเวียดนามตอบโต้ด้วยการส่งทหารรับจ้างชาวจามมาปราบปราม

 

กัมพูชายุคอาณานิคม

          ตั้งแต่กัมพูชาตกอยู่ภายใต้อิทธิพลระหว่างสองชาติคือสยามและเวียดนาม มีบางช่วงเวลาเพียงสั้นๆเท่านั้นที่ชาวกัมพูชาสามารถอยู่โดยปลอดจากอำนาจของทั้งสองชาตินี้ได้แต่ในที่สุดก็กลับมาอยู่ใต้อิทธิพลอีก จนกระทั่งเข้าสู่ช่วงกลางศตวรรษที่ 19 กัมพูชาก็ต้องเผชิญกับการคุกคามของฝรั่งเศสที่เข้ามาแสวงหาอาณานิคม และเข้ายึดครองทั้งเวียดนาม ลาว และกัมพูชารวมกันไว้เป็นเขตปกครองของตนภายใต้ชื่อ อินโดจีนฝรั่งเศส ฝรั่งเศสนั้นเริ่มแผ่อิทธิพลเข้าไปในเวียดนามก่อน แล้วจึงค่อยขยายเข้ามาในกัมพูชาโดยใช้ช่องว่างที่กัมพูชาตกเป็นประเทศราชของสยามในสมัยกษัตริย์หริรักษ์รามาธิบดีว่าจะสนับสนุนกัมพูชาให้ปลดแอกออกจากอำนาจสยามให้ได้ จนกระทั่งพระองค์สิ้นพระชนม์ลงในปี ค.ศ. 1860 เจ้านโรดมพรหมบริรักษ์ ผู้สืบทอดบัลลังก์ก็ได้ทำสนธิสัญญากับฝรั่งเศสเพื่อยอมให้กัมพูชาเป็นรัฐในอารักขาของฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1863 แล้วมีราชสาส์นไปถึงกษัตริย์สยามในขณะนั้นคือ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่าถูกฝรั่งเศสบังคับให้ทำสัญญาเป็นรัฐในอารักขา ซึ่งทางพระจอมเกล้าก็ทำสนธิสัญญากับเจ้านโรดมขึ้นอีกฉบับเพื่ออ้างสิทธิ์ในการเป็นรัฐอารักขาของสยามเช่นกัน เรื่องนี้ทำให้ฝรั่งเศสไม่พอใจจึงเริ่มเข้ามากดดันสยามให้ยกเลิกสนธิสัญญานั้นเสีย จนกระทั่งปี ค.ศ. 1867 สยามจึงยอมยกเลิกสนธิสัญญาฉบับนั้น แต่ก็ยังคงยืนยันสิทธิ์เหนือ 3 จังหวัดคือ เสียมราฐ พระตะบอง และศรีโสภณว่ายังเป็นของสยามอยู่ นับแต่นั้นมาฝรั่งเศสก็เริ่มแผ่อำนาจเข้าไปในกัมพูชาอย่างเต็มที่ เริ่มจากการจัดระบบต่างๆ ให้แก่กัมพูชา การปฏิรูปการปกครองตามที่ฝรั่งเศสต้องการนั้นทำให้มีการปฏิรูประบบการเก็บส่วยภาษีเข้ารัฐใหม่มากขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนที่มีรายได้น้อย จึงเกิดการต่อต้านรัฐที่ยินยอมให้ฝรั่งเศสกดหัวไปจนถึงการต่อต้านชาวฝรั่งเศสลุกลามไปทั่ว แต่ฝรั่งเศสนั้นกลับกล่าวหาว่ากษัตริย์นโรดมเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการต่อต้านฝรั่งเศสในครั้งนี้จึงบีบให้ทางการจัดการกับการต่อต้านให้เด็ดขาด ส่งผลให้พวกที่ต่อต้านและก่อจลาจลหลบหนีเข้ามาอยู่ในเขตการปกครองของสยามเป็นจำนวนมาก ต่อมาในปี ค.ศ. 1904 กษัตริย์นโรดมก็สิ้นพระชนม์ลง เจ้าสีสุวัตถิ์ อนุชาของกษัตริย์นโรดมได้รับการสนับสนุนจากฝรั่งเศสให้เป็นผู้ขึ้นครองราชย์ ในปีนั้นเองพระองค์ได้ลงนามในสัญญายอมยกอำนาจการบริหารประเทศให้อยู่ในการดูแลของฝรั่งเศสทำให้รัฐบาลฝรั่งเศสมีอำนาจเหนือกัมพูชาโดยสมบูรณ์  ฝรั่งเศสจึงประกาศรวมกัมพูชาเข้าอยู่ในอินโดจีนฝรั่งเศสนับแต่นั้น

          ในปี ค.ศ. 1927 กษัตริย์สีสุวัตถิ์สิ้นพระชนม์ลง เจ้าสีสุวัตถิ์มุนีวงศ์ ซึ่งเป็นโอรสก็ขึ้นเป็นกษัตริย์สืบต่อ ในรัชสมัยนี้อิทธิพลของพรรคคอมมิวนิสต์ได้เริ่มแผ่อิทธิพลจากเวียดนามเข้ามาสู่กัมพูชา โดยกลุ่มนิยมคอมมิวนิสต์ในกัมพูชาร่วมมือกับพรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีน ซึ่งก่อตั้งโดย โฮจิมินห์ เริ่มเคลื่อนไหวเพื่อปลดปล่อยกลุ่มประเทศอินโดจีนออกจากอำนาจฝรั่งเศส และต่อมาญี่ปุ่นก็เริ่มก้าวเข้ามามีบทบาทในอินโดจีน

          หลังจากที่ฝรั่งเศสพ่ายแพ้แก่เยอรมันในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ใน ค.ศ. 1940 อินโดจีนก็ถูกญี่ปุ่นแผ่อำนาจเข้ายึดครองทั้งหมด แต่ก็ไม่ได้ยึดอำนาจปกครองไปจากผู้ปกครองชาวฝรั่งเศสไปเสียทีเดียว ฝรั่งเศสจึงยังคงทำหน้าที่ของตนต่อไปแต่อยู่ภายใต้การกำกับการของญี่ปุ่น ต่อมาในปี ค.ศ. 1941 กษัตริย์สีสุวัตถิ์มุนีวงศ์ สิ้นพระชนม์ลง ฝรั่งเศสจึงเลือกนัดดาของพระองค์คือ เจ้านโรดมสีหนุ ขึ้นดำรงตำแหน่งแทน

          แม้ญี่ปุ่นจะยินยอมให้ฝรั่งเศสปกครองกัมพูชาต่อไป แต่ก็ลอบติดต่อกับกลุ่มผู้รักชาติชาวกัมพูชาที่เคลื่อนไหวต่อต้านฝรั่งเศสโดยให้สัญญาว่าจะช่วยปลดปล่อยกัมพูชาออกจากอำนาจฝรั่งเศส โดยใช้กลุ่มนี้ให้คอยทำลายผลประโยชน์ของฝรั่งเศสลงเรื่อยๆ กระทั่งปี ค.ศ. 1945 ญี่ปุ่นจึงประกาศให้ฝรั่งเศสสิ้นสุดการปกครองเหนือกัมพูชาทั้งหมด แล้วสนับสนุนให้กัมพูชาจัดตั้งรัฐบาลของตนเองขึ้นโดยให้เจ้านโรดมสีหนุดำรงตำแหน่งกษัตริย์ต่อไป และให้ ซัน ง็อก ทันห์ ซึ่งเป็นแกนนำการเคลื่อนไหวต่อต้านฝรั่งเศสที่ลี้ภัยไปอยู่ที่ญี่ปุ่นกลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนแรกของกัมพูชา แต่เมื่อเยอรมันกับญี่ปุ่นเป็นฝ่ายแพ้สงครามในปีนั้นเอง ฝรั่งเศสก็กลับเข้ามาครองอำนาจในกัมพูชาใหม่ ล้มรัฐบาลที่ญี่ปุ่นจัดตั้งขึ้นและจับกุม ซัน งอก ทันห์ ฝ่ายที่ต่อต้านฝรั่งเศสทั้งหมดต่างหลบหนีกันอย่างกระจัดกระจาย ซึ่งส่วนใหญ่นั้นข้ามมาฝั่งไทยก่อตั้งเป็นขบวนการเขมรอิสระ ซึ่งต่อมาได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มเวียดมินห์ในการทำสงครามต่อต้านฝรั่งเศส ส่วนกษัตริย์สีหนุมีท่าทีเข้าข้างฝรั่งเศสอย่างชัดเจนแม้จะอยู่ในช่วงที่ญี่ปุ่นแผ่อำนาจจึงได้รับความไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งกษัตริย์ต่อไป แต่พระองค์ก็พยายามเจรจาให้รัฐบาลฝรั่งเศสยินยอมให้กัมพูชาสามารถปกครองตนเองได้อยู่ตลอดมา จนเกิดเป็นกลุ่มทางการเมืองอีกกลุ่มหนึ่ง นอกจากนี้ยังมีกลุ่มที่คอยเคลื่อนไหวทางการเมืองอีกกลุ่มคือ กลุ่มเขมรเสรี ซึ่งกลุ่มนี้ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกาที่ต้องการแผ่อำนาจเข้ามาในภูมิภาคนี้ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 กลุ่มเขมรเสรีนี้ต่อต้านทั้งฝ่ายเขมรอิสระและกลุ่มของเจ้าสีหนุ

          ในปี ค.ศ. 1946 กัมพูชาก็มีการก่อตั้งพรรคการเมืองขึ้น โดยฝรั่งเศสยอมให้กัมพูชามีอำนาจปกครองตนเองได้ในระบอบประชาธิปไตยภายใต้การดูแลของฝรั่งเศส มีการจัดการเลือกตั้งขึ้นมาเป็นครั้งแรกและมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกขึ้น และในที่สุดฝรั่งเศสก็ยินยอมปลดปล่อยให้กัมพูชาเป็นอิสระในปลายปี ค.ศ. 1953

 

กัมพูชายุคการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

          กัมพูชาได้รับการประกาศเป็นเอกราชจากฝรั่งเศสอย่างเป็นทางการตามสนธิสัญญาเจนีวาในปี ค.ศ. 1955 และในปีเดียวกันนี้กษัตริย์สีหนุก็สละราชบัลลังก์ให้แก่พระบิดาของพระองค์คือ เจ้านโรดมสุรมฤต เพื่อพระองค์จะได้เข้ามาเคลื่อนไหวทางการเมืองได้อย่างอิสระ โดยก่อตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาชื่อว่า พรรคสังคมราษฎร์นิยม เพื่อลงเลือกตั้งและชนะการเลือกตั้งจนพระองค์ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปีนั้นเอง ในช่วงแรกๆนั้นเจ้าสีหนุมีท่าทีที่เอาใจสหรัฐอเมริกาอย่างเต็มที่ แต่ต่อมาก็เริ่มเดินเกมการเมืองคบหากับประเทศกลุ่มคอมมิวนิสต์เช่น จีน และเกาหลีเหนือ เพื่อคานอำนาจกับสหรัฐฯ

          เมื่อสงครามเวียดนามได้เริ่มต้นขึ้นนั้นเป็นช่วงเวลาที่ความสัมพันธ์ระหว่างกัมพูชาและสหรัฐฯซึ่งเป็นคู่สงครามที่แท้จริงของจีนและเวียดนามเหนือได้ถดถอยลงไปมาก เนื่องจากกัมพูชาไม่พอใจที่สหรัฐฯแอบใช้กัมพูชาเป็นที่เคลื่อนไหวในการทำสงครามกับฝ่ายคอมมิวนิสต์จนกระทบกระเทือนต่อกิจการภายใน  จึงพัฒนาความสัมพันธ์กับจีนที่มีอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้น เมื่อสหรัฐฯและเวียดนามใต้ผลักดันเวียดกงหรือเวียดนามเหนือจนถอยร่นไป พระองค์จึงยินยอมให้กลุ่มเวียดกงเข้ามาใช้กัมพูชาเป็นฐานที่มั่นและยอมเปิดเส้นทางให้จีนส่งอาวุธให้แก่เวียดกงผ่านทางกัมพูชา จากจุดนี้แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลสีหนุมีนโยบายที่เป็นปฏิปักษ์กับสหรัฐฯ ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้แก่ชาวกัมพูชาจำนวนมากที่นำประเทศเข้าไปอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งของผู้อื่น โดยเฉพาะกลุ่มขวาจัดในพรรคของพระองค์ซึ่งมีนายพลลอนนอล เป็นแกนนำ ทำให้ในปี ค.ศ. 1966 เจ้าสีหนุสูญเสียเสียงสนับสนุนจากภายในพรรค และนายพลลอนนอลได้รับเสียงสนับสนุนให้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทน จนกระทั่งปี ค.ศ. 1970 นายพลลอนนอลซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯก็ทำการรัฐประหารเปลี่ยนแปลงประเทศเข้าสู่ระบอบสาธารณรัฐโดยมีนายพลลอนนอลขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี และเปลี่ยนชื่อประเทศเป็น สาธารณรัฐเขมร

          การรัฐประหารที่เกิดขึ้นทำให้กลุ่มฝ่ายซ้ายต่างๆ รวมไปถึงฝ่ายซ้ายที่เคยอยู่ในคณะรัฐบาลต่างหลบหนีการกวาดล้างของฝ่ายขวาตามความต้องการของสหรัฐฯ สงครามกลางกัมพูชาจึงเริ่มต้นขึ้น ภายหลังการรัฐประหารเจ้าสีหนุซึ่งลี้ภัยอยู่ที่ประเทศจีนได้ก่อตั้งกลุ่มแนวร่วมแห่งชาติกัมพูชา เพื่อเคลื่อนไหวต่อต้านการรัฐประหารของลอนนอลโดย มีกลุ่มเขมรแดงที่นิยมจีนเข้าร่วมด้วย นอกจากนี้เจ้าสีหนุยังประกาศตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นขึ้นที่ปักกิ่ง ปฏิเสธรัฐบาลลอนนลที่ไม่มีความชอบธรรมในการบริหารประเทศ การเคลื่อนไหวนี้ได้รับการสนับสนุนจากจีนจึงทำให้องค์กรมีความเข้มแข็งมากขึ้นและเจริญเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว มีสมาชิกเข้าร่วมจำนวนมากและสามารถเข้าไปแทรกซึมตามชนบทในกัมพูชาอย่างได้ผลตามแผนป่าล้อมเมืองที่เคยกระทำสำเร็จมาแล้วในจีน ส่วนสหรัฐฯซึ่งเป็นปฏิปักษ์กับจีนนั้นได้ให้ความช่วยเหลือแก่รัฐบาลลอนนอลอย่างเปิดเผยมากขึ้นทั้งการส่งเครื่องบินไปทิ้งระเบิดในฐานที่มั่นของเขมรแดง และการอุดหนุนเงินและอาวุธ แต่อย่างไรก็ตามในปี ค.ศ. 1975 เขมรแดงก็สามารถเข้ายึดกรุงพนมเปญได้สำเร็จ

          นโยบายกลุ่มเขมรแดงซึ่งนำโดย พอลพต มีแนวคิดต้องการสร้างรัฐใหม่ขึ้นมาทั้งหมดและโดดเดี่ยวประเทศตามแนวคิดของเหมาเจ๋อตุง ซึ่งขัดแย้งกับแนวคิดของเจ้าสีหนุ พระองค์จึงลาออกจากตำแหน่งประมุขแห่งรัฐในปี ค.ศ. 1976 ฝ่ายเขมรแดงจึงให้ เขียว สัมพัน อดีตรัฐมนตรีในรัฐบาลของพระองค์และหนึ่งในแกนนำเขมรแดงขึ้นมาเป็นประมุขของรัฐแทน โดยมีพอลพตเป็นนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้มีอำนาจการบริหารอย่างแท้จริง จากนั้นก็เดินหน้ากวาดล้างฝ่ายตรงข้าม กักบริเวณเจ้าสีหนุไม่ให้ติดต่อผู้ใด จัดการสังหารศัตรูทางการเมืองที่ต่อต้านเขมรแดงชนิดไม่ยอมให้หลงเหลือในกัมพูชาแม้แต่คนเดียว และเดินหน้าสร้างสังคมใหม่ตามอุดมการณ์ที่ตนเองเชื่อ และเปลี่ยนชื่อประเทศไปเป็น กัมพูชาประชาธิปไตย

          รัฐบาลพอลพตปกครองประเทศมาจนถึงปี ค.ศ. 1979 จึงถูกเขมรนิยมคอมมิวนิสต์อีกฝ่ายคือ ฝ่ายเฮงสัมริน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากเวียดนามเข้ายึดอำนาจแล้วเปลี่ยนชื่อประเทศใหม่เป็น สาธารณรัฐประชาชนกัมพูชา โดยที่เขมรแดงยังไม่ยอมจำนนและพยายามทำการเคลื่อนไหวโดยเข้าร่วมกับกลุ่มของเจ้าสีหนุซึ่งได้ก่อตั้งพรรคการเมืองใหม่ขึ้นชื่อ พรรคฟุนซินเปก ซึ่งเป็นกลุ่มนิยมเจ้า และกลุ่มแนวร่วมปลดปล่อยชาติประชาชนเขมร ของนายซอนซานซึ่งเป็นกลุ่มฝ่ายขวา ก่อตั้ง แนวร่วมเขมรสามฝ่าย เพื่อรักษาเก้าอี้ในสหประชาชาติ โดยเขมรแดงได้ยุบพรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชาลงเพื่อให้รัฐบาลผสมนี้ได้รับการรับรองจากนานาชาติว่าเป็นรัฐบาลที่ถูกต้องชอบธรรมของกัมพูชา

          เมื่อกลุ่มเขมรสามฝ่ายได้ถูกก่อตั้งขึ้นสำเร็จ สงครามกลางเมืองรอบใหม่ก็เกิดขึ้นระหว่างรัฐบาลเขมรสามฝ่ายกับฝ่ายเขมรเฮงสัมรินเพื่อผลักดันกำลังของเวียดนามออกจากกัมพูชา จนในที่สุดด้วยการกดดันของนานาชาติทำให้เวียดนามยอมถอนทหารออกจากกัมพูชาในปี ค.ศ. 1989 และเริ่มต้นใช้โต๊ะเจรจาแก้ไขปัญหาแทนที่จะใช้การสู้รบ จนสามารถบรรลุข้อตกลงสันติภาพในปี ค.ศ. 1991 โดยให้มีการสถาปนาตำแหน่งกษัตริย์กลับมาใหม่ กัมพูชาเปลี่ยนชื่อประเทศกลับมาเป็นราชอาณาจักรกัมพูชาโดยมีเจ้าสีหนุขึ้นเป็นกษัตริย์อีกครั้ง

บรรณานุกรม

    เขียน ธีระวิทย์ และสุนัย ผาสุก. (2543). กัมพูชา ประวัติศาสตร์ สังคม เศรษฐกิจ ความมั่นคง การเมือง และการต่างประเทศ. กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย และ สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

    เดวิด พี แชนด์เลอร์. (2543). ประวัติศาสตร์กัมพูชา. (พรรณงาม เง่าธรรมสาร และคนอื่นๆ, ผู้แปล) กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์.

    ดวงธิดา ราเมศวร์. (2555). ประวัติศาสตร์ประเทศในกลุ่มอาเซียน: ไทย ลาว พม่า กัมพูชา. กรุงเทพฯ: แพร-ธรรม.

    ธีระ นุชเปี่ยม. (2542). การพัฒนาเศรษฐกิจและการเมืองกัมพูชา. กรุงเทพฯ: คบไฟ.

    มัลลิกา พงศ์ปริตร บรรณาธิการ. (2544). ลาวและกัมพูชา. (พวงนิล คำปังสุ์, ผู้แปล) กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์หน้าต่างสู่โลกกว้าง.

    รัชดา ธราภาค. (2555). ราชอาณาจักรกัมพูชา. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์สถาพรบุ๊คส์.

    สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. (2556). กัมพูชา. กรุงเทพมหานคร: ชมรมโดมรวมใจ.